ข้ามไปเนื้อหา

วันวิสาขบูชา

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วิสาขบูชา)

วันวิสาขบูชา
ชื่ออื่นวันประสูติพระพุทธเจ้าหรือวันพระพุทธเจ้า
จัดขึ้นโดยชาวพุทธและชาวฮินดูบางส่วน โดยหลักในเอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก
ประเภทวันสำคัญในศาสนาพุทธ
ความสำคัญวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระโคตมพุทธเจ้า
การถือปฏิบัติสวดมนต์ภาวนา, ดำเนินตามศีลแปด, กินอาหารมังสวิรัติ, บริจาคทาน, สรงน้ำพระ
วันที่ขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) มักตกอยู่ในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม หรือมิถุนายน
วันที่ในปี 20233 มิถุนายน
วันที่ในปี 202422 พฤษภาคม
วันที่ในปี 202511 พฤษภาคม
วันที่ในปี 202631 พฤษภาคม
ความถี่ทุกปี
ส่วนเกี่ยวข้องวันประสูติพระพุทธเจ้า
เทศกาลที่เกี่ยวข้อง
Laba Festival (ในประเทศจีน)
โรฮัตสึ (ในประเทศญี่ปุ่น)

วันวิสาขบูชา (บาลี: วิสาขปุณฺณมีปูชา; อังกฤษ: Vesak) มีอีกชื่อว่า พุทธชยันตี,[1] พุทธปูรณิมา[2] และ วันพระพุทธเจ้า เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกนิกายทั่วโลก[3] ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ[4] เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระโคตมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม[5] ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท[6]

วันวิสาขบูชา นั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน

วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่นใน ประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก[7] (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 54/112 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน" ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 นี้ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

ความสำคัญในวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ตรงกันทั้ง 3 คราว คือ

  • เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ
  • เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
  • หลังจากตรัสรู้ ทรงออกประกาศพระธรรมวินัยและโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็ เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)

เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญ เดือน 6 ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วันวิสาขบูชา" ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก (บางแห่งเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า หรือ พุทธชยันตี)

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันวิสาขบูชาในพุทธประวัติ

เหตุการณ์ในวันประสูติเป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับแรกของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส โดยพระพุทธเจ้าหรือพระนามเดิม "เจ้าชายสิทธัตถะ" ได้ประสูติในพระบรมศากยราชวงศ์ เป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระราชมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ โดยเจ้าชายสิทธัตถะทรงดำรงตำแหน่งศากยมกุฏราชกุมาร ผู้จักได้รับสืบพระราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์สืบไป

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ภายในพระราชอุทยานลุมพินีวัน

จากหลักฐานชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) และอรรถกถา กล่าวว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในดุสิตเทวโลกได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว ได้ทรงรับคำอาราธนาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[8] พระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี ระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรถ์ครบถ้วนทศมาส (10 เดือน)[9] ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี) พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประสูติพระราชบุตรยังเมืองเทวทหะอันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระองค์ แต่ขณะเสด็จพระราชดำเนินได้เพียงกลางทางหรือภายในพระราชอุทยานลุมพินีวันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะต่อกัน พระองค์เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดร่มไม้สาละถวาย พระนางจึงประสูติพระโอรส ณ ใต้ร่มไม้สาละนั้น โดยขณะประสูติพระนางประทับยืน พระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละไว้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว (โดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน) พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ 7 ก้าว และได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า[10]

อคฺโคหมสฺมึ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมึ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมึ โลกสฺส.
อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.

คำแปล : เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. 14/249-251/366-7-8-9, 371

โดยการทรงเปล่งอาสภิวาจาเป็นอัศจรรย์นี้ นับเป็นบุรพนิมิตแห่งพระบรมโพธิญาณ ที่เจ้าชายน้อยผู้เป็นพระบรมโพธิสัตว์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลอีกไม่นาน

การตรัสรู้

เหตุการณ์การตรัสรู้พระบรมสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่สองของพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งที่สองของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ ครั้งแรกนั้นเพียงเกิดเป็นมนุษย์ แต่การตรัสรู้นี้ถือว่าเป็นการเกิดใหม่อีกครั้ง เป็นการเกิดที่หาได้โดยยาก เป็นการเกิดที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอริยผล รู้แจ้งซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ทุกข์และสุขทั้งปวงได้หมดสิ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง (ผู้ไม่ได้รับบัญชาจากใคร ผู้ไม่ได้รับโองการจากพระผู้สร้าง หรือเทพเทวดาองค์ไหน) เป็นการ "รู้แจ้งโลกทั้งปวง" ที่เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำได้ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ "รู้" เหมือนที่พระองค์ทรงรู้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น จึงทำให้มีผู้เรียกพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระองค์ว่า "พระพุทธศาสนา" แปลว่า "ศาสนาของผู้รู้แจ้ง - ศาสนาของผู้ (ปฏิบัติเพื่อ) หลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล"[11]

การออกผนวช

เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้น คือ พระไตรปิฎก กล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ 29 พรรษา[12] ได้ทรงปรารภเหตุคือ ความแก่ เจ็บ ตาย ที่มีอยู่ทุกคนเป็นธรรมโลก ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ แต่เพราะว่ามิได้ฟังคำสั่งสอนของผู้รู้ จึงทำให้มัวแต่มานั่งรังเกียจเหตุเหล่านั้นว่าเป็นของไม่ควรคิด ไม่ควรสนใจ ทำให้คนเราทั้งหลาย มัวมาแต่ลุ่มหลงอยู่ในกิเลสทั้งหลายเพราะความเมา 3 ประการ คือ เมาว่าตัวยังหนุ่มยังสาวอยู่อีกนานกว่าจะแก่ 1 เมาว่าไม่มีโรคอยู่และโรคคงจะไม่เกิดแก่เรา 1 เมาว่าชีวิตเป็นของยั่งยืน 1[13] มัวแต่ใช้ชีวิตทิ้งไปวัน ๆ กล่าวคือ ทรงดำริว่า

...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า!
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. 12/316/316

ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า

เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. 12/316/316

นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.13/669/738

ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช โดยการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่เสด็จออกผนวชต่อหน้าพระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว ดังในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า

...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. 13/443/489

ตรัสรู้

แสวงหาอาจารย์

เมื่อทรงออกผนวชแล้ว พระองค์ทรงเข้าศึกษาในสำนักลัทธิต่าง ๆ เช่น สำนักอาฬารดาบส รามบุตร[14] และสำนักอุทกดาบส รามโคตร ได้บรรลุสมาบัติ 8 สิ้นความรู้เจ้าสำนักทั้งสอง แต่พระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยเพราะสมาบัติทั้ง 8 นั้น ไม่สามารถทำให้พระองค์ตรัสรู้ได้ จึงทรงออกจากสำนักของอาจารย์ทั้งสอง เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เป็นสถานที่รมณียสถาน มีป่าชัฏ แม่น้ำใสสะอาด และมีโคจรคาม (สถานที่บิณฑบาต) อยู่โดยรอบ จึงทรงตั้งพระทัยที่จะบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่แห่งนี้

บำเพ็ญทุกกรกิริยา
พระพุทธรูปพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาไม่เสวยพระกระยาหารจนพระวรกายผอมเหลือถึงกระดูก ภายในถ้ำดงคสิริ

ในช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางกาย คือ "ทุกกรกิริยา"[15] คือ การบำเพ็ญเพียรที่นักพรตผู้บำเพ็ญตบะในสมัยนั้นยกย่องว่าเป็นยอดของการบำเพ็ญเพียรทั้งปวง 3 ประการ โดยในระหว่างบำเพ็ญเพียร ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ผู้เป็นพราหมณ์ (โกณฑัญญะ) และบุตรแห่งพราหมณ์ (ปัญจวัคคีย์ที่เหลือ) ที่ได้ร่วมงานทำนายลักษณะมหาบุรุษแห่งเจ้าชายสิทธัตถะ (ในคราว 5 วันหลังจากประสูติ) ว่า "ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก" เมื่อท่านเหล่านั้นได้ทราบข่าวการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงชักชวนกันออกบวชเพื่อตามหาเจ้าชาย และได้พบเจ้าชายสิทธัตถะในขณะกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาจึงคอยเฝ้าอยู่ปฏิบัติ ต่อมา เมื่อพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรถึงขั้นยวดยิ่งแล้วแต่ยังไม่ตรัสรู้ พระองค์ได้ทราบอุปมาแห่งพิณ 3 สาย ว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นหนทางอันสุดโต่งเกินไป จึงได้ละทุกกรกิริยาเสีย หันกลับมาเสวยอาหาร เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงคิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรทางกายด้วยทุกกรกิริยา ไม่มีโอกาสตรัสรู้ได้ จึงพาพวกละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

วันตรัสรู้

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายกลับมามีพระกำลังขึ้นเหมือนเดิมแล้ว จึงทรงเปลี่ยนมาเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป จนล่วงเข้าเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขมาส หลังบรรพชาได้ 6 ปี[16][17] นางสุชาดา ธิดานายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาสไปถวายพระองค์ขณะประทับอยู่ ณ ต้นไทรใกล้กับบ้านของนาง ด้วยคิดว่าพระองค์เป็นเทวดา เพราะวันนั้นพระองค์มีรัศมีผ่องใส จนเมื่อทรงรับเสวยข้าวมธุปายาสแล้วจึงได้ทรงนำถาดทองคำไปอธิษฐานลอยในแม่น้ำเนรัญชรา

จวบจนเวลาเย็น ได้ทรงรับถวายหญ้าคา (หญ้ากุศะ) 8 กำมือ จากนายโสตถิยะพราหมณ์ ทรงนำไปปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ ณ ใต้ต้นอัสสถะพฤกษ์ (หลังจากการตรัสรู้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" หรือ "ต้นโพธิ์") ต้นหนึ่ง ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฏางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานในพระทัยว่า

...หนัง เอ็น กระดูก จักไม่เหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระ จักเหือดแห้งไปก็ตามที เมื่อยังไม่ลุถึงประโยชน์อันบุคคลจะลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ (การตรัสรู้) ด้วยความเพียรของบุรุษ (มนุษย์) ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักหยุดความเพียรนั้นเสีย เป็นไม่มีเลย...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปญิจมสุตฺต กมฺมกรณวคฺค ทุก. อํ 20/64/251
ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง พระพุทธเจ้าทรงผจญพญามารในคืนวันตรัสรู้

จากนั้น พญามารได้ยกพลเสนามารมาผจญ พระองค์ต้องต่อสู้ด้วยพระบารมี 10 ทัศ กล่าวในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ ทรงต่อสู้กับกิเลสภายในใจจนทรงเอาชนะได้ด้วยพระบารมี คือ ความลำบากในการบำเพ็ญความดีทั้งปวง อันทรงได้สั่งสมมาตลอดแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงต่อสู้จนพญามารพ่ายแพ้ไปตอนพระอาทิตย์จะตกแล้ว พระองค์จึงทรงเริ่มเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ แล้วทรงทำให้ฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา 3 ประการ เกิดขึ้นในยามทั้ง 3 คือ

  1. ปฐมยาม ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงสามารถระลึกชาติได้
  2. มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ รู้การตายการเกิดของสัตว์ทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าได้ ทิพยจักษุญาณ คือ ตาทิพย์
  3. ปัจฉิมยาม พระองค์ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันต่อเนื่องเสมือนกับลูกโซ่ จนได้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจธรรม 4 ประการ คือ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) เป็นพระพุทธรูปที่สื่อถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงเอาชนะพญามาร (กิเลส) และบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศิลปะทิเบต
  • ทุกข์ ความทุกข์ สภาวะที่ทนได้ยาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ (ปัญหา)
  • สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สาเหตุของปัญหา)
  • นิโรธ ความดับไปซึ่งต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (จุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา)
  • มรรค หนทางที่จะดับทุกข์ได้ (วิธีการแก้ปัญหา)
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาวาร. สํ. 19/528/1664

แล้วพระองค์จึงทรงบรรลุซึ่ง "อาสวักขยญาณ" คือ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง เมื่อนั้นจิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง ไม่มีความยึดถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทาน[18][19] อันเป็นการได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในยามที่ 3 แห่งคืนวิสาขมาส ก่อนพุทธศักราช 45 ปี[20]

ตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงได้รับการถวายพระนามบัญญัติโดยคุณนิมิตแห่งพระองค์ว่า "อรหํ" เป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง และ "สมฺมาสมฺพุทฺโธ"[21] เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้ตรัสรู้ชอบได้โดยลำพังพระองค์เอง หามีผู้ใดเป็นครูอาจารย์ไม่ ต่อมา พระองค์ได้ทรงนำสิ่งที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในวันตรัสรู้นี้มาเผยแก่หมู่ชนทั้งหลาย พระองค์จึงทรงได้รับขนานพระนามว่า "สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า" สืบมา

วันปรินิพพาน

ทรงปลงพระชนมายุสังขาร

ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร

พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติดำรงตนในฐานะพระบรมศาสดา เผยแผ่พระธรรมวินัย คือ พระพุทธศาสนาแก่พหูชนชาวชมพูทวีปเป็นเวลากว่า 45 ปี ทำให้พระศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วแผ่นดินเอเชียนับแต่นั้นมา จวบจนพระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พรรษา มีพระวรกายชราภาพเสมือนคนทั่วไป[22] พระองค์ตรัสว่า ศาสนาของพระองค์ได้ทรงตั้งมั่นแล้ว ทรงทำหน้าที่แห่งพระพุทธเจ้าบริบูรณ์แล้ว[23] ในเวลาสามเดือนก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ปาวาลเจดีย์ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้ตรัสอภิญญาเทสิตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารว่า

...ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนท่านทั้งหลาย: สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา..., ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนจากนี้...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/142/109

เสด็จไปเมืองกุสินารา

จากนั้น พระองค์เสด็จไปบ้านภัณฑคาม[24] บ้านหัตถิคาม[25] จนเสด็จถึงเมืองปาวา โดยลำดับ ที่นี่พระองค์ได้ประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร ทรงแสดงธรรมแก่นายจุนทะ และเสด็จไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงอนุญาตรับบิณฑบาตเสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะจัดไว้ (ต่อจากนี้ พระองค์ประชวรด้วยโรคปักขันธิกาพาธอย่างกล้าจวบจนสิ้นพระชนมายุ)[26] จากนั้น ได้เสด็จไปสู่เมืองกุสินารา[27] ในกลางทางทรงพักที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิเพื่อเสวยน้ำดื่มและทรงสนทนากับปุกกุสสะ มัลละบุตร จนเกิดศรัทธาถวายผ้าเนื้อดีสองผืน ทรงรับสั่งให้นำมาห่มคลุมพระองค์ผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งรับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ เมื่อปุกกุสสะถวายผ้านั้นแล้วหลีกไป พระอานนท์ได้น้อมถวายผ้าของตนแก่พระพุทธเจ้า ได้เห็นพระวรกายของพระองค์ว่ามีพระฉวีผ่องใสยิ่งจึงได้ทูลถาม พระองค์ตรัสตอบว่า

...อานนท์! เป็นอย่างนั้น, กายของตถาคต ย่อมมีฉวีผุดผ่องในกาลสองครั้งคือ ในราตรีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ, และราตรี ที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
อานนท์! การปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างต้นสาละคู่ ในสวนสาละอันเป็นที่พัก ของพวกมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา ในตอนปัจฉิมยามคืนนี้...
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117

ประทับสีหไสยาสน์

ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน

เมื่อเสด็จถึงพระราชอุทยานของมัลลกษัตริย์ พระองค์ทรงให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่ ขณะทรงประทับสีหเสยยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ได้เกิดอัศจรรย์ คือ ดอกาละผลิดอกผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ ดอกมณฑารพ จุรณ์ไม้จันทร์ ตกลงและดนตรีทิพย์บรรเลงขึ้นเพื่อบูชาแก่พระพุทธเจ้า เทวดาทั่วโลกธาตุได้มาประชุมกันเพื่อเห็นพระพุทธเจ้า บางองค์คร่ำครวญเสียใจด้วยอาการต่าง ๆ[28]

ประทานพระปัจฉิมโอวาท

จากนั้น พระองค์ทรงอนุญาตให้พวกมัลละกษัตริย์เข้าเฝ้าและได้ตรัสแก้ปัญหาของสุภัททะปริพาชก จนเกิดศรัทธาขอบรรพชาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาสาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์ แล้วตรัสให้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นผู้สืบศาสดาไว้ว่า

...อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117

จากนั้นตรัสพระโอวาทที่สำคัญ ๆ อีก 4-5 เรื่อง จนในที่สุดตรัสพระปัจฉิมโอวาทเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า

...หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ...
แปลว่า : ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117

ปรินิพพาน

จากนั้น พระองค์ทรงนิ่งเงียบ หลับตา ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 มีรูปฌาน 4 คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จากนั้นเป็นอรูปฌาน 4 คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ (เรียกรวมเป็น สมาบัติ 8) และ นิโรธสมาบัติ 1 ชื่อเต็มคือสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วย้อนลงมาตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกเป็น ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นปัจฉิมสมาบัติ เมื่อออกจากจตุตถฌานจึง เสด็จดับขันธปรินิพพาน

พระพุทธองค์ตรัสถึงความดับสมุทัยอันเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ (เสด็จดับขันธปรินิพพาน) ไว้เมื่อคราวทรงพระชนม์อยู่ว่า

...ต้นไม้ เมื่อโคนต้นยังอยู่ ไม่มีอุปัทวะ แม้ถูกตัด (ส่วนบน) แล้วก็งอกได้อีกอยู่นั่น ฉันใดก็ดี แม้ทุกข์นี้ก็ฉันนั้น เมื่อตัณหานุสัยยังมิได้ถูกถอนทิ้งแล้ว ก็ได้เกิดร่ำไป...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ขุ. ธ. 25/338/138

กล่าวคือ พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งสมุทัย คือ ได้ทรงถอนเสียสิ้นซึ่งต้นและราก กิเลสตัณหาอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงนี้แล้วเมื่อในวันตรัสรู้[29] การเสด็จดับขันธปรินิพพานนี้จึงเป็นการตายครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ โดย "สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ" (สิ้นตัณหาเมื่อคราวตรัสรู้ และสิ้นขันธ์ห้า เมื่อคราวปรินิพพาน)

เมื่อนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ โลมชาติลุกขึ้นชูชัน กลองทิพย์บรรลือลั่นไปในอากาศ ไว้อาลัยแด่การจากไปของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นบรมครูของโลก กายของพระองค์สิ้นเชื้อคือตัณหาที่จะนำไปเกิดในภพใหม่ ครั้นกายแตกดับแล้ว ถึงความเป็นของว่าง ไม่มีอะไรเหลือสำหรับส่วนผสมของกายในภพต่อไป[30] พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมราตรี วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี ตามการนับของไทย (หากเป็นกัมพูชาหรือพม่า จะนับเป็น พ.ศ. 1 ทันที ดูเพิ่มที่ พุทธศักราช)

พุทธสังเวชนียสถานเนื่องด้วยวันวิสาขบูชา

เหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ที่เกิดในวันวิสาขบูชา เกิดภายในบริเวณที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล หรือประเทศอินเดียและเนปาลในปัจจุบัน โดยสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงประสูติอยู่ที่ลุมพินีวัน ประเทศเนปาลในปัจจุบัน, สถานที่ตรัสรู้ อยู่ที่ พุทธคยา และสถานที่ปรินิพพานอยู่ที่ กุสินารา ประเทศอินเดียในปัจจุบัน โดย 2 ใน 3 ของพุทธสังเวชนียสถานที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชาได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลก

สถานที่เนื่องด้วยการประสูติ (ลุมพินีวัน)

ที่ตั้ง

ลุมพินีวันเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบลเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ตัวลุมพินีวันอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศอินเดียตอนเหนือ ห่างจากสิทธารถนคร[31] (หรือ นครเทวทหะ) ทางทิศตะวันตกประมาณ 22 กิโลเมตร และห่างจากเมืองติเลาราโกต (หรือ นครกบิลพัสดุ์) ทางทิศตะวันออก 22 กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าลุมพินีวันสถานที่ประสูติ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2540[32]

ลุมพินีวันในสมัยพุทธกาล

ชาวพุทธนมัสการ เสาพระเจ้าอโศกมหาราช เครื่องหมายสถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล

ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวันอยู่ในเขตแห่งดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะ และกรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป เป็นพระราชอุทยานลาดลุ่มร่มรื่นกึ่งกลางระหว่างทางสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของกษัตริย์และประชาชน สภาพของลุมพินีวันในสมัยนั้นอาจจะพิจารณาได้จากคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ได้พรรณนาเป็นภาษาบาลีไว้ว่า

"ทวินฺนํ ปน นครานํ อนฺตเร อุภยนครวาสีนมฺปิ ลุมพินีวนํ นาม มงฺคลสาลวนํ อตฺถิ, ตสฺมึ สมเย มูลโต ปฏฺฐาย ยาว อคฺคสาขา สพฺพํ เอกปาลิผุลฺลํ อโหสิ สาขนฺตเรหิ เจว ปุปฺผนฺตเรหิ จ ปญฺจวณฺณา ภมรคณา นานปฺปการา จ สกุณสงฺฆา มธุรสฺสเรน วิกูชนฺตา สกลํ ลุมฺพินีวนํ จิตฺตลตาวนสทิสํ ฯเปฯ"

แปลว่า: "ในระหว่างเมืองทั้งสอง มีป่าสาละชื่อลุมพินีวันอันเป็นมงคล สมัยนั้นสาละทั้งหมดล้วนมีดอกออกสะพรั่งเป็นแนวเดียวกัน แต่รากจนสุดปลายกิ่ง ตามกิ่งก้านสาขาและดอกนั้นล้วนมีหมู่ภมรนานาชนิด และหมู่นกหลากหลายชนิดส่งเสียงกู่ร้องประสานสำเนียง ดังทั่วทั้งป่า ลุมพินีวันนั้นจึงประดุจเช่นเดียวกับสวนจิตรลดา (อันมีในดาวดึงสเทวโลก) ฉะนั้น ฯลฯ"

— วิสุทฺธชนวิลาสินี 1, หน้า 64

หลังจากการประสูติของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด แม้พระพุทธเจ้าจะได้เสด็จมา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ก็ประทับที่นิโครธารามที่พระประยูรญาติจัดถวายหาได้มาประทับหรือแสดงธรรม ณ ลุมพินีวันอีกไม่ เนื่องเพราะลุมพินีวันนั้นเป็นอุทยานไม่มีผู้คนอาศัยนั่นเอง[33]

ลุมพินีวันหลังพุทธปรินิพพาน

หลังพุทธปรินิพาน กษัตริย์ซึ่งได้รับส่วนแบ่งแห่งพระบรมสารีริกธาตุ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในสถูปแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากลุมพินีวันนัก จวบจนพุทธศักราชได้ 294 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จนมัสการพุทธสังเวชนียสถานทั่วทั้งชมพูทวีป พร้อมด้วยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ (หรือพระอุปคุต) ได้เสด็จมานมัสการ ณ ลุมพินีนี้ พระองค์โปรดฯ ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระนำทางและชี้จุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ แล้วทรงสร้างอาราม พระเจดีย์และเสาศิลาจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ว่า ลุมพินีวันนี้มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งเสาศิลาหินทรายของพระเจ้าอโศกยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน[34]

สระสรงสนาน และ มหามายาเทวีวิหาร หลังการบูรณะ

หลังจากยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช เรื่องราวของลุมพินีวันได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาเกือบ 700 ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารที่สามารถสืบค้นถึงความเป็นไปของลุมพินีวันในช่วงนี้ได้ จนในประมาณ พ.ศ. 900 สมณะฟาเหียนได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึงลุมพินีวัน ท่านได้กล่าวไว้สั้น ๆ เพียงว่าได้พบบ่อสรงสนาน และระบุที่ตั้งของลุมพินีวันว่าอยู่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 14-16 กิโลเมตร[34]

ต่อมา ใน พ.ศ. 1181 สมณะเฮี้ยนจัง หรือ พระถังซำจั๋ง ได้เดินทางมาถึงลุมพินีวัน โดยได้ทำการการจดบันทึกระบุที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ ในลุมพินีวันไว้คร่าว ๆ ท่านได้กล่าวถึงบ่อสรงสนาน ซึ่งคงเป็นบ่อเดียวกับที่สมณะฟาเหียนกล่าวไว้ในบันทึก ซึ่งบ่อนี้ยังคงมีอยู่มาจนปัจจุบัน และกล่าวว่าไม่ไกลจากบ่อนั้นไปประมาณ 24 ก้าว มีต้นสาละต้นหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากจุดนั้นไปทางใต้มีเจดีย์องค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระอินทร์เสด็จจากสวรรค์ลงมาต้อนรับพระราชโอรสที่ประสูติใหม่ ใกล้ ๆ กันมีเจดีย์อีกสี่องค์ ที่สร้างไว้เพื่อถวายแก่ท้าวจตุโลกบาล ที่ทำหน้าที่ถวายอภิบาลพระโอรสประสูติใหม่ และใกล้กันนั้นมีเสาอโศกรูปสิงห์ประดิษฐานอยู่บนยอด[35]

ใน พ.ศ. 2438-2439 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮมและคณะ ได้ค้นพบเสาศิลาพระเจ้าอโศกซึ่งถูกฝังดินไว้และพบจารึกเป็นอักษรพราหมีระบุว่าที่แห่งนี้คือสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากนั้นจึงเริ่มมีการขุดค้นทางโบราณคดี โดยพบซากปรักหักพังจำนวนมาก ซากสถูปกว่า 50 องค์ และซากวิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะ และสมัยคุปตะ (ประมาณ พ.ศ. 300 - พ.ศ. 950)[36]

จุดแสวงบุญและสภาพของลุมพินีวันในปัจจุบัน

อู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวันให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก

ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช" ที่ระบุว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนี้ ยังมี "วิหารมายาเทวี" ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส โดยเป็นวิหารเก่ามีอายุร่วมสมัยกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบัน ทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ทับวิหารมายาเทวีหลังเก่า และได้ขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ

ลุมพินีวันได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะจากโครงการฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวันให้เป็น "พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก" ซึ่งเป็นดำริของ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านตั้งใจเริ่มโครงการฟื้นฟูให้ลุมพินีวันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธบนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่า 6,000 ไร่ (ขนานตามแนวเหนือใต้) แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกป่าและสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 41 ประเทศ โดยโบราณสถานลุมพินีวันตั้งอยู่ทางด้านใต้ ปัจจุบัน มีวัดไทยและวัดพุทธทั่วโลกไปสร้างอยู่จำนวนมากและมีขนาดใหญ่โต เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่มาสักการะแสวงบุญ

ใน พ.ศ. 2540 ลุมพินีวันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลก ภายใต้ชื่อ "ลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี อีกด้วย[37]

สถานที่เนื่องด้วยการตรัสรู้ (พุทธคยา)

ที่ตั้ง

พุทธคยานับเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลกเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา โดยเป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นเวลากว่า 2,500 ปีที่สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของจุดหมายในการแสวงบุญของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก พุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (Mahabodhi Temple) ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 350 เมตร ในอดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยามีชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ต่อมา จึงเพี้ยนเป็น อุเรล ปัจจุบัน พุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วมพุทธ-ฮินดู2 และยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2545[38]

พุทธคยาในสมัยพุทธกาล

พระสงฆ์ นมัสการพระมหาโพธิเจดีย์ สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ

ในสมัยพุทธกาล พุทธคยาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา ในแคว้นมคธ เป็นสถานที่ที่ร่มรื่น (รมณียสถาน) สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต สภาพของพุทธคยาในสมัยพุทธกาลอาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกที่ได้ตรัสกับโพธิราชกุมาร ในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพรรณาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคมไว้ว่า

ราชกุมาร! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น. ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจรตั้งอยู่โดยรอบ. ราชกุมาร! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร" ดังนี้. ราชกุมาร! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเอง ด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้.

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺตํ ราชวคฺค ม. ม. 13/448/491

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ 7 สัปดาห์ และเกิดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ภายในเวลา 7 สัปดาห์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของตปุสสะและภัลลิกะ 2 พ่อค้า ที่เดินทางผ่านมาเห็นพระพุทธองค์มีพระวรกายผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผลและสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นเทววาจิกอุบาสก ผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะคู่แรกของโลก[39]3

หลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถาแต่เมื่อคราวพระอานนท์มา ณ พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวัน จึงได้ชื่อว่า "อานันทโพธิ์" และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน [40]

พุทธคยาหลังพุทธปรินิพพาน

บริเวณกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา อันเป็นอนุสรณียสถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช4 และสร้างต่อเติมเรื่อยมาโดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย พระองค์ต่อ ๆ มา จนกระทั่ง เมื่อกองทัพมุสลิมบุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล

พระมหาโพธิเจดีย์ก่อนบูรณะ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2417 ในคราวที่พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อบูรณะพระมหาเจดีย์ หลังถูกทิ้งร้างไปกว่าพันปี

สำหรับความเป็นไปของต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้นั้น ต้นแรกเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า (เกิดในวันเดียวกับวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ) มีอายุมาได้ 352 ปี จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จึงถูกทำลายโดยพระชายาของพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะความอิจฉาที่พระเจ้าอโศกรักและหวงแหนต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้จนไม่สนใจพระนาง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองนั้น ปลูกโดยพระเจ้าอโศกมหาราชจากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิม และมีอายุยืนมาประมาณ 871-891 ปี จนถูกทำลายในประมาณ พ.ศ. 1143-1163 ด้วยน้ำมือของพระราชาฮินดูแห่งเบงกอลพระนามว่า ศศางกา ซึ่งพระองค์อิจฉาพระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรืองมาก จึงทรงแอบนำกองทัพเข้ามาทำลายต้นโพธิ์ต้นนี้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามนั้นปลูกโดยพระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เมารยะ และต้นที่สามนี้มีอายุยืนมากว่า 1,258-1,278 ปี จึงล้มลงในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบัน ปลูกโดยนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เมื่อ พ.ศ. 2423

สำหรับความเป็นไปขององค์พระมหาโพธิเจดีย์นั้น พระเจ้าหุวิชกะ (Huvishka) มีพระราชศรัทธาสร้างมหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ใน พ.ศ. 694 เพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท โดยได้สร้างเป็นพระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมทรงรีสวยงามติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ทางทิศตะวันออก มี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นสถานที่กราบนมัสการและชั้นบนเป็นห้องเจริญภาวนา ลักษณะของพระมหาโพธิเจดีย์มีเอกลักษณ์เฉพาะและตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของมหาโพธิมณฑลมากว่าสองพันปี ในบางช่วงพระราชาแห่งแคว้นต่าง ๆ ได้เข้ามาทำนุบำรุงอยู่เสมอ และได้รับการบูชารักษาจากชาวพุทธมาตลอด แต่มาขาดตอนไปเมื่อช่วงพันกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแผ่นดินอินเดียแถบนี้ถูกคุกคามจากสงครามและการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้างและถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง รวมทั้ง แปลงมหาโพธิเจดีย์เป็นเทวสถาน[34]

โดยเหตุการณ์ที่พุทธคยาถูกชาวฮินดูครอบครองนั้น เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2133 จากการที่นักบวชฮินดูชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึงพุทธคยาและได้ตั้งสำนักเล็ก ๆ ใกล้กับพระมหาโพธิเจดีย์ เมื่ออยู่ไปนาน ๆ จึงกลายเป็นเจ้าของที่ไปโดยปริยาย (มีผู้กล่าวว่า พราหมณ์มหันต์นี้ คือ นักธุรกิจการค้าที่มาในรูปนักบวชฮินดู กล่าวกันว่าติดอันดับมหาเศรษฐี 1 ใน 5 ของรัฐพิหาร ผู้นำของมหันต์องค์ที่ 15 ในปัจจุบันก็มีการสืบทอดมาตั้งแต่โคเสณฆมัณฑิคีร์) ซึ่งการที่พราหมณ์มหันต์เข้ามาครอบครองพุทธคยานั้นก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไร

สภาพอันเสื่อมโทรมของพุทธคยานั้น อาจพิจารณาได้จากข้อความในบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ (Sir Edwin Arnold) ผู้เรียบเรียงหนังสือพุทธประวัติภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกล่าวกันว่าเป็นพุทธประวัติฉบับภาษาอังกฤษที่มีความไพเราะ ละน่าเลื่อมใสมาก คือ ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia) ซึ่งท่านเซอร์ได้เดินทางไปที่พุทธคยาและพบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านได้เขียนบทความ "EAST and West ; A Splendid Opportunity" (ตะวันตกและตะวันออก โอกาสแจ่มจรัส โอกาสแห่งความรุ่งโรจน์) ไว้ โดยกล่าวถึงสาเหตุของการที่พุทธสถานในอินเดียถูกทอดทิ้งเพราะความเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้พรรณาถึงความเสื่อมโทรมอย่างหนักและการขาดการเอาใจใส่จากพราหมณ์มหันต์ซึ่งครอบครองพุทธคยาอยู่ ท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "ชาวพุทธทั่วโลกได้ลืมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่แห่งศรัทธาของตน ที่มีความสำคัญได้เช่นเดียวกับนครเมกกะและเยรูซาเล็ม (Mecca and Jeruzaiem)" ซึ่งบทความนี้ได้ตีพิมพ์ไปทั่วโลกและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกเริ่มเข้ามาหาทางบูรณะพุทธสถานต่าง ๆ ในอินเดีย[41]

เซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ ผู้แต่งหนังสือ "ประทีปแห่งเอเชีย"

ใน พ.ศ. 2417 พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอุปราชแห่งอินเดียเพื่อขอทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและจัดการบางประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับความยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาลอินเดีย จึงเริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่งนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ดร.ราเชนทรลาละ มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ เมื่อคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะทั้งหมดมาทำแทนและเสร็จสมบูรณ์ ใน พ.ศ. 2427[42]

พ.ศ. 2434อนาคาริก ธรรมปาละ ชาวพุทธศรีลังกา ได้จัดตั้งสมาคมมหาโพธิ์และเริ่มดำเนินการเรียกร้องให้พุทธคยากลับมาเป็นของชาวพุทธ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้ประเทศพระพุทธศาสนาทั่วโลกให้ความสนใจในการบูรณะและฟื้นฟูพุทธคยา

จนกระทั่ง ใน พ.ศ. 2500 รัฐบาลอินเดียได้เฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2500 (วิสาขบูชากึ่งพุทธกาล) โดย เยาวหรลาล เนรูห์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ได้เชิญชวนให้ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนต้นพุทธอุบัติภูมิ ซึ่งประเทศไทยโดยการนำของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ตอบรับและดำเนินการสร้างวัดเป็นชาติแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2500 และประเทศชาวพุทธอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น พม่า เกาหลี จีน ศรีลังกา ธิเบต ฯลฯ ได้ดำเนินการสร้างวัดต่อมาตามลำดับ โดยรัฐบาลอินเดียได้มีส่วนสำคัญในการบูรณะพุทธคยาอย่างต่อเนื่องจนมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน

จุดแสวงบุญและสภาพของพุทธคยาในปัจจุบัน

พุทธคยาในปัจจุบันเป็นพื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติเหมือนหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่าสองพันปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่ในบริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ทำให้ในปัจจุบันผู้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ต้องเดินลงบันไดกว่าหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับพื้นดินเดิมที่เป็นฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ

ปัจจุบัน พุทธคยาได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "พระมหาโพธิเจดีย์" อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยม สูง 170 ฟุต วัดโดยรอบฐานได้ 121.29 เมตร ภายในประดิษฐาน "พระพุทธเมตตา" พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลายจากพระเจ้าศศางกา พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบศิลปะปาละ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก "พระแท่นวัชรอาสน" แปลว่า พระแท่นมหาบุรุษใจเพชร สร้างด้วยวัสดุหินทรายเป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม กว้าง 4.10 นิ้ว 7.6 นิ้ว หนา 5 นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพระแท่นจำลองขึ้นทับพระแท่นเดิมเพื่อเป็นหลักฐานยืนยังว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้ ปัจจุบัน ประชาชนและรัฐบาลประเทศศรีลังกาได้อุทิศสร้างกำแพงแก้ว ทำด้วยทองคำแท้ ประดิษฐานรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระแท่นวัชรอาสน์ นอกจากนี้ บริเวณพุทธคยาและโดยรอบยังมีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น กลุ่มพระเจดีย์เสวยวิมุตติสุข สระมุจลินทร์ บ้านนางสุชาดา ถ้ำดงคสิริ (สถานที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกกรกิริยา) วัดพุทธนานาชาติ เป็นต้น

ต่อมา ชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมเสนอขอให้พุทธคยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก จนใน พ.ศ. 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจึงพิจารณาให้พุทธคยาเป็นแหล่งมรดกโลก ปัจจุบัน พุทธคยานับได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก โดยแต่ละปีจะมีผู้แสวงบุญนับล้านคนเดินทางมานมัสการมหาพุทธสถานแห่งนี้ ในฐานะที่เป็นสังเวชนียสถานศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของชาวพุทธ สถานที่อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระพุทธศาสนา และสถานที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมมหาศาสดาของชาวพุทธทั้งมวล

สถานที่เนื่องด้วยการปรินิพพาน (กุสินารา)

ที่ตั้ง

กุสินาราเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (โรมัน:Kushinagar-Kasia-Kasaya) ในเขตจังหวัดเดวเย หรือ เทวริยา (โรมัน:Devria-Devriya-Kasia-Kasaya) รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย สาลวโนทาย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฎ (โรมัน:Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ

กุสินาราในสมัยพุทธกาล

มหาปรินิพพานวิหาร ภายในสาลวโนทยาน

ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยานอยู่ในแคว้นมัลละ 1 ใน 16 แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "โกสินารกา" และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "ปาเวยยมัลลกะ" ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ผู้มีอำนาจ พราหมณ์ผู้มีบารมี เศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่งที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้ ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต

— พระอานนท์[43]

สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน

การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม

กุสินาราหลังพุทธปรินิพพาน

หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆ สถูปใหญ่คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น

ต่อมาเมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ ซึ่งในขณะนั้นมีเมืองปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวง สาลวโนทยานยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่ แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รุ่งเรืองนัก ดังในทิพยาวทาน ได้พรรณาไว้ว่า "พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา ประมาณ พ.ศ. 310 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ 100,000 กหาปณะ เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา พระเจ้าอโศกเมื่อทรงทราบชัดว่า ณ จุดนี้เป็นสถานที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ถึงกับทรงสลดพระทัย โศกเศร้าถึงเป็นลมสิ้นสติสมปฤดี"

จุนทสถูป บนที่ตั้งของบ้านนายจุนทะ อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนปรินิพพาน

หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วง พ.ศ. 942-947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าศรีวิกรมาฑิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้พรรณนาไว้ว่า "เมื่อมาถึงกุสินารา มีแต่เมืองที่ทรุดโทรม หมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ห่างกันไป โบสถ์ วิหาร และปูชนียวัตถุ ปรักหักพังโดยมาก สังฆารามที่ควรเป็นที่อยู่อาศัยก็ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ ได้เห็นศิลาจารึกพระเจ้าอโศก 2 หลัก ปักปรากฏอยู่ 2 แห่งในอุทยานสาลวัน จารึกนั้นบอกว่า ณ ที่นี้ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์"

ในบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาเมืองกุสินาราราว พ.ศ. 1300 ได้พรรณนาไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า เมืองกุสินาราในสมัยนั้นยังคงมีซากเมือง ป้อมปราการ หอสูง และสังฆารามอยู่บ้าง แต่อยู่ในสภาพปรักหักพัง ภายในเขตกำแพงเมืองยังพอมีคนอาศัยอยู่บ้างแต่น้อยมาก ท่านยังได้ทันพบบ่อน้ำและซากสถูปบ้านของนายจุนทะ และได้เห็นความร่มรื่นของสาลวโนทยาน สถานที่ปรินิพพาน และมกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงฯ [44]

จนในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ราชวงศ์สกลจุรีได้เข้ามาสร้างวัดขึ้นในบริเวณสาลวโนทยานจำนวนมาก จนพระพุทธศาสนาได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. 1743 ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนาในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้างและกลายเป็นป่ารกทึบ จนใน พ.ศ. 2433 ภิกษุมหาวีระ สวามี และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา เดินทางมายังกุสินาราและเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟูพุทธสถานแห่งนี้ร่วมกับเนซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า "มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา"

สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้าเป็นเวลา 7 วันก่อนอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ใน พ.ศ. 2397 นายวิลสัน นักโบราณคดีอังกฤษ ได้ทำการพิสูจน์ขั้นต้นว่าหมู่บ้านกาเซียคือกุสินารา จนใน พ.ศ. 2404-2420 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้เริ่มทำการขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน จนใน พ.ศ. 2418]]-2420 นายคาร์ลลีเล่ หนึ่งในผู้ช่วยในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธาได้สร้างไว้ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรกที่เอาใจใส่ในงานบูรณะและรักษาคุ้มครองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ

จากนั้น นับแต่ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา กุสินาราได้เริ่มมีผู้อุปถัมภ์ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ เข้ามาสร้างวัดและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญที่เริ่มเข้ามาสักการะมหาสังเวชนียสถานแห่งนี้จนใน พ.ศ. 2498 รัฐบาลอินเดียได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาปูชนียสถานแห่งนี้เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง 25 พุทธชยันตี โดยได้รื้อโครงสร้างวิหารปรินิพพานเก่าที่พึ่งได้รับการบูรณะสร้างใหม่ไม่นานออกเพื่อสร้างมหาปรินิพพานวิหารใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างและสามารถรองรับพุทธศาสนิกชนได้ ใน พ.ศ. 2499 จนใน พ.ศ. 2507 วิหารได้พังลงมา ทางการอินเดียจึงบูรณะสร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2518 และทางการอินเดียและพุทธศาสนิกชนก็ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะกุสินาราจนมีสภาพสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน[45]

จุดแสวงบุญและสภาพของกุสินาราในปัจจุบัน

ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะ และมีปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ "สถูปปรินิพพาน" เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำที่เป็นทรงพระราชนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอมมน มีฉัตรสามชั้น "มหาปรินิพพานวิหาร" ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง "มกุฏพันธนเจดีย์" อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี

ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา นิยมมาพักที่นี่[46] ในส่วนพุทธสถานโบราณลุมพินีนั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นอย่างดีจากรัฐบาลอินเดีย โดยรอบมีสภาพเป็นสวนป่าสาละร่มรื่นเหมือนครั้งพุทธกาล ชวนให้เจริญศรัทธาแก่ผู้มาสักการะตลอดมาจนปัจจุบัน

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา

ชาวพุทธในมาเลเซีย ถือดอกบัวสักการะเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันวิสาขบูชา

ในวันวิสาขบูชานี้ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมกันจัดพิธีทำบุญใหญ่หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า[7] ซึ่งในฐานะที่วันวิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก เมื่อถึงวันวิสาขบูชา องค์การสหประชาชาติจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย เช่น สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลกประกาศบูชาวันวิสาขะ (ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ) ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเป็นการถาวร มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชา เป็นต้น[47]

สำหรับในประเทศไทย นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเข้าวัดบำเพ็ญบุญกุศลถือศีลฟังธรรมแล้ว ยังนิยมปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในตอนค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย

วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น[48]

โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันวิสาขบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันวิสาขบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้

  1. บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
  2. บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ 3 จบ)
  3. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
  4. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
  5. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
  6. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
  7. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
  8. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
  9. บทสวดบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:ยะมัมหะ โข ฯลฯ)[49]

จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

หลักธรรมในวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าถึง 3 เหตุการณ์ คือ การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเหตุการณ์เหล่านั้น คติธรรมหลักคือไตรลักษณ์ หรืออนิจจลักษณะ อันได้แก่ความเป็นธรรมดาของโลก 3 ประการ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์คือตั้งอยู่ในสภาพเดิมมิได้ และอนัตตา ความที่สังขารทั้งหลายไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ (เช่น บังคับไม่ให้แก่ไม่ได้ บังคับไม่ให้ตายไม่ได้) ซึ่งทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนตกอยู่ในสภาพ 3 ประการนี้ แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของโลก ก็ยังต้องทรงตกอยู่ในกฎเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้

สำหรับหลักธรรมคติเทียบเคียงกับเหตุการณ์ทั้ง 3 ที่สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติได้ 3 อย่าง คือ[50]

ความกตัญญู

หลักคติธรรมอุปมาที่ได้จากเหตุการณ์ในวันวิสาขบูชา ทั้ง 3 เหตุการณ์ คือ ความกตัญญู, อริยสัจ 4, และ สติ

ในเหตุการณ์วันประสูติ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "หลักความกตัญญู" เพราะในพระพุทธประวัติ แม้พระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะจะสิ้นพระชนม์ไปหลังที่เจ้าชายประสูติได้เพียง 7 วัน แต่เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงสเทวโลก ถึงแม้พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดา พระพุทธองค์ก็เสด็จไปโปรดถึงพระราชวังที่ประทับ จนพระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนักใกล้สวรรคต พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปโปรดจนพระราชบิดาได้บรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์และนิพพานในพระราชวังในวันนั้นเอง

ซึ่งในเรื่องความกตัญญูต่อบิดามารดา และผู้มีอุปการะก่อนนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หลายพระสูตรด้วยกัน เช่นใน หลักทิศ 6 เป็นต้น ซึ่งความกตัญญูนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะกับบุคคลเท่านั้น แต่รวมไปแม้กระทั่งต้นไม้ที่ให้ร่มเงาด้วย ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

"บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่ควรหักกิ่งต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม"

— พระพุทธพจน์จาก — พระไตรปิฏก ขุททกนิกาย ชาดก. 28/26

ความกตัญญู จึงนับได้ว่าเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง มีตัวอย่างหลายเรื่องในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงยกย่องผู้มีความกตัญญูต่อบิดามารดา เช่น เรื่องพระภิกษุเลี้ยงบิดามารดาในมหานิบาต[51] เป็นต้น ซึ่งทำให้พระพุทธองค์ตรัสว่า

"นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา" แปลว่า: "ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี"

— พระพุทธพจน์จาก — พระไตรปิฏก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต "ปุตตสูตร"

กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ประสูตินี้เป็นเครื่องเตือนให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงความกตัญญูกตเวที ที่ทุกคนควรมีในตนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม

อริยสัจ 4

ในเหตุการณ์วันตรัสรู้ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "อริยสัจ 4" อันเป็นหลักธรรมในการแก้ปัญหาชีวิตที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ คือ

  1. "ทุกข์" ความไม่สบายกายไม่สบายใจ สภาวะที่ทนได้ยากทั้งหลาย (ปัญหา)
  2. "สมุทัย" ต้นเหตุของความทุกข์ คือกิเลสตัณหา (ต้นเหตุของปัญหา)
  3. "นิโรธ" จุดหมายที่จะดับทุกข์ คือนิพพาน (วางเป้าหมาย)
  4. "มรรค" แนวทางในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (ลงมือแก้ไข)
— พระพุทธพจน์จาก — พระไตรปิฏก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค 19/528/1664

ความไม่ประมาท

ในเหตุการณ์วันปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสปัจฉิมโอวาทไว้บทหนึ่ง อันเป็นยอดของคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรนำมาปฏิบัติ คือ การมีสติอยู่ทุกเมื่อ ไม่ให้ความทุกข์ร้อนใจอันเกิดจากอำนาจกิเลสเข้าครอบงำ กล่าวคือ ความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ โดยพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

"...อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ..."

แปลว่า: "พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วย ความไม่ประมาท เถิด"

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117

การประกอบพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาของการประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

ในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พิธีวิสาขบูชาแพร่หลายในหมู่ประชาชน (ภาพ: ขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประดิษฐานยังท้องสนามหลวงให้ประชาชนสักการบูชา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา)

การจัดพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทย ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี โดยปรากฏหลักฐานจากหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์[52] ซึ่งกล่าวถึงการพิธีวิสาขบูชาไว้ว่ามีมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว1 โดยในหนังสือได้กล่าวไว้ว่างานวิสาขบูชาเป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่สำหรับอาณาจักร ทั้งพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์และพสกนิกรทั้งปวงจะมาร่วมกันประกอบพิธีนี้ โดยมีการพร้อมใจกันทำความสะอาดและตกแต่งประดับประดาดอกไม้โคมไฟเพื่อเฉลิมฉลอง และพร้อมใจกันบำเพ็ญบุญกุศลและทานต่าง ๆ เช่น เข้าวัดทำบุญ รักษาศีล 5 ฟังพระธรรมเทศนา และการสาธารณะสงเคราะห์สาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ตั้งโรงทานเลี้ยงดูคนยากจนเป็นต้น เป็นเวลาถึงสามวันสามคืน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อถึงวันวิสาขบูชา เวลาเย็นจะมีการเวียนเทียนรอบสถูปเจดีย์[53]

ความจากหนังสือตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ดังกล่าวมานี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับเค้าโครงของหนังสือนี้ว่ามีเค้าโครงมาจากสมัยสุโขทัยจริง แต่รายละเอียดบางส่วนอาจจะมีการแต่งเสริมกันขึ้นมาในสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์[54] อย่างไรก็ดี จากหลักฐานดังกล่าว (แม้จะไม่แน่ชัด) การพิธีวิสาขบูชา ย่อมเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย เพราะในสมัยนั้นกรุงสุโขทัยได้สืบพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจากลังกาประเทศ ซึ่งเป็นเมืองที่มั่นทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และขนาดของการจัดพิธีบูชาเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาของชาวศรีลังกานั้น นับเป็นพิธีใหญ่และสำคัญมากของอาณาจักรมาตั้งแต่แรกรับพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดพิธีเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาของประเทศศรีลังกานั้นมีความสำคัญและส่งอิทธิพลต่อประเทศพุทธศาสนาอื่นเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักรสุโขทัยที่รับสืบพระพุทธศาสนามาจากประเทศศรีลังกาโดยตรง และหลังการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรสุโขทัย จนถึงในสมัยอยุธยาก็สันนิษฐานว่าคงมีการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาอยู่ แต่ลดความสำคัญลงไปมาก จนไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารหรือจารึกใด จนมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีวิสาขบูชาจึงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง หลังจากความเสื่อมของพระพุทธศาสนาหลังยุคสุโขทัยล่มสลาย เพราะหลังจากสิ้นยุคอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยาได้ถูกครอบงำด้วยแนวคิดทางคติพราหมณ์ซึ่งได้รับจากการซึมซับวัฒนธรรมฮินดูแบบขอม (นครวัด)[55] จนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ได้มีพระราชประสงค์ให้ทำการฟื้นฟูการประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น พระองค์ได้ทรงปรึกษากับ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ให้วางแนวปฏิบัติการพระราชพิธีวิสาขบูชา และพระราชพิธีวันวิสาขบูชาครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ได้จัดขึ้นเป็นการพระราชพิธีใหญ่ 3 วัน 3 คืน นับตั้งแต่วันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ ถึง วันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู นพศก จุลศักราช 1179 ( พ.ศ. 2360) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงเพิ่มจัดให้มีการเทศน์ปฐมสมโพธิกถา (พระพุทธประวัติ) ในวันวิสาขบูชาด้วย ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชารอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปรากฏหลักฐานว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา และให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายใน และหน่วยราชการต่าง ๆ เดินเวียนเทียน จัดโคมประทีป และสวดมนต์ที่พระพุทธรัตนสถาน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีการจัดพิธีวิสาขบูชาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

จากความเป็นมาของการจัดพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทยจากสมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันดังกล่าว กล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พิธีวิสาขบูชาแพร่หลายในหมู่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันการพิธีวิสาขบูชาก็ได้แพร่หลายในประเทศไทยและได้รับการปฏิบัติสืบมาอย่างเข้มแข็ง วันวิสาขบูชากลายเป็นวันหยุดราชการโดยพฤตินัยมาแต่โบราณ[56] ทั้งภาครัฐภาคเอกชนประชาชนและคณะสงฆ์ได้กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาพร้อม ๆ กับชาวพุทธทั่วทั้งโลก และเป็นการช่วยกันสนับสนุนในการรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กันด้วยอีกทางหนึ่ง

ปี วันที่ วันที่ วันที่
ปีชวด 1 มิถุนายน พ.ศ. 2539 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
ปีฉลู 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ปีขาล 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ปีเถาะ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 3 มิถุนายน พ.ศ. 2566
ปีมะโรง 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
ปีมะเส็ง 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
ปีมะเมีย 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 1 มิถุนายน พ.ศ. 2569
ปีมะแม 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2570
ปีวอก 2 มิถุนายน พ.ศ. 2547 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2571
ปีระกา 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2572
ปีจอ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2573
ปีกุน 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 5 มิถุนายน พ.ศ. 2574

การประกอบพิธีทางศาสนาในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

พระราชพิธี

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
โคมตราเทียนรุ่งเทียนราย จุดตามประทีปเป็นพุทธบูชาในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชกาลที่ 7

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชานี้มีปรากฏในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วย โดยได้ทรงกล่าวถึงการพระราชพิธีในเดือนหก คือพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลในวันวิสาขบูชาไว้ เรียกว่า "พิธีไพศาขย์ จรดพระราชนังคัล" (คือในเดือน 6 มีพระราชพิธีสำคัญสองพระราชพิธีคือ "พระราชพิธีวิสาขบูชา" (ในหนังสือพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนใช้ศัพท์สันสกฤต) และ"พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ")[57] ปัจจุบันนี้โดยปกติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฯ และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีหลักจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการประกาศการพระราชพิธีนี้ให้ทราบทั่วไปเป็นประจำทุกปี ในอดีตจะใช้ชื่อเรียกการพระราชพิธีในราชกิจจานุเบกษาแตกต่างกัน บางครั้งจะใช้ชื่อ " การพระราชกุศลวิสาขบูชา และกาลานุกาล"[58] หรือ " การพระราชกุศลกาลานุกาลวิสาขบูชา"[59] หรือแม้ "วิสาขบูชา" [60] ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน สำนักพระราชวังจะใช้ชื่อเรียกหมายกำหนดการที่ชัดเจน เช่น "หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2551[61]

รายละเอียดการประกอบพระราชพิธีวิสาขบูชา อาจพิจารณาได้จากราชกิจจานุเบกษาประกาศหมายกำหนดการวิสาขบูชาในปีนั้น ๆ ได้ ในอดีตการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาจัดว่าเป็นพิธีใหญ่ ดังตัวอย่างความใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 13 หน้า 105 ที่ประกาศในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 เรื่อง "การพระราชกุศลวิสาขบูชา และกาลานุกาล" ว่า

...วันจันทร์เพ็ญ เสวยวิสาขนักษัตรฤกษ ซึ่งนิยมสืบมาแต่โบราณว่า เป็นมหามงคลสมัย คล้ายกับวันประสูติแลวันตรัสรู้ วันดับขันธปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ในรัตนโกสินทร์ศก 113 นี้ ตกในวันที่ 19 พฤษภาคม ได้มีการพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ตลอดไป 3 วันตามเคย คือเวลาเช้า วันที่ 18 ที่ 19 พฤษภาคม มีการเลี้ยงพระสงฆ์ 20 รูป วันที่ 20 พฤษภาคม มีการเลี้ยงพระสงฆ์ 34 รูป ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำในวันทั้ง 3 นั้น พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการ ได้จัดโคมตราตำแหน่งแลเทียนรุ่งมาจุด จัดพวงดอกไม้ต่าง ๆ มาแขวน ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บูชาพระรัตนไตรย มีจำนวนโคมตรา 296 โคม เทียนรุ่ง 57 เล่ม พวงดอกไม้ 1005 พวง รวมทั้ง 3 คืน ของหลวงมีดอกไม้เพลิงบูชา แลเทศนาประถมสมโพธิ์ด้วย วันที่ 18 พฤษภาคม พระอมรโมลีถวาย คัพโภกกันติกถา 1 กัณฑ์ วันที่ 19 พฤษภาคม พระเมธาธรรมรส ถวายอภิสัมโพธิกถา 1 กัณฑ์ วันที่ 20 พฤษภาคม พระวิเชียรมุนี ถวายปรินิพพานกถา 1 กัณฑ์ ก่อนแต่มีเวลาเทศน์ ในวันที่ 19 ที่ 20 มีการเดินเทียนด้วย แลในวันที่ 19 นั้น พระสงฆ์ 24 รูป (ซึ่งได้รับพระราชทานฉันในวันที่ 20) ได้เจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ด้วย ส่วนการวิสาขบูชาตามพระอารามหลวงบางพระอาราม ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนรุ่งเทียนราย และเทียนประจำกัณฑ์ไป เช่นทุกปีมา อนึ่ง วันที่ 20 พฤษภาคม นี้ เปนวันสดับปกรณ์กาลานุกาลด้วย พระสงฆ์ 34 รูปนั้น เมื่อรับพระราชทานฉันแล้ว ได้สดับปกรณ์ โดยที่จัดอนุโลมในพระบรมอัฏฐิแลพระอัฏฐิ ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย 29 รูป ขึ้นไปสดับปกรณ์ ที่พระราชวังบวร 5 รูปแล้ว มีสดับปกรณ์รายร้อย 400 รูป...

— ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชกุศลวิสาขบูชา และกาลานุกาล, เล่ม 13, 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2437, หน้า 105

ในรัชกาลต่อมาได้มีการลดทอดพิธีบางอย่างออกไปบ้าง เช่น งดการพระราชพิธีในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ลดวันประกอบพระราชพิธีจากสามวันคงเหลือสองวัน ยกเลิกการถวายภัตตาหารพระสงฆ์ หรือการจุดเทียนโคมเทียนราย เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีการบำเพ็ญพระราชกุศลในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนเคย โดยในบางปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาและทรงเวียนเทียนรอบพุทธศาสนสถานเป็นการส่วนพระองค์ตามพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์ อื่น ๆ บ้าง ตามพระราชอัธยาศัย[62] ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พระราชพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม

การพระราชพิธีสำคัญอีกพระราชพิธีหนึ่งที่เนื่องด้วยพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชานั้น คือ พระราชพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม แก่พระสงฆ์และสามเณรซึ่งสอบไล่ได้ประโยคบาลีในสนามหลวง พระราชพิธีนี้ เป็นพระราชภาระแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ เป็นการยกย่องแก่พระสงฆ์สามเณรผู้มีความอุตสาหะเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย[63]

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ก็ได้รับเป็นพระราชภาระธุระ ในการส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่บันทึกพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาตลอดมา โดยพระสงฆ์สามเณรที่สอบไล่ได้ประโยคบาลีในชั้นใด ตั้งแต่ เปรียญธรรม 3 ประโยค ขึ้นไป จะได้รับพระราชทานพัดยศตั้งสมณศักดิ์สายเปรียญธรรม ได้รับคำยกย่องนำหน้านามประดุจบรรดาศักดิ์ของฝ่ายฆราวาสว่า "พระมหา" และจะได้รับพระราชทานนิตยภัตรเป็นประจำทุกเดือน

ขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชา ณ พระมหามณฑป มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ในอดีต การตั้งเปรียญจะตั้ง ณ ที่ใด ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจจะเป็น ณ พระที่นั่งองค์ใดก็ได้ ภายในพระบรมมหาราชวังหรือพระราชวัง หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชกาลปัจจุบัน พระสงฆ์สามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ตั้งแต่เปรียญธรรม 6 ประโยค ขึ้นไป จะได้รับพระราชทานให้เข้ารับพระราชทานผ้าไตรพัดยศตั้งเปรียญธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเวลาเย็นของ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพัดยศตั้งเปรียญธรรมด้วยพระองค์เอง[64] หรือในบางครั้งอาจจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์[65] หรือผู้แทนพระองค์ประกอบพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญธรรมแทน[66]

พิธีสามัญ

พุทธศาสนิกชนต่างนำธูป เทียน ดอกไม้ เดินทางไปเวียนเทียนเนื่องในวันวิสาขบูชา ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม

การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่าง ๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธเจ้าในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมนับถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญในการบำเพ็ญกุศล และปฏิบัติบูชาตามแนวทางพระบรมพุทโธวาท เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วไปชาวพุทธในประเทศไทยนิยมตั้งใจไปวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตรฟังพระธรรมเทศนาและเจริญจิตตภาวนาในวันนี้ เมื่อตกกลางคืนก็มีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชาตามอารามต่าง ๆ และอาจมีการบำเพ็ญปกิณณกะกุศลต่าง ๆ ตามแต่จะเห็นสมควร

การประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในปัจจุบันนี้นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตรฯ ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันวิสาขบูชา ณ ท้องสนามหลวง (กรุงเทพมหานคร) พุทธมณฑล (จังหวัดนครปฐม) หรือตามวัดในจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น

การจัดสร้างตราไปรษณียากรที่ระลึกวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

นอกจากภาครัฐจะประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการและให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในวันวิสาขบูชาแล้ว ยังได้มีการจัดพิมพ์จำหน่ายตราไปรษณียกรที่ระลึกในวันวิสาขบูชาทุกปีอีกด้วย โดยจะให้วันวิสาขบูชาเป็นวันเริ่มจำหน่ายตราไปรษณียกร ซึ่งรูปแบบที่จัดพิมพ์ลงในตราไปรษณียกรที่ระลึกวันวิสาขบูชานั้น ส่วนใหญ่จะจัดพิมพ์เป็นรูปพระพุทธประวัติ พระพุทธรูป หรือพุทธสังเวชนียสถาน มีบ้างที่จัดพิมพ์เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ สำหรับใน พ.ศ. 2551 รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม ได้ให้บริษัทไปรษณีย์ไทยจัดพิมพ์ตราไปรษณียกรที่ระลึกวันวิสาขบูชา เป็นรูปภาพสังเวชนียสถานพุทธคยา อันเป็นสังเวชนียสถานแห่งที่ 2 คือ รูปจิตรกรรมแบบไทยแสดงเหตุการณ์ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ และรูปพระมหาโพธิเจดีย์ พุทธคยา ขอบภาพด้านล่างมี คำว่า ประเทศไทย THAILAND วันวิสาขบูชา 2551 VISAKHAPUJA DAY 2008[67] ส่วนใน พ.ศ. 2552 จัดพิมพ์เป็นรูปสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 คือพระธรรมเมกขสถูป ทรงบาตรคว่ำก่อด้วยหินทราย ที่สารนาถ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์[68] โดยตราไปรษณียกรที่ระลึกวันวิสาขบูชาของประเทศไทยนั้น ทั้งหมดจะพิมพ์เป็นชนิดราคา 3 บาท มีราคาเดียวเท่านั้น

การจัดงานเฉลิมฉลองวิสาขบูชาในต่างประเทศ

นิทรรศการทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชาที่ประเทศสิงคโปร์

ปัจจุบันวันวิสาขบูชาได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางศาสนาหรือวันหยุดราชการในหลายประเทศ เช่น อินเดีย[69] , ศรีลังกา[70], สิงคโปร์[71], ไทย, พม่า[72], บังคลาเทศ[73], อินโดนีเซีย[74], มาเลเซีย[75] (วันสำคัญ ไม่ใช่วันหยุดราชการ), เนปาล[76], เกาหลีใต้[77], กัมพูชา [78], ภูฏาน[79] เป็นต้น

ในประเทศที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทเช่นที่ศรีลังกาจะกำหนดวันทางจันทรคติตรงกันกับประเทศไทย คือกำหนดในวันเพ็ญเดือน 6 โดยงานวิสาขบูชาในศรีลังกานั้น ถือได้ว่าเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ มีการปล่อยนักโทษให้ได้รับอิสรภาพถวายเป็นพุทธบูชา ตามบ้านเรือนจะมีการตั้งโรงทาน และประดับประดาธงทิว และโคมไฟต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศรีลังกา โดยจะทำเป็นรูปเรื่องราวในพุทธประวัติหรืออรรถกถาชาดกต่าง ๆ โดยงานวิสาขบูชาในศรีลังกานั้นจัดติดต่อกันถึง 7 วัน 7 คืน ซึ่งในประเทศไทยคงจัดงานวิสาขบูชาคล้ายกับศรีลังกา มีการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการเช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่ในปัจจุบันงานวิสาขบูชาในไทยที่จัดไม่ใหญ่โตมากนักเมื่อเทียบกับศรีลังกา แม้จะมีการจัดงาน 7 วัน 7 คืนเหมือนกัน แต่คงมีเฉพาะที่ส่วนกลาง คือที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงและพุทธมณฑลเท่านั้น โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่นิยมไปทำบุญในวันวิสาขบูชาเพียงวันเดียว

โคมไฟพุทธบูชาเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาของชาวศรีลังกา

สำหรับชาวพุทธ (มหายาน) เช่น ในประเทศสิงคโปร์ วันวิสาขบูชาได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการของประเทศ มีการจัดงานเฉลิมฉลองตามวัดพุทธต่าง ๆ โดยการกำหนดวันวิสาขบูชาของสิงคโปร์นั้นกำหนดตามปฏิทินเถรวาท แต่ในจีนเกาหลีและญี่ปุ่น จะกำหนดวันวิสาขบูชาแตกต่างจากประเทศพระพุทธศาสนาเถรวาทมาก เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น วันที่เกิดเหตุการณ์ประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพานนั้น จะอยู่ต่างเดือนกัน เดิมญี่ปุ่นกำหนดว่าวันที่ 8 ของเดือนที่ 4 เป็นวันประสูติ วันที่ 8 ของเดือน 12 เป็นวันตรัสรู้ และวันที่ 15 เดือนที่ 2 เป็นวันปรินิพพาน โดยกำหนดวันตามเดือนในปฏิทินจันทรคติจีน จนมาในสมัยเมจิ ญี่ปุ่นได้รับคตินิยมปฏิทินสุริยคติจากประเทศตะวันตก จึงมีการปรับเปลี่ยนให้กำหนดตามปฏิทินจันทรคติแทน เช่น วันปรินิพพาน จะอยู่ในวันที่ 15 กลางเดือนกุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสุริยคติที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก โดยไม่อิงปฏิทินจันทรคติจีน ในปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่น วันที่เกิดเหตุการณ์ประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน ไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ และไม่ได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นเท่าใดนัก เมื่อถึงวันนี้จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองโดยผู้ร่วมพิธีจะมีเพียงพระสงฆ์หรือชาวพุทธที่เคร่งครัด

วันวิสาขบูชาเคยถูกประกาศจากรัฐบาลห้ามจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาโดยเด็ดขาดในเวียดนามใต้ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งของผู้ปกครอง (ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) ที่นับถือศาสนาคริสต์ มีการปราบปรามพระพุทธศาสนาอย่างหนัก กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษถึงจำคุก[80] ปัจจุบันหลังจากกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ถูกเวียดกง (เวียดนามเหนือ) ตีแตก และเวียดนามเหนือใต้ได้รวมเป็นประเทศเดียวกัน พระพุทธศาสนาก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูเท่าใด ในปัจจุบันยังคงมีการจัดงานวิสาขบูชาบ้างจากชาวพุทธเวียดนาม ซึ่งเป็นงานที่ไม่ใหญ่โตเหมือนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท

ในประเทศอินโดนีเซีย ที่ปัจจุบันเป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด ก็ได้ให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชามาก เพราะเดิมนั้นพระพุทธศาสนาเคยเป็นศาสนาที่ชาวชวาหรืออินโดนีเซียนับถือมากที่สุด งานวิสาขบูชาในสมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองคงเป็นพิธีใหญ่ แต่หลังพระพุทธศาสนาเสื่อมลงเนื่องจากการการเสื่อมของราชวงศ์ไศเลนทร์ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่นับถือพระพุทธศาสนา ผู้ปกครองต่อมาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม[81] งานวิสาขบูชาจึงไม่มีผู้สืบทอด ในปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับชาวพุทธ โดยรัฐบาลประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียนั้นเป็นคนอินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่นับถือมหายาน ซึ่งมีชาวอินโดนีเซียส่วนหนึ่งที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท การจัดงานวิสาขบูชาในระยะหลังจึงเป็นงานใหญ่ โดยศูนย์กลางจัดงานอยู่ที่พระมหาสถูปบุโรพุทโธ เกาะชวา ทุกปีประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซียจะมาเป็นประธานเปิดงาน โดยเชิญผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกมาร่วมงาน[82]

การกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

การกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก เริ่มต้นขึ้นจากการที่ผู้แทนจากประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธ คือ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฎาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้มีมติร่วมกันที่จะเสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศรับรองข้อมติกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติ ในการประชุมพุทธศาสนาระหว่างประเทศ (International Buddhist Conference) ณ กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ต่อมา คณะทูตถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จึงได้จัดเตรียมร่างข้อมติ และได้ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้มีการรับรองข้อมติเรื่องการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติในที่ประชุมงสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 55 แต่คณะผู้แทนจากศรีลังกาเปลี่ยนเสนอให้ประกาศวันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" แทน เนื่องจากวันหยุดของสหประชาชาติมีมากแล้ว และจะกระทบต่อการดำเนินงานของสหประชาชาติ และได้ดำเนินการให้คณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติจำนวน 16 ประเทศ คือ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฎาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน[4] ให้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ระเบียบวาระของการประชุมใหญ่ฯ จนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 55 จึงได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 174 ว่าด้วยการยอมรับวันวิสาขบูชาในระดับสากล (International recognition of the Day of Visak) โดยการเสนอของศรีลังกา ประธานที่ประชุมได้ให้ผู้แทนจากศรีลังกาเสนอร่างข้อมติ และเชิญให้ผู้แทนจาก ไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฎาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดีย ขึ้นแถลง สรุปความได้ว่า

"วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (observance) ตามความเหมาะสม"[4]

นายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ให้เหตุผลในถ้อยแถลงมีใจความตอนหนึ่งว่า "องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน"[4]

ในที่สุด องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (ด้วยชื่อวันว่า "Vesak") โดยการเสนอของประเทศศรีลังกาดังกล่าว ด้วยมติเอกฉันท์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2542[83]

เชิงอรรถ

หมายเหตุ 1: สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่ทรงเชื่อว่าหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แต่งขึ้นในสมัยสุโขทัยทั้งหมด โดยทรงสันนิษฐานไว้ว่าสำนวนและเรื่องราวบางส่วนในเป็นสำนวนใหม่ที่แต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ในส่วนเค้าโครงหลัก ๆ ทรงสันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจมีเค้าโครงเรื่องจริงมาจากสมัยสุโขทัย

หมายเหตุ 2: พื้นที่บริเวณพุทธคยาเป็นกรรมสิทธิ์ของตระกูลพราหมณ์มหันต์ เนื่องจากพุทธคยาถูกทอดทิ้งไปหลังจากพระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย และพราหมณ์มหันต์เข้าครอบครองมหาโพธิเจดีย์โดยปรับเป็นเทวสถาน ต่อมารัฐบาลอินเดียได้รื้อถอนศิวลิงก์เพื่อปรับเป็นพุทธสถาน และชาวพุทธได้เรียกร้องขอเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการพุทธคยาในภายหลังจนมีการตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารร่วมกัน

หมายเหตุ 3: พ่อค้าทั้งคู่นั้น ตามตำนานของพม่ากล่าวว่าพ่อค้าทั้งสองเป็นพ่อค้ามาจากเมืองพม่า โดยในตำนานกล่าวว่าพระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระเกศาแก่พ่อค้าทั้งคู่เป็นที่ระลึกในพุทธานุสสติด้วย เมื่อพ่อค้าทั้งสองได้นำพระเกศาธาตุกลับไปจึงได้นำไปสร้างสถูปประดิษฐาน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพระมหาธาตุชเวดากองอันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธองค์จนเป็นที่เคารพของชาวพุทธทั่วไปจนปัจจุบันนี้[84]

หมายเหตุ 4: พระองค์ได้เสด็จมานมัสการ ณ ที่แห่งนี้ และได้ทรงสร้างอารามและสร้างเสริมพระแท่นวัชรอาสน์ (พระแท่นตรัสรู้ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์) ด้วยศิลาแกะสลักประดับอัญมณี (ซึ่งพระแท่นนี้ยังคงปรากฏมาจนปัจจุบัน) และในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนี้เอง พระนางสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาในพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำกิ่งด้านขวาของต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปถวายแด่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกา โดยได้ทรงปลูกไว้ ณ เมือง;อนุราธปุระ ซึ่งยังคงมีอายุยืนยาวมาจนปัจจุบัน ...

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "BBC on Buddhism". BBC Religions. BBC. สืบค้นเมื่อ 21 November 2018.
  2. "Making History: Vesak Celebrated at the White House with Candle Offerings". 27 May 2021.
  3. "Visakha Puja". Accesstoinsight.org. สืบค้นเมื่อ 20 March 2012.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Request for inclusion of an additional item in the agenda of the fifty-fourth session in United Nations (12 November 1999). International recognition of the Day of Vesak. Retrieved on May 7, 2009 (อังกฤษ)
  5. พระพุทธศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน เก็บถาวร 2020-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. UNDV Celebration. เรียกข้อมูลวันที่ 23 เมษายน 2552
  6. Nirvana Day - 15th February 2009. BBC Schools-Buddhism. Retrieved on May 7, 2009 (อังกฤษ)
  7. 7.0 7.1 Wesak (Buddha Day) - First Full Moon in May - around 20th May 2009. BBC Schools - Buddhism. Retrieved on May 7, 2009 (อังกฤษ)
  8. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. 14/248/363
  9. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. 14/249-251/366-7-8-9, 371
  10. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. 14/249-251/366-7-8-9, 371
  11. เทวประภาส มากคล้าย. สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา, 2552.
  12. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/176/139
  13. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. 12/316/316
  14. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสาราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. 13/443/89
  15. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาสีหนาทสุตฺต สีหนาทวคฺค มู. ม. 12/155/177
  16. มธุรัตถวิลาสินี อัพภันตรนิทาน พรรณนารัตนจังกมนกัณฑ์ อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์ อรรถกถารัตนะจงกรมกัณฑ์. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1] เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 9-7-52
  17. พระไตรปิฎก เล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 25 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก โคตมพุทธวงศ์ที่ 25 (ว่าด้วยพระประวัติพระโคตมพุทธเจ้า). พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 11-6-52
  18. พระไตรปิฎก เล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย ธรรมบท คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ 11. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 23-10-52
  19. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ 11. อรรถกถาพระไตรปิฎก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 23-10-52
  20. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหมณวคฺค ม. ม. 13/685/754
  21. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ธนฺธ. สํ. 17/81/125
  22. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาวาร. ม. 19/287/963
  23. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสาทิกสุตฺต ปา. ที. 11/117/105
  24. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/139/106
  25. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/142/109
  26. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/147/117
  27. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117
  28. สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/159/128
  29. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ). คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ธนาเพรส. 2551
  30. พระธรรมโกศาจารย์. ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส-พุทธประวัติจากพระโอษฐ์. ธรรมทานมูลนิธิ. พิมพ์ครั้งที่ 11
  31. Malalasekera, G.P. Dictionary of Pali Proper Names Vols.I-II. New Delhi : Munshiram Manoharlal, 1983.
  32. Lumbini, the Birthplace of the Lord Buddha. UNESCO World Heritage Centre. เรียกข้อมูลเมื่อ 5-5-52 (อังกฤษ)
  33. ศรีกิตติโสภณ (สุกิตติ) , พระ. มหาชนบท 16 แคว้นในชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล และจดหมายเล่าเรื่องอนาคาริกธรรมปาละ. กรุงเทพมหานคร : ไม่ปรากฏชื่อสถานที่พิมพ์, 2539
  34. 34.0 34.1 34.2 เสฐียร พันธรังษี. พุทธสถานในชมพูทวีป. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ยูไนเต็ด โปรดั๊กชั่น, 2528
  35. Li, Yongshi, (translator) (1959). The Life of Hsuan Tsang by Huili. Chinese Buddhist Association, Beijing.
  36. อมตานันทะ,พระ และคณะ.เอกสารโครงการค้นคว้าพุทธสถานในแดนพุทธองค์ทางวิชาการ. กรุงเทพมหานคร : เอกสารตีพิมพ์ถ่ายสำเนาจากต้นฉบับ, ม.ป.ป.
  37. พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ. ลุมพินี สถานที่ประสูติพระรูปกายของพระสิทธัตถโคตมพุทธเจ้าแห่งศากยวงศ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2541
  38. Mahabodhi Temple. UNESCO World Heritage Centre. เรียกข้อมูลเมื่อ 5-5-52 (อังกฤษ)
  39. พระไตรปิฎก เล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 12 อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต เอตทัคคบาลี
  40. พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ : ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2527
  41. พระราชธรรมมุนี (เกียรติ สุกิตฺติ) (2543). จดหมายเล่าเรื่องอนาคาริกธรรมปาละ. กรุงเทพ.
  42. "A Short History of the Mahabodhi Temple in Bodhgaya". Root Institute for Wisdom Culture. 2009-05-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-24.
  43. สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฏกสำหรับประชาชน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2522
  44. สมัย สิงห์ศิริ (ผู้แปล). พระพุทธศาสนาในชมพูทวีป. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ ประพาสต้น, 2504.
  45. Bagri, S.C. Buddhhist Pilgrimages & Tours in India. Nodida : Publication Division of Indian Government, 1992
  46. สุนนท์ ปัทมาคม, รศ. . สมุดภาพแดนพุทธภูมิ ฉลองชนมายุ 80 ปี พระสุเมธาธิบดี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2541.
  47. พระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์..สู่สหประชาชาติ เก็บถาวร 2012-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักข่าวออนไลน์คมชัดลึก. เรียกข้อมูลเมื่อ 6-5-52
  48. วันสำคัญของเรา, กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. 2520, หน้า 6
  49. วันสำคัญทางศาสนา วันวิสาข[ลิงก์เสีย]. เว็บไซต์ศูนย์กลางความรู้แห่งชาติ (TKC:Thailand Knowledge Center). เรียกข้อมูลเมื่อ 2-5-52
  50. วันวิสาขบูชา หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ เก็บถาวร 2009-08-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. นิทรรศการออนไลน์ หอสมุด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. เรียกข้อมูลเมื่อ 5-5-52
  51. อรรถกถา สุวรรณสามชาดก ว่าด้วย สุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี. เว็บไซต์ 84,000 พระธรรมขันธ์. เรียกข้อมูลเมื่อ 5-5-2552
  52. เอกรัตน์ อุดมพร. วรรณคดีสมัยสุโขทัย. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา, ไม่ทราบปีที่พิมพ์.
  53. วันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลโลก เก็บถาวร 2012-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ. เรียกข้อมูลเมื่อ 4-5-52
  54. คำบรรยายรายวิชาแนวคิดทางจริยศาสตร์ในสังคมไทย เก็บถาวร 2009-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (SHES 531 History of Ethical Thoughts in Thai Society). ภาควิชามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. เรียกข้อมูลเมื่อ 4-5-52
  55. การทูตเชิงวัฒนธรรมเบื้องต้น ฉบับปกิณกะ เก็บถาวร 2007-05-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย: สุขุม สมประสงค์. เว็ปไซต์สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ฯ. เรียกข้อมูลเมื่อ 4-5-52
  56. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกำหนดวันหยุดราชการ นักขัตฤกษ์ประจำปี (พระพุทธศักราช 2456) เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 30, 30 มีนาคม พ.ศ. 2456, หน้า 533
  57. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. โรงพิมพ์พระจันทร์ : พระนคร, 2496.
  58. ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชกุศลวิสาขบูชา และกาลานุกาล, เล่ม 13, 31 พฤษภาคม พ.ศ. 1896, หน้า 105
  59. ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชกุศลวิสาขบูชาแลกาลานุกาล, เล่ม 16, ตอน 8 , 23 พฤษภาคม พ.ศ. 1897, หน้า 89
  60. ราชกิจจานุเบกษา, วิสาขบูชา, เล่ม 1, ตอนที่ 24, 15 กรกฎาคม พ.ศ. 1884, หน้า 213
  61. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2551, เล่ม 125, ตอนที่ 10 ข, 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551, หน้า 14
  62. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ 8/2508 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี พุทธศักราช 2508, เล่ม 82, ตอน 39 ง, 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2508, หน้า 1397
  63. สำนักศาสนาศึกษาวัดเทพลีลา: คู่มือเปิดตำราเรียนบาลี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย , 2545.
  64. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ 10/2502 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2502, เล่ม 76, ตอน 53 ง, 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2502, หน้า 1407
  65. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ 10/2547 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช 2547, เล่ม 121, พิเศษ 61 ง, 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547, หน้า 91
  66. ราชกิจจานุเบกษา, กำหนดการ ที่ 7/2490 พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา มิถุนายน พุทธศักราช 2490, เล่ม 64, ตอน 24 ง, 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2490, หน้า 1016
  67. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สร้างและจำหน่ายตราไปรษณียากรชุดวันสำคัญทางพุทธศาสนา (วันวิสาขบูชา), เล่ม 115, ตอน 40 ง, 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2541, หน้า 13
  68. ตราไปรษณียากรชุดวันสำคัญทางพุทธศาสนา (วันวิสาขบูชา) ประจำปี 2552 เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เว็บไซต์บริษัทไปรษณีย์ไทย. เรียกข้อมูลเมื่อ 12-5-52
  69. India Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  70. Singapore Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  71. Sri Lanka Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  72. Burma Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  73. Bangladesh Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  74. Indonesia Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  75. Malaysia Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  76. Nepal Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  77. South Korea Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  78. Cambodia Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  79. Bhutan Public Holidays 2009. The Professional Source of World Public Holidays. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  80. อดิศร อิสิ. อนันตริยกรรม ณเวียดนามใต้ เก็บถาวร 2012-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพมหานคร: ไม่ทราบปีที่พิมพ์
  81. Vesak Day in BOROBUDUR 2007 Ep.1. DMC: Dhamma Media Channel. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  82. Vesak Day in BOROBUDUR 2007 Ep.2. DMC: Dhamma Media Channel. เรียกข้อมูลเมื่อ 11-5-52
  83. "UNITED NATIONS GENERAL ASSEMBLY". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-22. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  84. BURMA, D. G . E. HALL, M.A., D.LIT., F.R.HIST.S.Professor Emeritus of the University of London and formerly Professor of History in the University of Rangoon, Burma.Third edition 1960.(อังกฤษ)

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

  • พระธรรมโกศาจารย์. ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส-พุทธประวัติจากพระโอษฐ์. กรุงเทพฯ : ธรรมทานมูลนิธิ, 2529. พิมพ์ครั้งที่ 11. ISBN 974-497-908-9
  • ปัณณวัฒน์. ปฏิทิน 100 พ.ศ. 2468-2568 คัมภีร์พยากรณ์คู่บ้าน. กรุงเทพฯ : ไพลิน, 2550. ISBN 974-455-535-1
  • เบญจมาศ พลอินทร์. วรรณคดีขนบประเพณี พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2523.
  • ไพโรจน์ คุ้มไพโรจน์.ตามรอยบาทพระศาสดา. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ธรรมสภา, 2539. ISBN 974-89383-5-2

แหล่งข้อมูลอื่น