ขรัวอินโข่ง
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ขรัวอินโข่ง มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3-4 ศิลปินผู้ได้รับการยกย่องเป็นจิตรกรเอกประจำรัชกาลที่ 4 แห่งสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นศิลปินในสมณเพศ ศิลปินไทยคนแรกที่ใช้เทคนิคการเขียนภาพฝาผนังแบบตะวันตกที่แสดงปริมาตรใกล้ไกล นับเป็นศิลปินก้าวหน้าแห่งยุคที่ผสมผสานแนวดำเนินชีวิตแบบไทยกับตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงยกย่องว่า ขรัวอินโข่งเป็นช่างเขียนไม่มีตัวสู้ในสมัยนั้น
ในระยะแรกขรัวอินโข่งยังยึดแนวความคิดแบบเดิม คือวาด ภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนาตามคตินิยม ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นเขียนภาพเรื่องราวเกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งหลุดพ้นมาเป็นงานในรูปแบบปริศนาธรรม ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวคือการ วาดภาพธรรมชาติโดยเฉพาะต้นไม้ และการควบคุมอารมณ์ของสีในภาพให้มีความกลมกลืนและ เกี่ยวเนื่องกันโดยตลอด ผลงานที่สร้างชื่อเสียงคือภาพปริศนาธรรมที่ฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาส
ชีวิตวัยเยาว์และการศึกษา
[แก้]ชีวิตในวัยเด็กของขรัวอินโข่งไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด รวมทั้งปีที่เกิด ทราบเพียงว่าขรัวอินโข่งเกิดที่ตำบลบางจาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชื่อเดิมว่า "อิน" เดินทางเข้ามาบวชเป็นสามเณรที่กรุงเทพฯ แม้อายุเกินมากแล้วก็ยังไม่ยอมบวชพระจนถูกล้อเป็นเณรโค่ง แต่ในที่สุดสามเณรอินจึงได้ยอมบวชเป็นพระที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ชื่อจึงสันนิษฐานกันว่ามาจากการถูกเรียกล้อว่า “อินโค่ง” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงอธิบายว่า “โค่ง” กับ “โข่ง” แปลว่า “ใหญ่” ต่อมาโค่งเพี้ยนเป็น “โข่ง” จึงเรียกกันว่า “อินโข่ง” ส่วนคำว่า “ขรัว” ได้มาหลังจาก “พระอินโข่ง” มีพรรษาและทรงความรู้มากขึ้นจึงได้รับการเคารพนับถือเป็นพระอาจารย์ซึ่งเจ้านายสมัยนั้นนิยมเรียกว่า “ขรัว” คนทั่วไปจึงเรียกพระภิกษุอินว่า “ขรัวอินโข่ง” ถึงปัจจุบัน
การศึกษาด้านจิตรกรรม
[แก้]ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าขรัวอินโข่งเรียนการเขียนภาพอย่างเป็นงานเป็นการจากที่ใดและเมื่อใด โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยหนุ่ม เข้าใจกันว่าอาศัยการมีพรสวรรค์และได้อาจได้หัดเขียนภาพแบบไทยกับช่างเขียนบางคนในสมัยนั้นจนเกิดความชำนาญขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวดติวงศ์ทรงเล่าว่า ขรัวอินโข่งเป็นพระที่ชอบเก็บตัวไม่ค่อยยอมรับแขก มักชอบปิดกุฏิใส่กุญแจให้คนเห็นว่าไม่อยู่เพื่อใช้เวลาที่สงบทำสมาธิวางแนวเรื่องเพื่อใช้สำหรับเขียนภาพฝาผนังโบสถ์วิหารซึ่งในสมัยแรกๆ ยังคงเป็นภาพปริศนาธรรมแบบไทย
การพัฒนาเทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตก
[แก้]จากการสันนิษฐานเช่นเดียวกันว่า อิทธิพลของตะวันตกที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามามากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีการเร่งรัดพัฒนาประเทศเป็นแบบตะวันตกมากขึ้นทั้งด้านวัฒนธรรมและวิทยาการ ซึ่งรวมถึงรูปแบบศิลปะแบบตะวันตกจากทั้งยุโรปและอเมริกา เชื่อกันว่าขรัวอินโข่งเป็นศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกแนวจากรูปแบบประเพณีเดิมอยู่แล้ว จึงกล้ารับเทคนิคแบบตะวันตกมาประยุกต์ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี ในระยะแรก ขรัวอินโข่งยังคงเขียนภาพจิตรกรรมไทยเป็นแบบดั้งเดิม โดยเขียนภาพเกี่ยวกับชาดกและพระพุทธศาสนาเป็นภาพแบบ 2 มิติ เช่น ภาพยักษ์ หน้าลิง ภาพวาดที่วัดมหาสมณารามและหอราชกรมานุสร
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสเล่าประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุลว่า
- "…เป็นช่างเขียนไทยคนแรกที่มีความรู้ไม่แต่เขียนได้ตามแบบโบราณเท่านั้น ยังเขียนได้ตามแบบฝรั่งสมัยใหม่ได้ด้วย เป็นการแสดงความก้าวหน้าในทางเขียนรูปของไทย รูปภาพต่าง ๆ ที่ขรัวอินโข่งเขียนนั้นมีเงา เป็นการเขียนที่มีชีวิตจิตใจผิดกับนักเขียนไทยคนอื่นๆ เคยโปรดฯ ให้เขียนรูปต่างๆ เป็นฝรั่งๆ ไว้ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารรูปพวกนี้เป็นพวกแรกๆ ของขรัวอินโข่ง ต่อมาเขียนรูปพระนเรศวรชนช้างไว้ในหอราชกรมานุสรหลังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามฝีมือดีนัก ในพระอุโบสถเขียนไว้ที่ห้องพระยาช้างเผือก กับเขียนรูปภาพประกอบโคลงสุภาษิตต่างๆ ภาพเหล่านี้เขียนเมื่อตอนแก่ ได้เคยพบเห็นด้วยตนเอง ผมแกขาวเป็นดอกเลา ภาพเหล่านี้อยู่ตามหน้าต่าง และประตูในพระอุโบถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฝีมือพระอาจารย์อินโข่งในพิพิธภัณฑสถานยังมีอีกหลายรูป มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เขียนจากพระองค์เอง เป็นต้น" (จากบทวรรณคดี ฉบับพฤศจิกายน 2495)
นอกจากนี้พระองค์ยังได้กล่าวถึงเทคนิคการเขียนภาพของขรัวอินโข่งว่า
- "...ท่านเป็นช่างเขียนไทยที่คิดค้นหาวิธีเขียนภาพให้มีชีวิตจิตใจ เขียนได้เหมือนของจริงและนิยมใช้สีหม่น ๆ เช่น สีน้ำเงินปนเขียวเขียน ซึ่งถ้ามิได้เป็นช่างฝีมือดีจริงแล้วก็หาอาจทำให้ภาพงดงามได้ด้วยสี 2 สีนี้ไม่และเป็นคนแรกที่ได้เริ่มนำคตินิยมอันนี้มาเป็นศิลปะของไทย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ตรัสไว้ว่า "ความนิยมเขียนอย่างฝรั่งนั้น พระอาจารย์อินโข่งเป็นผู้นำขึ้นในรัชกาลที่ 4" (จากวารสารศิลปากรปีที่ 6 เล่ม 7 หน้า 55) เพราะฉะนั้นจึงนับว่าพระอาจารย์อินโข่งเป็นจิตรกรเอกผู้หนึ่ง
น. ณ ปากน้ำ กล่าวถึงงานของขรัวอินโข่งว่า
- "....ภาพต่าง ๆ ของขรัวอินโข่งเขียนไว้นุ่นนวล มีระยะใกล้ไกลถูกหลักเกณฑ์ทุกอย่างทั้งๆ ที่ขรัวอินโข่งไม่เคยเห็นภาพตัวจริงของฝรั่งเลย นอกจากมโนภาพที่ฝันไปเท่านั้น เป็นประจักษ์พยานว่า แม้คนไทยจะหันมาเขียนภาพเรียลลิสม์ (Realism) แบบฝรั่งก็สามารถเขียนได้ดีอย่างไม่มีที่ติ และไม่แพ้เขาเลย...."
เว็บไซต์ทางการเกี่ยวกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ในหัวข้อ “จิตรกรรม” กล่าวถึงอืทธิพลของภาพเขียนตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในขณะนั้นไว้ว่า
- “....ชาวตะวันตก ได้นำความรู้วิทยาการ ศิลปะ และวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ ทำให้ชีวิตและความนิยมในสังคมปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย จิตรกรรมไทยได้นำวิธีเขียนภาพแบบตะวันตกมาผสมผสาน โดยใช้กฎเกณฑ์ทัศนียวิทยา มีระยะใกล้-ไกล แสดงความลึกในแบบ 3 มิติ ตลอดจนการจัดองค์ประกอบให้บรรยากาศและสีสันประสานสัมพันธ์กับรูปแบบตัวภาพปราสาทราชวัง และเรื่องที่เกี่ยวกับคติทางพุทธศาสนา จึงนับว่าจิตรกรรมไทยแบบประเพณีแนวใหม่แสดงลักษณะศิลปะแบบอุดมคติ และศิลปะแบบเรียลลิสท์ ที่ประสานกลมกลืนเป็นเอกภาพขึ้นมีความสวยงาม...”
อิทธิพลสำคัญอีกประการหนึ่งอาจเกิดจากความคุ้นเคยของขรัวอินโข่งที่มีอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎระหว่างผนวชที่วัดราชาธิวาสวรวิหาร สืบเนื่องจากการที่ได้ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังจนได้ทรงตั้งธรรมยุตินิกายขึ้น ได้ทรงคิดแนวเรื่องปริศนาธรรมขึ้นแล้วโปรดเกล้าให้ขรัวอินโข่งเป็นผู้เขียนภาพประกอบ
อิทธิพลภาพเขียนแบบตะวันตกเชื่อกันว่าได้มาจากภาพพิมพ์ที่หมอสอนศาสนาหรือมิชชันนารีนำมาจากต่างประเทศ รวมทั้งภาพของยุโรปที่ส่งมาจำหน่ายแพร่หลายในเมืองไทยในสมัยนั้น ขรัวอินโข่งได้นำมาพัฒนาและประยุกต์ในงานจิตรกรรมไทยเป็นภาพทิวทัศน์แบบตะวันตกโดยใช้ตัวละครและสถานที่แบบตะวันตก เช่น ภาพปริศนาธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหารและวัดบรมนิวาส
ลักษณะเฉพาะของภาพเขียนของขรัวอินโข่ง
[แก้]งานจิตรกรรมไทยของขรัวอินโข่งในช่วงแรกยังคงเป็นแบบไทยดั้งเดิมดังได้กล่าวมาแล้ว ในระยะหลังแม้จะได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมและศิลปะตะวันตกโดยเฉพาะด้านการเขียนภาพหรือจิตรกรรม ซึ่งใช้วิธีการเขียนภาพแบบตะวันตกที่ใช้แสงและเงาสร้างเป็นภาพ 3 มิติทำให้เห็นภาพมีความลึกได้รับแสงไม่เท่ากันตามจริง แต่ภาพไทยที่เขียนแบบตะวันตกของขรัวอินโข่งก็ยังคงลักษณะไทยไว้ได้โดยยังคงแสดงลักษณะท่าทางและความอ่อนช้อยที่เน้นท่าพิเศษแบบไทยดังปรากฏในภาพเขียนแบบไทยทั่วไป นอกจากนี้ขรัวอินโข่งยังแสดงความอัจฉริยะในการสร้างจินตนาการจากความคิดและความเชื่อของไทยที่ยังคงมีอยู่ในสมัยนั้น
นอกจากนั้น น. ณ ปากน้ำก็ยังได้อธิบายเปรียบเทียบงานของขรัวอินโข่งกับช่างเขียนมีชื่อชาวตะวันตกไว้อย่างน่า สนใจว่า
- "....ภาพหนึ่งเป็นภาพชีวิตในหมู่บ้าน ผู้คนกำลังตักบาตรในตอนเช้า ไกลออกไปมีกระท่อม ซึ่งปลูกบนเนินใต้ต้นไม้ กลางทุ่งที่เจิ่งไปด้วยน้ำ แสดงถึงชีวิตที่สงบสันติ ชาวนาที่ขยันขันแข็งกำลังไถนาอยู่ นับว่าเป็นชีวิตที่ผาสุกน่าชื่นชม ถัดหมู่บ้านนี้ไปไม่ไกลนักมีอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งในภาพแสดงให้เห็นความชุลมุนวุ่นวาย มีคนกลุ่มหนึ่งกำลังรุมตีกัน และบางคนก็ไล่ตีพระซึ่งวิ่งหนีทิ้งตาลปัตร ล้มลุกคลุกคลาน การเขียนด้วยวิธีนี้ทำให้นึกถึง ยอชโต ศิลปินของอิตาลี ซึ่งเน้นถึงปรัชญาของชีวิต เปรียบให้เห็นความดี ความเลว ให้เป็นคติธรรมที่ดีแก่คน ทั่ว ๆ ไป..."
วิยะดา ทองมิตร กล่าวถึงคุณค่าของผลงานของขรัวอินโข่งไว้ว่า
- "....ขรัวอินโข่ง วาดภาพเหมือนจริง และด้วยวิธีวาดแบบทัศนียวิสัย 3 มิติ ทำให้ภาพเกิดความลึก การใช้สีแบบเอกรงค์ (monochrome) ที่ประสานกลมกลืนกัน ทำให้ภาพของขรัวอินโข่งมีบรรยากาศที่ชวนฝัน ทำให้ผู้ดูเกิดจินตนาการฝันเฟื่องตามไปด้วยไม่ว่าจะเป็นภาพวาดรูปต้นไม้ในป่า รูปต้นไม้และโขดเขาที่เพิงผาทางด้านผนังทิศเหนือ ด้านล่างที่มณฑป พระพุทธบาทวัดพระงามนั้นถึงจะไม่มีรูปบุคคลปรากฏอยู่ด้วยเลย แต่ภาพทั้งสองนี้ก็แลดูสวยด้วยธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หรือภาพต้นสนที่เอนลู่ตามลมด้วยแรงพายุที่พัดอย่างแรงกล้านั้น ก็แลดูน่ากลัวสมจริงสมจังสัมพันธ์กับความน่ากลัวของภูตผีปีศาจที่มาขอส่วนบุญกับพระเจ้าพิมพิสาร… ภาพวาดทุกภาพของขรัวอินโข่ง แสดงให้เห็นถึงความประสานกลมกลืนของสีและบรรยากาศที่สลัว ๆ เสมือนกับทำให้ความคิดฝันที่ค่อนข้างเลือนลางนั้น ค่อย ๆ กระจ่างชัดในอารมณ์ รวมทั้งบรรยากาศที่อยู่ท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้ที่ร่มครึ้ม ทำให้จิตใจเกิดจินตนาการคล้อยไปตามภาพที่ได้เห็น…เมื่อวาดภาพชีวิตทางยุโรป ขรัวอินโข่งจึงพยายามสร้างอารมณ์และบรรยากาศเป็นประเทศเมืองหนาว โดยใช้วิธีแบบทึมๆ”
เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เรื่องเดียวกันกล่าวถึงลักษณะเฉพาะในการเขียนภาพของขรัวอินโข่งไว้เช่นเดียวกันว่า
- “......ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรหัวก้าวหน้า ผู้พัฒนาแนวทางจิตรกรรมไทยแบบประเพณี สร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนังในแนวความคิดใหม่ โดยนำเอารูปแบบจิตรกรรมตะวันตกที่เกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบ ผู้คน การแต่งกาย ตึกรามบ้านเมือง ทิวทัศน์ การใช้สี แสงเงา บรรยากาศที่ให้ความรู้สึกในระยะและความลึกมาใช้อย่างสอดคล้องกับเรื่องที่ได้แสดงออกเกี่ยวกับคติและปริศนาธรรม...”
ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรไทยคนแรกที่เขียนภาพคนเหมือนแบบตะวันตก (Portrait) เป็นคนแรก โดยเขียนภาพเหมือนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการศึกษาหลักฐานด้านประวัติศาสตร์จิตรกรรมของไทย ยังคงถือกันว่างานชิ้นนี้นับเป็นงานภาพคนเหมือนที่มีชื่อเสียงชิ้นแรกของประเทศไทย ปัจจุบันภาพเหมือนพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ ดังกล่าวประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
ภาพปริศนาธรรม
[แก้]กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งผนวชที่วัดราชาธิวาสวรวิหาร ได้ทรงคิดแนวเรื่องปริศนาธรรมขึ้นแล้วโปรดเกล้าให้ขรัวอินโข่งเป็นผู้เขียนภาพประกอบดังกล่าว พิสิฐ เจริญวงศ์ กล่าวถึงภาพปริศนาธรรมของขรัวอินโข่งไว้ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยเล่ม 2 ของราชบัณฑิตยสถาน (2545) ไว้ว่า
- “ภาพปริศนาธรรมเป็นภาพที่คนชมต้องใช้ความคิดแปลความหมายให้ออก ไม่เหมือนภาพพุทธประวัติหรือชาดกต่างๆ ที่พุทธศาสนิกชนส่วนมากเข้าใจเรื่องอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ภาพวาดบนผนังเหนือประตูหน้าต่างในพระอุโบสถวัดวัดบวรนิเวศวิหารทั้ง 16 ตอน ตอนแข่งม้าซึ่งแสดงอาคารในสนามแบบตะวันตก รวมทั้งผู้ชมและผู้ขี่เป็นชาวตะวันตก หมายถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นสารถีที่สามารถ เปรียบพระธรรมดังอุบายที่ใชฝึกม้า และพระสงฆ์เป็นเสมือนมาที่ฝึกมาดีแล้ว หรืออีกภาพหนึ่งเป็นภาพหมอรักษาคนดวงตาฝ้ามัว หมายถึงพระพุทธเจ้าเป็นหมอ ฝ้าคือโมหะและพระธรรมคืออุบายที่จะรักษาฝ้านั้นให้หายไป เพื่อให้ดวงตามองเห็นได้ชัดเจนแจ่มใส ภาพวาดตอนนี้ผสมกันระหว่างไทยกับตะวันตก กล่าวคือผู้คนและหมอเป็นฝรั่ง ข้างหลังเป็นอาคารแบบยุโรปเหมือนจริง แต่มีเทวดาซึ่งเป็นรูปแบบอย่างศิลปะไทยแบบความคิดหรืออุดมคตินิยมเหาะอยู่ข้างบน”
ผลงานของขรัวอินโข่ง
[แก้]ขรัวอินโข่งมีผลงานมากมาย แต่ยังไม่ปรากฏโดยชัดเจนว่ามีผู้ใด้จัดรวมรวมเป็นเอกสารไว้อย่างเป็นระบบมีหมายเลขกำกับเฉพาะและครบถ้วน พิสิฐ (2545) กล่าวไว้ว่ามีบันทึกผลงานเท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานได้แก่
- ภาพที่เก็บรักษาไว้ที่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ
- ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน
- ต้นร่างสมุดภาพ เป็นสมุดไทยสีขาว 2 เล่มเก็บรักษาไว้
- ในห้องเลขที่ 15 (มุขท้ายพระที่นั่งพรหเมศรธาดา)
- ภาพเขียนคือพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 หนึ่งภาพ
- ภาพพระบฏมหาชาติ (เขียนค้าง) 5 ภาพ
- ภาพเรื่องพระอภัยมณีตอนศรีสุวรรณชมสวน 1 ภาพ
- ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน
- พิพิธภัณฑ์หอศิลปแห่งชาติ
- ภาพวาดสีฝุ่น 5 ภาพ
- ภาพวาดในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
- ภาพวาดที่เสาและภาพวาดเหนือช่องหน้าต่าง เป็นภาพปริศนาธรรม ส่วนภาพวาดระหว่างช่องหน้าต่างเป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจวัตรของพระสงฆ์ หรือเทศกาลงานบุญเนื่องในพุทธศาสนา ที่เสาพระอุโบสถซึ่งระบายพื้นเสาเป็นสีต่าง ๆ แสดงปริศนาธรรม อันเปรียบด้วยน้ำใจคน 6 ประเภทที่เรียก ฉฬาภิชาติ
- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- ภาพเขียนประกอบสุภาษิตคำพังเพยในพระอุโบสถ ทางซ้ายมือเป็นภาพเขียนเรื่อง อลีนวิตชาดก (เรื่องพระยาเผือก) และภาพสุภาษิตต่าง ๆ ที่บานหน้าต่างพระอุโบสถ
- ภาพวาดพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในหอราชกรมานุสรและหอราชพงศานุสร (สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นหอพระขนาบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ข้างละห้อง หอพระหลังนี้เป็นหลังข้างเหนือ เป็นที่ไว้พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า
- ภาพวาดในพระอุโบสถวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ
- ภาพวาดในพระอุโบสถวัดมหาสมณาราม เพชรบุรีเมื่อรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดมหาสมณารามแล้ว ก็โปรดฯ ให้ขรัวอินโข่ง วาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง นับเป็นภาพวาดแห่งเดียวในเมืองเพชรบุรี ประกอบด้วย
- ภาพการไปนมัสการพระพุทธบาท
- ภาพการไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ทางพุทธศาสนา เช่น
- ภาพนมัสการพระปฐมเจดีย์
- ภาพนมัสการพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช
- ภาพพระนครคีรี เพชรบุรี
- ภาพพระพุทธโฆษาจารย์แปลคัมภีร์ที่ลังกาและ
- ภาพทวารบาล
- ในพระอุโบสถวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ
- ภาพผนังและภาพเหนือช่องหน้าต่างเป็นภาพปริศนาธรรม
- ภาพวาดระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพประเพณีทางพุทธศาสนาของคนไทย
- ภาพวาดที่มณฑปพระพุทธบาท วัดพระงาม บางปะหัน อยุธยา ภาพส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นภาพไทยผสมเทคนิคการเขียนธรรมชาติแบบยุโรปซึ่งเป็นภาพอันให้อารมณ์ประทับใจ (งานชิ้นเยี่ยมที่สุดชิ้นหนึ่งของขรัวอินโข่ง)
- พุทธประวัติบนผนังภายในมณฑปเหนือซุ้มโค้ง
ศิษย์ของขรัวอินโข่ง
[แก้]โดยปกติแล้ว ขรัวอินโข่งผู้เป็นจิตกรคนสำคัญแห่งยุคย่อมต้องมีลูกศิษย์ที่เป็นลูกมือช่วยวาดภาพเป็นจำนวนไม่น้อย จึงสันนิษฐานว่าขรัวอินโข่งน่าจะมีศิษย์จำนวนมาก แต่ที่ได้เป็นจิตรกรมีชื่อเสียงเด่นได้รับการบันทึกไว้มีคนเดียว คือ พระครูกสิณสังวร วัดทองนพคุณ
ชีวิตบั้นปลายและมรณกรรม
[แก้]ไม่มีผู้ใดทราบว่าชีวิตในบั้นปลายของขรัวอินโข่งเป็นอย่างไร และวันมรณภาพเป็นวันเดือนปีใด เมื่ออายุเท่าใดและโดยสาเหตุใด แต่เชื่อกันว่าครองสมณเพศตลอดชีวิต แต่เชื่อแน่ว่ามรณภาพในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับชีวิตและงานของขรัวอินโข่งเลยในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นที่หวังว่างานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับศิลปินคนสำคัญยิ่งท่านหนึ่งของชาติในภายหน้าอาจให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้
อ้างอิง
[แก้]- ยิ้ม ปัณฑยางกูร ขรัวอินโข่ง สารานุกรมไทยเล่ม 3 ราชบัณฑิตยสถาน 2499
- น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) พจนานุกรมศิลป. พระนคร : เกษมบรรณกิจ. 2515
- วนิดา ทองมิตร จิตรกรรมแบบสากล สกุลช่างขรัวอินโข่ง. กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์ 2522.
- พิสิฐ เจริญวงศ์ ขรัวอินโข่ง สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยเล่ม 2. ราชบัณฑิตยสถาน 2545
- วิยะดา ทองมิตร. จิตรกรรมแบบสากล สกุลช่างขรัวอินโข่ง. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมและค้นคว้า ศิลปวัฒนธรรมไทย, 2522. (ND1023.ข42ว66)