นิวเวิลด์
นิวเวิลด์ เป็นอดีตศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่สี่แยกบางลำพู เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 จนถึง พ.ศ. 2547 เมื่ออาคารได้พังถล่มลงเป็นบางส่วนระหว่างการรื้อถอนที่ล่าช้าเป็นเวลานาน โดยทำตามคำสั่งของศาลเพราะได้สร้างชั้นอาคารอย่างผิดกฎหมาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย โครงสร้างที่เหลือส่วนใหญ่ถูกทิ้งร้าง ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2553 อาคารได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้มีงานอดิเรกเป็นการสำรวจสิ่งก่อสร้างที่ร้างหรือซ่อนเร้นในเมืองเนื่องกับสระปลาที่เกิดเพราะน้ำท่วมแล้วชาวบ้านนำปลามาปล่อยเพื่อกำจัดยุง ความสนใจได้เพิ่มขึ้นหลังจากการเผยแพร่ภาพทางอินเทอร์เน็ต ทางการจึงได้นำปลาออกในปี พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 อาคารแห่งนี้ได้ใช้เพื่อนิทรรศการการใช้สอยพื้นที่สาธารณะในเมือง
ประวัติ
[แก้]ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2526 โดยบริษัท แก้วฟ้าช้อปปิ้งอาเขต (หรือเรียกอีกอย่างว่า บริษัท แก้วฟ้าช้อปปิ้ง จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นเจ้าของโดยแก้ว ผูกทวนทอง ผู้พัฒนาธุรกิจในท้องถิ่น[a] ได้รับการพัฒนาบนที่ดินที่เช่าจากพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล บริเวณหัวมุมด้านใต้ของแยกบางลำพู ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของกรุงเทพมหานคร นิวเวิลด์เป็นหนึ่งในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าแบบครบวงจรที่ได้รับความนิยมในกรุงเทพฯ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ร่วมกับห้างสรรพสินค้าพาต้า, เมอร์รี่คิงส์ ตลอดจนสาขาแรก ๆ ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ ในช่วงแรกธุรกิจดำเนินไปได้ดี และเจ้าของได้เปิดสาขาเพิ่มที่ถนนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสระบุรี (ซึ่งปัจจุบันทั้งสองสาขาได้ปิดตัวลงแล้ว)[3]
อาคารนี้มีการวางแผนและก่อสร้างให้มี 11 ชั้น แม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเพียง 4 ชั้นเท่านั้น การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2525 และดำเนินต่อไปหลังจากห้างสรรพสินค้าเปิดทำการ แม้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) จะปฏิเสธคำร้องขอการอนุมัติเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2527 ก็ตาม[3][1] ในปี พ.ศ. 2528 กทม. ได้ยื่นฟ้องบริษัทดังกล่าวฐานละเมิดกฎหมายควบคุมอาคาร แต่คดีดังกล่าวก็ลากยาวมาหลายปีในขณะที่ห้างสรรพสินค้ายังคงเปิดดำเนินการอยู่ และแม้ว่าศาลฎีกา จะมีคำสั่งให้รื้อถอนชั้นที่ไม่ได้รับอนุมัติในปี พ.ศ. 2537 แต่เจ้าของห้างก็ยังคงชะลอการดำเนินการดังกล่าวไว้ จนกระทั่ง กทม. พยายามบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวในปี พ.ศ. 2545 ต้นทุนการรื้อถอนที่เพิ่มสูงขั้นทำให้การดำเนินการล่าช้าจนกระทั่งงานเริ่มในที่สุดเมื่อปลายปี พ.ศ. 2546 ในขณะที่ร้านค้ายังคงเปิดทำการอยู่ที่ชั้นล่าง[4]
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ส่วนหนึ่งที่ชั้นแปดของอาคารซึ่งเป็นที่กองเศษหินจากการรื้อถอนได้พังถล่มลงมาอย่างกะทันหัน และเศษหินที่ตกลงมาทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 รายที่ชั้นล่าง โดย 1 รายเสียชีวิตในโรงพยาบาล[5][1] หลังจากนั้นอาคารได้ถูกปิดถาวร งานรื้อถอนเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2548[6] โดยปล่อยให้โครงสร้างที่เหลือของสี่ชั้นแรกยังคงสภาพเดิมเป็นส่วนใหญ่[7]
ภายหลังปิดกิจการ
[แก้]เมื่อชั้นบนของอาคารถูกรื้อออกไปและปล่อยหลังคาไว้โดยไม่ได้เปลี่ยนใหม่ ชั้นล่างก็ถูกน้ำท่วมด้วยน้ำฝนและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงแก้ปัญหานี้ด้วยการปล่อยปลาลงในสระน้ำ ซึ่งในที่สุดก็มีปลาอยู่เป็นพันตัว (เพิ่มเป็นประมาณ 3,000 ตัวในปี 2558) โดยมีชาวบ้านเพียงไม่กี่คนให้อาหารเป็นประจำ[7][8]
ในปี พ.ศ. 2554 การมีบ่อปลาในอาคารร้างเริ่มได้รับความสนใจทางออนไลน์ ดึงดูดผู้เยี่ยมชมและนักสำรวจเมือง[9][10] จำนวนผู้เยี่ยมชมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกสามปีต่อมา หลังจากภาพถ่ายของสถานที่ดังกล่าวแพร่ระบาดทางอินเทอร์เน็ตและได้รับความสนใจจากสื่อ[7][2] เหตุการณ์นี้ทำให้ กทม. ห้ามไม่ให้เข้าไปในสถานที่ดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ต่อมาในปี 2558 จึงมีคำสั่งให้นำปลาออกไปและระบายน้ำออก[11][8]
อาคารหลังนี้ถูกทิ้งร้างอีกครั้งจนกระทั่งปี พ.ศ. 2563 เมื่อสุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ว่าจ้างองค์กรชุมชนท้องถิ่นให้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนในเมืองที่อาคารหลังนี้[12] ซึ่งสิทธิ์ของที่ดินดังกล่าวได้กลับคืนสู่ราชสกุลยุคลไปแล้ว และวิศวกรที่ตรวจสอบพบว่าโครงสร้างยังคงแข็งแรง[13] นิทรรศการจัดขึ้นที่นั่นในปี พ.ศ. 2565 เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์[12] ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กทม. ได้ประกาศแผนการพัฒนาพื้นที่บางส่วนใหม่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินนี้[14][b]
ดูเพิ่ม
[แก้]- สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ อีกหนึ่งอาคารในกรุงเทพฯ ที่กลายเป็นที่รู้จักในฐานะจุดหมายปลายทางแห่งการสำรวจเมือง
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ แก้วเคยบริหารศูนย์การค้าแก้วฟ้า ซึ่งเกิดเพลิงไหม้และถล่มลงมาในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2542 คร่าชีวิตสมาชิก 5 คนในครอบครัวของแก้ว[1] ในปี พ.ศ. 2557 สำนักข่าวต่างประเทศบางแห่งให้ข้อมูลที่ผิดพลาดว่านิวเวิลด์ถูกทิ้งร้างเพราะเกิดเพลิงไหม้[2]
- ↑ ในปี พ.ศ. 2565 สำนักข่าวบางแห่งให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนว่าอาคารนี้จะถูกรื้อถอน[15] แต่ในความเป็นจริงอาคารที่ถูกรื้อถอนคือห้างสรรพสินค้าบางลำพูที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งดำเนินการโดยเอกชนรายอื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับนิวเวิลด์[16]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 "'นิวเวิลด์'จากโศกนาฏกรรม สู่ตำนานวังมัจฉา". Thairath Online. 16 January 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 December 2021. สืบค้นเมื่อ 7 February 2024.
- ↑ 2.0 2.1 Franzen, Carl (30 June 2014). "An abandoned mall in Bangkok has been overtaken by fish". The Verge. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 February 2024. สืบค้นเมื่อ 7 February 2024.
- ↑ 3.0 3.1 แทนไท นามเสน (6 September 2020). "New World : อดีต (โลกใหม่) แห่งบางลำพู". Trawell. สืบค้นเมื่อ 7 February 2024.
- ↑ "นิวเวิลด์ ตำนานอัปยศแห่งกทม". Manager. 3 June 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 March 2024. สืบค้นเมื่อ 7 February 2024.
- ↑ "Bangkok building collapses". News 24. AP. 2 June 2004. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 March 2024. สืบค้นเมื่อ 7 February 2024.
- ↑ "Razing of New World to proceed". The Nation. 13 January 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 March 2005.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Wancharoen, Supoj (30 June 2014). "A New World fish pond". Bangkok Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 February 2024. สืบค้นเมื่อ 7 February 2024.
- ↑ 8.0 8.1 Wancharoen, Supoj (13 January 2015). "Fish pulled from New World pond". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 February 2024. สืบค้นเมื่อ 7 February 2024.
- ↑ ภูเขาดินสอ (9 September 2011). "เลาะบางลำพู ดู"วังมัจฉา"อัศจรรย์สวรรค์น้ำ ใต้สุสานห้างร้าง"นิวเวิลด์"". Matichon Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 July 2014.
- ↑ "พบบ่อเลี้ยงปลา อยู่ใต้อาคารร้าง ที่ตึก'นิวเวิลด์'". Thairath. 11 September 2011. สืบค้นเมื่อ 6 March 2024.
- ↑ Wancharoen, Supoj (1 July 2014). "BMA declares New World department store off-limits". Bangkok Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 February 2024. สืบค้นเมื่อ 7 February 2024.
- ↑ 12.0 12.1 Taglioni, Andrea (5 September 2023). "'New World' Mall in Bangkok could finally be true to its name". The Urban Activist (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 February 2024. สืบค้นเมื่อ 7 February 2024.
- ↑ "เคยเป็นข่าว : ห้างนิวเวิลด์ เพชรเม็ดงามแห่งพระนคร". Thai News Agency. MCOT. 20 September 2016. สืบค้นเมื่อ 8 February 2024.
- ↑ "เดินหน้าปรับโฉมห้างร้าง "นิวเวิลด์ บางลำพู" สู่แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ใน กทม". Manager Online. 18 September 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 March 2024. สืบค้นเมื่อ 7 February 2024.
- ↑ "Abandoned New World mall will finally be pulled down". The Nation (ภาษาอังกฤษ). 26 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 February 2024. สืบค้นเมื่อ 8 February 2024.
- ↑ "Mall razing a rare win". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). 26 April 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 February 2024. สืบค้นเมื่อ 8 February 2024.