วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
พระวิหารหลวงวัดกัลยาณมิตร
มุมมองหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
แผนที่
ชื่อสามัญวัดกัลยาณ์, วัดกัลยาณมิตร
ที่ตั้งเลขที่ 371 ซอยอรุณอมรินทร์ 6 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้

ประวัติ[แก้]

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ว่าที่สมุหนายก ได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียง ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีภิกษุจีนพำนักอยู่ และเรียกกันต่อมาว่า "หมู่บ้านกุฎีจีน" สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2368 และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า "วัดกัลยาณมิตร" และทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต ด้วยมีพระประสงค์จะให้เหมือนกรุงเก่า คือมีพระโตอยู่นอกกำแพงเมืองอย่างเช่นวัดพนัญเชิง

หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 5 วา 3 ศอกคืบ สูง 7 วา 2 ศอกคืบ 10 นิ้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เสด็จก่อพระฤกษ์เมื่อ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2380 อยู่ภายในพระวิหารขนาดใหญ่อยู่กลางวัด ตรงกลางระหว่างวิหารเล็กและพระอุโบสถ

พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (ป่าเลไลย์) ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทาน เป็น 1 ใน 2 วัดของกรุงเทพมหานครที่มีพระประธานของพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ อีกแห่งคืออุโบสถวัดบางขุนเทียนใน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และแสดงชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 และยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4

หน้าวิหารหลวงเป็นหอระฆังที่เพิ่งสร้างใหม่ เก็บระฆังยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย[ต้องการอ้างอิง]

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

ลำดับ เจ้าอาวาส[1] วาระ (พ.ศ.)
1 พระพิมลธรรม (พร) 2379 – 2385
2 พระญาณรังษี (สิน) 2385 – 2394
3 พระธรรมเจดีย์ (เนียม) 2394 – 2426
4 พระปริยัติบัณฑิต (ครุฑ) 2426 – 2436
5 พระวิเชียรคุณาธาร (โสตถิ์) 2436 – 2437
6 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (เปีย จนฺทสิริ) 2438 – 2464
7 พระวินัยกิจโกศล (ตรี จนฺทสโร) 2464 – 2489
8 พระราชปริยัติ (สุวรรณ โฆสโก) 2492 – 2528
9 พระราชสังวรวิมล (พร ยโสธโร) 2529 – 2542
10 พระพรหมกวี (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ) 2545 – ปัจจุบัน

คลังภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • วัดกัลยาณมิตร นำชมกรุงรัตนโกสินทร์, สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2525, หน้า 251-259.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′24″N 100°29′29″E / 13.739885°N 100.491359°E / 13.739885; 100.491359