วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
บริเวณทางเข้าวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ซึ่งปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่
แผนที่
ชื่อสามัญวัดระฆังโฆสิตาราม, วัดระฆัง, วัดหลวงพ่อโต
ที่ตั้งถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
ประเภทพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร
นิกายเถรวาท
เจ้าอาวาสพระเทพประสิทธิคุณ (ประจวบ ขนฺติธโร ป.ธ.๔)
เวลาทำการทุกวัน 8.00-17.00 น.
จุดสนใจสักการะรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) , ชมหอพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 1
กิจกรรมเทศนาธรรม ทุกวันพระ
21 มิ.ย.: งานอุทิศส่วนกุศล ให้อดีตเจ้าอาวาส
เว็บไซต์http://www.watrakhang.org
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรมหาวิหาร อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกายภาค 1

วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางหว้าใหญ่ ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางหว้าใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดบางหว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” นอกจากเป็นเพราะขุดพบระฆังที่วัดนี้และเพื่อฟื้นฟูแบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยาที่มีวัดชื่อวัดระฆังเช่นกัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “วัดระฆังโฆสิตาราม” เป็น “วัดราชคัณฑิยาราม” (คัณฑิ แปลว่าระฆัง) แต่ไม่มีคนนิยมเรียกชื่อนี้ ยังคงเรียกว่าวัดระฆังต่อมา

วัดระฆังโฆสิตารามมีหอพระไตรปิฎกซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงามเพื่อเป็นหอพระพระไตรปิฎก​

ประวัติ[แก้]

เดิมเป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และขึ้นยกเป็นพระอารามหลวง และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยรัตนโกสินทร์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชขึ้นที่วัดนี้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด

ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูกไก่

อาณาเขตที่ตั้งวัด[แก้]

เขตติจีวราวิปวาส[แก้]

เขตวิสุงคามสีมา[แก้]

ที่ธรณีสงฆ์[แก้]

ปูชนียวัตถุสำคัญ[แก้]

พระประธานยิ้มรับฟ้า[แก้]

พระประธานยิ้มรับฟ้า

พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก จนปรากฏว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้มีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า ไปวัดไหนไม่เหมือนมา วัดระฆังพอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ และพระประธานองค์นี้ก็ได้นามว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า ตั้งแต่นั้นมา

โบราณสถานสำคัญ[แก้]

พระอุโบสถ[แก้]

อุโบสถ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

เป็นทรงแบบรัชกาลที่ 1 หลังคาลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยสลักเสลาอย่างสวยงาม บริเวณมุขด้านหน้าและหลังทำปีกนกคลุมมุขอยู่ในระยะไขราหน้าจั่ว ตอนใต้จั่วหรือหน้าบัน ที่จำหลักลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับลายกนกปิดทองอย่างประณีต เจาะเป็นช่องหน้าต่าง 2 ช่อง แทนแผงแรคอสองเหนือประตูหน้าต่างรอบพระอุโบสถติดกระจังปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปซุ้มบนบานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำปิดทองมีรูประฆังเป็นเครื่องหมาย ด้านในเขียนภาพทวารบาลยืนแท่นระบายสีงดงาม บริเวณฝาผนังภายในพระอุโบสถโดยรอบเขียนภาพจิตรกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าฝีมืองดงามมาก โดยผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ก่อนเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เบื้องล่างเขียนภาพสัตว์นรกในอาการต่างๆ ภาพฝาผนังส่วนที่เหลือ เบื้องบนเขียนเป็นเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนภาพทศชาติ ซึ่งเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวาอ่อนช้อยและแสงสีเหมาะสมกับเรื่องราว ภาพเหล่านี้เขียนโดย พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อราว พ.ศ. 2465 ครั้งมีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถในรัชกาลนั้น

พระวิหาร (พระอุโบสถหลังเก่า)[แก้]

เป็นทรงแบบรัชกาลที่ 1 หลังคาลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยสลักเสลาอย่างสวยงาม บริเวณมุขด้านหน้าและหลังทำปีกนกคลุมมุขอยู่ในระยะไขราหน้าจั่ว ตอนใต้จั่วหรือหน้าบัน ที่จำหลักลายพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับลายกนกปิดทองอย่างประณีต เจาะเป็นช่องหน้าต่าง 2 ช่อง แทนแผงแรคอสองเหนือประตูหน้าต่างรอบพระอุโบสถติดกระจังปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปซุ้มบนบานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำปิดทองมีรูประฆังเป็นเครื่องหมาย ด้านในเขียนภาพทวารบาลยืนแท่นระบายสีงดงาม บริเวณฝาผนังภายในพระอุโบสถโดยรอบเขียนภาพจิตรกรรมที่ได้รับการยกย่องว่าฝีมืองดงามมาก โดยผนังด้านหน้าพระประธานเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ก่อนเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เบื้องล่างเขียนภาพสัตว์นรกในอาการต่างๆ ภาพฝาผนังส่วนที่เหลือ เบื้องบนเขียนเป็นเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนภาพทศชาติ ซึ่งเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวาอ่อนช้อยและแสงสีเหมาะสมกับเรื่องราว ภาพเหล่านี้เขียนโดย พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง จารุวิจิตร) จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อราว พ.ศ. 2465 ครั้งมีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถในรัชกาลนั้น

พระปรางค์[แก้]

รัชกาลที่ 1 มีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วมกุศลกับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระเทพสุดาวดี พระนามเดิม สา) ตั้งอยู่หน้าพระวิหาร ได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า เป็นพระปรางค์ที่ทำถูกแบบที่สุดในประเทศไทย พระปรางค์องค์นี้จัดเป็นพระปรางค์แบบ สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ยุคต้น ที่มีทรวดทรงงดงามมาก จนยึดถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา

หอระฆัง[แก้]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สืบถามเรื่องระฆังของวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งเป็นระฆังที่มีเสียงไพเราะยิ่งนัก ที่ขุดได้ในวัดนั้นว่าขุดได้ ณ ที่ใด ทรงขอระฆังเสียงดีลูกนั้นไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสร้างหอระฆังจตุรมุขพร้อมทั้งระฆังอีก 5 ลูก พระราชทานไว้แทน เพราะเหตุแห่งการขุดระฆังได้ จึงได้ชื่อตามที่ประชาชนเรียกว่า วัดระฆัง ตั้งแต่นั้นมา

หอพระไตรปิฎก[แก้]

เป็นรูปเรือน 3 หลังแฝด หอด้านใต้ลักษณะเป็นหอนอน หอ กลางเป็นห้องโถง หอด้านเหนือเข้าใจว่าเป็นห้องรับแขก ของเดิมเป็นหลังคามุงจาก ได้เปลี่ยนเป็นมุงกระเบื้อง ชายคาเป็นรูปเทพพนมเรียงรายเป็นระยะๆ เปลี่ยนฝาสำหรวดไม้ขัดแตะเสียบกระแชงเป็นขัดด้วยหน้ากระดานไม้สักระหว่างลูกสกล ใช้แผ่นกระดานไม้สักเลียบฝาภายในแล้วเขียนรูปภาพต่าง ๆ บานประตูด้านใต้เขียนลายรดน้ำ บานประตูหอกลางด้านตะวันออกแกะเป็นลายกนกวายุภักษ์ ประกอบด้วยกนกเครือเถา บานซุ้มประตูนอกชานแกะเป็นมังกรลายกนกดอกไม้ภายนอกติดคันทวยสวยงาม ภายในมีตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ 2 ตู้ ประดิษฐานไว้ในหอด้านเหนือ 1 ตู้ หอด้านใต้ 1 ตู้ หอพระไตรปิฎกนี้ตั้งอยู่ภายในเขตพุทธาวาส ทิศใต้ของพระอุโบสถ

ศาลาการเปรียญ[แก้]

หอพระไตรปิฎก (คณะ 2)[แก้]

อยู่หน้าตำหนักแดง ในคณะ 2 เป็นเรือนไม้ฝาปะกน ปิดทอง ทาสีเขียวสด ประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำสวยงามมาก

พระเจดีย์สามองค์[แก้]

สร้างโดยเจ้านายวังหลัง 3 องค์ คือ กรมหมื่นนราเทเวศร์ (พระองค์เจ้าชายปาล ต้นสกุล ปาลกะวงศ์) กรมหมื่นนเรศร์โยธี (พระองค์เจ้าชายบัว) และกรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายแดง ต้นสกุล เสนีวงศ์) สร้างโดยเสด็จพระราชกุศลในรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ทรงจอมแห ทรวดทรงงดงามมาก แต่เป็นเจดีย์ขนาดย่อม ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถหลังปัจจุบัน

สถานที่น่าสนใจภายในวัด[แก้]

พระวิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์โต[แก้]

เป็นพระวิหารทรงเดียวกับ พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน มีเครื่องหมายสำคัญที่หน้าบันทั้งสองข้าง เป็นรูปพัดยศจารึกอักษรไว้ว่า “พระวิหารสมเด็จ ๒๕๐๓” เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระราชาคณะของวัดนี้ 3 องค์ ได้แก่

  • สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “สมเด็จโต” หรือ “หลวงพ่อโต” พระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ
  • สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสรีวงศ์) เป็นพระเถระที่มีพระเกียรติคุณปรากฏอีกองค์หนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงได้รับการถวายเจ้านายโดยเฉพาะ เป็นเหตุให้พระเครื่องที่ทรงทำร่วมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ผู้เป็นอาจารย์ ได้รับขนานนามว่า “สมเด็จปิลันทน์” และมีชื่อเสียงควบคู่กันมา
  • สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) ผู้มีชื่อเสียงในทางเทศนาวิธีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเชี่ยวชาญการเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร หรือมีอายุได้ 14 ปี เท่านั้น และสำเร็จเป็นเปรียญ 8 ประโยค ในเวลาต่อมา เมื่อครั้งเป็นที่พระพิมลธรรม ท่านได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏเป็นพิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะองค์อื่น ๆ และเมื่อมรณภาพ ในรัชกาลที่ 6 ก็ได้รับการพระราชทานเพลิงที่พระเมรุสนามหลวงเป็นเกียรติด้วย

พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)[แก้]

ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบติดคันทวยตามเสาสวยงาม หน้าบันทั้งสองด้าน จำหลักรูปฉัตร 3 ชั้นอันเป็นเครื่องหมายพระยศสมเด็จพระสังฆราช วิหารหลังนี้เดิมหลังคาเป้นทรงปั้นหยา เรียกว่าศาลาเปลื้องเครื่อง พระราชธรรมภาณี (ละมูล) ได้เปลี่ยนเป็นหลังคาทรงไทยมีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ เมื่อ พ.ศ. 2504 เพื่อประดิษฐานพระอัฐิสมเด็จพระสังฆราช (สี) ซึ่งเดิมบรรจุอยู่ในรูปพระศรีอาริยเมตไตรย ประดิษฐานในซุ้มพระปรางค์ของวัดระฆัง ต่อมาได้ย้ายมาประดิษฐานที่พระวิหารที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เพื่อยกย่องพระเกียรติของพระองค์

พิพิธภัณฑ์วัดระฆังโฆสิตาราม (อาคารเฉลิมพระเกียรติริมแม่น้ำเจ้าพระยา)[แก้]

ลำดับเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม[แก้]

วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ มีอธิบดีสงฆ์ปกครองวัดมาแล้ว 12 รูปด้วยกัน ดังนี้

ลำดับ เจ้าอาวาส วาระ (พ.ศ.)
1. สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 2312 — 2337
2. พระพนรัตน (นาค) 2337 — ?
3. พระพุฒาจารย์ (อยู่) ? — ?
4. สมเด็จพระพนรัตน (ทองดี) ? — ?
5 สมเด็จพระพนรัตน (ฤกษ์) ? — ?
6. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) 2395 — 2415
7. หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) 2415 — 2437
8. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (หม่อมราชวงศ์เจริญ ญาณฉนฺโท) 2437 — 2470
9. พระเทพสิทธินายก (นาค โสภโณ) 2470 — 2514
10. พระเทพญาณเวที (ละมูล สุตาคโม) 2515 — 2530
11. พระเทพประสิทธิคุณ (ผัน ติสฺสโร)[1] 2532 — 2550
12. พระธรรมธีรราชมหามุนี (เที่ยง อคฺคธมฺโม) 2550 — 2564
13. พระเทพประสิทธิคุณ (ประจวบ ขนฺติธโร) 19 กุมภาพันธ์ 2565 - ปัจจุบัน

อื่น ๆ[แก้]

พระเครื่องที่จัดสร้างโดยวัดระฆังโฆสิตาราม[แก้]

โครงการไหว้พระ ๙ วัด[แก้]

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′10″N 100°29′08″E / 13.752683°N 100.485485°E / 13.752683; 100.485485