พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5
พระองค์เจ้าชั้นเอก
กรมขุนสุพรรณภาควดี
ประสูติ24 กรกฎาคม พ.ศ. 2411
วังนันทอุทยาน
สิ้นพระชนม์26 ตุลาคม พ.ศ. 2447 (36 ปี)
พระบรมมหาราชวัง
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าคุณพระประยุรวงศ์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี (เดิม หม่อมเจ้าศรีวิไลยลักษณ์; 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2447) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงได้รับพระกรุณายกย่องพระเกียรติยศไว้ยิ่งกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่นหลายประการและพระบิดาถึงกับทรงรับสั่งว่าพระองค์เป็น "ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก"

พระองค์ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบิดาให้ทรงทำหน้าที่ดูแลพระขนิษฐาที่ยังทรงพระเยาว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์ได้รับพระราชทานเกียรติให้เป็นผู้สั่งพระขนิษฐาให้เป็นสาว เนื่องจากตามธรรมเนียมการเป็นสาวของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายในนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ก่อน นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งอุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย) ร่วมกับเจ้านายฝ่ายในอีกหลายพระองค์

พระองค์เป็นพระเจ้าลูกเธอ ชั้นพระองค์เจ้าในรัชกาลที่ 5 พระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าต่างกรมที่ "กรมขุนสุพรรณภาควดี" ซึ่งภายหลังจากการทรงกรมเพียง 1 ปี พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ลง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดการพระราชทานเพลิงพระศพที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร โดยให้ตั้งพระศพทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระราชวังบางปะอิน

พระประวัติ

ประสูติ

พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติแต่เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ และเป็นเหลนของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 พระองค์ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกพระองค์ว่า "เจ้าหนู" พระเจ้าน้องทั้งหลายทรงเรียกว่า "พี่หนู" และชาววังเรียกว่า "เสด็จพระองค์ใหญ่"

พระองค์มีพระขนิษฐาที่ประสูติร่วมพระมารดาอีก 2 พระองค์ ซึ่งมีพระนามที่คล้องจองกัน ได้แก่ ศรีวิไลยลักษณ์ สุวพักตร์วิไลยพรรณ และบัณฑรวรรณวโรภาษ

พระองค์เป็นพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 4 ประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อหม่อมแพใกล้จะคลอดพระหน่อ จึงต้องหาสถานที่คลอดนอกพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากตามพระราชประเพณีนั้น นอกจากจะประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดาแล้ว จะให้หญิงใดคลอดลูกภายในพระบรมมหาราชวังไม่ได้[1] โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดวังนันทอุทยาน พระราชทานให้เป็นสถานที่ในการคลอดพระหน่อ

หม่อมแพทรงครรภ์เพียง 7 เดือนก็ประสูติพระหน่อก่อนกำหนด เมื่อประสูตินั้นพระองค์ยังอยู่ในถุงน้ำคร่ำ ทำให้หมอเข้าใจว่าพระองค์คงสิ้นพระชนม์ จึงให้หาหม้อขนันจะเอาใส่ไปถ่วงน้ำตามประเพณี แต่เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ขรัวตาอยากรู้ว่าเป็นพระองค์หญิงหรือพระองค์ชายจึงให้ฉีกถุงน้ำคร่ำออก พบว่ายังหายพระทัยอยู่ จึงช่วยกันประคบประหงมเลี้ยงดูจนสามารถมีพระชนม์อยู่ได้[2][3] ต่อมา หม่อมแพและพระธิดาจึงย้ายกลับเข้ามาประทับ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบตามเดิม เมื่อแรกประสูตินั้นพระองค์มีพระอิสริยยศที่ หม่อมเจ้าศรีวิไลยลักษณ์ ต่อมา เมื่อพระราชบิดาขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี

ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก

พระองค์เป็นพระเจ้าลูกเธอที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวที่พระองค์ทรงประสบปัญหาต่าง ๆ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในระยะแรก ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถมีรับสั่งว่าพระองค์ทรงเป็น "ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก"[4][5]

พระองค์ได้รับพระกรุณายกย่องพระเกียรติยศไว้ยิ่งกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่นหลายประการ เช่น ทรงมีสร้อยพระนาม คือ "สุนทรศักดิกัลยาวดี" ซึ่งตามปกติแล้วสร้อยพระนามมักจะมีแต่ในพระนามของเจ้าฟ้าที่ประสูติแต่พระภรรยาเจ้า[6] และในพิธีโสกันต์ยังโปรดให้ทำพิธีเขาไกรลาสใหญ่เช่นเดียวกับเขาไกรลาสของเจ้าฟ้า เป็นต้น

แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงเอกราชและความมั่นคงของประเทศ ทรงพยายามแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น มีพระราชกระแสที่จะส่งพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษในฐานะองค์ทายาทของพระมหากษัตริย์สยาม[7] ในการตั้งพระราชธิดาองค์โปรดให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศครั้งนี้ ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้เสด็จไปด้วยในฐานะพี่เลี้ยง และได้ทาบทามเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้เป็นตาของพระองค์ศรีวิลัยลักษณ์ด้วยพระองค์เอง[7] ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ลงวัน ๑๒ ฯ  ๑๒ ค่ำ ปีชวดอัฐศก ๑๒๓๘ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้บันทึกไว้ ความว่า[8]

"...กรมพระราชวังบวรฯ (กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) มิสเตอร์น๊อกซ์ (โทมัส ยอร์ช น็อกซ์) กงสุลอังกฤษ คิดจะเอาพระโอรสองค์ใหญ่มีพระนามว่า พระองค์เจ้าวิลัย (พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาส) ส่งไปประเทศอังกฤษ เพื่อมิสเตอร์น๊อกซ์จะเปิดเผยที่เมืองอังกฤษว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระบรมราชโอรสมีแต่พระราชธิดาพระองค์ใหญ่คือ กรมขุนสุพรรณฯ ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ มีพระโอรส พระโอรสนี้จะเป็นรัชทายาทต่อไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนี้แล้ว จึงทรงพระวิตก คิดจะให้สมเด็จวังบูรพากำชับให้กรมขุนสุพรรณฯ ออกไปเรียนวิชา ณ ประเทศอังกฤษ ความที่ทรงหวังในเวลานั้นจะโปรดเกล้าให้กรมขุนสุพรรณฯ เป็นควีนวิคตอเรีย สมเด็จวังบูรพาเป็น ปรินซ์อารเบิด (เจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี) เวลานั้นได้จัดผู้ที่จะตามเสด็จไปประเทศยุโรปไว้พร้อมถึงกับได้กำหนดวันที่จะเสด็จออกจากกรุงเทพฯ เวลานี้ข้าราชการทั่วไปพากันตื่นเต้นเข้าไปเฝ้าอยู่ทั่วทุกชั้น เวลานั้นจะมีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้นจึงได้ระงับเหตุดังกล่าวนี้ในเวลาไม่กี่เดือนก็รับทราบว่า สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงพระครรภ์ในไม่ช้าก็ประสูติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชดำริดังกล่าวนี้จึงเป็นอันระงับไป"

พระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน

ในการพระราชพิธีทวีธาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชดำริว่า "ในการพระราชพิธีทวิธาภิเศกสมโภชศิริราชสมบัติครั้งนี้ การทั้งปวงได้จัดเป็นคู่ ๆ กันมา ได้พระราชทานพระเกียรติยศพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่งแล้ว ควรจะพระราชทานพระเกียรติยศแก่พระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งให้เป็นคู่กัน ตามราชประเพณีแต่ก่อนก็เคยมีตัวอย่าง" ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2446 มีพระนามว่า "พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี"[9]

การที่พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในที่ "กรมขุน" นั้นเป็นการทรงกรมเท่ากับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ชั้นเจ้าฟ้า ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้รับพระราชทานจากพระบรมราชชนกเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากตามธรรมเนียมการทรงกรมของพระเจ้าลูกเธอ ชั้นพระองค์เจ้านั้น จะเริ่มทรงกรมที่ "กรมหมื่น" และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ชั้นเจ้าฟ้าจะเริ่มทรงกรมที่ "กรมขุน"[6] นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 พระองค์แรกและเป็นพระเจ้าลูกเธอ ชั้นพระองค์เจ้าในรัชกาลที่ 5 พระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าต่างกรม

เนื่องจากพระองค์เป็นที่เคารพรักแก่พระเจ้าน้อง ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในนั้น พระเจ้าน้องนางเธอทั้งหลายต่างพากันยินดีและได้ทรงเข้าเงินกันทำสร้อยพระกรประดับเพชรถวายพระองค์ด้วย และในงานฉลองการทรงกรมในครั้งนั้น เป็นที่กล่าวขานถึงความสนุกสนานและยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการการจัดงานนิทรรศการและการประกวดตลับงาซึ่งมีผู้ส่งตลับงาเข้าร่วมงานครั้งนี้หลายร้อยใบ[10]

สิ้นพระชนม์

พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2447 หลังประชวรเรื้อรังมานาน[11] พระชันษา 36 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระราชวังบางปะอิน โดยใช้พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์เป็นที่ประดิษฐานพระศพ และโปรดให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ[12]

ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพของกรมขุนสุพรรณภาควดี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ ก็ประชวรและสิ้นพระชนม์ ด้วยพระอาการไข้พิษ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448[13][14] ซึ่งในสี่แผ่นดินกล่าวว่า "ต้องเชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอองค์หนึ่งลงมา แล้วเชิญพระศพของอีกพระองค์ขึ้นไป"[15]

งานพระเมรุ

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เมื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี

หลังจากพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีสิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักภายในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชทานน้ำสรงพระศพ และพระบรมวงศานุวงศ์สรงน้ำพระศพ แล้วจึงโปรดให้เจ้าพนักงานทรงเครื่องพระศพและเชิญลงพระลองในประกอบพระโกศกุดั่นใหญ่ แล้วจึงเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานแว่นฟ้า 3 ชั้น ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์

ส่วนการพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ต้นศรีมหาโพธิ์ซึ่งพระองค์ทรงได้พืชพันธุ์มาจากพุทธคยา แล้วทรงเพาะและปลูกไว้ที่วัดนิเวศธรรมประวัติเป็นวันเดียวกับวันประสูติของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ดังนั้น พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดการพระราชทานเพลิงพระศพที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดนิเวศธรรมประวัติ โดยให้ตั้งพระศพทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระราชวังบางปะอิน

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 เจ้าพนักงานได้เชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีออกจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ออกไปทางประตูศักดิไชยสิทธิ์ขึ้นประดิษฐานบนรถพระศพ แล้วประกอบพระลองในด้วยพระโกศทองเล็กห้อยเฟื่อง แล้วจึงเชิญพระศพไปยังสถานีรถไฟเพื่อเชิญพระศพไปยังพระราชวังบางปะอินต่อไป

พระเมรุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี บริเวณวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2421 ภายในเขตพุทธาวาสของวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ศาลาโถงด้านข้างต้นพระศรีมหาโพธิ์ (ด้านซ้ายของภาพ) คือตำแหน่งที่ตั้งเดิมของพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี เมื่อปี พ.ศ. 2448

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอินก่อนล่วงหน้า 1 วัน เมื่อพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีมาถึงสถานีรถไฟบางปะอินในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ รอรับพระศพ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้าในเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยเพื่อเชิญพระศพไปยังพระราชวังบางปะอิน การจัดขบวนเรือครั้งนี้ โปรดฯ ให้จัดขบวนเรือยาวอย่างขบวนเรือถวายผ้าพระกฐิน หลังจากขบวนเรือถึงพระราชวังบางปะอินแล้ว เจ้าหน้าที่เชิญพระศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เหนือแว่นฟ้าทองคำ 1 ชั้น มีฐานเขียวรอง มีบัวกลุ่มรองพระโกศ ห้อยฉัตรตาดทอง 5 ชั้น แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก จนเป็นที่กล่าวขานในหมู่ชาววังว่า ใครไม่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ถือเป็นคนนอกสังคมชาววัง[16]

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพออกจากพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์นำไปประดิษฐานบนเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยเพื่อเชิญไปพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ เมื่อถึงวัดนิเวศธรรมประวัติ เจ้าพนักงานเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธารยอดพระเกี้ยว ประกอบพระโกศจันทน์ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจุดเพลิงพระราชทานพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี วันรุ่งขึ้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเก็บพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระอัฐิลงประดิษฐานเหนือบุษบกเรือพระที่นั่งชลวิมานไชย แล้วจึงเชิญขึ้นประดิษฐานในบุษบกทองคำ ณ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เพื่อบำเพ็ญพระกุศลพระอัฐิ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ซุ้มเรือนแก้วขึ้นภายในวัดนิเวศธรรมประวัติเพื่อใช้บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี

ในงานพระศพครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์สีขาว ซึ่งถือว่าเป็นการพระราชทานพระเกียรติยศแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้อย่างสูง เนื่องจากโดยทั่วไปพระมหากษัตริย์จะทรงฉลองพระองค์สีขาวเฉพาะงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชบุพการี[17] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลนิทานนิบาตชาดกตอนต้น เพื่อพิมพ์เป็นหนังสือสำหรับแจกในงานพระศพครั้งนี้ ซึ่งแต่เดิมนั้นหนังสือสำหรับแจกในงานศพจะเป็นบทสวดมนต์หรือหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า หนังสือแจกซึ่งเป็นพระธรรมปริยายที่ลึกซึ้งคนไม่ชอบอ่าน ดังนั้น พระองค์จึงเปลี่ยนเป็นนิทานชาดกแทน พร้อมกันนี้ทรงแนะนำไว้ในคำนำตอนต้นว่า หนังสือแจกควรพิมพ์เรื่องที่คนชอบอ่าน[18]

พระกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระองค์มีหน้าที่ดูแลพระเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ ถึงแม้พระองค์จะประสูตินอกเศวตฉัตรแต่พระองค์ก็ทรงเป็นที่เคารพและรักใคร่ของพระเจ้าน้องที่ประสูติในพระเศวตฉัตรทุกพระองค์ ในการดูแลพระกนิษฐานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเกียรติให้พระองค์เป็นผู้สั่งพระเจ้าน้องทั้งหลายให้เป็นสาว ซึ่งตามธรรมเนียมการเป็นสาวของสตรีในพระราชสำนักฝ่ายในนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่ก่อน เมื่อพระเจ้าลูกเธอหลายพระองค์ทรงโสกันต์แล้ว ยังคงแต่งพระองค์ด้วยเสื้อคอกระเช้ามีริบบิ้นร้อยรอบพระศออยู่ สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงรับสั่งว่า "เจ้าหนูเมื่อไหร่จะมีพระบรมราชโองการให้น้อง ๆ เป็นสาวเสียที เป้งเล้งเป็นเมียฝรั่งไปตาม ๆ กัน" ซึ่งพระองค์ก็จะทรงสั่งให้พระกนิษฐาเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นทรงสะพัก[10]

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้รับตำแหน่งให้เป็นอุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทยในปัจจุบัน) ร่วมกับเจ้านายฝ่ายในอีกหลายพระองค์[19]

พระอิสริยยศและพระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท[20]
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า[20]
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

  • 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 : หม่อมเจ้าศรีวิไลยลักษณ์
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 – 10 มกราคม พ.ศ. 2446 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี
  • 10 มกราคม พ.ศ. 2446 – 26 ตุลาคม พ.ศ 2447 : พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : พระเจ้าพี่นางเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี
  • 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระอนุสรณ์

เจดียซุ้มเรือนแก้วบรรจุพระอัฐิพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ณ วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร
  • เจดีย์ซุ้มเรือนแก้ว วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ซุ้มเรือนแก้วขึ้นภายในวัดนิเวศธรรมประวัติเพื่อใช้บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี
  • ถนนสุพรรณ (ชื่อเดิม ถนนส้มมือหนู) ตั้งตามชื่อเครื่องลายครามที่มีภาพส้มมือผลไม้ของจีนซึ่งถือว่าเป็นโอสถรับประทานแล้วอายุยืน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ ถนนส้มมือหนู เป็น ถนนสุพรรณ ตรงกับพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี [22]
  • บ้านสวนสุพรรณ ตั้งอยู่ที่อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นที่พำนักของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ตั้งตามพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี [23][24]

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. จุลลดา ภักดีภูมินทร์ , วังนันทอุทยาน เก็บถาวร 2011-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2585, ปีที่ 50, ประจำวันอังคารที่ 4 พฤษภาคม 2547
  2. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, ลูกแก้ว เมียขวัญ, พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551, หน้า 80 (ISBN 974-02-0107-6)
  3. เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เก็บถาวร 2005-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ รักบ้านเกิด.คอม
  4. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, ลูกแก้ว เมียขวัญ, พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551, หน้า 79 (ISBN 974-02-0107-6)
  5. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, "สี่แผ่นดิน" กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม, พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552, หน้า 135 (ISBN 978-974-02-0436-7)
  6. 6.0 6.1 จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เจ้านายฝ่ายใน เก็บถาวร 2007-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2668 ปีที่ 52 ประจำวันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2548
  7. 7.0 7.1 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ:ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 35
  8. สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย. กรุงเทพฯ:ดีเอ็มจี. 2551, หน้า 35-36
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอฝ่ายใน สถาปนาพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี ขึ้นเป็นกรมขุนสุพรรณภาควดี เก็บถาวร 2012-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๐, ตอน ๔๒, ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๖, หน้า ๗๒๙
  10. 10.0 10.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, ลูกแก้ว เมียขวัญ, พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551, หน้า 83-84(ISBN 974-02-0107-6)
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2012-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, ตอน ๓๑, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๕๔๙
  12. ราชกิจจานุเบกษา, การพระเมรุพระเจ้าลูกเธอกรมขุนสุพรรณภาควดี ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, หน้า ๘๘๒ , ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๗
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2012-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๒๑, ตอน ๔๘, ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๘๙๓
  14. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้า ในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2548. 398 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-322-964-7
  15. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ เก็บถาวร 2007-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2669 ปีที่ 52 ประจำวันอังคาร 13 ธันวาคม 2548
  16. สำนักพระราชวัง, พระราชวังบางปะอิน, พิมพ์ครั้งที่ 1, พ.ศ. 2548
  17. ณรงค์ บุญเสถียรวงศ์, เจ้านายลูกเธอในรัชกาลที่ 5 : ชื่อจังหวัดและมณฑล[ลิงก์เสีย]
  18. ชนา ชลาศัย, หนังสืองานศพ[ลิงก์เสีย], ข่าวสดรายวัน, ปีที่ 18, ฉบับที่ 6424, 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
  19. อุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง เก็บถาวร 2009-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์สภากาชาดไทย
  20. 20.0 20.1 คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ และสายไหม จบกลศึก (บรรณาธิการ) (2555). ราชาศัพท์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. p. 22-23.[ลิงก์เสีย]
  21. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 10 (35): 376. 26 พฤศจิกายน ร.ศ. 112. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  22. กัณฐิกา ศรีอุดม , “พร” ของพระนครในสมัยรัชกาลที่ ๕, วารสารเมืองโบราณ, ปี 2549 ฉบับที่ 32.1
  23. "'มัณฑนา โมรากุล' ผู้ริเริ่มเทคนิค 'ลูกคอแบบตะวันตก". หนังสือพิมพ์แนวหน้า. 26 มกราคม พ.ศ. 2557. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |year= (help)
  24. "'มัณฑนา โมรากุล'". สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]

หนังสือ

  • ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2
  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกแก้ว เมียขวัญ. กรุงเทพ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551. 311 หน้า. ISBN 974-02-0107-6 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  • ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. "สี่แผ่นดิน" กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม. กรุงเทพ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2552. 254 หน้า. ISBN 978-974-02-0436-7