ข้ามไปเนื้อหา

พระพุทธสิหิงค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพุทธสิหิงค์
ชื่อเต็มพระพุทธสิหิงค์
ชื่อสามัญ
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะ
  • ลังกา (กรุงเทพฯ)
  • เชียงแสนสิงห์หนึ่ง (เชียงใหม่และนครศรีธรรมราช)
ความกว้าง63 เซนติเมตร (องค์ที่กรุงเทพฯ)
ความสูง79 เซนติเมตร (องค์ที่กรุงเทพฯ)
วัสดุสำริดหุ้มทอง
สถานที่ประดิษฐาน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร [1]เป็นศิลปะแบบลังกา ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีปทรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 700 ต่อมา พระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่งราชอาณาจักรตามพรลิงก์ได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมา ได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. 2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2338 โดยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล[2] นิยมเชิญออกมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ประชาชนไทยได้สักการะและสรงน้ำ

พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขนานนามว่า พระพุทธสิหิงค์ อีกองค์หนึ่งประดิษฐานในวิหารวัดพระเจ้าเม็งรายเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกด้วยอักษรธรรมล้านนาภาษาบาลีและภาษาไทยวนว่า ผู้สร้างเป็นพระสังฆราชนามว่า พระศรีสัทธัมมไตรโลกรัตนจุฬามหาสังฆราช สร้าง พ.ศ. 2012 (ตรงกับรัชสมัยพญาติโลกราช) ขนานนามว่า พระพุทธสิหิงค์ ฐานของพระพุทธรูปมีน้ำหนักทองสำริด 24,000 หน่วย มีจารึกที่ฐานเป็นภาษาบาลี แปลความว่า “ศรีสัทธัมมะมหาสังฆราชให้สร้างพระพุทธรูปสิหิงค์ขึ้นประทับนั่งเหนือบัลลังก์อัน ประเสริฐเหมือนพระอาทิตย์ปรากฏเหนือเขายุคันธรและเหมือนพระจันทร์งามเด่นอยู่บนท้องฟ้า... (ภาษาไทยวน) ศรีสัทธัมมะไตรโลกรัตนจุฬา มหาสังฆราช... ให้หล่อพระพุทธรูปสิหิงค์องค์นี้ เพื่อเป็นไม้ไต้แก่โลก และ(เพื่อ)คนทังหลายบูชา เป็นส่วนบุญอันจัก(นำ) ไปเกิดในเมืองฟ้าและนิพพาน ที่ไม่รู้จักแก่เถ้า และไม่รู้ตาย...ฐาน (ของพระพุทธรูปองค์นี้) มีน้ำหนัก 2,400” (ฮันส์ เพนธ์. 2519. คำจารึกที่ฐานพระพุทธรูปในเวียงเชียงใหม่. หน้า 59.)

ตามตำนานเล่าสืบต่อกันถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระพุทธสิหิงค์ว่า

"การสร้างได้ประกอบขึ้นด้วยแรงอธิษฐาน 3 ประการคือ 1) คำอธิษฐานของพระอรหันต์ผู้ร่วมพิธี 2) แรงอธิษฐานของพระเจ้ากรุงลังกาผู้สร้าง 3) อานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่พระพุทธสิหิงค์เสด็จประทับอยู่ที่ใด พระพุทธศาสนาย่อมรุ่งเรืองดังดวงประทีปเสมือนหนึ่งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่"[3]

ส่วนพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานที่จังหวัดเชียงใหม่และนครศรีธรรมราชนั้น จะเป็นพุทธลักษณะปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนสิงค์ 1 คือจะเป็นพุทธลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชร ส่วนองค์ที่กรุงเทพจะเป็นแบบขัดสมาธิราบ

พระพุทธสิหิงค์ตามที่ต่างๆ

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิศรุต บวงสรวง. (2562, ธ.ค.). “พระพุทธสิหิงค์รัชกาลที่ 1” กับการเมืองไทยสมัยคณะราษฎร ทศวรรษ 2470-90. ศิลปวัฒนธรรม. 41(2): 66-83.

อ้างอิง

[แก้]
  1. เทพชู ทับทอง,ต่วย'ตูน พิเศษ พฤษภาคม พ.ศ. 2546 หน้า 105
  2. พระพุทธสิหิงค์ ธรรมะไทย
  3. อุดม ประมวลวิทย์, หนังสือ "50 กษัตริย์ไทย ,(2508)