นายจบคชประสิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นายจบคชประสิทธิ์
กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา
ก่อนหน้าตำแหน่งใหม่
ถัดไปเจ้าฟ้าพร (พระบัณฑูรน้อย)
พระชายาสตรีชาวบ้านสมอปรือ
พระธิดากรมหลวงอภัยนุชิต (พระพันวษาใหญ่)
กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวษาน้อย)

นายจบคชประสิทธิ์ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขพระองค์แรกแห่งกรุงศรีอยุธยา

พระประวัติ[แก้]

กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขพระองค์นี้ไม่ปรากฏพระนามเดิม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นขุนนางมีบรรดาศักดิ์เป็นนายจบคชประสิทธิ์ ตำแหน่งนายทรงบาศขวาในกรมช้าง[1] ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกสอนในการช้าง จึงมีอิทธิพลมาก และได้ร่วมกับพระเพทราชาชิงราชสมบัติ[2] เมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ จึงทรงตั้งนายจบคชประสิทธิ์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข รับพระบัญชา[1]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า ในเดือน 9 ปีมะโรง ถาดทองในพระราชวังหาย สมเด็จพระเพทราชาทรงให้สืบหาจนพบว่าอยู่ในพระราชวังหลัง กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขจึงถูกลงพระราชอาญาจนทิวงคต[2] พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงเห็นว่ากรมพระราชวังบวรสถานพิมุขกับเจ้าพระยาสุรสงครามมียศและบริวารมาก เกรงว่าภายหน้าจะเป็นศัตรู เมื่อกราบทูลสมเด็จพระเพทราชาแล้ว ทั้งสองพระองค์จึงออกอุบายให้นำถาดทองไปซ่อนในพระราชวังหลัง แล้วให้ลูกขุนพิจารณาสืบสวนจนพบ จึงให้ข้าหลวงไปจับกุมกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขมาไต่สวน บรรดาตุลาการพิพากษาตามพระราชอัธยาศัยว่ากรมพระราชวังหลังเป็นกบฏ ให้สำเร็จโทษเสีย[3]

พระธิดา[แก้]

บัญชีพระนามเจ้านาย ในคำให้การชาวกรุงเก่า (มีความเคลื่อนเคลื่อนว่านายทรงบาศคือเจ้าพระบำเรอภูธร) ระบุว่า พระชายาในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขมีเชื้อพราหมณ์ เป็นชาวบ้านสมอปรือ เมืองเพชรบุรี มีพระธิดาด้วยกัน 2 พระองค์ คือ[4]

  1. พระองค์ขาว ภายหลังได้เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต
  2. พระองค์พลับ ภายหลังได้เป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82, หน้า 263
  2. 2.0 2.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 333
  3. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82, หน้า 265
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 623
บรรณานุกรม
  • ประชุมพงศาวดารภาคที่ 82 เรื่องพระราชพงศาวดารกรุงสยามจากต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน. กรุงเทพฯ : พิมพ์ครั้งที่ 2, กรมศิลปากร, 2537. 423 หน้า. ISBN 974-419-025-6
  • พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9


ก่อนหน้า นายจบคชประสิทธิ์ ถัดไป
สถาปนาตำแหน่ง
กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
(อาณาจักรอยุธยา)

เจ้าฟ้าพร