หมู่พระวิมาน (พระราชวังบวรสถานมงคล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระที่นั่งบูรพาภิมุข)
หมู่พระวิมาน
พระราชมณเฑียร

พระที่นั่งทักษิณาภิมุข (บน) และพระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข (ล่าง) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
ประเภทหมู่พระที่นั่ง
ที่ตั้งแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
สร้างเมื่อพ.ศ. 2325
สร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
การใช้งานดั้งเดิมสถานที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
สถานะยังมีอยู่
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
ผู้ดูแลกรมศิลปากร
ขึ้นเมื่อ9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519
เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล
เลขอ้างอิง0000015

หมู่พระวิมาน เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล [note 1] สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นสมเด็จพระราชอนุชาร่วมพระชนกพระชนนีกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หมู่พระวิมานเป็นหมู่พระที่นั่งหลายองค์ประกอบกัน และมีการซ่อมแซมและปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ปัจจุบัน เป็นอาคารหลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใช้เป็นสถานที่ที่จัดแสดงนิทรรศการ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ ปัจจุบัน หมู่พระวิมาน ได้รับการบูรณะใหม่ทั้งหมด คงเหลือไว้แต่เพียงพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ

ประวัติ[แก้]

แผนผังหมู่พระวิมานภายในพระราชวังบวรฯ อย่างคร่าว ๆ

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับ ในช่วงแรกนั้นพระราชมณเฑียรนั้นมีลักษณะและตั้งอยู่ที่ไหนนั้น ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด เพียงแต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตำหนักเจ้าพิกุลทอง[1] ในปี พ.ศ. 2332 จึงได้สร้างเป็นพระวิมาน 3 หลังเรียงต่อกัน ซึ่งสันนิษฐานว่าทำตามคติที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่ว่า การสร้างที่ประทับของพระราชาธิบดีนั้น ควรมีพระมณเฑียร 3 หลัง ใช้เป็นที่เสด็จประทับในฤดูร้อน ฤดูฝน และ ฤดูหนาว ฤดูกาลละ 1 หลัง แต่ระยะหลังได้ลดส่วนลงมาเป็นการสร้างเป็นเพียงหมู่พระวิมานเดียวที่ประกอบด้วยพระวิมาน 3 หลังต่อกัน[2]

หมู่พระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ นั้น ประกอบด้วย พระวิมาน เรียงต่อกัน 3 หลัง โดยมีชาลา ซึ่งหมายถึง ชานเรือนหรือพื้นภายนอกเรือน[3] คั่นอยู่ระหว่างพระวิมาน พระวิมานทั้ง 3 หลังนี้เป็นตึก 2 ชั้น มีนามว่า

  • พระที่นั่งวสันตพิมาน เป็นพระวิมานหลังใต้
  • พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นพระวิมานหลังกลาง
  • พระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์ เป็นพระวิมานหลังเหนือ ต่อมา ได้เปลี่ยนนามเป็น พระที่นั่งพรหมเมศธาดา เมื่อสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เพื่อให้สอดคล้องกับพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่ทรงสร้างขึ้นใหม่

ต่อจากพระวิมานทั้ง 3 หลังนั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระวิมานมีการสร้างพระที่นั่งชั้นเดียวขวางตลอดแนวพระวิมาน ประกอบด้วย พระที่นั่งมุข 4 องค์ พระที่นั่งมุขด้านหลังต่อออกมาจากพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ ใช้เป็นท้องพระโรงหลัง และพระที่นั่งมุขด้านหน้าที่ต่อจากพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ มีนามว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์ ซึ่งในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทนั้น ตั้งพระบุษบกมาลาเพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกแขกเมือง

เมื่อมีการซ่อมแซมพระราชมณเฑียรเมื่อครั้งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระองค์ทรงให้เรียกพระที่นั่งมุขทั้ง 4 องค์ว่า[4]

  • พระที่นั่งอุตราภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ
  • พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้
  • พระที่นั่งบูรพาภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
  • พระที่นั่งทักษิณาภิมุข สำหรับเรียกพระที่นั่งที่ตั้งในมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ดัดแปลงพระที่นั่งมุขด้านหน้าให้เป็นมุขกระสัน แล้วขนานนามว่า พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร ส่วนมุขด้านหลังนั้นให้ต่อเพิ่มเติมแล้วขนานนามว่า พระที่นั่งปฤษฏางค์ภิมุข นอกจากนี้ พระองค์ยังสร้าง พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต่อจากมุขเดิมของพระวิมานด้วย[5]

พระที่นั่งที่สำคัญ[แก้]

พระที่นั่งวสันตพิมาน[แก้]

พระที่นั่งวสันตพิมาน เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น 1 ใน 3 หลังของหมู่พระวิมาน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พระบรรทมของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในทำนองว่าใช้ประทับในฤดูฝน[6] โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเคยเสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้ หลังจากการปรับปรุงในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระองค์ก็มิได้เสด็จเข้ามาประทับที่พระที่นั่งองค์นี้ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จมาประทับในพระที่นั่งองค์นี้ชั่วระยะหนึ่ง โดยมีการตั้งพระแท่นแขวนเศวตฉัตร ดังเช่นห้องพระบรรทมที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง[7] หลังจากนั้น พระองค์จึงเสด็จย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น[8]

ปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ ในส่วนชั้นล่างนั้น จัดแสดงเครื่องถ้วยต่าง ๆ[9] ส่วนชั้นบนแสดงงาช้าง จากช้างต้นและช้างสำคัญ รวมทั้ง งานศิลป์ที่สร้างขึ้นจากงาช้างด้วย[10]

พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ[แก้]

พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เป็นพระวิมานหลังกลาง 1 ใน 3 หลังของหมู่พระวิมาน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่บรรทมของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เช่นเดียวกันกับพระที่นั่งวสันตพิมาน แต่สร้างในทำนองเพื่อใช้เป็นที่ประทับในฤดูหนาว[6] สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ใช้เป็นที่พระบรรทมและเสด็จทิวงคต ณ พระที่นั่งแห่งนี้[11] พระที่นั่งองค์นี้ได้รับการซ่อมแซมในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ และในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ตั้งของปราสาททองสำหรับประดิษฐานพระอัฐิของกรมพระราชวังบวรฯ ทั้ง 3 พระองค์ โดยสร้างเป็นปราสาทยาว 3 ห้อง ห้องกลางยกพื้นสูงกว่าอีกสองห้อง เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท อีกสองห้องเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ดังนั้น พระที่นั่งองค์นี้จึงมีความสำคัญมากกว่าพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ในหมู่พระราชมณเฑียร[8] หลังจากนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเชิญพระอัฐิขแงกรมพระราชวังบวรฯ ไปไว้ที่วิหารพระธาตุ ภายในพระบรมมหาราชวัง[7]

ปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องทองต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเครื่องประดับ เครื่องทองที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในศาสนพิธี หรือประกอบพิธีกรรมความเชื่ออื่น ๆ รวมทั้ง จัดแสดงบุษบกประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้าในรัชกาลที่ 1-3 และเครื่องสูงสำหรับวังหน้าอันเป็นของที่ตั้งอยู่เดิมภายในพระที่นั่ง[12]

พระที่นั่งพรหมเมศธาดา[แก้]

พระที่นั่งพรหมเมศธาดา เป็นพระวิมานหลังเหนือในหมู่พระวิมาน เมื่อแรกสร้างในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทนั้น มีนามว่า "พระที่นั่งพรหมเมศรังสรรค์" โดยมีการสันนิษฐานว่าเดิมน่าจะมีนามอื่นมาก่อน ในทำนองความว่าใช้เป็นที่ประทับในฤดูร้อน แต่อาจมีเหตุทำให้ต้องเปลี่ยนนามพระที่นั่งใหม่[6] ภายหลังการซ่อมแซมพระราชมณเฑียรในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ พระองค์ทรงเปลี่ยนสร้อยพระที่นั่งใหม่ว่า "พระที่นั่งพรหมเมศธาดา" เพื่อให้ชื่อสอดคล้องกับ "พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย" ที่พระองค์โปรดฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ด้วย พระวิมานหลังนี้เคยใช้เป็นหอพระอัฐิของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท แต่ภายหลังจากการย้ายพระอัฐิไปประดิษฐานที่พระที่นั่งวายุสถานอมเรศแล้ว ก็ไม่มีปรากฏว่ามีกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใดเสด็จมาประทับ ณ พระวิมานองค์นี้ ภายหลังจึงใช้เป็นที่เก็บของตลอดมา[5]

ปัจจุบัน พระที่นั่งแห่งนี้ใช้จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยโบราณ โดยชั้นล่างจัดแสดงเครื่องแต่งกายของเจ้านายและผ้าโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงปัจจุบัน[13] ส่วนชั้นบนนั้นจัดแสดงเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนา เช่น พัดพระราชลัญจกร เครื่องบริขารสงฆ์ เป็นต้น[14]

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย[แก้]

พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์หมู่พระวิมาน พร้อมทั้งสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรง เนื่องจากพระองค์เสด็จลงมาประทับ ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุข ซึ่งตั้งอยู่ที่มุขหน้าของพระวิมาน และโปรดฯ ให้นำพระที่นั่งบุษบกมาลาซึ่งตั้งอยู่ในมุขเดิมมาตั้งไว้ ณ พระที่นั่งแห่งนี้ด้วย พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยสร้างโดยถ่ายแบบมาจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง แต่มีขนาดที่เล็กลงและไม่ทำซุ้มพระแกลและพระทวาร ส่วนการใช้สอยพระที่นั่งนั้น ก็เป็นเช่นเดียวกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย คือ ใช้เป็นที่เสด็จออกแขกเมือง และบำเพ็ญพระราชกุศล นอกจากนี้ พระที่นั่งองค์นี้ยังใช้เป็นที่ตั้งประกอบพิธีอุปราชาภิเษกและใช้ตั้งพระศพของกรมพระราชวังบวรฯ ด้วย ซึ่งเป็นข้อแตกต่างของการใช้สอยพระที่นั่งระหว่างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยและพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย[5][15]

ปัจจุบัน พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการพิเศษและยังคงเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งบุษบกมาลา พระราชบัลลังก์ที่ประทับของกรมพระราชวังบวรฯ อยู่เช่นเดิม[16]

พระที่นั่งบุษบกเกรินที่ประดิษฐานใน พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

เชิงอรรถ[แก้]

  1. พระราชวังบวรสถานมงคล เรียกว่า หมู่พระวิมาน, พระบรมมหาราชวัง เรียกว่า หมู่พระมหามณเฑียร

อ้างอิง[แก้]

  1. สุนิสา มั่นคง, หน้า 37
  2. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, หน้า 141
  3. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  4. สุนิสา มั่นคง, หน้า 59
  5. 5.0 5.1 5.2 แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, หน้า 147
  6. 6.0 6.1 6.2 จุลลดา ภักดีภูมินทร์, ที่ลงพระบังคน เก็บถาวร 2005-04-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2478, ปีที่ 48, ประจำวันที่ 16 เมษายน 2545
  7. 7.0 7.1 แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, หน้า 161
  8. 8.0 8.1 แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, หน้า 146
  9. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : เครื่องถ้วย
  10. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : งาช้าง
  11. สุนิสา มั่นคง, หน้า 52
  12. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : เครื่องทอง
  13. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : เครื่องแต่งกายและผ้าโบราณ
  14. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : เครื่องใช้เนื่องในพระพุทธศาสนา
  15. สุนิสา มั่นคง, หน้า 111
  16. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

หนังสือ[แก้]

  • แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525
  • สุนิสา มั่นคง, วังหน้า รัตนโกสินทร์, สำนักพิมพ์มติชน, 2543, ISBN 974-322-030-5