นุกูล ประจวบเหมาะ
นุกูล ประจวบเหมาะ | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม | |
ดำรงตำแหน่ง 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 – 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 | |
นายกรัฐมนตรี | อานันท์ ปันยารชุน |
ก่อนหน้า | สมัคร สุนทรเวช |
ถัดไป | บรรหาร ศิลปอาชา |
ดำรงตำแหน่ง 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 – 22 กันยายน พ.ศ. 2535 | |
นายกรัฐมนตรี | อานันท์ ปันยารชุน |
ก่อนหน้า | บรรหาร ศิลปอาชา |
ถัดไป | พันเอก วินัย สมพงษ์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 (93 ปี) |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | เจนจิรา ประจวบเหมาะ |
ลายมือชื่อ | |
นุกูล ประจวบเหมาะ (25 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566)[1][2] อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย[3] และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน
ประวัติ
[แก้]นุกูล ประจวบเหมาะ เกิดที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นบุตรของนายกอบ-นางดัด ประจวบเหมาะ ศึกษามัธยม 1 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ จากนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเดินทางกลับมาเรียนหนังสือต่อที่บ้านเกิด หลังสงครามจึงกลับเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพมหานคร ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เป็นนักเรียนไทยรุ่นแรก ๆ ในประเทศออสเตรเลีย
หลังจากจบปริญญาตรีเมื่อ พ.ศ. 2496 นุกูล ประจวบเหมาะ ได้เข้ารับราชการที่กองเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยการชักชวนของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง และได้รับคัดเลือกไปฝึกงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศในระหว่างนั้นได้เข้าศึกษาปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ ในช่วงค่ำที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน[4] และกลับมาทำงานที่ กรมบัญชีกลาง จากนั้นได้ไปทำงานตำแหน่ง ที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน ต่อมาได้พบกับภรรยา คือ เจนจิรา วิกิตเศรษฐ และสมรสกันเมื่อ เดือนกันยายน พ.ศ. 2505
นุกูล ประจวบเหมาะ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2507 และได้รับตำแหน่งรองอธิบดีกรมทางหลวง มีหน้าที่บริหารงานติดต่อและบริหารเงินกู้จากธนาคารโลก ต่อมา พ.ศ. 2517 ย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา กระทรวงการคลัง และถูกย้ายไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 เพื่อแก้ปัญหาพนักงานโรงกษาปณ์ประท้วงหยุดงาน และย้ายไปเป็นอธิบดีกรมสรรพากร เมื่อเดือนกันยายน ปีเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหารัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า และย้ายไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง เมื่อ พ.ศ. 2521
ธนาคารแห่งประเทศไทย
[แก้]นุกูล ประจวบเหมาะ ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แทนนายเสนาะ อูนากูล ที่ลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ โดยการเสนอชื่อโดยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2522 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อ เดือนกันยายน พ.ศ. 2527 เนื่องจากขัดแย้งกับนายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หลังจากพ้นจากตำแหน่งในธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เข้าทำงานกับบริษัทเอกชนคือสยามกลการ ซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดทุน ระหว่าง พ.ศ. 2529–2531
งานการเมือง
[แก้]หลังปลดเกษียณอายุแล้ว นุกูล ประจวบเหมาะ ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน 2 สมัย[5][6] ระหว่าง พ.ศ. 2534–2535 และเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบการทุจริตในสัญญาโครงการโฮปเวลล์ และรถไฟฟ้าลาวาลิน จนกระทั่งสั่งยกเลิกสัญญาโครงการดังกล่าว
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2527 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[7]
- พ.ศ. 2522 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "'นุกูล ประจวบเหมาะ' อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ผู้ประกาศลดค่าเงินบาทครั้งแรกปี2527 ถึงแก่กรรรมแล้ว". ไทยโพสต์. 6 กุมภาพันธ์ 2023.
- ↑ "'นุกูล ประจวบเหมาะ' อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ - รมว.คมนาคม วัย 93 ปี เสียชีวิตแล้ว". คมชัดลึกออนไลน์. 6 กุมภาพันธ์ 2023.
- ↑ "ผู้ว่าการจากอดีตถึงปัจจุบัน". ธนาคารแห่งประเทศไทย. 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-06-22.
- ↑ "เก่ง-กล้า-ดี ชีวิตที่น่าเอาอย่างของ 'นุกูล ประจวบเหมาะ'" (PDF). BOT พระสยาม Magazine. ธนาคารแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-03-19. สืบค้นเมื่อ 2023-02-22. ฉบับพิเศษ. 2556. หน้า 16–19. ISSN 1685-2559.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๔ ราย), เล่ม 108 ตอนที่ 45 ฉบับพิเศษ หน้า 3, วันที่ 6 มีนาคม 2534
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๖ ราย), เล่ม 109 ตอนที่ 69 หน้า 2, วันที่ 14 มิถุนายน 2535
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 102 ตอนที่ 17 ฉบับพิเศษ หน้า 43, วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2528
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 97 ตอนที่ 63 ฉบับพิเศษ หน้า 35, วันที่ 18 เมษายน 2523
บรรณานุกรม
[แก้]- นุกูล ประจวบเหมาะ. ชีวิตที่คุ้มค่า. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า. 2539. ISBN 974-603-495-2.
- สำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย. สุนทรพจน์ของ นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีของสมาคมธนาคารไทย 18 กุมภาพันธ์ 2524 (Speech). LCC PN4129.T5 ธปท0100ส 2524[ลิงก์เสีย].
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2472
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2566
- บุคคลจากอำเภอบางสะพาน
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- นักการธนาคารชาวไทย
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- อธิบดีกรมธนารักษ์
- อธิบดีกรมสรรพากร
- นักการเมืองไทย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไทย
- บุคคลจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์