ข้ามไปเนื้อหา

วิรไท สันติประภพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2563
ก่อนหน้าประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ถัดไปเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด25 ธันวาคม พ.ศ. 2512 (54 ปี)
บุพการี
ลายมือชื่อ

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 20[1] รองประธาน​กรรมการ​ในคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษา สภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้​ กรรมการในคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน[2] กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ[3] ที่ปรึกษาของทีดีอาร์ไอ กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ[4] กรรมการในคณะกรรมการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[5] กรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรรมการในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับแต่งตั้งจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และ เขาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559[6] ในปี พ.ศ. 2560 ได้รับการแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2560[7][8] ได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร The Asian Banker ให้เป็นหนึ่งใน 50 ของนักการเงินการธนาคารรุ่นใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563[9] ได้รับแต่งตั้ง​เป็นกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ประวัติ

[แก้]

วิรไท สันติประภพ หรือ ดร.วิรไท สันติประภพ เกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2512 เป็นบุตรในจำนวนพี่น้อง 3 คนของพลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และกุณฑลา สันติประภพ ครอบครัวฝั่งบิดาเดิมใช้นามสกุลว่า "ก้อนแก้ว" มีพื้นเพมาจากอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายหลังบิดาได้รับพระราชทานนามสกุล "สันติประภพ" หลังสมรส ส่วนครอบครัวฝ่ายมารดา เขาเป็นหลานตาของพลตรี พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม (ทองดี จารุทัต) อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์คนที่ 8 กับบุปผา พิชัยรณรงค์สงคราม[10][11]

ชื่อ "วิรไท" เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีความหมายว่า "ผู้มีเสรีแกล้วกล้า"[12] มีชื่อเล่นว่า "ก็"[13]

ด้านการศึกษา การศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนสาธิตปทุมวัน สามารถสอบเทียบจากชั้น ม.4 ไปเรียนชั้น ม.6 และสอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับเหรียญทองทางด้านวิชาการ 4 เหรียญ ด้านช่วยเหลือกิจกรรมดีอีก 1 เหรียญ ได้รับพระราชทานทุนภูมิพลตลอดระยะที่เวลาที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นบัณฑิตเศรษฐศาสตร์ในวัยเพียง 18 ปีเศษ จากนั้นได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ ด้วยวัยเพียงแค่ 24 ปี โดยได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่องการเปิดเสรีทางการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Financial Liberization in Southeast Asia) กับดไวต์ เพอร์คินส์[14]

ในปี พ.ศ. 2562 ได้รับ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

การทำงาน

[แก้]

เริ่มต้นการทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตันดีซี รับหน้าที่ให้คำปรึกษารัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจและวิกฤตสถาบันการเงิน ที่ครอบคลุมประเทศในเอเชียอย่าง ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา และทำงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารกลางและการดำเนินนโยบายการเงินในมิติต่าง ๆ เมื่อประเทศไทยเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ได้ลาพักจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กลับมาเป็นผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีบทบาทหลักในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินสำคัญ อาทิ มาตรการเพิ่มทุนสถาบันการเงินตามโครงการ 14 สิงหาคม ปี พ.ศ. 2541 การจัดการสถาบันการเงินที่ถูกทางการแทรกแซง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการมิยะซะวะ รวมทั้งเจรจากต่อรองกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศจำกัด

ในระหว่างปี พ.ศ. 2543-2551 ร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ปฏิรูปองค์กรขนานใหญ่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 อย่างการบริหารสภาพคล่อง การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน การกำหนดนโยบายสินเชื่อ การบริหารเงินลงทุน การจัดการกลุ่มธุรกิจการเงินผ่านบริษัทลูก ๆ ของธนาคาร และยังดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการบริหารความเสี่ยง ของบริษัททุนธนชาต

ในระหว่างปี พ.ศ. 2552-2556 ร่วมงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ปฏิรูปองค์กร โดยดำรงตำแหน่งเป็น รองผู้จัดการสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ได้ทำแผนพัฒนาตลาดทุนของประเทศ พัฒนางานวิจัยด้านตลาดทุนเชิงลึก ผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับการยอมรับในเวทีตลาดทุนโลกหลายเวที และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคอาเซียน

ธุรกิจอื่น เป็นกรรมการและกรรมการตรวจสอบของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กรรมการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และกรรมการของบริษัทอักษรเอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

ดร.วิรไท ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 20 สืบต่อจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558[15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.thairath.co.th/content/513716
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/056/T_0045.PDF
  3. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/027/1.PDF
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/259/1.PDF
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/019/10.PDF
  6. http://www.sepo.go.th/tinymce/plugins/filemanager/thumbs/100260_1.pdf
  7. เซ็น ตั้ง 39 ผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป.แล้ว คนดังเพียบ![ลิงก์เสีย]
  8. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/010/1.PDF
  9. มติคณะรัฐมนตรี 13 สิงหาคม 2563
  10. วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย (9 กรกฎาคม 2558). "เปิดประวัติ "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่า ธปท. คนใหม่". โพสต์ทูเดย์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-06. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "เปิดประวัติ "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่า ธปท. คนใหม่". ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย1. 9 กรกฎาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  12. Spotlight : ดร.วิรไท สันติประภพ Utilizing Opportunities
  13. เบิร์ธเดย์จากโพสต์ทูเดย์
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-06. สืบค้นเมื่อ 2015-07-09.
  15. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 27 กรกฎาคม 2558
ก่อนหน้า วิรไท สันติประภพ ถัดไป
ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
(1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 – 30 กันยายน พ.ศ. 2563)
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ