คมชัดลึก (หนังสือพิมพ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คมชัดลึกออนไลน์
ประเภทสื่อออนไลน์
รูปแบบสื่อสารมวลชน
เจ้าของเนชั่นกรุ๊ป
นโยบายทางการเมืองขวากลาง
ภาษาภาษาไทย
สำนักงานใหญ่เลขที่ 1854 ชั้น 5 ถ.เทพรัตน แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
เว็บไซต์https://www.komchadluek.net/

คมชัดลึก (อังกฤษ: komchadluek) เป็นเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ในอดีตเป็น หนังสือพิมพ์รายวัน เสนอข่าวทั่วไป ของ บริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด ของเครือเนชั่น กรุ๊ปก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2544 มี เฉลียว คงตุก เป็นบรรณาธิการ มีคอลัมนิสต์ประจำในเครือคือ สุทธิชัย หยุ่น (เจ้าของคอลัมน์ คิดนอกกรอบ) โสภณ องค์การณ์ (เจ้าของคอลัมน์ เล่นนอกสภา ตีพิมพ์ทุกวันพุธ และเกาที่คัน ตีพิมพ์ทุกวันเสาร์) นอกจากนี้ยังมีคอลัมนิสต์รับเชิญ เช่น คุณหญิง พ.ญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ พล.อ.บัญชร ชวาญศิลป์ กวี จงกิจถาวร สุจินต์ จันทร์นวล นันทขว้าง สิรสุนทร เจนนิเฟอร์ คิ้ม ปัจจุบันคมชัดลึกได้ยุติการผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ไปแล้ว โดยฉบับสุดท้ายคือฉบับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563 และเหลือเพียงแค่การเผยแพร่ข่าวผ่านทางเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563[1]

ประวัติ[แก้]

ในเช้าวันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2544 หนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับปฐมฤกษ์ ออกวางแผงเป็นรายวัน "ความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์" โดยเน้นความรับผิดชอบต่อสังคม แฝงด้วยสาระ ปลอดสารพิษ เหมาะสำหรับทุกคนในครอบครัว ความแตกต่างสร้างสรรค์สะท้อนผ่านเนื้อหาและนวัตกรรมต่างๆ ที่คมชัดลึกริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นในตลาดหนังสือพิมพ์หัวสี อาทิ คู่มือวันหยุดทุกวันพฤหัสและเสาร์ รวมถึงรูปแบบการโฆษณาแบบใหม่ๆ เป็นต้น เป็นทางเลือกที่แตกต่างสำหรับผู้อ่าน ด้วยเนื้อหาที่มีคุณภาพทำให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมกับขึ้นเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศภายหลังการเปิดตัวไม่นาน และในปี พ.ศ. 2548 หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ได้รับรางวัล "หนังสือพิมพ์ยอดเยี่ยมประจำปี 2005" ในงานประชุมหนังสือพิมพ์โลก (World Association of Newspapers หรือ WAN) ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี ในฐานะที่สามารถผสานความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ทำให้ได้รับการยอมรับและขึ้นเป็นหนังสือพิมพ์อันดับ 3 ของประเทศภายในเวลาอันรวดเร็ว

  • เมื่อเดือนมิถุนายน (พ.ศ. 2560) เนชั่นจะปิดหนังสือพิมพ์ ‘คมชัดลึก’ และขายช่อง ‘Now 26’ข่าวหลุด ข่าวลือ หรือข่าวจริง ยังไม่มีการยืนยันจากทางต้นสังกัด เพราะข่าวนี้มีที่มาจากเฟซบุ๊ก Sompop Lee หรือ สมภพ รัตนวลี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของเวิร์คพอยท์ (บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)) อดีตพนักงานเนชั่น ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล เนชั่นจะปิดหนังสือพิมพ์ ‘คมชัดลึก’ และขายช่อง ‘Now 26’ข่าวหลุด ข่าวลือ หรือข่าวจริง ยังไม่มีการยืนยันจากทางต้นสังกัด เพราะข่าวนี้มีที่มาจากเฟซบุ๊ก Sompop Lee หรือ สมภพ รัตนวลี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของเวิร์คพอยท์ (บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)) อดีตพนักงานเนชั่น ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนลหลังจบการประชุมเมื่อวาน (14 มิ.ย.) การ ER (Early Retirement หรือการลาออกโดยสมัครใจ) รอบที่ 3 กำลังจะเริ่มขึ้น (ก่อนหน้านี้มี ER มาแล้ว 2 รอบ) ฝ่ายบริหารมีเป้าลดพนักงาน 543 คน (เนชั่นทีวี 400 คน + Now 26 ทีวี 143 คน) ให้เหลือ 300 คน และขายช่อง Now 26 ให้กลุ่มบีทีเอสเข้ามาบริหารเต็มตัว ขณะที่หนังสือพิมพ์ ‘คมชัดลึก’ ซึ่งเตรียมปิด จะลดพนักงานจำนวน 54 คน โดยให้ออก 30 คน ส่วนคนที่เหลือ 24 คน จะสลับไปทำงานส่วนอื่นในเครือ[2]
  • เมื่อเดือนสิงหาคม (พ.ศ. 2560) "คม ชัด ลึก" ถือกำเนิดขึ้นบนแผงหนังสือพิมพ์รายวัน ตลอดระยะเวลาร่วม 16 ปีที่สื่อสิ่งพิมพ์เล่มนี้ยืนหยัดอยู่ได้ ก็ด้วยแรงสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นจากท่านผู้อ่าน ที่มอบความเชื่อถือ ความไว้วางใจ ให้พวกเราได้ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ในจริยธรรมเต็มความสามารถ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ข่าวสารทุกวันนี้ได้ขยายกว้างไกลออกไปเท่าที่ปลายนิ้วสัมผัสของผู้คนในโลกโซเชียลมีเดียจะนำพา ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ เปรียบดังสึนามิ ที่ถาโถมเข้าใส่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งระบบ อันเป็นพลวัตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงหนีหายไปได้ นอกจากการปรับตัว ความเปลี่ยนแปลงล่าสุด ที่เราปรารถนาว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย เริ่มจากหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก" ฉบับวางจำหน่าย ตีพิมพ์ฉบับวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 5-6 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป ทั้งหมดนั้น เรามั่นใจว่า จะสามารถหยัดยืนอยู่ เพื่อนำเสนอนานาสาระอันทรงคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตลอดร่วม 16 ปีที่ผ่านมา แม้ว่า ในเชิงธุรกิจ จำเป็นต้องกระชับพื้นที่ เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ หากแต่ทุกเรื่องราวนับจากนี้ เราเชื่อว่า จะเสริมเติมเต็มให้แก่ท่านผู้อ่านที่ให้ความเมตตากับเราเสมอมามากยิ่งขึ้น[3]
  • เมื่อเดือนเมษายน (พ.ศ. 2563) เครือเนชั่นยุบกอง บก.คมชัดลึก - เนชั่นสุดสัปดาห์ พร้อมเลิกจ้างพนักงานสองกอง บก.ในปริมาณร้อยละ 50 ขณะที่ นสพ.คมชัดลึก ตีพิมพ์ถึง 15 เม.ย.นี้ โดยก่อนหน้านี้ผู้บริหารเนชั่นสั่งบริษัทในเครือใช้ดุลยพินิจเลิกจ้างพนักงานได้ รายงานข่าวจากบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ระบุว่าในวันนี้ (2 เม.ย. 2563 ) มีการประชุมผู้บริหารภายในเครือ โดยเห็นชอบให้ยุบกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และกองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์ โดยทั้งสองเครือนี้อยู่ภายใต้สังกัดบริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด พร้อมทั้งเลิกจ้างพนักงานในสังกัดบริษัทคมชัดลึก มีเดีย จำกัด จำนวนร้อยละ 50 โดยพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งจะมีผลการเลิกจ้างเป็นพนักงานในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ขณะที่หนังสือพิมพ์คมชัดลึกจะตีพิมพ์จนถึงวันที่ 15 เม.ย. นี้ ส่วนเว็บไซต์คมชัดลึก และเว็บไซต์เนชั่นสุดสัปดาห์จะให้มาอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเนชั่นทีวี "บริษัทในเครือเนชั่น บริษัทไหนไม่มีกำไรก็จะไม่ได้ไปต่อ โดยจะให้ตัดต้นทุนออกจนเหลือบริษัทที่ทำรายได้ให้กับบริษัทเท่านั้น ซึ่งการเลิกจ้างพนักงานที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19" พนักงานบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด ซึ่งถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน ระบุกับ 'วอยซ์ออนไลน์'

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 เรื่องมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุตอนหนึ่งว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่อาจคาดหมายได้ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อย่างรุนแรงโดยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ดังนั้น เพื่อให้บริษัทฯ สามารถอยู่รอดต่อไปได้ภายใต้สภาวะวิกฤตเช่นนี้ บริษัทฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องกำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้โดยเร่งด่วน โดยมอบหมายให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจนำมาตรการต่างๆ ไปปรับใช้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ดังต่อไปนี้ 1.พิจารณาปรับลดเงินเดือนพนักงานทุกคนของแต่ละหน่วยธุรกิจ 2.ให้พนักงานลางานโดยไม่รับเงินค่าจ้าง เป็นการชั่วคราว โดยพิจารณาค่าจ้างตามวันที่ปฏิบัติงานจริง 3.ให้ทุกหน่วยธุรกิจบริหารจัดการกำลังคนและปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ให้มีการทำงานล่วงเวลา 4.ยกเลิกสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการปฏิบัติงานโดยตรง เช่น ค่ารักษาพยาบาลของสมาชิกในครอบครัวของพนักงาน ค่าทันตกรรมของขวัญบุตร ของขวัญสมรส ทุนช่วยเหลือการศึกษาบุตรของพนักงาน เป็นต้น 5.ยกเลิกค่าตอบแทนอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือนประจำ เช่น ค่าพาหนะ ค่าโทรศัพท์ ค่าตำแหน่ง ค่าประสบการณ์ เป็นต้น "ให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจนำมาตรการในข้อ 1-3 ไปปรับใช้กับหน่วยธุรกิจที่ตนเองรับผิดชอบตามความจำเป็นและเหมาะสม ส่วนมาตรการในข้อ 4-5 ให้มีผลบังคับใช้ทุกหน่วยธุรกิจ อนึ่ง หากมีความจำเป็นอันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจสามารถใช้ดุลยพินิจเลิกจ้างพนักงานได้ โดยมอบหมายให้ผู้บริหารสูงสุดของแต่ละหน่วยธุรกิจจัดทำแผนการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวสำหรับหน่วยธุรกิจที่ตนเองรับผิดชอบและนำเสนอต่อประธานกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาอนุมัติโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มาตรการเหล่านี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป"[4]เฟซบุ๊ก คมชัดลึก ได้โพสต์เผยแพร่บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6605 ลงวันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563 ได้ตีพิมพ์ประกาศยุติการพิมพ์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยระบุว่า "กองบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก ขอเรียนให้ทราบว่า เราจะยุติการพิมพ์ นสพ.คมชัดลึก ซึ่งฉบับ วันที่ 8 เมษายน 2563 เป็นฉบับสุดท้าย เป็นที่ทราบดีว่า ในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารได้เปลี่ยนแปลงไป สื่อสิ่งพิมพ์ได้รับความนิยมน้อยลง ประชาชนหันไปบริโภคข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัล สื่อทางเลือกและสื่อโซเชียลแทน ดังนั้นด้วยพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นสื่อหลักได้รับผลกระทบ อันเนื่องมาจากธุรกิจโฆษณาได้เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ต้นทุนในการผลิตหนังสือพิมพ์สูงขึ้น ขณะที่รายได้จากโฆษณาถูกแบ่งถูกแชร์ไปยังสื่ออื่น นสพ.คมชัดลึกก็เช่นเดียวกัน เราได้รับทราบความเปลี่ยนแปลงนี้มาเป็นเวลานาน เราจึงให้กองบรรณาธิการคมชัดลึกเป็นองค์กรนำร่องในการทรานส์ฟอร์มไปสู่สื่อดิจิทัล โดยเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะทรานส์ฟอร์มสื่อกระดาษหรือออฟไลน์ไปสู่สื่อดิจิทัล หรือออนไลน์ 100% ภายในกลางปีนี้ ซึ่งกระบวนการทุกอย่างเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย ปัจจุบัน คมชัดลึก ออนไลน์ ได้รับความนิยมจากนักบริโภคข่าวสาร ที่เข้าไปในเว็บและผ่านช่องทางโซเชียล เดือนละประมาณ 23 ล้านเพจวิว เราจึงได้วางแผนในการพัฒนาเพื่อการทรานส์ฟอร์ม นสพ.คมชัดลึก ไปสู่ คมชัดลึก ออนไลน์ แบบเต็มรูปแบบแต่เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่นอกเหนือจากการวางแผน และเป็นสถานการณ์ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอ่าน และธุรกิจโฆษณา เดิมคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงเรื่อยๆ แต่เมื่อโควิดเข้ามา ทำให้แผงหนังสือปิด คนอ่านไม่กล้าเดินไปซื้อหนังสือ นี่คือตัวเร่งอีกปัจจัยหนึ่ง โดยที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะจบลงเมื่อไหร่แน่นอนว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำใหเราตัดสินใจที่จะทรานส์ฟอร์ม นสพ.คมชัดลึกไปสู่ คมชัดลึกออนไลน์และสื่อดิจิทัลในเครือเร็วกว่าเป้าหมายที่เรากำหนดไว้กองบรรณาธิการ นสพ.คมชัดลึก เราได้รับใช้คนอ่านมา 19 ปี วันนี้ถึงเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สื่อที่ทันสมัยกว่าเดิม เนื้อหารวดเร็ว ครบถ้วน ยังคงไว้ซึ่งความเป็นคมชัดลึกที่ "ลึกกว่าข่าว" อยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ที่เพิ่มเติมคือ เราจะเสิร์ฟข่าวด่วนข่าวร้อนไปถึงมือทุกท่านตลอดเวลา หวังว่าคุณผู้อ่านทุกท่านพร้อมที่จะเดินไปกับเราในรูปโฉมของสื่อดิจทัลเต็มรูปแบบ"[5]

รางวัล[แก้]

คมชัดลึกได้รับรางวัลหนังสือพิมพ์โลก ปีพุทธศักราช 2548 (2005) จากสมาคมหนังสือพิมพ์โลก ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของเมืองไทย เพียงฉบับเดียวที่ได้รับรางวัล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2548

คมชัดลึกฉบับข่าวร้อน ก่อนเที่ยง[แก้]

หนังสือพิมพ์คมชัดลึกได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอ โดยให้หนังสือพิมพ์กรอบบ่ายที่ลงวันที่ล่วงหน้าให้เป็นฉบับข่าวร้อนก่อนเที่ยง โดยสีที่ใช้ในการพาดหัวข่าวจะใช้สีน้ำเงิน จากเดิมที่ใช้สีน้ำตาลพาดหัวเป็นหลัก แตกต่างจากฉบับกรอบเช้าซึ่งใช้สีดำ สำหรับจุดขายที่คมชัดลึกพยายามนำเสนอคือ ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน 8.00 น. จะถูกตีพิมพ์และวางแผงไม่เกิน 12.00 น. ของแต่ละวัน ซึ่งจะวางขายเฉพาะแผงหนังสือในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเท่านั้น

การปรับลดขนาดหนังสือพิมพ์[แก้]

หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับลดขนาดหนังสือพิมพ์ลงจากเดิม 31 นิ้ว เป็น 27 นิ้ว [6]ส่งผลให้มีขนาดเทียบเท่ากับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ เดอะเนชั่น และกรุงเทพธุรกิจ ที่ได้มีการปรับลดขนาดก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีการลดขนาดหัวคอลัมน์ให้เล็กลง เพื่อสะดวกในการจัดวางหน้า (Layout)

สำหรับหนังสือพิมพ์หัวสีฉบับอื่นๆ มีเพียงไทยรัฐเท่านั้นที่ยังไม่มีการปรับลดขนาด

กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[แก้]

หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์หลังเวทีของ สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในฉบับประจำวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งกล่าวในทำนองว่า หากผู้รับสนองพระบรมราชโองการไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดของพระราชกฤษฎีกาแล้ว จะให้ใครรับผิดชอบ ซึ่งทำให้ประชาชนฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนายสนธิ และหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นจำนวนมาก ในหลายพื้นที่

ต่อมา เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 มีนาคม กลุ่มคาราวานคนจน ที่เป็นกลุ่มที่นำหนังสือพิมพ์มาแสดงเป็นกลุ่มแรก บนเวทีปราศรัยสวนจตุจักร จำนวนนับพันคน นำโดย นายคำตา แคนบุญจันทร์ นายอรรถฤทธิ์ สิงห์ลอ นายชินวัฒน์ หาบุญพาด นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน[7] นายประยูร ครองยศ นายทองเจือ ชาติกิจเจริญ เป็นต้น เคลื่อนขบวนจากสวนจตุจักร มาชุมนุมหน้าอาคารอินเตอร์ลิงก์ทาวเวอร์ เพื่อประท้วงคมชัดลึก

เวลาผ่านไปกว่า 7 ชั่วโมง จึงได้ผลการเจรจาระหว่างกลุ่มคาราวานคนจน กับผู้บริหารหนังสือพิมพ์คมชัดลึก สรุปได้ว่า หนังสือพิมพ์คมชัดลึกขอปิดตัวเองเป็นเวลา 5 วัน และในฉบับวันที่ 3 เมษายน ซึ่งเป็นฉบับแรก หลังจากปิดตัวเองรอบแรก 3 วัน จะตีพิมพ์คำขอพระราชทานอภัยโทษ บนหน้า 1 นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประกาศลาออกจาก บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ (ปัจจุบันไปเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) สั่งปลดผู้สื่อข่าวที่เขียนข่าวดังกล่าว และบรรณาธิการข่าวหน้า 1

ทั้งนี้ นสพ.คมชัดลึก ได้แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการสั่งให้ออกพนักงานทีมข่าวหน้า 1 โทษฐานประมาทเลินเล่อ และนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ลาออกจากการเป็นบรรณาธิการบริหาร นสพ.คมชัดลึก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ พร้อมทั้งทำหนังสือต่อสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากการตีพิมพ์ข้อความที่ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ทั้งนี้ได้ตีพิมพ์หนังสือลงในหน้าหนึ่ง ของ นสพ.คมชัดลึก ฉบับประจำวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2549

เวลาผ่านไปกว่า 7 ชั่วโมง การเจรจาระหว่างกลุ่มดังกล่าวสรุปได้ว่า หนังสือพิมพ์คมชัดลึกขอปิดตัวเองเป็นเวลา 5 วัน นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ บรรณาธิการบริหารในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ สั่งปลดผู้สื่อข่าว และบรรณาธิการข่าวหน้า 1 ในวันเกิดเหตุ และจะต้องลงข่าวระบุว่า กลุ่มคนไทยผู้จงรักภักดีฯ ได้มาชุมนุมเรียกร้องในวันดังกล่าว ตามที่กลุ่มคาราวานคนจนบังคับ

เหตุการณ์ในครั้งนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงนิสิต นักศึกษา ได้ยกย่องและให้กำลังใจในการแสดงความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และประณามการกระทำของกลุ่มมวลชนบางกลุ่มที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง ในการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน [8]

ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก นายคำตา แคนบุญจันทร์ สมัชชาเกษตรรายย่อย , นายอรรถฤทธิ์ สิงห์ลอ เลขาธิการคาราวานคนจน , นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน , นายธนวิชญ์ ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา แกนนำคาราวานคนจน , นายชินวัฒน์ หาบุญพาด แนวร่วม นปช. และ นายสำเริง อดิษะ แกนนำคาราวานคนจน เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐาน ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย, กักขัง หน่วงเหนี่ยว และ พรบ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 กรณีนำกลุ่มผู้ชุมนุมไปปิดล้อมอาคารอินเตอร์ลิงก์ ทาวเวอร์[9]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ปิดฉากเพราะโควิด! "คมชัดลึก" ฉบับสุดท้าย เลิกจ้าง พนง.ซับน้ำตา 10 เดือน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-08. สืบค้นเมื่อ 2020-04-08.
  2. อ่านปรากฏการณ์สื่อผ่านข่าวลือ ‘คมชัดลึก’ จะปิดตัว
  3. 'คม ชัด ลึก' ยังอยู่คู่ผู้อ่าน
  4. พิษโควิด-19 'เนชั่น' ทุบโต๊ะโละพนักงาน-ยุบคมชัดลึก-เนชั่นสุดสัปดาห์
  5. ปิดตำนาน 19 ปี หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ตีพิมพ์ฉบับสุดท้าย 8 เม.ย. 2563
  6. คม ชัด ลึก ! โฉมใหม่...ให้คุณลึกกว่าที่เคย[1]
  7. เว็บไซต์ นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน ศูนย์กลางประชาชนแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุชุมชนคนรู้ใจ เอฟ.เอ็ม.87.75 MHz.
  8. แถลงการณ์ร่วมสมาคมวิชาชีพสื่อ เรื่อง ขอให้หยุดคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เก็บถาวร 2020-06-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  9. จำคุก นปช. คาราวานคนจน ล้อมเนชั่น

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]