พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5
พระองค์เจ้าชั้นเอก
เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
ดำรงตำแหน่ง1 เมษายน พ.ศ. 2466 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466
ก่อนหน้าสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
ถัดไปสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
ประสูติ19 ธันวาคม พ.ศ. 2423
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
สิ้นพระชนม์19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 (42 ปี)
จังหวัดชุมพร ประเทศสยาม
พระราชทานเพลิง24 ธันวาคม พ.ศ. 2466
พระเมรุ ท้องสนามหลวง จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
พระชายาและหม่อมพระชายา
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์
หม่อม
หม่อมกิม
หม่อมแฉล้ม
หม่อมเมี้ยน
หม่อมช้อย
หม่อมแจ่ม
พระบุตร11 องค์
ราชสกุลอาภากร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466) มีพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร" เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า "องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย"

พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" หรือ "หมอพร" และ "พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย" ต่อมาใน พ.ศ. 2536 มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า "พระบิดาของกองทัพเรือไทย"[1] และใน พ.ศ. 2544 แก้ไขเป็น "องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย"[2]

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ได้มีการจัดสร้างศาลและพระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมทั้งสิ้น 217 แห่งทั่วประเทศไทย[3] เช่น โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร[4] โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี[5] หรือที่พระตำหนักที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร

พระประวัติ[แก้]

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม 3 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระองค์แรกที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด ป.จ. ธิดาเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวงและเป็นน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ มีพระกนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส (พระนามเดิม:พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ ต้นราชสกุลสุริยง) พระองค์นับเป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยพระมารดาของพระองค์กับพระมารดาของพระนางเจ้าสุวัทนาเป็นพี่น้องกัน

การศึกษา[แก้]

ทรงเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อมีพระชันษาได้ 13 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ใน พ.ศ. 2436 ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ใน พ.ศ. 2439 ต่อจากนั้นทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด จนได้เลื่อนยศเป็นเรือเอก รวมเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ในราชนาวีอังกฤษ 6 ปีเศษ

รับราชการ[แก้]

พระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่วังนางเลิ้งเดิม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร)

เสด็จกลับประเทศไทย ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2443 จึงได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท (ปัจจุบันเทียบเท่า นาวาตรี)[6] ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมที่ "กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์"[7] ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ[8] และทรงดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ใน พ.ศ. 2449 พระองค์ได้ทรงแก้ไขปรับปรุงระเบียบการในโรงเรียนนายเรือ ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ ทรงจัดเพิ่มเติมวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือ คือวิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ พีชคณิต อุทกศาสตร์ การเดินเรือเรขาคณิต เพื่อประสงค์ให้นักเรียนนายเรือสามารถเดินเรือทางไกลในทะเลน้ำลึกได้ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว[ต้องการอ้างอิง]

ทรงเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระราชวังเดิม ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 ทำให้กิจการทหารเรือมีรากฐานมั่นคง และกองทัพเรือจึงยึดถือวันดังกล่าวของทุกปีเป็น "วันกองทัพเรือ"[ต้องการอ้างอิง]

นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[9] และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[10]

พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้พระองค์ออกจากราชการอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จึงได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากตำราไทย ทรงเขียนตำราสมุดข่อยด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และรับรักษาโรคให้ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่า ทรงคิดแต่เพียงค่าครูเท่านั้น ทั้งนี้พระองค์ทรงโปรดให้เรียกพระองค์ว่า "หมอพร"[11]

พ.ศ. 2460 ประเทศสยามได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และกองทัพเรือยังขาดผู้มีความรู้ความสามารถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่ง จเรทหารเรือ[12] และดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ[13]

พ.ศ. 2462 ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดหาซื้อเรือในภาคพื้นยุโรป เรือที่จะจัดซื้อนี้ได้รับพระราชทานนามว่า "เรือรบหลวงพระร่วง" ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือรบหลวงพระร่วงเดินเรือข้ามทวีปจากประเทศอังกฤษ เข้ามายังกรุงเทพมหานคร ด้วยพระองค์เอง[ต้องการอ้างอิง]

พ.ศ. 2463 มีพระบรมราชโองการให้เลื่อนพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิงหนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ฯลฯ (คำ "เขตร" ในพระนามเปลี่ยนเป็น "เขต" ด้วย)[14][15]

ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการณ์ไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ สร้างเป็นฐานทัพเรือ เมื่อ พ.ศ. 2465 เนื่องจากทรงเห็นว่า อ่าวสัตหีบเป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่ น้ำลึกเหมาะแก่การฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโด มีเกาะน้อยใหญ่รายล้อม สามารถบังคับคลื่นลมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เมื่อเรือภายนอกแล่นผ่านบริเวณนี้จะไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้[ต้องการอ้างอิง]

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ[16] ต่อจาก จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นับเป็นตำแหน่งทางราชการตำแหน่งสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระองค์[ต้องการอ้างอิง]

สิ้นพระชนม์[แก้]

ศาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่หาดทรายรี ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งชาวชุมพรได้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แห่งการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
พระโกศทรงพระศพ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประดิษฐานในการบำเพ็ญกุศลถวายพระศพ ณ วังนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร

หลังจากทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้ไม่นาน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้กราบถวายบังคมลาเพื่อเสด็จออกไปรักษาพระองค์ (ลาป่วย) ณ มณฑลสุราษฎร์ เป็นเวลา 1 เดือน เนื่องจากประชวรด้วยโรคประจำพระองค์ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้ในพระราชบันทึกส่วนพระองค์ว่า กรมหลวงชุมพรฯ ทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์ นายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ ซึ่งได้วินิจฉัยพระอาการของพระองค์ว่าประชวรด้วยพระโรคเส้นประสาทไม่ปรกติ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสังเกตเห็นว่า กรมหลวงชุมพรฯ เริ่มทรงพระดำเนินไม่ถนัดมาตั้งแต่งานทำบุญวันคล้ายวันเกิดของเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2465 (ตามปฏิทินในขณะนั้น) แล้ว[17]

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ประทับพักรักษาพระองค์อยู่ที่ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มณฑลสุราษฎร์ ระหว่างนั้นทรงประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ พระอาการทรงทรุดลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 เวลา 11 นาฬิกา 40 นาที[18] สิริพระชันษา 42 ปี 151 วัน มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง[19]

กองทัพเรือไทยได้ถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น "วันอาภากร"

มวยไทย[แก้]

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นผู้มีความสามารถด้านมวยไทย และในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นผู้ฝึกสอนให้กับนักมวยต่างจังหวัด ทั้ง นายทับ จำเกาะ นายยัง หาญทะเล นายตู้ ไทยประเสริฐ และนายพูน ศักดา ซึ่งเป็นนักมวยที่มีฝีมือชาวโคราช[20]

งานศิลปะ[แก้]

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ศิษย์เอก หลวงปู่ศุข ยังมีความสามารถในด้านศิลปะ โดยพระองค์ได้ทรงเขียนภาพพุทธประวัติไว้ที่ผนังโบสถ์ของวัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท อันเป็นภาพเหตุการณ์ที่พระโคตมพุทธเจ้าทรงพบปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นผลงานที่ยังคงปรากฏสืบมาจนถึงปัจจุบัน และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผลงานที่มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง[21]

งานพระนิพนธ์[แก้]

  • เพลงดอกประดู่ (เพลงสัญลักษณ์ของกองทัพเรือไทย)
  • เพลงเดินหน้า (เดิมแบ่งเป็น 2 เพลง ชื่อ "เกิดมาทั้งทีมันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น" และ "เกิดมาทั้งทีมันก็มีอยู่แต่ทุกข์ภัย") สันนิษฐานว่าทรงพระนิพนธ์ขึ้นในช่วงที่ทรงออกจากราชการในสมัยต้นรัชกาลที่ 6
  • เพลงดาบของชาติ ทรงพระนิพนธ์ไว้เป็นโคลงสี่สุภาพ
  • เพลงสรรเสริญพระบารมี สำนวนขับร้องของทหารเรือ (ขึ้นต้นว่า "ข้าวรพุทธเจ้า เหล่ายุทธพลนาวา...")
  • พระคัมภีร์ อติสาระวรรค โบราณะกรรม และปัจจุบันนะกรรม เป็นสมุดข่อยตำราแพทย์ไทยแผนโบราณที่ทรงเขียนด้วยพระองค์เองเมื่อ พ.ศ. 2458

ดูเพิ่ม[แก้]

ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]

ทางด้านชีวิตส่วนพระองค์อภิเษกสมรสกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 (นับแบบปัจจุบันเป็นปี พ.ศ. 2444) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ กรุณาพระราชทานน้ำสังข์ในพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง[22] แต่ในภายหลัง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ ทรงน้อยพระทัยพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และปลงชีพพระองค์เองด้วยยาพิษ[23]

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระเถระที่พระองค์ทรงนับถืออย่างมาก ได้แก่ พระครูวิมลคุณากร (ศุข เกสโร) แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท และพระครูประศาสน์สิกขกิจ (พริ้ง อินฺทโชติ) แห่งวัดบางปะกอก กรุงเทพมหานคร[24]

พระโอรสพระธิดา[แก้]

ตราประจำราชสกุลอาภากร

พระองค์มีพระโอรสและพระธิดา ดังนี้:[25][26]

ประสูติแต่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์
ประสูติแต่หม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา ธิดานายตั๊น ซุ่นเพียว
  • จารุพัตรา ศุภชลาศัย (29 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2516) ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับหลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย)
    • อาภา ศุภชลาศัย สมรสกับหม่อมราชวงศ์สุทธิสวาสดิ์ กฤดากร
    • ภากร ศุภชลาศัย สมรสกับอัจฉรา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
    • จารุพันธุ์ ศุภชลาศัย สมรสกับดุษณี วสุธาร
    • พรศุภศรี ศุภชลาศัย สมรสกับศรีศักดิ์ จามรมาน
    • พัตราพร ศุภชลาศัย สมรสกับธนชัย จารุศร
  • เริงจิตรแจรง อาภากร (7 มิถุนายน พ.ศ. 2448 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2536) เสกสมรสกับหม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์ ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับพระจักรานุกรกิจ (วงศ์ สุจริตกุล)
    • หม่อมราชวงศ์เติมแสงไข รพีพัฒน์ สมรสกับปรีดา กรรณสูต
  • หม่อมเจ้าสุคนธ์จรุง อาภากร (3 ธันวาคม พ.ศ. 2449 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2531)
หม่อมแฉล้ม อาภากร ณ อยุธยา ธิดานายเต็กสิน
  • ศิริมาบังอร เหรียญสุวรรณ (6 มิถุนายน พ.ศ. 2447 – 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518) ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับสถาพร เหรียญสุวรรณ
  • พันเอก นายแพทย์ หม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ อาภากร (24 ตุลาคม พ.ศ. 2448 – 9 กันยายน พ.ศ. 2505) เสกสมรสกับหม่อมอรุณ อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม สารสิน)
    • ร้อยเอก หม่อมราชวงศ์สิทธิ อาภากร สมรสกับคมขำ อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม วุฒิยากร)
    • หม่อมราชวงศ์อิทธินันท์ อาภากร สมรสกับสุภาวดี อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม แพ่งสภา)
    • หม่อมราชวงศ์อภิเดช อาภากร สมรสกับกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม รัตนสุวรรณ)
หม่อมเจ้าสมรบำเทอง อาภากร
ประสูติแต่หม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา ธิดาหลวงพรหมภักดี เป็นพี่สาวของหม่อมแจ่ม
ประสูติแต่หม่อมช้อย อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม วิจิตรานุช)
ธิดาหลวงอำนาจณรงค์ราญ (ปุย วิจิตรานุช)
  • พลเรือเอก หม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร (22 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 – 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509) เสกสมรสกับหม่อมเจ้าดวงทิพย์โชติแจ้งหล้า อาภากร (ราชสกุลเดิม รพีพัฒน์)
    • หม่อมราชวงศ์ชาย (ถึงแก่กรรมแต่วัยเยาว์)
    • หม่อมราชวงศ์ทิพภากร อาภากร สมรสกับหม่อมราชวงศ์วิบูลย์เกียรติ วรวรรณ
    • หม่อมราชวงศ์ชาย(ไม่ปรากฏนาม)
    • หม่อมราชวงศ์ชาย(ไม่ปรากฏนาม)
    • หม่อมราชวงศ์พรระพี อาภากร สมรสและหย่ากับอุมาพร ศุภสมุทร แล้วสมรสใหม่กับองค์อร อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม เลอลพ)
ประสูติแต่หม่อมแจ่ม อาภากร ณ อยุธยา ธิดาหลวงพรหมภักดี เป็นน้องสาวของหม่อมเมี้ยน
  • หม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร (19 เมษายน พ.ศ. 2459 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2549) เสกสมรสกับปอง สุขุม, มานิดา โมชดารา และจิริณี พหิธานุกร
    • หม่อมราชวงศ์รุจยา อาภากร สมรสและหย่ากับน้ำเพ็ชร พานิชพันธ์
    • หม่อมราชวงศ์จิยากร อาภากร สมรสกับพยุงศักดิ์ เสสะเวช
    • หม่อมราชวงศ์รุจยาภา อาภากร สมรสกับประทุมพร อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม ฐปนางกูร)
    • หม่อมราชวงศ์รุจยารักษ์ อาภากร สมรสกับจุฑามาศ อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม เข็มทอง)
    • หม่อมราชวงศ์ชาย(ไม่ปรากฏนาม)
หม่อมลินจง อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุนนาค)[27]
ธิดาพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) กับคุณหญิงลิ้นจี่ (ซึ่งหม่อมลินจง บุนนาคได้รู้จักคุ้นเคยกับพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ตั้งแต่ครั้งยังประทับอยู่ต่างประเทศ) โดยหม่อมลินจงเป็นญาติกับเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดาของเสด็จในกรม[28] หม่อมลินจงอาจมีอีกนามหนึ่งว่าหม่อมเดซี่[29] เนื่องจากเป็นสตรีซึ่งทรงเคยรู้จักสนิทสนมมาตั้งแต่ประทับอยู่ต่างประเทศเช่นกัน

พระเกียรติยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ[แก้]

  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 – 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447)
  • พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
  • พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463)
  • พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งสยามและต่างประเทศ ดังนี้[18]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ[แก้]

พระสมัญญานาม[แก้]

  • องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย

พระยศ[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
รับใช้ ไทย
แผนก/สังกัดกองทัพเรือสยาม
กองเสือป่า
ชั้นยศ พลเรือเอก
นายกองโท

พระยศทหาร[แก้]

  • 23 เมษายน พ.ศ. 2463: นายพลเรือเอก[45]

พระยศเสือป่า[แก้]

  • นายหมู่ใหญ่
  • 30 กันยายน พ.ศ. 2454: นายกองตรี[46]
  • 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455: นายกองโท[47]
  • 9 กันยายน พ.ศ. 2461: นายนาวาโท ราชนาวีเสือป่า[48]

ตำแหน่ง[แก้]

  • 13 ธันวาคม พ.ศ. 2465: รักษาราชการแทนเจ้ากรมยุทธโยธาทหารเรือ (ปัจจุบันคือกรมอู่ทหารเรือ)[49]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. [ประกาศกองทัพเรือ 11 กุมภาพันธ์ 2536]
  2. [ประกาศกองทัพเรือ 19 เมษายน 2544]
  3. เจนจบ ยิ่งสุมล. (ตุลาคม 2553). ๑๓๐ ปี ไม่มีวันตาย พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. สำนักพิมพ์ DK พับลิชิ่ง. ISBN 978-616-7327-07-5. หน้า 123
  4. เจนจบ ยิ่งสุมล. (ตุลาคม 2553). ๑๓๐ ปี ไม่มีวันตาย พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. สำนักพิมพ์ DK พับลิชิ่ง. ISBN 978-616-7327-07-5. หน้า 125
  5. เจนจบ ยิ่งสุมล. (ตุลาคม 2553). ๑๓๐ ปี ไม่มีวันตาย พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. สำนักพิมพ์ DK พับลิชิ่ง. ISBN 978-616-7327-07-5. หน้า 137
  6. พระราชทานสัญญาบัตรทหารเรือ
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งกรมและตั้งเจ้าพระยา (สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ขึ้นเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์), เล่ม ๒๑, ตอน ๓๔, ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๖๐๘
  8. แจ้งความกรมทหารเรือ เรื่อง ตำแหน่งหน้าที่ราชการกรมทหารเรือ
  9. ดำรงตำแหน่งองคมนตรี สมัยรัชกาลที่ 5
  10. ดำรงตำแหน่งองคมนตรี สมัยรัชกาลที่ 6
  11. เวนิสา เสนีวงศ์ฯ. พิมพ์ครั้งที่ 2 (2545). กรมหลวงชุมพรฯ พระบิดาทหารเรือไทย. ISBN 974-89509-6-4. หน้า 75-76
  12. แจ้งความกระทรวงทหารเรือ
  13. แจ้งความกระทรวงทหารเรือ
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เลื่อนกรม ตั้งกรมและตั้งเจ้าพระยา, เล่ม ๓๗, ตอน ๐ก, ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๒๘๙
  15. ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช เรื่องย่อย พระนามของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ, พ.ศ. 2546, หน้า 138-139
  16. ประกาศ ตั้งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
  17. วรชาติ มีชูบท. "เหตุที่กรมหลวงชุมพรฯ ถูกปลดจากทหารเรือ จากพระราชบันทึกรัชกาลที่ 6". ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 2021-11-09.
  18. 18.0 18.1 ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์ เก็บถาวร 2009-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๐, ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖, หน้า ๕๖๑
  19. ราชกิจจานุเบกษา,การพระเมรุท้องสนามหลวงเล่ม 40, ตอน ง, 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466, หน้า 4101
  20. สมบัติ สวางควัฒน์. (2554). ย้อนตำนานแวดวงมวยไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน. สำนักพิมพ์ ก้าวแรก. ISBN 978-616-7446-13-4. หน้า 165–166
  21. เวนิสา เสนีวงศ์ฯ. พิมพ์ครั้งที่ 2 (2545). กรมหลวงชุมพรฯ พระบิดาทหารเรือไทย. ISBN 974-89509-6-4. หน้า 70
  22. ราชกิจจานุเบกษา. การมงคลของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ แลหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช
  23. เวนิสา เสนีวงศ์ฯ. พิมพ์ครั้งที่ 2 (2545). กรมหลวงชุมพรฯ พระบิดาทหารเรือไทย. ISBN 974-89509-6-4. หน้า 39-40
  24. ""เสด็จเตี่ย" กรมหลวงชุมพรฯ ตอนที่ ๓๖ – ลองของ". Sarakadee. 2022-02-09. สืบค้นเมื่อ 2022-12-21.
  25. กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มดี, พ.ศ. 2551. 290 หน้า. ISBN 978-974-312-022-0
  26. เจฟฟรี่ ไฟน์สโตน, จุฬาลงกรณราชสัตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย, พ.ศ. 2532, ISBN 974-8356-90-6 หน้า 406-411
  27. หม่อมลินจง อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม บุนนาค)
  28. ธนกร พันธ์บุญเกิด. 108 เทพแห่งสรวงสวรรค์ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โอม ชุมพร จุติ, หนังสือชุด ๑๓๓ year พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. กรุงเทพฯ : บริษัท เฟิสท์พ้อย กราฟิกดีไซน์ จำกัด, มิถุนายน พ.ศ. 2545. 266 หน้า. หน้า 33.
  29. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. เจ้าฟ้า เจ้าชายในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2559. 296 หน้า. หน้า 98. ISBN 978-974-02-1462-5
  30. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์, เล่ม ๑๗ ตอนที่ ๒๘ หน้า ๓๕๖, ๗ ตุลาคม ๑๑๙
  31. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๘๐๓, ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๖๓
  32. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานจุจอมเกล้าฝ่ายหน้าและฝ่ายใน, เล่ม ๑๗ ตอนที่ ๓๕ หน้า ๕๐๑, ๒๕ พฤศจิกายน ๑๑๙
  33. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตรารัตนวราภรณ์ ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๘๙๓, ๘ มกราคม ๒๔๖๔
  34. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๓๑, ๒๖ มกราคม ๒๔๖๑
  35. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๔๔ หน้า ๘๐๒, ๒๙ มกราคม ๑๒๓
  36. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๓๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๘๑, ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๖๑
  37. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา, เล่ม ๑๗ ตอนที่ ๑๘ หน้า ๒๑๔, ๒๙ กรกฎาคม ๑๑๙
  38. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรมาลา, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๗๓, ๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖
  39. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญบุษปมาลา, เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๕๔, ๖ มีนาคม ๑๒๘
  40. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า, เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๔๖ หน้า ๘๗๕, ๑๖ กุมภาพันธ์ ๑๒๐
  41. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๓๘๒, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
  42. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระราชานุญาตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๒๔ ตอนที่ ๑๓ หน้า ๓๓๒, ๓๐ มิถุนายน ๑๒๖
  43. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๑๒ หน้า ๑๘๑, ๒๑ มิถุนายน ๑๒๒
  44. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับตราต่างประเทศ, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๐๙๒, ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๖๕
  45. พระราชทานยศทหารเรือ
  46. พระราชทานยศนายกองตรี
  47. พระราชทานนายกองโท
  48. แจ้งความกรมบัญชาการคณะเสือป่า
  49. แจ้งความกระทรวงทหารเรือ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

หนังสือและบทความ[แก้]

  • คเณศ กังวานสุรไกร และโดม ไกรปกรณ์. “ปั้นดินขึ้นรูป: การประกอบสร้างความน่าเชื่อถือต่อเรื่องเล่าอิทธิปาฏิหาริย์ในพระประวัติของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พ.ศ. 2496–2503.” วารสารไทยศึกษา 16, 1 (มกราคม–มิถุนายน 2563): 129–163.
  • Ruth, Richard A. “Prince Abhakara’s Experiences with Britain’s Royal Navy: Education, Geopolitical Rivalries and the Role of a Cretan Adventure in Apotheosis.” Sojourn: Journal of Social Issues in Southeast Asia 34, 1 (March 2019): 1–47.

เว็บไซต์[แก้]

ก่อนหน้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ถัดไป
สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทำการแทนเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
(13 ตุลาคม พ.ศ. 2465 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2466)
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
(1 เมษายน – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466)
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา