พระเมรุมาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเมรุ)

พระเมรุมาศ
ข้อมูลทั่วไป
สถาปัตยกรรมไทย ไทย

พระเมรุมาศ และพระเมรุ คือ สถาปัตยกรรมชั่วคราว หรือสถาปัตยกรรมเฉพาะกิจที่สร้างขึ้น ณ ใจกลางเมือง เพื่อใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระราชพิธีพระศพโดยเฉพาะ[1] มีลักษณะเป็น "กุฎาคาร หรือ เรือนยอด" คือเรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม[2] โดยในอดีตนิยมสร้างเป็นแบบ ยอดปรางค์ อาจมีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้

พระเมรุมาศ เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคต ภายในพระเมรุมาศมี “พระเมรุทอง” ลักษณะของพระเมรุมาศที่ปรากฏการสร้างมี 2 รูปแบบคือพระเมรุมาศทรงปราสาท ที่สร้างมาแต่โบราณ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และพระเมรุมาศทรงบุษบก ส่วนพระเมรุ เช่นเดียวกับพระเมรุมาศ แต่มีขนาดเล็กลง และไม่มีพระเมรุทองภายใน ใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์ใช้ราชาศัพท์ว่า “ทิวงคต” หรือ “สิ้นพระชนม์”

การออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระเมรุ ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ออกแบบจากผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร โดยมีหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงว่าพระเมรุมาศของพระองค์ใด ที่แสดงลักษณะของพระองค์นั้น

ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์

ความหมายและคติความเชื่อ[แก้]

เขาพระสุเมรุและสัตตบริภัณฑ์ เป็นภาพเขียนจากสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวง

เมรุ ตามความหมายใน พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง "ภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระอินทร์" ซึ่งมีอีกความหมายคือ "เป็นที่เผาศพมีหลังคาเป็นยอด มีรั้วล้อมรอบ สำหรับพระมหากษัตริย์ เรียกว่า พระเมรุมาศ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์เรียกว่า พระเมรุ และสำหรับสามัญชนเรียกว่า เมรุ" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวินิจฉัยในสาส์นสมเด็จ 3 มี.ค. 2476 ไว้ว่า "เมรุ เห็นจะได้ชื่อ (จากการ) ปลูกปราสาทอันสูงใหญ่ท่ามกลางปลูกปราสาทน้อยขึ้นตามมุมทุกทิศ มีโขลนทวาร (โคปุระ) ชักระเบียงเชื่อมถึงกัน ปัก ราชวัติล้อมเป็นชั้นๆ มีลักษณะดุจเขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่ท่ามกลางมีสัตบริภัณฑ์ล้อม จึงเรียกว่า พระเมรุ ทีหลังทำย่อลง ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลมๆ ก็คงเรียกว่า เมรุ"

จากหนังสือ "พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุสมัยรัตนโกสินทร์" ของ ศ.พล.ร.ต.สมภพ ภิรมย์ อธิบายไว้ว่า ในความเชื่อแบบพราหมณ์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ ซึ่งสถิตบนเขาพระสุเมรุ อันล้อมรอบด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ และเมื่อจุติลงมายังมนุษยโลกเป็นสมมติเทพ เมื่อสวรรคตจึงตั้งพระบรมศพบนพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ เพื่อเป็นการส่งพระศพ พระวิญญาณกลับสู่เขาสุเมรุดังเดิม[3] นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อธิบายความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุในวารสารอาสาไว้ว่า "เขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่สถิตย์ของเทพยดาทั้งหลาย เมื่อเรามีคติความเชื่อว่า คนที่ตายแล้วจะกลับไปสู่สวรรค์ ... ความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุมีพูดถึงในไตรภูมิ เป็นเรื่องของภูมิจักรวาลซึ่งเป็นความเชื่อในพุทธศาสนามีลักษณะเป็นที่อยู่ของเทวดา ตีนเขาเป็นป่าหิมพานต์"[4] ทั้งนี้จากความคิดเรื่องนี้จึงได้จำลองพระเมรุมาศ พระเมรุ เป็นเสมือนเขาพระสุเมรุและสัตบริภัณฑ์เพื่อส่งเสด็จสู่ทิพยพิมาน โดยสถานที่ประกอบพิธีเดิมนั้นมักเรียกกันว่า ทุ่งพระเมรุ ซึ่งปัจจุบันคือ ท้องสนามหลวง[5]

ทั้งนี้การจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงสร้างพระเมรุมาศ เป็นราชประเพณีที่แฝงคติการเมืองไว้อย่างชัดเจน กล่าวคือ เป็นการถวายพระเกียรติยศที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตล่วงแล้ว ยังเป็นการประกาศความมั่นคงของบ้านเมือง ด้วยเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแผ่นดินใหม่ โดยแสดงพระบรมเดชานุภาพให้เห็นว่า จะทรงปกครองแผ่นดินให้ผาสุกร่มเย็น[6]

ประเทศไทย[แก้]

ประวัติ[แก้]

สมัยสุโขทัย[แก้]

จากหลักฐานที่ค้นพบเกี่ยวกับการพิธีพระบรมศพที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในคัมภีร์ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ในพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไทย) แห่งกรุงสุโขทัย ที่ทรงประพันธ์ขึ้นราวปี พ.ศ. 1888 ได้พรรณนาเกี่ยวกับการจัดพระศพพระยามหาจักรพรรดิราช[7]

สมัยอยุธยา[แก้]

เมรุมาศทรงปราสาทยอดปรางค์ ภายในเป็นเมรุทองตั้งโกศศพทศกัณฐ์

ในสมัยอยุธยา พิธีพระบรมศพเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ของบ้านเมือง มีแบบแผนถือปฏิบัติอย่างมีระเบียบ ความสำคัญของการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงสร้างพระเมรุมาศนั้น เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตล่วงแล้ว โดยพิจารณาพระเดชานุภาพในการสร้างพระเมรุมาศ

สันนิษฐานว่าการสร้างพระเมรุมาศสมัยอยุธยาตอนต้น ๆ น่าจะนำคติการสร้างมาจากปราสาทขอมเป็นแบบแผน มีการปรับปรุงแบบแผนจนมีรูปแบบศิลปะไทยในยุคหลังๆ แสดงงานศิลปกรรมแบบอยุธยาอย่างสมบูรณ์[6]

หลักฐานไม่ปรากฏชัดเจน ในสมัยอยุธยามีการบันทึกการสร้างพระเมรุมาศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยา ว่า “…แต่พระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และสร้างเมรุมาศสูงเส้นสิบเจ็ดวา ประดับด้วยเมรุทิศ เมรุราย ราชวัติ ฉัตรนาคฉัตรเบญจรงค์เสร็จ ก็อัญเชิญพระบรมศพเสด็จเหนือกฤษฎาธาร” ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬารมาก และยังปรากฏหลักฐานพระเมรุมาศสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามจดหมายเหตุและพระราชพงศาวดาร ว่ามีความสูงถึงสองเส้น และมีปริมณฑลกว้างใหญ่ไพศาลมาก กล่าวไว้ว่า “พระเมรุมาศ...โดยขนาดใหญ่ ชื่อ 7 วา 2 ศอก โดยลง 2 เส้น 11 วา ศอกคืบ มียอด 5 ภายในพระเมรุทองนั้น ประกอบด้วยเครื่องสรรพโสภณวิจิตรต่างๆ สรรพด้วยพระเมรุทิศพระเมรุราย แลสามสร้าง” ซึ่งมีความสูงกว่าพระเมรุมาศสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถึง 5 วาเศษ[8] และว่ากันว่าพระเมรุมาศในสมัยอยุธยามีความยิ่งใหญ่มาก ยอดพระเมรุสูงทัดเทียมตึกเจ็ดชั้นสมัยปัจจุบัน[9]

หลักฐานเกี่ยวกับพระเมรุในยุคแรก พบได้จากวัดไชยวัฒนาราม ที่เป็นต้นแบบพระเมรุมาศ สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระปรางค์ ที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้ลอกแบบมาจากศูนย์กลางของปราสาทนครวัด เป็นต้นแบบที่มาของพระเมรุมาศ ที่มีเจดีย์ทำเป็นเมรุราย และเมรุทิศ รูปแบบการสร้างวัดรวมทั้งการสร้างพระระเบียงรอบนี้ เป็นแนวความคิดจากคติการสร้างเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางของจักรวาล ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมร สร้างเลียนแบบจำลองเขาพระสุเมรุ ของนครวัด หรือ "วิษณุโลก" ที่เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

อีกร่องรอยของงานพระเมรุ คือ ลานหน้าจักรวรรดิ (ทุ่งพระเมรุ) พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ และพระราชวังโบราณของเมืองกรุงเก่า ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระเมรุมาศที่ตำแหน่งทางใต้พระวิหารพระมงคลบพิตร และมีพระราชพิธีบริเวณสนามหน้าจักรวรรดิโดยอัญเชิญพระศพมาทางชลมารค มีขบวนแห่ไปตั้งพระศพไว้ที่พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ และประดิษฐานพระบรมศพ ที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เช่นเดียวกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสันนิษฐานว่าลานหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ หรือสนามหน้าจักรวรรดิ เป็นถนนที่มีขบวนแห่พระบรมศพจะผ่านพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ผ่านสนามชัย และพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ซึ่งเรียกว่า "ทุ่งพระเมรุ"[10]

ในปลายกรุงศรีอยุธยา ยังมีจดหมายเหตุอีก 2 เรื่อง คือ งานพระบรมศพสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระซึ่งพรรณนาเฉพาะตอนถวายพระเพลิงแห่พระบรมอัฐิและพระอังคาร และเรื่องงานพระเมรุมาศสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งในการจัดงานพระเมรุมาศส่วนใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาจะมีลักษณะเป็นการปลูกสร้างพระเมรุขนาดใหญ่ มีพระเมรุทองซึ่งเป็นลักษณะแบบบุษบกอยู่ภายใน พระเมรุนิยมทำเป็น 5 ยอด ในเวลาอัญเชิญพระโกศพระบรมศพ จะอัญเชิญไปบนพระมหาพิชัยราชรถ ขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ประกอบดนตรี อาจจะมีนางรำ นางร้องไห้ ระหว่างนั้นจะมีการทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ เมื่ออัญเชิญขึ้นพระเมรุแล้ว มีการสมโภชอีก 7 วัน ทั้งมหรสพ ดอกไม้เพลิง และนิมนต์พระสงฆ์สดับปกรณ์หนึ่งหมื่นรูป หลังครบ 7 วัน 7 คืน จึงมีการถวายพระเพลิง เก็บพระอัฐิธาตุลงพระบรมโกศ อัญเชิญไปไว้ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์[11]

ใน พ.ศ. 2558 มีการค้นพบ ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งได้ช่วยเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไปของงานพระบรมศพในสมัยอยุธยาที่เหลือหลักฐานน้อย[12]

สมัยกรุงธนบุรี[แก้]

ในสมัยกรุงธนบุรี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้จัดงานพระเมรุ งานพระศพชั้นสูงมีเพียงแต่งานพระศพกรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนี ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งระบุไว้ว่ามีเพียงการจัดทำพระเมรุพระราชทานเพลิงและแห่พระอังคาร ซึ่งอาจเนื่องมาจากอยู่ในภาวะยามศึกสงคราม[8]

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รัชกาลที่ 1 - 4[แก้]

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในยุคแรก บ้านเมืองยังคงอยู่ในภาวะศึกสงคราม จึงมิได้สร้างพระเมรุมาศสูงใหญ่เทียบเท่าพระเมรุมาศสมัยกรุงศรีอยุธยา [8] ระหว่างรัชกาลที่ 1 - 4 พระเมรุมาศเริ่มเป็นทรงปราสาท พระเมรุมาศองค์แรกที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์คือ พระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิถวายพระราชบิดาหลังจากบ้านเมืองสงบศึก โดยทรงอนุสรณ์คำนึงว่า พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ในระหว่างภาวะสงครามโดยมิได้ประทับร่วมกัน และเพื่อสนองพระคุณ จึงมีพระราชดำริจะบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย[6] และยังมีการจัดงานพระศพเจ้านายสำคัญหลายพระองค์คือ งานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท[13] ส่วนการพระราชพิธีในงาน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยึดหลักอย่างประเพณีอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เพื่อฟื้นฟูประเพณีให้กลับรุ่งเรืองสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนและเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมือง และยังมีการประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นคือ การประดิษฐ์เกรินบันไดนาค สำหรับเชิญพระโกศ คิดค้นโดยสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี[14]

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะยึดหลักการสร้างแบบพระเมรุมาศตามตำราโบราณราชประเพณีครั้งกรุงเก่าทุกประการ คือ ทำเป็นพระเมรุอย่างใหญ่ มีตัวพระเมรุ 2 ชั้นต่างไปอยู่ภายในพระเมรุชั้นนอกที่ทำเป็นพระเมรุยอดปรางค์หรือยอดรูปดอกข้าวโพด ส่วนใหญ่เป็นไปตามแบบแผนมีต่างกันไปในรายละเอียดเรื่องการออกแบบตามฝีมือช่าง[15] สำหรับพระเมรุมาศพระบรมศพรัชกาลที่ 4 ถือได้ว่า เป็นพระเมรุมาศสุดท้ายที่ทำตามแบบโบราณราชประเพณี แต่พระเมรุใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมียอดเรือนเพียง 5 ยอด ตามแบบอยุธยาได้ยุติลง และกลายเป็นว่ารูปแบบ พระเมรุโท ที่เป็นปรางค์ 5 ยอดตามแบบแผนอยุธยา กลับทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ความเป็นพระเมรุเอก สำหรับกษัตริย์ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น[16]


สมัยรัชกาลที่ 5 - 8[แก้]

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ลักษณะของพระเมรุมาศเป็นเพียงพระเมรุชั้นเดียว ได้ถอดเอาพระเมรใหญ่ ซึ่งเป็นพระเมรุทรงปรางค์ที่คลุมอยู่ภายนอกออกไป คงไว้เพียงพระเมรุทอง ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า พระเมรุมาศ[17] และในสมัยนั้นประเทศไทยได้ติดต่อกับต่างประเทศ รับวัฒนธรรมจากภายนอก ทั้งชาวไทยปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างให้สอดคล้องตามสมัย การสร้างพระเมรุมาศทรงปราสาท ซึ่งเป็นงานใหญ่โต ทรงเห็นว่าการสร้างแบบเดิมเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงให้มีขนาดเล็กลงและประหยัดขึ้น โดยมีพระราชดำรัสสั่งห้ามความว่า[18]

แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็น แล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่โตเพียงใด เปลืองทั้งแรงคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมควรกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยืนยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพของผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์อันควรจะได้เป็นเกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอนด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจว่า เพราะฉะนั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งสมควรจะได้ เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอควร ในท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป...

อีกทั้งยกเลิกประเพณี ที่ราษฎรทั่วราชอาณาจักรจะต้องโกนหัวไว้ทุกข์ อันเป็นการไม่เหมาะสมต่อยุคสมัยอีกต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกเสีย เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 6 จึงได้สนองพระราชประสงค์ทุกประการและได้ยึดถือกันเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมาถึงปัจจุบัน[19]

อันเนื่องจากพระเมรุมาศทรงบุษบกเป็นพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์เท่านั้น สำหรับพระเมรุมาศของพระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ชั้นสูงคงสร้างเป็นพระเมรุมาศทรงปราสาทสืบต่อมา แต่ลดรูปแบบ เป็นเครื่องยอดต่าง ๆ เช่น ยอดปรางค์ ยอดมงกุฏ ยอดมณฑป ยอดฉัตร โดยไม่มีพระเมรุภายใน

ในบางกรณีที่เจ้านาย พระราชวงศ์ชั้นสูงและผู้ใหญ่ สิ้นพระชนม์ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน บางพระองค์มีพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์เท่าเทียมกัน อีกทั้งการสร้างพระเมรุมาศ หรือพระเมรุแต่ละครั้งมีขั้นตอน การตระเตรียมยุ่งยากหลายประการ จึงมีการอนุโลมโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการถวายพระเพลิงบนพระเมรุเดียวกันบ้าง หรือให้สร้างพระเมรุน้อยอยู่ใกล้พระเมรุใหญ่ หรือมีเมรุบริวารอยู่ในปริมณฑล ในงานพระราชพิธีเดียวกัน อาจเรียกงานออกเมรุนี้ว่า เมรุตามเสด็จ

หลังจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา การออกแบบจัดสร้างพระเมรุหรือเมรุ นั้นเป็นไปตามฐานันดรกล่าวคือ[20]

ฐานันดรศักดิ์ สถานที่ ลักษณะพระเมรุ
พระมหากษัตริย์, พระมเหสี และพระยุพราช พระเมรุท้องสนามหลวง พระเมรุมาศ
เจ้าฟ้า พระเมรุท้องสนามหลวงหรือพระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส พระเมรุเครื่องยอด
เจ้านายเชื้อพระวงศ์ (ชั้นพระองค์เจ้า) พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส พระเมรุทรงจตุรมุข
สมเด็จพระสังฆราช พระเมรุท้องสนามหลวงหรือพระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส พระเมรุทรงจตุรมุข
ขุนนาง เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส หรือเมรุวัดทั่วไป เมรุทั่วไป

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สถานะของพระราชวงศ์ที่ตกต่ำลง รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระยะต่อมา ได้ส่งผลกระทบถึงการจัดงานพระบรมศพและพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรีอย่างชัดเจน ดังปรากฏหลักฐานว่า พระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ได้รับการพระราชทานเพลิงพระศพที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ตรงกับ พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินปัจจุบัน)[21][22] และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ได้รับการพระราชทานเพลิงพระศพที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2479 (ตรงกับ พ.ศ. 2480 ตามปฏิทินปัจจุบัน) โดยสร้างพระเมรุตามแบบเมรุมาตรฐานของกระทรวงวัง (ภายหลังได้แปรสภาพส่วนราชการเป็นสำนักพระราชวัง) ทั้งที่ตามพระอิสริยยศของพระองค์นั้นควรได้รับการพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง ตามโบราณราชประเพณี หรือพระเมรุของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 แม้งานพระเมรุครั้งนี้จะได้จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงตามพระอิสริยยศ แต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นพระราชชนนี ต้องทรงออกค่าใช้จ่ายในงานพระศพเองทั้งหมดโดยที่รัฐบาลไม่ได้ออกเงินช่วยเหลือ และใช้พระเมรุแบบมาตรฐานของกระทรวงวังเช่นเดียวกับงานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ สำหรับพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตในต่างประเทศ จึงมิได้มีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพตามโบราณราชประเพณี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ สุสานที่ประเทศอังกฤษ โดยมีการเชิญพระบรมศพลงสู่พระหีบ เจ้านายที่เสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพที่พระตำหนักทรงเล่าว่าพระบรมศพนั้น ถูกบรรจุอยู่ในหีบบุโนมสีขาวดูสบายกว่าที่จะต้องเชิญลงพระโกศอย่างไทยเรานั่น และตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานก่อนสวรรคตว่า ให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทรงเล่นดนตรีขณะเวลาที่เจ้าหน้าที่หรือข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ตามเสด็จไปกำลังปฏิบัติการถวายพระเพลิง ให้ทรงเล่นดนตรีที่รัชกาลที่ 7 ทรงโปรด

สมัยรัชกาลที 9 - รัชกาลปัจจุบัน[แก้]

การสร้างพระเมรุมาศตามแบบโบราณราชประเพณีได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรสวรรคต แต่การจัดสร้างพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์กินเวลายาวนานถึง 3 ปี จากอุปสรรคในการวางแผนกำหนดระยะเวลาการก่อสร้าง ด้วยเหตุว่ากำหนดการเสด็จนิวัติพระนครของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพต้องเลื่อนไปจากการที่ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2491 การก่อสร้างพระเมรุมาศได้สำเร็จลงในปี พ.ศ. 2493 และได้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม ของปีนั้น หลังจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระเมรุมาศองค์นี้เป็นพระเมรุตามเสด็จ สำหรับงานพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์อีก 4 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย[23] โดยเปลี่ยนนพปฎลมหาเศวตฉัตรที่ยอดพระเมรุมาศเป็นพระเบญจปฎลเศวตฉัตร ตามพระอิสริยยศของพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับพระราชทานเพลิงพระศพ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2498 ก็ได้มีการสร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงอีกครั้ง เพื่อใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2499 พระเมรุมาศองค์นี้ได้สร้างขึ้นใหม่โดยใช้แบบพระเมรุมาศทรงบุษบกจากงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเป็นพื้นฐานในการออกแบบ หลังจากนั้นการสร้างพระเมรุมาศและพระเมรุที่ท้องสนามหลวงได้ว่างเว้นไปเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ในระยะต่อมาไม่ทรงมีพระอิสริยยศสูงถึงชั้นที่จะสร้างพระเมรุกลางเมือง และได้มีการพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส ทั้งสิ้น เช่น

ในปี พ.ศ. 2527 เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต จึงได้มีการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้น ณ ท้องสนามหลวงอีกครั้ง โดยพระเมรุมาศออกแบบโดยอาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี เป็นทรงปราสาทแบบจัตุรมุข ยอดทรงมณฑปประกอบด้วยพระพรหมพักตร์ ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร มีพระนามาภิไธยย่อ รพ ที่หน้าบันทั้ง 4 ด้าน ตัวอาคารประกอบด้วยชั้นฐานทักษิณ[24] ส่วนหลังคาองค์พระเมรุมาศประกอบมุขทิศ การออกแบบโดยการยึดแบบพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วมาปรับแบบให้เข้ากับพระราชบุคลิกในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งมีลักษณะ สง่า นิ่มนวล จับตาจับใจ[25]

ล่วงมาในปี พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต พระเมรุมาศได้จัดสร้างโดยกรมศิลปากรท้องสนามหลวง พระเมรุทรงปราสาทจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสองยอดเกี้ยว ยอดสุดปักสัปตปฎลเศวตฉัตร มีพระนามาภิไธยย่อ สว ที่หน้าบันทั้ง 4 ด้าน หลังคามุขซ้อน 3 ชั้น ช่อฟ้าใบระกาเป็นลายซ้อนไม้ ในการก่อสร้างครั้งนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระวินิจฉัยให้ใช้วัสดุเรซินในการตกแต่งพระเมรุบางส่วนเพื่อความรวดเร็วและลดปริมาณไม้[26] งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างพระเมรุ นั้นประมาณ 120 ล้านบาท [27]

เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2551 น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น (ยศในขณะนั้น) อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธานคณะทำงานการออกแบบพระเมรุ การออกแบบได้ยึดเค้าโครงพระเมรุของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี มาเป็นต้นแบบ[28] โดยออกแบบรูปแบบยอดทรงปราสาท ยอดชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ต่อยอดด้วยชั้นบัวคลุ่มจนถึงปลายยอดประดับฉัตร 7 ชั้น มีตราพระนามย่อ กว ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่หน้าบันทั้ง 4 ด้าน โดยยึดแนวความคิดจำลองรูปเขาพระสุเมรุและสะท้อนพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรที่นุ่มนวลสง่างามของพระองค์ไว้ในองค์ประกอบพระเมรุ ทางด้านวิศวกรรมนำแนวคิดการออกแบบลิฟต์เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประกอบพระราชพิธีบนพระเมรุ อันเนื่องจากความชันบันไดไปยังพระเมรุ ถือเป็นครั้งแรกที่ติดตั้งระบบลิฟต์ งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ 150-200 ล้านบาท [29]

เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2554 มีการจัดสร้างพระเมรุในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ โดยมีพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธานคณะทำงานการออกแบบพระเมรุ ในงานก่อสร้างพระเมรุครั้งนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระราชวินิจฉัยให้ยึดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นต้นแบบ เป็นอาคารทรงปราสาทยอดมณฑป เรียกว่าทรงมณฑปแปลง หลังคาจัตุรมุขซ้อน 2 ชั้น สร้างขึ้นบนฐานชาลาใหญ่ จากฐานชาลาจนถึงยอดฉัตรสูง 35.59 เมตร มุขหน้าทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน มุขด้านทิศเหนือมีสะพานเกรินสำหรับอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธานภายในพระเมรุ มุขหลังด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่วางเตาเผาพระศพ บริเวณฐานชาลาทุกด้านมีบันไดทางขึ้นลง รายล้อมด้วยรั้วราชวัติ ฉัตร โคม และเทวดาอัญเชิญฉัตรประกอบพระอิสริยยศ เครื่องยอดพระเมรุ เป็นทรงมณฑปมีชั้นเชิงกลอน 5 ชั้นแต่ละชั้นมีซุ้มบันแถลงซ้อน 2 ชั้น มุมหลังคามีนาคปัก ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์ เหนือบัลลังก์เป็นชุดบัวคลุ่ม 5 ชั้น ปลียอดแบ่งเป็น 2 ส่วน คั่นด้วยลูกแก้ว บนยอดมีเม็ดน้ำค้าง เหนือสุดปักสัปตปฎลเศวตฉัตร หน้าบันทั้ง 4 ด้าน ประดับอักษรพระนาม พร โครงสีของพระเมรุโดยรวมเป็นสีทองและสีชมพู ตามสีวันประสูติ คือวันอังคาร งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ 260 ล้านบาท [30]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2559 กรมศิลปากรได้ออกแบบพระเมรุมาศโดยเป็นทรงบุษบก 9 ยอด ตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะใช้พระเมรุมาศทรงบุษบกเท่านั้น ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) โปรดให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาในการจัดสร้างพระเมรุมาศ โดยพระเมรุมาศออกแบบโดย นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการเป็นผู้ออกแบบหลัก และมีนายสัตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ เป็นผู้ช่วย เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง 50.49 เมตร (ต่อมาได้ขยายเป็น 53 เมตร) มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นที่สูง มี 3 ชั้น ชั้นบน ที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วย ซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ 9 ยอด โดยยอดกลางจะเปรียบเหมือนเป็นเขาพระสุเมรุ และอีก 8 ยอดเป็นเหมือนยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเปรียบเป็นระบบจักรวาล โดยเปรียบพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนสมมติเทพ ศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วยงานศิลปกรรมประกอบอาคาร ฉัตร เทวดา สัตว์หิมพานต์ ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ พร้อมกับมีการขุดสระอโนดาตขึ้นมาจริง ๆ[31]

พระเมรุมาศ พระเมรุและเมรุ[แก้]

ฐานานุศักดิ์สูงสุดคือ "พระเมรุมาศ" ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพสำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคต เช่น พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า (อุปราชวังหน้า) พระบรมโอรสาธิราช เป็นต้น [32] พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ มีฐานานุศักดิ์สูงต่ำดังนี้[33]

พระเมรุมาศ[แก้]

  • พระเมรุมาศ เป็นพระเมรุขนาดสูงใหญ่ ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระยุพราช สำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคต ภายในพระเมรุมาศมี “พระเมรุทอง” ลักษณะของพระเมรุมาศที่ปรากฏการสร้างมี 2 รูปแบบคือพระเมรุมาศทรงปราสาท ที่สร้างมาแต่โบราณ มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร และพระเมรุมาศทรงบุษบก ที่เริ่มใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงดำริว่าการพระราชพิธีพระบรมศพอย่างโบราณสิ้นเปลืองแรง พระราชทรัพย์ และได้ใช้รูปแบบของพระเมรุมาศทรงบุษบกต่อมาโดยตลอด แต่พระเมรุมาศของพระอัครมเหสียังคงใช้เป็นพระเมรุมาศทรงปราสาทโดยรวมของพระเมรุมาศจะปิดด้วยกระดาษทองทั้งหลัง มีสีแล่งอยู่เพื่อให้เห็นลายเท่านั้น
    • พระเมรุมาศทรงปราสาท มีรูปแบบมาตั้งแต่สมัยอยุธยาใช้สืบต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ระหว่างรัชกาลที่ 1-4 มีลักษณะเดียวกับปราสาท สร้างเรือนบุษบกบัลลังก์ที่เรียกว่าพระเมรุทอง ซ้อนอยู่ภายใน โดยประดิษฐานพระเบญจาจิตกาธานรองรับพระโกศพระบรมศพ สร้างปิดทองล่องชาด พระเมรุมาศทรงปราสาทมี 2 ลักษณะคือ
    • พระเมรุมาศทรงบุษบก เป็นของพระมหากษัตริย์เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างบนพื้นราบดัดแปลงอาคารปราสาทเป็นเรือนบุษบกบัลลังก์ หรือคือการขยายมาจากพระเมรุทองในปราสาทให้ใหญ่ขึ้น และตั้งเบญจาจิตกาธานรับพระโกศพระบรมศพ สะดวกกับการถวายพระเพลิง พระเมรุมาศทรงบุษบกองค์แรกใช้ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังถือเป็นแบบพระเมรุมาศเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น[34] อนึ่ง พระเมรุมาศทรงบุษบกยังได้อนุโลมให้เป็นรูปแบบในการสร้างพระเมรุมาศ สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  • พระเมรุทอง คือเมรุทำด้วยทอง ปิดทอง กระดาษทอง หรือทองน้ำตะโก สร้างเป็นอาคารเรือนยอด ทรงบุษบกหรือทรงมณฑป มีความสูงประมาณ 20 เมตร ตั้งอยู่ภายในพระเมรุมาศ โดยใช้เป็นที่ตั้งพระเบญจาทองคำรองรับพระบรมโกศ พระโกศ ภายใต้พระเศวตฉัตร มีปรากฏใช้ครั้งสุดท้ายในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[35]

อนึ่ง ในปัจจุบันรูปแบบการจัดสร้างพระเมรุมาศ ที่ปิดกระดาษทองทั้งองค์นี้ได้อนุโลมให้ใช้สร้างพระเมรุของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า ที่ออกพระเมรุกลางเมืองได้ แต่ยังคงออกเรียกว่า พระเมรุ ตามพระอิสริยยศ เช่น พระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พระเมรุ[แก้]

เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์[แก้]

เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ใช้เป็นพระเมรุสำหรับพระบรมวงศ์ที่มีเกียรติยศรองลงมาจากชั้นเจ้าฟ้า พระอนุวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระสังฆราช ตลอดจนถึงเป็นเมรุสำหรับศพสามัญชนผู้มีเกียรติยศถึงชั้นได้รับพระราชทานโกศในปัจจุบัน

ส่วนเมรุ อันเป็นองค์ประกอบของพระเมรุ คือ เมรุทิศ ที่เป็นเมรุประจำ 4 ทิศ หรือ 8 ทิศ ทำรอบพระเมรุมาศ 4 ทิศ หากเป็น 8 ทิศ จะสร้างระหว่างเมรุทิศทั้ง 4 ซึ่งเมรุกลางที่อยู่ระหว่างเมรุทิศจะเรียกว่า เมรุประตู ไปโดยปริยาย หรือเมรุที่แทรกระหว่างเมรุทิศ จะเรียกว่า เมรุแทรก ซึ่งอาจเรียกเมรุประตูว่า เมรุแทรกก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดความมโหฬารของงานพระราชพิธี ส่วนเมรุแทรกที่เรียงรายกันไป แทรกระหว่างเมรุทิศ จะเรียกว่า เมรุราย และเมรุพระบุพโพ ใช้สำหรับถวายพระเพลิงพระบุพโพ (น้ำเหลือง)

นอกจากนี้คำเรียกของเมรุอย่างอื่น อย่าง เมรุน้อย คือคำเรียกเมรุขนาดเล็ก และเมรุมณฑป เป็นคำเรียกลักษณะเมรุที่มีสถาปัตยกรรมเป็นทรงมณฑป ส่วนคำสามัญทางการช่าง เมรุที่ดาดสีเขียว เหลือง แดง รองพื้นแล้วปิดกระดาษสีทอง ฉลุลวดลายทับ จะเรียกว่า เมรุสี หรือ เมรุแผง

ส่วนเมรุอื่นที่เคยใช้เป็นพระเมรุ อย่างเช่น เมรุปูน เริ่มสร้างครั้งแรกที่วัดสุวรรณาราม ในรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นปฐมงานพระศพชั้นเจ้าฟ้าและพระศพ รวมถึงศพผู้มีบรรดาศักดิ์ มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าพระเมรุท้องสนามหลวง (ปัจจุบันไม่เหลือซากให้เห็น) ต่อมาใช้จัดพระราชทานเพลิงศพมากมาย และยังมีเมรุขาว หรือเมรุผ้าขาว มีลักษณะการดาดผ้าขาวให้มีลักษณะเป็นเหมือนอาคารก่ออิฐ ยังมีเมรุขาวที่มีเครื่องยอดเช่น พระเมรุผ้าขาวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นต้น[33]

สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม[แก้]

แบบจำลองพระเมรุมาศในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

การออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระเมรุ ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ออกแบบจากผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร โดยมีหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงว่าพระเมรุมาศของพระองค์ใด ที่แสดงลักษณะของพระองค์นั้น เช่น ความเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี นักรบ เป็นต้น อีกทั้งการใช้ลวดลายที่สอดคล้องกับสีที่เกี่ยวกับพระองค์เป็นสำคัญ สายช่างสมัยรัตนโกสินทร์ มีอยู่ 3 สายคือ สายพระยาราชสงคราม, สายพระยาจินดารังสรรค์ และ สายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งกล่าวกันว่า จะมีศิษย์ผู้สืบงานศิลป์รวมทั้งอาจารย์ผู้เป็นต้นแบบ ในแต่ละสายนั้นเพียงสายละ 3 ช่วงคนเท่านั้น[36]

ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นอย่างสถาปัตยกรรมไทย มีลักษณะเป็น "กุฎาคาร หรือ เรือนยอด" คือเรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม ยึดรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย อาจมีรูปทรงปรางค์ ยอดปรางค์ อาจมีพรหมพักตร์หรือไม่มีก็ได้ หรือเป็นรูปปราสาท[37] โดยสมมติอาคารหลังนี้เป็นพระวิมาน บางครั้งก็มีมุขยื่นออกมา เป็นมุขเดี่ยวบ้าง เป็นจัตุรมุขบ้าง

ผังอาคารและอาคารประกอบ[แก้]

แผนผังของพระเมรุมาศ มีแนวคิดจากผังของเขาพระสุเมรุ ในสมัยโบราณจะปรับพื้นที่พูนดินสร้างเขาให้มีลักษณะ ประดุจเขาพระสุเมรุก่อน แล้วจึงก่อสร้าง อาคารประกอบพระราชพิธี ส่วนประกอบอื่นอย่าง ศาลาและอาคารที่ใช้สอยต่าง ๆ มีความหมายถึงสร้างวังทั้งวังขึ้นบนเขา มีรั้วราชวัติล้อมรอบ ประดับฉัตร ธงทิว รายล้อมด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นการล้อเลียนธรรมชาติตามคติในเขาพระสุเมรุ และทิวเขาสัตบริภัณฑ์[6]

อาคารหลักคือ พระเมรุมาศ 1 องค์ และอาคารประกอบอย่าง ประดุจโบสถ์ วิหาร มีระเบียงล้อมรอบ ซึ่งเรียกว่าทับเกษตร อันมีความหมายว่า “เขตอันเป็นที่พัก” ตรงส่วนมุมคดของทับเกษตรทั้ง 4 มุมเรียกว่า “ส้างหรือสำสร้าง” เป็นที่ที่สวดอภิธรรมของพระสงฆ์ นอกจากนี้อาคารบริวาร มีราชวัติ ฉัตร ธง รายล้อม หลังส้างหรือสำส้างมีรูปสัตว์รายรอบ ถัดจากนั้นมี เสาดอกไม้ พุ่ม ดอกไม้ไฟ ส่วนพระที่นั่งชั่วคราวที่เรียกว่า พระที่นั่งทรงธรรม จะอยู่ด้านตรงข้ามพระเมรุมาศ สำหรับทรงบำเพ็ญพระราชกุศลก่อนถวายพระเพลิงพระบรมศพ[8]

ในบริเวณส่วนกลางของพระเมรุมาศหรือพระเมรุ จะประดิษฐานพระจิตกาธานซึ่งประดิษฐานพระโกศ พระศพ จะประดับด้วยพระโกศไม้จันทน์ และดอกไม้สดเป็นลวดลายก้าน ดอก ใบ ที่มีฝีมืออันประณีต สำหรับพระมหากษัตริย์-ราชวงศ์-ข้าราชการ ถวายพระเพลิง

ส่วนยอดพระเมรุมาศ สามารถแสดงฐานันดรของพระศพได้จากยอด คือหากเป็นพระเมรุมาศสำหรับพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ยอดจะเป็น "พระมหาเศวตฉัตร" หรือหากเป็นพระบรมราชวงศ์ ชั้นฉัตรก็ลดหลั่นลงมา หรืออาจไม่มีฉัตรแต่เป็นยอดนภศูลก็ได้[3]

โครงสร้าง[แก้]

โครงสร้างของพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำด้วยเหล็กรูปพรรณทั้งหมด

การออกแบบมีหลักเกณฑ์ข้อกำหนด เช่น ในส่วนโครงสร้างทุกส่วนต้องแข็งแรงพอรับน้ำหนักประจำและน้ำหนักจรได้อย่างมั่นคงแข็งแรง วิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้างปัจจุบัน ออกแบบพระเมรุ อาคารประกอบของพระเมรุคิดน้ำหนักเฉลี่ยโดยทั่วไปอยู่ที่ 300 กิโลกรัม ต่อ ตารางเมตร ส่วนองค์พระเมรุคิดน้ำหนักไว้ที่ 500 กิโลกรัม ต่อ ตารางเมตร และในคราวสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ส่วนรับเตาเผาที่ใช้ในการพระราชทานเพลิงพระศพมีน้ำหนักมากถึง 5 ตัน หรือ 5 พันกิโลกรัม จึงออกแบบเพิ่มน้ำหนักส่วนของพระเมรุเพิ่มขึ้น[38]

แต่เดิมส่วนฐานรากแต่เดิมใช้ไม้ซุงยาว 5-6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว ตอกเป็นฐานราก หนุนเป็นแบบระนาดวางไว้ที่ฐานเพื่อรับน้ำหนักแรงกระทำแนวดิ่ง จนพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเปลี่ยนฐานรากจากไม้เป็นคอนกรีตสำเร็จรูป นำมาตัดเป็น ท่อนๆ ตามขนาดของน้ำหนักที่จะกดลงตรงที่นั้น ๆ ส่วนพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ใช้แผ่นพื้นสำเร็จวางปูเพื่อเป็นฐาน[38] ส่วนเสาแต่เดิมใช้เสาไม้สักเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เมตร เป็นเสาหลัก แต่ปัจจุบันใช้เสาเหล็กผสมไม้ และส่วนประกอบอื่นอย่างลวดลาย ไม้ตัวโครงสร้าง ใช้ไม้และไม้อัด[39]

สำหรับโครงสร้างพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ใช้โครงสร้างแบบชั่วคราว สามารถรื้อถอดไปประกอบติดตั้งใหม่ได้ มีโครงสร้างเป็นไม้เนื้อแข็งและเหล็กรูปพรรณประกอบกันเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้แข็งแรงปลอดภัยเพียงพอในการใช้งาน[9]

การตกแต่ง[แก้]

หุ่นเทวดาถือเครื่องสูง ประดับรอบพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

การตกแต่ง จะเป็นไปตามแบบแผนของการก่อสร้างตามหลักสถาปัตยกรรม มี 2 ลักษณะคือ ตกแต่งอย่างพระเมรุทอง และตกแต่งอย่างพระเมรุสี โดยการตกแต่งพระเมรุทอง (มักจะใช้กับพระเมรุมาศ ของพระมหากษัตริย์) เช่น การปิดทองล้วนทั้งทองจริงและทองเทียม หรือปิดทองล่องชาด อย่างเช่นทองคำเปลว กระดาษทอง[40] พื้นเมรุสีแดงมีลายทอง หรือจะปิดกระดาษทองย่นมีสายสีแดง ส่วนการตกแต่งเมรุสี หรือ เมรุลงยาราชาวดี จะใช้สีจากวัสดุหลากหลายประเภท อย่าง กระจกสีต่าง ๆ สอดสีด้วยกระดาษสี กระดาษกั่วสี โดยการเลือกสีจะสัมพันธ์กับผู้ที่จะรับการถวายพระเพลิง เช่น เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ เป็นต้น [36]

อาคารประดับตกแต่งด้วยหุ่นเทวดา ถือเครื่องสูง เพื่อเป็นการแสดงพระอิสริยยศ บางครั้งประดับด้วยสัตว์หิมพานต์ที่อยู่บนเชิงเขาพระสุเมรุ เช่นเสาหงส์[41]

งานภูมิสถาปัตยกรรม[แก้]

การออกแบบภูมิทัศน์บริเวณพระเมรุมาศ คำนึงที่พื้นที่ว่างระหว่างอาคารภายในขอบเขตรั้วราชวัติและบริเวณโดยรอบตามประโยชน์ใช้สอย เพื่อเสริมส่งให้พระเมรุมาศและบรรยากาศโดยรอบมีความงดงาม อีกทั้งให้ความหมายในเรื่องคติของแผนภูมิจักรวาลให้สมบูรณ์ โดยจำลองเขาพระสุเมรุ คือบริเวณโดยรอบพระเมรุมาศจะเปรียบเสมือนเขาพระเมรุตั้งอยู่กลางจักรวาล ส่วนที่ว่างปลูกต้นไม้บริเวณฐานเปรียบเหมือนป่าหิมพานต์ที่อยู่เชิงเขาโดยมีลวดลายของเส้นเป็นตัวกำหนด ส่วนบริเวณถัดมาใช้สำหรับเชิญพระโกศเวียนพระเมรุมาศ จะเปรียบเสมือนสีทันดรมหาสมุทรล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

งานออกพระเมรุ[แก้]

ริ้วกระบวนเชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคลื่อนผ่านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท
ริ้วกระบวนพระอิสริยยศอัญเชิญพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (ทรงพระที่นั่งราเชนทรยาน มีเจ้าพนักงานภูษามาลาประคองกลางภาพ) ออกจากพระเมรุ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

เมื่อถึงกำหนดงานออกพระเมรุ จะอัญเชิญพระบรมศพออกไปถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ ซึ่งมีการแห่ไปทั้งทางบกทางน้ำ โดยเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลงมาที่พระยานมาศสามลำคาน แล้วแห่ออกท่าราชวรดิษฐ์ไปลงเรือ พายตามน้ำไปขึ้นที่ท่าเตียน จากนั้นเชิญขึ้นพระยานมาศสามลำคานจากเรือไปจนถึงหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงเชิญขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ จัดเป็นริ้วขบวนแห่เข้าพระเมรุที่ท้องสนามหลวง

การแห่กระบวนเป็นไปตามราชประเพณีแต่โบราณ เพื่อเป็นเกียรติยศ สำหรับการแห่ทางน้ำหรือชลมารคในรัชกาลปัจจุบันได้ลดทอนเหลือแต่กระบวนแห่ทางบก โดยแห่จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นการเฉพาะสำหรับพระบรมศพและพระศพเกียรติยศจริง ๆ เท่านั้น[42] โดยริ้วขบวนมักประกอบด้วยริ้วขบวน 6 ริ้วได้แก่[43]

  • ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศพระยานมาศสามลำคานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังพระมหาพิชัยราชรถหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
  • ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง
  • ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศโดยราชรถปืนใหญ่ สำหรับพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระยานมาศสามลำคานสำหรับพระศพเจ้านายชั้นสูง เวียนโดยอุตรวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ แล้วเชิญพระโกศประดิษฐานบนพระเมรุมาศ
  • ริ้วขบวนที่ 4 ในวันเก็บพระอัฐิ เชิญพระโกศพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน และพระบรมราชสรีรางคารโดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชยานกงสำหรับพระบรมวงศ์ฝ่ายหน้า หรือพระวอสีวิกากาญจน์สำหรับพระบรมวงศ์ฝ่ายใน จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง สู่พระบรมมหาราชวัง
  • ริ้วขบวนที่ 5 ในวันเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระวิมาน เชิญพระโกศพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐานที่พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
  • ริ้วขบวนที่ 6 เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งไปบรรจุที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หรือวัดแห่งอื่นตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร

อย่างไรก็ตาม ในริ้วขบวนที่ 3 สำหรับพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าที่ทรงรับราชการทหารนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ราชรถปืนใหญ่รางเกวียนทรงพระบรมศพหรือพระศพเวียนรอบพระเมรุมาศหรือพระเมรุ โดยเริ่มปรากฏหลักฐานของธรรมเนียมดังกล่าวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉพาะพระบรมศพของพระมหากษัตริย์นั้น ได้เริ่มธรรมเนียมนี้ขึ้นในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์เอง ข้อที่ 11 ซึ่งระบุไว้ว่า "ในการแห่พระบรมศพ ตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ให้ใช้พระยานมาศตามประเพณี จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุ ขอให้จัดรถเสียใหม่เป็นรถปืนใหญ่บรรทุกพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางในระยะที่สุดนี้อย่างทหาร"[44] แต่เมื่อถึงคราวจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระเวชยันตราชรถ (ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ออกนามในหมายกำหนดการว่าพระมหาพิชัยราชรถ) ทรงพระบรมศพ ในริ้วกระบวนเชิญพระโกศทรงพระบรมศพจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวงตามโบราณราชประเพณีเช่นเดิม แต่ทรงอนุโลมให้ใช้ราชรถปืนใหญ่เชิญพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศตามที่ระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม การจัดริ้วขบวนดังกล่าวนี้ได้สืบทอดเป็นราชประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน

อนึ่ง ในคืนก่อนวันออกพระเมรุ จะมีการจัดงานเครื่องสดอย่าง งานแทงหยวกและงานดอกไม้สด เพิ่มเติมในพระเมรุมาศ โดยงานแทงหยวกแต่งจิตกาธาน ด้วยเพราะหยวกฉ่ำน้ำช่วยไม่ให้ไฟโหมไหม้แรงเกินไป ส่วนงานดอกไม้สด ร้อยประดิษฐ์เป็นฉัตรและเครื่องแขวนต่าง ๆ ที่มาจากโบราณ ยังเป็นเครื่องกลบกลิ่น ส่วนในงานกลางคืนของคืนวันออกพระเมรุ จะจัดให้มีมหรสพสมโภชและจัดซุ้มให้ประชาชนมาถวายดอกไม้จันทน์[45]

เครื่องสังเค็ด[แก้]

เครื่องสังเค็ด หมายถึง วัตถุทานที่เจ้าภาพสร้างอุทิศเพื่อใช้ชักบังสุกุลในเวลาปลงศพ โดยในสมัยรัตนโกสินทร์นิยมทำเป็นของใช้สำหรับพระสงฆ์ อาทิ พัดรอง ธรรมมาสน์ เครื่องบริขาร และเครื่องนมัสการ ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นงานแรกที่มีการจัดสร้างเครื่องสังเค็ดเพื่อมอบให้แก่ศาสนสถานของศาสนาอื่นด้วย อาทิ ธรรมมาสน์ เพื่อมอบแก่วัดในพระพุทธศาสนา เชิงเทียน เพื่อมอบให้แก่ศาสนสถานของคริสต์ศาสนา และโคมไฟ เพื่อมอบให้แก่ศาสนสถานของมุสลิม หลังจากนั้นก็คงมีแต่การพระราชทานเครื่องสังเค็ดเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น จนเมื่อครั้งงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้มีการพระราชทานเครื่องสังเค็ดแก่ศาสนสถานของศาสนาทุกศาสนา และโรงเรียนและห้องสมุดด้วย ได้แก่

ของที่ระลึกเนื่องในงานออกพระเมรุ[แก้]

การจัดทำของที่ระลึกในงานพระเมรุ ทำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่ออุทิศเป็นบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ พระราชโอรสทรงร่วมแจกทานเป็นเสื้อผ้าและเงินทอง และสิ่งของเครื่องใช้แก่ประชาชน

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ยังคงจัดทำเครื่องสังเค็ดและถวายพระภิกษุสงฆ์ที่อาราธนาเทศน์หรือพิจารณาผ้าบังสุกุล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เริ่มจัดทำเหรียญที่ระลึกเป็นเงินพดด้วง มีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์รูปครุฑ ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงการจัดทำเป็นหีบเงินหรือกระเบื้องเคลือบ ในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์[46]

ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก นอกจากนี้การพิมพ์หนังสือที่ระลึกก็เป็นที่นิยมเช่นกัน เช่นงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 มีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกถึง 5 เล่ม[47] สำหรับของที่ระลึกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นั้น นอกจากเครื่องสังเค็ดถวายพระสงฆ์แล้ว ยังมีการจัดทำหนังสือ และของที่ระลึกอื่น ๆ ทั้งเข็มที่ระลึก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก [46]

ชิ้นส่วนหลังการรื้อถอน[แก้]

ภายหลังจากการถวายพระเพลิงแล้ว ชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระเมรุที่ถูกรื้อถอนบางส่วนจะนำไปถวายวัด เพื่อเป็นการกุศลแด่ผู้วายชนม์ โดยในสมัยก่อนส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ได้มักจะเป็นตัวไม้ หลัก ๆ เท่านั้น ส่วนสัตว์หิมพานต์สมัยก่อน วัดวาอารามบางวัดจะขอเก็บไว้บ้าง แต่ที่เก็บไว้ก็เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพิเศษ โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือนรูปต่าง ๆ โดยโปรดเกล้าฯให้ใช้สิ่งก่อสร้างเป็นไม้จริง ด้วยมีพระราชประสงค์ว่าครั้นเสร็จการให้รื้อพระเมรุไปสร้างเรือนคนไข้ได้จำนวน 4 หลัง ณ บริเวณวังหลัง ซึ่งต่อมาคือโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน[48]

พระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หลังเสร็จสิ้นงาน เอาไปสร้างศาลาหลังหนึ่งที่วัดปทุมวนาราม ข้างวังสระปทุม โดยเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธี ของทั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักพระราชวัง โดยส่วนที่นำไปแปรธาตุไปใช้อย่างอื่นเช่น ศาลาต่าง ๆ ทับเกษตร ราชวัติ ส่วนที่เก็บไว้เช่น ส่วนฉัตร กลีบบัว ฉัตรปรุ โครงฉัตรผ้าฉลุทอง[49]

หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาคารพระเมรุและอาคารประกอบ ถูกรื้อถอนเป็น 3 ส่วน คือส่วนแรก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานให้หน่วยงานต่าง ๆ ส่วนที่ 2 เปิดประมูล และส่วนที่ 3 เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษา เช่นชิ้นส่วน พระโกศจันทน์ รูปปั้นเทวดา สัตว์หิมพานต์[50]

ประเทศกัมพูชา[แก้]

พระเมรุมาศกัมพูชา
พระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ

รูปแบบของสถาปัตยกรรมของพระเมรุมาศหรือพระเมรุยังปรากฏพบในประเทศกัมพูชา

ทั้งสถาปัตยกรรมของพระเมรุมาศและพระราชพิธีศพของราชสำนักกัมพูชาได้มีความคล้ายคลึงกับของไทยเป็นอย่างมาก เช่น กระบวนแห่ที่ประกอบด้วยข้าราชสำนักที่สวมเครื่องแต่งกายแบบโบราณ ราชรถที่ใช้เข้ากระบวนแห่ซึ่งประดิษฐ์เป็นรูปหงส์ สัตว์ในปกรณัมฮินดู ขณะที่องค์พระบรมโกศที่บรรจุพระบรมศพ จะแตกต่างกับของไทยตรงที่เป็นโลงศพยาวสี่เหลี่ยมผืนผ้า แทนที่โกศแบบโถยอดที่มีลักษณะกลมเป็นทรงสูง

โดยพระเมรุมาศของกัมพูชาที่ประกอบพระราชพิธีครั้งล่าสุดตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ใน พ.ศ. 2556[51]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. เล่าขานงานพระเมรุ : พระเมรุมาศ พระเมรุ เมรุ
  2. "พระเมรุมาศ - พระเมรุ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-28. สืบค้นเมื่อ 2008-01-23.
  3. 3.0 3.1 สมาน สุดโต, พระเมรุมาศ พระเมรุ และ เมรุ งานสถาปัตยกรรมไทยชั้นสูง เก็บถาวร 2008-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน posttoday.com
  4. "พระเมรุมาศ," วารสารอาษา ฉบับเดือนธันวาคม 2550-มกราคม 2551 หน้า 74-81
  5. เนติ โชติช่วงนิธิ, อัญเชิญพระโกศ ออกพระเมรุ[ลิงก์เสีย] สยามรัฐ
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 ความเป็นมาและความสำคัญของพระเมรุมาศ-พระเมรุ เก็บถาวร 2008-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน phrameru.net
  7. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 15
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 "บทนำพระเมรุมาศ-พระเมรุ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-07. สืบค้นเมื่อ 2008-06-07.
  9. 9.0 9.1 พระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เก็บถาวร 2008-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน cons-mag.com
  10. ณัฐพงษ์ บุณยพรหม, "พระเมรุ"ยุคแรก เลียนแบบ"นครวัด" ข่าวสด
  11. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 18
  12. "Two Scrolls Depicting Phra Phetracha's Funeral Procession in 1704 and the Riddle of their Creation". so06.tci-thaijo.org. Barend J. Terwiel. สืบค้นเมื่อ 1 November 2021.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์), หน้า 79
  13. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 20
  14. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 21
  15. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 23
  16. งานพระเมรุ: ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง ส่วนที่ ๒ : จากอยุธยาสู่รัตนโกสินทร์[ลิงก์เสีย]
  17. พระเมรุมาศ พระเมรุ คติเทวนิยม เก็บถาวร 2008-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สยามรัฐ
  18. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง การพระเมรุพระบรมศพ, เล่ม ๒๗ ก, ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๔๓
  19. ประวัติพระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบบทสัมภาษณ์ ประเวศ ลิมปรังษี ผู้สรรค์สร้างพระเมรุกลางในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี[ลิงก์เสีย] นิตยสาร สารคดี ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 พฤษภาคม 2528
  20. สมภพ ภิรมย์, พลเรือตรี. 2528. พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ  : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
  21. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๑๐/๒๔๗๕ พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕, เล่ม ๔๙, ตอน ๐ง, ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๕, หน้า ๔๐๕๖
  22. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕, เล่ม ๔๙, ตอน ๐ง, ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕, หน้า ๔๑๘๒
  23. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 24
  24. พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เก็บถาวร 2008-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน asa.or.th
  25. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 26
  26. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 30
  27. พระเมรุ สถาปัตยกรรมแห่งความภักดี แด่องค์ขัตติยนารี พระพี่นาง เก็บถาวร 2012-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ 4 พฤศจิกายน 2551 16:21 น.
  28. รูปแบบพระเมรุ เก็บถาวร 2008-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน hrh84yrs.org
  29. พระเมรุ สถาปัตยกรรมแห่งความภักดี แด่องค์ขัตติยนารี พระพี่นาง เก็บถาวร 2012-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ 4 พฤศจิกายน 2551 16:21 น.
  30. การพระเมรุ และพระเมรุในสมเด็จภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
  31. กรมศิลป์ฯ เปิดแบบ "พระเมรุมาศ" ยึดสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
  32. พระเมรุมาศ คอลัมน์ รู้ไปโม้ด น้าชาติ ประชาชื่น
  33. 33.0 33.1 ความหมายของพระเมรุมาศพระเมรุและพระเมรุ[ลิงก์เสีย]
  34. สรุปข่าวภาค 07.00 น. วันอังคารที่ 15 มกราคม 2551 เก็บถาวร 2008-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
  35. พรประไพ เสือเขียว, ประสบการณ์สร้างพระเมรุ ผ่านคำบอกเล่า 'สุวิชญ์ รัศมิภูติ' เก็บถาวร 2008-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน dailynews.co.th
  36. 36.0 36.1 ปรัชญาการออกแบบพระเมรุมาศ เก็บถาวร 2008-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน phrameru.net
  37. พระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สถาปัตยกรรมปราสาท ศิลปกรรมไทย
  38. 38.0 38.1 ห้องสนทนา ; หลักวิศวกรรมสมัยใหม่ในพระเมรุ พระพี่นาง จากปากคำ อารักษ์ สังหิตกุล เก็บถาวร 2012-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ 4 พฤศจิกายน 2551 16:57 น.
  39. พระเมรุ พระเมรุมาศ' สง่างามสมพระเกียรติยศ เก็บถาวร 2008-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน oknation.net
  40. ความหมายของพระเมรุมาศพระเมรุและพระเมรุ[ลิงก์เสีย] เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม
  41. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 12
  42. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 50
  43. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 53
  44. พระราชพินัยกรรม (ฉบับพิสดาร) ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖. sookjai.com
  45. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 54
  46. 46.0 46.1 "เผยของที่ระลึกในงาน "พระเมรุ" สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-21. สืบค้นเมื่อ 2008-11-15.
  47. ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร, หน้า 55
  48. “ศิริราช” สถาบันการแพทย์-พยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย เก็บถาวร 2008-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน sakulthai.com
  49. รื้อพระเมรุพระพี่นาง กรมศิลป์ขอพระโกศ 19 พ.ย. 51 - 16:21 thairath.co.th (ต้องสมัครสมาชิก)
  50. "ส่วนราชรถ พระยานมาศ ชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-04. สืบค้นเมื่อ 2008-11-18.
  51. Freeman, Joe; Kunthear, Mom (1 February 2013). "A royal funeral for the ages". Phnom Penh Post. สืบค้นเมื่อ 2 October 2017.

บรรณานุกรม[แก้]

  • อรชร เอกภาพสากล, ธ เสด็จสู่สวรรค์นิรันดร.--กรุงเทพฯ : สยามหอความรู้, 2551

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]