พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร | |
---|---|
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 5 พระองค์เจ้าชั้นตรี | |
![]() | |
หม่อม | หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน |
พระมารดา | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล |
ประสูติ | 12 สิงหาคม พ.ศ. 2458 |
สิ้นพระชนม์ | 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 (65 ปี) |
ศาสตราจารย์พิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ราชบัณฑิต (12 สิงหาคม พ.ศ. 2458 – 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2524) เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล
พระราชประวัติ[แก้]
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2464 เลขประจำพระองค์ 1824 หลังจากนั้นได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษเมื่อพระชันษาได้ 8 ปี โดยเริ่มศึกษาในโรงเรียนที่เมืองอีสบอร์น (Eastbourne) ก่อน แล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนแฮร์โรว์จนจบชั้นมัธยมศึกษา จากนั้นทรงเข้าศึกษาที่นิวคอลเลจ (New College) มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ทรงสนพระทัยในวิชาวรรณคดีและโบราณคดีอย่างมาก โปรดการอ่านและการประพันธ์เป็นชีวิตจิตใจ ขณะที่ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษและมีพระชนมายุเพียง 19 ปี ทรงแปลวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ และทรงพระนิพนธ์เป็นบทละครใช้ชื่อเรื่องว่า The Magic Lotus และจัดการแสดงโดยชาวอังกฤษที่ฮัดเดอร์สฟีลด์ (Huddersfield) เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วได้เสด็จกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497[1] และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2498[2]
หลังจากนั้นทรงไปรับราชการในตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย (พ.ศ. 2510-2515) ประจำกรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา (พ.ศ. 2510-2515) และเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม ประจำราชสำนักเนปาล (พ.ศ. 2511-2512) ราชสำนักอัฟกานิสถาน (พ.ศ. 2512-2515) ราชสำนักเดนมาร์ก ณ กรุงโคเปนเฮเกน (พ.ศ. 2515-2518)
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร มีความสามารถในด้านอักษรศาสตร์ เป็นกวีและนักแปล ใช้นามปากกา "เปรมไชยา" ทรงรับราชการในตำแหน่งกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ผู้อำนวยการแผนกภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสมาคมฝรั่งเศส กรรมการแห่งคณะกรรมการว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ตามลำดับ
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 สิริพระชันษา 66 ปี ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพ ประดิษฐาน ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2524 ณ พระเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[3] และในวันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2524 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการเก็บพระอัฐิ เลี้ยงพระสามหาบ และทรงทอดผ้าไตร
ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร เสกสมรสกับหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม สารสาส)[4] บุตรีพระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2482 มีพระโอรสบุญธรรม 1 คน คือ หม่อมหลวงธีรฉัตร บุรฉัตร ซึ่งเป็นบุตรของเฟื่องฉัตร ดิศกุล พระขนิษฐาร่วมพระบิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
- หม่อมหลวงธีรฉัตร ดิศกุล สมรสกับ ยุวดี บุรฉัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม โกมารกุล ณ นคร) และ ปราณี บุรฉัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม จันทร์เวียง)
- ชนิกานดา โกมารกุล ณ นคร (ใช้นามสกุลมารดา)
- ยุพาพิน บุรฉัตร ณ อยุธยา (เปลี่ยนนามสกุล จาก โกมารกุล ณ นคร)
- ธานิฉัตร บุรฉัตร ณ อยุธยา
- วรฉัตร บุรฉัตร ณ อยุธยา
- หม่อมหลวงธีรฉัตร ดิศกุล สมรสกับ ยุวดี บุรฉัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม โกมารกุล ณ นคร) และ ปราณี บุรฉัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม จันทร์เวียง)
ตำแหน่งทางวิชาการ[แก้]
- พ.ศ. 2497 ศาสตราจารย์พิเศษประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[5]
- พ.ศ. 2498 ศาสตราจารย์พิเศษประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[6]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]
- พ.ศ. 2521 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)[7]
- พ.ศ. 2505 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[8]
- พ.ศ. 2500 –
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[9]
- พ.ศ. 2469 –
เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2493 –
เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. ไม่ปรากฎ –
เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
ต่างประเทศ[แก้]
ราชตระกูล[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ ราชกิจจานุเบกษา 30 พฤศจิกายน 2497http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/079/2664.PDF
- ↑ ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ ราชกิจจานุเบกษา 15 กุมภาพันธ์ 2498 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/D/014/327.PDF
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๑๐/๒๕๒๔ บำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุและพระราชทานเพลิงศพพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ป.จ. ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส พุทธศักราช ๒๕๒๔, เล่ม 98, ตอน 127ง, 6 สิงหาคม พ.ศ. 2524, หน้า 4
- ↑ หม่อมงามจิตต์ เมื่อสมรสใช้นามสกุล ฉัตรไชย ณ อยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ พระราชทานนาม ราชสกุล บุรฉัตร สำหรับหม่อมในพระองค์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2497/D/079/2664.PDF
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/D/014/327.PDF
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒, ๔ มกราคม ๒๕๐๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๐๗ ง หน้า ๒๙๙๗, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๗๒ ง หน้า ๕๕๙๗, ๔ ธันวาคม ๒๔๙๔
- กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ "วังหลวง". กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2549. 304 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-941-205-2
- พีระเดช อนุพงษ์ จักรพันธุ์, ม.ร.ว.. ๑๕๐ ปี สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีฯ กรมพระจักรพรรดิพงษ์. กรุงเทพฯ : กระทรวงการคลัง, 2548. 278 หน้า.
![]() |
บทความเกี่ยวกับชีวประวัตินี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2458
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2524
- พระวรวงศ์เธอ
- พระองค์เจ้าชาย
- ราชสกุลฉัตรชัย
- ศาสตราจารย์พิเศษ
- ราชบัณฑิต
- บุคคลจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นักการทูตชาวไทย
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.จ. (ฝ่ายหน้า)
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ม.
- บุคคลจากโรงเรียนเทพศิรินทร์
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ราชสกุลบุรฉัตร
- บุคคลจากเขตดุสิต
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์