อี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
คำแปล: เพลงเดินขบวนทหารกล้าและทรงธรรม (มาร์ชทหารอาสา) | |
---|---|
เพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า เพลงมาร์ชประจำกองพลที่ 200 กองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (ค.ศ. 1938–1949) | |
ชื่ออื่น | อังกฤษ: March of the Volunteers |
เนื้อร้อง | เถียน ฮั่น, ค.ศ. 1934 |
ทำนอง | เนี่ย เอ่อร์, 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1935 |
รับไปใช้ | 27 กันยายน ค.ศ. 1949 (เพลงชาติชั่วคราว)[1] 4 ธันวาคม ค.ศ. 1982 (ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ) 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 (ในฮ่องกง)[2] 20 ธันวาคม ค.ศ. 1999 (ในมาเก๊า)[3] 14 มีนาคม ค.ศ. 2004 (ฐานะตามรัฐธรรมนูญ)[4] |
อี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ (จีนตัวย่อ: 义勇军进行曲; จีนตัวเต็ม: 義勇軍進行曲; พินอิน: Yìyǒngjūn Jìnxíngqǔ; "เพลงเดินขบวนทหารกล้าและทรงธรรม"; อังกฤษ: March of the Volunteers) เดิมเป็นบทเพลงปลุกใจซึ่ง ประพันธ์เนื้อร้องโดย เถียน ฮั่น (田漢) เมื่อปี ค.ศ. 1934 และประพันธ์ทำนองโดย เนี่ย เอ่อร์ (聶耳) เมื่อปี ค.ศ. 1935 ในช่วงที่จีนแผ่นดินใหญ่ยังปกครองโดยรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ภายใต้พรรคก๊กมินตั๋ง ขณะนั้นการเมืองภายในจีนกำลังปั่นป่วนอย่างหนัก จากการแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าต่าง ๆ และเผชิญหน้ากับการรุกรานของจักรวรรดิญี่ปุ่น
เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถปฏิวัติและสถาปนารัฐจีนใหม่สำเร็จใน ค.ศ. 1949 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ใช้เพลงนี้เป็นเพลงชาติตลอดมา แม้ว่าในสมัยหนึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องเพลงนี้ก็ตาม แต่เนื้อร้องเดิมก็ยังคงได้รับความนิยมมากกว่า ภายหลังรัฐบาลจีนจึงนำเนื้อร้องเดิมที่เถียนฮั่นประพันธ์ไว้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติจีนอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งตราบจนถึงทุกวันนี้
ประวัติ
[แก้]ต้นกำเนิด
[แก้]เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1934 โดย เถียน ฮั่น ซึ่งขณะนั้นประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคก๊กมินตั๋ง เพื่อใช้เป็นเพลงประกอบบทละครเรื่องหนึ่งที่เขากำลังแต่งอยู่ในขณะนั้น เรื่องเล่าที่กล่าวขานกันทั่วไปนั้น กล่าวกันว่า เขาได้เขียนบทเพลงนี้ลงบนกดระดาษห่อใบยาสูบ หลังจากที่เขาถูกฝ่ายพรรคก๊กมินตั๋งจับกุมที่เมืองเซี่ยงไฮ้และจำคุกด้วยข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. 1935 ระหว่างนั้นเนี่ย เอ่อร์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกับเถียน ได้อ่านเนื้อเพลงดังกล่าวแล้วเกิดความฮึกเหิมในเนื้อหาของเพลง จึงได้แต่งทำนองประกอบเพลงที่เถียนแต่งไว้ และสำเร็จลงได้อย่างรวดเร็ว ผลงานชิ้นนี้ต่อมาถือเป็นผลงานประพันธ์ชิ้นสุดท้ายของเนี่ย เอ่อร์
ต่อมาเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ได้ถูกนำไปใช้ประกอบในภาพยนตร์ปลุกใจเรื่อง "Sons and Daughters in a Time of Storm" ("风云儿女") ซึ่งออกฉายเมื่อ ค.ศ. 1935 โดยมีการดัดแปลงเพลงบ้างเล็กน้อย ซึ่งเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึงปัญญาชนชาวจีนคนหนึ่งที่เดินทางออกจากเมืองเซี่ยงไฮ้เพื่อไปรบในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง เพลงนี้จึงเป็นหนึ่งในหลายบทเพลงที่โด่งดังอย่างลับ ๆ ในหมู่ประชาชนที่ต่อต้านญี่ปุ่น และมีการบันทึกลงแผ่นเสียงโดยห้างแผ่นเสียงปาเต๊ะ และจัดจำหน่ายโดยบริษัทอีเอ็มไอในปีเดียวกัน
เพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน
[แก้]เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ได้เริ่มใช้ในฐานะเพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างไม่เป็นทางการ ในการประชุมนานาชาติที่กรุงปราก เชโกสโลวาเกีย เมื่อ ค.ศ. 1949 ซึ่งขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งจะชนะสงครามกลางเมือง และได้ปกครองประเทศจีนแผ่นดินใหญ่
ในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้น เพื่อสรรหาเพลงชาติ ธงชาติ และตราแผ่นดินของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะได้สถาปนาอย่างเป็นทางการขึ้นในเวลาอันใกล้ คณะทำงานดังกล่าวได้ประกาศสรรหาเพลงชาติในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ภายในประเทศ โดยได้รับความเห็นชอบจากเหมา เจ๋อตง และเติ้ง เสี่ยวผิง สองผู้นำระดับสูงของพรรคในเวลานั้น ซึ่งผลตอบรับออกมาได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่ง
ถึงปลายเดือนสิงหาคม คณะทำงานสามารถรวบรวมเนื้อเพลงที่ส่งมาจากทั่วประเทศได้มากถึง 350 ชิ้น แต่ยังไม่ได้เนื้อเพลงที่เหมาะสม จึงต้องขอเวลาทำการรวบรวมเนื้อเพลงเพิ่มเติมอีกครั้ง กระทั่งปลายเดือนกันยายน จึงรวบรวบผลงานได้ทั้งสิ้น 632 ชิ้น จึงได้มีการเปิดประชุมเรื่องธงชาติ ตราแผ่นดิน และเพลงชาติจีนขึ้น เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1949 ในที่ประชุมนั้น หม่า ซฺวี่หลุน ได้เสนอให้เลือกเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่เป็นเพลงชาติ โดยได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วนท้นจากคณะกรรมการในที่ประชุมจำนวนมาก เนื่องจากเพลงบทนี้ มีใจความช่วงหนึ่งที่เขียนว่า "ถึงเวลาอันเป็นวิกฤตยิ่งของชนชาวจีนแล้ว” (中华民族到了最危险的时候) ซึ่งทุกคนมีความเห็นว่าเป็นประโยคที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี และเพลงนี้ก็แพร่หลายในต่างประเทศในฐานะเพลงปลุกใจชาวจีนทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว[5]
เหมา เจ๋อตง และโจว เอินไหล ยอมรับเหตุผลของที่ประชุมดังกล่าว พร้อมเสริมว่า แม้ขณะนี้ศึกในประเทศจะสงบแล้ว แต่ก็ยังต้องเผชิญกับศัตรูนอกประเทศอีก ซึ่งเพลงชาติควรทำหน้าที่สะท้อนถึงพลังและจิตวิญญาณของประชาชนในประเทศ และเนื้อเพลงเดิมก็ให้ความรู้สึกถึงความฮึกเหิม ไม่กลัวที่จะบุกไปข้างหน้าอยู่แล้ว จึงเห็นชอบใช้เนื้อเพลงเดิม ที่ประชุมจึงมีมติใช้เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่เป็นเพลงชาติจีนในวันนั้น โดยผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการจากมติสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของประเทศในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1949 และบรรเลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกในพิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949[5]
ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมและสมัยต่อมา
[แก้]ในระหว่างยุคปฏิวัติวัฒนธรรม เถียน ฮั่น ถูกจำคุกจนเสียชีวิต เนื่องจากถูก "แก๊งสี่คน" ป้ายสีว่าเป็นฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติวัฒนธรรม เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่จึงถูกห้ามขับร้อง และเพลง "ตงฟางหง" หรือ "บูรพาแดง" (The East Is Red) ซึ่งมีเนื้อหาเชิดชูการปฏิวัติของเหมา เจ๋อตง ได้แพร่หลายจนกลายเป็นเพลงชาติจีนอย่างไม่เป็นทางการในยุคนั้น ทั้งนี้ เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ได้มีการบรรเลงเพียงครั้งเดียวในงานวันชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนปีที่ 20 เมื่อ ค.ศ. 1969[6]
เพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ได้รับการฟื้นฟูฐานะอีกครั้งโดยสภาประชาชนแห่งชาติได้กำหนดเนื้อร้องฉบับใหม่ขึ้นใน ค.ศ. 1978 อย่างไรก็ตาม เนื้อร้องฉบับใหม่นี้ไม่ได้รับความนิยมและสร้างความสับสนอย่างใหญ่หลวง ตัวอย่างเช่น ในประโยคสุดท้ายของเพลงที่ว่า "高举毛泽东旗帜,前进! ("ชูธงเหมา เจ๋อตง รุกเข้า!") ซึ่งมีความหมายถึงการสืบทอดความคิดของเหมา เจ๋อตง เป็นต้น
เมื่อประเทศจีนชนะการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับโลกใน ค.ศ. 1981 ได้ปรากฏว่าผู้ชมชาวจีนได้ขับร้องเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ทั้งในเนื้อร้องเดิมและเนื้อร้องใหม่[7]
จนในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1982 สภาประชาชนแห่งชาติจึงได้ผ่านการรับรองเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่พร้อมเนื้อร้องที่เถียน ฮั่นแต่งไว้ในปี ค.ศ. 1935 ให้เป็นเพลงชาติจีนอย่างเป็นทางการ การรับรองเพลงชาติครั้งนี้มีความหมายสำคัญตรงที่เนื้อร้องฉบับเดิมนั้น ไม่เน้นความสำคัญของทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและอดีตประธานเหมา เจ๋อตง ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ถึงการสิ้นอำนาจของฮฺว่า กั๋วเฟิง พร้อม ๆ กับลัทธิบูชาบุคคลของเหมา เจ๋อตง และการก้าวขึ้นสู่อำนาจของเติ้ง เสี่ยวผิง
ในการตรารัฐธรรมนญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 2004 โดยสภาประชาชนแห่งชาติจีน เมื่อ ค.ศ. 2004 ได้มีการระบุในรัฐธรรมนูญด้วยว่าเพลงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนคือเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ โดยกล่าวไว้อย่างสั้น ๆ ถัดจากบทบัญญัติว่าด้วยธงชาติ
อนึ่ง แม้เพลงนี้จะเป็นที่นิยมของชาวจีนในยุคการปกครองของฝ่ายชาตินิยม (พรรคก๊กมินตั๋ง) ระหว่างช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น ค.ศ. 1937–1945 แต่เพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงต้องห้ามในสาธารณรัฐจีนมาโดยตลอด
เพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้บรรเลงในฮ่องกงครั้งแรก ในพิธีการส่งมอบอำนาจอธิปไตยของฮ่องกงกลับคืนสู่จีนในปี ค.ศ. 1997 และบรรเลงในมาเก๊าครั้งแรกในพิธีส่งมอบมาเก๊าเมื่อ ค.ศ. 1999
สำหรับการใช้เพลงชาติในมาเก๊านั้น เป็นไปตามกฎหมายมาเก๊าเลขที่ 5/1999 (zh:第5/1999號法律, pt:Lei de Macau 5 de 1999) ลงวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1999 มาตรา 7 ซึ่งระบุให้การบรรเลงเพลงชาติให้เป็นไปตามโน้ตเพลงซึ่งระบุในภาคผนวก 4 ของกฎหมายดังกล่าว และห้ามขับร้องเพลงนี้ด้วยเนื้อร้องอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ผู้ใดเจตนาละเมิดข้อกฎหมายดังกล่าว มีโทษทางอาญาโดยการจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือจำคุกแทนค่าปรับไม่เกิน 360 วัน ทั้งนี้ โน้ตเพลงที่อยู่ในภาคผนวก 4 นั้นมีเฉพาะเนื่อร้องภาษาจีนเท่านั้น ไม่มีการแปลเป็นภาษาโปรตุเกส แม้ว่าในมาเก๊าจะใช้ทั้งภาษาจีนและภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการก็ตาม ส่วนในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง ไม่มีการตรากฎหมายเพลงชาติไว้เป็นการเฉพาะดังเช่นในมาเก๊า
เนื้อร้อง
[แก้]เนื้อร้องดั้งเดิมและปัจจุบัน
[แก้]จีนตัวย่อ พินอิน |
จีนตัวเต็ม จู้อิน |
คำแปล |
---|---|---|
|
|
ลุกมา! ประชาผู้หาได้เป็นข้าใคร! |
สัทอักษรสากล |
---|
[t͡ɕʰi²¹⁴ laɪ̯³⁵ pu⁵¹ ɥɛn⁵¹ t͡swɔ⁵¹ nu³⁵ li⁵¹ ti⁵¹ ʐən³⁵ mən³⁵] |
เนื้อร้องช่วง ค.ศ. 1978–1982 (ไม่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ)
[แก้]จีนตัวย่อ พินอิน |
จีนตัวเต็ม จู้อิน |
คำแปล |
---|---|---|
|
|
รุกเข้า! เหล่าวีรชนของผู้คนทุกเชื้อสาย! |
สื่อ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ตามมติว่าด้วยเมืองหลวง ปฏิทิน เพลงชาติ และเพลงชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2492
- ↑ ตามผนวก 3 แห่งกฎหมายพื้นฐานของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อมติว่าด้วยเมืองหลวง ปฏิทิน เพลงชาติ และเพลงชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2492 มีผลใช้บังคับในฮ่องกงนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ด้วยการประกาศและตรากฎหมายโดยเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
- ↑ ตามผนวก 3 แห่งกฎหมายพื้นฐานของเขตบริหารพิเศษมาเก๊า เมื่อมติว่าด้วยเมืองหลวง ปฏิทิน เพลงชาติ และเพลงชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2492 มีผลใช้บังคับในมาเก๊านับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ด้วยการประกาศและตรากฎหมายโดยเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และในวันเดียวกัน กฎหมายมาเก๊าเลขที่ 5/1999 (zh:第5/1999號法律, pt:Lei de Macau 5 de 1999) ซึ่งว่าด้วยเพลงชาติโดยเฉพาะ ได้มีผลใช้บังคับด้วยเช่นกัน
- ↑ ตามมาตรา 31 แห่งรัฐธรรมนญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 2004 หมวด 4
- ↑ 5.0 5.1 เส้นทางประวัติศาสตร์ของเพลงชาติจีน เก็บถาวร 2007-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2548
- ↑ วิดีโอเพลงอี้หย่งจฺวินจิ้นสิงฉฺวี่ จากงานฉลองวันชาติจีน พ.ศ. 2492 - 2552
- ↑ Gonga.com