ดิอาเซียนเวย์
The ASEAN Way | |
เพลงชาติของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | |
ชื่ออื่น | เพลงชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
---|---|
เนื้อร้อง | พยอม วลัยพัชรา |
ทำนอง | กิตติคุณ สดประเสริฐ และสำเภา ไตรอุดม |
รับไปใช้ | 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 |
ตัวอย่างเสียง | |
"วิถีอาเซียน" (อังกฤษ: The ASEAN Way) เป็นบทเพลงประจำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างเป็นทางการ ประพันธ์ทำนองโดย กิตติคุณ สดประเสริฐ และสำเภา ไตรอุดม คำร้องโดยพยอม วลัยพัชรา จากประเทศไทย[1] เพลงนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นเพลงประจำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 จากผลงานเพลงที่เข้าประกวดทั้งหมด 99 เพลงจากชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ[2]
ประวัติ[แก้]
แนวคิดในการจัดทำเพลงประจำอาเซียน[แก้]
แนวคิดในการมีเพลงประจำอาเซียนเกิดขึ้นครั้งแรกจากการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศ ครั้งที่ 29 เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2537 โดยที่ประชุมมีความเห็นว่าอาเซียนควรจะมีเพลงประจำอาเซียน เพื่อใช้เปิดในช่วงของการจัดกิจกรรมต่างๆ ทางด้านวัฒนธรรมและสนเทศ โดยการจัดทำโครงการประกวดเพลงประจำอาเซียนนั้น ที่ประชุมมีมติให้ใช้เงินจากกองทุนวัฒนธรรมอาเซียน
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศ ครั้งที่ 29 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2540 ที่ประเทศมาเลเซีย ได้มีการพิจารณาเพลงประจำอาเซียนที่เข้าประกวดในรอบสุดท้าย โดยเพลงที่เข้ารอบในครั้งนั้นเป็นเพลงจากประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งบทเพลงที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือเพลง ASEAN Song of Unity จากประเทศฟิลิปปินส์ แต่เพลงดังกล่าวนี้ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศสมาชิก เนื่องจากได้ใช้เปิดเฉพาะในการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนช่วงต่อมามีการแต่งเพลงเพื่อใช้เปิดในที่ประชุมเป็นคราวๆ ไป
การประกวดเพลงประจำอาเซียนในปี พ.ศ. 2551[แก้]
เพื่อให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนบทที่ 40 ซึ่งระบุให้อาเซียนมีเพลงประจำอาเซียน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้มอบหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการจัดการประกวดเพลงประจำอาเซียน โดยที่ประชุมประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบให้กำหนดรูปแบบการแข่งขันเป็น open competition ทั้งนี้ อาเซียนได้มอบหมายให้สำนักเลขานุการอาเซียนในแต่ละประเทศกลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้นและจัดส่งให้ประเทศไทยภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2551
กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย ได้ดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดเพลงประจำอาเซียนระดับภูมิภาคในรอบแรก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ โดยมีกรรมการจากประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศละ 1 คน ซึ่งคณะกรรมการการประกวดได้คัดเลือกเพลงจำนวน 10 เพลงให้เข้ารอบสุดท้าย จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 99 เพลง และได้ดำเนินการประกวดรอบตัดสิน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 โดยคณะผู้ตัดสินประกอบด้วยกรรมการจากอาเซียน 10 คนในรอบแรก และจากประเทศนอกอาเซียนอีก 3 คน ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน และประเทศออสเตรเลีย โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกเพลง "The ASEAN Way" (ดิอาเซียนเวย์) ของประเทศไทย ซึ่งประพันธ์โดยกิตติคุณ สดประเสริฐ (ทำนองและเรียบเรียง) สำเภา ไตรอุดม (ทำนอง) และพะยอม วลัยพัชรา (เนื้อร้อง) ให้เป็นเพลงประจำอาเซียน
เพลงดิอาเซียนเวย์ได้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ณ โรงละครอักษรา โดยมีวงดุริยางค์ทหารเรือของกองทัพเรือไทยเป็นผู้บรรเลงเพลง และได้ใช้บรรเลงอย่างเป็นทางการในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย
หลักเกณฑ์การประกวดเพลงประจำอาเซียน[แก้]
หลักเกณฑ์การประกวดเพลงประจำอาเซียนมีดังนี้[3]
- เป็นภาษาอังกฤษ
- มีลักษณะเป็นเพลงชาติประเทศสมาชิกอาเซียน
- มีความยาวไม่เกิน 1 นาที
- เนื้อร้องสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนและความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและเชื้อชาติ
- เป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่
คณะกรรมการผู้ตัดสิน[แก้]
คณะกรรมการจากประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ[3]
ฮาจิ มานัฟ บิน ฮาจิมานัฟ จากประเทศบรูไน
ดร.แสม อั่ง แสม จากประเทศกัมพูชา
ปูร์วา จารากา จากประเทศอินโดนีเซีย
คำพัน โพนทองสี จากประเทศลาว
อายอบ อิบราฮิม จากประเทศมาเลเซีย
ทิน อู่ ท้วง จากประเทศพม่า
อากริปริโน วี. เดียสโทร จากประเทศฟิลิปปินส์
ผุน หยู เทียน จากประเทศสิงคโปร์
ฝ่าม ฮง ไฮ จากประเทศเวียดนาม
พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช จากประเทศไทย
คณะกรรมการจากประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกอาเซียน[3]
ซานดรา มิลลิเคน จากประเทศออสเตรเลีย
เปา หยวน ไค จากประเทศจีน
เคโกะ ฮาราดะ จากประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิง[แก้]
- ↑ "ASEAN Anthem THE ASEAN WAY" (PDF). asean.org. สืบค้นเมื่อ 2022-01-04.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Auto, Hermes (2018-11-15). "From socks to handwave: Some light-hearted moments from Asean Summit | The Straits Times". www.straitstimes.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-01-04.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "Change of chair will see the #Asean Anthem return to its roots" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-04.
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- ASEAN: The ASEAN Way with lyrics by the official channel of the ASEAN secretariat
- About the ASEAN Anthem (archive link)