คิมิงาโยะ
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
คิมิงาโยะ | |
โน้ตเพลงชาติญี่ปุ่น "คิมิงาโยะ" | |
เพลงชาติของ ญี่ปุ่น | |
ชื่ออื่น | ขอจงครองราชย์ยาวนานตลอดไป, แผ่นดินแห่งพระองค์ |
---|---|
เนื้อร้อง | กลอนโบราณประเภทวากะ, ยุคเฮอัง (ค.ศ. 794 – 1185) |
ทำนอง | โยชิอิซะ โอกุ อากิโมริ ฮายาชิและฟรันซ์ เอ็คเคิร์ต, ค.ศ. 1880 |
รับไปใช้ | ค.ศ. 1869 |
รับไปใช้ใหม่ | 13 สิงหาคม ค.ศ. 1999 |
เลิกใช้ | ค.ศ. 1945 |
ตัวอย่างเสียง | |
คิมิงาโยะ (บรรเลง) |
คิมิงาโยะ (ญี่ปุ่น: 君が代; โรมาจิ: Kimi ga Yo) เป็นเพลงชาติของประเทศญี่ปุ่น และนับได้ว่าเป็นเพลงชาติที่สั้นที่สุดในโลก โดยมีความยาวเพียง 11 ห้องเพลง มีตัวโน้ตเพียง 40 ตัว[1][2][3] เนื้อเพลงนั้นมาจากบทกลอนประเภทวากะในยุคเฮอังของญี่ปุ่น (ระหว่าง ค.ศ. 794 – 1185) ส่วนทำนองเพลงนั้น ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ในยุคเมจิ โดยทำนองแรกสุดนั้นประพันธ์โดยนักดนตรีชาวไอริชเมื่อ ค.ศ. 1869 ภายหลังราชสำนักญี่ปุ่นจึงเลือกใช้ทำนองเพลงใหม่ ซึ่งเรียบเรียงโดยนักดนตรีชาวญี่ปุ่น เป็นทำนองของเพลงคิมิงาโยะในปัจจุบัน เมื่อ ค.ศ. 1880
แม้ว่าเพลงคิมิงาโยะจะเป็นเพลงชาติของญี่ปุ่นโดยพฤตินัยมานานแล้วก็ตาม แต่การรับรองฐานะทางกฎหมายเพิ่งจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 1999 จากการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่นในปีนั้น ซึ่งหลังจากการผ่านกฎหมายดังกล่าว ก็ได้มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการขับร้องและบรรเลงเพลงชาติในโรงเรียนต่าง ๆ ของญี่ปุ่นขึ้น ด้วยเหตุผลเดียวกับธงฮิโนมารุอันเป็นธงชาติของญี่ปุ่น กล่าวคือ เพลงคิมิงาโยะอ้างถึงในฐานะสัญลักษณ์ของลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิทหารของญี่ปุ่น[1]
ประวัติ
[แก้]เนื้อร้องของเพลงคิมิงาโยะนั้น เดิมเป็นบทกลอนยุคเฮอังที่ไม่ทราบว่าผู้ใดแต่งไว้ ปรากฏอยู่ในหนังสือโคกินวากาชู หรือ "ประชุมบทร้อยกรองแบบวากะ" ในความเป็นจริงอาจกล่าวได้ว่า ผู้แต่งกวีบทนี้อาจเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในเวลานั้น แต่ชื่อของเขาไม่ได้รับการบรรจุไว้ในหนังสือดังกล่าว เพราะกวีผู้นั้นอาจมีฐานะทางสังคมที่ต่ำก็ได้ เพราะกวีในยุคนั้นมักจะไม่ใช่ชนชั้นสามัญชน บทกวีคิมิงาโยะนี้ปรากฏอยู่ในประชุมบทร้อยกรองหลายฉบับ และใช้ในยุคต่อ ๆ มาในลักษณะของเพลงเฉลิมฉลองของผู้คนในสังคมชั้นสูง ทั้งนี้ ตอนต้นของบทกวีดังกล่าวมีเนื้อหาต่างจากที่ใช้เป็นเพลงชาติในปัจจุบัน โดยฉบับเดิมจะขึ้นต้นว่า "วา งา คิมิ วา" ("Wa ga Kimi wa", "ท่านผู้เป็นนายแห่งข้า") เนื้อร้องของเพลงนี้ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงยุคคามากูระ (ค.ศ. 1185 – 1333) เป็น "คิมิ งา โยะ" (แปลตามตัวคือ "สมัยแห่งท่าน") ดังที่รู้จักกันทุกวันนี้[4]
ในปี ค.ศ. 1869 ในช่วงต้นของยุคเมจิ จอห์น วิลเลียม เฟนตัน (John William Fenton) ผู้นำวงโยธวาทิตชาวไอริช ซึ่งได้เดินทางมาเยือนญี่ปุ่น ได้ตระหนักว่าประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีเพลงชาติของตนเอง จึงได้แนะนำให้อิวาโอะ โอยามะ ข้าราชการชาวญี่ปุ่นแห่งแคว้นซัตสึมะ แต่งเพลงชาติขึ้น ซึ่งโอยามะก็เห็นด้วยและได้เลือกเอาบทกวีคิมิงาโยะมาใช้เป็นบทร้องของเพลงชาติ[5] เป็นไปได้ว่าที่มีการเลือกเอาบทกวีคิมิงาโยะมาใช้ เพราะเนื้อหาของเพลงคล้ายคลึงกับเพลงก็อดเซฟเดอะควีนของอังกฤษ โดยได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเฟนตัน[6] หลังจากที่ได้เนื้อร้องแล้ว โอยามะจึงร้องขอให้เฟนตันช่วยประพันธ์ทำนองเพลง เขาจึงใช้เวลาในการแต่งทำนองเพลง 3 สัปดาห์ และใช้เวลาในการซ้อมนักดนตรีในเวลาไม่กี่วัน ก่อนจะบรรเลงเพลงนี้ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1870[6] ทำนองเพลงดังกล่าวนี้คือทำนองฉบับแรกของเพลงคิมิงาโยะ ซึ่งต่อมาได้เลิกใช้ด้วยเหตุผลว่า ทำนองนี้ "ยังขาดความเคร่งขรึม"[7] อย่างไรก็ตาม เพลงคิมิงาโยะทำนองนี้ปัจจุบันยังคงมีการบรรเลงปีละครั้ง ที่ศาลเจ้าเมียวโคจิ เมืองโยโกฮามะ ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแต่เฟนตัน ผู้ได้รับหน้าที่เป็นผู้นำวงโยธาวาทิตของญี่ปุ่นประจำเมืองนี้[5]
ในปี ค.ศ. 1880 สำนักพระราชวังของญี่ปุ่นได้เลือกทำนองเพลงคิมิงาโยะใหม่ ซึ่งประพันธ์โดย โยชิอิซะ โอกุ และอากิโมริ ฮายาชิ ผู้ประพันธ์เพลงอีกคนหนึ่งที่มักได้รับการกล่าวถึงรวมอยู่ในกลุ่มผู้แต่งทำนองนี้ด้วย คือ ฮิโรโมริ ฮายาชิ ซึ่งเป็นผู้ดูแลงานของทั้งสองคน และยังเป็นพ่อของ อากิโมริ ฮายาชิ อีกด้วย ทั้งนี้ ตัวอากิโมริเองก็เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของเฟนตันด้วย[6] แม้ทำนองใหม่นี้จะมีพื้นฐานจากทำนองเพลงของราชสำนักโบราณก็ตาม แต่ก็มีการผสานเข้ากับดนตรีประเภทเพลงสรรเสริญ (hymn) ของชาติตะวันตก และใช้บางส่วนที่เฟนตันได้เรียบเรียงไว้แต่เดิมด้วย[8] โดยฟรันซ์ เอ็คเคิร์ต (Franz Eckert) นักดนตรีชาวเยอรมัน ได้ปรับปรุงทำนองเพลงนี้ให้มีความกลมกลืนแบบตะวันตกมากยิ่งขึ้น นับได้ว่าเป็นการแต่งเพลงคิมิงาโยะฉบับที่ 2 และเป็นฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1893 เป็นต้นมา เพลงคิมิงาโยะบรรจุให้ใช้ในพิธีการของโรงเรียนรัฐบาลด้วยการผลักดันของทางกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น[4] เพลงนี้บรรเลงด้วยบันไดเสียง ซี เมเจอร์[1]
เนื้อร้อง
[แก้]เนื้อร้องปัจจุบัน
คันจิ | ฮิรางานะ | โรมาจิ[7] | ถอดเป็นสัทอักษรสากล | ถอดเสียงเป็นอักษรไทย |
---|---|---|---|---|
君が代は |
きみがよは |
Kimigayo wa |
[ki.mi.ɡa.jo ɰa] |
คิมิ งา โยะ วา |
คำแปล
[แก้]แปลตามศัพท์ | คำแปลภาษาไทย | คำอธิบาย |
---|---|---|
รัชสมัยของพระองค์
(ขอให้ยืนยาว) จนถึงพันปี แปดพันปี ของหินก้อนกรวด กลายเป็นหินผา จนกระทั่งตะไคร่ (มอสส์) เกิดขึ้น |
ขอแผ่นดินพระจักรพรรดิ
ยืนหยัดชั่วพันวษา ตราบกว่ามวลกรวดทราย กลายเป็นหินผาพ้น เกิดก่อตะไคร่ล้น เขียวขจี |
ขอให้รัชสมัยแห่งองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ
คงอยู่อย่างมั่นคง ยาวนานนับเนื่องกว่าพันปี ดุจก้อนกรวดเล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น รวมตัวกันจนกลายเป็นหินผาขนาดใหญ่ ปกคลุมด้วยตะไคร่ที่เขียวชอุ่ม |
หมายเหตุ:
- บริบทของการแปลเป็นภาษาไทยในที่นี้ เป็นการตีความคำ "คิมิ" (Kimi) ว่าหมายถึงสมเด็จพระจักรพรรดิโดยตรง
- บทแปลภาษาไทยเทียบแปลตามหลักฉันทลักษณ์ไทยแบบร่าย
- ตะไคร่ ในบริบทของประเทศญี่ปุ่นคือ มอสส์
ความหมายของ "คิมิ" และ "คิมิงาโยะ"
[แก้]การตีความแบบดั้งเดิม
[แก้]นับตั้งแต่สมัยเฮอังหรือในสมัยก่อนหน้า คำว่า "คิมิ" ใช้ในลักษณะดังต่อไปนี้
- ใช้เป็นคำนามเพื่อแทนตัวพระจักรพรรดิหรือขุนนางชนชั้นสูงผู้ใดผู้หนึ่ง ความหมายตรงกับคำว่า master ในภาษาอังกฤษ[9][10] (ในกรณีนี้ถ้าหมายถึงพระจักรพรรดิควรแปลว่า ฝ่าบาท ถ้าหมายถึงขุนนางควรแปลว่า นายท่าน)
- ใช้เป็นคำแสดงความยกย่องต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือใช้คำนี้ต่อท้ายชื่อเพื่อเป็นชื่อชี้เฉพาะบุคคล[9] ตัวอย่างเช่น ฮิการุ เง็งจิ (ญี่ปุ่น: 光源氏; Hikaru Genji) ตัวละครเอกในงานเขียนเรื่องตำนานเก็นจิ มีชื่อที่เรียกในเรื่องว่า "ฮิการุโนคิมิ" (光の君; Hikaru no Kimi)
การตีความในปัจจุบัน
[แก้]ตามรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ซึ่งได้ตราไว้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นไม่ทรงมีฐานะเป็นองค์อธิปัตย์ แต่ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ
ในปี ค.ศ. 1999 ระหว่างการพิจารณากฎหมายว่าด้วยธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่น มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายอย่างเป็นทางการของคำว่า "คิมิ" และ "คิมิงาโยะ" อยู่หลายครั้ง ในวันที่ 29 มิถุนายนของปีนั้น นายกรัฐมนตรีเคโซ โอบูจิ จึงได้เอ่ยถึงนิยามของทั้งสองคำไว้ดังนี้
"คิมิ" หมายถึงองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ ผู้ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ และพระราชสถานะของพระองค์นั้นได้มาจากฉันทามติของมหาชนชาวญี่ปุ่นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย และวลี "คิมิงาโยะ" หมายถึงรัฐของเรา ซึ่งก็คือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิได้ทรงขึ้นครองราชย์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของชนในรัฐ โดยฉันทามติของมหาชนชาวญี่ปุ่น นี่จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลในการใช้บทร้อง "คิมิงาโยะ" เพื่อแสดงความหมายถึงความปรารถนาให้ชาติของเราดำรงไว้ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขชั่วกาลนาน[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 JUN HONGO (of The Japan Times) (2007-07-17). "Hinomaru, 'Kimigayo' express conflicts both past and future". The Japan Times ONLINE. The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 2007-07-26.
- ↑ "イギリス生活情報週刊誌-英国ニュースダイジェスト". สืบค้นเมื่อ 2008-10-16.
- ↑ NAITO, T. (October 1999). "「歌唱(ウタ)」を忘れた「君が代」論争". Bungeishunjū. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-12. สืบค้นเมื่อ 2008-10-16.
- ↑ 4.0 4.1 Mayumi Itoh (July 2001). "Japan's Neo-Nationalism: The Role of the Hinomaru and Kimigayo Legislation". JPRI WORKING PAPER. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-02. สืบค้นเมื่อ 2009-10-29. Published by Japan Policy Research Institute. สืบค้นเมื่อ 2007-07-07.
- ↑ 5.0 5.1 Aura Sabadus (2006-03-14). "Japan searches for Scot who modernised nation". The Scotsman. Published by Johnston Press Digital Publishing. สืบค้นเมื่อ 2007-12-10.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Colin Joyce (2005-08-30). "Briton who gave Japan its anthem". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-27. สืบค้นเมื่อ 2021-08-14. Telegraph.co.uk เก็บถาวร 2000-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Published by Telegraph Media Group Limited. สืบค้นเมื่อ 2007-12-10.
- ↑ 7.0 7.1 Ministry of Foreign Affairs (May 2008). "NATIONAL FLAG AND ANTHEM" (PDF). Japan Fact Sheet.[ลิงก์เสีย] Site "Web Japan" sponsored by the Ministry of Foreign Affairs. สืบค้นเมื่อ 2008-05-10.
- ↑ Hermann Gottschewski: "Hoiku shōka and the melody of the Japanese national anthem Kimi ga yo", in: Journal of the Society for Research in Asiatic Music (東洋音楽研究), No. 68 (2003), pp. (1)-(17). Published by The society for Research in Asiatic Music เก็บถาวร 2009-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ 9.0 9.1 新村出記念財団(1998). A dictionary of Japanese 『広辞苑』 ("Kōjien"), 5th edition. Published by Iwanami Shoten, Publishers.
- ↑ "君が代の源流 (in Japanese)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-29. สืบค้นเมื่อ 2010-06-01. "Inside "Kimigayo" (in English)". Furuta's Historical Science Association. สืบค้นเมื่อ 2008-05-10.
- ↑ The House of Representatives (1999-06-29). "Info of the minutes (in Japanese) of the plenary session No.41 of the House of Representatives in the 145th Diet term". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-11. สืบค้นเมื่อ 2010-06-01. Database run by National Diet Library. สืบค้นเมื่อ 2008-05-10.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Web-Japan.org National Flag and Anthem[ลิงก์เสีย]
- About.com Japanese national anthem - Kimigayo