ข้ามไปเนื้อหา

ประวัติศาสตร์จีน

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เขตพื้นที่ของราชวงศ์ต่าง ๆ ตามประวัติศาสตร์ของจีน
เส้นเวลาของประวัติศาสตร์จีน

ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอารยธรรมยาวนานที่สุดประเทศหนึ่ง โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถค้นคว้าได้บ่งชี้ว่าอารยธรรมจีนมีอายุถึง 5,000 ปี

รากฐานที่สำคัญของอารยธรรมจีนคือ การสร้างระบบภาษาเขียน ในยุคราชวงศ์ฉิน (ศตวรรษที่ 58 ก่อน ค.ศ.) ให้เป็นภาษากลางใช้ได้ทั่วประเทศ เป็นครั้งแรกในโลก (ไม่ว่าชนเผ่าใด ๆ จะพูดต่างกัน สำเนียงต่างกัน แต่ใช้ตัวเขียนเหมือนกัน) และการพัฒนาแนวคิดลัทธิขงจื๊อ เมื่อประมาณ ศตวรรษที่ 2 ก่อน ค.ศ. ประวัติศาสตร์จีนมีทั้งช่วงที่เป็นปึกแผ่นและแตกเป็นหลายอาณาจักรสลับกันไป ในบางครั้งก็ถูกปกครองโดยชนชาติอื่น เช่น มองโกล แมนจู ญี่ปุ่น วัฒนธรรมของจีนมีอิทธิพลอย่างสูงต่อชาติอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย และในสังคมโลก

ยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดนักว่าเริ่มต้นเมื่อไร แต่จากการขุดพบวัตถุโบราณตามลุ่มแม่น้ำฉางเจียงและแม่น้ำหวง แบ่งช่วงเวลานี้ออกได้เป็นสังคมสองแบบ แบบแรกเป็นช่วงที่ผู้หญิงเป็นใหญ่เรียกว่าช่วงวัฒนธรรมหย่างเฉา และช่วงที่ผู้ชายเป็นใหญ่เรียกว่าวัฒนธรรมหลงชาน ตำนานเล่ากันว่าบรรพบุรุษจีนมีชื่อเรียกว่า หวางตี้ และ เหยียนตี้

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ยุคหินเก่า

จีนเป็นดินแดนที่มนุษย์อาศัยเป็นเวลานานที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย หลักฐานที่พบคือมนุษย์หยวนโหม่ว (元谋人:Yuánmóu rén) มีอายุประมาณ 1,700,000 ปี ล่วงมาแล้ว ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1965 ที่มณฑลยูนนาน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และ พบโครงกระดูกมนุษย์ปักกิ่ง (北京人:Běijīng rén) มีอายุประมาณ 700,000 ปี - 200,000 ปี ล่วงมาแล้ว ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1929 ที่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของปักกิ่ง (北京西南周口店龙骨山山洞里) และ พบหลักฐานมนุษย์ถ้ำ (山顶洞人:Shāndǐngdòng rén)มีอายุประมาณ 18,000 ปี ล่วงมาแล้ว ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1930 ที่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของปักกิ่ง (北京西南周口店龙骨山顶部的山洞里)

ยุคหินกลาง

ยุคหินกลาง มีอายุประมาณ 10,000 ปี - 6,000 ปีล่วงมาแล้ว ใช้ชีวิตกึ่งเร่ร่อน ไม่มีการตั้งหลักแหล่งถาวร มีการพบเครื่องถ้วยชาม หม้อ มีการล่าสัตว์ เก็บอาหาร เครื่องมือหินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ หินสับ ขูด หัวธนู

ยุคหินใหม่

ยุคหินใหม่ในบริเวณประเทศจีนปัจจุบัน มีอายุในช่วงประมาณ 6,000 ปี - 4,000 ปีล่วงมาแล้ว เริ่มตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชน รู้จักเพาะปลูกข้าวฟ่าง เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า ปลูกบ้านมีหลังคา ในยุคหินใหม่นี้มีมนุษย์ทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีความประณีตและแข็งแกร่งมากขึ้น ตกแต่งเขียนลายสีและขัดมันผิว

ยุคโลหะ

มีอายุประมาณ 4,000 ปีล่วงมาแล้ว หลักฐานที่เก่าสุดคือมีดทองแดง แล้วยังพบเครื่องสำริดเก่าที่สุด ซึ่งนำมาใช้ทำภาชนะต่าง ๆเช่น ที่บรรจุไวน์ กระถาง กระจกเงา มีขนาดใหญ่และสวยงาม มากโดยเฉพาะสมัยราชวงศ์ซาง และ ราชวงศ์โจว

ยุคโบราณ

เป็นที่เล่าขานสืบทอดกันมาในหมู่ชาวจีนว่า ตนเองเป็นลูกหลาน เหยียนตี้ และ หวงตี้ (炎帝子孙:Yándì zǐsūn) เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว และยังเชื่อเช่นนั้นจวบจนปัจจุบัน

ราชวงศ์เซี่ย (夏朝:Xià cháo) (2100-1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

เขตแดนราชวงศ์เซี่ย

เล่ากันว่า ในสมัยเหยา (尧:Yáo) นั้น แม่น้ำหวงเหอ (黄河:Huánghé) เกิดอุทกภัยน้ำหลากเข้าทำลายบ้านเมือง ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพไปอาศัยอยู่บนต้นไม้หรือบนยอดเขาเท่านั้น ซึ่งภายหลังพระเจ้าอวี่ (禹:Yǔ) ใช้เวลา 13 ปีในการแก้ปัญหาอุทกภัยนี้สำเร็จ และได้รับขนานนามว่า ต้า-ยวี่ “大禹” (Dà yǔ)

ปกครองจีนในช่วง 2100-1600 ปีก่อนคริสตกาล (1557-1057 ปีก่อน พ.ศ.) มีอำนาจอยู่แถบมณฑลชานซีในปัจจุบัน ใกล้แม่น้ำหวง กษัตริย์เซี่ยองค์แรกคือ พระเจ้าอวี่ เริ่มประเพณีการสืบราชสมบัติตามสายโลหิต ในระยะแรกสืบจากพี่มาสู่น้อง สมัยราชวงศ์เซี่ยนี้ มีหลักฐานว่าผู้ปกครองมักเป็นหัวหน้าทางศาสนาหรือมีหน้าที่ทำปฏิทินด้วย แต่ต่อมาความสำคัญทางศาสนาหรือความเชื่อเรื่องนี้เสื่อมลงไป

เมื่อพระเจ้าอวี่ขึ้นครองราชย์และสถาปนาราชวงศ์นี้ ในปีที่ 2070 ก่อนคริสตกาล ยังยึดหลักการสละราชบัลลังก์ตามแบบประเพณีนิยมของพระเจ้าเหยาและพระเจ้าซุ่นแก่ผู้ที่มีความสามารถ โดยเตรียมให้ อี้ ผู้ช่วยรับช่วงสืบราชสมบัติ แต่หัวหน้าเผ่าต่าง ๆ สนับสนุน ฉี่ โอรสของพระเจ้าอวี่ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณธรรมและมีความสามารถอีกคนหนึ่ง จึงได้สืบทอดอำนาจต่อจากพระบิดา ด้วยการสถาปนาราชวงศ์เซี่ยขึ้น นับเป็นครั้งแรกที่ตำแหน่งเจ้าผู้ครองราชย์เป็นการสืบสันตติวงศ์ โดยการสืบทอดสมบัติจากพ่อสู่ลูก พี่สู่น้องไปเรื่อย ๆ การสืบทอดแบบนี้ทำให้เกิดลักษณะการปกครองประเทศด้วยวงศ์สกุลเดียวขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศจีน

ราชวงศ์เซี่ยมีประวัติยาวนานเกือบ 500 ปี มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 17 องค์ จนกระทั่งพระเจ้าเจี๋ย (桀:Jié) ซึ่งมีนิสัยโหดร้าย ไร้คุณธรรม จึงเป็นที่เกลียดชังของประชาราษฎร์ ผู้นำเผ่าซาง ชื่อ ทัง ผนึกกำลังกับเผ่าต่าง ๆ ทำสงครามขับไล่พระเจ้าเจี๋ยและเอาชนะได้ที่ หมิงเถียว (ตั้งอยู่บริเวณใกล้เมืองไคฟง มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) พระเจ้าเจี๋ยหนีและสิ้นพระชนม์ที่หนานเฉา (อำเภอเฉาเซี่ยน มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ราชวงศ์เซี่ยจึงล่มสลายอย่างสมบูรณ์

ราชวงศ์ซาง (商朝:Shāng cháo) (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

เขตแดนราชวงศ์ซาง

ราชวงศ์ซางมีอำนาจอยู่ประมาณ 550 ปี คือ ตั้งแต่ 1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช (1057-503 ปีก่อน พ.ศ.) ในช่วงนี้เริ่มมีการก่อตั้งกองทหาร, ข้าราชการและมีการลงโทษตามกฎหมาย มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 31 พระองค์ เมื่อพระเจ้าเจี๋ยแห่งราชวงศ์เซี่ยซึ่งไร้คุณธรรมสร้างความเกลียดชังแก่คนทั้งแผ่นดินเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิชอบพฤติกรรมของพระองค์ รวมตัวกันเป็นกองกำลังเพื่อต่อต้านการปกครองของเจ้าแผ่นดิน ทัง มีอำนาจอยู่แถบเมืองซางได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ จึงใช้กำลังพลและอาวุธโค่นล้มการปกครองของราชวงศ์เซี่ย แล้วสถาปนาราชวงศ์ซางขึ้น โดยตั้งเมืองหลวงที่ เมืองปั๋ว (อำเภอเฉาเซี่ยน มณฑลซานตงปัจจุบัน) เนื่องจากทังเป็นชนชั้นสูงในราชวงศ์เซี่ยมาก่อน จึงถือว่าเป็นการปฏิวัติของชนชั้นสูงครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน นอกจากนั้นยุคนี้ยังเริ่มมีการใช้ภาชนะสำริดอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะประเภท ถ้วยสุรา มีดวงพระจันทร์ กลองสำริด ซึ่งมีการขุดค้นพบเป็นหลักฐานกันมาก

การครองราชย์ช่วงแรกของพระเจ้าซางทังและทายาท บ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุขจนกระทั่งไปถึงพระเจ้าโจวหวัง (纣王:Zhòu wáng) ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์นี้เป็นผู้เหี้ยมโหด ขูดรีดเงินทองจากราษฎรอย่างหนักเพื่อสร้างอุทยานแห่งใหม่ “酒池, 肉林” (Jiǔ chí,ròu lín) (สระสุรา, ป่านารี) และลงโทษทัณฑ์แก่ผู้ต่อต้านนโยบายหรือสร้างความขัดเคืองใจด้วยการประหารชีวิต เหล่าขุนนางเสพสุขบนความทุกข์ของราษฎรโดยเจ้าแผ่นดินไม่เหลียวแล จึงสร้างแรงกดดันและเกิดการรวมตัวของ (นาจา เจียงจื่อหยา เอ้อหลางฯ) และ พวกเผ่าโจวซึ่งอาศัยบนที่ราบสูงและมีกำลังเข้มแข็ง โดยผู้นำ ชื่อ จีฟา ได้รวมกำลังพลกับเผ่าอื่นที่ประสบความเดือดร้อนเพื่อโจมตีกองทัพของพระเจ้าโจ้วหวังซึ่งแตกพ่ายแพ้ยับเยินที่ มู่เหยีย พระเจ้าโจ้วหวังต้องฆ่าตัวตายด้วยการเผาตัวเอง ราชวงศ์ซางจึงล่มสลายลงแล้วสถาปนาราชวงศ์โจวปกครองแผ่นดินแทนราชวงศ์ซางเมื่อประมาณ 1046 ปีก่อนคริสตกาล

ราชวงศ์โจว (周朝:Zhōu cháo) (1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

เขตแดนราชวงศ์โจว

นักประวัติศาสตร์จีนแบ่งราชวงศ์โจวออกเป็น ราชวงศ์โจวตะวันตก และ ราชวงศ์โจวตะวันออก ซึ่งมีระยะครองแผ่นดินต่อเนื่องกัน 790 ปี (ยาวนานที่สุดในจีน) แต่มีการย้ายเมืองหลวงหลังจากแพ้ชนะกัน จึงแบ่งราชวงศ์นี้ด้วยทิศทางของเมืองหลวงเป็นหลัก

ราชวงศ์โจวตะวันตก (1046-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

เผ่าโจวเป็นเผ่าเก่าแก่และใช้แซ่ จี โดยอาศัยแถบลุ่มน้ำเว่ยเหอ ต่อมาย้ายถิ่นไปอยู่ ฉีซาน (ด้านเหนืออำเภอฉีซาน มณฑลฉ่านซีปัจจุบัน) ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้านการเพาะปลูกมากกว่า แล้วเรียกตนเองว่า ชาวโจว ผู้นำเผ่าทุกรุ่นต่างปรับปรุงโครงสร้างเผ่า ก่อสร้างบ้านเรือน และกำหนดตำแหน่งขุนนาง ทำให้มีลักษณะของชาติรัฐชัดขึ้น เมื่อผู้นำนามว่า จีฟา ทำลายราชวงศ์ซางสำเร็จแล้ว จึงสถาปนาราชวงศ์โจวขึ้นปกครองแผ่นดิน และเปลี่ยนพระนามเป็น พระเจ้าโจวอู่หวัง แล้วสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ เมืองเฮ่า (ด้านตะวันตกอำเภอฉางอาน มณฑลฉ่านซีปัจจุบัน) นักประวัติศาสตร์เรียกแผ่นดินโจวช่วงนี้ว่า ราชวงศ์โจวตะวันตก นอกจากนั้นยังริเริ่มปูนบำเหน็จความชอบด้วยที่ดินและทรัพย์สินแก่ขุนนางซึ่งสร้างความชอบแก่แผ่นดินหรือเจ้าแผ่นดินเป็นครั้งแรกด้วย

ราชวงศ์โจว ตราระบบสืบสายวงศ์ขึ้นใช้อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก โดยกำหนดว่า ตำแหน่งกษัตริย์หรือเจ้านครรัฐต่าง ๆ ต้องสืบทอดเฉพาะบุตรคนโตของภรรยาเอกเท่านั้น บุตรที่เหลือจะรับการแต่งตั้งในตำแหน่งต่ำลงไป การสืบทอดชัดเจนนี้สร้างความมั่นคงแก่ราชวงศ์ยิ่งขึ้น

เมื่อล่วงถึงสมัยของพระเจ้าโจวโยวหวัง เมืองเฮ่าซึ่งเป็นเมืองหลวงเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรง เกิดโรคระบาด ประชาชนลำบากยากแค้นโดยกษัตริย์ไม่สนใจไยดี กลับลุ่มหลงสุรานารีและความบันเทิงหรูหรา ส่วนขุนนางประจบสอพลอ ไม่ทำงานตามหน้าที่ ทำให้เจ้านครรัฐบางคนรวมตัวกับชนเผ่าฉวี่ยนหรงเข้าโจมตีและปลงพระชนม์กษัตริย์ ถือเป็นจุดสิ้นสุดอาณาจักรโจวตะวันตก

ยุคชุนชิว (春秋:Chūnqiū) (770-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

春秋五霸 (Chūnqiū wǔ bà) มี 5 นคร คือ 齐桓公(Qí huángōng),宋襄公(Sòng xiānggōng),晋文公(Jìn wéngōng),秦穆公 (Qín mùgōng) และ 楚庄王(Chǔ zhuāng wáng) หลังจากอาณาจักรโจวตะวันตกของพระโจวโยวหวังล่มสลายลงโดยความร่วมมือของเจ้านครรัฐบางคนกับเผ่าเฉวี่ยนหรงแล้ว พวกเขาสถาปนารัชทายาท อี้จิ้ว ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ทรงพระนามว่า พระเจ้าโจวผิงหวัง แล้วย้ายไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่ เมืองลั่วอี้ เนื่องจากเมืองเฮ่าได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้อย่างมาก นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงการครองอำนาจของราชวงศ์นี้ว่า ยุคชุนชิว (Spring and Autumn Period) ซึ่งมีสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ของเจ้านครรัฐต่าง ๆ เป็นระยะเพื่อความเป็นเจ้าผู้นำนครรัฐ ยุคนี้เริ่มต้นในปี 770 ก่อน ค.ศ. (227 ปีก่อน พ.ศ.) รัชสมัยพระเจ้าโจวผิงหวัง ถึง ปี 476 ก่อน ค.ศ. (พ.ศ. 67) หรือปีที่ 44 สมัยพระเจ้าโจวจิ้งหวัง

ยุคเลียดก๊ก (战国七雄:Zhànguó qīxióng)

ต้นยุคชุนชิวแผ่นดินจีนมีประมาณสองร้อยนครรัฐ แต่สงครามแย่งชิงอำนาจหรือแผ่ขยายอิทธิพลต่างผนวกดินแดนต่าง ๆ เข้ากับรัฐผู้ชนะจนกระทั่งเหลือเพียงรัฐใหญ่ เจ็ดรัฐมหาอำนาจในตอนปลายยุคชุนชิวนักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า เจ็ดมหานครรัฐแห่งยุคจั้นกั๋ว ได้แก่ รัฐฉี (齐:Qí), รัฐฉู่ (楚:Chǔ), รัฐเยียน (燕:Yàn), รัฐหาน (韩:Hán), รัฐเจ้า (赵:Zhào), รัฐเว่ย (魏:Wèi), และรัฐฉิน (秦:Qín) ยุคสมัยนี้มีสงครามดุเดือดระหว่างรัฐต่อเนื่อง รัฐฉินกับรัฐฉีได้รับการขนานนามเป็นสองรัฐมหาอำนาจฟากตะวันออกและฟากตะวันตก ซึ่งถือเป็นดุลอำนาจต่อกัน ยุคนี้สิ้นสุดโดยการขึ้นครองอำนาจของ อิ๋งเจิ้ง แห่งรัฐฉิน หรือที่รู้จักกันในนาม ฉินสื่อหวงตี้ (พระเจ้าฉินสื่อหวงตี้) โดยถือเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีน

สมัยราชวงศ์และจักรวรรดิ

ราชวงศ์ฉิน (221-206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) จีนยุคจักรวรรดิ

เขตแดนราชวงศ์ฉิน

นักประวัติศาสตร์นิยมเรียกประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ ราชวงศ์ฉิน ถึง ราชวงศ์ชิง ว่าเป็นจีนยุคจักรวรรดิ ถึงแม้ว่าราชวงศ์ฉินจะมีอายุเพียงแค่ 12 ปี แต่พระองค์ได้วางรากฐานสำคัญของอารยธรรมชนเผ่าฮั่นไว้เป็นจำนวนมาก เมืองหลวงตั้งอยู่ที่เสียนหยาง (咸陽) (บริเวณเมืองซีอานปัจจุบัน)

จิ๋นซีฮ่องเต้ต้องการบังคับประชาชนให้ใช้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้การรวมประเทศสมบูรณ์ จึงเลือกใช้วิธีค่อนข้างบีบคั้นและรุนแรงด้วยการประหารเหล่าปัญญาชนที่ต่อต้านคำสั่งของพระองค์และสานุศิษย์ขงจื๊อ นอกจากนั้นยังออกคำสั่งเผาหนังสือในความครอบครองของขุนนางและชาวบ้านซึ่งมิใช่มาตรฐานของพระองค์ทั้งหมด แล้วเร่งเผยแพร่มาตรฐานของแผ่นดินโดยเร็ว

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของราชวงศ์ฉินคือ กำแพงเมืองจีน ซึ่งเป็นการต่อแนวกำแพงเก่าให้เป็นปึกแผ่น ฉินซีฮ่องเต้สร้างแนวปกกันพวกป่าเถื่อนจากทางเหนือโดยการสร้างกำแพงต่อเชื่อมกำแพงเดิมที่อยู่เดิม จากการก่อสร้างของรัฐต่าง ๆ สมัยจ้านกั๊ว การก่อสร้างนี้ทำให้กลายเป็นกำแพงขนาดยาวนับหมื่นลี้ จึงเรียกกำแพงนี้ว่า “กำแพงหมื่นลี้” ผลงานอื่น ๆ ได้แก่ระบบกฎหมาย การเขียนหนังสือ ระบบเงินตรา เป็นต้น

ฉินซีฮ่องเต้เปิดศึกกับกษัตริย์ของรัฐ ทั้ง 6 ประเทศในแม่น้ำหวง คือ หาน (韩) จ้าว (赵) เว้ย (魏) ฉู่ (楚) เยียน (燕) และฉี (齐) ในที่สุดการผนึกรวมรัฐต่าง ๆ เป็นมหาอำนาจทางทหาร เศรษฐกิจ สังคม กล่าวคือมีการใช้ภาษาเขียนภาษาเดียวคือจีน มาตราชั่งตวง วัด การเงิน เป็นหน่วยเดียวกันทั่วประเทศ มีระบบความกว้างของถนนกว้างสำหรับรถม้า 2 คันสวนกันได้ทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่กำแพงเมืองจีน อนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน จากเดิมที่ดินทั้งหมดเป็นของพระราชา ฉิน หาน จ้าว เว้ย ฉู่ เยียน และฉี ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จและการปกครองแบบรวบอำนาจที่ศูนย์กลาง (ยกเลิกระบบอ๋อง (กษัตริย์) ครองประเทศราช)

หลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคต เกิดความวุ่นวายขึ้นในราชวงศ์ ทำให้เกิดกบฏมากมาย หลิวปังสามารถรบชนะราชวงศ์ฉินได้ แต่เซี่ยงอี้ถือโอกาศยึดอำนาจ แต่หลิวปังก็รบชนะได้และสถาปนาราชวงศ์ฮั่น

ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช - ค.ศ. 220)

เขตแดนของราชวงศ์ฮั่น

เมื่อเล่าปังเอาชนะเซี่ยงอี่สำเร็จ จึงสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฮั่นอันยิ่งใหญ่และยาวนาน มีพระนามว่า สมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นเกาจู โดยตั้งเมืองหลวงที่ ฉางอาน (ใกล้บริเวณเมืองซีอาน มณฑลฉ่านซีปัจจุบัน) แล้วเรียกชื่อประเทศว่า อาณาจักรฮั่น นักประวัติศาสตร์จีนแบ่งยุคสมัยของราชวงศ์ฮั่นเป็นสองยุคตามที่ตั้งของเมืองหลวง คือ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (เริ่มต้นโดยพระเจ้าฮั่นเกาจู่) โดยมีราชวงศ์ซินของอองมังมาคั่นเป็นระยะสั้น ๆ ก่อนที่จะเกิดการฟื้นฟู ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (เริ่มต้นที่พระเจ้าฮั่นกวงอู่) โดยย้ายนครหลวงไปที่เมืองลั่วหยาง

ราชวงศ์ซิน (ค.ศ. 9-23)

ราชวงศ์ซิน มีเป็นราชวงศ์สั้น ๆ ผู้ก่อตั้ง คือ อองมัง ทรงได้อำนาจมาจากการปฏิวัติโค่นล้มจักรพรรดิฮั่น เมื่อเสด็จสวรรคต ราชวศ์ฮั่นก็ฟื้นฟูกลับขึ้นมาอีกครั้ง

ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 23-220)

ราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์ที่ถูกกู้ขึ้นมา หลังถูกอองมังยึดอำนาจ เป็นราชวงศ์ฮั่นดังเดิม แต่ย้ายเมืองหลวงไปลั่วหยาง

ช่วงเสื่อมของฮั่นตะวันออก เกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลือง (黃巾之亂) ขึ้นใน ค.ศ. 184 (พ.ศ. 727) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคขุนศึก หลังจากนั้นได้มีอาณาจักรสามแห่งตั้งประชันกัน โดยเรียกว่า ยุคสามก๊ก เป็นที่มาของวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก

เนื่องจากความเจริญของชนชาติจีนในยุคราชวงศ์ฮั่น คนจีนจึงเรียกตัวเองว่าเป็น "ชาวฮั่น" สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220-280)

เป็นยุคที่แผ่นดินจีนแตกออกเป็น สามก๊ก โดยมีจ๊กก๊กของ เล่าปี่, วุยก๊กของ โจโฉ และง่อก๊กของ ซุนกวน ทั้งสามก๊กต่างก็ทำสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ในแผ่นดินจีน

โดยจุดเริ่มต้นของการแตกแยกเป็นสามก๊ก มีเค้ารางเริ่มจากการกบฏของโจรโพกผ้าเหลือง ทำให้ราชวงศ์ฮั่นอ่อนแอลง ตั๋งโต๊ะซึ่งเป็นแม่ทัพชายแดนจึงเข้ามาควบคุมอำนาจในเมืองหลวง นำไปสู่การแตกแยกกันของเหล่าขุนศึกทั่วสารทิศ และทำศึกสงครามต่อเนื่องกันตั้งแต่ ค.ศ. 189 ซึ่งในช่วงเวลานี้ มีเหล่าขุนศึก ขุนพล ขุนนาง และเสนาธิการที่ปรึกษาที่เก่งกล้า สร้างชื่อเสียงในการทำสงครามและการปกครองเป็นจำนวนมาก อาทิ กวนอู เตียวหุย จูล่ง จูกัดเหลียง ลิโป้ ซุนฮก กุยแก กาเซี่ยง สุมาอี้ ซุนเซ็ก จิวยี่ โลซก ลิบอง ฯลฯ

ต่อมา พระเจ้าเหี้ยนเต้ ถูกบุตรชายโจโฉขับออกจากบัลลังก์ แผ่นดินจีนแตกออกเป็น 3 แคว้นอย่างชัดเจน[1] แต่หลังจากทั้งสามก๊กทำสงครามแย่งชิงดินแดนกัน สุมาอี้ ขุนนางและแม่ทัพใหญ่ของวุยก๊ก ก็ได้เข้ายึดอำนาจการบริหารในวุยก๊กไว้ได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานเพื่อสถาปนาราชวงศ์จิ้น

ค.ศ. 263 (พ.ศ. 806) จ๊กก๊กล่มสลาย สุมาเจียว บุตรชายของสุมาอี้ ได้สั่งกองทัพเข้ายึดได้สำเร็จ

ค.ศ. 265 (พ.ศ. 808) วุยก๊กถูกยึดจากภายในโดยสมบูรณ์โดยตระกูลสุมา หลานชายของสุมาอี้คือ สุมาเอี๋ยน ก็ได้ปลดฮ่องเต้ของสกุลโจออก แล้วก่อตั้งราชวงศ์จิ้น

ค.ศ. 280 (พ.ศ. 823) ก๊กซุนกวนล่มสลาย สุมาเอี๋ยนรวมแผ่นดินจีนกลับมาโดยสมบูรณ์

ราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265-317)

เขตแดนของราชวงศ์จิ้น

สุมาเอี๋ยน (司马炎) สถาปนาตนเองเป็นจิ้นอู่ตี้ ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันตกใน ค.ศ. 265 (พ.ศ. 808) เข้าแทนที่ราชวงศ์วุ่ยของเฉาเชาหรือโจโฉ กระทั่งใน ค.ศ. 280 (พ.ศ. 823) ราชวงศ์จิ้นตะวันตกก็ปราบง่อก๊กลงได้ รวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น เป็นอันสิ้นสุดยุคสามก๊ก

ต่อมาราชวงศ์จิ้นได้เปิดรับเผ่านอกด่านทางเหนือเข้ามาเป็นจำนวนมาก หัวหน้าของชนเผ่าซงหนู หลิวหยวน(刘渊)ก็ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ โดยใช้ชื่อว่า ฮั่นกว๋อ(汉国)ภายหลังหลิวหยวนสิ้น บุตรชายชื่อหลิวชง(刘聪)ยกกำลังเข้าบุกลั่วหยางนครหลวงของจิ้นตะวันตก จับจิ้นหวยตี้(晋怀) เป็นตัวประกันและสำเร็จโทษในเวลาต่อมา

ราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317-420)

การล่มสลายของราชวงศ์จิ้นตะวันตก ทำให้แผ่นดินจีนตกอยู่ในภาวะแตกเป็นเสี่ยง ๆ ราชสำนักจิ้นย้ายฐานที่มั่นทางการปกครองและเมืองหลวงลงไปทางใต้ สถาปนา ราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317-420 หรือ พ.ศ. 860-963) ขณะที่สถานการณ์ทางตอนเหนือวุ่นวายหนัก แผ่นดินที่แตกออกเป็นแว่นแคว้นของชนเผ่าต่าง ๆ 16 แคว้น โดยเรียกยุคนี้ว่า ยุคห้าชนเผ่าสิบหกแคว้น เป็นยุคสั้น ๆ ที่เกิดการหลอมรวมทางวัฒนธรรมของชาวจีนเชื้อสายต่าง ๆ

ราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 420-581)

หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265 – 316 หรือ พ.ศ. 808-860) ภาคเหนือของจีนก็ตกอยู่ในภาวะจลาจลและสงครามชนเผ่าของยุค 16 แคว้น จวบจน ค.ศ. 386 หัวหน้าเผ่าทั่วป๋าเซียนเปยได้สถาปนารัฐเว่ย์เหนือ(北魏)และตั้งนครหลวงที่เมืองผิงเฉิง (ปัจจุบันคือเมืองต้าถงในมณฑลซันซี) ยุติความวุ่นวายจากสงครามแย่งชิงอำนาจที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือใน ค.ศ. 439 (พ.ศ. 982)

เมื่อถึงปี ค.ศ. 581 (พ.ศ. 1124) หยางเจียนปลดจักรพรรดิโจวจิ้ง(周静帝)จากบัลลังก์ สถาปนาราชวงศ์สุย(隋)จากนั้นกรีธาทัพลงใต้ ยุติสภาพการแบ่งแยกเหนือใต้อันยาวนานของแผ่นดินจีนได้เป็นผลสำเร็จ

เพิ่มเติม ทางฝ่ายเหนือก่อนที่ราชวงศ์จิ้นจะพบจุดจบ ทางห้าชนเผ่า เผ่าเชียง เผ่าซยฺงหนู เผ่าตี เผ่าเซียนเปย์ (ที่แบ่งออกเป็น ตระกูลมู่หยงและตระกูลทั่วป๋า) หลังจากฝูเจียนอ๋องแห่งแคว้นเฉียนฉินพ่ายแพ้ที่แม่น้ำเฝ่ย์ ก็เริ่มอ่อนแอลง โดยได้มีการกล้าแข็งขึ้นของกลุ่มที่เหลือ และฝูเจียนได้ตายโดยน้ำมือของเหยาฉัง และทางแดนเหนือ (ที่ว่านี้เป็นแดนที่อยู่เหนือ แม่น้ำแยงซีเกียง) ก็เป็นการช่วงชิงกันระหว่ง มู่หยงย่ง เหยาฉัง มูหยงฉุย (ตระกูลทั่วป๋าเริ่มก้าวขึ้นมาอย่างเงียบ ๆ) โดยมูหยงฉุยกวาดล้าง มู่หยงหย่งก่อน แล้ว โดนทั่วป๋ากุยทำให้พ่ายแพ้ โดยตามประวัติศาสตร์แล้ว ทั่วป๋ากุยเป็นโจรปล้นชิงม้ามาก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในแดนเหนือ

อีกฝ่ายทางใต้นอกจากทั่วป๋ากุยทางแดนใต้ ต้องเริ่มจากการชนะศึกที่แม่น้ำเฝยสุ่ยของทัพจิ้น และผู้ปรีชาของจิ้นอันได้แก่ เซี่ยอานมหาเสนาบดี และจอมทัพเซี่ยเสียน ล้มตายลง ทางทัพของซุนเอินได้ก่อหวอด บวกกับทัพแดนจิงโจวของหวนเศียน ได้ทำการก่อกบฏ โดยมีวีรบุรุษในตอนนั้น หลิวอวี้ที่พากเพียรจากทหารตำแหน่งเล็ก ๆ ในกองทัพเป่ย์พู และได้ไต่เต้าขึ้นจนเป็นผู้นำในกองกำลังเป่ย์พู และภายหลังได้บีบให้ตระกูลซือหม่า สละบัลลังก์ และได้ก่อตั้งราชวงศ์ใต้ที่มีชื่อว่าราชวงศ์ซ่ง และได้ยกทัพตีชิงแดนเหนือแต่เกิดเหตุ หลิวมู่จือคนสนิทเสียชีวิตระหว่างที่กำลังบุกตีขึ้นเหนือ

หมายเหตุเนื่องจากการพ่ายแพ้ของฝูเจียน ทำให้การรวมแผ่นดินล่าช้าไปเกือบสองร้อยปี

ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618)

เขตแดนราชวงศ์สุย

สุยเหวินตี้ฮ่องเต้ ได้รวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นได้อีกครั้ง แต่โอรสคือสุยหยางตี้ไม่มีความสามารถ ทำให้ซ้ำรอยราชวงศ์ฉิน บรรดาผู้ปกครองหัวเมืองต่างตั้งตนเป็นใหญ่และแย่งอำนาจกัน ราชวงศ์สุยอยู่ได้เพียงสองรัชกาลเช่นกัน (พ.ศ. 1124 - 1160) (ค.ศ. 581-617)

ภายหลังการรวมแผ่นดินของราชวงศ์สุย สภาพสังคมโดยรวมได้รับการฟื้นฟูจากภาวะสงคราม มีการเติบโตด้านการผลิต เกิดความสงบสุขระยะหนึ่ง สุยเหวินตี้ ได้ดำเนินการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ โดยยุบรวมเขตปกครองในท้องถิ่น ลดขนาดองค์กรบริหาร รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ฮ่องเต้กุมอำนาจเด็ดขาดทั้งในทางทหาร การปกครองและเศรษฐกิจ โดยมีขุนนางเป็นเพียงผู้ช่วยในการบริหาร

ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907)

ภาพเขตแดนราชวงศ์ถัง

หลี่หยวน (หลี่เอียน) หรือถังเกาจูฮ่องเต้ ขุนนางใหญ่ในสมัยสุย ได้ลุกฮือที่แดนไท่หยวน และได้บุตรชายคนรองหลี่ซื่อหมิน ทำการชนะศึกอย่างต่อเนื่อง ได้ตั้งราชธานี ที่เมืองฉางอัน (เมืองฉางอันเป็นเมืองหลวงของหลายราชวงศ์ อาทิ ฮั่นตะวันตก ราชวงศ์สุย ราชวงศ์จิ้นตะวันออก) ผู้นำของแคว้นถังได้สถาปนาตัวเองเป็นอิสระจากสุยหยางตี้ และได้ชัยชนะเด็ดขาดจากแคว้นอื่น ๆ

ต่อมา เหล่าโอรสของหลี่หยวนมีความขัดแย้งกัน องค์ชายรองหลี่ซื่อหมิน ได้ทำการยึดอำนาจจากรัชทายาท หลี่เจี้ยนเฉิง และโอรสองค์ที่สามหลี่หยวนจี๋ จากในเหตุการณ์ที่ประตูเสียนอู่[2] สุดท้ายหลี่เอียนถูกบีบให้สละราชสมบัติ หลี่ซื่อหมินได้สถาปนาตนขึ้นเป็น ถังไท่จงฮ่องเต้[3]

ในรัชสมัยของถังไท่จง ราชวงศ์ถัง มีความรุ่งเรืองถึงขีดสุด สามารถเทียบได้กับยุคราชวงศ์ฮั่นในช่วงเรืองรอง จนถูกเรียกว่า "ต้าถัง" เป็นยุคสมัยที่มีความรุ่งเรื่องทั้งด้านการทหาร ศาสนา ศิลปะ การค้าขาย ๆล ๆ มีนครหลวงอยู่ที่ฉางอัน (ซีอานในปัจจุบัน) ราชวงศ์ถังได้ขยายอาณาเขตจนกว้างใหญ่กว่าราชวงศ์ฮั่นมาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากถังไท่จงสิ้นแล้ว ราชวงศ์ถังก็เริ่มเสื่อมโทรม กระทั่งพระสนมของถังไท่จงคือ พระนางบูเช็กเทียน[4] ก็ได้เข้ากุมอำนาจบริหารประเทศ กลายเป็นฮ่องเต้หญิงองค์แรกและองค์เดียวของจีน และเริ่มต้นราชวงศ์โจว ในยุคของพระนางเป็นหนึ่งในยุคที่จีนมีความรุ่งเรืองทางด้านศาสนา วัฒนธรรม มากที่สุดยุคหนึ่งของจีน แต่นักประวัติศาสตร์จีนในยุคก่อนจะกล่าวโจมตีพระนางอย่างรุนแรงเนื่องจากเป็นสตรีที่เข้ามายุ่งกับการบริหารปกครองประเทศ แต่ภายหลังนักประวัติศาสตร์จีนได้เปลี่ยนทัศนคติมาชื่นชมพระนางมากขึ้น

หลังจากสิ้นยุคของพระนางบูเช็กเทียนแล้ว ราชวงศ์ถังก็กลับคืนมาสู่คนในสกุลหลี่อีกครั้ง แต่ก็เป็นการเสื่อมถอยลง เนื่องจากในรัชสมัยของพระเจ้าถังสวนจง ซึ่งรุ่งเรืองในด้านศิลปะและบทกวี กลับไม่สนใจการบริหารบ้านเมือง แล้วลุ่มหลงพระสนมหยางกุ้ยเฟย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสี่ยอดหญิงงามของจีน ต่อมา อานลู่ซานแม่ทัพชายแดนจึงได้เข้ามาก่อการปฏิวัติและยึดเมืองหลวงฉางอานไว้เป็นผลสำเร็จ ราชวงศ์ถังมีระยะเวลาอยู่ในราว พ.ศ. 1161-1450 (ค.ศ. 618-907)

ยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร (ค.ศ. 907-960)

ในช่วงปลายราชวงศ์ถังมีการก่อกบฏประชาชนตามชายแดน ขันทีครองอำนาจบริหารบ้านเมืองอย่างเหิมเกริม มีการแย่งชิงอำนาจกัน แม่ทัพจูเวิน (จูเฉวียนจง) สังหารขันทีทรงอำนาจในราชสำนัก แล้วสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ ทำให้ราชวงศ์ถังสิ้นสุด บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ มีการแบ่งอำนาจกันเป็นห้าราชวงศ์ สิบอาณาจักร คือ ราชวงศ์เหลียง ถัง จิ้น ฮั่น และโจว โดยปกครองแถบลุ่มน้ำฮวงโหติดต่อกันมาตามลำดับ ส่วนเขตลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงกับดินแดนทางใต้ลงไปเกิดเป็นรัฐอิสระอีก 10 รัฐ รวมเรียกว่า สิบอาณาจักร การแบ่งแยกอำนาจปกครองยุคนี้ขาดเสถียรภาพ ชีวิตของประชาชนเต็มไปด้วยความลำบากยากแค้น ต่อมา เจ้าควงอิ้น ผู้บัญชาการทหารองครักษ์ชิงอำนาจจากราชวงศ์โจวตั้งตนสถาปนาราชวงศ์ซ่งหรือซ้องเป็น พระเจ้าซ่งไท่จู่ แล้วปราบปรามรวมอาณาจักรเรื่อยมา จนกระทั่งพระเจ้าซ่งไท่จง ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ปิดฉากสภาพการแบ่งแยกดินแดนทั้งหมดลงสำเร็จโดยใช้เวลาเกือบ 20 ปี

ราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279)

เขตแดนราชวงศ์ซ่ง

ปีค.ศ. 960 (พ.ศ. 1503) เจ้าควงอิ้นหรือพระเจ้าซ่งไท่จู่ สถาปนาราชวงศ์ซ่งหรือซ้องเหนือ เมืองหลวงอยู่ที่ไคฟง (มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) รวบรวมแผ่นดินจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวสำเร็จ แล้วใช้นโยบายแบบ “ลำต้นแข็ง กิ่งก้านอ่อน” ในการบริหารประเทศ ปฏิรูปการปกครอง การทหาร การคลัง อันมีประโยชน์ในการสร้างเสถียรภาพแก่อำนาจส่วนกลาง แต่ส่วนท้องถิ่นกลับอ่อนแอ เมื่อต้องทำสงคราม ย่อมไม่มีกำลังต่อต้านศัตรูได้ อำนาจการใช้กระบวนการยุติธรรมถูกควบคุมโดยส่วนกลาง

ราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1279-1368)

เขตแดนราชวงศ์หยวน

ยุคนี้ประเทศจีนถูกปกครองโดยชาวมองโกล นำโดย หยวนชื่อจู่ (หรือกุบไลข่าน) ซึ่งโค่นราชวงศ์ซ่ง ตั้งราชวงศ์หยวน หรือราชวงศ์มองโกลขึ้น ยุคสมัยนี้ได้มีชาวต่างประเทศเดินทางมาค้าขายเช่น มาร์โคโปโล มีการพิมพ์ธนบัตรจีนขึ้นครั้งแรกมีการส่งกองทัพรุกราน ชวา เวียดนาม ญี่ปุ่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

สมัยนี้อาณาเขตมีขนาดใหญ่มาก ว่ากันว่าใหญ่กว่าอาณาจักรโรมันถึง 4 เท่า หลังจากกุบไลข่านสิ้นพระชนม์ ชนชั้นมองโกลได้กดขี่ชาวจีนอย่างรุนแรง จนเกิดกบฏ และสะสมกองกำลังทหารหรือกลุ่มต่อต้านขึ้น ช่วงปลายราชวงศ์หยวน จูหยวนจาง ได้ปราบปรามกลุ่มต่าง ๆ และขับไล่ราชวงศ์หยวนออกไปจากแผ่นดินจีนได้สำเร็จ

ราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644)

ราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์ของจีนสถาปนาโดยจูหยวนจาง (จักรพรรดิหมิงไท่จู่) เมื่อปีค.ศ. 1368 (พ.ศ. 1911) จูหยวนจาง เป็นฮ่องเต้คนที่สองในประวัติศาสตร์จีนหลังจากหลิวปัง หรือพระเจ้าฮั่นเกาจู่ ที่ไต่เต้าสร้างฐานะขึ้นมาจากชาวนา

จูหยวนจาง เป็นผู้นำกองกำลังที่ทำศึกปราบราชวงศ์หยวน แล้วขับไล่มองโกลออกจากแผ่นดินจีนได้ จากนั้นสถาปนาตนขึ้นเป็นฮ่องเต้นที่เมืองนานกิง และสถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้น จักรพรรดิหมิงไท่จู่ปกครองประเทศนานกว่า 31 ปี เสริมสร้างความเข้มแข็งในอาณาจักรด้วยการรวมศูนย์อำนาจปกครอง ทำให้บ้านเมืองมีแสนยานุภาพทางทหารเข้มแข็งกว่าสมัยราชวงศ์ซ่งมาก พระองค์ยังลดหย่อนการเก็บภาษีจากชาวนาที่ยากไร้ จึงได้รับความเคารพรักจากชาวนาจำนวนมาก แต่พระองค์กลับทรงโหดเหี้ยมต่อเหล่าขุนนางและนายทหารที่มีคุณูปการในการช่วยสถาปนาราชวงศ์ เนื่องจากระแวงว่าจะคิดการล้มล้างราชวงศ์ จึงได้สั่งประหารเหล่าผู้ภักดีไปจำนวนมหาศาล

หลังจากจักรพรรดิหมิงไท่จู่สวรรคตแล้ว จักรพรรดิเจี้ยนเหวินซึ่งเป็นพระราชนัดดาองค์หนึ่งได้ขึ้นครองราชย์ ต่อมาไม่นาน จูตี้ ผู้เป็นปิตุลาของจักรพรรดิเจี้ยนเหวินซึ่งเป็นได้ลุกขึ้นต่อสู้และโค่นอำนาจรัฐของจักรพรรดิเจี้ยนเหวินลง จูตี้ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิหมิง เฉิงจู่หรือจักรพรรดิหยุงเล่อ ในปี ค.ศ. 1421 (พ.ศ. 1964) จักรพรรดิหย่งเล่อได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองหนานจิงไปยังกรุงปักกิ่ง

แม้รัฐบาลของราชวงศ์หมิงจะเสริมระบอบรวมศูนย์อำนาจรัฐให้มากขึ้นก็ตาม แต่มีจักรพรรดิหลายองค์ไม่ทรงพระปรีชาหรือไม่ก็ทรงพระเยาว์เกินไป ไม่สนพระทัยการบริหารประเทศ อำนาจจึงตกอยู่ในมือของเสนาบดีและขันที พวกเขาทุจริตคดโกงและขู่เข็ญรีดเอาเงิน ทำร้ายขุนนางที่ซื่อสัตย์ กิจการบริหารบ้านเมืองเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ ความขัดแย้งในสังคมรุนแรง ช่วงกลางสมัยราชวงศ์หมิงจึงเกิดการลุกขึ้นต่อสู้ของชาวนาหลายครั้งหลายหนแต่ถูกปราบปรามลงได้

ในสมัยราชวงศ์หมิง เคยมีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงชื่อจางจวีเจิ้ง สามารถคลี่คลายความขัดแย้งกันทางสังคมและกอบกู้การปกครองของราชวงศ์หมิงด้วยวิธีดำเนินการปฏิรูป เขาปรับปรุงระบบขุนนาง พัฒนาการเกษตร ซ่อมแซมแม่น้ำและคูคลอง และได้รวมภาษีอากรและการกะเกณฑ์บังคับต่าง ๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ช่วยลดภาระของประชาชนลงไปได้บ้างระดับหนึ่ง

ในสมัยราชวงศ์หมิง การเกษตรพัฒนามากขึ้นกว่ายุคก่อน การทอผ้าไหมและการผลิตเครื่องเคลือบดินเผามีความก้าวหน้ารุ่งเรือง การทำเหมืองเหล็ก การหล่อเครื่องทองเหลือง การผลิตกระดาษ การต่อเรือเป็นต้นก็มีการพัฒนาอย่างมาก การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศมีบ่อยครั้ง เจิ้งเหอซึ่งชาวไทยเรียกกันว่า ซำเปากง ได้นำกองเรือจีนไปเยือนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาทั้งหมดกว่า 30 ประเทศถึง 7 ครั้งตามลำดับ แต่หลังช่วงกลางราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา จีนถูกการรุกรานจากหลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่น สเปน โปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์เป็นต้น

ในสมัยราชวงศ์หมิง เศรษฐกิจการค้าก็ได้พัฒนาเริ่มปรากฏเป็นเค้าโครงของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในช่วงต้นราชวงศ์หมิง จีนมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ไม่มีเจ้าของจำนวนมากมาย จักรพรรดิหมิงไท่จู่ได้รวบรวมคนพเนจร ลดและงดภาษีอากรให้พวกเขา ทำให้จำนวนชาวนามีที่นาทำเองเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทางเกษตรเช่นใบยาสูบ มันเทศ ข้าวโพดและถั่วลิสงเป็นต้นก็ได้มีการนำเข้ามาในจีน ในสมัยราชวงศ์หมิง งานหัตถกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น เครื่องเคลือบดินเผาและสิ่งทอ เป็นต้น ได้พัฒนาถึงระดับค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกิจการทอผ้าไหม มีเจ้าของโรงงานผลิตสิ่งทอที่มีเครื่องปั่นด้ายจำนวนหลายสิบเครื่อง และ”ช่างปั่นทอ”มีฝีมือที่รับจัดตามสั่งโดยเฉพาะขึ้นแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเริ่มต้นขึ้นแล้ว ในสมัยราชวงศ์หมิงมีสินค้าหลากหลายชนิด การแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเป็นไปอย่างคึกคัก ในสถานที่ที่มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์และการคมนาคมสะดวกได้ก่อรูปขึ้นเป็นศูนย์การค้าทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เกิดเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองเช่นปักกิ่ง นานกิง ซูโจว หังโจว กว่างโจว เป็นต้น

ในสมัยราชวงศ์หมิง ระบอบสอบจอหงวนนิยมสอบการเขียนบทความแบบแปดตอน วรรณกรรมเรื่องยาวในสมัยราชวงศ์หมิงมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ เช่น ”ซ้องกั๋ง” “สามก๊ก” “ไซอิ๋ว” “จินผิงเหมย” หรือ เรื่อง”บุปผาในกุณฑีทอง” เป็นต้น นอกจากนี้ ข้อเขียนและบทประพันธ์ที่มีลักษณะคลาสสิกต่าง ๆ เช่น สารคดี ”บันทึกการท่องเที่ยวของสวี เสียเค่อ” ในด้านภูมิศาสตร์ “ตำราสมุนไพร” ของหลี่ สือเจิน ในด้านแพทยศาสตร์ “ชมรมหนังสือวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตร” ของสวี กวางฉี นักเกษตรศาสตร์ “เทียนกุงไคอู้” หรือ ”สารานุกรมเทคโนโลยีด้านการเกษตรและหัตถกรรม” ของนายซ่งอิ้งซิง นักวิชาการด้านหัตถกรรม “สารานุกรมหย่งเล่อ” ซึ่งเป็นชุมนุมรวมเอกสารและวิทยานิพนธ์ เป็นต้น ก็ล้วนประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงทั้งสิ้น

ช่วงปลายราชวงศ์หมิง สภาพการผูกขาดที่ดินรุนแรงมาก พระราชวงศ์และบรรดาเจ้านายที่ได้รับการแต่งตั้งมีที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาษีอากรของรัฐบาลก็นับวันมากขึ้น ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นต่าง ๆ ของสังคมก็นับวันรุนแรงขึ้น มีเสนาบดีและขุนนางบางคนพยายามจะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมให้เบาบางลง และเรียกร้องให้ยับยั้งสิทธิพิเศษของเสนาบดีขันทีและเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย เสนาบดีเหล่านี้เทียวบรรยายวิชาการและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองจึงถูกเรียกกันว่าเป็น ”พรรคตงหลินตั่ง” แต่แล้วพวกเขาก็ต้องถูกเสนาบดีขันทีและขุนนางที่มีอำนาจโจมตีและทำร้าย ซึ่งยิ่งทำให้สังคมวุ่นวายมากยิ่งขึ้น

การต่อสู้ในชนบทก็ทวีความรุนแรงขึ้น ในปี ค.ศ. 1627 (พ.ศ. 2170) มณฑลฉ่านซีเกิดทุพภิกขภัย แต่ข้าราชการยังคงบีบบังคับให้ประชาชนจ่ายภาษี จนทำให้เกิดการลุกขึ้นต่อสู้ ประชาชนที่ประสบภัยเป็นพันเป็นหมื่นรวมตัวขึ้นเป็นกองทหารชาวนาหลายกลุ่มหลายสาย จนปี ค.ศ. 1644 (พ.ศ. 2187) กองทหารชาวนาบุกเข้าไปถึงกรุงปักกิ่ง จักรพรรดิฉงเจินซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงต้องผูกพระศอสิ้นพระชนม์

ซึ่งในสมัยราชวงศ์หมิงมีการส่งกองเรือออกเดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปจนถึงแอฟริกา โดยท่านเจิ้งเหอและบันทึกที่ชาวอังกฤษเชื้อสายจีนเขียนไว้บางฉบับ บอกไว้ว่ามีหลักฐานแสดงว่าจีนเดินทางไปอเมริกาก่อนโคลัมบัส

ราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1912)

ราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1912 หรือ พ.ศ. 2187-2454) บุกเบิกและสร้างราชวงศ์ชิงตั้งแต่ ค.ศ. 1582-ค.ศ. 1912 โดย เผ่านูรฮาชี (แมนจูเลีย) สมยานามกษัตริย์ ชิงไทจงฮ่องเต้ จักรพรรดิบนหลังม้า ปฐมกษัตริย์ชื่อ จักรพรรดิหวงไท่จี๋, ซุนจื่อ และคังซี และจักรพรรดิบัลลังก์เลือด หย่งเจิ้น (องค์ชายสี่), จักรพรรดิเจ้าสำราญ เฉียนหลง (หลานหงษ์ลิ) ศึกล่าบัลลังก์ทอง เจี่ยชิ่ง และเต้ากวง

มีจักรพรรดิรวมทั้งสิ้นในราชวงศ์ 13 พระองค์ ซึ่ง จักรพรรดิ ปูยี เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้าย และเป็นราชวงศ์สุดท้ายก่อนสถาปนาเป็นระบบสาธารณรัฐ เป็นราชวงศ์ของ เผ่าแมนจูเลีย (ชนเผ่ามองโกลเลีย มีชนเผ่าถึง 2,000-3,000 เผ่า) เป็นชนต่างชาติทางเหนือที่เข้ามาปกครองประเทศจีน ต่อจากราชวงศ์หมิง ซึ่งภายหลังเกิด "ศึกกบฏราชวงศ์หมิง" ภายในประเทศจีน โดยกบฏเปิดประตูเมืองให้แมนจูเลียเข้ายึดครอง ทำให้ได้รับสมยานามกษัตริย์ ชิงไทจงฮ่องเต้ เพราะเข้ายึดเมืองได้โดยไม่ต้องลงจากหลังม้า เป็นรัชสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การตรวจตราข้อบังคับของสังคม ศาสนา และ การค้าทางเรือที่รุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งก็ว่าได้ คือ การให้ชายจีนไว้ผมหางเปียและใส่เสื้อแบบแมนจูเลีย คือ ปิดแขนเสื้อและขา เลียนแบบสมัยราชวงศ์ถังเก่า พร้อมประคำ 500 เม็ด และต้องนับถือพุทธจีน ที่แตกต่างไปจากเดิมคือมีประคำ 500 เม็ด และเริ่มนับถือศาสนาพุทธจีนที่เจริญรุ่งเรืองมากยุคหนึ่ง

เพื่อบ่งบอกถึงอารยธรรมชนเผ่าของตนว่ามีศาสนาและอารยธรรมยาวนาน (ตั้งแต่สมัย เจง กิสข่าน เรืองอำนาจบุกยึดไปถึงแดนตะวันตกในระหว่างเดินทางพบ ขงจื้อ) ในราชสำนักยังคงมีขุนนางตำแหน่งที่สำคัญ ๆถือกำเนิดขึ้นด้วย คือ "ขันที" และ เสนาบดีฝ่ายซ้าย "ตงชิงอ๋อง" และ เสนาบดีฝ่ายฝ่ายขวา "กังชิงอ๋อง" อีกทั้งยังมีระบบศาลที่คานดุลอำนาจกัน และ ระบบการว่าราชการที่เจริญที่สุดถอดแบบจากราชสมัย "ราชวงศ์ซ่ง" คล้ายระบอบการปกครองของประเทศไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 คือ ระบบเวียง ระบบวัง ระบบคลัง และระบบนา และ ยังมีการแบ่งลักษณะการปกครองออกเป็นหัวเมือง ๆ ทั้งหมด 18 มณฑลในประเทศจีน โดยทั้งหมดขึ้นตรงต่อ "จักรพรรดิราชวงศ์ชิง"

จีนยุคใหม่

ยุคสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912-1949)

ปี พ.ศ. 2454 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ ซึ่งเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจีนให้เป็นระบอบสาธารณรัฐที่นำโดย ดร. ซุนยัดเซ็น ราชวงศ์ชิงถูกยึดอำนาจในปีนั้น และใน พ.ศ. 2455 ผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์ชิง และการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีน

ดร. ซุนยัดเซ็น ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลคนแรกของสาธารณรัฐจีน แต่ก็สละตำแหน่งให้กับยฺเหวียน ชื่อไข่ อย่างไรก็ตาม ยเหวียนซื่อไข่กลับทะเยอทะยาน คิดจะฟื้นฟูระบอบจักรพรรดิ ตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ จึงถูกต่อต้านจากทั่วสารทิศ ซุนยัดเซ็น จึงประกาศทำศึกต่อต้าน สุดท้ายแล้วยเหวียนซื่อไข่ล้มป่วยเสียชีวิตไป แต่แผ่นดินจีนก็เข้าสู่ความวุ่นวายจากการชิงอำนาจกันของเหล่าขุนศึก และกลายเป็นยุคสมัยที่วุ่นวายและนองเลือดที่สุดช่วงเวลาหนึ่งของจีน

ซุนยัดเซ็นล้มป่วยแล้วเสียชีวิต หลังจากนั้นก็เป็นช่วงเวลาชิงอำนาจระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง ที่นำโดย เจียงไคเช็ค กับพรรคคอมมิวนิสต์ ที่นำโดย เหมาเจ๋อตง

การทำศึกในช่วงแรกเจียงไคเช็คเป็นฝ่ายชนะ แต่เนื่องจากการรุกรานของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องยุติความขัดแย้งลงชั่วคราว แล้วหันมาร่วมมือกันทำสงครามกับญี่ปุ่น

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ได้มีการเจรจาเพื่อก่อตั้งรัฐบาลผสม แต่เจียงไคเช็ควางแผนที่จะกำจัดพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้เหมาเจ๋อตงและแกนนำของพรรคต้องนำพาสมาชิกและชาวนาผู้ยากไร้ที่เป็นกองกำลังส่วนใหญ่ของพรรค เดินทัพทางไกลขึ้นไปทางเหนือ จากนั้นเหมาเจ๋อตงก็นำกองทัพเปิดศึกกับเจียงไคเช็กอีกครั้ง เนื่องจากภายในพรรคก๊กมินตั๋งเองก็มีความขัดแย้งภายใน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นภายในพรรคได้ รวมถึงเหมาเจ๋อตงสามารถชี้นำและปลุกระดมชวนเชื่อชาวจีนผู้ยากไร้ทั่วประเทศในเวลานั้นให้เข้าร่วมการต่อสู้ พรรคคอมมิวนิสต์จึงได้ชัยชนะในที่สุด ส่วนเจียงไคเช็คก็ลี้ภัยไปยังเกาะไต้หวัน และสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นใหม่

ยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (1949–ปัจจุบัน)

ประวัติศาสตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋งในสงครามกลางเมืองจีน เหมา เจ๋อตุง ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ที่กรุงปักกิ่งบน จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อปกครองจีนแผ่นดินใหญ่

อ้างอิง

  1. ยศไกร ส.ตันสกุล. สารพันคำถาม เรื่องจริงหรือเสริมแต่งใน จดหมายเหตุสามก๊ก ฉบับเฉินโซ่ว, กรุงเทพฯ: สยามความรู้, 2560
  2. Wechsler, Howard J. (1979). "The Founding of the T'ang Dynasty: Kao-tsu (Reign 618–26)". In Twitchett, Dennis. The Cambridge History of China, Volume 3: Sui and T'ang China, 589–906, Part I. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 150–187.
  3. New Book of Tang 《新唐書》 Chinese text with matching English vocabulary
  4. Wu Zhao: China's Only Woman Emperor, written by N. Harry Rothschild and published 2008 by Pearson Education, Inc.

แหล่งข้อมูลอื่น

  • The Berkshire Encyclopedia of China สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (ต้องสมัครสมาชิก)