แก๊งออฟโฟร์
แก๊งสี่คน หรือ แก๊งออฟโฟร์ (จีนตัวย่อ: 四人帮; จีนตัวเต็ม: 四人幫; พินอิน: Sì rén bāng) เป็นกลุ่มการเมืองแนวลัทธิเหมา ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสี่คน พวกเขาโดดเด่นขึ้นมาในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966–1976) และต่อมาถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมกบฏหลายกระทงเนื่องจากความรับผิดชอบของพวกเขาต่อความเกินเลยและความล้มเหลวในการปฏิวัติวัฒนธรรม บุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำของกลุ่มคือเจียง ชิง (ภริยาคนสุดท้ายของเหมา เจ๋อตง) สมาชิกคนอื่น ๆ ได้แก่ จาง ชุนเฉียว, เหยา เหวินยฺเหวียน และหวัง หงเหวิน[1]
แก๊งสี่คนควบคุมองค์กรอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปลายของการปฏิวัติวัฒนธรรม แม้ยังไม่ชัดเจนว่าการตัดสินใจสำคัญใดบ้างที่เหมา เจ๋อตงเป็นผู้กระทำและแก๊งเป็นผู้ดำเนินการ และการตัดสินใจใดบ้างที่เป็นผลมาจากการวางแผนของแก๊งสี่คนเอง
การโค่นอำนาจพวกเขาไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยตัวมันเองแต่อย่างใด มันถูกจัดตั้งโดยผู้นำคนใหม่ นายกรัฐมนตรีฮฺว่า กั๋วเฟิง และคนอื่น ๆ ที่ก้าวขึ้นมาในช่วงเวลานั้น การปฏิเสธกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิงคืนสู่อำนาจในการประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 11 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน[2] และอำนาจของฮฺว่าค่อย ๆ ลดลง[3]
การก่อตัว
[แก้]กลุ่มนี้นำโดยเจียง ชิง และประกอบด้วยผู้ร่วมงานใกล้ชิดของเธอสามคน ได้แก่ จาง ชุนเฉียว, เหยา เหวินยฺเหวียน และหวัง หงเหวิน ชายอีกสองคนที่เสียชีวิตไปแล้วใน ค.ศ. 1976 คือคัง เชิง และเซี่ย ฟู่จื้อ ถูกระบุว่ามีส่วนร่วมใน "แก๊ง" ด้วย เฉิน ปั๋วต๋า และเหมา ยฺเหวี่ยนซิน (หลานชายของเหมา) ก็ถูกมองว่าเป็นผู้ร่วมงานใกล้ชิดของแก๊งสี่คนด้วยเช่นกัน
บันทึกส่วนใหญ่ของตะวันตกมองว่าผู้นำที่แท้จริงของการปฏิวัติวัฒนธรรมประกอบด้วยกลุ่มที่กว้างกว่า โดยอ้างอิงถึงสมาชิกของคณะปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นหลัก ผู้ที่โดดเด่นที่สุดคือหลิน เปียว กระทั่งการแปรพักตร์ที่ถูกกล่าวหาของเขาจากจีนและการเสียชีวิตในอุบัติเหตุเครื่องบินตกใน ค.ศ. 1971 เฉิน ปั๋วต๋ามักถูกจัดอยู่ในกลุ่มของหลินมากกว่าของเจียง ชิง[4]
บทบาท
[แก้]ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1965 เหยา เหวินยฺเหวียน ตีพิมพ์บทความลงในหนังสือพิมพ์เหวินฮุ่ยเป้า ซึ่งเป็นหนึ่งในงานเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา โดยวิพากษ์วิจารณ์ละครเรื่องไห่รุ่ยถูกปลดจากตำแหน่ง[1] บทความโต้แย้งอุปรากรดังกล่าวว่าแท้จริงแล้วเป็นการแสดงความเห็นใจต่อความพยายามปฏิรูปของเผิง เต๋อหวย วีรบุรุษทางการทหาร และดังนั้นจึงเป็นการโจมตีการก้าวกระโดดไกลไปข้างหน้าของประธานเหมา เหมาทำการกวาดล้างเผิงออกจากอำนาจในภายหลัง[5][6] บทความนี้ถูกอ้างว่าเป็นชนวนที่จุดประกายการปฏิวัติวัฒนธรรม[7]
เจียง ชิงจัดการแสดงอุปรากรปฏิวัติในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมและพบปะกับกองกำลังยุวชนแดง[8][9]
การกำจัดกลุ่มนี้ออกจากอำนาจบางครั้งถูกมองว่าเป็นการสิ้นสุดของการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งเหมาได้เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1966 เพื่อต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับผู้นำอย่างหลิว เช่าฉี, เติ้ง เสี่ยวผิง และเผิง เจิ้น เหมามอบหมายให้ภริยาของเขา เจียง ชิง อดีตนักแสดงภาพยนตร์ที่ก่อน ค.ศ. 1966 ไม่เคยมีบทบาททางการเมืองในที่สาธารณะ เข้าควบคุมกลไกวัฒนธรรมของประเทศ จาง, เหยา และหวัง เป็นผู้นำพรรคในเซี่ยงไฮ้ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำให้เหมาควบคุมเซี่ยงไฮ้ได้สำเร็จในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเสียชีวิตของหลิน เปียวใน ค.ศ. 1971 การปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มเสียแรงผลักดัน ผู้บัญชาการคนใหม่ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในสถานการณ์อันตรายตามแนวชายแดนกับสหภาพโซเวียต (ดูความแตกแยกจีน–โซเวียต) นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ผู้ซึ่งยอมรับการปฏิวัติวัฒนธรรมแต่ไม่เคยสนับสนุนอย่างเต็มที่ ได้ฟื้นฟูอำนาจของตนและใช้อำนาจนั้นนำเติ้ง เสี่ยวผิงกลับเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำพรรคในการประชุมสภาแห่งชาติพรรคครั้งที่ 10 ใน ค.ศ. 1973 หลิว เช่าฉีเสียชีวิตในคุกใน ค.ศ. 1969
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเหมา เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างแก๊งสี่คนกับพันธมิตรของเติ้ง เสี่ยวผิง โจว เอินไหล และเย่ เจี้ยนอิง[10]
การล่มสลาย
[แก้]โจว เอินไหลเสียชีวิตในเดือนมกราคม ค.ศ. 1976 และในเดือนต่อ ๆ มา ก็เกิดการแย่งชิงอำนาจในระดับสูงสุดของพรรค เติ้งผู้สนับสนุนการปฏิรูปได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ขณะที่แก๊งสี่คนเริ่มใช้หนังสือพิมพ์ของตนวิพากษ์วิจารณ์เติ้งและระดมกลุ่มกำลังติดอาวุธในเขตเมืองของพวกเขา การควบคุมกองทัพและความมั่นคงของพรรคส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้อาวุโสพรรคในคณะกรรมาธิการกลาง ซึ่งโดยทั่วไปมีบทบาทระมัดระวังในการไกล่เกลี่ยระหว่างเติ้งผู้สนับสนุนการปฏิรูปกัยแก๊งสี่คนที่หัวรุนแรง พวกเขาเห็นพ้องกันให้ปลดเติ้งออกจากตำแหน่งภายหลังกรณีเทียนอันเหมินในเดือนเมษายนแต่ได้ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าเติ้งและพันธมิตรของเขาจะไม่ได้รับอันตรายส่วนตัวในกระบวนการนั้น
วันที่ 9 กันยายน ประธานเหมาถึงแก่อสัญกรรม ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ต่อมา แก๊งสี่คนยังคงควบคุมสื่อของรัฐบาล และบทความจำนวนมากปรากฏขึ้นในหัวข้อ "หลักการที่วางไว้" (หรือ "ก่อตั้ง") โดยเหมาในช่วงบั้นปลายชีวิต[11][12] (คำว่า "หลักการที่วางไว้" ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นคำพูดของเหมา แต่สถานะที่ได้รับการยอมรับในฐานะข้อกำหนดทางหลักการยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่[11]) กำลังติดอาวุธในเขตเมืองที่สั่งการโดยผู้สนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงถูกสั่งให้เตรียมพร้อมในระดับสูงขึ้น[13][12]
นายกรัฐมนตรีฮฺว่า กั๋วเฟิงโจมตีแนวทางสื่อของกลุ่มหัวรุนแรงในการประชุมกรมการเมืองในปลายเดือนกันยายน[14] แต่เจียง ชิงไม่เห็นด้วยกับฮฺว่าอย่างหนักแน่น และเธอยืนกรานให้เธอได้รับแต่งตั้งเป็นประธานพรรคคนใหม่[14] การประชุมจบลงโดยไม่มีข้อสรุป[14] วันที่ 4 ตุลาคม กลุ่มหัวรุนแรงเตือนผ่านบทความในหนังสือพิมพ์กวางหมิงเดลีว่า นักแก้ลัทธิคนใดก็ตามที่แทรกแซงหลักการที่กำหนดไว้จะ "พบจุดจบที่ไม่ดี"[12]
กลุ่มหัวรุนแรงหวังว่าผู้นำทหารคนสำคัญอย่างวัง ตงซิ่งและเฉิน ซีเหลียนจะสนับสนุนพวกเขา แต่ปรากฏว่าฮฺว่ากลับได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1976 ฮฺว่าได้สั่งจับกุมกลุ่มแกนนำหัวรุนแรงสี่คนและผู้ร่วมงานอีกจำนวนหนึ่ง หัน ซู่อินให้รายละเอียดอย่างละเอียดเกี่ยวกับการโค่นล้มของพวกเขา:
มีการเรียกประชุมฉุกเฉินของกรมการเมืองที่มหาศาลาประชาชนในเย็นวันนั้น พวกเขาจำเป็นต้องเข้าร่วม เนื่องจากวัง ตงซิ่งเคยเป็นพันธมิตรของพวกเขา พวกเขาจึงไม่สงสัยเขา... เมื่อพวกเขาเดินผ่านประตูบานสวิงเข้าไปในล็อบบีทางเข้า พวกเขาก็ถูกจับและถูกนำตัวออกไปใส่กุญแจมือ จากนั้นหน่วยพิเศษ 8341 ได้ไปยังที่พักของมาดามเหมาที่บ้านเลขที่ 17 Fisherman's Terrace และจับกุมเธอ คืนนั้น เหมา ยฺหวี่ยนซินถูกจับในแมนจูเรีย และนักโฆษณาชวนเชื่อของแก๊งสี่คนในมหาวิทยาลัยปักกิ่งและในสำนักงานหนังสือพิมพ์ถูกควบคุมตัว ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยความเงียบและมีประสิทธิภาพ ในเซี่ยงไฮ้ ผู้สนับสนุนของแก๊งได้รับข้อความให้มาปักกิ่ง "เพื่อเข้าร่วมการประชุม" พวกเขามาและถูกจับกุม ดังนั้น โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อสักหยด แผนการของแก๊งสี่คนที่จะกุมอำนาจสูงสุดก็จบลง[15]
ตามที่นักประวัติศาสตร์ อิมมานูเอล ซี.วาย. ซู กล่าวไว้ ปฏิบัติการดังกล่าวไม่ได้ปราศจากเลือดเนื้อโดยสมบูรณ์ หวัง หงเหวินสังหารยามสองคนที่พยายามจับกุมเขาและได้รับบาดเจ็บเองก่อนที่จะถูกปราบปราม[16]
ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม การประณามทั่วประเทศต่อแก๊งสี่คนได้เริ่มขึ้น ซึ่งถึงจุดสูงสุดในเดือนธันวาคมเมื่อมีการเผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหาของแก๊งต่อสาธารณะ พรรคออกแถลงการณ์ประณามแก๊งสี่คนว่า "นอกเป็นซ้าย แต่เนื้อในเป็นขวา"[17][18] สื่อของรัฐกล่าวโทษแก๊งสี่คนและหลิน เปียวสำหรับความรุนแรงเกินเลยของการปฏิวัติวัฒนธรรม การเฉลิมฉลองเป็นที่กว้างขวางและไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนท้องถนนของปักกิ่งและเมืองใหญ่อื่น ๆ
ในระหว่าง "ขบวนการเปิดโปง วิจารณ์ และตรวจสอบ (揭批查运动)" ทั่วประเทศ อดีต "กลุ่มกบฏ" ยุวชนแดงหลายล้านคนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยเนื่องจากถูกมองว่ามีความเกี่ยวข้องกับแก๊งสี่คน
ผลพวง
[แก้]ทันทีหลังการจับกุม นายกรัฐมนตรีฮฺว่า กั๋วเฟิง จอมพลเย่ เจี้ยนอิง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เฉิน ยฺหวิน กับหลี่ เซียนเนี่ยน ได้รวมตัวกันเป็นแกนผู้นำพรรคชุดต่อไป[19] ทั้งสี่คนนี้ ร่วมกับเติ้ง เสี่ยวผิงที่ได้รับการกู้ชื่อเสียง และวัง ตงซิ่ง ได้รับเลือกเป็นรองประธานพรรคในการประชุมสภาแห่งชาติพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1977[20] ในระดับกรมการเมือง สมาชิกภาพของจอมพลที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งสี่คน นายพลอีกเจ็ดคนและบุคคลอื่น ๆ อย่างน้อยห้าคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อเสถียรภาพของชาติ
การสอบสวน
[แก้]การพิจารณาคดีแก๊งสี่คนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์ในการสร้างระบบยุติธรรมที่มีการจัดตั้งเป็นสถาบัน[21]: 222 การพิจารณาคดีเหล่านี้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชาวจีนเนื่องจากการถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีทางโทรทัศน์ทุกวันและการเผยแพร่ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอย่างกว้างขวาง[21]: 222
ในช่วงปลาย ค.ศ. 1980 ผู้นำที่ถูกปลดทั้งสี่คนถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีโดยศาลประชาชนสูงสุดของจีนโดยมีเจียง หฺวาเป็นประธาน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1981 พวกเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำกิจกรรมต่อต้านพรรค ระหว่างการพิจารณาคดี เจียง ชิงแสดงท่าทีต่อต้านอย่างเห็นได้ชัด โดยตะโกนประท้วงและร้องไห้ในบางขณะ เธอเป็นสมาชิกคนเดียวในแก๊งสี่คนที่แก้ต่างให้ตัวเอง ข้อโต้แย้งของฝ่ายจำเลยคือเธอทำตามคำสั่งของประธานเหมามาตลอด จาง ชุนเฉียวปฏิเสธที่จะยอมรับการกระทำผิดใด ๆ เหยา เหวินยฺเหวียนและหวัง หงเหวินแสดงความสำนึกผิดและสารภาพความผิดที่ถูกกล่าวหา[22]
ฝ่ายอัยการแยกแยะความผิดพลาดทางการเมืองออกจากอาชญากรรมที่แท้จริง ในบรรดาสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีทั้งการยึดอำนาจรัฐและอำนาจพรรค รวมถึงการข่มเหงประชาชนประมาณ 750,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 34,375 คนในช่วง ค.ศ. 1966–1976[23] บันทึกอย่างเป็นทางการของการพิจารณาคดียังคงไม่ได้ถูกเปิดเผย[ต้องการอ้างอิง]
ผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีในวันเปิดการพิจารณาคดีนั้น ประกอบด้วยผู้แทนประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกจากแต่ละมณฑลและเขตปกครองตนเอง รวมถึงครอบครัวของผู้เสียหายซึ่งรวมถึงภรรยาม่ายของหลิว เช่าฉี, เฮ่อ หลง และหลัว รุ่ยชิง[21]: 223
เจียง ชิงและจาง ชุนเฉียวได้รับโทษประหารชีวิต ซึ่งต่อมาลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ในส่วนหวัง หงเหวินและเหยา เหวินยฺเหวียนได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 20 ปีตามลำดับ สมาชิกทั้งหมดของแก๊งสี่คนเสียชีวิตหมดแล้ว โดยเจียง ชิงฆ่าตัวตายใน ค.ศ. 1991 หวัง หงเหวินเสียชีวิตใน ค.ศ. 1992, และเหยา เหวินยฺเหวียนกับจาง ชุนเฉียวเสียชีวิตใน ค.ศ. 2005 หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำใน ค.ศ. 1996 และ ค.ศ. 1998 ตามลำดับ
ผู้สนับสนุนแก๊งสี่คน รวมถึงเฉิน ปั๋วต๋าและเหมา ยฺเหวี่ยนซิน ก็ถูกตัดสินลงโทษด้วยเช่นกัน[24][25]
การใช้ศัพท์ในลักษณะอุปมาเชิงประวัติศาสตร์
[แก้]"แก๊งออฟโฟร์น้อย"
[แก้]ในการต่อสู้ระหว่างผู้สนับสนุนของฮฺว่า กั๋วเฟิงกับเติ้ง เสี่ยวผิง ศัพท์ใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยชี้ไปยังผู้ร่วมงานใกล้ชิดที่สุดสี่คนของฮฺว่า ได้แก่ วัง ตงซิ่ง, อู๋ เต๋อ, จี้ เติงขุย และเฉิน ซีเหลียน[26] ใน ค.ศ. 1980 พวกเขาถูกกล่าวหาว่ากระทำ "ความผิดพลาดร้ายแรง" ในการต่อสู้กับแก๊งสี่คนและถูกลดตำแหน่งจากกรมการเมืองให้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางธรรมดา[27]
"แก๊งออฟโฟร์" แห่งฮ่องกง
[แก้]ใน ค.ศ. 2013 สื่อของรัฐจีนแผ่นดินใหญ่ระบุว่าแอนสัน ชาน, มาร์ติน ลี, โยเซฟ เฉิน และจิมมี ไหล่เป็น "แก๊งออฟโฟร์แห่งฮ่องกง" เนื่องจากความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่ถูกกล่าวหาของพวกเขา[28]
ใน ค.ศ. 2016 หนังสือพิมพ์ซิงเปาเดลินิวส์ซึ่งสนับสนุนปักกิ่งเริ่มตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ต่ง เจี้ยนหฺวา, เหลียง เจิ้นอิง, จาง เสี่ยวหมิง และเจียง ไจ้จง โดยเรียกพวกเขาว่าเป็น "แก๊งออฟโฟร์แห่งฮ่องกง" อีกกลุ่มหนึ่ง บทความกล่าวหาว่าบุคคลเหล่านี้แสร้งจงรักภักดีต่อปักกิ่ง แต่กลับทรยศและบ่อนทำลายฮ่องกงเพื่อผลประโยชน์ตนเอง โดยสร้างความขัดแย้งและก่อกวนต่าง ๆ รวมถึงวิธีอันตรายอื่น ๆ[29]
ใน ค.ศ. 2019 สื่อของรัฐจีนเรียก แอนสัน ชาน, มาร์ติน ลี, จิมมี ไหล่ และอัลเบิร์ต โฮว่าเป็น "แก๊งออฟโฟร์แห่งฮ่องกง" อีกกลุ่มหนึ่งเนื่องจากพวกเขาถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงในฮ่องกง ค.ศ. 2019–2020[30][31] วลีดังกล่าวถูกประณามโดยบุคคลทั้งสี่[30]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Yao Wenyuan". The Economist. ISSN 0013-0613. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-23. สืบค้นเมื่อ 2016-05-22.
- ↑ "1977: Deng Xiaoping back in power". 22 July 1977. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 July 2017. สืบค้นเมื่อ 18 January 2018 – โดยทาง news.bbc.co.uk.
- ↑ "Hua Guofeng, Transitional Leader of China After Mao, Is Dead at 87". The New York Times. 21 August 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 January 2018. สืบค้นเมื่อ 18 January 2018.
- ↑ Glossary of Names and Identities in Mao's Last Revolution, by Roderick MacFarquhar and Michael Schoenhals, Harvard University Press 2006.
- ↑ MacFarquhar, Roderick (1997). The Politics of China: The Eras of Mao and Deng. Cambridge University Press. ISBN 9780521588638.
- ↑ Domes, Jürgen (1985). Peng Te-huai: The Man and the Image. Stanford University Press. ISBN 9780804713030. สืบค้นเมื่อ 2016-05-22.
- ↑ Tsou, Tang (1999). The Cultural Revolution and Post-Mao Reforms: A Historical Perspective. University of Chicago Press. ISBN 9780226815145.
- ↑ Jiaqi, Yan; Gao Gao (1996). Turbulent Decade: A History of the Cultural Revolution. University of Hawaii Press. pp. 56–64. ISBN 0-8248-1695-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-15. สืบค้นเมื่อ 2016-05-22.
- ↑ Lu, Xing (2004). Rhetoric of the Chinese Cultural Revolution: the impact on Chinese thought, culture, and communication. University of South Carolina Press. pp. 143–150. ISBN 1570035431.
- ↑ "What Was the Gang of Four and Their Connection to Mao Zedong?". ThoughtCo (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2023-02-24.
- ↑ 11.0 11.1 Hsü, Immanuel Chung-yueh (1990), China Without Mao: the Search for a New Order, Oxford University Press, p. 15, ISBN 0-19536-303-5
- ↑ 12.0 12.1 12.2 Baum, Richard (1996), Burying Mao: Chinese Politics in the Age of Deng Xiaoping, Princeton University Press, p. 40, ISBN 0-69103-637-3
- ↑ Hsü, Immanuel Chung-yueh (1990), China Without Mao: the Search for a New Order, Oxford University Press, p. 13, ISBN 0-19536-303-5
- ↑ 14.0 14.1 14.2 Hsü, Immanuel Chung-yueh (1990), China Without Mao: the Search for a New Order, Oxford University Press, p. 16, ISBN 0-19536-303-5
- ↑ Eldest Son: Zhou Enlai and the Making of Modern China, Han Suyin, 1994. p. 413.
- ↑ Hsü, Immanuel Chung-yueh (1990), China Without Mao: the Search for a New Order, Oxford University Press, p. 26, ISBN 0-19536-303-5
- ↑ "A Letter to the League of Revolutionary Struggle". Marxist Internet Archive. สืบค้นเมื่อ 17 August 2022.
These quotes show that the CPC does not reject outright the characterization of the "gang of four" as ultra-"Left," as long as the "ultra-left in form, Right in essence" nature of the "gang of four" is clearly understood.
- ↑ Ching, Frank (1979). "The Current Political Scene in China". The China Quarterly. 80 (80): 691–715. doi:10.1017/S0305741000046002. ISSN 0305-7410. JSTOR 653038. S2CID 154697304. สืบค้นเมื่อ 17 August 2022.
- ↑ http://www.chaos.umd.edu/history/prc4.html เก็บถาวร 2006-09-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน and "Archived copy" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-05-28. สืบค้นเมื่อ 2008-05-05.
{{cite web}}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์), pp. 26–27 - ↑ "Political Leaders: China". Terra.es. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-06. สืบค้นเมื่อ 2011-07-22.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 Qian, Ying (2024). Revolutionary Becomings: Documentary Media in Twentieth-Century China. New York: Columbia University Press. ISBN 9780231204477.
- ↑ Zheng, Haiping (2010). "The Gang of Four Trial". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-30. สืบค้นเมื่อ 2017-12-31.
- ↑ "China the Four Modernizations, 1979–82". Country-studies.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-02. สืบค้นเมื่อ 2011-07-22.
- ↑ Cook, Alexander C. (2017), Pendas, Devin O.; Meierhenrich, Jens (บ.ก.), "China's Gang of Four Trial: The Law v. The Laws of History", Political Trials in Theory and History, Cambridge: Cambridge University Press, pp. 263–294, doi:10.1017/9781139941631.010, ISBN 978-1-107-07946-5, สืบค้นเมื่อ 2023-03-19
- ↑ Pace, Eric (1989-09-30). "Chen Boda, 85, Leader of Chinese Purges in 60's". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2023-03-19.
- ↑ Harding, Harry (2010). China's second revolution: Reform after Mao. Brookings Institution Press. ISBN 978-0815707288. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-01. สืบค้นเมื่อ 2017-12-31.
- ↑ Forster, Keith (July 1992). "China's Coup of October 1976". Modern China. 18 (3): 263–303. doi:10.1177/009770049201800302. JSTOR 189334. S2CID 143387271. สืบค้นเมื่อ 8 August 2021.
- ↑ "What's Chan up to?". China Daily. 2013-04-26. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-14. สืบค้นเมื่อ 2019-08-14.
- ↑ Loh, Christine (2018). Underground front : the Chinese Communist Party in Hong Kong (Second ed.). Hong Kong. ISBN 978-988-8455-79-9. OCLC 1064543683.
- ↑ 30.0 30.1 "Hong Kong's 'Gang of Four' hits back at Beijing". FT. August 22, 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 25, 2019. สืบค้นเมื่อ August 30, 2019.
Official Communist Party of China mouthpieces have run editorials over several days labelling the four individuals as Hong Kong's "Gang of Four", a chilling reference to four party members who rose to prominence during China's Cultural Revolution in the 1960s before being charged with treason.
- ↑ "China Compares Hong Kong Democrats to Mao-Era 'Gang of Four'". Bloomberg. Bloomberg. August 19, 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 30, 2019. สืบค้นเมื่อ August 30, 2019.