เทศบาลเมืองพนัสนิคม
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เทศบาลเมืองพนัสนิคม | |
---|---|
ย่านการค้าเมืองพนัสนิคม | |
คำขวัญ: พระพนัสบดีคู่บ้าน จักสานคู่เมือง ลือเลื่องบุญกลางบ้าน ตำนานพระรถ-เมรี ศักดิ์ศรีเมืองสะอาด เก่งกาจการทายโจ๊ก | |
พิกัด: 13°27′04.5″N 101°10′38.5″E / 13.451250°N 101.177361°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ชลบุรี |
อำเภอ | พนัสนิคม |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | วิจัย อัมราลิขิต |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 2.76 ตร.กม. (1.07 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2560)[1] | |
• ทั้งหมด | 10,567 คน |
• ความหนาแน่น | 3,828.62 คน/ตร.กม. (9,916.1 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 04200601 |
ที่อยู่ สำนักงาน | เทศบาลเมืองพนัสนิคม ถนนเมืองเก่า ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี 20140 |
โทรศัพท์ | 0 3846 1144 ต่อ 102 |
เว็บไซต์ | www |
เทศบาลเมืองพนัสนิคม เป็นเทศบาลเมืองแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นเทศบาลขนาดกลางมีเนื้อที่ครอบคลุมตำบลพนัสนิคมทั้งตำบล มีพื้นที่ 2.76 ตารางกิโลเมตร มีประชากรในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 10,567 คน[1] อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 87 กิโลเมตร ห่างจากเมืองชลบุรี 22 กิโลเมตร ห่างจากเมืองฉะเชิงเทรา 28 กิโลเมตร
ประวัติ
[แก้]ในเมืองพนัสนิคม พบโบราณสถานเมืองเก่าสมัยทวารวดี มีอายุราว 1,500 ปี อยู่ในตำบลหน้าพระธาตุ ชาวบ้านมักเรียกพนัสนิคมว่าเมือเก่า ต่อมาเรียกสมัยหลังว่าเมืองพระรถ (ชื่อสมมุติจากรถเสนชาดกในปัญญาสชาดก เป็นที่แพร่หลายในชาวลาว) อายุอยู่ในราวหลัง พ.ศ. 1000 เมืองโบราณยุคทวารวดีที่พนัสนิคมนี้ได้ลดความสำคัญลงและในที่สุดรกร้างไปราวหลัง พ.ศ. 1500 เพราะเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนไป แล้วมีบ้านเมืองแห่งใหม่ใกล้ทะเลเติบโตมีความสำคัญแทนที่
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการสถาปนาเมืองพนัสนิคมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 เป็นเมืองชั้นจัตวา สังกัดกรมท่า
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบการปกครองสิ่งใหม่เป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จึงโปรดเกล้าให้เมืองพนัสนิคมเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองชลบุรี มณฑลปราจีน เมื่อปี พ.ศ. 2447
เทศบาลเมืองพนัสนิคมถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี 14 มีนาคม พ.ศ. 2480 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลวัดโบสถ์ และตำบลวัดหลวง อำเภอพนัสนิคม
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลกุฏโง้ง อำเภอพนัสนิคม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลนาวังหิน และตำบลบ้านช้าง อำเภอพนัสนิคม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลกุฎโง้ง อำเภอพนัสนิคม
สัญลักษณ์
[แก้]ตราประจำเทศบาล
[แก้]ตราประจำเทศบาลเมืองพนัสนิคมเป็นพระรูปพระรถเสนทรงม้า เพราะท้องที่นี้เดิมเรียกว่าเมืองพระรถ อันปรากฏหลักฐานโบราณสถาน พระธาตุเจดีย์ ซากกำแพง คูเมืองโบราณ พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา รางหิน เป็นต้น ทำให้ชาวลาวอาสาปากน้ำ(ลาวนครพนม)ผู้บุกเบิกเมืองพนัสนิคมเชื่อได้ว่าเมืองร้างแห่งนี้เป็นเมืองพระรถ ตามเรื่องรถเสนชาดกในปัญญาสชาดก โดยเมืองพนัสนิคมจัดตั้งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. 2371 และพระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน พนัศนิคม) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิศาล (บางเอกสารเขียน อินพิศาล) ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน ศรีวิชัย) อุปฮาดเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน อินทรอาษา, อินทราษา) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) ลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม ประมาณ 2 พันคน นำโดยท้าวไชย อุปฮาดเมืองนครพนม บุตรชายชองพระบรมราฃา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมองค์ใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน จึงได้ไปอยู่เมืองพนัสนิคม
ใน พ.ศ. 2372 พระอินทอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม ได้ไปเกลี้ยกล่อมครอบครัวลาวเมืองนครพนมมาอยู่ที่เมืองพนัสนิคมอีกจำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุที่เมืองพนัสนิคมชาวเมืองพนัสนิคมมีความเชื่อว่าเดิมคือ เมืองพระรถ เทศบาลจึงกำหนดตราเป็นพระรูปพระรถเสนทรงม้า
คำขวัญ
[แก้]"พระพนัสบดีคู่บ้าน จักสานคู่เมือง ลือเลื่องบุญกลางบ้าน ตำนานพระรถ-เมรี ศักดิ์ศรีเมืองสะอาด เก่งกาจการทายโจ๊ก"
ประชากร
[แก้]เมืองพนัสนิคมมีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 12,000 คนเศษ ซึ่งประกอบไปด้วยชน 3 เชื้อชาติ คือชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยเชื้อสายลาว
ศาสนา
[แก้]ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายหินยาน และมหายาน นอกเหนือจากนั้นนับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม พนัสนิคมมี พระพนัสบดี เป็นพระคู่บ้าน คู่เมือง เป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากหินดำปางเสด็จจากดาวดึงส์ ประทับอยู่บนหลังสัตว์รูปร่างคล้ายนก มีปากคล้ายครุฑ มีเขาคล้ายโค และมีปีกคล้ายหงส์ เป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) ประดิษฐานอยู่บนวิหารตรงข้ามสำนักงานเทศบาล
การประกอบอาชีพ
[แก้]ชาวพนัสนิคมส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพาณิชยกรรม และหัตถกรรมที่สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับชาวพนัสนิคมเป็นอย่างมากคือ "การจักสาน" เครื่องจักสานพนัสนิคมเป็นผลิตผลจากการใช้ไม้ไผ่มาเป็นวัสดุในการจัดทำ สามารถสร้างสรรค์เป็นรูปทรงและขนาดต่างๆ ใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น กระเป๋า ตะกร้า ฝาชี เครื่องประดับตกแต่งต่างๆ ฯลฯ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2560 ท้องถิ่นเทศบาลเมืองพนัสนิคม". ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)