ข้ามไปเนื้อหา

ซ้อเจ็ด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ซ้อเจ็ด เป็นนามปากกาของนักเขียนคนหนึ่งใน ผู้จัดการออนไลน์ เกี่ยวกับดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยมีข้อมูลจากวงใน หรือข้อมูลที่สำคัญ ลักษณะการเขียน ผู้เขียนจะไม่กล่าวชื่อดาราคนนั้นว่าเป็นใครแต่จะพูดเป็นคำใบ้ต่างๆ แทน เช่น คุณป้าหน้าบาน น้องตาโตเสียงแผด นางเอกหน้าคม เป็นต้น และเปิดให้มีผู้เข้าไปอ่านเป็นจำนวนมากและแสดงความคิดเห็นต่างๆกันไป นอกจากข่าวในเว็บออนไลน์แล้ว คอลัมน์ซ้อเจ็ดมีบริการรับฟังข่าวผ่านโทรศัพท์มือถือ

ประวัติ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2543 ในขณะนั้นผู้จัดการออนไลน์มียอดคนอ่านเพียง 3,000 คนต่อวัน (อยู่อันดับ 40 ในตอนนั้น) สนธิ ลิ้มทองกุล มีคำสั่งมายังผู้ที่ใช้นามปากกาว่า ซ้อเจ็ด เปิดคอลัมน์ซุบซิบเพื่อดึงคนอ่านให้ได้หลักหมื่น โดยนามปากกา “ซ้อเจ็ด” เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่มีการอุ้มฆ่าของตระกูลวิญญรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการซอสปรุงรสยี่ห้อภูเขาทอง ซึ่งคนที่ถูกอุ้มคนสุดท้ายเป็นซ้อคนที่เจ็ด โดยการเขียนจะอัปโหลดเรื่องราวใหม่ๆ ทุกเย็นวันศุกร์ สุดสัปดาห์ แต่พอเกิดเหตุการณ์ช่วงก่อนปฏิวัติ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่มีการข่มขู่จะปิดผู้จัดการออนไลน์ จึงทำให้ซ้อเจ็ดหายไปชั่วคราว

หลังจากนั้น 2 ปี จึงกลับมาพร้อมเปลี่ยนชื่อจาก คอลัมน์ “บีบสิว” มาเป็น “บีบสิวหัวช้าง” โดยเปลี่ยนมาอัปเดตเรื่องใหม่ทุกเย็นวันจันทร์แทน โดยตีแผ่เรื่องราว ของนักการเมืองและครอบครัว ดารา นักร้อง[1]

สไตล์การเขียน

[แก้]

คาแร็กเตอร์ของซ้อเจ็ดที่ถูกสร้างคือเป็น“สตรีวัยกลางคน อายุ 45 ปี ผมหยักศก อกอิ่ม รูปร่างสมส่วน สุขภาพดี หน้าตาสดใส ไม่นิยมการแต่งหน้า เป็นภริยาท่านทูตต่างชาติ รสนิยมดี การศึกษาดี เป็นคนสู่รู้ มีอารมณ์ขัน ตลกร้าย ตรงไปตรงมา กระนั่นแม้จะปากคอจัดจ้าน ในความดิบนั้นก็มีมโนธรรม มีคุณธรรมแฝงอยู่ในบางเรื่อง”[1]

ผลงานชิ้นแรกๆ ที่สร้างชื่อให้ซ้อเจ็ด เช่นเรื่อง เกย์ ชู้ สำส่อน มั่วยา ขายตัว รวมไปถึงเรื่องราวใหญ่โตอย่าง นักการเมืองโกงกินชาติ โดยเขียนในรูปแบบสาธยายแบบเผ็ดร้อน รุนแรง ด้วยการบรรยายโวหาร กล่าวถึงคนอื่นโดยไม่ใช่อักษรย่อ มีการเล่าเรื่องที่น่าติดตาม ซึ่งเป็นการสร้างจุดขายที่แตกต่างจากข่าวซุบซิบยุคเก่า รวมถึงการบัญญัติศัพท์ใหม่ๆ เช่น ซินาอ้า

แม้จะเป็นข่าวที่มีลักษณะแบบปากต่อปาก แต่ซ้อเจ็ดก็ต้องนำข้อมูลมาตรวจสอบก่อนเขียนทุกครั้ง 3-4 รอบ รวมถึงความถูกต้องในการใช้ภาษา และการดูตัวบทกฎหมายว่าจะถูกฟ้องหรือไม่ สิ่งที่เขียนมีข้อเท็จจริง 60% และเรื่องแต่งขึ้นอีก 40% เพื่อให้เรื่องราวมีสีสันด้วยภาษาที่น่าดึงดูด [1]

การหาข่าว

[แก้]

ในช่วงปีแรก ซ้อเจ็ดเขียนข่าวทุกข่าวด้วยตัวเอง จากนั้นเริ่มมีทีมเข้ามาช่วย จาก 3 คนเป็น 5 คน ซึ่งซ้อเจ็ดจะเป็นคนกลั่นกรองและเรียบเรียงสำนวนด้วยตัวเอง เพื่อให้งานเขียนดูมีตรรกะมากขึ้น การเก็บข้อมูล นำมาจากตามวงเหล้า ตามผับ ตามบาร์ “เด็กเที่ยว” และ “สาวไซด์ไลน์” ที่มีประสบการณ์ตรง บางครั้งข้อมูลเชิงลึกก็มีการแลกกับเงินค่าเรื่อง 2,500 บาท ก็มี[1]

อิทธิพล

[แก้]

อิทธิพลในการเขียนของซ้อเจ็ด คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และยาขอบ ที่มีการเขียนเรื่องโดยใช้ กลยุทธ์ร้อยเรียงเหมือนเรื่องสั้น เพื่อให้อ่านสนุก น่าติดตาม ซ้อเจ็ดยังส่งผลต่ออิทธิพลให้เกิดคอลัมน์ประเภทซุบซิบ ในนิตยสารบันเทิงตามมา ซ้อเจ็ดวิจารณ์ไว้ว่า "บางเล่มใช้คำแรงจนดูโง่เกินไป เราแรงจริง เราถ่อย เราดิบ แต่เราไม่ต่ำ ไม่โลว์เทสต์ เราเป็นเมียท่านทูตนะ อย่างน้อยก็จบเอกชนสตรีชั้นนำ (หัวเราะ)" และซ้อเจ็ดเล่าว่า "เกินครึ่งของหัวหน้าข่าวบันเทิงในนิตยสารแนวนี้เคยเป็นลูกน้องซ้อเจ็ดมาก่อน"[1]

ความนิยม

[แก้]

ปัจจุบัน (ปี 2551) จากการจัดอันดับของทรูฮิตพบว่า www.manager.co.th อยู่อันดับที่ 4 ซึ่งคอลัมน์ซ้อเจ็ดเป็นส่วนสำคัญของผู้จัดการออนไลน์ แต่ละเรื่องมีจำนวนคนอ่านผ่านเว็บไซต์ของผู้จัดการออนไลน์ ไม่ต่ำกว่า 50,000 ครั้ง ขณะที่บางเรื่องพุ่งขึ้นสูงเกิน 100,000 ครั้ง (ไม่นับรวมการอ่านจากเว็บไซต์อื่นที่นำไปโพสต์ต่ออีกที) และยอดการค้นหาชื่อ ซ้อเจ็ด จากกูเกิล มีสูงถึง 100,000 รายการ ส่วนคอลัมน์ของซ้อเจ็ดเองเป็นตัวอย่างของเว็บบอร์ดที่มีการตอบกระทู้มากที่สุด ตั้งแต่หลักหลายร้อยจนทะลุหลักพัน ในขณะที่ซ้อเจ็ดเป็นที่นิยมของแฟนคลับ[1] ในทางตรงกันข้ามก็มีศัตรู คู่กรณีเช่นกัน ถึงกับมีพระเอกคาสโนวาประกาศจะล่าซ้อเจ็ด ด้วยค่าหัว 70 ล้านบาท [2] และจากกรณีต่อพงษ์ เศวตามร์ บรรณาธิการข่าวบันเทิง หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน และ ASTVผู้จัดการออนไลน์ที่เคยถูกคนร้ายใช้เหล็กแป๊บตีที่ศีรษะจนแตกเลือดอาบ เคยสัมภาษณ์ว่า เมทนี บุรณศิริ คิดว่าต่อพงษ์เป็นคนเขียนคอลัมน์ซ้อเจ็ด ใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ แต่ต่อพงษ์ยืนกรานว่าไม่ได้เขียน[3]

รูปแบบข่าวที่มีลักษณะเป็นข่าวเมาท์ ข่าวซุบซิบ ซึ่งซ้อเจ็ดมีชื่อเสียงความโด่งดังจากเรื่องงานเขียนถูกต้องและเป็นจริง อย่างกรณีนางเอกเบนโล ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง และด้วยเหตุที่ซ้อเจ็ด กล้า ที่จะฉะกับดารา ไฮโซ นักการเมือง ทำให้ได้รับความนิยมจากแฟนคลับ อีกทั้ง “ความน่าเชื่อถือ” ก็เป็นส่วนหนึ่งของความนิยมนี้

ความสนใจของตัวซ้อเจ็ด กับผู้อ่าน ตั้งข้อสังเกตจากความเห็นที่โพสต์ไว้ในเว็บไซต์และความสงสัยใคร่รู้ของคนชอบท่องเว็บฯ ซึ่งมักมีคำถามประเภท 'ซ้อเจ็ด เป็นใคร? ชายหรือหญิง? เกย์หรือกะเทย? ซึ่งเกิดขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ และมีเสียงคาดเดาว่า ซ้อเจ็ดคือใคร เดากันไปบ้างว่า คือ สันติ เศวตวิมล บ้างก็ว่าเป็น ดร. เสรี วงษ์มณฑา หรือบอกว่าเป็น ต้อย แอคเนอร์ ก็มี[4]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]