บางกอกอารีนา (เขตหนองจอก)
ชื่อเต็ม | บางกอกอารีนา Bangkok Arena |
---|---|
ที่ตั้ง | ถนนเชื่อมสัมพันธ์ แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
เจ้าของ | กรุงเทพมหานคร |
ผู้ดำเนินการ | กรุงเทพมหานคร |
ความจุ | 15,000 ที่นั่ง |
ขนาดสนาม | 116 x 132 เมตร |
พื้นผิว | อเนกประสงค์ |
ป้ายแสดงคะแนน | จอภาพผลึกเหลว |
การก่อสร้าง | |
ลงเสาเข็ม | 24 มกราคม พ.ศ. 2555 |
ก่อสร้าง | มกราคม พ.ศ. 2555 |
เปิดใช้สนาม | 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557 |
งบประมาณในการก่อสร้าง | ~1,300 ล้านบาท[1] |
สถาปนิก | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี |
ผู้จัดการโครงการ | กรุงเทพมหานคร |
ผู้รับเหมาหลัก | บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) |
การใช้งาน | |
ฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 (ระงับไม่ให้ใช้) อาเซียนฟุตซอลแชมเปียนชิพ 2015 เอเอฟซีฟุตซอลคลับแชมเปียนชิพ 2016 ไทยแลนด์ไฟฟ์ 2016 อาเซียนฟุตซอลแชมเปียนชิพ 2016 เอเอฟซีฟุตซอลคลับแชมเปียนชิพ 2019 เทคบอลชิงแชมป์โลก 2023 ฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2024 |
บางกอกอารีนา (อังกฤษ: Bangkok Arena) หรือชื่อเดิมว่า บางกอกฟุตซอลอารีนา เป็นอะรีนาที่มีความจุมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวน 15,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 50 ไร่ ภายในศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีโครงการพัฒนาเป็นศูนย์กีฬาทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครในอนาคต
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ลงมติให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 จึงเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลเพื่อใช้เป็นสนามหลักในการแข่งขันพร้อมทั้งการจัดพิธีเปิดและพิธีปิดการแข่งขัน ในปี พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติให้กรุงเทพมหานครที่มีหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตรเป็นผู้ว่าราชการ รับผิดชอบโครงการด้วยวงเงินประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยลงนามในสัญญาจ้างบริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) เพื่อเริ่มการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555[2] และมีพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555
สนามกีฬาออกแบบโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีการนำเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงานเข้าประยุกต์ใช้ในการออกแบบอาคาร นอกจากนี้ ยังมีการใช้ดอกจอก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำเขตหนองจอก เป็นแนวคิดในการออกแบบทางสถาปัตยกรรมอีกด้วย
ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ระหว่างการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 คณะกรรมการฟุตซอลของฟีฟ่า มีมติยกเลิกการใช้สนามบางกอกฟุตซอลอารีนา เนื่องจากการก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ฟีฟ่ากำหนด และให้ใช้สนามอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก เป็นสนามหลักในการแข่งขันแทน[3]
ประวัติ
[แก้]การออกแบบและจัดหาพื้นที่ก่อสร้าง
[แก้]สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553[4] โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวม ต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเสนอทางเลือกดำเนินการเกี่ยวกับสนามหลักที่ใช้แข่งขัน เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ฟีฟ่ากำหนดความจุผู้ชมที่ 10,000-15,000 คน ต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ในสามรูปแบบคือ การก่อสร้างสนามกีฬาขึ้นใหม่ โดยเลือกจากสองพื้นที่ ได้แก่ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และที่ดินบริเวณศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการของกรุงเทพมหานครที่เขตหนองจอก อีกรูปแบบหนึ่งคือการปรับปรุงสนามอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก กับอาคารกีฬานิมิบุตร กรีฑาสถานแห่งชาติ โดยมีข้อสรุปว่า ให้ใช้ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ดำเนินการก่อสร้าง[5]
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์อนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างสนามแห่งนี้ เป็นจำนวนเงิน 1,239 ล้านบาท[6] โดยกรุงเทพมหานครมอบหมายให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นผู้ออกแบบ รวมถึงศึกษาการใช้พื้นที่บริเวณสนาม[7] และลงนามในสัญญาจ้างบริษัท อีเอ็มซี จำกัด(มหาชน)เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 [2] โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์แจ้งต่อฟีฟ่าว่า กรุงเทพมหานครกำหนดให้สนามแห่งนี้มีชื่อว่า บางกอกฟุตซอลอารีนา (Bangkok Futsal Arena)[8]
การก่อสร้างและการตรวจสอบ
[แก้]เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์สนามแห่งนี้ โดยมีระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 250 วันจากเวลาปกติ 500 วัน เป็นผลให้ต้องเร่งรัดการก่อสร้าง ด้วยการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง[9] มีการใช้วัสดุโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ทันสมัย เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น อาทิการใช้เหล็กรับแรงดึงแทนการใช้สายเคเบิล เพื่อลดขั้นตอนการติดตั้งและการผลิต[10] การใช้คอนกรีตหล่อสำเร็จรูป แทนการหล่อคอนกรีตในเขตก่อสร้าง รวมไปถึงการทำงานหลายอย่างไปพร้อมกัน เช่นการปูพื้นสนามพร้อมการทาสี การติดตั้งเก้าอี้บนอัฒจันทร์ในเวลาเดียวกับการก่อสร้าง เป็นต้น
การก่อสร้างมีการตรวจประเมินจากคณะทำงานของฟีฟ่าเป็นระยะ ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ร่วมกับสนามอื่นๆ ที่ใช้ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 อีกสามแห่ง มีผลเป็นที่น่าพอใจ[11] รวมถึงการตรวจสอบในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ผู้แทนจากฟีฟ่าแสดงความพอใจที่การก่อสร้างมีความคืบหน้า โดยจะต้องรอตรวจสอบความสมบูรณ์พร้อมของสนามในเดือนสิงหาคมอีกครั้ง[12] ในวันที่ 13 กันยายน นางนฤมล ศิริวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการกีฬาวุฒิสภา คาดการณ์ว่าการก่อสร้างสนามอาจเสร็จสิ้นไม่ทันการแข่งขัน[13] อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครซึ่งรับผิดชอบงานก่อสร้างสนาม ก็เร่งการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง[9] โดยระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม คณะทำงานของฟีฟ่าเดินทางมาตรวจประเมินความพร้อมของสนามแข่งขันอีกครั้ง
จนกระทั่งในวันที่ 5 ตุลาคม ฟีฟ่าประกาศเปลี่ยนแปลง กำหนดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 โดยให้ย้ายการแข่งขันในช่วงแรก ไปจัดที่อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก แทน และเริ่มการแข่งขันที่บางกอกฟุตซอลอารีนาเป็นครั้งแรก ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน จนถึงนัดชิงชนะเลิศ[14] อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของฟีฟ่าจะประเมินความพร้อมใช้งานของสนามอีกครั้ง ในวันที่ 25 ตุลาคม[15] ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม มีการทดสอบระบบเสียงภายในสนาม รวมถึงติดตั้งจอภาพผลึกเหลวเพื่อเป็นป้ายบอกคะแนน บนหลังคาส่วนกลางเหนือสนาม ส่วนพื้นสนามอยู่ระหว่างการขนส่งมาถึงประเทศไทย ซึ่งล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้เดิม เนื่องจากมีปัญหาที่ด่านกักกันสินค้าทางฝั่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะสามารถติดตั้งได้ราววันที่ 26 - 28 ตุลาคม และจะทำการทดสอบพื้นสนาม ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555
พิธีเปิดสนาม
[แก้]เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ เป็นประธานในพิธีเปิดสนามบางกอกฟุตซอลอารีนา ซึ่งประกอบด้วยการบวงสรวงทางศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดู หลังจากนั้น คณะทำงานผู้แทนฟีฟ่าเข้าตรวจสอบสนามในช่วงบ่าย ต่อมาในช่วงเย็น มีการจัดแข่งขันฟุตซอลนัดพิเศษ ระหว่างทีมบีเอ็มเอออลสตาร์ (รวมกรุงเทพมหานคร) กับทีมรวมสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างสนามยังไม่เสร็จเรียบร้อยและต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยคณะทำงานผู้แทนฟีฟ่า แจ้งให้ปรับปรุงห้องรับรองพิเศษและห้องน้ำ ส่วนงานก่อสร้างอยู่ระหว่างรอวัสดุปูพื้น[16]
ต่อมา กรุงเทพมหานครจัดให้มีกิจกรรมเพื่อเปิดใช้สนามอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนปีเดียวกัน โดยมีการแสดงคอนเสิร์ต และจัดแข่งขันฟุตซอล ชิงถ้วยรางวัลหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ โดยเชิญประชาชนเข้าชมเต็มความจุของสนาม[17] พร้อมกับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บางกอก อารีนา
ต่อมาในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ขณะที่การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 กำลังแข่งขันเป็นวันสุดท้ายของนัดที่สอง คณะกรรมการฟุตซอลของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ แถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ฟีฟ่า นครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศให้ยกเลิกการใช้สนามบางกอกฟุตซอลอารีนาอย่างเป็นทางการ[3] เป็นผลให้ฟีฟ่าต้องย้ายสถานที่แข่งขันตั้งแต่รอบก่อนรองชนะเลิศ เฉพาะนัดที่กำหนดว่าจะแข่งขันที่สนามแห่งนี้ โดยเปลี่ยนไปใช้อาคารกีฬานิมิบุตร กรีฑาสถานแห่งชาติ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ[18] และอินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ในรอบรองชนะเลิศ กับนัดชิงชนะเลิศตามลำดับ[19] โดยฟีฟ่าชี้แจงว่าก่อนหน้านี้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเดินทางไปตรวจสอบความเรียบร้อยและความปลอดภัยทั่วไป ยังสถานที่ก่อสร้างจริงถึงสองครั้ง คือวันที่ 3 และ 5 พฤศจิกายนแล้ว[3]
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างคือกรุงเทพมหานคร[20] กำหนดไว้ตามโครงการว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 500 วัน ทว่าด้วยความล่าช้าในการก่อสร้าง ซึ่งอ้างถึงอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เป็นเหตุในการปรับลดเวลาลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 250 วันเท่านั้น โดยปฏิบัติงานต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เหล็กแทนสายเคเบิลเพื่อรับแรงดึง ใช้คอนกรีตซึ่งหล่อสำเร็จรูปมาแล้ว แทนการหล่อคอนกรีตขึ้นภายในสถานที่ก่อสร้าง ตลอดจนปฏิบัติงานหลายอย่างในบริเวณเดียวกันไปพร้อมกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเร่งรัดให้การก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็วที่สุด[21] เป็นผลให้การก่อสร้างสนามแห่งนี้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ฟีฟ่ากำหนด[1]
ด้านหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ กล่าวแสดงความเสียใจหลังทราบผลการตรวจสอบ เนื่องจากข้าราชการและฝ่ายการเมืองทำงานหนักมาตลอดหลายเดือน ส่วนตัวทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว ถึงแม้จะเกิดอุทกภัยเป็นเวลา 4-5 เดือน แต่ก็ยังก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเชื่อว่าสามารถใช้แข่งขันได้อย่างไม่มีปัญหา ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น (7 พฤศจิกายน) เสียด้วยซ้ำ เนื่องจากคณะทำงานของฟีฟ่าก็เดินทางมาเยี่ยมชมการทดสอบแล้ว ทั้งในส่วนพื้นสนามและความปลอดภัย โดยเฉพาะมีการนำประชาชนจำนวน 650 คนมาทดสอบความปลอดภัยของสนาม ตลอดจนปรับปรุงทางหนีไฟแล้ว ซึ่งเมื่อวานนี้ (5 พฤศจิกายน) ตนเห็นว่าคณะทำงานของฟีฟ่าก็แสดงความพึงพอใจ[20]
แต่คาดว่าสาเหตุที่ฟีฟ่าไม่ใช้สนามแห่งนี้ เพราะมีการสั่งให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างห้องทำงานวีไอพีเพิ่มเติม สำหรับเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าซึ่งจะเดินทางมาอีก 300 คน ซึ่งทางกรุงเทพมหานครก็กำลังดำเนินการอยู่ ทว่ามีประกาศยกเลิกการใช้สนามออกมาเสียก่อน นอกจากนี้ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ยังตัดพ้อว่า ฟีฟ่าไม่มีการแจ้งผลมาให้กรุงเทพมหานครทราบด้วยช่องทางติดต่อใดๆ ก็ตาม แม้แต่การโทรศัพท์มา เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นเมืองคู่สัญญาจัดการแข่งขัน จึงควรแจ้งมาที่ตนก่อนจะมีการแถลงข่าว เพราะทางกรุงเทพมหานครก็ปฏิบัติตามข้อกำหนดของฟีฟ่าทุกประการ[20]
รายละเอียดสนามกีฬา
[แก้]อาคารสนามกีฬา
[แก้]สนามกีฬาเป็นรูปแบบสนามกีฬาในร่ม ออกแบบให้เป็นอเนกประสงค์ เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้สนามในกิจการอื่น ๆ ได้ในภายหลัง สนามมีความกว้าง 116 เมตร ความยาว 132 เมตร อัฒจันทร์ 5 ระดับชั้น สูง 25 เมตร (หลังคาสูง 34 เมตร) มีความจุผู้ชม 12,000 คน ตัวอาคารมีขนาด 10 ไร่ รวมพื้นที่ใช้สอยประมาณ 30,000 ตารางเมตร[22] การออกแบบโครงสร้างของสนาม ใช้เหล็กรับแรงดึง (Cable Rod) ความยาว 132 เมตร ดึงโครงหลังคาเหล็ก น้ำหนักประมาณ 3,000 ตัน[23]
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
[แก้]ดอกจอกเป็นจุดเริ่มต้นแนวความคิดด้านสถาปัตยกรรม[24] โดยเสาและโครงหลังคาจะเป็นลายกนก โดยมีการผสมผสานลวดลายของดอกจอก[22]
บางกอกฟุตซอลอารีนาเริ่มต้นการก่อสร้างในราวเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ทำให้มีระยะเวลาการก่อสร้างที่สั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีสื่อหลากหลายแขนงได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการก่อสร้าง เช่น พัชรินทร์ ธรรมรส จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์กล่าวว่า "...หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดตามและใส่ใจที่จะร่วมกันผลักดันงานเพื่อประเทศชาติร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือ กทม. ป่านนี้เราอาจจะได้ชื่นชมกับสนามฟุตซอล... บทเรียนครั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันระดับโลกของคนไทย จะมีการเตรียมพร้อมทั้งแผนและการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย แบบไม่ต้องลุ้นกันหืดขึ้นคออย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่..."[25] ภายหลังคณะกรรมการสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) มีมติให้ใช้สนามอินดอร์สเตเดียม หัวหมากในการจัดการแข่งขันในช่วงแรกแทน เนื่องจากพิจารณาว่าสนามบางกอกฟุตซอลอารีนาซึ่งจัดสร้างขึ้นใหม่นี้อาจเสร็จไม่ทันกำหนด[14] ในคอลัมน์ข่าวกีฬาของเว็บไซต์สนุก.คอมโดยเมฆา ฟ้าแวบแวบ กล่าวว่า "...อยากรู้ว่าหากสนามฟุตซอลสร้างเสร็จไม่ทันกำหนด ใครจะรับผิดชอบ และสนามแห่งนี้จะมีแผนการใช้อย่างไรในอนาคต มีใครตอบตรงนี้ได้บ้าง..." และ ""งานนี้เตรียมอับอายกันได้แล้ว" ไม่ได้ดูถูกฝีมือคนไทย แต่ดูยังไงมันก็ไม่น่าจะเสร็จทัน!!!"[26]
การคมนาคมที่เกี่ยวข้อง
[แก้]กรุงเทพมหานคร จัดรถขนส่งมวลชนถึงสนาม โดยให้บริการในสามเส้นทาง ดังต่อไปนี้[27]
- เส้นทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผ่านถนนร่มเกล้า ถนนเจ้าคุณทหาร ถนนฉลองกรุง และถนนเชื่อมสัมพันธ์
- เส้นทางจากเดอะมอลล์บางกะปิ ผ่านถนนลาดพร้าว ถนนเสรีไทย ถนนสุวินทวงศ์ และถนนเชื่อมสัมพันธ์
- เส้นทางจากแฟชั่นไอส์แลนด์ ผ่านถนนรามอินทรา ถนนสุวินทวงศ์ และถนนเชื่อมสัมพันธ์
โรงพยาบาลสนามในเหตุการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19
[แก้]ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา ได้รับการปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนาม ในชื่อ "โรงพยาบาลเอราวัณ 2" ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 ของกรุงเทพมหานคร ในเหตุการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 เริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564 รองรับผู้ป่วย ได้ 400 เตียง แบ่งเป็นผู้ป่วยชาย 150 เตียง, หญิง 250 เตียง โดยเว้นระยะห่างระหว่างเตียง 1.5 เมตร เปิดรับผู้ป่วยติดเชื้อไม่มีอาการ (ผู้ป่วยโควิดเขียว) เข้ารักษา[28]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1,300 ล้านสูญเปล่า!! ′ฟีฟ่า′ เซย์โน ′บางกอก ฟุตซอล อารีน่า′ หวดโต๊ะเล็กโลก 2012, 6 พฤศจิกายน 2555, ข่าวมติชนออนไลน์
- ↑ 2.0 2.1 EMC ลงนามสัญญาจ้างระหว่าง กทม. โครงการสนามกีฬาฟุตซอล (หนองจอก) เก็บถาวร 2013-11-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน). (สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2555)
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Indoor Stadium Huamark to host Futsal World Cup final เก็บถาวร 2012-11-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 6 November 2012, FIFA Futsal World Cup News เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ ไทยเฮจัดโต๊ะเล็กโลกหนแรกในประวัติศาสตร์, 19 มีนาคม 2553, ข่าวสยามสปอร์ต. (สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2555)
- ↑ ฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 จากสยามสปอร์ต (สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2555)
- ↑ รัฐไฟเขียวงบ 1,239 ล้านให้ กทม.สร้างสนามฟุตซอลชิงแชมป์โลกปี'55 เก็บถาวร 2012-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 9 พฤษภาคม 2554, www.manager.co.th. (สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2555
- ↑ 'ทยา'เล็งที่'อสมท'สร้างเมนสเตเดี้ยม ทำสนามฟุตซอล-เดินทางสะดวก-อยู่กลางเมือง, 4 มีนาคม 2554, หนังสือพิมพ์ข่าวสด. (สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2555)
- ↑ ผู้ว่ากทม.ใช้ Bangkok Futsal Arena เป็นชื่อสนามฟุตซอลโลก เก็บถาวร 2012-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 7 มีนาคม 2555, ข่าววอยซ์ทีวี. (สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2555)
- ↑ 9.0 9.1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กทม.เร่งสร้างสนามฟุตซอล ส่งมอบฟีฟ่าทัน 21 ต.ค. นี้ สืบค้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555
- ↑ สู่ความสำเร็จในงานก่อสร้าง เก็บถาวร 2015-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555
- ↑ บอร์ดฟีฟ่าพอใจสนามฟุตซอลโลกไทยคืบหน้า, สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2555
- ↑ 'ฟีฟ่า' ชมเปาะ สนามฟุตซอลไทยคืบหน้า, 6 กรกฎาคม 2555, ข่าวไทยรัฐออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2555
- ↑ ′กมธ.สว.′ หวั่นสนามฟุตซอลเสร็จไม่ทัน ยันต้องมีคนรับผิดชอบ! - ′ฟีฟ่า′ บินตรวจ 9 ต.ค., 13 กันยายน 2555, ข่าวมติชนออนไลน์. (สืบค้นเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2555)
- ↑ 14.0 14.1 ไม่ทันพิธีเปิด!"ฟีฟ่า"แจ้งให้ใช้"แบงค็อก ฟุตซอล อารีน่า"เตะรอบ8ทีม+รอบรอง+ชิงชนะเลิศ, 5 ตุลาคม 2555, ข่าวมติชนออนไลน์. (สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2555)
- ↑ [1] เก็บถาวร 2021-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 5 ตุลาคม 2555, ข่าวโกล์ดอตคอม. (สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2555)
- ↑ 'ฟีฟ่า'เซอร์ไพรส์สนามฟุตซอลอารีน่าเปิดตัวอลังการ สืบค้น 1 พฤศจิกายน 2555
- ↑ กทม. เปิดสนามบางกอก ฟุตซอล อารีน่า (สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2555)
- ↑ งามหน้าแล้ว!!! ฟีฟ่าสั่งไม่ใช้ 'หนองจอก' จัดฟุตซอลโลก, 6 พฤศจิกายน 2555, ข่าวไทยรัฐออนไลน์.
- ↑ Futsal World Cup matches moved เก็บถาวร 2012-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 5 November 2012, FIFA Futsal World Cup News เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 กทม.หน้าแตก "ฟีฟ่า" ไม่ใช้สนามบางกอกฟุตซอลอารีน่า-สุขุมพันธุ์พ้อไม่ยอมโทร.มาบอกก่อน, 6 พฤศจิกายน 2555,
- ↑ ปิดฉากสนามบางกอกฟุตซอลอารีนา เก็บถาวร 2012-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 6 พฤศจิกายน 2555, ข่าววอยซ์ทีวี
- ↑ 22.0 22.1 สนามฟุตซอล1.2พันล.มาตรฐานโลก, สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2555
- ↑ โดดเด่นด้วยการออกแบบ เก็บถาวร 2015-08-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2555
- ↑ รู้จัก Bangkok Futsal Arena เก็บถาวร 2015-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2555
- ↑ บริหารจัดการยังไม่มืออาชีพ ลุ้นระทึก "สนามฟุตซอลโลก", 1 ตุลาคม 2555, ข่าวเดลินิวส์. (สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2555)
- ↑ ก็แค่อับอายกันทั้งประเทศ เก็บถาวร 2012-10-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2555)
- ↑ เส้นทางสู่สนาม เก็บถาวร 2015-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2555
- ↑ "เปิดใช้ รพ.สนาม 'เอราวัณ 2' วันแรก รับผู้ป่วย 'โควิด' ได้ 400 เตียง". กรุงเทพธุรกิจ. 2021-04-23. สืบค้นเมื่อ 2021-05-04.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2017-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ บางกอกอารีนา (เขตหนองจอก)
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์