เหตุการณ์ก๊อด'ส อาร์มี่บุกยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542 และโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี พ.ศ. 2543
เหตุการณ์ก๊อด'ส อาร์มี่บุกยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542 | |
---|---|
เป็นส่วนหนึ่งของ ความขัดแย้งภายในพม่า | |
นายเบดาห์หรือปรีดา ผู้นำการก่อการร้ายที่ โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี | |
สถานที่ | สถานทูตเมียนมาร์, กรุงเทพ, ประเทศไทย |
วันที่ | 7 ตุลาคม พ.ศ. 2542 |
ประเภท | ตัวประกันถูกจับ 89 คน |
อาวุธ | ปืนเล็กยาวจู่โจมAK-47, ระเบิดมือ, เครื่องยิงลูกระเบิด |
ตาย | 0 |
ผู้ก่อเหตุ | นักรบนักศึกษาพม่า ก๊อด อาร์มี่ (disputed) |
เหตุการณ์ก๊อด'ส อาร์มี่บุกยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542 และโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี พ.ศ. 2543 เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศไทยที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกัน 2 เหตุการณ์ในช่วงระยะเวลาห่างกันเพียงไม่กี่เดือน ด้วยกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน ที่เป็นนักศึกษากะเหรี่ยงคริสต์ สัญชาติพม่า ติดอาวุธสงคราม เรียกกองกำลังตัวเองว่า ก๊อด'ส อาร์มี่ (God's Army) หรือ กองกำลังพระเจ้า
เหตุการณ์บุกยึดสถานทูตพม่า
[แก้]เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 เวลา 11.45 น. จู่ ๆ กลุ่มนักศึกษาพม่า จำนวน 12 คน พร้อมอาวุธปืนและระเบิด บุกเข้าไปในสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทร จับเจ้าหน้าที่สถานทูตและประชาชนที่เข้าไปติดต่อราชการเป็นตัวประกัน ไว้ได้ราว 20 คน จากนั้นก็ชักธงชาติพม่าและชักธงของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (Nationality League for Democracy) ขึ้นไปแทน
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมนักศึกษาพม่าคนอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณเดียวกันมาสอบสวน ควบคู่ไปกับการเจรจาปล่อยตัวประกัน ทำให้ทราบว่า หัวหน้าผู้ก่อการครั้งนี้ ชื่อ นายจอห์นนี่ ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลทหารพม่าให้ปล่อยตัว นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน ให้กลับไปทำหน้าที่หลังได้รับการเลือกตั้งหลายถล่มทลายในปี พ.ศ. 2533 ทางฝ่ายรัฐบาลไทย พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เดินทางมาสั่งการและเปิดศูนย์อำนวยการขึ้นที่อาคารไบเออร์ ที่อยู่ติดกับสถานทูต
ระหว่างนี้ การเจรจาไม่ได้ผล แต่ตัวประกันสามารถทยอยหนีออกมาได้เรื่อย ๆ หลังสถานทูต จนเหลือเพียง 5 คน
จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. นายจอห์นนี่ได้ต่อรองขอเฮลิคอปเตอร์ให้ไปส่งตนและพรรคพวกที่ชายแดนไทย-พม่า ที่จังหวัดราชบุรี ทางรัฐบาลไทยได้ตอบรับ โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ เสนอตัวเป็นตัวประกันนั่งโดยสารไปด้วยเพื่อรับรองความปลอดภัยจนกระทั่งถึงที่หมาย ซึ่งระหว่างตอนที่รถของนักศึกษาและรถของเจ้าหน้าที่ไทยออกจากสถานทูต ได้มีการปิดถนนสาทรและมีการรายงานสดจากที่เกิดเหตุของบรรดาสื่อมวลชนช่องต่าง ๆ
ในที่สุด เมื่อผ่านไป 25 ชั่วโมงนับจากเกิดเหตุ เหตุการณ์ก็จบลงอย่างสงบ
หลังจากนั้น สื่อมวลชนได้ต่างพากันเสนอแนะและวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้อย่างกว้างขวาง ทำให้ทราบว่า กองกำลังก๊อด'ส อาร์มี่ นี้ มีผู้นำเป็นเด็กผู้ชายฝาแฝดอายุเพียง 12 ขวบ ชื่อ ลูเธอร์ กับ จอห์นนี่ ทู เป็นเด็กแฝดที่มีลิ้นสีดำ ซึ่งเป็นผู้มีบุญตามคติความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่า และที่พำนักของนักศึกษาพม่าในประเทศไทย มีศูนย์ใหญ่ที่สุด ชื่อ ศูนย์มณีลอย ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีนักศึกษาที่หลบหนีจากเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศพม่ามาพำนักยังศูนย์นี้จำนวนมาก ซึ่งทางรัฐบาลจะต้องให้ความดูแลและรอบคอบทางด้านความปลอดภัยมากกว่านี้
เหตุการณ์บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี
[แก้]เหตุการณ์ก๊อด'ส อาร์มี่บุกยึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี พ.ศ. 2543 | |
---|---|
เป็นส่วนหนึ่งของ ความขัดแย้งภายในพม่า | |
สถานที่ | โรงพยาบาลราชบุรี ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี |
วันที่ | 24 มกราคม พ.ศ. 2543 ถึง 25 มกราคม พ.ศ. 2543 |
ประเภท | จับตัวประกัน (ตัวประกันถูกจับประมาณ 1,000 คน) |
อาวุธ | ปืนเอ็ม 16,ลูกระเบิดเอ็ม 79,ปืนอาก้า, ปืนขนาด 9 ม.ม., ลูกระเบิดขว้างเอ็ม 67, ชนวนฝักแคพร้อมเชื้อประทุ, ทุ่นระเบิดเอ็ม 18 เอ (เคโม)[1] |
ตาย | 10 (ผู้ก่อเหตุ10คน) |
ผู้ก่อเหตุ | ก๊อด อาร์มี่ |
เช้าวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2543 กองกำลังนักศึกษาพม่า ที่นำโดย นายเบดาห์หรือปรีดา จำนวน 10 คน ได้ก่อเหตุขึ้นและอุกอาจยิ่งกว่าเดิม ด้วยการปลอมตัวเป็นผู้โดยสารนั่งรถประจำทางสายสวนผึ้ง-ราชบุรี แล้วใช้ปืนเอ็ม-16 และระเบิดจี้คนขับรถให้พาไปยังโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี เมื่อไปถึงได้บุกยึดโรงพยาบาล จับแพทย์ พยาบาล และคนไข้ประมาณ 1,000 คน เป็นตัวประกัน
จากนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยพยายามเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากผู้ก่อการได้วางระเบิดดักไว้ที่ลานจอดรถทั้งด้านหน้าและด้านหลังโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีเจรจาต่อรองจนทราบว่า กลุ่มก๊อด'ส อาร์มี่ ต้องการนำตัวแพทย์ และพยาบาลไปรักษาทหารกะเหรี่ยงที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทหารรัฐบาลพม่าปราบปรามอย่างหนัก การเจรจาผ่านไปเกือบ 20 ชั่วโมง กลุ่มก๊อด'ส อาร์มี่ได้ร้องขอเครื่องมือสื่อสารและเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ให้พากลับไปส่งยังชายแดน ที่อำเภอสวนผึ้ง
ในขณะที่พยายามจัดหาสิ่งที่ฝ่ายผู้ก่อการร้องขอมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทั้งทหารและตำรวจพยายามต่อรองเพื่อหันเหความสนใจ โดยการถ่วงเวลาให้ผู้ก่อการอ่อนล้าและรอกำลังเสริม เพราะฝ่ายไทยต้องการจัดการขั้นเด็ดขาด
ในที่สุด เวลา 04.00 น. ของวันที่ 25 มกราคม กองกำลังผสม หน่วยนเรศวร 261 และหน่วยอรินทราช 26 จำนวน 50 นายได้บุกเข้าไปช่วยเหลือตัวประกัน ควบคู่ไปกับการจัดการขั้นเด็ดขาด โดยใช้เวลาเพียงไม่ถึง 20 นาที สามารถช่วยเหลือตัวประกันไว้ได้ทั้งหมดอย่างปลอดภัย และกลุ่มก๊อด'ส อาร์มี่ เสียชีวิต 10 คน
กระทั่งวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2544 ลูเธอร์และจอห์นนี่ ทู พร้อมลูกน้องทั้ง 55 คน ได้เข้ามอบตัวต่อทางการไทย และถูกส่งไปอยู่ในค่ายผู้อพยพ "พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านต้นยาง" ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
อ้างอิง
[แก้]- หนังสือ 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2549 โดย สำนักพิมพ์มติชน, ISBN 974-323-889-1
- เปิดใจแฝด "ก๊อด อาร์มี่" หัดเล่นกีตาร์ฝันออกเทป
- นักรบชายขอบ โดยนิตยสารสารคดี