วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดโพธิ์ ท่าเตียน |
ที่ตั้ง | 2 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 10200 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร |
นิกาย | เถรวาท มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธเทวปฏิมากร |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระพุทธไสยาส พระพุทธโลกนาถ พระพุทธศาสดามหากรุณาธิคุณ พระพุทธมารวิชัยอภัยปรปักษ์ พระพุทธชินราชวโรวาท พระพุทธชินสีห์มุนีนาถ พระพุทธปาลิไลยภิรัติไตรวิเวก พระศรีสรรเพชญุดาญาณ |
เจ้าอาวาส | สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร) |
ความพิเศษ | วัดประจำรัชกาลที่ 1 |
จุดสนใจ | วิหารพระพุทธไสยาสน์ วิหารทิศฝั่งตะวันออก (วิหารพระโลกนาถ) และพระอุโบสถ |
กิจกรรม | นวดแผนไทย |
การถ่ายภาพ | ไม่ควรใช้แฟลช ในการถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง ส่วนภายในอาคาร บางอาคารห้ามถ่ายภาพ ควรสังเกตป้าย |
เว็บไซต์ | www.watpho.com |
หมายเหตุ | |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม |
ขึ้นเมื่อ | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0000071 |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
จารึกวัดโพธิ์ * | |
---|---|
ความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโก | |
ที่เก็บรักษา | วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร |
ประเทศ | ไทย |
ภูมิภาค ** | เอเชียและแปซิฟิก |
อ้างอิง | 2010-16 |
ประวัติการขึ้นทะเบียน | |
ขึ้นทะเบียน | 2554 |
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีความทรงจำแห่งโลก ** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก |
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม คำอ่าน: [วัด-พฺระ-เชด-ตุ-พน-วิ-มน-มัง-คะ-ลา-ราม][1] โดยทั่วไปเรียก วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร[2] และเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551[3] และวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ และลำดับที่ 3 ของประเทศไทย
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์[4] พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง 8,155,000 คน[5]
ประวัติ
[แก้]วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามตามประวัติสร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการสร้าง แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลัง พ.ศ. 2231 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[6] บ้างว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชา[7]
เดิมเรียกว่า "วัดโพธาราม" หรือ "วัดโพธิ์" สันนิษฐานว่าเพราะเป็นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่ต่อมาคติความเชื่อเรื่องการบูชาพระศรีมหาโพธิ์เสื่อมคลายลงไป ไม่ได้รับความนิยมเหมือนครั้งอดีต จึงคงเหลือแต่ชื่อเรียกสืบต่อมา ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งปรากฏอยู่ใน พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ว่า พระพิมลธรรม เป็นเจ้าอาวาสของวัดโพธาราม และจึงเริ่มมีพระราชคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา
ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดนี้ใหม่ในปี พ.ศ. 2331 โดยทรงสร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนบูรณะของเดิม เมื่อแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2344 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส" แปลว่า "ที่อยู่อันงามของพระพุทธเจ้า"[7] เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
นับจากนั้นวัดพระเชตุพนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกสรรพตำราต่าง ๆ ลงบนแผ่นหินอ่อนประดิษฐ์ไว้ตามศาลารายต่าง ๆ ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้สร้อยนามพระอารามว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร" นามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนี้ ปรากฏในประกาศรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2411 ว่า "วัดนี้แม้จะมีนามพระราชทานมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แต่ชื่อพระราชทานมีผู้เรียกแต่อยู่ในพระราชวัง คนยังเรียกว่าวัดโพธิ์กันทั้งแผ่นดิน" และมีพระราชดำริว่า "ชื่อพระราชทานเป็นชื่อตั้งไม่ปิดไม่แน่นจะคิดแปลงใหม่เห็นจะไม่ชนะ"[8]
ภายในพระอารามยังได้เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร โดยนิตินัย ก่อนที่จะมีพิธีราชาภิเษกอีกครั้งที่กรุงพนมเปญ โดยพฤตินัย ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชกาลพระองค์นั้น มีการสถาปนาพระมหาเจดีย์อีก 1 องค์ โดยมีความจำเป็นที่ต้องรื้อศาลารายพระมณฑปและพระระเบียง[9]
ต่อมาได้มีบันทึกของนักเดินทางชาวนอร์เวย์ คือ คาร์ล บ็อก (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยา ที่เดินทางเข้ามาสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ในสยามเมื่อ พ.ศ. 2424 เขามองว่าวัดโพธิ์เป็นหนึ่งในสามของวัดที่มีความสำคัญของกรุงเทพ (อีกสองวัดคือ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารและวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) เขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า พระระเบียงที่วัดโพธิ์ในช่วงนั้นซึ่งทาสีขาวมีความสกปรกมาก ทำให้เมื่อ พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้กระทรวงโยธาธิการบูรณะ แต่พบว่าต้องใช้เงินถึง 67,000 บาท ในเวลานั้นเงินท้องพระคลังไม่พอ จึงได้ตัดรายการซ่อม และรื้ออาคารที่ไม่สำคัญ อย่างศาลารายถึง 13 หลัง และพระเจดีย์ราย 42 องค์ และไม่ได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เพิ่ม[6]
สิ่งก่อสร้างภายในวัด
[แก้]วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดที่มีสิ่งก่อสร้างค่อนข้างแน่น เนื่องจากการบูรณะแบบใส่คะแนน (แข่งกันบูรณะ) ส่งผลให้มีอาคารและสิ่งก่อสร้าง รวมถึงพระพุทธรูปมากมายภายในวัดแห่งนี้ โดยสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
เขตวัดโพธาราม (เดิม)
[แก้]ได้แก่ ส่วนตะวันตกของวัด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของ วิหารพระพุทธไสยาส ศาลาการเปรียญ (ซึ่งเป็นพระอุโบสถเดิม ของวัดโพธาราม) พระมณฑป และพระมหาเจดีย์สี่รัชกาล
วิหารพระพุทธไสยาส
[แก้]วิหารพระพุทธไสยาส[10] สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่โปรดฯ ให้ขยายพระอารามออกมาทางทิศเหนือ (เข้ามาซ้อนทับเขตวัดโพธารามเดิม ที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้) โดยพระองค์โปรดให้พระองค์เจ้าลดาวัลย์เป็นแม่กองในการก่อสร้าง โดยได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างพระวิหารภายหลัง โดยมีขนาดเท่ากับพระอุโบสถ บริเวณผนังของวิหารนั้น ด้านบนมีภาพเขียนสีเรื่อง มหาวงศ์ และผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนภาพสีเกี่ยวกับพระสาวิกาเอตทัคคะ 13 องค์ อุบาสกเอตทัคคะ 10 ท่านและอุบาสิกาเอตทัคคะ 10 ท่าน อยู่ด้วย[11]
ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่ออิฐ ถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีลักษณะพิเศษ ได้แก่ พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน โดยที่พระบาทประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ ตรงกลางเป็นรูปจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ โดยลวดลายของมงคล 108 ประการนั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างคติความเชื่อที่รับมาจากชมพูทวีปและจีน[11][12]
ศาลาการเปรียญ
[แก้]เดิมเป็นพระอุโบสถของวัดโพธารามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ภายหลังการสถาปนาพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดพระเชตุพนแล้ว จึงได้ลดฐานะเป็นศาลาการเปรียญ ต่อมาได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยภายในมี "พระพุทธศาสดา" ประดิษฐานเป็นพระประธาน
หอไตร
[แก้]สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งอยู่ระหว่างวิหารพระพุทธไสยาสน์เเละศาลาการเปรียญ เป็นอาคารทรงมณฑปจตุรมุขเครื่องยอดทรงมงกุฎ ประดับกระเบื้องเคลือบและถ้วยหลากสี ลวดลายงามวิจิตร ภายในมีตู้เก็บพระไตรปิฎก มีศาลาทิศรอบพระมณฑป ผนังภายในศาลาทิศมีภาพจิตรกรรม กำเนิดรามเกียรติ์ ประเพณีรามัญกวนข้าวทิพย์ เป็นต้น ผนังภายนอกมีศิลาจารึกโคลงสุภาษิต เรียกว่า โคลงโลกนิติ ที่ซุ้มประตูทางเข้ามณฑปทั้งสองข้างมียักษ์วัดโพธิ์ ที่มีตำนานเล่าว่าไปรบกับยักษ์วัดแจ้งจนเป็นต้นกำเนิดท่าเตียน[13]
เขตพระอุโบสถ
[แก้]เขตพระอุโบสถเป็นเขตที่สถาปนาขึ้นใหม่นอกเขตวัดโพธารามเดิม สร้างตามคติไตรภูมิ โดยให้พระอุโบสถเป็นเสมือนเขาพระสุเมรุ และให้วิหารทิศทั้งสี่ เป็นเสมือนทวีปหลักทั้งสี่
พระอุโบสถ
[แก้]เป็นอาคารขนาดใหญ่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยรื้อพระอุโบสถเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ออก มีหลังคากันสาดคลุมทั้งอาคาร มีระเบียงเเละเสาพาไลล้อมโดยรอบอาคาร เสาพาไลมีลักษณะทรงสี่เหลี่ยมทึบตันไม่มีบัวหัวเสาประดับ ไม่มีคันทวย หลังคาประดับเครื่องลำยองมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันเป็นงานปูนปั้นประดับกระจกรูปดอกไม้ ใบไม้ ที่เรียกว่า "ลายเครือเถาเคล้าก้าน" รอบพระอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ[14] ภายในประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า ด้วยประสงค์ตั้งมั่นแน่วแน่ว่า นี่จะเป็นพระนครอย่างถาวร (ปางสมาธิ สื่อถึงการตั้งจิตมั่นแน่วแน่)
พระวิหารทิศ
[แก้]ส่วนพระวิหารทิศทั้ง 4 นั้นได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองต่าง ๆ มาประดิษฐานไว้ โดยแบ่งออกเป็นมุขหน้าและมุขหลัง โดยมุขหน้า คือ มุขที่หันสู่ทิศต่าง ๆ ส่วนมุขหลังนั้น คือ มุขที่หันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถ โดยพระวิหารทิศแบ่งออกเป็น 4 ทิศ[15] ได้แก่
- พระวิหารทิศตะวันออก (ทิศพระโลกนาถ) ที่มุขหน้าประดิษฐานพระพุทธมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย อัญเชิญมาจากวัดเขาอินทร์ เมืองสวรรคโลก ส่วนบริเวณมุขหลังประดิษฐานพระพุทธโลกนาถศาสดาจารย์ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้อัญเชิญมาจากวิหารพระโลกนาถ ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ (ซึ่งทรุดโทรมไม่มากนัก)
- พระวิหารทิศตะวันตก (ทิศนาคปรก) ที่มุขหน้าประดิษฐานพระพุทธชินศรีมุนีนาถ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก เดิมประดิษฐานอยู่ที่เมืองสุโขทัย โดยได้อัญเชิญมาพร้อมกับพระพุทธชินราช
- พระวิหารทิศเหนือ (ทิศป่าเลไลย) ที่มุขหน้าประดิษฐานพระพุทธปาลิไลย เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้นใหม่เมื่อครั้งทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนฯ
- พระวิหารทิศใต้ (ทิศปัญจวัคคีย์) ที่มุขหน้าประดิษฐานพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย
-
พระพุทธมารวิชัยอภัยปรปักษ์ ประดิษฐานที่พระวิหารทิศตะวันออก (มุขหน้า)
-
พระพุทธโลกนาถ ประดิษฐานที่พระวิหารทิศตะวันออก (มุขหลัง)
-
พระพุทธชินศรีมุนีนาถ ประดิษฐานที่พระวิหารทิศตะวันตก
-
พระพุทธปาลิไลย ประดิษฐานที่พระวิหารทิศเหนือ
-
พระพุทธชินราชวโรวาทธรรมจักรที่พระวิหารทิศใต้
พระเจดีย์
[แก้]วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย[16] ซึ่งสามารถแบ่งพระเจดีย์ต่าง ๆ ได้ 4 ประเภท ได้แก่ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล 4 องค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ในเขตวัดโพธารามเดิม ส่วนที่ประดิษฐานในเขตพระอุโบสถนั้น ได้แก่ พระเจดีย์ราย 71 องค์ พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียวรวม 20 องค์ และพระเจดีย์ทรงปรางค์หรือพระมหาสถูป 4 องค์ รวมทั้งสิ้น 99 องค์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล
[แก้]พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ 4 องค์ ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว สถาปัตยกรรมบริเวณซุ้มประตูมีลักษณะเป็นไทยประยุกต์แบบจีน โดยจะมีตุ๊กตาหินจีนประดับอยู่ประตูละ 1 คู่ องค์พระเจดีนั้นเป็นแบบเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ[17]
เดิมทีรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญโกลนพระศรีสรรเพชญดาญาณจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยทรงประสงค์จะหล่อพระศรีสรรเพชญองค์นี้ขึ้นมาใหม่ แต่หลังจากทรงปรึกษากับคณะสงฆ์แล้ว คณะสงฆ์ได้ทูลถวายว่า การนำโกลนพระศรีสรรเพชดาญาณมาหลอมใหม่นั้น ถือเป็นขีด เป็นกาลกิณี ไม่เป็นมงคลแก่บ้านเมือง จึงทรงตัดสินพระทัยสร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่ แบบย่อมุมไม้ยี่สิบ ครอบโกลนพระศรีสรรเพชญนี้ไว้ และพระราชทานพระนามเจดีย์ว่า "พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ" องค์พระเจดีย์ประด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ตั้งอยู่ตรงกลางของหมู่พระมหาเจดีย์ ล้อมรอบด้วยพระมหาเจดีย์อีก 3 องค์ นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 ต่อมาในรัชกาลที่ 3 พระองค์มีพระประสงค์ทะนุบำรุงวัดพระเชตุพนฯ ทรงสร้างพระมหาเจดีย์ขนาบข้างกับพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ ดังนั้น จึงเป็นเจดีย์สามองค์เรียงกันจากเหนือจรดใต้ โดยมีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ขนาดและความสูงเหมือนกันทุกประการ ต่างเพียงสีกระเบื้องที่มาประดับเท่านั้น โดยพระมหาเจดีย์ทางทิศเหนือของพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว นามว่า "พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิธาน" ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่อพระราชอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมราชชนก ซึ่งนับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2 ส่วนพระมหาเจดีย์ทางทิศใต้ของพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณนั้น ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง นามว่า "พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร" ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยนับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 3 ด้วย
เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์โปรดเกล้าให้ถ่ายแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย มาจากวัดสวนหลวงสบสวรรค์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา โดยองค์พระมหาเจดีย์มีลักษณะที่แตกต่างจากพระมหาเจดีย์ทั้ง 3 องค์ คือ มีซุ้มคูหาเข้าไปภายในองค์พระมหาเจดีย์ได้[18] ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาบหรือสีน้ำเงินเข้ม มีนามว่า "พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย" นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 4
หลังจากนั้น รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำรัสว่า "ต่อไปในรัชกาลหลังอย่าให้เอาเป็นแบบอย่างที่จำเป็นจะต้องสร้างพระเจดีย์ประจำรัชกาลในวัดพระเชตุพนต่อไปเลย เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 รัชกาลแต่แรกนั้นได้เคยทรงเห็นกันทั้ง 4 พระองค์ ผิดกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่น"[19] ดังนั้น การสร้างพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลจึงได้ยุติลงตั้งแต่นั้นมา
-
พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ
-
พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกรกนิธาน
-
พระมหาเจดีย์มุนีบัตบริขาร
-
พระมหาเจดีย์ทรงพระศรีสุริโยทัย
พระเจดีย์ราย
[แก้]พระเจดีย์ราย ประดิษฐานอยู่บริเวณโดยรอบของพระระเบียงชั้นนอกมีจำนวนทั้งสิ้น 71 องค์[20] สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเดิมมีพระราชประสงค์ให้เป็นให้เป็นที่บรรจุพระอัฐิของเจ้านายเชื้อพระวงศ์ พระเจดีย์ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเคลือบสีและศิลาเขียว นับเป็นพระเจดีย์ที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับพระเจดีย์อื่น ๆ พระเจดีย์รายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารนั้น ได้รับยกย่องว่าเป็นพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองที่งามที่สุดของยุครัตนโกสินทร์[21]
พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว
[แก้]พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระเจดีย์ 5 องค์ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน โดยองค์ตรงกลางนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าอีก 4 องค์ที่ล้อมรอบอยู่ ประดิษฐานอยู่ตรงมุมพระวิหารคดทั้ง 4 ด้าน นับรวมได้ 20 องค์ ลักษณะพระเจดีย์นั้นเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง 4 องค์ล้อมรอบองค์กลางซึ่งเป็นเจดีย์แบบไม้สิบสองเพิ่มมุม ภายในพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุทุกองค์[20]
พระมหาสถูป
[แก้]พระมหาสถูป เป็นพระเจดีย์ทรงปรางค์ หรือที่เรียกว่า พระอัคฆีย์เจดีย์ มีจำนวน 4 องค์ ประดิษฐานอยู่ตรงมุมลานพระอุโบสถชั้นนอกทั้ง 4 ด้าน บริเวณซุ้มของพระเจดีย์มีเทวรูปท้าวจตุโลกบาลหล่อด้วยดีบุก แล้วลงรักปิดทอง ประดิษฐานทั้ง 4 ด้าน ด้านบนมีรูปยักษ์ซึ่งหล่อด้วยดีบุกแบกยอดปรางค์ พระมหาสถูปมีชื่อเรียกที่ต่างกัน[22] ดังนี้
- องค์ที่ประดิษฐานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีนามว่า พระพุทธมังคละกายพันธนามหาสถูป
- องค์ที่ประดิษฐานด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีนามว่า พระพุทธธรรมจักปวัตะนะปาทุกามหาสถูป
- องค์ที่ประดิษฐานด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีนามว่า พระพุทธวิไนยปิฏกะสูจิฆรามหาสถูป
- องค์ที่ประดิษฐานด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีนามว่า พระพุทธอภิธรรมธระวาสีปริกขาระมหาสถูป
ประติมากรรมอื่น ๆ
[แก้]นอกจาก อาคาร พระวิหาร พระเจดีย์ต่าง ๆ แล้ววัดโพธิ์ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลายอย่าง อาทิเช่น
รูปปั้นฤๅษีดัดตน
[แก้]เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม พระองค์ทรงได้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปวิทยาการของกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ รวมทั้ง ได้ปั้นรูปฤๅษีดัดตนในท่าต่าง ๆ ไว้ด้วย ซึ่งจำนวนของรูปปั้นฤๅษีดัดตนที่สร้างในรัชกาลที่ 1 นั้น ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ได้หล่อรูปปั้นฤๅษีดัดตนในท่าต่าง ๆ รวม 80 ท่า โดยใช้สังกะสีและดีบุก แทนการใช้ดินที่เสื่อมสภาพได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการแต่งโคลงสี่สุภาพเพื่อบรรยายสรรพคุณท่าต่างของฤๅษีดัดตนทั้ง 80 บทด้วย เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายรูปปั้น รวมทั้งมีการลักลอบเอารูปปั้นไปขายบางส่วน ดังนั้น รูปปั้นที่อยู่ภายในวัดโพธิ์จึงมีเหลือเพียง 24 ท่าเท่านั้น[23][24]
ยักษ์วัดโพธิ์
[แก้]ยักษ์วัดโพธิ์นั้นตั้งอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป โดยมีสีกายเป็นสีแดงและสีเขียว ลักษณะคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมักมีผู้เข้าใจผิดว่าตุ๊กตาสลักหินรูปจีน หรือ ลั่นถัน นายทวารบาลที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าประตูวัดนั้นคือ ยักษ์วัดโพธิ์[12]นอกจากนี้ ยังมีตำนานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำให้เกิดท่าเตียนในปัจจุบัน นั่นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งนั้น ทั้ง 2 ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งยักษ์วัดแจ้งไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดโพธิ์ เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืน ยักษ์วัดแจ้งกลับไม่ยอมจ่าย ดังนั้น ยักษ์ทั้ง 2 ตนจึงเกิดทะเลาะกัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตและพละกำลังที่มหาศาลของยักษ์ทั้ง 2 ตน เมื่อเกิดต่อสู้กันจึงทำให้บริเวณนั้นราบเรียบโล่งเตียนไปหมด เมื่อพระอิศวรทราบเรื่องนี้ จึงได้ลงโทษให้ยักษ์วัดโพธิ์ยืนเฝ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้งยืนเฝ้าวิหารวัดแจ้งตั้งแต่นั้นมา[25]
-
สัทธาสูร
-
พญาขร
-
มัยราพณ์
-
แสงอาทิตย์
ลำดับเจ้าอาวาส
[แก้]นับตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ วัดพระเชตุพนฯ มีเจ้าอาวาสมาแล้ว 16 รูป ดังนี้[26]
ลำดับที่ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
1 | สมเด็จพระพนรัตน์ | พ.ศ. 2325 | พ.ศ. 2356 |
2 | สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส | พ.ศ. 2356 | พ.ศ. 2396 |
3 | พระพิมลธรรม (ยิ้ม) | พ.ศ. 2400 | พ.ศ. 2412 |
4 | สมเด็จพระวันรัตน์ (สมบุรณ์) | พ.ศ. 2415 | พ.ศ. 2419 |
5 | พระพิมลธรรม (อ้น) | พ.ศ. 2421 | พ.ศ. 2432 |
6 | หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) | พ.ศ. 2434 | พ.ศ. 2443 |
7 | พระอุบาฬีคุณูปมาจารย์ (ปาน) | พ.ศ. 2443 | พ.ศ. 2447 |
8 | พระธรรมเจดีย์ (แก้ว) | พ.ศ. 2448 | 14 ตุลาคม พ.ศ. 2451 |
9 | สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) | พ.ศ. 2453 | พ.ศ. 2484 |
10 | สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) | พ.ศ. 2484 | พ.ศ. 2490 |
11 | สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) | พ.ศ. 2490 | พ.ศ. 2516 |
12 | พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (กมล กมโล) | พ.ศ. 2517 | พ.ศ. 2520 |
13 | พระวิสุทธาธิบดี (สง่า ปภสฺสโร) | พ.ศ. 2520 | พ.ศ. 2534 |
14 | พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร) | พ.ศ. 2534 | พ.ศ. 2557 |
15 | พระธรรมรัตนากร (สีนวล ปญฺญาวชิโร) | พ.ศ. 2557 | พ.ศ. 2564 |
รักษาการ | พระเทพวชิรโมลี (ทองใบ ปุญฺญภาโส) | 7 มีนาคม พ.ศ. 2564 | 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 |
16 | สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร) | พ.ศ. 2564 | ปัจจุบัน |
การศึกษา
[แก้]มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
[แก้]วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย โดยเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาแขนงต่าง ๆ จารึกลงบนศิลาจารึกหรือแผ่นศิลา รวมทั้งได้ปั้นฤๅษีดัดตน ประดับไว้ภายในบริเวณวัด ซึ่งอาจจะแบ่งความรู้ต่าง ๆ ออกได้เป็น 8 หมวด ได้แก่ หมวดประวัติการสร้างวัดพระเชตุพนฯ หมวดตำรายาแพทย์แผนโบราณ หมวดอนามัย หมวดประเพณี หมวดวรรณคดีไทย หมวดสุภาษิต หมวดทำเนียบ (จารึกหัวเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) และหมวดพระพุทธศาสนา[18] โดยเมื่อเทียบในปัจจุบันอาจจะแบ่งออกเป็นคณะต่าง ๆ ดังนี้ คณะประวัติศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ (ไม่เป็นทางการ)[27]
โรงเรียนภายในวัด
[แก้]- โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สังกัดคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
- โรงเรียนวัดพระเชตุพน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 - ประถมศึกษาปีที่ 6
ในวัดมีบริการนวดโดยหมอนวดซึ่งศาลานวดจะอยู่ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "การอ่านชื่อพระอารามหลวง". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 2558. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๘๙
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-19. สืบค้นเมื่อ 2008-04-16.
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, ก้าวไปในบุญ :เสริมมงคลไหว้พระ ๙ วัด เก็บถาวร 2007-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, กุมภาพันธ์ 2548
- ↑ Global Market Information Database, Tourist Attractions - World, 10 Apr 2008
- ↑ 6.0 6.1 สาวินี ลีมีโชค. "กรณีศึกษา วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ 7.0 7.1 กรณิศ รัตนามหัทธนะ. "ตุ๊กตาหน้าวัด". เดอะคลาวด์.
- ↑ พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม เก็บถาวร 2014-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หน้า 86-87, จากเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถาน
- ↑ วัชรี วัชรสินธุ์, (2534) การศึกษาการออกแบบสถาปัตยกรรม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม. มหาวิทยาลัยศิลปากร,:ม.ป.ท.
- ↑ ปัจจุบันทางวัดใช้ว่า "พระพุทธไสยาส" (ไม่มี น์) ตามมติของสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) โดยให้เหตุผลว่า คำว่า "ไสยาส" แปลว่า นอน ส่วนคำว่า ไสยาสน์ มาจาก ไสยา + อาสน แปลว่า นอนและนั่ง
- ↑ 11.0 11.1 พระพุทธไสยาส
- ↑ 12.0 12.1 ผู้จัดการออนไลน์,เที่ยว"วัดโพธิ์" สัมผัสวัดเก่า ในมุมมองใหม่ เก็บถาวร 2005-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 29 มกราคม 2548
- ↑ พระมณฑป (หอไตรจตุรมุข), วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, www.watpho.com
- ↑ ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2566). คู่มือนำชม ๓๓ พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.
- ↑ พระระเบียง
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, ก้าวไปในบุญ :เสริมมงคลไหว้พระ ๙ วัด เก็บถาวร 2007-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, กุมภาพันธ์ 2548
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์, ดูของดี ที่ "วัดโพธิ์" เก็บถาวร 2007-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 21 มกราคม 2548
- ↑ 18.0 18.1 ผู้จัดการออนไลน์, วัดสุทัศน์[ลิงก์เสีย], 17 ธันวาคม 2545
- ↑ ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 15 (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 25 ถึง 27) , องค์การค้าของคุรุสภา, 2507
- ↑ 20.0 20.1 พระเจดีย์สี่รัชกาล พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว พระเจดีย์ราย จาก เว็บไซต์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- ↑ วัชรี วัชรสินธุ์, วัดพระเชตุพน มัชฌิมประเทศอันวิเศษในชมพูทวีป, สำนักพิมพ์มติชน,กันยายน 2548 ISBN 974-323-476-4
- ↑ พระมหาสถูป กำแพงแก้ว จาก เว็บไซต์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- ↑ เขาฤๅษีดัดตน
- ↑ การนวดตามแบบท่าฤๅษีดัดตน
- ↑ ผู้จัดการออนไลน์, เที่ยว"ท่าเตียน"ชุมชนเก่าแก่คู่วัดโพธิ์ เก็บถาวร 2012-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 19 กันยายน 2549
- ↑ อดีตเจ้าอาวาส, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- ↑ พิพิธพาเพลินมหาวิทยาลัยวัดโพธิ์ เก็บถาวร 2007-07-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]หนังสือและบทความ
[แก้]- ทวีศักดิ์ เผือกสม. หยดเลือด จารึก และแท่นพิมพ์: ว่าด้วยความรู้/ความจริงของชนชั้นนำสยาม พ.ศ. 2325-2411. กรุงเทพฯ: Illuminations Editions, 2561. ISBN 9786169313823
เว็บไซต์
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- เว็บไซต์วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์ท่าเตียน)
- ภาพพาโนรามา 360 องศา วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- ภาพพาโนรามา 360 องศาพระพุทธไสยาสน์
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์