วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเสนาสนาราม
ที่ตั้ง101 หมู่ 10 ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
นิกายเถรวาท ธรรมยุติกนิกาย
พระประธานพระสัมพุทธมุนี
พระพุทธรูปสำคัญพระอินทร์แปลง
เจ้าอาวาสพระเทพมงคลโสภณ (โสภณ ปุญญาโสภโณ)
เว็บไซต์watsenasanaram.blogspot.com
หมายเหตุเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยปฏิสังขรณ์ทั้งวัด แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2406 และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดเสนาสนาราม เป็นวัดธรรมยุติกนิกาย โดยได้รวมวัดเสื่อ (วัดท่าเสื่อ) ด้วย ซึ่งมีชื่อในพงศาวดารว่า อุปราชจัน น้องชายขุนวรวงศาธิราช ถูกหมื่นราชเสน่หานอกราชการลอบฆ่าบริเวณวัดท่าเสื่อ ซึ่งในแผนที่อยุธยา พ.ศ. 2503 ได้แสดงว่าวัดเสื่อกับวัดเสนาสนารามเป็นคนละวัด โดยวัดเสื่ออยู่ทางด้านใต้ของวัดเสนาสนาราม อยู่ติดคลองวัดเสื่อซึ่งเชื่อมต่อคลองหอรัตนไชยกับคลองประตูข้าวเปลือก ปัจจุบันวัดเสื่อและคลองวัดเสื่อถูกทำลายจนไม่เห็นสภาพแล้ว

ศาสนสถานที่สำคัญของวัดได้แก่ พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังเป็นไม้แกะสลักปิดทอง ประดับกระจกรูปช้างเอราวัณ ขนาบด้วยฉัตร เหนือเศียรช้างเอราวัณมีพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือรูปพระมหามงกุฏ ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเป็นภาพวาดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกเหนือจากพระอุโบสถ ยังมีพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ และพระวิหารพระอินทร์แปลงซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัด ภายในพระวิหาร มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งยังคงความงดงามจนถึงปัจจุบัน

พระสัมพุทธมุนี เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วยอดพระมหามงกุฎ มีขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 2 นิ้ว สูงตลอดพระรัศมี 3 ศอก 1 นิ้ว ที่ซุ้มเรือนแก้วมีอักษรขอมจารึกไว้ รอบๆมีจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพชุมนุม

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระพรหมเทพาจารย์ (บุญรอด พฺรหฺมเทโว) พ.ศ. 2406 พ.ศ. 2424
2 พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ) พ.ศ. 2425 พ.ศ. 2441
3 พระพรหมเทพาจารย์ (กล่ำ เหมโก) พ.ศ. 2441 พ.ศ. 2464
4 พระญาณดิลก (รอด วราสโย) พ.ศ. 2464 พ.ศ. 2465
5 พระพรหมเทพาจารย์ (เจ๊ก กุสุโม) พ.ศ. 2465 พ.ศ. 2378
6 พระครูโยคานุกูล (ไสว อมโร) พ.ศ. 2478 พ.ศ. 2497
7 พระราชเมธากร (หลี สิกฺขกาโม) พ.ศ. 2497 พ.ศ. 2516
8 พระเทพสุทธิโมลี (ปาน อิสิญาโณ) พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2543
9 พระราชสุทธิโมลี (พินิจ วราจาโร) พ.ศ. 2544 พ.ศ. 2552
10 พระเทพมงคลโสภณ (โสภณ ปุญฺญโสภโณ) พ.ศ. 2553 ปัจจุบัน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 14°21′47″N 100°34′23″E / 14.36310°N 100.57314°E / 14.36310; 100.57314