ข้ามไปเนื้อหา

วัดสวนหลวงสบสวรรค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสวนหลวงสบสวรรค์
เจดีย์พระศรีสุริโยทัย ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัดสวนหลวง
วัดสวนหลวงสบสวรรค์ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดสวนหลวงสบสวรรค์
ที่ตั้งของวัดสวนหลวงสบสวรรค์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดสวนหลวงสบสวรรค์ตั้งอยู่ในประเทศไทย
วัดสวนหลวงสบสวรรค์
วัดสวนหลวงสบสวรรค์ (ประเทศไทย)
ที่ตั้งตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัด
ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ความเป็นมา
ผู้สร้างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
สร้างรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ละทิ้งพ.ศ. 2310
สมัยอาณาจักรอยุธยา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นพ.ศ. 2533
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพซากปรักหักพัง บูรณะส่วนเจดีย์พระศรีสุริโยทัย
ผู้บริหารจัดการกรมศิลปากร
การเปิดให้เข้าชมทุกวัน 08.00-18.30 น.
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมอยุธยา

วัดสวนหลวงสบสวรรค์ ตั้งอยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (บริเวณกรมทหารเก่า) สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โปรดให้จัดพระราชพิธี ทำพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระอัครมเหสี พระสุริโยทัย ที่ในสวนหลวง ภายในวัดสบสวรรค์ แล้วโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นตรงพระเมรุ มีเจดีย์บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย พระอารามที่โปรดให้สร้างขึ้นที่สวนหลวง กับวัดสบสวรรค์ จึงรวมเรียกว่า " วัดสวนหลวงสบสวรรค์ " ปัจจุบันยังมีพระสถูปเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดสวนหลวงเป็นสำคัญ เรียกว่า พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ปัจจุบัน วัดสวนหลวงสบสวรรค์ เป็นวัดร้างมีสภาพเป็นพื้นดินว่างเปล่า

ประวัติ

[แก้]

พ.ศ. 2081 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทรงช้างชื่อ ช้างต้นพลายมงคลทวีป สูงถึงเจ็ดศอก ได้ยกทัพเข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2091 หลัง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นเสวยราชสมบัติ ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 7 เดือน ช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิคือ พลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้ว พระสุริโยทัยทรงแต่งพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้างชื่อ พลายทรงสุริยกษัตริย์ สูงหกศอกเป็นพระคชาธาร ถูกพระเจ้าแปร ฟันด้วยพระแสงของ้าวที่พระอังสาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ช้างของพระเจ้าแปร (ตะโดธรรมราชาที่ 1) คือพลายเทวนาคพินาย สูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสอบสวนตำแหน่งสถานที่ต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในพงศาวดาร เพื่อเรียบเรียงเป็นหนังสือประชุมพงศาวดารขึ้น จึงเป็นเหตุให้ทราบถึงตำแหน่งของวัดสบสวรรค์และพบเจดีย์พระศรีสุริโยทัย

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ได้บรรยายการต่อสู้ครั้งนั้นไว้โดยพิสดารว่า "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปร (ช้างของพระเจ้าแปร คือ พลายเทวนาคพินาย สูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว) ได้ท้ายข้าศึกเช่นนั้นก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยไทเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์ สะอึกออกรับพระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยไทแหงนหงายเสียทีพระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสะพระสุริโยไทขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระราเมศวร (ช้างทรงพระราเมศวร ชื่อพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว) กับพระมหินทราธิราช (ช้างทรงพระมหินทราธิราช ชื่อพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว) ก็ขับพระคชาธารถลันเข้าแก้พระราชมารดาได้ทันที พอพระชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึก กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึกรี้พลตายเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าจึงให้เชิญพระศพพระสุริโยไท ผู้เป็นพระอัครมเหสีมาไว้สวนหลวง"[1]

อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้กล่าวว่าการศึกครั้งนั้น ได้มี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราชบุตรี ออกร่วมรบด้วย และได้สิ้นพระชนต์พร้อมกับสมเด็จพระสุริโยทัย[2]

พระศพสมเด็จพระสุริโยทัยได้รับการเชิญไปประดิษฐานไว้ที่สวนหลวงตรงที่สร้างวังหลัง ต่อมาเมื่อเสร็จสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสุริโยทัยที่ในสวนหลวงตรงต่อเขตวัดสบสวรรค์ แล้วสร้างพระอารามขึ้นทรงพระเมรุ มีพระเจดีย์ใหญ่ เรียกว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์

ในแผนที่โบราณหลายฉบับได้เขียนตำแหน่งของวัดสวนหลวงกับวัดสบสวรรค์แยกกัน โดยมี คลองฉางมหาไชย กั้นแบ่ง (ปัจจุบันถูกถมไปแล้ว) วัดสวนหลวง อยู่ทางทิศใต้ของคลอง วัดสบสวรรค์ (วัดสพสวรรค์) อยู่ทางทิศเหนือของคลอง เจดีย์ทรงทรงย่อไม้มุมสิบสอง (เจดีย์พระศรีสุริโยทัย) คือเจดีย์ประธานของวัดสวนหลวง ส่วนเจดีย์ประธานของวัดสบสวรรค์เป็นเจดีย์ทรงลังกาสององค์ ซึ่งสันนิฐานว่าเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิของพระสุริโยทัยและพระราชบุตรีที่ถูกทำลายไปแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2449 เพื่อสร้างที่ทำการและค่ายทหารมณฑลกรุงเก่า ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของวัดสบสวรรค์

พ.ศ. 2533 รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากรและกองบัญชาการทหารสูงสุดโดยกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ดำเนินการบูรณะพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ได้มีการพบกรุบริเวณเสาหารของพระเจดีย์ บรรจุวัตถุโบราณ พระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวปางมารวิชัย พระเจดีย์หกเหลี่ยมแก้วผลึกจำลองพร้อมเครื่องราชูปโภคจำลอง พระกรัณฑ์ทองคำลงยาสีเขียวและสีแดงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระสถูปทรงกลมแก้วผลึกจำลอง ลูกปัดรูปเม็ดมะยมสีขาว18ลูก แผ่นทองกลม1แผ่น อัญมณีสีแดงจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันโบราณวัตถุทั้งหมดเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา
  2. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
  3. http://www.qrcode.finearts.go.th/index.php/th/historicalpark/phranakhonsriayutthaya/ayutthaya-02/ayutthaya02-002/item/315-ayutthaya02-037