คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Faculty of Education,
Mahasarakham University
ตราโรจนศาสตร์
สัญลักษณ์ประจำคณะ
ชื่อเดิม• คณะวิชาการศึกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม (2511-2517)
• คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม (2517-2537)
• คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (2537-ปัจจุบัน)
ชื่อย่อEDU
คติพจน์การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม
สถาปนา27 มีนาคม พ.ศ. 2511 (56 ปี)
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณบดีรองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ชูกำแพง[1]
ที่อยู่
อาคารวิทยพัฒนา เลขที่ 269 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม 44000[2]
วารสารวารสารศึกษาศาสตร์
วารสารการวัดผลการศึกษา
วารสารการบริหารและนิเทศการศึกษา
วารสารเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
เพลงEducation Is Growth
สี███ สีแสด
สถานปฏิบัติโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษาปฐมวัย
ศูนย์ความเป็นเลิศทางจิตวิทยา
เว็บไซต์edu.msu.ac.th

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ : Faculty of Education, Mahasarakham University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชาสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถือกำเนิดมาจาก "คณะวิชาการศึกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม" ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2511 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรทางการศึกษาในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น โดยเฉพาะตามโรงเรียนโดยทั่วไปในแถบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 คณะวิชาการศึกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ได้ยกฐานะขึ้นเป็น "คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม" และในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ได้แยกตัวเป็นเอกเทศจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็น "คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม"

มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับการจัดอันดับเป็นสถาบันที่มีสาขาทางการศึกษาที่ดีที่สุดอันดับที่ 12 ในประเทศไทย[3] ในส่วนของการรับบุคคลเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้นพบว่าคณะศึกษาศาสตร์เป็นคณะที่มีผู้สมัครเข้าศึกษาต่อมากที่สุด[4][5] โดยมีสถิติอัตราการแข่งขันคะแนนสอบเข้า 10 อันดับสูงสุดในหลายสาขาวิชา[6]

ปัจจุบันคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีจำนวนหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 26 หลักสูตร ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี 10 หลักสูตร[7] ระดับบัณฑิตศึกษา 16 หลักสูตร[8] โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขตพื้นที่ในเมือง มีสถานปฏิบัติการ คือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษาปฐมวัย และศูนย์ความเป็นเลิศทางจิตวิทยา

ประวัติ[แก้]

คณะวิชาการศึกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม[แก้]

วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ก่อตั้งขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูในสาขาวิชาต่าง ๆ ออกไปเป็นครูตามโรงเรียนโดยทั่วไปในแถบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม เป็นวิทยาเขตที่ 5 ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งได้รับอนุมัติแต่งตั้งในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2511[9] และได้แบ่งการบริหารงานออกเป็น 4 หน่วยงาน คือ 1. สำนักงานอธิการ 2. คณะวิชาการศึกษา 3. คณะมนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ 4. คณะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งลักษณะของหน่วยงานต่างทำงานร่วมกันเพื่อผลิตครูหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตออกรับใช้สังคม[10]

ช่วงที่เป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มีผู้บริหารหน่วยงานที่เรียกว่า หัวหน้าคณะวิชาการศึกษา คือ ศาสตราจารย์ ดร.อารี สัณหฉวี ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2511 – 2514 ถัดมารองศาสตราจารย์ ดร.วีระ บุญยะกาญจน ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2514 – 2517[11]

ตั้งแต่ปี 2511 ถึง 2516 วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ได้ตั้งจุดมุ่งมายที่จะขยายการศึกษาชั้นสูงไปสู่ต่างจังหวัด และมีการดำเนินงานโดยการรับนักศึกษาที่เรียนดี จากวิทยาลัยครูต่าง ๆ ที่เรียนจบหลักสูตร ปก.ศ.สูง เข้าเรียนต่อในชั้นปีที่ 3 หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ) ในขณะนั้นถือว่าเป็นคณะวิชาการศึกษาคณะเดียวเท่านั้นนิสิตจะอยู่ในสังกัดคณะวิชาการศึกษา เปิดสอนวิชาเอกครั้งแรกในปี 2511 คือ วิชาเอกอังกฤษ และเอกชีววิทยา แล้วจึงได้เริ่มเปิดวิชาเอกภาษาไทย วิชาเอกสังคมศึกษา ตามมาในปี 2513

การเรียนสอนในขณะนั้น ในระยะแรกได้ใช้อาคารเรียนร่วมกับวิทยาลัยครูมหาสารคาม ก่อนที่ทางวิทยาลัยจะสร้างอาคาร 1 เสร็จในปี 2512 และอาคาร 2 ในปี 2514 ก่อนที่คณะวิชาการศึกษาจะย้ายสำนักงานมาที่อาคาร 2 โดยใช้ร่วมกับสำนักอธิการ ในการบริหารงาน นิสิตในคณะก็จะใช้อาคาร 1 และอาคาร 2 ในการเรียน

คณะศึกษาศาสตร์ ยุคมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม[แก้]

คณะศึกษาศาสตร์ ถือเป็นคณะใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในขณะนั้น ทางคณะยังมีหน่วยงานที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร คือ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอน สำนักแนะแนวอาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมกับวิทยาลัยวิชาการศึกษาแห่งอื่น ๆ ทำให้คณะศึกษาศาสตร์ได้ถูกแบ่งแยกออกมาเป็นหน่วยงานที่เด่นชัด แต่การเป็นคณะก็ยังไม่ได้เป็นอย่างเอกเทศโดยสมบูรณ์คือ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม เป็นเพียงสาขาของคณะศึกษาศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และผู้ที่ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ก็มีเพียงคนเดียวที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ คณะศึกษาศาสตร์ วิทยาเขตประสานมิตร ส่วนทางคณะศึกษาศาสตร์ วิทยาเขตมหาสารคาม มีเพียงตำแหน่งรองคณบดี[12]

เมื่อเกิดการขยายตัวของคณะศึกษาศาสตร์มากขึ้น ประกอบกับจำนวนนิสิตก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาคารเรียน ในปี 2526 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้รับงบประมาณมาณก่อสร้างอาคารเรียนหลังที่ 5 บริเวณพื้นที่ระหว่างอาคาร 1 และสำนักงานห้องสมุด (ปัจจุบันคือที่ทำการสโมสรและบุคลากรนิสิต) และแล้วเสร็จในปี 2530 ซึ่งต่อมาสำนักงานคณะศึกษาศาสตร์ และห้องเรียนของนิสิตที่เดิมอยู่อาคาร 1 และอาคาร 2 ก็ได้ย้ายเข้ามาใช้อาคารในเวลาต่อมาด้วย และใช้เป็นสถานที่ในการดำเนินการเรียนการสอนในปัจจุบัน

คณะศึกษาศาสตร์ ยุคมหาวิทยาลัยมหาสารคาม[แก้]

ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้แยกตัวเป็นเอกเทศจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" โดยมีการแบ่งเป็น 4 คณะ คือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยี ซึ่งหลังจากที่ได้แยกตัวเป็นเอกเทศมาเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะศึกษาศาสตร์จึงได้ถูกยกฐานะเป็น "คณะ" อย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย โดยมีคณบดีเป็นหัวหน้า และคณบดีคนแรกของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศมัย ศรีอำไพ[13][14][15]

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เปิดหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตหลากหลายสาขา ต่อมาเมื่อปี 2547 ได้เปิดหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตในสาขาต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546[16][17]

ในปี พ.ศ. 2561 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3/2561 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ที่ประชุมให้ความเห็นชอบกับระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยการบริหารงานโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และออกเป็นประกาศมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2561 สาระสำคัญคือ ให้โรงเรียนสาธิตเป็นหน่วยงานในกำกับของคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งเดิมสังกัดสำนักงานอธิการบดี โดยมุ่งหวังเพื่อเพิ่มศักยภาพทางวิชาการและการใช้บุคลากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สัญลักษณ์[แก้]

  • ตราสัญลักษณ์ : ตราโรจนศาสตร์ มีองค์ประกอบคือ หนังสือเป็นตัวแทนของการศึกษา หน้า 3 หน้า หมายถึง ศีลธรรม (สีเหลือง หมายถึง ศาสนา) ปัญญา (สีเทา หมายถึง สมอง) และพัฒนาประชาคม (สีแสด หมายถึง สีของความทันสมัยและการปฏิรูป) หนังสือที่กางออก เสมือนปีกของนกที่จะโบยบินไปสู่ขอบฟ้ากว้าง หมายถึง การศึกษาทำให้คนมีอิสระทางความคิด ไม่มีกรอบ ไม่มีพรมแดน ตราโรจนากร สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อยู่ในหนังสือ หมายถึง คณะศึกษาศาสตร์เป็นคณะแรกที่ก่อตั้งมาพร้อมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ต้นไม้ประจำคณะ : บุนนาค
  • สีประจำคณะ :   สีแสด หมายถึงสติปัญญาเป็นเลิศ มีคุณธรรม มีความกล้าหาญและความรุ่งเรือง
  • ปรัชญา : การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม
  • เพลงประจำคณะ : Education Is Growth
  • อักษรย่อ : EDU

การบริหารงาน[แก้]

หน่วยงานภายในคณะ[แก้]

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งการบริหารหน่วยงานภายในดังนี้

การบริหารงานภายในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ด้านการบริหารงาน ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัยและพัฒนา
  • สำนักงานเลขานุการคณะศึกษาศาสตร์
  • ภาควิชาหลักสูตรและการสอน
  • ภาควิชาการบริหารการศึกษา
  • ภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา
  • ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
  • ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการกีฬา
  • ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว

ทำเนียบผู้บริหาร[แก้]

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีผู้บริหารรวมทั้งหมด 14 คน แบ่งเป็นหัวหน้าคณะวิชาการศึกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม จำนวน 2 คน รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ซึ่งสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จำนวน 6 คน และคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 6 คน ดังนี้

ทำเนียบผู้บริหารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หัวหน้าคณะวิชาการศึกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม
รายนามหัวหน้าคณะ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ดร.อารี สัณหฉวี พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2514
2. รองศาสตราจารย์ ดร.วีระ บุญยะกาญจน พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2517
รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม
รายนามรองคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์สมบัติ มหารศ พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2522
2. อาจารย์ ดร.ถวิล ลดาวัลย์ พ.ศ. 2522 - พ.ศ. 2526
3. อาจารย์ประพัทธ์ ชัยเจริญ พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2528
4. รองศาสตราจารย์จตุพร เพ็งชัย พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2532
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เผชิญ กิจระการ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2536
6. รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยยศ เรืองสุวรรณ พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2537
คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ ดร.พิศมัย ศรีอำไพ พ.ศ. 2537 - พ.ศ. 2542
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ นิ่มจินดา พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2545
3. รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาท อิศรปรีดา พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2549
4. รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2557
5. รองศาสตราจารย์ ดร.พชรวิทย์ จันทร์ศิริสิร พ.ศ. 2557 - พ.ศ. 2565
6. รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ชูกำแพง พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน

หลักสูตรการศึกษา[แก้]

ความเป็นมาและพัฒนาการหลักสูตร[แก้]

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเปิดสอนวิชาเอกครั้งแรกในปี 2511 คือวิชาอังกฤษและชีววิทยาด้วยเหตุผลที่ว่าในประเทศไทยหรือแถบอีสานในสมัยนั้นมีชาวต่างชาติเข้ามาจำนวนมากโดยเฉพาะชาวอเมริกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนภาษาในการติดต่อสื่อสารกันและประเทศไทยขณะนั้น และวิชาเฉพาะที่เกี่ยวกับเกษตรยังไม่มีสถาบันเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องโดยตรง แล้วจึงได้เริ่มเปิดวิชาภาษาไทย วิชาสังคมศึกษา ตามมาในปี 2513

ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้แยกตัวเป็นเอกเทศจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปีการศึกษา 2539 ได้เปิดหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ สาขาวิชาประถมศึกษา สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ - ชีววิทยา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ - ฟิสิกส์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ - เคมี และสาขาวิชาศิลปศึกษา

ในปีการศึกษา 2547 เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตร 5 ปี เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าว ปรับปรุงจากหลักสูตรเดิม 4 ปี เป็นหลักสูตร 5 ปี ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป และสาขาวิชาสังคมศึกษา ในปีการศึกษา 2548 เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาจิตวิทยา ในปีการศึกษา 2550 เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา

ในปีการศึกษา 2562 ได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2562 ปรับปรุงจากหลักสูตรเดิม 5 ปี เป็นหลักสูตร 4 ปี ทั้ง 7 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป และสาขาวิชาสังคมศึกษา ในปีการศึกษา 2566 เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) สาขาวิชาพลศึกษาและการกีฬา

หลักสูตรที่เปิดสอนในปัจจุบัน[แก้]

คณะศึกษาศาสตร์ ทำการเรียนการสอนภายใต้คณะตนเองทั้งหมด 26 สาขาวิชา แบ่งเป็นระดับปริญญาตรี 10 สาขา ปริญญาโท 10 สาขา และปริญญาเอก 6 สาขา และสนับสนุนการสอนให้คณะอื่น 4 สาขาวิชาดังนี้

หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[18]
ภาควิชา ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

ภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาจิตวิทยา

หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.)

  • สาขาวิชาจิตวิทยา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาจิตวิทยา

ภาควิชาบริหารการศึกษา

หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.)

  • สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาการศึกษา

หลักสูตรการศึกษาดุษฎีบัณฑิต (กศ.ด.)

  • สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาการศึกษา

ภาควิชาหลักสูตรและการสอน

หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)

  • สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
  • สาขาวิชาคณิตศาสตร์
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  • สาขาวิชาสังคมศึกษา

หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.)

  • สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
  • สาขาวิชาการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
  • สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
  • สาขาวิชาวิจัยและการสอนคณิตศาสตร์

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน

ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษา

หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.)

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีและการสื่อสารการศึกษา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาเทคโนโลยีและการสื่อสารการศึกษา

ภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา

หลักสูตรการศึกษามหาบัณฑิต (กศ.ม.)

  • สาขาวิชาวิจัยและประเมินผลการศึกษา
  • สาขาวิชาการวัดผลและประกันคุณภาพการศึกษา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาวิจัยและประเมินผลการศึกษา

ภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการกีฬา

หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)

  • สาขาวิชาพลศึกษาและการกีฬา[19]

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและการกีฬา

วิชาการ[แก้]

ศูนย์บริการวิชาการ[แก้]

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษาปฐมวัย[20] ศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (CEECE, MSU) เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เดิมชื่อ "ศูนย์การเรียนรู้ทางการศึกษาปฐมวัย" (ECLC) และเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษาปฐมวัย เมื่อปี 2556 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิตสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยและผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาปฐมวัย รวมถึงผู้สนใจ ในรูปแบบของการให้บริการทางวิชาการ เพื่อให้ผู้เรียนและผู้ที่สนใจได้รับโอกาสในการพัฒนาความรู้

ศูนย์ความเป็นเลิศทางจิตวิทยา[21] เป็นหนึ่งในเครือข่ายสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยให้บริการคำปรึกษานิสิต เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาความเครียดในระดับปานกลาง ของภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้น 6 อาคารวิทยพัฒนา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ศูนย์บริการวิชาการและเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษา[22] ศูนย์บริการวิชาการและเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (CASEID) เป็นหน่วยงานที่พึ่งทางวิชาการ สำหรับบุคลากรทางการศึกษา ให้บริการและเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการวิชาการแก่สังคม ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักวิจัยทางการศึกษา คณาจารย์ และนิสิต เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยทางการศึกษา และสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขในการวิจัยทางการศึกษา

ศูนย์ฝึกประสบการณ์และพัฒนาวิชาชีพครู[23] ศูนย์ฝึกประสบการณ์และพัฒนาวิชาชีพครู คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (CPTD) มีภารกิจที่สำคัญคือ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพระหว่างเรียน การออกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา การจัดระบบการนิเทศ การจัดกิจกรรมเสริมความเป็นครู การประสานงานกับคุรุสภา การบริหารงบประมาณ และการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ

วารสาร[แก้]

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดทำวารสารจำนวน 4 ฉบับ ดังนี้

วารสารศึกษาศาสตร์[24] ตีพิมพ์บทความวิชาการ บทความวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ และบทวิจารณ์หนังสือ เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาการเรียนการสอน และการพัฒนาวิชาชีพครู โดยครอบคลุมสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน การบริหารการศึกษา เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ศึกษา จิตวิทยาและแนะแนวการศึกษา การวัดและประเมินผลทางการศึกษา สถิติและวิจัยทางการศึกษา และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา

วารสารการวัดผลการศึกษา[25] ตีพิมพ์ผลงานวิชาการใน 3 ลักษณะ ได้แก่ บทความวิชาการ บทความวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ และบทวิจารณ์หนังสือ ในสาขาการวัดผลและประเมินผล การวิจัยทางการศึกษา สถิติ และจิตวิทยาการศึกษาหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง

วารสารการบริหารและนิเทศการศึกษา[26] มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานวิชาการภาควิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในรูปแบบบทความวิจัย บทความวิทยานิพนธ์ บทความวิจารณ์หนังสือ และบทความทั่วไป

วารสารเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา[27] ตีพิมพ์ผลงานในด้านการศึกษา สาขาสังคมศาสตร์ ด้านการศึกษา สาขาคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ในรูปแบบของบทความวิชาการ บทความวิจัย และบทความปริทัศน์

อันดับ[แก้]

มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับการจัดอันดับเป็นสถาบันที่มีสาขาทางการศึกษาที่ดีที่สุดอันดับที่ 12 ในประเทศไทย จัดอันดับโดยอีดียูแรงก์ (EduRank)[3] โดยแบ่งออกเป็นสาขาวิชาการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ อยู่ในอันดับที่ 12 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ อันดับที่ 8 และสาขาจิตวิทยา อันดับที่ 12 ของประเทศไทย[28] จากการจัดอันดับโดยไทมส์ไฮเออร์ ด้านสาขาวิชาการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 13 [29] และจากการจัดอันดับโดยไซมาโก (SCImago) ด้านสาขาวิชาการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 16 ของประเทศไทย[30]

การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ[แก้]

พื้นที่คณะ[แก้]

แผนผังคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
อาคารไอที อาคารเรียนคณะศึกษาศาสตร์หลังแรก
อาคารแปดเหลี่ยม หรืออาคารศึกษาศาสตร์ 2
อาคารวิทยพัฒนา
อาคารอเนกประสงค์ 50 ปี คณะศึกษาศาสตร์
ลานกิจกรรมนิสิตคณะศึกษาศาสตร์

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีพื้นที่การศึกษาอยู่ที่เขตพื้นที่ในเมือง หรือ ม.เก่า ตั้งอยู่ที่เลขที่ 269 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ในระยะแรกได้ใช้อาคารเรียนร่วมกับวิทยาลัยครูมหาสารคาม ต่อมาได้ทำการใช้อาคาร 1 และอาคาร 2 เป็นอาคารเรียน ในปี 2530 ได้เปิดอาคารไอทีเป็นอาคารเรียนถาวรแห่งแรกของคณะศึกษาศาสตร์ ปัจจุบันมีอาคารและสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ดังนี้

อาคารศึกษาศาสตร์ หรืออาคารไอที[แก้]

อาคารเรียนถาวรแห่งแรกของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2526 เปิดใช้อาคารปี 2530 เดิมมีชื่ออาคาร 5, อาคารบัณฑิตศึกษา, อาคารอเนกประสงค์ และอาคารศึกษาศาสตร์ ตามลำดับ เป็นชื่อเรียกสมัยก่อนเมื่อครั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ปัจจุบันนิสิตคณะศึกษาศาสตร์เรียกอาคารนี้ว่าตึกไอที (IT) ในปี 2526 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้รับงบประมาณมาก่อสร้างอาคารเรียนหลังที่ 5 บริเวณพื้นที่ระหว่างอาคาร 1 และสำนักงานห้องสมุด ซึ่งภายในอาคารได้ติดตั้งลิฟต์ และถือว่าเป็นลิฟต์แรกของมหาวิทยาลัยมหาสารคามและของจังหวัดมหาสารคาม ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารอเนกประสงค์ และได้เปิดใช้เป็นสำนักงานบัณฑิตศึกษารับผิดชอบการให้บริการทางวิชาการแก่คณาจารย์และนิสิตบัณฑิตศึกษา[31][32] ปัจจุบันอาคารไอทีเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการวิชาการ คลินิกวิจัย ภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา และภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

อาคารสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์[แก้]

เดิมมีชื่อว่าหอสมุดวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ในช่วงก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ปีแรก (2511) นิสิตและอาจารย์ได้อาศัยใช้ห้องสมุดวิทยาลัยครูมหาสารคามเป็นหลัก กระทั่งหอสมุดวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม สร้างเสร็จและสามารถเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ต่อมาได้มีการสร้างอาคารเชื่อมต่อกับตึกแปดเหลี่ยม และเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักวิทยบริการในปี 2528[33] ในอดีตยังเคยเป็นสถานที่ในการจัดงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตด้วยพระองค์เอง ที่หอสมุดวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามถึง 3 ครั้งคือ ในปี 2516 – 2517 และปี 2519[34]

นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาการบริหารงานของสำนักวิทยบริการได้ย้ายสำนักงานมายังที่อาคารวิทยบริการหลังใหม่ที่เขตพื้นที่ขามเรียง โดยอาคารสำนักวิทยบริการเดิมในส่วนของอาคารหอสมุดเดิมได้รับการปรับใช้ให้เป็นสำนักวิทยบริการ หน่วยบริการศรีสวัสดิ์ เพื่อให้บริการแก่นิสิตและบุคลากรที่อยู่ใกล้เคียง

ปัจจุบันสำนักวิทยบริการ หน่วยบริการศรีสวัสดิ์ได้ปิดให้บริการ เนื่องจากมีสภาพอาคารเก่า และชำรุดทรุดโทรมมาก[35] และได้ย้ายที่ทำการมาหน่วยบริการอาคารวิทยพัฒนาแทน ปัจจุบันอาคารนี้จึงถูกใช้ในส่วนราชการคณะศึกษาศาสตร์ และเป็นที่ตั้งของสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจนถึงปัจจุบัน[33]

อาคารศึกษาศาสตร์ 2 หรืออาคารแปดเหลี่ยม[แก้]

อาคารแปดเหลี่ยม (ศษ) เคยเป็นอาคารสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งแต่ปี 2536 - 2543 โดยเมื่อปี 2534 ได้งบประมาณก่อสร้างอาคารสำนักวิทยบริการ (อาคารแปดเหลี่ยม) จำนวน 67 ล้านบาท สามารถเปิดใช้บริการได้ในปี 2536 โดยมีหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีสงฆ์ อาคารมีลักษณะเป็นรูป 8 เหลี่ยมจำนวน 4 ชั้นเนื้อที่ 6,704 ตารางเมตร โดยมีการสร้างเชื่อมต่อกับอาคารสำนักวิทยบริการหลังเดิม และได้ใช้เป็นที่ทำการสำนักวิทยบริการเรื่อยมา ในช่วงเวลานี้ได้มีการตั้งศูนย์สิรินธรภายในตึกแปดเหลี่ยม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อใหม่เป็น "ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร" โดยทรงเสด็จฯ เปิดศูนย์สารสนเทศอีสานสิรินธรด้วยพระองค์เองเมื่อปี 2538[36][37]

ต่อมาสำนักวิทยบริการได้ย้ายที่ทำการมาที่เขตพื้นที่ขามเรียงปี 2543 ตึกแปดเหลี่ยมได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องเรียนของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์และคณะการบัญชีและการจัดการ ปัจจุบันเป็นที่เรียนของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ โดยภายในอาคารเป็นที่ตั้งของภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการกีฬา[38]

อาคารวิทยพัฒนา[แก้]

อาคารวิทยพัฒนา (EDU) เป็นอาคารสูง 9 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารคณะศึกษาศาสตร์เดิม (ตึกไอที) จัดสร้างขึ้นด้วยเงินงบประมาณ จำนวน 92 ล้านบาท โดยการริเริ่มของรองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ อดีตคณบดีและคณะกรรมการบริหารคณะศึกษาศาสตร์ เมื่อปี 2551 เพื่อรองรับการขยายตัวในการเปิดหลักสูตรในระดับต่าง ๆ ของคณะ[39] โดยแบ่งพื้นที่ใช้สอยดังนี้

  • ชั้น 1 และชั้น 2 จัดเป็นห้องสมุดและห้องสืบค้นสารสนเทศ
  • ชั้น 3 – 4 จัดเป็นห้องประชุมใหญ่ จำนวน 1 ห้อง ปัจจุบันคือห้องประชุมสิกขาลัย และห้องเรียนจำนวน 8 ห้อง
  • ชั้น 5 จัดเป็นสำนักงานบริหารคณะ
  • ชั้น 6 – 7 จัดเป็นห้องพักคณาจารย์
  • ชั้น 8 – 9 จัดเป็นห้องสำนักงานภาควิชา จำนวน 3 ห้อง และห้องเรียน จำนวน 7 ห้อง

อาคารอเนกประสงค์ 50 ปี และลานกิจกรรมนิสิตคณะศึกษาศาสตร์[แก้]

เนื่องในโอกาสที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามครบรอบ 50 ปี คณะกรรมการบริหารคณะศึกษาศาสตร์ สมาคมศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ จึงได้มีโครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ 50 ปี และลานกิจกรรมนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ โดยได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อกัณหา สุขกาโม วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้อุปถัมภ์ด้านงบประมาณ โดยมีการส่งมอบลานกิจกรรมคณะศึกษาศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564[40]

พระพุทธสิกขาลัย[แก้]

เป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย พระพุทธรูปประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สร้างขึ้นโดยนายอินทรศักดิ์ เทียมเสวต ในช่วงปี 2531 โดยทำการรวมธาตุจากพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ถูกทุบทำลาย และนำมาทำการสร้างที่วัดเทพสุวรรณ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจากสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งต่อมาได้นำมามอบเป็นพระประธานในสถานศึกษา ส่วนราชการและวัดหลายแห่ง[41] เช่น พระพุทธมหิดลมงคลวรญาน พระประธานด้านหน้าหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล, พระพุทธภควันตศาสดา มหาวิทยาลัยบูรพาภิมงคล พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยบูรพา[42] เป็นต้น

ชีวิตนิสิต[แก้]

สาขาวิชา[แก้]

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เปิดหลักสูตรในระดับปริญญาตรีหลักสูตรต่าง ๆ ตั้งแต่วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ซึ่งได้ทำการปรับเปลี่ยนหลักสูตรไปตามยุคสมัย จนกระทั่งเมื่อปี 2547 ได้ทำการเปิดหลักสูตรต่าง ๆ ที่ตอบสนองตามนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันมีสาขาวิชาทั้งหมด 10 สาขาวิชา ซึ่งแต่ละสาขาวิชามีเอกลักษณ์ กิจกรรม รวมไปถึงการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน ประเพณีและกิจกรรมของคณะจะถูกแบ่งไปตามแต่ละสาขาวิชา[7] โดยเรียงลำดับการก่อตั้ง ดังนี้

ชมรม[แก้]

ลานกิจกรรมนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ พื้นที่ที่นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ

ชมรมต่อไปนี้เป็นชมรมสังกัดสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีดังนี้

  • ชมรมครูอาสา มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ ค่ายครูอาสารักป่าอีสาน ค่ายเปลวเทียนสู่ฝัน และค่ายครูอาสาสู่ชนบท[53]
  • ชมรมครูบ้านนอก มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ ค่ายเปิดอุดมการณ์ครูบ้านนอกสู่เส้นทางฝัน และค่ายครูบ้านนอก
  • ชมรมพิมพ์หลากสี มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ ค่ายสัมมนาผู้นำชมรมพิมพ์หลากสี ค่ายคืนสู่เย้า พลิกดินสู่ดาว ค่ายหลากสีสัมพันธ์แต่งฝันเติมสี และค่ายพลิกดินสู่ดาว
  • ชมรมคณิตศาสตร์ มมส. มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ ค่ายวิชาการ ค่ายพัฒนาเจตคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ ค่ายพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ และค่ายบูรณาการ STEM
  • ชมรมครูภาษาอังกฤษ (KRU ENG CLUB) มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ ค่ายชมรม KRU ENG CLUB

ประเพณีและกิจกรรม[แก้]

กิจกรรมภายในคณะ[แก้]

กิจกรรมร้องเพลงคณะศึกษาศาสตร์

เป็นกิจกรรมรับน้องและพิสูจน์รุ่นของนิสิตใหม่คณะศึกษาศาสตร์ชั้นปีที่ 1 จัดโดยสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาตร์ มีวัตถุประสงค์ในด้านสันทนาการ แนะนำอัตลักษณ์ของคณะศึกษาศาสตร์ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ตระหนักถึงคุณค่าความเป็นครู และกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญในยามค่ำคืน

การนับรุ่นของคณะศึกษาศาสตร์ เริ่มนับจากปีที่ก่อตั้งคณะวิชาการศึกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม พ.ศ. 2511 โดยใช้ชื่อว่า "ช่อบุนนาค"

วันศึกษาศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้นเพื่อให้เปิดสอนถึงระดับปริญญา โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงจึงได้รับ การสถาปนาเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 และได้ตราพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาประกาศในราชกิจจานุเบกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม เป็นวิทยาเขตที่ 5 ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งได้รับอนุมัติแต่งตั้งในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2511 ทางคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงกำหนดให้วันที่ 27 มีนาคมของทุกปี เป็นวันศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[54]

กิจกรรมศึกษาศาสตร์รวมใจติดป้ายบูชาครู

เป็นพิธีมอบป้ายติดอกของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้กับนิสิตชั้นปีที่ 3 ซึ่งถือเป็นนิสิตเรียนครูที่ได้ศึกษาในหลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์เป็นระยะเวลาหนึ่ง ทางคณะศึกษาศาสตร์จึงมอบป้ายติดอกเพื่อตระหนักในวิชาชีพครู และเป็นกำลังใจให้นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ได้มุ่งมั่นที่จะเป็นครูที่ดีต่อไป

บุนนาคเกมส์

เป็นกิจกรรมกีฬาภายในคณะศึกษาศาสตร์ จัดโดยสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีของสาขาวิชาต่าง ๆ นอกจากจะมีการแข่งขันกีฬาชนิดต่าง ๆ แล้ว ยังมีการแข่งขันสแตนด์เชียร์ หรือบางปีจัดเป็นกิจกรรมเต้นสันทนาการ และผู้นำเชียร์

ค่ายคนพันธุ์ครู

เป็นค่ายที่จัดขึ้นโดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดรับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ โดยจัดกิจกรรมด้านวิชาการ อาทิ การติวสอบ เป็นต้น รวมไปถึงกิจกรรมสันทนาการ

กิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัย[แก้]

กระดานดำสัมพันธ์

กระดานดำสัมพันธ์ เป็นการแข่งขันกีฬาประเพณีศึกษาศาสตร์ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2548 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการแข่งขันกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของนิสิตนักศึกษาในสายวิชาชีพครู 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นอกจากการแข่งกีฬาแล้ว ยังมีการแสดงจากนิสิตนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยและการแสดงในงานเลี้ยงกลางคืนทั้งมีการประกวดกองเชียร์และเชียร์หลีดเดอร์ของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยทุกสถาบันจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในการเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี

โดยในปัจจุบันมีสถาบันที่เข้าร่วม ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยพะเยา

กีฬาเชื่อมสัมพันธ์ ครุศาสตร์ – ศึกษาศาสตร์ มรม-มมส.

เป็นกิจกรรมกีฬาเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งในอดีตเคยมีการพึ่งพิงอาศัยกัน ในช่วงก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม นิสิตและอาจารย์ได้อาศัยใช้อาคารเรียนและห้องสมุดร่วมกับวิทยาลัยครูมหาสารคาม ดังนั้นเพื่อตระหนักถึงความสัมพันธ์อันดีงามของทั้งสองสถาบันผลิตครู จึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น

กีฬาวิทยาศาสตร์การกีฬาสัมพันธ์ หรืองานวิทย์กีฬาสัมพันธ์

เป็นกิจกรรมกีฬาสานสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษาที่เรียนในทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ภายในงานวิทย์กีฬาสัมพันธ์จะประกอบด้วย กิจกรรมการแข่งขันกีฬาสากล กีฬาฮาเฮ การประกวดผู้นำเชียร์และสแตนด์เชียร์ งานเลี้ยงสังสรรค์ และการแสดงจากนิสิตนักศึกษาของแต่ละสถาบัน โดยทุกสถาบันจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในการเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี

ในช่วงระยะแรกเริ่มต้นจาก 4 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปัจจุบันมีสถาบันเข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 13 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยศิลปากร

บุคคลสำคัญ[แก้]

ดูบทความหลักที่ รายชื่อบุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ศิษย์เก่า

บุคลากร

  • รองศาสตราจารย์ ดร.บุญชม ศรีสะอาด อาจารย์ประจำภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม[63]
  • รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา[64]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ฐานข้อมูลบุคลากรคณะศึกษาศาสตร์", edu.msu.ac.th, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2565
  2. "ที่ตั้งคณะศึกษาศาสตร์" เก็บถาวร 2022-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, edu.msu.ac.th, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2565
  3. 3.0 3.1 "23 Best universities for Education Majors in Thailand". edurank.org. สืบค้นเมื่อ October 12, 2023.
  4. "1.7 หมื่นคนแห่ชิงโควตา มมส เผย 10 คณะยอดฮิต ที่มีผู้สมัครมากที่สุด", กรุงเทพธุรกิจ, สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2566
  5. "TOPฮิต 10 คณะ มมส ที่มียอดผู้สมัครสูงที่สุด", กองบริการการศึกษา ม.มหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2566
  6. "รวมสถิติน่าสนใจ! TCAS65 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (TOP10 อัตราการแข่งขัน-คะแนนสอบเข้า-จำนวนรับ)", TCAStar, สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567
  7. 7.0 7.1 "หลักสูตรระดับปริญญาตรี" (PDF). คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สืบค้นเมื่อ January 3, 2023.
  8. "หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา" เก็บถาวร 2023-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2566
  9. "ประวัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ", SWUAnnualReport, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2565
  10. กรมฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ (2535). แนวคิดและผลงานศาสตราจารย์บุญถิ่น อัตถากร. p. 137.
  11. "ประวัติความเป็นมาคณะศึกษาศาสตร์" เก็บถาวร 2021-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, edu.msu.ac.th, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2565
  12. ราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗, มาตรา เล่ม ๙๑ ตอนพิเศษ ๑๑๒ ประกาศใช้เมื่อ 28 มิถุนายน 2517. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561.
  13. "ประวัติความเป็นมาคณะศึกษาศาสตร์" เก็บถาวร 2021-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, edu.msu.ac.th, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2565
  14. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๙ (9-10), [จัดตั้งสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน และให้มีสำนักงานเลขานุการในสถาบันดังกล่าว], มาตรา เล่ม ๑๐๓ ตอนพิเศษ ๑๙๘ ประกาศใช้เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2529. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561.
  15. ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๙ (36), ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย มาตรา เล่ม ๑๐๓ ตอนพิเศษ ๑๓๙ ประกาศใช้เมื่อ 7 สิงหาคม 2529. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2561.
  16. "50 ปี กศ.บ. สาขาวิชาสังคมศึกษา", สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2565
  17. "เส้นเวลาการก่อตั้งและเหตุการณ์สำคัญของสาขาวิชาสังคมศึกษาที่มีพัฒนาการมามากว่า 50 ปี", สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2565
  18. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รายงานข้อมูลพื้นฐานประจำปี 2563 หน้า 137 เก็บถาวร 2021-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 31 มีนาคม 2564
  19. 19.0 19.1 "แผนหลักสูตรและแผนการรับนิสิต ปีการศึกษา 2566-2570" (PDF). กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี. กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี. สืบค้นเมื่อ January 3, 2023.
  20. "ศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม", ศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566
  21. "เครือข่ายสุขภาพจิต มมส" เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566
  22. วิดีโอแนะนำศูนย์บริการวิชาการและเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษา (คลินิกวิจัย) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (วีดีทัศน์). เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 2.09 นาที.
  23. "7 ภารกิจ ศูนย์ฝึกประสบการณ์และพัฒนาวิชาชีพครู", ศูนย์ฝึกประสบการณ์และพัฒนาวิชาชีพครู มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566
  24. "เกี่ยวกับวารสาร", วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566
  25. "วารสารการวัดผลการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม", วารสารการวัดผลการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566
  26. "วารสารการบริหารและนิเทศการศึกษา" เก็บถาวร 2023-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วารสารการบริหารและนิเทศการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566
  27. "วารสารเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา", วารสารเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2566
  28. "Mahasarakham University: Rankings", EduRank.org, สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566
  29. "World University Rankings 2024", THE, สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566
  30. "SCImago Rankings", SCImago, สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2566
  31. แผนงาน,กอง สำนักนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ข้อมูลพื้นฐานปี พ.ศ. 2550 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. มหาสารคาม : กองแผนงานสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2550
  32. โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2553 .สารานุกรมประวัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (หมวดอาคาร และสถานที่). มหาสารคาม
  33. 33.0 33.1 "ประวัติและความเป็นมา". สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สืบค้นเมื่อ December 31, 2022.
  34. "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามในโอกาสนี้อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ไปต้อนรับถวายความจงรักภักดี ณ สนามบินขอนแก่น", KKU Archives, สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2565
  35. "แจ้งงดบริการชั่วคราว หน่วยบริการศรีสวัสดิ์" เก็บถาวร 2018-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, MSU News, สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2565
  36. "ประวัติและความเป็นมาศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร", ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร, สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2565
  37. หอจดหมายเหตุและสารสนเทศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2553. มหาสารคาม
  38. โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2553 .สารานุกรมประวัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (หมวดอาคาร และสถานที่). มหาสารคาม
  39. "คณะศึกษาศาสตร์ มมส ทำบุญเปิดอาคารวิทยพัฒนา"[ลิงก์เสีย], MSU Hot News, สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2565
  40. "คณะศึกษาศาสตร์ มมส ทอดผ้าป่าสามัคคีสมทบทุนสร้างลานกิจกรรมและอาคารอเนกประสงค์ 50 ปี" เก็บถาวร 2022-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, MSU News, สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2565
  41. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (ม.ป.ป). ข่าวกิจกรรมคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
  42. "หอพระพุทธภควันตศาสดา มหาวิทยาลัยบูรพาภิมงคล", จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยบูรพา, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2565
  43. "คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง, ดูรายการ [รหัส 5220210026027080"], ระบบสืบค้นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566
  44. "คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง, ดูรายการ [รหัส 5220210026026270"], ระบบสืบค้นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566
  45. "สัญลักษณ์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา", สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2565
  46. "คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง, ดูรายการ [รหัส 5220210026038000"], ระบบสืบค้นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566
  47. "คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง, ดูรายการ [รหัส 5220210026012590"], ระบบสืบค้นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566
  48. "คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง, ดูรายการ [รหัส 5220210026009910"], ระบบสืบค้นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566
  49. "คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง, ดูรายการ [รหัส 5220210026031520"], ระบบสืบค้นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566
  50. "คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง, ดูรายการ [รหัส 5110210210014270"], ระบบสืบค้นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566
  51. "คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง, ดูรายการ [รหัส 5320210026019260"], ระบบสืบค้นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566
  52. "คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง, ดูรายการ [รหัส 5010210210030910"], ระบบสืบค้นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566
  53. "ค่าย ชมรมครูอาสา มมส.", True ID, สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2565
  54. "กิจกรรมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันศึกษาศาสตร์ 54 ปี" เก็บถาวร 2022-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 30 ธันวาคม 2565
  55. http://mahathera.onab.go.th/index.php?url=mati&id=7760
  56. ประวัติไพจิต
  57. แมน มณีวรรณ
  58. "ผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล", moveforwardparty.org, สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2566
  59. "ประวัติผู้อำนวยการโรงเรียน", Lamplaimat Pattana School, สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2566
  60. "หอเกียรติยศ" เก็บถาวร 2023-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หอเกียรติยศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2566
  61. "ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์" เก็บถาวร 2023-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2566
  62. ประวัตินายสุทิน
  63. "บุญชม ศรีสะอาด", ฐานข้อมูลบุคลากร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2566
  64. "รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. และรักษาการเลขาธิการคุรุสภา เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการพร้อมมอบนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานแก่ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเป็นวันแรก", สำนักงาน ก.ค.ศ., สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2566

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]