สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5 เจ้าฟ้าชั้นโท
กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
ประสูติ4 ธันวาคม พ.ศ. 2429
พระบรมมหาราชวัง ราชอาณาจักรสยาม
สิ้นพระชนม์29 มกราคม พ.ศ. 2479 (49 ปี)
ตำหนักประเสบันบันดุง ดัตซ์ตะวันออก
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (4 ธันวาคม พ.ศ. 2429 – 29 มกราคม พ.ศ. 2479 นับปีปัจจุบัน) เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

พระประวัติ[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา เมื่อวันเสาร์ ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2429 เมื่อแรกประสูติมีพระนามว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้านิภานภดล"

เมื่อปี พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่พระอรรคชายาเธอขึ้นเป็นเจ้าฟ้า[1] ดังนั้น พระองค์จึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล" หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามาภิไธยสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี"[2] หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี"[3] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสเรียกพระองค์ว่า "หญิงเล็กนิภา" และชาววังเรียกพระองค์ว่า "สมเด็จหญิงน้อย"

พระองค์มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาเดียวกัน 3 พระองค์ ซึ่งมีพระนามที่คล้องจองกัน ได้แก่

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
  2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา
  3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา

หลังจากมีการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ซึ่งในขณะนั้นถือได้ว่าพระองค์ทรงอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียว เนื่องจากพระมารดา พระเชษฐา และพระเชษฐภคินีต่างสิ้นพระชนม์ลงหมด พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมกับครอบครัวของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา[4] และสิ้นพระชนม์ที่นั่น เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2479 นับปีแบบปัจจุบัน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2480 ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร[5]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงพระองค์ไว้ในคำนิยามพระนิพนธ์เรื่อง เที่ยวเมืองพม่า ว่า “น่ารักน่าชม สมกับเป็นเจ้าฟ้า” พร้อมทั้งทรงสรรเสริญว่า “ทรงพระคุณอย่างเป็นขัติยนารีแท้ทุกสถาน ทรงพิสูจน์ให้ปรากฏแล้ว ทั้งในเวลาที่มีความสุข และในเวลาได้รับความทุกข์ยาก สมควรกับที่ทรงสร้อยพระนามกรมว่า “ขัติยนารี” เป็นอนุสรณ์อยู่กับพระนามตลอดไป[6]

พระกรณียกิจ[แก้]

สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนภดารา (ซ้าย) และสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล (ขวา)

พระองค์เป็นพระราชธิดาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ได้รับการโปรดเกล้าให้รับราชการในหน้าที่ราชเลขานุการิณีและเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ. 2450 ก็ได้มีพระราชหัตถเลขากลับมาสู่ประเทศไทย ถึงพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้เพื่อทรงเล่าเรื่องการเสด็จอย่างละเอียดลออ (ทำให้เกิดหนังสือรวบรวมพระราชหัตถเลขาเหล่านั้นว่า ชื่อว่า ไกลบ้าน)[7]

พระองค์ทรงร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา พระโสทรเชษฐภคินี บริจาคทุนทรัพย์สร้างเครื่องใช้สำหรับ "ตึกเยาวมาลย์อุทิศ" โรงเรียนเทพศิรินทร์ นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชันษาได้ 28 ปี เสมอด้วยพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก พระองค์ได้ทรงสร้าง "ตึกนิภานภดล" ถวายแก่วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร สำหรับเป็นโรงเรียนสอนปริยัติธรรมเพื่ออุทิศพระกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี[8]

นอกจากนี้พระชนนีของพระองค์ยังทรงสร้างโรงเรียนนิภาคารขึ้นในพระตำหนักวังสวนสุนันทา ถือเป็นสถาบันศึกษานอกระบบแห่งแรกของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2467[9] เพื่อชุบเลี้ยงเด็กและข้าหลวงให้มีการศึกษาที่ดีขึ้น[10] หลังพระมารดาสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงเป็นทั้งผู้อำนวยการและพระอาจารย์ มีการจ้างครูชาวไทยและฝรั่งมาช่วยสอน[11] ครั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เจ้านายได้หนีราชภัยไปต่างประเทศบ้างต่างเมืองบ้าง โรงเรียนนิภาคารจึงยุบเลิกโดยปริยาย[9]

พระเกียรติยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
ธงประจำพระอิสริยยศ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ[แก้]

  • พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้านิภานภดล (4 ธันวาคม พ.ศ. 2429 – พ.ศ. 2431)
  • พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล (พ.ศ. 2431 – 8 มกราคม พ.ศ. 2441)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี (8 มกราคม พ.ศ. 2441 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
  • สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)
  • สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)
  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 – 29 มกราคม พ.ศ. 2479)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเลื่อนพระนามพระอัครชายาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า มีพระบรมราชโองการสั่งให้สถาปนา พระอัครชายาเธอ หม่อมเจ้าอุบลรัตนนารีมาศ และพระอัครชายาเธอ หม่อมเจ้าสาย ขึ้นเป็น พระองค์เจ้า และสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอ และเจ้าฟ้า, เล่ม ๕, ตอน ๘, ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๑๘๘๘, หน้า ๖๑
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ในการพระราชทานพระสุพรรณบัตร เก็บถาวร 2012-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๕, ตอน ๔๒, ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๑๘๙๙, หน้า ๔๔๑
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาเลื่อนกรมตั้งกรม และตั้งเจ้าพระยา เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ ก, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๒๑๖
  4. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, “น่ารักน่าชม สมกับเป็นเจ้าฟ้า” เก็บถาวร 2011-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2533, ปีที่ 49, ประจำวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2546
  5. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๑๔/๒๔๗๙ พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตขัติยนารี ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๙, เล่มที่ 53, ตอน ๐ ง, 17 มกราคม พ.ศ. 2479, หน้า 2631
  6. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, พนักงานห้องพระบรรทม[ลิงก์เสีย], สกุลไทย, ฉบับที่ 2413, ปีที่ 47, ประจำวันอังคารที่ 16 มกราคม 2544
  7. “๑๐๐ ปี ไกลบ้าน ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง” เก็บถาวร 2008-09-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ ThaiPBS
  8. สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี[ลิงก์เสีย]
  9. 9.0 9.1 ธนพร หมู่เจริญทรัพย์ (16 กันยายน 2554). "๗๕ ปี แห่งความทรงจำใน "กำแพงแดง"". สุนันทานิวส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-07. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 97. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-10-25.
  11. "ประวัติโรงเรียน". โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในพระอุปถัมภ์ฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-10. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 15 (ตอน 42): หน้า 443. 15 มกราคม ร.ศ. 117. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-06-04. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  13. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 39 (ตอน 0 ง): หน้า 3194. 29 มกราคม พ.ศ. 2464. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  14. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 13 (ตอน 34): หน้า 422. 22 พฤศจิกายน ร.ศ. 115. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  15. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 25 (ตอน 39): หน้า 1153. 27 ธันวาคม ร.ศ. 127. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  16. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 29 (ตอน 0 ง): หน้า 2444. 22 มกราคม ร.ศ. 131. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  17. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 43 (ตอน 0 ง): หน้า 3115. 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)