อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

พิกัด: 9°37′22″N 99°40′30″E / 9.62278°N 99.67500°E / 9.62278; 99.67500
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หมู่เกาะอ่างทอง)
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
เกาะวัวตาหลับ
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย
พิกัด9°37′22″N 99°40′30″E / 9.62278°N 99.67500°E / 9.62278; 99.67500
พื้นที่102 ตารางกิโลเมตร (64,000 ไร่)
จัดตั้ง12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523
ผู้เยี่ยมชม134,315 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ขึ้นเมื่อ14 สิงหาคม พ.ศ. 2545
เลขอ้างอิง1184[1]

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะในอ่าวไทยประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ 42 เกาะ ได้แก่ เกาะพะลวย เกาะวัวตาหลับ เกาะแม่เกาะ เกาะสามเส้า เกาะหินดับ เกาะนายพุด และเกาะไผ่ลวก เป็นต้น ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ 102 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำประมาณ 84 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 82 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองได้รับรางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ระดับทอง (ดีเยี่ยม) ประจำปี 2563

ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]

หมู่เกาะอ่างทองเป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งตั้งอยู่ในเขตน้ำตื้นใกล้ฝั่ง ความลึกเฉลี่ยของน้ำประมาณ 10 เมตร น้ำทะเลบริเวณอุทยานฯ มีความโปร่งใสน้อยเนื่องจากได้รับอิทธิพลของตะกอนจากแม่น้ำตาปี ลักษณะชายฝั่งโดยทั่วไปมีความสูงชัน ส่งผลให้ปะการังในบริเวณนี้ก่อตัวในแนวแคบๆเฉพาะชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้และบริเวณที่มีที่กำบังจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ปะกังรังที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ ปะการังหินลูกช้าง ปะการังสมอง ปะการังเขากวางกิ่งสั้น ปะการังพวกนี้จะอยู่ด้านบนของแนว ส่วนที่อยู่ในระดับลึกลงไปและได้รับแสงน้อยจะเป็นพวกปะการังแผ่น (ในสกุล pavona) และปะการังดอกไม้ (Goniopora sp.) สำหรับสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ได้แก่ ปลาผีเสื้อลายแปดเส้น ปลาผีเสื้อปากยาว ปลาสินสมุทร ปลานกแก้ว ปลากระเบนทอง ปลาฉลามหูดำ ปลาเก๋า หอยเม่นลายเสือ. ส่วนบริเวณด้านในของแนวปะการังซึ่งการไหลเวียนของน้ำไม่ดีพอนั้นจะเป็นที่อาศัยของ ปลิงทะเล ปูม้า และสาหร่ายสีน้ำตาลกลุ่มสาหร่ายทุ่น (Sargassum sp.) และสาหร่ายจอก (Turbinaria sp.)

บริเวณด้านข้างของเกาะเป็นหินที่ชัน และมีความลึกมากจนแสงส่องลงไปได้น้อย ทำให้ปะการังไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ในบริเวณนี้จึงเป็นที่อยู่ของสัตว์จำพวก กัลปังหา กัลปังหาหวี แส้ทะเล หอยนางรม หอยมือเสือ หอยมือหมี ที่สำคัญคือเป็นแหล่งอาศัยของแพลงตอนซึ่งเป็นธาตุอาหารของสัตว์ทะเล ในบริเวณนี้จึงเต็มไปด้วยสัตว์น้ำหลายชนิด อาทิเช่น กลุ่มหอยสองฝาชนิดต่าง ๆ ปะการังอ่อน หอยจอบ ฟองน้ำครก ฟองน้ำท่อ สาหร่ายคัน เพรียงหัวหอม เป็นต้น และทั้งยังเป็นแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนของ ปลาทู ปลากะตัก และหมึกทะเล

ความหลากหลายทางชีวภาพ[แก้]

พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะขนาดใหญ่ในเขตอุทยาน จะเป็นป่าไม่ผลัดใบ มีพรรณไม้สำคัญคือ พลองใบมน รักป่า อบเชย เต่าร้าง หวาย และรองเท้านารีช่องอ่างทอง ตามชายฝั่งแคบๆจะมีป่าชายทะเลกระจายอยู่ พรรณไม้สำคัญคือ หูกวาง โพทะเล กระทิง ปอทะเล ลำเจียก และพลับพลึงทอง บริเวณภูเขาหินปูน จะมีป่าที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นอยู่บนหน้าดินบางๆ พืชส่วนใหญ่ในป่าแถบนี้จะมีขนาดเล็ก เช่น จันทน์ผา สลัดได ยอป่า และอาจพบป่าชายเลนได้บ้างบริเวณชายหาดและสันดอน

บริเวณอุทยานพบนกอย่างน้อย 53 ชนิด โดยเป็นจำพวกนกเป็ดน้ำและนกชายฝั่งประมาณ 10 ชนิด มีนกประจำถิ่น 32 ชนิด เช่น นกยางเขียว เหยี่ยวแดง และนกอพยพ 9 ชนิด เช่น นกยางดำ นกปากซ่อมดง นกเด้าดิน มีนกที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ 1 ชนิด คือ นกเงือกดำ และนกที่ถูกคุกคาม ได้แก่ นกออก นกลุมพูขาว นกลุมพูเขียว นกแอ่นกินรัง และเหยี่ยวแดง

ปลาที่พบในทะเลบริเวณอุทยานมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลาเก๋าแดง ปลาปากคม ปลาสีกุน กระเบนจุดขาว กระเบนจุดฟ้า ปลาทรายแดง ปลาหลังเขียว ปลาตะเพียนน้ำเค็ม ปลากะตักใหญ่ ปลาจวด ปลาตาหวานจุด ปลาอินทรี ปลาดาบเงินใหญ่ ปลาสาก อันดับปลาซีกเดียวปลาลิ้นหมา ส่วนปลาที่พบตามแนวปะการัง เช่น ปลาสลิดหินดำ ปลาสลิดหินเขียว ปลาสลิดทะเล ปลาข้าวเม่าน้ำลึก ปลาผีเสื้อลายแปดเส้น ปลาผีเสื้อปากยาว ปลาสินสมุทรลายน้ำเงิน ปลากระทุงเหว ปลานกแก้ว ปลาสร้อยนกเขา ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ปลาพยาบาล

ในอุทยานพบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเพียง 5 ชนิด ขณะที่พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 16 ชนิด เช่น ค่างแว่นถิ่นใต้ นากใหญ่จมูกขน วาฬชนิดต่างๆ

อ้างอิง[แก้]

  1. "Mu Koh Ang Thong Marine National Park". Ramsar Sites Information Service. สืบค้นเมื่อ 25 April 2018.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]