มันสำปะหลัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มันสำปะหลัง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Malpighiales
วงศ์: Euphorbiaceae
วงศ์ย่อย: Crotonoideae
เผ่า: Manihoteae
สกุล: Manihot
สปีชีส์: M.  esculenta
ชื่อทวินาม
Manihot esculenta
Crantz
Manihot esculenta

มันสำปะหลัง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Manihot esculenta (L.) Crantz) เป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญอันดับ 5 รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง[1] ชื่อสามัญเรียกหลายชื่อเช่น Cassava, Yuca, Mandioa, Manioc, Tapioca ชาวไทยเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ภาคใต้เรียกมันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า "มันหลา") คำว่า "สำปะหลัง" ที่นิยมเรียกอาจมาจากคำว่า "ซำเปอ (Sampou)" ของชวาตะวันตก

มันสำปะหลังมีแหล่งกำเนิดแถบที่ลุ่มเขตร้อน (lowland tropics) มีหลักฐานแสดงว่าปลูกกันในโคลอมเบีย และเวเนซุเอลา มานานกว่า 3,000–7,000 ปีมาแล้ว นิยมใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์[2] สามารถปลูกได้ง่ายในพื้นที่ร้อน และร้อนชื้น จึงได้มีการสนับสนุนแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีสภาพภูมิอากาศดังกล่าวปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ[3]

ชนิดและสายพันธุ์[แก้]

มันสำปะหลังที่ปลูกเชิงเกษตรกรรม มีสองชนิด[4] คือ

  • ชนิดหวาน มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิกต่ำ ไม่มีรสขมและสามารถใช้ทำอาหารได้โดยตรง เช่น พันธุ์ห้านาที, พันธุ์ระยอง 2
  • ชนิดขม มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิกสูง ต้องนำไปแปรรูปก่อน เช่น พันธุ์ระยอง 1, 3, 5, 60, 90 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และ พันธุ์ห้วยบง 60

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ไม้พุ่ม สูง 1.3–5 เมตร รากแบบสะสมอาหาร (tuberous root) สายพันธุ์ที่นิยมปลูกสูงประมาณ 2.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 10–1.5 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะคล้ายข้อ เพราะจากก้านใบซึ่งแก่ร่วงหล่นไป สีของลำต้นบริเวณใกล้ยอด จะมีสีเขียว ส่วนที่ต่ำลงมาจะมีสีแตกต่างกันไปตามลักษณะพันธุ์ เช่น สีเงิน สีเหลือง สีน้ำตาล ใบมีก้านใบยาวติดกับลำต้น แผ่นใบเว้าเป็นแฉกมี 3-9 แฉก มันสำปะหลังมีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย อยู่ในช่อดอกเดียวกัน แต่อยู่แยกคนละดอก ดอกตัวผู้มีขนาดเล็ก อยู่บริเวณส่วนปลายของช่อดอก ส่วนดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า อยู่บริเวณส่วนโคนของช่อดอก ดอกตัวเมียจะบานก่อนดอกตัวผู้ประมาณ 1 อาทิตย์ การผสมเกสรจึงเป็นการผสมข้ามระหว่างต้น ผลแบบแคปซูลทรงกลม ประมาณ 1.2 เซนติเมตร มี 3 เมล็ดใน 1 ผล[5]

การจำแนกสายพันธุ์ใช้คุณลักษณะหลายอย่างช่วยในการจำแนกเช่น สีของใบอ่อน สีก้านใบ สีลำต้น ขนที่ยอดอ่อน ลักษณะทรงต้น หูใบ[6]

การเพาะปลูก[แก้]

ในประเทศไทยสามารถปลูกได้ตลอดปี หลังเก็บเกี่ยวแล้ว การปลูกทำได้โดยไถที่เตรียมไว้ พอฝนตกก็พรวนดินแล้วปลูกได้ทันที ความชื้นจะพอให้มันสำปะหลังงอก แม้จะมีฝนเพียงครั้งเดียว กสิกรในจังหวัดชลบุรี ระยอง และนครราชสีมาปลูกมันสำปะหลังกันตลอดปี ส่วนจังหวัดอื่นๆ ปลูกมากในเดือนเมษายน และพฤษภาคม ตามผลการทดลองของกรมวิชาการเกษตรพบว่า ปลูกมันสำปะหลังในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จะให้ผลผลิตสูง

การเตรียมดินและการปลูก

ควรไถก่อนปลูก 2-3 ครั้ง และให้ลึกไม่น้อยกว่า 8-10 นิ้ว เพื่อให้ดินร่วนซุย และปราศจากวัชพืช ส่วนที่ใช้ปลูก คือ ลำต้นมันสำปะหลังตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 25 เซนติเมตร เรียกว่า ท่อนพันธุ์ การปลูกด้วยเมล็ดไม่เหมาะสำหรับการปลูกเป็นการค้า เพราะเมล็ดหายาก ส่วนมากใช้เฉพาะในการผสมพันธุ์ เพื่อหาพันธุ์ใหม่

ส่วนของท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรเลือกจากต้นที่สมบูรณ์ เลือกใช้ท่อนพันธุ์จากส่วนกลาง และส่วนของโคนลำต้น ควรเก็บต้นที่จะปลูกไว้ในที่ร่ม และวางในลักษณะตั้ง จะเก็บได้นานกว่าการวางนอน

ระยะปลูกใช้ระยะระหว่างแถว 1 เมตร ระยะระหว่างต้นประมาณ 0.7-1 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ก็ใช้ระยะระหว่างต้นแคบกว่านี้ได้ การปลูกควรตัดต้นมันสำปะหลังเป็นท่อนๆ ในวันที่ปลูก ให้ได้ท่อนพันธุ์ยาวท่อนละประมาณ 25 เซนติเมตร วิธีปลูกใช้ท่อนพันธุ์ที่ตัดเป็นท่อนปักลงไปบนดิน โดยการปักเอียงประมาณ 45 องศา วิธีนี้ทำได้สะดวก และได้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกโดยขุดหลุม ปลูกในแนวราบ แต่ในขณะที่ดินมีความชื้นน้อย วิธีขุดหลุมปลูกในแนวราบแล้วกลบ จะงอกได้ดีกว่าการปลูกโดยวิธีปักท่อนพันธุ์นี้ ต้องปักเอาตาขึ้น การปลูกเอาตาลงดินผลผลิตจะต่ำ

หลังจากปลูกแล้วประมาณ 2 เดือนรากจะเริ่มสะสมแป้ง และมีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุเรียกว่า หัว จำนวนหัว รูปร่าง ขนาด และน้ำหนัก แตกต่างกันไปตามพันธุ์ พันธุ์พื้นเมืองที่ใช้ปลูกในประเทศไทย เมื่ออายุประมาณ 1 ปี ยาวประมาณ 27.7- 43.3 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4.6-7.8 เซนติเมตร

ประโยชน์และการนำไปใช้[แก้]

  • ประกอบอาหารคาวหวาน โดยนำส่วนของรากสะสมอาหารที่มีการสะสมของคาร์โบไฮเดรตไปใช้ประกอบอาหาร
  • แปรรูปเป็นสารปรุงแต่งรสอาหาร
  • อาหารสัตว์
  • อุตสาหกรรมกาว
  • พลังงานเอทานอล

การส่งออกผลผลิต[แก้]

การแปรรูปรากสะสมอาหารมันสำปะหลังเพื่อให้เก็บรักษาได้เป็นเวลานาน ถูกส่งออกในรูปแบบมันสำปะหลังอัดเม็ด มันเส้น สาคู แป้งมันสำปะหลัง[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-26. สืบค้นเมื่อ 2008-04-14.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-08. สืบค้นเมื่อ 2008-04-14.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-05. สืบค้นเมื่อ 2016-05-10.
  4. http://store.farmkaset.net/index.php?option=com_kunena&Itemid=0&func=view&catid=5&id=93[ลิงก์เสีย]
  5. https://www.hort.purdue.edu/newcrop/duke_energy/Manihot_esculenta.html#Description
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-05. สืบค้นเมื่อ 2010-06-30.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-21. สืบค้นเมื่อ 2016-05-11.