สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4 เจ้าฟ้าชั้นโท
กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์
ประสูติ24 เมษายน พ.ศ. 2398
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
สิ้นพระชนม์14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 (8 ปี)
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
ศาสนาพุทธ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ [จัน-ทอน-มน-ทน][I] (24 เมษายน พ.ศ. 2398 — 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 จากอหิวาตกโรค ขณะมีพระชันษาได้เพียง 8 ปี กระทั่งในปี พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์องค์ต่อมาซึ่งเป็นพระเชษฐภาดาได้สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์

พระประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1217 ตรงกับวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2398 มีพระยศแต่แรกประสูติคือ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล เป็นพระราชธิดาลำดับที่สิบหกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่สองในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระองค์มีพระเชษฐาและพระอนุชา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี และสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์[1]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดพระราชพิธีรับพระสุพรรณบัตรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการจัดกระบวนแห่อย่างพระราชพิธีโสกันต์ใหญ่ เมื่อถึงเวลาพระฤกษ์ อาลักษณ์จารึกพระสุพรรณบัตรลงพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี" เมื่อวันเสาร์ เดือน 2 ขึ้น 7 ค่ำ ตรงกับวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2405 กระทั่งวันพุธ เดือน 2 ขึ้น 11 ค่ำ ตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2405 ได้รับพระสุพรรณบัตรและสรงตามฤกษ์ มีการตั้งกระบวนแห่ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ช่วงบ่ายก็แห่เครื่องชมพูมาสมโภชที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จรับพระกรและส่ง[2]

กล่าวกันว่าพระบรมชนกนาถทรงเลี้ยงดูด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง เวลาเสด็จไปไหนก็ทรงอุ้มหรือวางไว้บนตัก หากเวลาเสวยน้ำนมก็จะให้พระพี่เลี้ยงบีบจากถันลงถ้วยน้ำชา แล้วทรงป้อนด้วยช้อนทองขนาดเล็ก[3] เมื่อเจริญวัยขึ้นก็ร่วมเสวยพระกระยาหารทุกวันโดยพระบิดาจะให้ประทับบนตักแล้วทรงป้อนกระยาหารให้ เมื่อจะเสด็จประพาสไปที่ใดก็จะมีเจ้าฟ้าจันทรมณฑลติดตามไปด้วยเสมอ[3] ชาววังล้วนรักใคร่สรรเสริญ และเรียกพระองค์ว่า "ฟ้าหญิง"[3] และปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระราชบิดาเรียกพระองค์ว่า "นางหนูลูกรำเพย"[4]

สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลเป็นพระราชกุมารีที่เฉลียวฉลาด ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุเพียง 3 ชันษาก็ทรงเรียนรู้วรรณคดีไทยอย่างดี[3] เมื่อเริ่มทรงพระอักษรภาษาอังกฤษกับแอนนา ลีโอโนเวนส์ ก็โปรดปรานทรงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและสามารถตรัสได้อย่างคล่องแคล่วในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน[3] เรื่องราวดังกล่าวปรากฏในงานเขียนของลีโอโนเวนส์ที่อ้างว่าพระองค์ทรงตรัสไว้ในห้องเรียน ความว่า "เธอสอนฉันวาดเขียนได้ไหม นั่งในชั้นของเธอนี่ช่างสบายกว่าเรียนภาษาสันสกฤตมากนัก ครูสันสกฤตของฉันไม่เหมือนครูอังกฤษ เขาหักมือฉันเวลาทำผิด ฉันไม่ชอบสันสกฤต ชอบภาษาอังกฤษมากกว่า หนังสือของเธอมีรูปสวย ๆ มากมายเหลือเกิน แหม่มจ๋า วันหนึ่งพาฉันไปเที่ยวเมืองอังกฤษด้วยได้ไหม"[5] ลีโอโนเวนส์จึงกราบทูลว่า พระราชบิดาคงไม่มีพระบรมราชานุญาตเป็นแน่ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลก็ทรงรับสั่งว่า "จะทรงอนุญาตแน่นอน พระองค์ทรงปล่อยให้ฉันทำอะไรตามใจ เธอรู้หรือเปล่าว่าฉันเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง พระบิดาทรงรักฉันมากที่สุด พระองค์จะทรงอนุญาตเป็นแน่"[5]

สิ้นพระชนม์[แก้]

ขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดีมีพระชันษาได้เพียง 8 ปี ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดร้ายแรงขึ้นในกรุงเทพมหานคร[6] วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 อหิวาตกโรคได้ระบาดเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง นางทาสในตึกที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลได้ล้มเจ็บและตายพร้อมกันสามคน ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลเองก็ประชวร[6] และสิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 แรม 12 ค่ำ ปีกุน เบญจศก จุลศักราช 1225 ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 สร้างความโศกาอาดูรแก่พระบิดายิ่งนัก ลีโอโนเวนส์ได้บันทึกเกี่ยวกับเรื่องราวนี้ไว้ว่าเมื่อเธอไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว "ก็พบพระองค์ยกพระหัตถ์ทั้งสองปิดพระพักตร์กันแสงอยู่ผู้เดียว ทรงตรัสเรียกพระธิดาด้วยถ้อยคำอ่อนโยน"[7] ต่อมาเชิญพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑลสถิตในพระโกศทอง แห่ไปประดิษฐานบนหอธรรมสังเวชในพระบรมมหาราชวัง[8]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2406 ออกพระเมรุพร้อมกับพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากนิษฐน้อยนารี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 2[9] ลางแห่งก็ว่ามีพระราชพิธีดังกล่าวระหว่างวันที่ 16-21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2407[10]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระเชษฐาร่วมพระชนกชนนี โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอัฐิพระขนิษฐาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์[11] [วิ-สุด-กะ-สัด] เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2427[12]

พระอิสริยยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพะยะค่ะ/เพคะ
  • 24 เมษายน พ.ศ. 2398 — 31 ธันวาคม พ.ศ. 2405 : พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล
  • 31 ธันวาคม พ.ศ. 2405 — 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2406 : สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี
  • 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 : สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี
  • 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 : สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์[13][14]

พระอนุสรณ์[แก้]

  • ถนนวิสุทธิกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ตัดถนนเริ่มจากถนนราชดำเนินนอกไปบรรจบกับถนนสามเสนที่แยกบางขุนพรหมบริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่ออุทิศส่วนกุศลพระราชทานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์

พงศาวลี[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

I. ^ พระนามพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีจะมีพระนามที่สอดคล้องกัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์ → จันทรมณฑล → จาตุรนต์รัศมี → ภาณุรังษีสว่างวงศ์ ดังนั้นพระนาม "จันทรมณฑล" จึงอ่านว่า จัน-ทอน-มน-ทน เพื่อให้สอดคล้องกับจุฬาลงกรณ์

อ้างอิง[แก้]

  1. ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 82
  2. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 284-285
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542. หน้า 152
  4. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 36
  5. 5.0 5.1 วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542. หน้า 150
  6. 6.0 6.1 วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542. หน้า 155
  7. วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์. 2542, หน้า 156
  8. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2563, หน้า 292
  9. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 36. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2013-09-18.
  10. Anna and The King กับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์. เรียกดูเมื่อ 30 สิงหาคม 2556
  11. เล็ก พงษ์สมัครไทย. เฉลิมพระยศ เจ้านายฝ่ายในในรัชกาลที่ ๑-๙. กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์, หน้า 34
  12. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 55. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2013-09-18.
  13. "พระบรมราชโองการ ประกาศคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงษ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (ก): 1. 30 ตุลาคม 2453.
  14. "พระบรมราชโองการ ประกาศคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงษ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 (ก): 154. 30 กรกฎาคม 2454.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เจ้านายราชวงศ์ นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2514 ปีที่ 49 ประจำวันอังคาร ที่ 24 ธันวาคม 2545[ลิงก์เสีย]
  • ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  • บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. ราชสกุลพระบรมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2539. หน้า หน้าที่. ISBN 974-005-650-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  • กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. กรุงเทพ : ราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2548. 488 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-9588-38-3 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  • Jeffy Finestone , แปลโดยชาคริต ชุ่มวัฒนะ. สมุดพระรูปพระราชโอรส พระราชธิดาและพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4). กรุงเทพ : โลมาโฮลดิ้ง, พ.ศ. 2543. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8714-88-2 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum