เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก

พิกัด: 6°01′47″N 101°58′00″E / 6.0297°N 101.9668°E / 6.0297; 101.9668
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก)
เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันThetsaban Mueang Su-ngai Kolok
สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก
ตราอย่างเป็นทางการของเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
ตรา
ทม.สุไหงโก-ลกตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส
ทม.สุไหงโก-ลก
ทม.สุไหงโก-ลก
ที่ตั้งของเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
พิกัด: 6°01′47″N 101°58′00″E / 6.0297°N 101.9668°E / 6.0297; 101.9668
ประเทศ ไทย
จังหวัดนราธิวาส
อำเภอสุไหงโก-ลก
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีสุชาดา พันธ์นรา
พื้นที่
 • ทั้งหมด20.50 ตร.กม. (7.92 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)[1]
 • ทั้งหมด40,583 คน
 • ความหนาแน่น2,027.95 คน/ตร.กม. (5,252.4 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.04961001
ที่อยู่
สำนักงาน
ถนนทรายทอง 4 ตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส 96120
เว็บไซต์www.kolokcity.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

สุไหงโก-ลก เป็นเทศบาลเมืองแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นเมืองที่ประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส เป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน การเงิน และธนาคารที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชายแดนภาคใต้ เนื่องด้วยเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญมีด่านศุลกากร ที่เป็นศูนย์กลางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย สุไหงโก-ลกได้รับการประกาศยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2545[2]

ประวัติ[แก้]

สุไหงโก-ลกเดิมเป็นป่าดงดิบรกร้างว่างเปล่าในเขตตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงปาดี ความเป็นป่าทึบทำให้ชาวบ้านเรียกว่า "ป่าจันตุหลี" หมายความว่า ทึบจนเรียกไม่ได้ยิน เหมือนหูหนวก เมื่อเริ่มมีผู้เข้ามาหักร้างถางพง จากชื่อป่าจันตุหลีเปลี่ยนเป็น "สุไหงโก-ลก" ซึ่งเป็นภาษามลายู มาจากคำว่า "สุไหง" แปลว่า แม่น้ำ ลำคลอง และคำว่า "โก-ลก" แปลว่า คดเคี้ยว ถ้าเป็นคำนามหมายถึง มีดพร้า (ที่คนพื้นเมืองนิยมใช้) เมื่อนำคำว่าสุไหงรวมกับโก-ลก จึงหมายถึง แม่น้ำที่คดเคี้ยว หรือ แม่น้ำมีดอีโต้ ชาวบ้านคงเรียกชื่อเมืองตามแม่น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้เป็นเส้นกั้นพรมแดนประเทศไทยกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

เมื่อปี พ.ศ. 2460 ได้มีการกรุยทางเพื่อก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมไปรัฐกลันตันโดยกำหนดตั้งสถานีรถไฟในเขตป่าจันตุหลี ซึ่งต่อมาก็คือสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นสถานีรถไฟสถานีสุดท้ายของประเทศไทยที่มีระยะทางไกลที่สุด ชาวบ้านปูโยะที่เห็นการณ์ไกลได้เริ่มเข้ามาจับจองที่ดิน บ้างก็ขออนุญาตทำสวนยางพาราแต่ยังไม่มีการปลูกสร้างบ้านเรือน ชุมชนที่ชาวปูโยะติดต่อค้าขายมีเฉพาะรันตูปันยังของกลันตันซึ่งมีราษฎรอยู่อาศัยและประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลักแหล่งแล้ว

แม้ว่าจะเปิดการเดินรถไฟเป็นรถรวมจากหาดใหญ่ไปสิ้นระยะที่สุไหงโกลกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2464 แต่ราษฎรก็ยังไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากป่าถูกจับจองไว้โดยมิได้ก่อประโยชน์ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2468 นายวงศ์ ไชยสุวรรณ อาศัยที่ดินของนายฉ่ำที่หลังสถานีรถไฟ พร้อมนายฮวด นายซั้ว นายกวาซ่อง นายเจ๊ะหมัด นายหลีหลง และนายหวัง รวม 7 คน เป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงซึ่งมีทั้งคนไทย คนมุสลิม และคนจีนร่วมกันพัฒนาเมือง (สุนทรธรรมพาที: 2501) นับเป็นต้นแบบแห่งสังคมพหุลักษณ์ที่มีเสน่ห์ยิ่ง ปี พ.ศ. 2472 กำนันตำบลปูโยะถึงแก่กรรม นายวงศ์ ไชยสุวรรณจึงได้รับแต่งตั้งเป็นกำนันได้พัฒนาจนเริ่มกลายเป็นเมือง ได้อาศัยเงินจากเพื่อน 5 คน ได้ 500 บาท ตัดถนนถึง 31 สาย ลักษณะถนนตัดพาดผ่านกันเป็นตาหมากรุก จึงมีสี่แยกจำนวนมาก แต่เชื่อว่านั่นคือแนวคิดการป้องกันการลุกลามของไฟเมื่อเกิดอัคคีภัย ดังนั้นจึงมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพมากมาย ตำบลปูโยะมีประชากรถึง 12,300 คน ทางราชการจึงแยกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลปูโยะและตำบลสุไหงโก-ลก

ต่อมาเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ล่องใต้มาตรวจราชการที่ตำบลสุไหงโก-ลก นายวงศ์ ไชยสุวรรณได้ร้องขอให้ตั้งท้องถิ่นนี้ขึ้นเป็นเทศบาล ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเห็นด้วย จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 มีนายวงศ์ ไชยสุวรรณ เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก เหตุการณ์นี้พระครูสุนทรธรรมภาณีได้เขียนคำกลอนบันทึกไว้ว่า

ใน พ.ศ. 2483 จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ออกเที่ยวตรวจราชการงานที่มี มาถึงแดนโก-ลกโชคดีแรง กำนันวงศ์ร้องขอต่อ ฯพณฯ ท่าน ขอเปิดการเทศบาลขึ้นในแขวง จอมพล ป. เห็นตามความชี้แจง คุณวงศ์แต่งเปิดเขตเทศบาล ฯลฯ ในเจ็ดปีที่คุณวงศ์เป็นนายก สร้างโก-ลกให้สง่าหรูหราแสน ทำประโยชน์มากมายเมืองชายแดน ตามแบบแปลนที่จะเล่ากล่าวต่อไป หนึ่งขอตั้งไปรษณีย์โทรเลข งานชิ้นเอกสร้างสรรค์ทันสมัย เรื่องที่สองร้องขอตั้งต่อไป โรงเรียนใหม่ถึงขั้นชั้นมัธยม ทางกระทรวงศึกษาอนุญาต ความมุ่งมาตรมั่นหมายก็ได้ผล ฯลฯ ประการสี่มีข้อขอเสนอ ตั้งเป็นอำเภอปรารถนา เพราะโก-ลกคนมากหากเป็นป่า กิจธุระต้องไปติดต่อสุไหงปาดี รัฐบาลเห็นพ้องอนุญาต แจ้งประกาศบอกกระบวนมาถ้วนถี่ ให้ตั้งก่อนเป็นกิ่งจึงจะดี แต่บัดนี้เป็นอำเภอเสมอกัน

หลังจากตั้งเทศบาลแล้ว 8 ปี ตำบลสุไหงโก-ลกจึงได้ยกฐานะเป็น กิ่งอำเภอสุไหงโก-ลก ขึ้นกับอำเภอสุไหงปาดี โดยมีเขตปกครอง 4 ตำบล คือ ตำบลสุไหงโก-ลก ตำบลปูโยะ ตำบลปาเสมัส และตำบลมูโนะ (รับโอนมาจากอำเภอตากใบ) กระทั่งวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2496 จึงได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอสุไหงโก-ลก มีนายนอบ นพสงศ์ เป็นนายอำเภอคนแรก เขตการปกครอง 4 ตำบลเท่าเดิม ส่วนตำบลสุไหงโก-ลกอยู่ในเขตเทศบาล ความน่าภูมิใจของเทศบาลนี้คือ เป็นเทศบาลเดียวในประเทศไทยที่จัดตั้งก่อนอำเภอถึง 13 ปีและเกิดจากความต้องการของประชาชน ปัจจุบันเทศบาลตำบลสุไหงโก-ลกได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกเมื่อ ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ปัจจุบันอำเภอสุไหงโก-ลกมีความเจริญและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง มีด่านการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดของฝั่งตะวันออก เป็นศูนย์กลางของการค้าขายส่งสินค้าทั้งพืชผักผลไม้ ตลอดจนไม้ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และขนมนมเนยจากประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่ผ่านเข้าออกด่านสุไหงโก-ลกกว่าปีละหลายแสนคน

ภูมิอากาศและภูมิประเทศ[แก้]

เมืองสุไหงโก-ลก ตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมเมืองร้อน มีลมมรสุมพัดผ่านประจำทุกปี คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนมกราคม และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม จากอิทธิพลของลมมรสุมดังกล่าว ส่งผลให้มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึงเดือน พฤษภาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่ว่างของลมมรสุมจะเริ่มตั้งแต่หลังจากหมดมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อนและอากาศจะมีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน แต่อากาศจะไม่ร้อนมากนักเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ทะเล และฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง พฤศจิกายน นครหาดใหญ่จะมีฝนตกทั้งในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่ในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกชุกมากกว่า เนื่องจากพัดผ่านอ่าวไทย ส่วนลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะถูกเทือกเขาบรรทัดปิดกั้นทำให้ฝนตกน้อยลง ในปี พ.ศ. 2546 ฝนตกมากที่สุดในช่วงเดือน ตุลาคม มิลลิเมตร ฝนตกน้อยที่สุดในเดือนเมษายน

สถานที่สำคัญ[แก้]

  • พระบรมราชานุเสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ 5) ประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณใจกลางสวนภูมินทร์ ( สวนรถไฟ ) เป็นพระบรมรูปหล่อสำฤทธิ์สีดำขนาดเท่าพระองค์จริง จัดสร้างโดยกรมศิลปากร เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก และประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาส เมื่อ ประมาณ ปี พ.ศ. 2510 โดยจัดสร้างหันหน้าพระพักต์ไปทางประเทศมาเลเซียแสดงถึงพระบารมีเมตตาเหนือประชาชนชาวสยามที่จะทรงปกป้องแผ่นดินไทยตลอดไปถึงแม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จสวรรคตไปกว่าร้อยปีแล้วแต่พระบารมีเมตตายังทรงคุ้มครอบประชาชนชาวไทยอยู่ ปัจจุบันเป็นที่เคารพรักและสักการะของชาวเมืองและนักท่องเที่ยวทั่วไป
  • สวนสาธารณะสิรินธร เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ตั้งอยู่สุดปลายริมแม่น้ำโก-ลก มีทัศนียภาพที่สวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ยามพักผ่อน ออกกำลังกายของประชาชนทั่วไป มีน้ำพุกลางสระน้ำขนาดใหญ่ สวนสุขภาพ เวทีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ลานออกกำลังแอโรบิก และสวนพันธ์ไม้หายากต่าง ๆ
  • ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ถือเป็นด่านการค้าชายแดน ระหว่างประเทศ ( ประเทศไทย และ ประเทศมาเลเซีย ) ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก สุดปลายถนนเอเชีย 18 โดยมีสะพานมิตรภาพเชื่อมไปยังเมืองลันตูปันจัง ประเทศมาเลเซีย ก่อสร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2530 ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ถือเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าสไคญของจังหวัดนราธิวาส และมีขนาดใหญ่รองจากด่านสะเดา ที่จังหวัดสงขลา เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการสำคัญเช่น ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ที่ 1 ด่านตรวจพืช ด่านตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์บริการท่องเที่ยว สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคใต้เขต 3 และถือเป็นจุดผ่านแดนแห่งที่2 ที่มีสะพานข้ามทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศมาเลเซียอีกด้วย โดยมีเขตสถานีรถไฟอยู่ในประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย ( ปัจจุบันหยุดเดินรถไปแล้ว เนื่องจากปัญหาการเดินรถ )

การศึกษา[แก้]

การขนส่ง[แก้]

ภายในเมืองสุไหงโก-ลกมีทางหลวงแผ่นดินผ่าน 3 สาย ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 (คลองแงะ – สุไหงโก-ลก), ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4056 (เขากง – สุไหงโก-ลก), และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4047 (สุไหงโก-ลก – บูเก๊ะตา) นอกจากนี้ยังมีสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของทางรถไฟสายใต้

ทางหลวงท้องถิ่นในเมืองสุไหงโก-ลก ได้แก่

  • ถนนเจริญเขต
  • ถนนประชาวิวัฒน์
  • ถนนทรายทอง
  • ถนนอารีฟมรรคา
  • ถนนอุทกวิถี
  • ถนนรัชดานุสรณ์
  • ถนนลูกเสืออนุสรณ์
  • ถนนวรคามินทร์
  • ถนนบุษบาอนุสรณ์
  • ถนนพิบูลสงคราม

อ้างอิง[แก้]

  1. "รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2561 ท้องถิ่นเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก". ระบบสถิติทางการทะเบียน กรมการปกครอง. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงฐานะเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง (เทศบาลเมืองหลังสวน, เทศบาลเมืองหัวหิน, เทศบาลเมืองสะเดา, เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-02-28. สืบค้นเมื่อ 2011-10-31.