ข้ามไปเนื้อหา

อาณาจักรสุโขทัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ยุคสุโขทัย)
อาณาจักรสุโขทัย

พ.ศ. 1792–พ.ศ. 1981
ตราแผ่นดินของสุโขทัย
ตราแผ่นดิน
  อาณาจักรสุโขทัยช่วงพ่อขุนรามคำแหงมหาราชในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 4
  อาณาจักรสุโขทัยในคริสต์ศตวรรษที่ 14
เมืองหลวงสุโขทัย
พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ส่วนหนึ่ง
ภาษาทั่วไปไม่ทราบ (พ.ศ. 1792–รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง)
ไทย (รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง–พ.ศ. 1981)
การปกครองพ่อปกครองลูก (สมัยตอนต้นจนถึงสมัยตอนปลาย)
ธรรมราชา (สมัยตอนปลาย)
พระมหากษัตริย์ 
• 1792–ไม่ปรากฏ
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
• 1822–1841
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
• 1841–1866
พระยาเลอไทย
• 1866–1890
พระยางั่วนำถุม
• 1890–1911
พระมหาธรรมราชาที่ 1
• 1911–1952
พระมหาธรรมราชาที่ 2
• 1962–1981
พระมหาธรรมราชาที่ 4
ประวัติศาสตร์ 
• การปกครองโดยราชวงศ์พระร่วง
พ.ศ. 1792
พ.ศ. 1921
• เป็นรัฐร่วมประมุขกับอาณาจักรอยุธยา
พ.ศ. 1981
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรละโว้
หัวเมืองเหนือ
นครรัฐสุโขทัย
นครรัฐกำแพงเพชร
นครรัฐเชลียง
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไทย
 พม่า
 ลาว

อาณาจักรสุโขทัย[1] หรือ หัวเมืองเหนือ (พ.ศ. 1792 – 1981) เป็นรัฐในอดีตรัฐหนึ่ง ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สถาปนาขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในฐานะสถานีการค้าของรัฐละโว้ หลังจากนั้นราวปี พ.ศ. 1792 พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองได้ร่วมกันกระทำการยึดอำนาจจากขอมสบาดโขลญลำพงเป็นผลสำเร็จ และได้สถาปนาเอกราชให้รัฐสุโขทัยเป็นอาณาจักรสุโขทัย และมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับและเพิ่มถึงขีดสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก่อนจะค่อย ๆ ตกต่ำ และประสบปัญหาทั้งจากปัญหาภายนอกและภายใน จนต่อมาถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาไปในที่สุด

ที่ตั้งและอาณาเขต

อาณาจักรสุโขทัย ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าผ่านคาบสมุทรระหว่างอ่าวเมาะตะมะและที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง มีอาณาเขตดังนี้[2]

  1. ทิศเหนือ มีเมืองแพร่ (ปัจจุบันคือแพร่) เป็นเมืองปลายแดนด้านเหนือสุด
  2. ทิศใต้ มีเมืองพระบาง (ปัจจุบันคือนครสวรรค์) เป็นเมืองปลายแดนด้านใต้
  3. ทิศตะวันตก มีเมืองฉอด (ปัจจุบันคือแม่สอด) เป็นเมืองชายแดนที่จะติดต่อเข้าไปยังอาณาจักรมอญ
  4. ทิศตะวันออก มีเมืองสะค้าใกล้แม่น้ำโขงในเขตภาคอีสานตอนเหนือ

ประวัติศาสตร์

ชุมชนก่อนรัฐ

ความเชื่อเรื่องก่อนกำเนิดรัฐสุโขทัย แต่เดิมมีความเชื่อว่ากลุ่มคนจำนวนมากอพยพหนีการรุกรานจากจีนผ่านมาทางเชียงแสน เชียงราย ลุ่มแม่น้ำปิง และตั้งเมืองที่ลุ่มแม่น้ำยมตอนล่าง คติดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมประวัติศาสตร์ชาตินิยม และสร้างภาพของสุโขทัยออกมาในฐานะราชธานีอันยิ่งใหญ่ที่มีเขตแดนจากพงสาลีจรดปลายแหลมมลายู มีแสนยานุภาพเกรียงไกรด้วยกองทัพปลดแอกจากมหาอำนาจขอม มีรูปแบบการปกครองแบบครอบครัวเชิงอุปถัมภ์ที่เรียกกันว่าพ่อปกครองลูก อีกทั้งมีเศรษฐกิจที่รุดหน้ากว่าชาติตะวันตกในรูปแบบการค้าเสรี มีการใช้ภาษาเชิงอารยะคือมีอักษรใช้เป็นของชาติตนเอง แต่ในเวลาต่อมาแนวคิดนี้เริ่มมีข้อบกพร่อง อีกทั้งเริ่มมีหลักฐานอื่นขึ้นมาขัดแย้งเรื่อยๆ นอกจากนี้แนวความคิดนี้ยังก่อให้เกิดปัญหามโนคติตามมา[ต้องการอ้างอิง]

ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่า ในบริเวณสุโขทัยน่าจะมีชุมชนอยู่ก่อนแล้ว ทั้งจากกลุ่มชนที่สูงพวกลัวะ หรือกลุ่มพื้นราบจากอารยธรรมทวารวดี นอกจากนี้ยังมีการค้นพบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ที่บ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย โดยเฉพาะแร่เหล็ก ซึ่งก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐานเพื่อทำอุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็ก และการผลิตเครื่องมือเหล็กต่างๆในราวยุคเหล็กตอนปลายต่อเนื่องสมัยทวารวดี โดยพบหลักฐานเป็นโลหะห้อยคอรูปหน้าลิง นอกจากนี้ยังพบร่องรอยชุมชนริมแม่น้ำลำพัน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงวังตะคร้อ ซึ่งมีการพบหลักฐานจำพวกลูกปัด และบริเวณนี้ก็เป็นที่ตั้งของถ้ำเจ้าราม หรือถ้ำพระราม ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถูกเอ่ยถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 แต่ชุมชนเหล่านี้ ก็มิได้ขยายตัวเป็นเมืองใหญ่จวบจนกระทั่งสมัยอาณาจักรเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง]

สุโขทัย เป็นชุมทางการค้าที่สำคัญจุดหนึ่งที่ผู้คนจากทั่วสารทิศมาพบปะกันจริงๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าในตอนต้นของประวัติศาสตร์ มีการปรากฏตัวของ มะกะโท ซึ่งเป็นพ่อค้า และยังมีการเข้าตีเมืองตาก โดยขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในช่วงเวลาหนึ่งของสุโขทัย ทั้งนี้มีการสันนิษฐานว่า สุโขทัยเป็นสถานีการค้าของแคว้นละโว้ (ลวรัฐ) บนเส้นทางการค้าผ่านคาบสมุทรระหว่างอ่าวเมาะตะมะ กับเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง (ประเทศลาว) คาดว่าเริ่มตั้งเป็นสถานีการค้าในราวพุทธศักราช 1700 ในรัชสมัยของพระยาธรรมิกราช กษัตริย์ละโว้[ต้องการอ้างอิง] โดยมีพ่อขุนศรีนาวนำถุม เป็นผู้ปกครองและดูแลกิจการภายในเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย ต่อมาเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถุมสวรรคต ขอมสบาดโขลญลำพง สันนิษฐานว่าเป็นผู้ตรวจราชการจากลวรัฐ[ต้องการอ้างอิง] เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองสุโขทัย แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เหตุสงครามอย่างที่เข้าใจกัน เพราะขอมสบาดโขลญลำพงครองสุโขทัยเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถชี้ชัดระยะเวลาที่แท้จริงได้ก็ตาม

สถาปนาอาณาจักร

ต่อมาเกิดความขัดแย้งบางประการ ทั้งอาจจะเกิดจากขอมสบาดโขลญลำพงโดยตรงหรือไม่ก็ตาม แต่น่าจะกระทบกระเทือนต่อราชวงศ์ศรีนาวนำถุมและราชวงศ์พระร่วง จึงส่งผลให้พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ต้องร่วมมือกันชิงเอาสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 1792 จากนั้น พ่อขุนผาเมืองก็กลับยกเอาเมืองสุโขทัย พระแสงขรรค์ชัยศรี และพระนาม "กบรเต็งอันศรีอินทรบดินทราทิตย์" ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม ภายหลังได้คลายเป็น ศรีอินทราทิตย์ ให้กับพ่อขุนบางกลางหาว และหายไปจากประวัติศาสตร์จากนั้นเป็นต้นมา ซึ่งมีการสันนิษฐานไปต่างๆนานา ทั้งการไปครองเมืองที่ใหญ่กว่า หรือกลับไปครองเมืองราดตามเดิมอย่างสงบ

แม้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ปกครองสุโขทัยแล้ว กิจการเมืองก็ยังไม่สงบเรียบร้อยดังปรากฏว่ามี ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ยกทัพเข้ามาตีเมืองตาก และท้ายที่สุดเกิดยุทธหัตถี ระหว่างขุนสามชน กับ รามราช พระโอรสองค์เล็กของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผลคือพระโอรสองค์เล็กได้รับชัยชนะ และได้รับการเฉลิมพระนามว่ารามคำแหง หลังพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคต พ่อขุนบานเมือง พระโอรสองค์โต และ พ่อขุนรามคำแหง พระโอรสองค์เล็ก ก็ได้ปกครองสุโขทัยต่อตามลำดับ โดยในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงได้ประกอบพระกรณียกิจไว้มากมาย ทั้งการขยายดินแดน ซึ่งเดิมเชื่อว่าทรงได้พื้นที่จากพงสาลี จรดแหลมมลายู แต่ปัจจุบันหลักฐานหลายชิ้นระบุอาณาเขตไว้ใต้สุดเพียงเมืองพระบาง นอกจากนี้ด้านศาสนายังมีการประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์อีกด้วย

การสิ้นสุด

หลังจากพ่อขุนรามคำแหงแล้ว เมืองต่างๆเริ่มอ่อนแอลงเมือง ส่งผลให้ในรัชกาลพระยาเลอไท และรัชกาลพระยาไสลือไท ต้องส่งกองทัพไปปราบหลายครั้งแต่มักไม่เป็นผลสำเร็จ และการปรากฏตัวขึ้นของอาณาจักรอยุธยาทางตอนใต้ซึ่งกระทบกระเทือนเสถียรภาพของสุโขทัยจนในท้ายที่สุดก็ถูกแทรกแซงจากอยุธยา จนมีฐานะเป็นหัวเมืองของอยุธยาไปในที่สุด โดยมีพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครองสุโขทัยในฐานะรัฐอิสระพระองค์สุดท้าย โดยขณะนั้น ด้วยการแทรกแซงของอยุธยา รัฐสุโขทัยจึงถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ

  • เมืองสรลวงสองแคว (พิษณุโลก) อันเป็นเมืองเอก มีพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครอง
  • เมืองสุโขทัย เมืองรอง มีพระยาราม เป็นผู้ปกครองเมือง
  • เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) มี พระยาเชลียง เป็นผู้ปกครองเมือง
  • เมืองกำแพงเพชร มี พระยาแสนสอยดาว เป็นผู้ปกครองเมือง

อาณาจักรสุโขทัยสิ้นสุดลงหลังสิ้นรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) โดยยึดตามพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างอิงตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ[3][4] ว่า อาณาจักรอยุธยาส่งพระราเมศวรไปปกครองพิษณุโลกในปี พ.ศ. 1981[note 1] แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับโดยนักประวัติศาสตร์[5]และกรมศิลปากร[6] ต่อมาได้มีการเสนอว่า พระยายุทธิษเฐียรได้ปกครองพิษณุโลกและสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา ทำให้เกิดสงครามอยุธยา–ล้านนา (พ.ศ. 1984–2017) อาณาจักรสุโขทัยจึงสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2006 เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปครองพิษณุโลก[5][7] โดยยึดตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ แต่ศักราชดังกล่าวขัดแย้งกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่[8]

ความเจริญรุ่งเรือง

ด้านเศรษฐกิจ

สภาพเศรษฐกิจสมัยสุโขทัยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ดังข้อความปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 "…ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้า ทองค้า " และ "...เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว..." ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยระบบเกษตรกรรมแบบยังชีพ และส่งออกเครื่องถ้วยชามสังคโลก

ด้านสังคม

รูปชาวไทยสมัยสุโขทัย (เครื่องแต่งกาย และทรงผม) บนศิลาที่เพดานวัดศรีชุม (จังหวัดสุโขทัย)

การใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยสุโขทัยมีความอิสระเสรี มีเสรีภาพอย่างมากเนื่องจากผู้ปกครองรัฐให้อิสระแก่ไพร่ฟ้า และปกครองแบบพ่อกับลูก ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึก[9] ว่า "…ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน…"

ด้านความเชื่อและศาสนา สังคมยุคสุโขทัยประชาชนมีความเชื่อทั้งเรื่องวิญญาณนิยม ไสยศาสตร์ ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และพุทธศาสนา ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 5 ว่า "…เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎิวิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดพงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง ป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขระพุงผี เทพยาดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยว เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันนั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย…"

ส่วนด้านศาสนา ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราช ในวันพระ จะมีภิกษุเทศนาสั่งสอน ณ ลานธรรมในสวนตาล โดยใช้พระแท่นมนังคศิลาอาสน์ เป็นอาสนะสงฆ์ ในการบรรยายธรรมให้ประชาชนฟัง ยังผลให้ประชาชนในยุคนี้นิยมปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีการถือศีล โอยทานกันเป็นปกติวิสัย ทำให้สังคมโดยรวมมีความสงบสุขร่มเย็น

ด้านการปกครองของอาณาจักรสุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ

  1. แบบปิตุราชาธิปไตย ในระยะแรกสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก เรียกพระมหากษัตริย์ว่า "พ่อขุน" ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อที่จะต้องดูแลคุ้มครองลูก ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โปรดให้สร้างกระดิ่งแขวนไว้ที่หน้าประตูพระราชวัง เมื่อประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนก็ให้ไปสั่นกระดิ่งร้องเรียน พระองค์ก็จะเสด็จมารับเรื่องราวร้องทุกข์ และโปรดให้สร้างพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ได้กลางดงตาล ในวันพระจะนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์สั่งสอนประชาชน หากเป็นวันธรรมดาพระองค์จะเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าและตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง การปกครองแบบนี้ปรากฏในสมัยกรุงสุโขทัยตอนต้น
  2. แบบธรรมราชา กษัตริย์ผู้ทรงธรรม ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 มีกำลังทหารที่ไม่เข้มแข็ง ประกอบกับอาณาจักรอยุธยาที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ได้แผ่อิทธิพลมากขึ้น พระองค์ทรงเกรงภัยอันตรายจะบังเกิดแก่อาณาจักรสุโขทัย หากใช้กำลังทหารเพียงอย่างเดียว พระองค์จึงทรงนำหลักธรรมมาใช้ในการปกครอง โดยพระองค์ทรงเป็น แบบอย่างในด้านการปฏิบัติธรรม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นพระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ที่ปรากฏแนวคิดแบบธรรมราชาไว้ด้วย การปกครองแบบนี้ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย ตั้งแต่พระมหาธรรมราชาที่ 1 - 4

ด้านการปกครองส่วนย่อยสามารถแยกกล่าวเป็น 2 แนว ดังนี้

  • ในแนวราบ จัดการปกครองแบบพ่อปกครองลูก กล่าวคือผู้ปกครองจะมีความใกล้ชิดกับประชาชน ให้ความเป็นกันเองและความยุติธรรมกับประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อประชาชนเกิดความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนกับพ่อขุนโดยตรงได้ โดยไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูที่ประทับ ดังข้อความในศิลาจารึกปรากฏว่า "…ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งไว้ให้ ไพร่ฟ้าหน้าใส…" นั่นคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมาสั่นกระดิ่งเพื่อแจ้งข้อร้องเรียนได้
  • ในแนวดิ่ง ได้มีการจัดระบบการปกครองขึ้นเป็น 4 ชนชั้น คือ
    • พ่อขุน เป็นชนชั้นผู้ปกครอง อาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น เจ้าเมือง พระมหาธรรมราชา หากมีโอรสก็จะเรียก "ลูกเจ้า"
    • ลูกขุน เป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ช่วงปกครองเมืองหลวง หัวเมืองใหญ่น้อย และภายในราชสำนัก เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดและได้รับการไว้วางใจจากเจ้าเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ไพร่ฟ้า
    • ไพร่หรือสามัญชน ได้แก่ราษฎรทั่วไปที่อยู่ในราชอาณาจักร (ไพร่ฟ้า)
    • ทาส ได้แก่ชนชั้นที่ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิตอย่างสามัญชนหรือไพร่ (อย่างไรก็ตามประเด็นทาสนี้ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่)[10]

ความสัมพันธ์กับต่างชาติ

จักรวรรดิมองโกล

กองทัพจักรวรรดิมองโกลแผ่แสนยานุภาพโดดเด่นที่สุดเป็นช่วงเดียวกับการตั้งกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1800 (ค.ศ. 1257) ซึ่งเป็นอาณาจักรของตนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก

หลักฐานสำคัญในพงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 2 แปลเรื่องราวการติดต่อระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับราชวงศ์มองโกลได้สรุปไว้ว่ากุบไลข่านทรงปรึกษาขุนนางข้าราชการระดับสูงเกี่ยวกับการเตรียมทัพไปปราบปรามแคว้นต่างๆ ทางใต้ มีสุโขทัย ละโว้ สุมาตรา และอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น ปรากฏว่าขุนนางชื่อ เจี่ย หลู่ น่าต๋าไม่เห็นด้วยและได้กราบบังคมทูลเสนอแนะให้ทรงชักชวนให้ผู้นำดินแดนต่างๆ อ่อนน้อมยอมสนับสนุนก่อน หากไม่ยอมจึงยกกองทัพไปโจมตี นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่กุบไลข่านทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี และขอให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักมองโกล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออาณาจักรมองโกล ปรากฏว่ามีอาณาจักรในดินแดนต่างๆ กว่า 20 อาณาจักรยอมรับข้อเสนอ รวมทั้งอาณาจักรสุโขทัยด้วย (ช่วงระหว่างประมาณ พ.ศ. 1822 - 1825)

พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 12 เป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงคณะทูตชุดแรกจากอาณาจักรมองโกลในสมัยกุบไลข่าน เดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 1825 (ค.ศ. 1282) ทูตคณะนี้นำโดยเหอจี จี่ นายทหารระดับสูงเป็นหัวหน้าคณะ แต่ขณะนังเรือแล่นผ่านฝั่งทะเลอาณาจักรจามปา ได้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต ผลจากคณะทูตนี้ถูกประหารชีวิตก่อนจะเดินทางไปยังอาณาจักรสุโขทัยทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่ทราบว่ามองโกลพยายามส่งทูตมาติดต่อ

พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 17 กล่าวถึงคณะทูตมองโกลชุดที่สองเดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในปี พ.ศ. 1835 (ค.ศ. 1292) ภายหลังจากข้าหลวงใหญ่ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยของมณฑลกวางตุ้ง ได้ส่งคนอัญเชิญพระราชสาส์นอักษรทองคำของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยไปยังนครหลวงข่านมาลิก (ต้าตู หรือปักกิ่งปัจจุบัน) คณะทูตมองโกลชุดที่สองได้อัญเชิญพระบรมราชโองการของกุบไลข่านให้พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเฝ้า พระบรมราชโองการนี้แสดงให้เห็นนโยบายของอาณาจักรมองโกลเรียกร้องให้ผู้นำของอาณาจักรต่างๆ ไปเฝ้ากุบไลข่าน แต่มิได้บังคับให้เป็นไปตามนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตามแต่ประการใด

พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 18 กุบไลข่านได้ส่งคณะทูตชุดที่สามมาสุโขทัย โดยได้อัญเชิญพระบรมราชโองการให้พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเฝ้า หากมีเหตุขัดข้องให้ส่งโอรสหรือพระอนุชาและอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน ซึ่งปรากฏว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตาม แต่ส่งคณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปแทน

อาณาจักรล้านนา

ในปี พ.ศ. 1839 พญามังราย (พ.ศ. 1804 - 1854) ได้มีคำสั่งให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เพื่อที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนา ครั้งนั้นพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพญางำเมืองได้เสด็จมาช่วยด้วย

อาณาจักรอยุธยา

หลังจากมีการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา สุโขทัยและอยุธยาไม่ได้เป็นไมตรีต่อกัน แต่ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมกว่า ทำให้อยุธยาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในของสุโขทัยมิได้เป็นไปโดยสงบ มีการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่างพระยาบาลเมืองและพระยาราม ยังส่งผลให้อยุธยาสบโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการภายใน ในรัชกาลนี้มีการรับไมตรีจากอยุธยาโดยการสมรสระหว่างราชวงศ์พระร่วงกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ และให้กำเนิดพระราเมศวร ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

อาณาจักรลังกา

สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับลังกาทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์โดยรับมาจากนครศรีธรรมราชอีกที นอกจากนี้ สุโขทัยก็ยังมีความสัมพันธ์กับลังกาโดยตรง ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ได้มีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงได้เดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกาอีกด้วย

รายพระนามพระมหากษัตริย์และรายชื่อผู้ปกครอง

เมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัยในตำนานมุขปาฐะ

เมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัยได้รับการกล่าวถึงในตำนานพื้นบ้านอย่างแพร่หลายว่า เคยถูกปกครองโดยกษัตริย์พระนามว่า พระร่วง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายโดยอ้างอิงพงศาวดารเหนือว่า มีตำนานพระร่วง 2 เรื่อง ได้แก่ ตำนานอรุณกุมาร ซึ่งพระร่วงเป็นพระโอรสของกษัตริย์เมืองศรีสัชนาลัย และตำนานพระร่วงส่วยน้ำ ซึ่งพระร่วงเป็นบุตรชาวเมืองละโว้[11] ตำนานพระร่วงและตำนานพื้นบ้านอื่นๆ ยังปรากฏในเอกสารอื่น เช่น จุลยุทธการวงศ์[12] และคำให้การชาวกรุงเก่า[13] อย่างไรก็ตาม กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระนามพระร่วงน่าจะมีที่มาจากกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย[11]

ตารางต่อไปนี้แสดงรายพระนามผู้ปกครองเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัยที่ปรากฏในตำนานพระร่วงและตำนานอื่นๆ ฉบับพงศาวดารเหนือในประชุมพงศาวดารภาคที่ 1[14]

รายพระนาม ช่วงเวลา หมายเหตุ
เมืองศรีสัชนาลัย
พระยาธรรมราชา ไม่ปรากฏ ปรากฏในตำนานการสร้างเมืองสวรรคโลก
พระยาอภัยคามินี พ.ศ. 500 (จ.ศ. 86) ปรากฏในตำนานอรุณกุมาร, ปกครองเมืองหริภุญไชย แต่แต่งตั้งอรุณกุมารให้ปกครองเมืองศรีสัชนาลัย
พระอรุณราช ก่อน พ.ศ. 1000 (จ.ศ. 119) – พ.ศ. 1200 (จ.ศ. 157) พระร่วงในตำนานอรุณกุมาร
พระยาพสุจราช พ.ศ. 1200 (จ.ศ. 157) ปรากฏในตำนานอรุณกุมาร
พระเจ้าธรรมไตรโลก ไม่ปรากฏ ปรากฏในตำนานพระบรมราชา
เมืองสุโขทัย
พระยาพาลีราช พ.ศ. 1043 (จ.ศ. 40) ปรากฏในตำนานพระยากาฬวรรณดิศ
พระยาศรีจันทราธิบดี พ.ศ. 1502 พระร่วงในตำนานพระร่วงส่วยน้ำ

อาณาจักรสุโขทัย

ลำดับ รายพระนาม เริ่มต้น (พ.ศ.) สิ้นสุด (พ.ศ.) หมายเหตุ
เมืองศรีสัชนาลัย (ก่อน พ.ศ. 1762)
- พ่อขุนศรีนาวนำถุม ไม่ปรากฏ 1762 ปรากฏในจารึกวัดศรีชุม, ต่อมาได้เมืองสุโขทัยและเมืองระแหงจากอีแดงเพลิง ซึ่งอีแดงเพลิงถูกสันนิษฐานว่าอาจเป็นชาวมอญจากการวิเคราะห์ชื่อ[15]
เมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัย (พ.ศ. 1762 – 1792)
ราชวงศ์ศรีนาวนำถุม (พ.ศ. 1762 – 1792)
- พ่อขุนศรีนาวนำถุม 1762 ไม่ปรากฏ ปีครองราชย์ถูกสันนิษฐานจากการตีความจารึกนครชุม[16] ได้รับการยอมรับโดยนักประวัติศาสตร์[17] ถูกเสนอว่าอาจไม่ใช่บุคคลเดียวกันกับพ่อขุนนำถุมในจารึกเดียวกัน[5] แต่ได้รับการโต้แย้ง[18]
- พ่อขุนผาเมือง ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ ข้อสันนิษฐานจากการตีความจารึกวัดศรีชุมว่า พ่อขุนผาเมืองทรงตีเมืองสุโขทัยได้ 2 ครั้ง ก่อนที่จะทรงมอบสุโขทัยให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์[15]
- ขอมสบาดโขลญลำพง ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ
- พ่อขุนผาเมือง ไม่ปรากฏ 1792
อาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ. 1792 – 1981)
ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. 1792 – 1981)
1 พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ 1792 ไม่ปรากฏ ปรากฏในจารึกวัดศรีชุม, จารึกพ่อขุนรามคำแหง และจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด[19] ปีครองราชย์ถูกสันนิษฐานจากการคำนวณโดยใช้คัมภีร์สุริยยาตร[5]
2 พ่อขุนบานเมือง ไม่ปรากฏ 1822 ปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหง และจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด
3 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 1822 1841 ปีครองราชย์ถูกสันนิษฐานจากปีที่ทรงปลูกต้นตาล ปีสวรรคตอ้างอิงพงศาวดารราชวงศ์หยวน [en]ภายใต้แนวคิดว่าอาณาจักรเซียนคือสุโขทัย[5]
- พญาไสสงคราม 1841 1841 ปรากฏในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด แต่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นกษัตริย์เนื่องจากไม่ได้ถูกจารึกด้วยคำว่าปู่พระยา[5]
4 พระยาเลอไทย 1841 1866 ปรากฏในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด
5 พระยางั่วนำถุม 1866 1890 ปรากฏในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด ปีครองราชย์ถูกสันนิษฐานจากการนับศักราชที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วง[20]
6 พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) 1890 1911 ปีครองราชย์ปรากฏในจารึกวัดป่ามะม่วง[21]
7 พระมหาธรรมราชาที่ 2 (พญาลือไท) 1911 1952 ปีครองราชย์และปีสวรรคตปรากฏในจารึกวัดบูรพาราม[22]
8 พระมหาธรรมราชาที่ 3 (พญาไสลือไท) 1952 1962 ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่[23] ปีสวรรคตปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ได้รับการโต้แย้งว่า ผู้ที่เป็นพระมหาธรรมราชาที่ 3 อาจเป็นพระยารามแห่งสุโขทัย[8][24]
9 พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) 1962 1981 ปรากฏในจารึกรอยพระยุคลบาทวัดบวรฯ ปีสวรรคตถูกสันนิษฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ[note 1][20]

ระเบียงภาพ

หมายเหตุ

  1. 1.0 1.1 พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐระบุว่า ศักราช ๘๐๐ มะเมียศก ครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสร้างวัดมะเหยงคณ์เสวยราชสมบัติแลสมเด็จพระราเมศวร(เจ้าผู้เปน)พระราชกุมารท่านเสด็จไปเมืองพิศณุโลก ครั้งนั้น เห็นน้ำพระเนตร์พระพุทธเจ้าพระชินราชตกออกมาเปนโลหิต.

อ้างอิง

  1. "อาณาจักรสุโขทัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ 2018-09-12.
  2. "ที่ตั้งอาณาจักร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-05. สืบค้นเมื่อ 2009-04-25.
  3. เจียจันทร์พงษ์, พิเศษ (2010), การเมืองในประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชากษัตราธิราช (2nd ed.), กรุงเทพฯ: มติชน, pp. 58, 76–77, ISBN 978-974-02-0401-5, สืบค้นเมื่อ 2024-06-09
  4. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (1966), เรื่องพระร่วง (PDF) (4th ed.), พระนคร: อักษรเจริญทัศน์, pp. 36–39, สืบค้นเมื่อ 2024-06-09
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 มูลศิลป์, วุฒิชัย (2019). "ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กับความก้าวหน้าการศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย" [Professor Dr. Prasert na Nagara and Development of Sukhothai Studies]. วารสารประวัติศาสตร์: 6–7, 9–10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-20. สืบค้นเมื่อ 2024-06-09.
  6. ทรัพย์พลอย, อรวรรณ, บ.ก. (2017), พระมหากษัตริย์ของไทย (PDF), กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, pp. 33, 202, ISBN 978-616-283-320-5, สืบค้นเมื่อ 2024-06-09
  7. ณ นคร, ประเสริฐ (1988), ปาฐกถาชุด "สิรินธร" ครั้งที่ 4 เรื่อง "ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก" (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, p. 10, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-01-17, สืบค้นเมื่อ 2024-06-09
  8. 8.0 8.1 หุตางกูร, ตรงใจ (2018), การปรับแก้เทียบศักราช และ การอธิบายความพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ, กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), pp. 35, 53, ISBN 978-616-7154-73-2
  9. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2527). ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 18.
  10. หลวงวิจิตรวาทการชี้ ระบอบไพร่ทาสและศักดินา ต้นเหตุความเสื่อมโทรมของไทย ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2564
  11. 11.0 11.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (1966), เรื่องพระร่วง (PDF) (4th ed.), พระนคร: อักษรเจริญทัศน์, pp. 1–8, สืบค้นเมื่อ 2024-05-15
  12. ราชบัณฑิตยสภา, บ.ก. (1937), "จุลยุทธการวงศ์ ความเรียง (ตอนต้น)" [Chunlayutthakarawong Khwam Riang (Ton Ton)], ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๖ [Collection of Historical Archives] (PDF), พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, pp. 44–69, สืบค้นเมื่อ 2024-05-30
  13. โบราณคดีสโมสร, บ.ก. (1914), คำให้การชาวกรุงเก่า [Replies of People from the Old Kingdom] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย, pp. 11–28, สืบค้นเมื่อ 2024-05-30
  14. โบราณคดีสโมสร, บ.ก. (1914), "พระราชพงศาวดารเหนือ" [Phraratchaphongsawadan Nuea], ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑ [A Collection of Chronicles] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย, สืบค้นเมื่อ 2024-06-17
  15. 15.0 15.1 วินัย พงศ์ศรีเพียร (ผู้นำเสนอ) (15 February 2020). สุโขทัยคดี ในมิติประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ EP.02 [1/2]. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร - SAC. สืบค้นเมื่อ 2024-08-25.
  16. Sukhabanij, Kachorn (1956). "Was Nam Thom the First King of Sukhodaya?" (PDF). The Journal of the Siam Society. 44: 144. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-02-19. สืบค้นเมื่อ 2024-08-25.
  17. ศรีสุชาติ, ธราพงศ์, บ.ก. (2004), โบราณคดีและประวัติศาสตร์สุโขทัย: ความรู้เรื่องสุโขทัยใน 4 ทศวรรษ (PDF), สุโขทัย: สำนักงานศิลปากรที่ 6 สุโขทัย, p. 11, ISBN 974-417-650-4, สืบค้นเมื่อ 2024-08-25
  18. ณ นคร, ประเสริฐ (1984), "กษัตริย์และอาณาจักรสุโขทัย", สารัตถคดี ประเสริฐ ณ นคร, กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., p. 75, ISBN 974-551-897-2, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-08-25, สืบค้นเมื่อ 2024-08-25
  19. "จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 28 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-05. สืบค้นเมื่อ 2024-08-27.
  20. 20.0 20.1 มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2011), นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย (PDF), กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, pp. 31, 44, ISBN 978-616-7308-25-8, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-04-15, สืบค้นเมื่อ 2024-08-25
  21. "จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาเขมร)". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 28 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2024-08-27.
  22. "จารึกวัดบูรพาราม". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 19 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-01-17. สืบค้นเมื่อ 2024-08-27.
  23. สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, บ.ก. (1971), ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ [Tamnan Phuen Mueang Chiang Mai] (PDF), แปลโดย โชติสุขรัตน์, สงวน, พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี, pp. 45–46, สืบค้นเมื่อ 2024-08-27
  24. ศุกลรัตนเมธี, ประพฤทธิ์; พงศ์ศรีเพียร, วินัย (1992). ""ปอเล่อ"ในหมิงสือลู่กับการคลี่คลายของประวัติศาสตร์ไทย" ['Bo-le' in the Ming Shih-lu and the Unfolding of Thai History]. Journal of Letters. 24 (1): 14–15. doi:10.58837/CHULA.JLETTERS.24.1.1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-19. สืบค้นเมื่อ 2024-08-27 – โดยทาง Chulalongkorn Journal Online.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น