ศีล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศีล (สันสกฤต: शील, śīla) หรือ สีล (บาลี: सील, sīla) คือข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานในทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงามมีความปกติสุข เพื่อให้เป็นกติกาข้อห้ามที่ใช้แก้ปัญหาขั้นพื้นฐาน 5 ปัญหาหลัก ซึ่งทำให้เกิดความสงบสุข และ ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันในสังคม

ประโยชน์ของศีลในขั้นพื้นฐานคือทำให้กาย วาจา ใจ สงบไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทำให้สามารถที่จะทำให้จิตสงบได้ง่ายในการทำสมาธิ ในระดับของบรรพชิต ศีลจะมีจำนวนมาก เพื่อกำกับให้พระภิกษุสงฆ์สามเณรสามารถครองตนในสมณภาวะได้อย่างสมบูรณ์ และเอื้อต่อการประพฤติพรหมจรรย์ในขั้นสูงต่อไปได้

ความหมายของศีลนั้นแปลได้หลายความหมาย โดยศัพท์แปลว่า ความปกติของกายและวาจา กล่าวคือความปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ และยังมักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า "อธิศีลสิกขา" อันได้แก่ข้อปฏิบัติขั้นต้นเพื่อการฝึกตนในทางพระพุทธศาสนาด้วย.

ระดับของศีลในทางพระพุทธศาสนา[แก้]

ศีล แบ่งเป็น 3 ระดับ คือจุลศีล (ศีลอย่างน้อย) ได้แก่ คหัฏฐศีลทั้ง 2 คือ ศีล5 และอาชีวัฏฐมกศีล มัชฌิมศีล (ศีลอย่างกลาง) ได้แก่ บรรพชาศีลทั้ง 2 คือได้แก่อัฏฐศีล และทสศีล มหาศีล (ศีลอย่างสูง) ได้แก่ อุปสมบททั้ง 2 คือ ภิกษุณีวินัย และภิกษุวินัย

  1. ปัญจศีล (ศีล 5) หรือเรียกว่านิจจศีล (คือถือเนื่องนิจจ์)
  2. อาชีวัฏฐมกศีล (ศีลกุศลกรรมบท 10) หรือเรียกว่าอาทิพรหมจริยาศีล (หรือเรียกอีกอย่างว่า นวศีล)
  3. อัฏฐศีล (ศีล 8) หรือเรียกว่าอุโบสถศีล (ศีลอุโบสถ)
  4. ทสศีล (ศีล 10)
  5. ภิกษุณีวินัย (ศีล 311 ถ้าเป็นฝั่งมหายานอาจมี348ข้อ)
  6. ภิกษุวินัย (ศีล 227ถ้าเป็นฝั่งมหายานอาจถือ250ข้อ)
  • ระดับแห่งศีลที่ต่างกัน เพราะระดับของสัมมาอาชีวะต่างกัน

กล่าวคือระดับของศีลคือระดับขั้นของการใช้ปัจจัยบริโภค เท่าที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต

  1. ศีล 5 คือเสพโดยไม่เบียดเบียน
  2. อาชีวัฏฐมกศีล แสวงหาทรัพย์อย่างไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นเดือดร้อนจากการแสวงหาทรัพย์นั้น
  3. อุโบสถศีล คือ การไม่เสพกามคุณ เพราะมนุษย์ไม่เสพกามคุณ ก็ไม่เสียชีวิตเพราะอดตาย
  4. ทสศีล คือ การดำรงชีวิต อย่างนักบวชแท้จริง คือไม่สะสมลาภมีเงินและทอง ดุจฆราวาส แต่ดำรงชีวิตได้ด้วยการขอ อันเป็นเหตุให้ระวังการปฏิพฤติให้ดี ให้สมกับที่ชาวบ้านให้
  5. ภิกษุณีวินัย และ ภิกษุวินัย คือการดำรงค์ชีวิตที่ประหยัด เหมาะสม คุ้มค่า ไม่เดือดร้อนทายกผู้ให้ รักษาปัจจัยที่ทายกให้แล้ว พอเพียงเท่าที่มี มีระเบียบที่ไม่หนักใจผู้ให้
  6. ธุดงค์ แม้จะไม่จัดเป็นศีลหรือวินัย เพราะไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบังคับให้ทำ แต่ก็ไม่ทรงห้าม เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยากและลำบาก ทรงสรรเสริญผู้ปฏิบัติ จัดเป็นการควบคุมการใช้ปัจจัยสี่งที่อุกฤตที่สุด

อ้างอิง[แก้]

  • พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".