ข้ามไปเนื้อหา

วัดศรีชุม (จังหวัดสุโขทัย)

พิกัด: 17°1′37.4802″N 99°41′35.8398″E / 17.027077833°N 99.693288833°E / 17.027077833; 99.693288833
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

17°1′37.4802″N 99°41′35.8398″E / 17.027077833°N 99.693288833°E / 17.027077833; 99.693288833

วัดศรีชุม
(อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
ซากเสาพระวิหารและพระมณฑปประดิษฐานพระอจนะ
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทวัด
โบราณสถานภายนอกกำแพงเมืองทิศเหนือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย
เมืองอำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างพุทธศตวรรษที่ 19[1]
ปรับปรุงพ.ศ. 2496
พ.ศ. 2510
ผู้สร้างพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ในกำกับดูแลของกรมศิลปากร
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างก่ออิฐถือปูน
เกณฑ์พิจารณา: วัฒนธรรม: (i), (iii)
เลขอ้างอิง: 0004056

วัดศรีชุม เป็นศาสนโบราณสถานแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บริเวณนอกเขตกำแพงเมืองทิศเหนืออุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ซึ่งมีนามว่า "พระอจนะ" องค์พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในมณฑป ซึ่งปัจจุบันยอดพระมณฑปได้พังทลายหมดแล้วหลงเหลือแต่เพียงผนังกำแพงโดยรอบ ทำให้เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งจนถึงทุกวันนี้

โครงสร้างของวัดศรีชุมมีความพิเศษกว่าวัดแห่งอื่น ๆ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเนื่องจากเป็นวัดที่ไม่เจดีย์ประธาน แต่ถูกแทนที่ด้วยพระมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปด้านใน ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังวิหารหลัก วัดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือราวพุทธศตวรรษที่ 19[1] ได้รับการบูรณะขึ้นครั้งแรกจากกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2496 และบูรณะบริเวณมณฑปอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2510[2]

พระพุทธอจนะ ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย นอกจากนี้บริเวณด้านข้างพระมณฑปทางทิศเหนือยังประกอบด้วยต้นมะม่วงป่าขนาดใหญ่อายุมากกว่า 200 ปี มีความสูงถึงยอดกว่า 20 เมตร ได้รับการอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนรุกข มรดกของแผ่นดิน โดยกระทรวงวัฒนธรรม

ประวัติ

[แก้]

"วัดศรีชุม" มาจากคำเรียกพื้นเมืองเดิม ซึ่งหมายถึง ต้นโพธิ์ ดังนั้นชื่อ ศรีชุม จึงหมายถึงดงของต้นโพธิ์ แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่เข้าใจความหมายนี้แล้ว จึงเรียกสถานที่นั้นว่า "ฤๅษีชุม"

วัดศรีชุมนั้น สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ว่า

เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้...............มีพระอจนะ มีปราสาท" พระประธานในมณฑปจึงมีชื่อว่า "พระอจนะ"

พระมณฑปกว้างด้านละ 32 เมตร สูง 15 เมตร ผนังหนา 3 เมตร ผนังด้านซ้ายเจาะเป็นทางทำบันได ในผนังขึ้นไปถึงหลังคา ตามฝาผนังอุโมงค์มีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี เพดานผนังมีแผ่นหินชนวนสลักภาพลายเส้นเป็นเรื่องในชาดกต่างๆ มีจำนวน 50 ภาพ เรียงประดับต่อเนื่องกัน ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นงานจิตรกรรมไทยที่เก่าแก่ที่สุด

ในสมัยอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกาศอิสรภาพในปี พ.ศ. 2127 ที่เมืองแครง ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ ยกเลิกการส่งส่วยให้กับพม่า แต่ยังมีเมืองเชลียง ( สวรรคโลก) ที่ไม่ยอมทำตามพระราชโองการของพระองค์ พระองค์จึงนำทัพเสด็จมาปราบเมืองเชลียง และได้มีการมาชุมนุมทัพที่วัดศรีชุมแห่งนี้ก่อนที่จะไปตีเมืองเชลียง และด้วยการรบในครั้งนั้นเป็นการรบระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกัน ทำให้เหล่าทหารไม่มีกำลังใจในการรบไม่อยากรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงได้วางแผนสร้างกำลังใจให้กับทหาร โดยการให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระ และพูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้ทหารเกิดกำลังใจที่จะต่อสู้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดตำนานพระพูดได้ที่วัดศรีชุมแห่งนี้ และพระนเรศวรยังได้มีการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาขึ้นที่วัดแห่งนี้ด้วย

ตามหลักฐานระบุว่าวัดแห่งนี้ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าลิไท และมีการดูแลบูรณะเรื่อยมา สันนิษฐานว่าวัดนี้ได้ถูกทิ้งร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย จนกระทั่งในสมัย รัชกาลที่ 9 ได้มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ ในปี พ.ศ. 2495 โดยเริ่มมีการบูรณะพระพุทธรูปพระอจนะ โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์เขียน ยิ้มสิริ วัดจึงอยู่ในสภาพที่เห็นในปัจจุบัน

สภาพโบราณสถาน

[แก้]

วัดศรีชุม เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในวัดปรากฏโบราณสถานขนาดใหญ่ลักษณะมณฑปรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เต็มมณฑป ซึ่งสันนิษฐานว่าในอดีตตัวมณฑปน่าจะมีหลังคาคล้ายโดม ตัวมณฑปนั้นตั้งอยู่บนฐานสูง ด้านหน้าเปิดเป็นช่องเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปงดงามแต่ไกล

ตัวโบราณสถานประกอบด้วยอาคารหลัก 2 หลัง หลังแรกเป็นมณฑปรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 32 คูณ 32 ม. สูง 15 ม. ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีชื่อว่า พระอจนะ ในด้านหน้า เป็นวิหารหลวงมี 6 ห้อง ปรากฏในศิลาจารึกว่า “เบื้องตีนนอน” อยู่ทางทิศเหนือ จะมีพระพุทธรูปใหญ่ “เบื้องหัวนอน” จะอยู่ทางทิศใต้ สมัยพ่อขุนรามคำแหงโปรดให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธรูปไว้ และในสมัยพระเจ้าลิไทโปรดให้ก่อผนังใหม่อีกข้างให้ห่างจากผนังเดิม 1 เมตร 50 ซ.ม. โดยช่องว่างให้ทำบันได ทำอุโมงค์ขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระ ผนังของอุโมงค์นี้โปรดให้ไปแกะหินชนวนจากเจดีย์เก้ายอดที่วัดมหาธาตุที่แกะ สลักเป็นเรื่องราวชาดก 550 พระชาติ และในส่วนที่แกะหินชนวนโปรดให้สร้างพระสาวกปางลีลากระทำอัญชลีขึ้นแทน ในการสร้างมณฑปที่มีผนัง 2 ชั้นนั้นได้รับอิทธิพลศิลปะโปโลนนารวะของลังกา ซึ่งแพร่หลายมากในสมัยปรกมพาหุ ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงนิยมสร้างพระอัฏฐารส และสมัยพระยาลิไทนิยมสร้างพระสาวกลีลา

พระอจนะ

[แก้]

"พระอจนะ" คำว่า อจนะ มีผู้ให้ความหมายพระอจนะว่าหมายถึงคำในภาษาบาลีว่า “อจละ” ซึ่งแปลว่า “ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง” “ผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้” พระอจนะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุปูนปั้น แกนในก่ออิฐและศิลาแลง หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร สูง 15 เมตร องค์พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่เต็มวิหาร ศิลปะแบบสุโขทัย

ศิลาจารึกวัดศรีชุม

[แก้]

ศิลาจารึกวัดศรีชุมเรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ 2 ทำด้วยหินดินดานเป็นรูปใบเสมา กว้าง 67 เซนติเมตร สูง 275 เซนติเมตร หนา 8 เซนติเมตร ด้านที่หนึ่งจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย มี 107 บรรทัด ด้านที่สองมี 95 บรรทัด มีอายุประมาณ ปี พ.ศ. 1880 - 1910 นายพลโทพระยาสโมสรสรรพการ เมื่อครั้งเป็นที่หลวงสโมสรพลการ พบที่อุโมงค์วัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 2430 ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ความสำคัญของวัด

[แก้]

วัดศรีชุมมีการวางผังที่แปลกกว่าวัดทั่วไป ที่ใช้มณฑปที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานเป็นประธานของวัดเปรียบเป็นอุเทสิกเจดีย์ และมีพระวิหารต่อออกมาแบบที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น นักโบราณคดีให้ความเห็นว่ามณฑปพระอจนะน่าจะสร้างโดยมีคติเป็นพระคันธกุฎี คือที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล

  1. วัดนี้เป็นสถานที่พบศิลาจารึกหลักที่ 2 หรือศิลาจารึกวัดศรีชุม พูดถึงความเป็นมาของราชวงศ์พระร่วง และราชวงศ์ผาเมืองและการตั้งเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันความเป็นของแท้ดั้งเดิมของจารึกหลักที่หนึ่งในคราวที่มีกรณีข้อกล่าวหาว่าจารึกหลักหนึ่งเป็นของปลอม
  2. แผ่นหินที่แกะมาจากเจดีย์วัดมหาธาตุจารึกเป็นรูปบุคคล และรูปอาคาร เป็นหลักฐานชั้นสำคัญที่ทำให้เรารู้ว่าอาคารและบุคคลในสุโขทัยเป็นอย่างไร
  3. วัดศรีชุมถือเป็นสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสุโขทัย

การเดินทาง

[แก้]

ตั้งอยู่บนถนนจรดวิถีถ่อง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยมาตามทางหลวงหมายเลข 12 (สุโขทัย-ตาก) ประมาณ 12 กม. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-21.00 น. นักท่องเที่ยวชาวไทย 5 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท และเวลา 9.00-21.00 น. โบราณสถานต่างๆ ถูกสาดส่องด้วยแสงไฟ

รูปภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ปิ่น, บุตรี. ""วัดศรีชุม"สุโขทัย น่าทึ่งพระพุทธรูปพูดได้ คุณยายพูดโดน..."การโกง มันบาป"". ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 2 January 2024.
  2. "โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทิศเหนือ". กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 2 January 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]