ข้ามไปเนื้อหา

นครรัฐเชลียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศรีสัชนาลัย

ก่อน พ.ศ. 1966–พ.ศ. 2004/2005 ไทยสากล
สถานะประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา
(ก่อน พ.ศ. 1966 - พ.ศ. 2003)
ประเทศราชของอาณาจักรล้านนา
(พ.ศ. 2003 - พ.ศ. 2004)
เมืองหลวงศรีสัชนาลัย
การปกครองราชาธิปไตย
กษัตริย์ 
• พ.ศ. 1966
พระยาศรียศราช
• ก่อน พ.ศ. 2003
เจ้าแสน
ประวัติศาสตร์ 
• แยกตัวออกจากอาณาจักรสุโขทัย
ก่อน พ.ศ. 1966
• เหตุการณ์ในจารึกพระยาศรียศราช
พ.ศ. 1966
• สงครามตีเมืองไตรตรึงษ์และน่าน
พ.ศ. 1978/1979 ไทยสากล
• สงครามตีเมืองเชียงใหม่
พ.ศ. 1985/1986 ไทยสากล
• พระเจ้าติโลกราชตีเมืองเหนือ
พ.ศ. 1995 ไทยสากล
• สวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรล้านนา
พ.ศ. 2003/2004 ไทยสากล
• ถูกผนวกเข้าสู่อาณาจักรล้านนา
พ.ศ. 2004/2005 ไทยสากล
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรสุโขทัย
อาณาจักรล้านนา
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

นครรัฐเชลียง เป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา โดยมีศูนย์กลางที่เมืองศรีสัชนาลัย นครรัฐเชลียงได้รับการสันนิษฐานว่าถูกอาณาจักรอยุธยาแยกออกจากอาณาจักรสุโขทัยตามนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครองเพื่อผนวกอาณาจักรสุโขทัย[1] ภายหลังถูกผนวกเข้าสู่อาณาจักรล้านนาระหว่างสงครามอยุธยา–ล้านนา (พ.ศ. 1984–2017)

ประวัติศาสตร์[แก้]

การปกครองเมืองเหนือของอาณาจักรอยุธยา[แก้]

อาณาจักรสุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระอินทราชาและสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณและตำนานมูลศาสนาระบุว่า สุโขทัยและดินแดนโดยรอบ ซึ่งถูกเรียกโดยรวมว่า เมืองเหนือ ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ สองแคว สุโขทัย เชลียง และกำแพงเพชร[2] พระราชพงศาวดารไทยที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ระบุทั้ง 4 เมืองให้เป็น 4 ใน 16 ประเทศราชของอาณาจักรอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แต่เนื่องจากข้อมูลประเทศราชเหล่านี้ขัดแย้งกับหลักฐานอื่น ทำให้ได้รับการสันนิษฐานว่า ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในพงศาวดารในภายหลัง อาจตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระอินทราชา[3][4]

พระยาศรียศราช[แก้]

จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ[5]กล่าวถึงกษัตริย์[6]แห่งเชลียงในปี พ.ศ. 1966 พระนามว่า พระยาศรียศราช โดยพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณออกพระนามว่า พระยาเชลียง และมีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าราชศรียศ[7]

พระยาเชลียงถูกกล่าวถึงในเหตุการณ์สถาปนาพระยาบาลเมืองแห่งสองแควขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4 ซึ่งเกิดขึ้นในปีใดปีหนึ่งก่อนปี พ.ศ. 1969[8][3] ทำให้มีการจัดมหรสพเฉลิมฉลองที่เมืองสองแคว ซึ่งพระยาเชลียงทรงได้มาช่วยงานด้วย เมืองเชลียงถูกกล่าวถึงอีกครั้งในสงครามตีเมืองตายทองโดยกองกำลังผสมจากเมืองเหนือและอาณาจักรอยุธยา

ต่อมาในปี พ.ศ. 1977/1978 ไทยสากล[note 1] เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวกษัตริย์แห่งนครรัฐน่านทรงถูกพระอนุชาชิงเมือง จึงเสด็จหนีไปยังเมืองเชลียง[9] พระยาเชลียงทรงรับอุปถัมภ์เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวไว้และพาลงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ณ กรุงศรีอยุธยา[7] ในปีต่อมา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้เมืองเหนือทั้งสี่ นำโดยพระยาเชลียงรวมกำลังเข้าตีเมืองน่านเพื่อสนับสนุนเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ภายใต้อำนาจของอยุธยา ในระหว่างการเกณฑ์ไพร่พลนั้นเมืองไตรตรึงษ์ขัดขืนคำสั่งของพระยาเชลียง นครรัฐกำแพงเพชรรับหน้าที่เข้าตีเมืองไตรตรึงษ์แต่ไม่สำเร็จ ทำให้พระยาเชลียงทรงยกทัพมาช่วยจนได้เมืองไตรตรึงษ์[7] จากนั้นพระยาเชลียงและเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวทรงนำกองทัพเมืองเหนือรบชนะกองทัพน่าน ทำให้เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวทรงได้ครองเมืองน่านอีกครั้ง[10][9]

พระยาศรียศราชยังปรากฏในตำนานมูลศาสนาฝ่ายวัดสวนดอกในพระนาม ท้าวไสยศรียศ โดยระบุว่า เมื่อคณะสงฆ์วัดป่าแดงนำพุทธศาสนานิกายใหม่เข้ามาเผยแผ่ที่เชลียง พระยาเชลียงทรงไม่อนุญาตให้คณะสงฆ์วัดป่าแดงบวชประชาชน[11]

การสิ้นสุดของนครรัฐเชลียง[แก้]

ในต้นรัชกาลพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา เกิดความขัดแย้งระหว่างพระองค์และพระอนุชา เจ้าเมืองเทิงจึงลอบส่งหนังสือไปชักชวนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ขึ้นมายึดล้านนา จนนำไปสู่สงครามตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1985/1986 ไทยสากล[3] นครรัฐเชลียงและเมืองเหนืออื่นๆ มีส่วนร่วมในการตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ หนึ่งในพระยาผู้ปกครองได้เข้าชนช้างกับแม่ทัพเมืองพะเยา[note 2] แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ ทำให้พระยายุทธิษเฐียรแห่งสองแควต้องเข้าช่วยเหลือ[12][13]

หลังสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์ พระยายุทธิษเฐียรไม่พอพระทัยในตำแหน่งพระยาสองแคว[14]จึงทรงเข้าสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. 1995 ไทยสากล ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า พระยายุทธิษเฐียรทรงชักชวนให้พระเจ้าติโลกราชให้ไปตีเมืองเชลียง แต่เมืองเชลียงป้องกันไว้ได้[12] ในขณะที่พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐระบุว่าเป็นเมืองสุโขทัย[3]

อาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านนาทำสงครามแย่งชิงเมืองเหนือหลายครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในขณะเดียวกันสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงผนวกเมืองเหนือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา สองแคว สุโขทัย และกำแพงเพชรถูกลดสถานะจากประเทศราช โดยปรากฏตำแหน่งขุนนางเข้าปกครองแทน ได้แก่ ราชวังเมืองแห่งสองแควหลังปี พ.ศ. 1995 ไทยสากล[15][16] ขุนราชอาสาแห่งสุโขทัยและขุนเพชรรัตน์แห่งกำแพงเพชรในปี พ.ศ. 2000 ไทยสากล[13] ทว่าเมืองเชลียงยังคงปรากฏพระยาเชลียงเป็นผู้ปกครองในปี พ.ศ. 2004 ไทยสากล ซึ่งอาจมีพระนามว่า เจ้าแสน จากการตีความโคลงยวนพ่าย[17][18]

ในปี พ.ศ. 2003/2004 ไทยสากล พระเจ้าติโลกราชทรงยกทัพมายังเมืองเชลียง พระยาเชลียงทรงยอมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรล้านนา พระเจ้าติโลกราชจึงโปรดให้ครองเมืองเชลียงดังเดิม นครรัฐเชลียงในช่วงเวลานี้ได้รับการสันนิษฐานว่า อาจได้ปกครองเมืองสุโขทัยด้วย จากการที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกพระยาเชลียงว่า พระยาเชลียงสุโขทัย[3] อย่างไรก็ตาม อาณาจักรอยุธยาได้ยึดเมืองสุโขทัยคืนในปีถัดมา ในปีเดียวกันนั้น พระยาเชลียงทรงคิดไม่ซื่อต่อพระเจ้าติโลกราชจึงถูกจับตัวไปยังเชียงใหม่ จากนั้นถูกส่งตัวไปยังเมืองหางและสิ้นพระชนม์ที่นั่น นครรัฐเชลียงถูกผนวกเข้าสู่อาณาจักรล้านนาโดยพระเจ้าติโลกราชโปรดให้เมืองเชลียงอยู่ในการปกครองของหมื่นด้งนคร เจ้าเมืองลำปาง[12][note 3]

หมายเหตุ[แก้]

  1. เทียบตามปฏิทินสุริยคติไทย โดยยึดวันปีใหม่คือ 1 มกราคม
  2. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่แต่ละฉบับให้ความไม่ตรงกัน ฉบับ พ.ศ. 2514 ว่า ขอจูงหูไสเข้ารบพระยาชะเลียงสุโขทัยว่ากำแพงเปก และฉบับ พ.ศ. 2550 ว่า ขอจูงหูไสเข้ารบพระยาชะเลียงสุรเดชา ไทยว่ากำแพงเพชร
  3. ภายหลัง อยุธยาได้ชิงเมืองเชลียงคืนมาในปี พ.ศ. 2017 เมืองเชลียงจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา

อ้างอิง[แก้]

  1. ณ นคร, ประเสริฐ, ปาฐกถาชุด "สิรินธร" ครั้งที่ ๔ เรื่อง "ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก" (PDF), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, p. 10, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-01-17, สืบค้นเมื่อ 2024-05-14
  2. ณ นคร, ประเสริฐ (1984), "ตำนานมูลศาสนา วัดป่าแดง เชียงตุง", สารัตถคดี ประเสริฐ ณ นคร, กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., ISBN 974-551-897-2, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-31, สืบค้นเมื่อ 2024-05-27
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 หุตางกูร, ตรงใจ (2018), การปรับแก้เทียบศักราช และ การอธิบายความพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ, กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), pp. 24, 38, 41, 44, 46, 50–51, 55, 57, 62–64, ISBN 978-616-7154-73-2
  4. ศรีสรรเพชญ์ (14 December 2015). "อยุธยาเพิ่งก่อตั้ง เหตุใดจึงมีเมืองประเทศราชถึง 16 เมืองครับ (พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ) หรือผมเข้าใจผิด". Pantip. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-16. สืบค้นเมื่อ 2024-05-28.
  5. "จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 28 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-21. สืบค้นเมื่อ 2024-05-27.
  6. วิพากษ์ประวัติศาสตร์ (18 December 2018). "สถานะของมหาธรรมราชา กษัตริย์พิษณุโลกผู้ครองกรุงศรีอยุทธยา". Facebook. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-31. สืบค้นเมื่อ 2024-05-27.^
  7. 7.0 7.1 7.2 พงศ์ศรีเพียร, วินัย, บ.ก. (1996), "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก๑๐๔ ต้นฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณ" (PDF), ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี, pp. 205–209, 213–215, 223–228, ISBN 9747771977, สืบค้นเมื่อ 2024-05-27
  8. "จารึกรอยพระยุคลบาทวัดบวรฯ". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 28 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2024-06-02.
  9. 9.0 9.1 โบราณคดีสโมสร, บ.ก. (1919), "ราชวงศปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่าน" [Ratchawongsapakon Phongsawadan Mueang Nan], ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๐ [Collection of Historical Archives] (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, สืบค้นเมื่อ 2024-05-27
  10. เกียรติณภัทร, ธนโชติ (2024), "ความสัมพันธ์สุโขทัย-น่าน (และอยุธยา) หลัง พ.ศ. ๑๙๓๕", ใน แจ้งเร็ว, สุพจน์ (บ.ก.), นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือน มีนาคม พ.ศ. 2567, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มติชน, สืบค้นเมื่อ 2024-05-28
  11. ณ นคร, ประเสริฐ; ตุ้ยเขียว, ปวงคำ (1994), ตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่และเชียงตุง, กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, pp. 5, 19–20, 45–50, ISBN 974-89152-9-8, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-31, สืบค้นเมื่อ 2024-05-31
  12. 12.0 12.1 12.2 สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, บ.ก. (1971), ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ [Tamnan Phuen Mueang Chiang Mai] (PDF), แปลโดย โชติสุขรัตน์, สงวน, พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี, pp. 52–54, 56–60, 65, สืบค้นเมื่อ 2024-05-01
  13. 13.0 13.1 พระครูโสภณกวีวัฒน์, บ.ก. (2007), ตำนานเมืองเชียงใหม่ สายธาร อารยธรรม ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ในล้านนา (PDF), เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง, pp. 64, 66, 69–73, 79, ISBN 978-974-09-1612-3, สืบค้นเมื่อ 2024-05-29
  14. เจียจันทร์พงษ์, พิเศษ (2010), การเมืองในประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชากษัตราธิราช (2nd ed.), กรุงเทพฯ: มติชน, pp. 77–78, ISBN 978-974-02-0401-5, สืบค้นเมื่อ 2024-05-15
  15. สุขคตะ, เพ็ญสุภา (1 August 2021). "ปริศนาโบราณคดี : 'ยวนพ่ายโคลงดั้น' (4) : 'พระญายุทธิษฐิระ' เลือดขัตติยะผู้พลัดถิ่น ชนวนแห่งสงครามล้านนา-อยุธยา?". มติชนสุดสัปดาห์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-20. สืบค้นเมื่อ 2024-06-02.
  16. กระแสสินธุ์, ฉันทิชย์ (1970), ยวนพ่าย โคลงดั้น ฤายอพระเกียรติ พระเจ้าช้างเผือก กรุงเก่า บรรยายปฐมเหตุ อันเปนที่มาของการแต่งโคลงยวนพ่าย และประวัติแห่งรัชสมัยในแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำยุทธการกับพระเจ้าติโลกราชแห่งกรุงนพบุรี ศรีพิงคนคร พุทธศักราช 1991-2031 พร้อมด้วยข้อวินิจฉัยทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประเพณี วัฒนธรรม, โรงพิมพ์มิตรสยาม, p. 151, OCLC 1281302969, สืบค้นเมื่อ 2024-06-02
  17. สุขคตะ, เพ็ญสุภา (15 August 2021). "ปริศนาโบราณคดี : "ยวนพ่ายโคลงดั้น" ตอนที่ 6 : ข้อมูลใหม่ พบร่องรอยใครคือ "หมื่นด้งนคร"?". มติชนสุดสัปดาห์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-06. สืบค้นเมื่อ 2024-06-02.
  18. กงกะนันทน์, วิภา (2013). "บทสรุปประมวลผลการวิจัยว่าด้วยการค้นพบประวัติผู้แต่งกวีนิพนธ์เรื่องยวนพ่ายและลิลิตพระลอ" [A Conclusion of the Research on a Discovery of the Poet Who Composed the Ancient Poem, Yuan Phai and Lilit Phra Lo] (PDF). วารสารรามคำแหง ฉบับมนุษยศาสตร์. 32: 109–125. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-06-03. สืบค้นเมื่อ 2024-06-02.