ข้ามไปเนื้อหา

ประวัติศาสตร์หัวเมืองเหนือ (พ.ศ. 1981–2127)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หัวเมืองเหนือ

พ.ศ. 1981–พ.ศ. 2127
  อาณาเขตหัวเมืองเหนือ
สถานะรัฐร่วมประมุขของอาณาจักรอยุธยา
(พ.ศ. 1981 - พ.ศ. 1991, พ.ศ. 1995 - พ.ศ. 2091, พ.ศ. 2112 - พ.ศ. 2127)
ประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา
(พ.ศ. 1991 - พ.ศ. 1995, พ.ศ. 2091 - พ.ศ. 2107)
ประเทศราชของราชวงศ์ตองอู
(พ.ศ. 2107 - พ.ศ. 2112)
เมืองหลวงพิษณุโลก
การปกครองราชาธิปไตย
พระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราช 
• 1991-1995
พระยายุทธิษเฐียร
• 2006-2031
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
• 2031-2034
สมเด็จพระเชษฐาธิราช
• 2069-2072
สมเด็จพระอาทิตย์
• 2091-2112
สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
• 2114-2127
สมเด็จพระนเรศวร
ประวัติศาสตร์ 
• สิ้นสุดอาณาจักรสุโขทัย
พ.ศ. 1981
• พระเจ้าติโลกราชตีหัวเมืองเหนือ
พ.ศ. 1995, 2002, 2004
• สงครามตีเมืองเชลียง
พ.ศ. 2017
• เจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรล้านนา
พ.ศ. 2065
• พระเจ้าบุเรงนองตีเมืองพิษณุโลก
พ.ศ. 2107
พ.ศ. 2111-2112
• เทครัวหัวเมืองเหนือลงไปยังอยุธยา
พ.ศ. 2127
ก่อนหน้า
ถัดไป
1981:
อาณาจักรสุโขทัย
ก่อน 2000:
นครรัฐกำแพงเพชร
ก่อน 2000:
นครรัฐสุโขทัย
2127:
อาณาจักรอยุธยา
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

หัวเมืองเหนือ (พ.ศ. 1981 – 2127) คือ ดินแดนของอาณาจักรสุโขทัย (เมืองพระพิษณุโลกสองแคว เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิจิตร และเมืองพระบาง)[1] ซึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอยุธยาหลังอาณาจักรสุโขทัยสิ้นสุดลง โดยกษัตริย์แห่งอยุธยาไม่ได้ปกครองโดยตรง แต่แต่งตั้งผู้ปกครองเมืองพิษณุโลกให้เป็นผู้ปกครองหัวเมืองเหนือแทน จนต่อมาถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาเพื่อเป็นฐานกำลังในการต่อต้านราชวงศ์ตองอู

ประวัติศาสตร์[แก้]

การปกครองหัวเมืองเหนือของอาณาจักรอยุธยา[แก้]

อาณาจักรสุโขทัยเริ่มอ่อนแอลงหลังจากรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช การปรากฏตัวขึ้นของอาณาจักรอยุธยาทางตอนใต้กระทบกระเทือนเสถียรภาพของสุโขทัย จนในท้ายที่สุดสุโขทัยถูกแทรกแซงจากอยุธยาจนตกเป็นประเทศราช โดยมีพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครองอาณาจักรสุโขทัยพระองค์สุดท้าย ในขณะนั้น ด้วยการแทรกแซงของอยุธยา อาณาจักรสุโขทัยจึงถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน[2] คือ

  • เมืองสรลวงสองแคว (พิษณุโลก) อันเป็นเมืองเอก มีพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครอง
  • เมืองสุโขทัย เมืองรอง มีพระยารามเป็นผู้ปกครอง
  • เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) มีพระยาเชลียงเป็นผู้ปกครอง
  • เมืองกำแพงเพชร มีพระยาแสนสอยดาวเป็นผู้ปกครอง

หลังสิ้นรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) พระยายุทธิษเฐียรได้ครองเมืองสองแคว และเมื่อแรกที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จขึ้นผ่านพิภพ เป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าขณะนั้นพระยายุทธิษเฐียรเกิดน้อยเนื้อต่ำใจที่ได้เพียงตำแหน่งพระยาสองแคว เนื่องด้วยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเคยดำริไว้สมัยทรงพระเยาว์ว่า หากได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะชุบเลี้ยงพระยายุทธิษเฐียรให้ได้เป็นพระมหาอุปราช พ.ศ. 1994 พระยายุทธิษเฐียรจึงเอาใจออกห่างจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไปขึ้นกับพระยาติโลกราช กษัตริย์ล้านนาในขณะนั้น[3] เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการเฉลิมพระนามกษัตริย์ล้านนาจากพระยาเป็นพระเจ้า เพื่อให้เสมอศักดิ์ด้วยกรุงศรีอยุธยา พระนามพระยาติโลกราช จึงได้รับการเฉลิมเป็นพระเจ้าติโลกราช[4]

หลังจากที่พระยายุทธิษเฐียรนำสองแควออกจากอยุธยาไปขึ้นกับล้านนา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงเสด็จจากกรุงศรีอยุธยา กลับมาพำนัก ณ เมืองสรลวงสองแคว พร้อมทั้งสร้างกำแพงและค่ายคู ประตู หอรบ แล้วจึงสถาปนาขึ้นเป็นเมือง พระพิษณุโลกสองแคว เป็นราชธานีฝ่ายเหนือของอาณาจักร สงครามแย่งชิงหัวเมืองเหนือระหว่างอยุธยาและล้านนาสิ้นสุดลงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงตีเอาเมืองเชลียงคืนได้ในปี พ.ศ. 2017 แต่เหตุการณ์ทางหัวเมืองเหนือยังไม่เข้าสู่ภาวะที่น่าไว้วางใจ จึงตัดสินพระทัยพำนักยังนครพระพิษณุโลกสองแควต่อจนสิ้นรัชกาล ส่วนทางอยุธยานั้น ทรงได้สถาปนาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระราชโอรส เป็นพระมหาอุปราชดูแลอยุธยาและหัวเมืองฝ่ายใต้

ด้วยความที่เป็นคนละอาณาจักรมาก่อน และเคยมีสงครามต่อกัน ชาวบ้านระหว่างสุโขทัยและอยุธยา จึงมิได้ปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จึงต้องแยกการปกครอง โดยพระมหากษัตริย์อยุธยา จะทรงสถาปนาพระราชโอรส หรือพระอนุชา หรือพระญาติ อันมีเชื้อสายสุโขทัย ปกครองพิษณุโลกในฐานะราชธานีฝ่ายเหนือ และควบคุมหัวเมืองเหนือทั้งหมด

การสิ้นสุด[แก้]

พ.ศ. 2127 หลังจากชนะศึกที่แม่น้ำสะโตงแล้ว พระนเรศวรโปรดให้เทครัวหัวเมืองเหนือทั้งปวงลงมาไว้ที่อยุธยา เพื่อเตรียมรับศึกใหญ่ พิษณุโลกและหัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงกลายเป็นเมืองร้าง หลังจากเทครัวไปเมืองใต้ จึงสิ้นสุดการแบ่งแยกระหว่างชาวเมืองเหนือ กับชาวเมืองใต้ และถือเป็นการสิ้นสุดของหัวเมืองเหนือโดยสมบูรณ์ เพราะหลังจากนั้น 8 ปี พิษณุโลกได้ถูกฟื้นฟูอีกครั้ง แต่ถือเป็นเมืองเอกในราชอาณาจักร มิใช่ราชธานีฝ่ายเหนือ

ในด้านวิชาการ มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอเพิ่มว่า เหตุการณ์อีกประการอันทำให้ต้องเทครัวเมืองเหนือทั้งปวงโดยเฉพาะพิษณุโลกนั้นคือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่บนรอยเลื่อนวังเจ้าในราวปี พ.ศ. 2127 แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้ตัวเมืองพิษณุโลกราพณาสูญ แม้แต่แม่น้ำแควน้อยก็เปลี่ยนเส้นทางไม่ผ่านเมืองพิษณุโลก แต่ไปบรรจบกับแม่น้ำโพ (ปัจจุบันคือแม่น้ำน่าน) ที่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป และยังส่งผลให้พระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก หักพังทลายในลักษณะที่บูรณะคืนได้ยาก ในการฟื้นฟูจึงกลายเป็นการสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาครอบทับลงไปแทน ทั้งหมด

รายพระนามและรายนามผู้ปกครอง[แก้]

ลำดับ รายพระนาม/รายนาม ตำแหน่ง ราชวงศ์ ช่วงเวลา (พ.ศ.) หมายเหตุ
1

(1)

สมเด็จพระราเมศวร พระมหาอุปราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ 1981 - 1991 ข้อสันนิษฐานตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ[note 1][1][5] ได้รับการยอมรับโดยนักประวัติศาสตร์[6]และกรมศิลปากร[7], ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
2 พระยายุทธิษเฐียร พระยาสองแคว ราชวงศ์พระร่วง 1991 - 1995 อาจครองสองแควตั้งแต่ พ.ศ. 1981[8][9] ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงพระยาสองแควในสงครามตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1985[4]
3 ราชวังเมือง เจ้าเมืองสองแคว - หลัง 1995 - ก่อน 2006 ปรากฏในโคลงยวนพ่าย[3][10]
4 ไม่ปรากฏพระนาม สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง ราชวงศ์พระร่วง หลัง 1995 - ก่อน 2006 ข้อสันนิษฐาน[11]ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ซึ่งระบุว่าพระราชชนนีของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประทับอยู่ที่สองแควปี พ.ศ. 2002[4][12] และโคลงยวนพ่ายระบุถึงการสวรรคตของพระองค์[10]
1

(2)

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ 2006 - 2031 อาจประทับที่พิษณุโลกตั้งแต่ พ.ศ. 1999[13], ทรงรวมเมืองสรลวงสองแควและเมืองชัยนาท[note 2] เป็นเมืองพิษณุโลก และยกขึ้นเป็นศูนย์กลางอำนาจหัวเมืองเหนือ
5 สมเด็จพระเชษฐาธิราช พระมหาอุปราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ 2031 - 2034 ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
6 สมเด็จพระอาทิตย์ พระมหาอุปราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ 2069[13] - 2072 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า พระอาทิตย์กินเมืองใต้ ในปี พ.ศ. 2065[14], ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4
7 พระไชยราชาธิราช พระมหาอุปราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ 2072 - 2077 ข้อสันนิษฐานโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ[14], ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระไชยราชาธิราช
8 ออกญาพิษณุโลก เจ้าเมืองพิษณุโลก - รัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช[15] ข้อสันนิษฐานตามที่ปรากฏในบันทึกของปิงตูในนาม Oya Passilico[16] ซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
9 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เจ้าราชธานีฝ่ายเหนือ ราชวงศ์สุโขทัย 2091 - 2112 ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
10 สมเด็จพระนเรศวรบรมราชาธิราชบพิตร[13] พระมหาอุปราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์สุโขทัย 2114[note 3] - 2127 พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐออกพระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า[13]
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระมหาธรรมราชา พระมหาอุปราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์สุโขทัย รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ข้อสันนิษฐานตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐซึ่งระบุว่าเป็นพระเจ้าฝ่ายหน้า[17] แต่ได้รับการโต้แย้งโดยนักประวัติศาสตร์[18]
สมเด็จพระเอกาทศรถทรงยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก แต่ให้มาประทับที่พระราชวังจันทร์เกษม ในเกาะเมืองอยุธยาแทน

หมายเหตุ[แก้]

  1. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐระบุว่า ศักราช ๘๐๐ มะเมียศก ครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสร้างวัดมะเหยงคณ์เสวยราชสมบัติแลสมเด็จพระราเมศวร(เจ้าผู้เปน)พระราชกุมารท่านเสด็จไปเมืองพิศณุโลก ครั้งนั้น เห็นน้ำพระเนตร์พระพุทธเจ้าพระชินราชตกออกมาเปนโลหิต.
  2. เมืองชัยนาทอยู่ฝั่งตรงข้ามเมืองสรลวงสองแควของแม่น้ำน่าน จังหวัดพิษณุโลก ไม่ใช่จังหวัดชัยนาท
  3. หลังเสด็จกลับจากกรุงหงสาวดี

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 เจียจันทร์พงษ์, พิเศษ (2010), การเมืองในประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชากษัตราธิราช (2nd ed.), กรุงเทพฯ: มติชน, pp. 58, 76–77, ISBN 978-974-02-0401-5, สืบค้นเมื่อ 2024-06-09
  2. ณ นคร, ประเสริฐ (1984), "ตำนานมูลศาสนา วัดป่าแดง เชียงตุง", สารัตถคดี ประเสริฐ ณ นคร, กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., ISBN 974-551-897-2, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-05-31, สืบค้นเมื่อ 2024-05-27
  3. 3.0 3.1 สุขคตะ, เพ็ญสุภา (1 August 2021). "ปริศนาโบราณคดี : 'ยวนพ่ายโคลงดั้น' (4) : 'พระญายุทธิษฐิระ' เลือดขัตติยะผู้พลัดถิ่น ชนวนแห่งสงครามล้านนา-อยุธยา?". มติชนสุดสัปดาห์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-20. สืบค้นเมื่อ 2024-06-02.
  4. 4.0 4.1 4.2 สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, บ.ก. (1971), ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ [Tamnan Phuen Mueang Chiang Mai] (PDF), แปลโดย โชติสุขรัตน์, สงวน, พระนคร: สำนักนายกรัฐมนตรี, pp. 52–54, 57, สืบค้นเมื่อ 2024-05-01
  5. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (1966), เรื่องพระร่วง (PDF) (4th ed.), พระนคร: อักษรเจริญทัศน์, pp. 36–39, สืบค้นเมื่อ 2024-06-09
  6. มูลศิลป์, วุฒิชัย (2019). "ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กับความก้าวหน้าการศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย" [Professor Dr. Prasert na Nagara and Development of Sukhothai Studies]. วารสารประวัติศาสตร์: 9–10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-20. สืบค้นเมื่อ 2024-06-09.
  7. ทรัพย์พลอย, อรวรรณ, บ.ก. (2017), พระมหากษัตริย์ของไทย (PDF), กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, p. 33, ISBN 978-616-283-320-5, สืบค้นเมื่อ 2024-06-09
  8. ณ นคร, ประเสริฐ (1988), ปาฐกถาชุด "สิรินธร" ครั้งที่ 4 เรื่อง "ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก" (PDF), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, pp. 8–9, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-01-17, สืบค้นเมื่อ 2024-06-09
  9. ศรีสรรเพชญ์ (14 August 2019). "มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถค่ะ". Pantip. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-15. สืบค้นเมื่อ 2024-06-09.
  10. 10.0 10.1 กระแสสินธุ์, ฉันทิชย์ (1970), ยวนพ่าย โคลงดั้น ฤายอพระเกียรติ พระเจ้าช้างเผือก กรุงเก่า บรรยายปฐมเหตุ อันเปนที่มาของการแต่งโคลงยวนพ่าย และประวัติแห่งรัชสมัยในแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำยุทธการกับพระเจ้าติโลกราชแห่งกรุงนพบุรี ศรีพิงคนคร พุทธศักราช 1991-2031 พร้อมด้วยข้อวินิจฉัยทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประเพณี วัฒนธรรม, โรงพิมพ์มิตรสยาม, pp. 131, 151, OCLC 1281302969, สืบค้นเมื่อ 2024-06-02
  11. สุขคตะ, เพ็ญสุภา (8 August 2021). "ปริศนาโบราณคดี l 'ยวนพ่ายโคลงดั้น' (5) : 'ยวนพ่ายสยามตอนไหน?' ศึกสองแควหรือสงครามแย่งชิง 'เมืองเชียงชื่น'?". มติชนสุดสัปดาห์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-02-28. สืบค้นเมื่อ 2024-06-09.
  12. พระครูโสภณกวีวัฒน์, บ.ก. (2007), ตำนานเมืองเชียงใหม่ สายธาร อารยธรรม ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ในล้านนา (PDF), เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง, p. 70, ISBN 978-974-09-1612-3, สืบค้นเมื่อ 2024-06-09
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 หุตางกูร, ตรงใจ (2018), การปรับแก้เทียบศักราช และ การอธิบายความพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ, กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), pp. 53–54, 87, 135, ISBN 978-616-7154-73-2
  14. 14.0 14.1 เจียจันทร์พงษ์, พิเศษ (28 February 2018). "อย่าลืม! ราชสำนักเมืองเหนือ ที่พิษณุโลก". ศิลปวัฒนธรรม. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-09-25. สืบค้นเมื่อ 2024-06-08.
  15. ชาคริต ชุ่มวัฒนะ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ และคณะ. สายธารแห่งความคิด. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดกิจกรรมวิชาการ ฉลองครบ 60 ปี อาจารย์คุณวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, 2532. 338 หน้า. หน้า 145. ISBN 978-974-8688-11-4 อ้างใน บันทึกร่วมสมัยของMendes Pinto.
  16. ปิงตู, ฟือร์เนา เม็งดึช (2015), ทองตัน, พรพรรณ; สิงหเดชากุล, ชรัตน์ (บ.ก.), รวมผลงานแปลเรื่องบันทึกการเดินทางของเมนเดส ปินโต (PDF), แปลโดย ท.โกมลบุตร, สันต์; วรเนติวงศ์, นันทา; สิงหเดชากุล, ชรัตน์, กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, p. 71, ISBN 974-9527-85-2, สืบค้นเมื่อ 2024-06-08
  17. วิพากษ์ประวัติศาสตร์ (2 May 2017). "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา โอรสพระนเรศผู้หายไปจากประวัติศาสตร์". Facebook. สืบค้นเมื่อ 2024-06-08.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)^
  18. สุขสุวานนท์, สุทธิศักดิ์ ระบอบ (1 January 2023). "ใครว่าสมเด็จพระนเรศไม่มีพระราชโอรส! สอบหลักฐาน-พงศาวดาร อาจมีถึง 2 พระองค์?". ศิลปวัฒนธรรม. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-08. สืบค้นเมื่อ 2024-06-08.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]