ฟาโรห์แรเมซีสที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แรเมซีสที่ 2 หรือ แรมซีสที่ 2 (อังกฤษ: Ramesses II, Rameses II,[5] หรือ Ramses II;[6] ประสูติ ราว 1303 ปีก่อนคริสตกาล; สวรรคต กรกฎาคมหรือสิงหาคม 1213 ปีก่อนคริสตกาล; เสวยราชย์ 1279–1213 ปีก่อนคริสตกาล หรือ 1276–1210 ปีก่อนคริสตกาล) สมัญญา แรเมซีสมหาราช (อังกฤษ: Ramesses the Great) เป็นฟาโรห์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์ที่ 19 ของจักรวรรดิอียิปต์ เป็นกษัตริย์ที่ถือกันว่า ยิ่งใหญ่ ทรงอำนาจ และมีชื่อเสียงมากที่สุดของอียิปต์[7] ผู้ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์และชนอียิปต์รุ่นหลังขนานนามพระองค์ว่า มหาบรรพชน (Great Ancestor) ส่วนเอกสารกรีกออกนามพระองค์ว่า โอซีแมนเดียส (Ozymandias)[8] ซึ่งมาจากการทับศัพท์ชื่อรัชกาลพระองค์ในภาษาอียิปต์ คือ Usermaatre Setepenre ("ความยุติธรรมของรานั้นทรงพลานุภาพ — ผู้ได้รับเลือกแห่งรา") ออกเป็นภาษากรีก[9]

ขณะที่พระองค์มีพระชนม์ได้ 14 ชันษา ฟาโรห์เซติที่ 1 (Seti I) พระบิดาของพระองค์ ทรงตั้งพระองค์เป็นเจ้าชายผู้สำเร็จราชการ (Prince Regent)[7] พระองค์ทรงยกทัพเข้าลิแวนต์ (Levant) หลายครั้งเพื่ออ้างย้ำซึ่งอำนาจของอียิปต์ในการปกครองเคนัน (Canaan) ทั้งมีการยกพลลงใต้ไปนิวเบีย (Nubia) โดยจารึกไว้เป็นอนุสรณ์ไว้ที่เบตเอล-วาลี (Beit el-Wali) และเกิร์ฟฮุสเซน (Gerf Hussein) หลังขึ้นเสวยราชย์แล้ว ต้นรัชกาล เน้นการสร้างบ้านแปงเมือง ก่ออารามวิหาร สถาปนาอนุสรณ์สถาน ในการนี้ พระองค์ทรงตั้งเมืองเพีย-ราเมส (Pi-Ramesses) ขึ้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมไนล์ (Nile Delta) ให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของพระองค์ และเป็นฐานที่มั่นเตรียมการศึก รัชกาลของพระองค์ยังมีการฉลองเทศกาลเซด (sed festival) ถึง 14 ครั้ง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ และมากครั้งกว่าฟาโรห์พระองค์อื่นใด ตามธรรมเนียมแล้ว เทศกาลดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อกษัตริย์เสวยราชสมบัติครบ 30 ปี จากนั้นก็จัดอีกทุก 3 ปี[10]

เชื่อกันว่า พระองค์ขึ้นสู่ราชสมบัติเมื่อพระชนมายุเข้าสู่ปลายวัยรุ่นแล้ว เป็นที่รับรู้กันว่า ทรงปกครองอียิปต์ตั้งแต่ 1279 ถึง 1213 ปีก่อนคริสตกาล[11] นักบวชแมนีโท (Manetho) ระบุว่า พระองค์ทรงครองราชย์ 66 ปี 2 เดือน นักวิทยาการอียิปต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้เชื่อว่า พระองค์ขึ้นครองราชย์วันที่ 31 พฤษภาคม 1279 ปีก่อนคริสตกาล โดยอ้างอิงวันขึ้นครองราชย์ที่ตรวจทราบได้ว่า คือ วัน 27 ฤดูเก็บเกี่ยว 3 (III Shemu day 27)[12][13] ส่วนพระชนม์ขณะสวรรคตนั้นมีการประมาณแตกต่างกันไป โดย 90 หรือ 91 ชันษาน่าจะเป็นไปได้ที่สุด[14][15] เมื่อสวรรคตแล้ว พระศพของพระองค์ฝังไว้ที่หลุมแห่งหนึ่งในหุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings)[16] ภายหลัง ย้ายไปฝังยังอีกหลุมหนึ่ง ที่ซึ่งค้นพบใน ค.ศ. 1881 ปัจจุบัน พระศพจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑ์ไคโร (Cairo Museum)[17]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Clayton 1994, p. 146.
  2. 2.0 2.1 2.2 Tyldesly 2001, p. xxiv.
  3. "Mortuary temple of Ramesses II at Abydos". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-28.
  4. 4.0 4.1 Anneke Bart. "Temples of Ramesses II". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-28. สืบค้นเมื่อ 2008-04-23.
  5. "Rameses". Webster's New World College Dictionary. Wiley Publishing. 2004.
  6. "Ramses". Webster's New World College Dictionary. Wiley Publishing. 2004.
  7. 7.0 7.1 Putnam (1990)
  8. (Greek Text) Diodorus Siculus, Bibliotheca Historica, 1.47.4 at the Perseus Project
  9. "Ozymandias". สืบค้นเมื่อ 2008-03-30.
  10. O'Connor & Cline (1998), p. 16.
  11. Rice (1999), p. 165.
  12. von Beckerath (1997), pp. 108, 190
  13. Brand (2000), pp. 302–05
  14. von Beckerath (1997), pp. 108, 190.
  15. Brand (2000), pp. 302–05.
  16. Christian Leblanc. "Gerard". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-04. สืบค้นเมื่อ 2008-04-23.
  17. Rice (1999), p. 166.

ดูเพิ่ม[แก้]