สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ประมุขเเห่งเครือจักรภพ
พระบรมฉายาลักษณ์ทางการในปี 1959
สมเด็จพระราชินีนาถเเห่งสหราชอาณาจักร
และเครือจักรภพ
ครองราชย์6 กุมภาพันธ์ 1952 – 8 กันยายน 2022
(70 ปี 214 วัน)
ราชินยาภิเษก2 มิถุนายน 1953
ก่อนหน้าพระเจ้าจอร์จที่ 6
ถัดไปพระเจ้าชาลส์ที่ 3
นายกรัฐมนตรีดูรายชื่อ
พระราชสมภพ21 เมษายน ค.ศ. 1926(1926-04-21)
บ้านเลขที่ 17 ถนนบรูตัน เมย์แฟร์
ลอนดอน สหราชอาณาจักร
เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งยอร์ก
สวรรคต8 กันยายน ค.ศ. 2022(2022-09-08) (96 ปี)
ปราสาทแบลมอรัล อะเบอร์ดีนเชอร์ สหราชอาณาจักร
ฝังพระบรมศพ19 กันยายน ค.ศ. 2022
โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์
พระราชสวามีเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ
(เสกสมรส 20 พฤศจิกายน 1947; สิ้นพระชนม์ 9 เมษายน 2021)
พระราชโอรส-ธิดา
พระนามเต็ม
เอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี[1]
ราชวงศ์วินด์เซอร์
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร
พระราชมารดาสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (อังกฤษ: Elizabeth II; 21 เมษายน ค.ศ. 1926 – 8 กันยายน ค.ศ. 2022[2]) พระองค์เป็นพระประมุขของสหราชอาณาจักรและอีก 14 ประเทศ จาก 53 รัฐสมาชิกในเครือจักรภพแห่งชาติ ประธานเครือจักรภพและประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถที่ทรงครองราชย์นาน 70 ปี ถือว่านานในที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษมากกว่ารัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้เป็นพระมารดาของพระปัยยิกา (ทวด) ของพระองค์ และนานที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

หลังจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาสวรรคตในคืนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี่ จึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา สิบหกเดือนหลังจากนั้นพระองค์ได้เข้าพระราชพิธีราชาภิเษกที่มหาวิหารเวสมินสเตอร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953 เป็นครั้งแรกที่พระราชพิธีนี้ได้ถ่ายทอดไปทั่วโลก

พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์แรกคือเจ้าชายชาลส์ ซึ่งปัจจุบันเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น "สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร" พระราชสมภพเมื่อปี 1948 พระองค์ที่สองเป็นพระราชธิดา มีพระนามว่าเจ้าหญิงแอนน์ ประสูติเมื่อปี 1950 ซึ่งปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "ราชกุมารี" พระราชโอรสพระองค์ที่สามคือเจ้าชายแอนดรูว์ ประสูติเมื่อปี 1960 ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "ดยุกแห่งยอร์ก" และพระราชโอรสพระองค์เล็กคือเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งประสูติในปี 1964 ปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็น "ดยุกแห่งเอดินบะระ"

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (พระยศในขณะนั้น) ทรงเป็นพระราชธิดาองค์แรกในเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก (ภายหลังขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6) กับเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งยอร์ก (ภายหลังเป็น สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี) พระราชบิดาของพระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีแมรี พระราชมารดาของพระองค์เป็นธิดาคนสุดท้ายของขุนนางชาวสกอตแลนด์นามว่า โคลด โบวส์-ลีออน เอิร์ลที่ 14 แห่งสตราธมอร์และคิงฮอร์น เจ้าหญิงเอลิซาเบธประสูติโดยการคลอดแบบผ่าท้องเมื่อเวลา 2.40 น. (ตามเวลากรีนิช) ของวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1926 ณ บ้านเลขที่ 17 ถนนบรูตัน เมย์แฟร์ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นของพระอัยกาฝ่ายพระราชมารดา (ตา) ในกรุงลอนดอน[3] ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม ทรงเข้ารับพิธีบัพติศมากับคริสตจักรแห่งอังกฤษจากคอสโม กอร์ดอน แลง อาร์ชบิชอปแห่งยอร์ก ณ โบสถ์ส่วนพระองค์ภายในพระราชวังบักกิงแฮม[4][note 2] และได้รับพระนาม เอลิซาเบธ ตามพระราชมารดา, อะเล็กซานดรา ตามสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา พระปัยยิกา (ย่าทวด) ซึ่งสิ้นพระชนม์ก่อนการประสูติของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ 6 เดือน และ แมรี ตามสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัยยิกาฝ่ายพระราชบิดา (ย่า) และยังหมายถึง พระแม่มารีย์ ผู้เป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้าอีกด้วย [5] เจ้าหญิงเอลิซาเบธเป็นพระราชนัดดาหัวแก้วหัวแหวนของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กล่าวกันว่าเมื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จไปเยี่ยมพระอาการประชวรของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ในปี ค.ศ. 1929 ทำให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงมีกำลังพระทัยและพระอาการดีขึ้น[6]

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธขณะมีพระชนมายุ 3 พรรษา ค.ศ. 1929

พระองค์มีพระขนิษฐาพระองค์เดียวคือเจ้าหญิงมาร์กาเรต ซึ่งมีพระชันษาน้อยกว่าอยู่ 4 พรรษา ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการศึกษา ณ พระตำหนักที่ประทับภายใต้การควบคุมดูแลของพระราชมารดาและ แมเรียน คราวฟอร์ด พระอาจารย์ส่วนพระองค์ ซึ่งได้รับการเรียกขานในบางโอกาสว่า "คราวฟี"[7] บทเรียนที่ทรงศึกษาเน้นหนักไปที่ประวัติศาสตร์, ภาษา, วรรณกรรม และดนตรี[8] ในปี 1930 แมเรียนออกหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติของเจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเรตในช่วยวัยเยาว์ชื่อว่า The Little Princesses (เจ้าหญิงองค์น้อย) ซึ่งสร้างความผิดหวังแก่พระราชวงศ์อังกฤษ[9] หนังสือได้อธิบายว่าเจ้าหญิงเอลิซาเบธโปรดม้าและสุนัข, ความเป็นระเบียบ และทัศนคติต่อความรับผิดชอบของพระองค์[10] ด้านวินสตัน เชอร์ชิลล์ กล่าวถึงเจ้าหญิงเอลิซาเบธขณะมีพระชนมายุ 2 พรรษาว่า "ด้านพระจริยวัตร ทรงมีห้วงอากาศแห่งพระราชอำนาจและความไตร่ตรองอย่างน่าอัศจรรย์ภายในตัวพระองค์"[11] ส่วนพระญาตินามว่า มาร์กาเรต โรดส์ กล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น "เด็กหญิงตัวเล็กผู้ร่าเริง แต่มีความมีเหตุผลพื้นฐานและความประพฤติที่ดี"[12]

เมื่อทรงพระเยาว์พระประยูรญาติสนิททรงเรียกพระองค์ว่า "ลิลิเบ็ต"[13] เมื่อพระชนมายุได้ 10 พรรษา พระองค์ทรงได้พบกับนักเทศน์คนหนึ่งที่ปราสาทกลามิส เมื่อเขาลากลับ เขาได้สัญญาที่จะส่งมาหนังสือมาให้พระองค์เล่มหนึ่ง เจ้าหญิงตรัสตอบว่า "ไม่เอาเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้านะ เรารู้เรื่องพระองค์หมดแล้ว"

รัชทายาทโดยสันนิษฐาน[แก้]

ในฐานะที่เป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุรุษ มีพระนามเต็มว่า เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งยอร์ก และอยู่ลำดับที่สามในลำดับการสืบราชบัลลังก์อังกฤษ ตามหลังเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ พระปิตุลาในลำดับแรก และเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก พระราชบิดาในลำดับที่สอง แม้ว่าการประสูติของพระองค์จะอยู่ในความสนใจของสาธารณชน แต่ก็ไม่มีใครคาดหมายว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นสมเด็จพระราชินีนาถ เพราะในขณะนั้นเจ้าชายแห่งเวลส์ (พระปิตุลา) ยังมีพระชนมายุไม่มาก ทั้งยังได้รับการคาดหมายว่าจะอภิเษกสมรสและมีพระโอรส-ธิดาของพระองค์เอง[14] ต่อมาในปี 1936เมื่อพระอัยกาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 เสด็จสวรรคต และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระปิตุลา เถลิงถวัลย์ราชสมบัติขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 เจ้าหญิงเอลิซาเบธจึงเลื่อนขึ้นมาลำดับที่สองในลำดับการสืบราชบัลลังก์ตามหลังพระราชบิดาในลำดับที่หนึ่ง ภายหลังในปีเดียวกันนี้เองที่พระปิตุลาทรงสละราชสมบัติเพื่อไปสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน แม่ม่ายชาวอเมริกันผู้หย่าร้างมาแล้วสามรอบ ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญขึ้น[15] พระราชบิดาขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์และพระองค์ก็ทรงกลายมาเป็นรัชทายาทโดยสันนิษฐานด้วยพระอิสริยยศ เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลิซาเบธ[16] ซึ่งถ้าหากพระองค์มีพระเชษฐาหรือพระอนุชาร่วมบิดา-มารดา พระองค์ก็จะทรงสูญเสียสถานะรัชทายาทโดยสันนิษฐานและอยู่ในลำดับการสืบราชบัลลังก์ที่ต่ำกว่า เพราะตามกฏสืบราชสมบัติอังกฤษจะให้สิทธิ์แก่รัชทายาทบุรุษเป็นรัชทายาทโดยนิตินัย[17]

เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงได้รับการศึกษาในวิชาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญจาก เฮนรี มาร์เตน รองอาจารย์ใหญ่แห่งวิทยาลัยอีตัน[18] และทรงเรียนภาษาฝรั่งเศสจากพระอาจารย์ที่พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่หลายคน[19] ต่อมากองเนตรนารีที่หนึ่งแห่งพระราชวังบักกิงแฮมได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อให้พระองค์ทรงสามารถมีพระปฏิสันถารกับเด็กหญิงวัยเดียวกัน[20] ซึ่งภายหลังทรงดำรงตำแหน่งเป็น แรนเจอร์ทะเล (sea ranger)[19]

ในปี ค.ศ. 1927 เมื่อครั้งพระราชบิดา-มารดาของพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เจ้าหญิงเอลิซาเบธยังคงประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรเนื่องจากพระราชบิดาทรงเกรงว่าเจ้าหญิงยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะสามารถตามเสด็จในที่สาธารณะได้ เช่นเดียวกับครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนแคนาดาและสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1939 เจ้าหญิงก็ยังประทับอยู่ในสหราชอาณาจักรเช่นเดิม[21] เจ้าหญิงทรงดูเหมือนว่าจะทรงร้องไห้เมื่อพระราชบิดา-มารดาทรงออกเดินทาง[22] ทั้งสองฝ่ายทรงติดต่อกันเป็นประจำ[22] และในวันที่ 18 พฤษภาคม ก็ได้ทรงติดต่อกันผ่านทางโทรศัพท์สาย ทรานส์แอตแลนติก เป็นครั้งแรก[21]

สงครามโลกครั้งที่สอง[แก้]

เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ขวา) กับสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัยยิกา และเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระขนิษฐา ค.ศ. 1939

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 สหราชอาณาจักรเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองที่ดำเนินไปจนถึงปี 1946 ในระยะเวลาช่วงนี้เองที่กรุงลอนดอนถูกทิ้งระเบิดทางอากาศอย่างหนัก เด็กชาวลอนดอนจำนวนมากถูกอพยพไปอยู่ตามชนบท มีคำแนะนำจากนักการเมืองอาวุโสนามว่า ดักลาส ฮอกก์ วิสเคาท์ที่หนึ่งแห่งเฮลเชม (ลอร์ดเฮลเชม) เสนอให้เชิญพระราชธิดาทั้งสองพระองค์เสด็จลี้ภัยไปประทับอยู่ ณ แคนาดา แต่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธทรงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวและทรงประกาศว่า "เด็ก ๆ จะไม่เสด็จไปโดยปราศจากข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เสด็จไปโดยปราศจากพระเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เสด็จไปไหนทั้งนั้น"[23] เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเรตประทับ ณ ปราสาทบาลมอรัลในสกอตตแลนด์จนถึงช่วงคริสต์มาสปี ค.ศ. 1939 เมื่อเสด็จไปประทับที่พระตำหนักซานดริงแฮมในนอร์ฟอล์กแทน[24] และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2483 เสด็จไปประทับที่รอยัลลอดจ์ในวินด์เซอร์ จนในที่สุดเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังวินด์เซอร์ ที่ซึ่งใช้เวลาส่วนมากของอีกห้าปีถัดมาประทับอยู่ ณ ที่แห่งนั้น[25] ที่วินด์เซอร์ เจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ทรงแสดงละครใบ้ในงานคริสต์มาสเพื่อช่วยหาเงินเข้ากองทุนขนแกะของสมเด็จพระราชินี ซึ่งใช้ในการจัดหาเส้นด้ายในการทอเสื้อผ้าทหาร[26] ในปี 1940 เจ้าหญิงเอลิซาเบธซึ่งมีพระชันษาได้ 14 พรรษา ได้ทรงจัดรายการทางวิทยุของบีบีซีเป็นครั้งแรกในรายการ Children's Hour (ชั่วโมงของเด็ก) และทรงกล่าว[27] ต่อเด็ก ๆ ที่อพยพออกจากลอนดอนว่า: เราพยายามทุกวิถีทางในการช่วยเหลือเหล่าลูกเรือ, ทหาร และนักบินผู้กล้าหาญของพวกเรา และเราพยายามแบกรับเอาความเศร้าโศกและอันตรายที่มีร่วมกันไว้ด้วยเช่นกัน เราทราบดีว่าท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนจะปลอดภัย[27]

ในปี ค.ศ. 1943 ในขณะที่มีพระชันษา 16 พรรษา เสด็จออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรกในการตรวจแถวสวนสนามของกองทัพบก ที่ซึ่งทรงได้รับการพระราชทานตำแหน่งผู้บัญชาการยศพันเอกหญิงในปีก่อนหน้า[28] เมื่อทรงเจริญพระชันษาย่างเข้า 18 พรรษา กฎหมายเปลี่ยนให้ทรงมีฐานะเสมือนเป็นหนึ่งในองคมนตรีแห่งรัฐ (Counsellors of State) ทั้งห้าท่าน เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจทดแทนยามที่พระราชบิดาทรงติดขัดหรือเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ เช่น ครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปอิตาลีในปี ค.ศ. 1944 [29] ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ทรงเข้าร่วมหน่วยบริการภาคพื้นดินในฐานะผู้บังคับหมวดที่สอง ซึ่งมีหมายเลขประจำพระองค์คือ 230873[30] ทรงได้รับการฝึกเป็นพนักงานขับรถและช่างยนต์และทรงได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้บัญชาการระดับอาวุโสในอีก 5 เดือนถัดมา[31][32]

เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ซ้ายสุด) ณ บัญชรพระราชวังบักกิงแฮมพร้อมด้วย (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ, นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์, สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และเจ้าหญิงมาร์กาเรต วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945

ในวันแห่งชัยชนะในทวีปยุโรปซึ่งเป็นวันที่สงครามโลกครั้งที่สองภาคทวีปยุโรปสิ้นสุดลง เจ้าหญิงเอลิซาเบธและเจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงแฝงพระองค์ร่วมเฉลิมฉลองกับประชาชนบนท้องถนนของกรุงลอนดอน ต่อมาได้พระราชทานสัมภาษณ์ว่า "เราสองคนขอพระราชบิดา-มารดาเพื่อที่จะออกไปดูด้วยตัวของเราเอง จำได้ว่าเรากลัวที่จะมีคนจดจำเราได้ ... มีแถวของผู้คนมากหน้าหลายตาจับมือแล้วร่วมเดินไปด้วยกันบนถนนไวต์ฮอล พวกเราทั้งหมดได้รับการกวาดไปตามกระแสธารแห่งความสุขและความโล่งใจ"[33]

ช่วงระหว่างสงคราม แผนการของรัฐบาลมากมายได้รับการคิดขึ้นเพื่อระงับกระแสชาตินิยมในเวลส์ ด้วยการผูกมัดเจ้าหญิงเอลิซาเบธให้มีความใกล้ชิดกับเวลส์มากขึ้น[34] อาทิ สถาปนาเจ้าหญิงให้ทรงเป็นผู้ดูแลปราสาทคายร์นาร์วอน ซึ่งในขณะนั้นตำแหน่งผู้ดูแลเป็นของอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด ลอยด์ จอร์จ ด้านเลขาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เฮอร์เบิร์ต มอร์ริสัน มีอีกแผนการหนึ่งคือให้เจ้าหญิงทรงเป็นผู้อุปถัมภ์สันนิบาตเยาวชนแห่งเวลส์ (the Welsh League of Youth)[34] ส่วนนักการเมืองชาวเวลส์เสนอให้ถวายตำแหน่งเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในวันคล้ายวันประสูติปีที่ 18 ของพระองค์[35] อย่างไรก็ตามทุกข้อเสนอล้วนถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ความกลัวที่ว่าจะนำพระองค์ไปข้องเกี่ยวกับกลุ่มผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารโดยมโนสำนึกในสันนิบาตเยาวชนแห่งเวลส์ ซึ่งในช่วงที่สหราชอาณาจักรอยู่ในภาวะสงครามถูกมองว่าเป็นกลุ่มบุคคลเสื่อมเสีย[34] ในปี ค.ศ. 1946 ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ชนะและประทับบนบัลลังก์แห่งบาร์ดส์ (Gorsedd of Bards) ในงานเทศกาลไอส์เตดด์วอดแห่งชาติเวลส์ (National Eisteddfod of Wales)[36]

ในปี ค.ศ. 1947 เจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จเยือนต่างประเทศพร้อมกับพระราชบิดา-มารดาเป็นครั้งแรกบริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ในช่วงการเสด็จเยือน ทรงออกแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษไปยังประเทศเครือจักรภพเนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันประสูติปีที่ 21 ว่า:

I declare before you all that my whole life, whether it be long or short, shall be devoted to your service and the service of our great imperial family to which we all belong.[37]

คำแปล:

ข้าพเจ้าขอปฏิญาณต่อหน้าพวกท่านทุกคนว่า ตลอดชีวิตของข้าพเจ้า ไม่ว่าจะยาวหรือจะสั้น จะมีไว้เพื่อรับใช้ท่าน และเพื่อรับใช้ครอบครัวใหญ่ของพวกเรา ที่พวกเราทุกคนอาศัยอยู่

อภิเษกสมรส[แก้]

พระองค์ทรงพบกับเจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก พระสวามีในอนาคต เมื่อปี ค.ศ. 1934 และ ค.ศ. 1937[38] ทั้งสองพระองค์เป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งของกันและกันผ่านทางสายพระโลหิตของพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และเป็นพระญาติชั้นที่สามผ่านทางสายพระโลหิตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จากนั้นทรงพบปะกันอีกครั้งที่วิทยาลัยราชนาวีอังกฤษในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 13 พรรษาและทรงยอมรับว่ามีพระเสน่หากับเจ้าชายฟิลิป ทั้งสองพระองค์จึงทรงมีจดหมายและหัตถเลขาถึงกันและกันแต่บัดนั้นเป็นต้นมา[39] ต่อมาพิธีหมั้นจึงประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1947[40]

การหมั้นในครั้งนี้ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเนื่องจากเจ้าชายฟิลิปทรงไม่มีฐานะทางการเงินที่แน่นอน ทั้งยังประสูติจากต่างแดน (แม้จะอยู่ใต้บังคับของทางการสหราชอาณาจักรและรับใช้ในราชนาวีอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) รวมถึงการที่พระเชษฐภคินีของเจ้าชายฟิลิปเสกสมรสกับขุนนางชาวเยอรมันผู้มีสายสัมพันธ์กับพรรคนาซี[41] แมเรียน คราวฟอร์ดเขียนไว้ในหนังสือของเธอว่า "ที่ปรึกษาของพระเจ้าจอร์จที่ 6 บางคนคิดว่าเจ้าชายทรงไม่คู่ควรกับเจ้าหญิง เป็นเจ้าชายไร้ถิ่นฐาน และหนังสือพิมพ์บางฉบับก็ยังโจมตีอย่างโจ่งแจ้งในประเด็นที่ว่าทรงมีต้นกำเนิดในต่างแดน"[42] ในหนังสือพระราชประวัติช่วงหลัง ๆ กล่าวว่าพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชมารดา ทรงต่อต้านการเสกสมรสในตอนแรก ถึงขนาดที่ทรงเรียกเจ้าชายฟิลิปว่าเป็นพวกเยอรมัน[43] แต่อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายพระชนม์ชีพ พระราชินีเอลิซาเบธได้พระราชทานสัมภาษณ์กับนักอัตชีวประวัติ ทิม ฮีลด์ ถึงเจ้าชายฟิลิปไว้ว่าทรงเป็น "สุภาพบุรุษชาวอังกฤษ"[44]

ก่อนการอภิเษกสมรสจะมีขึ้น เจ้าชายฟิลิปสละบรรดาศักดิ์ของกรีซและเดนมาร์ก ทรงเปลี่ยนจากนิกายกรีกออร์ทอดอกซ์มาเข้ารีตแองกลิคัน และใช้พระยศเป็น "ร้อยเอกฟิลิป เมาท์แบตเตน" ซึ่งนามสกุลเมาท์แบตเตนเป็นของบรรพบุรุษฝ่ายอังกฤษของพระมารดา[45] ก่อนพระราชพิธีอภิเษกสมรสจะมีขึ้นไม่นาน ก็ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นดยุกแห่งเอดินบะระชั้น "รอยัลไฮเนส"[46]

ทั้งสองพระองค์อภิเษกกันในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 ณ เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และทรงได้รับของขวัญวันอภิเษกสมรสจำนวน 2500 ชิ้นจากทั่วทุกมุมโลก[47] และเนื่องจากอังกฤษยังคงบอบช้ำจากสงคราม เจ้าหญิงเอลิซาเบธยังคงต้องใช้บัตรปันส่วนในการจัดหาวัตถุดิบสำหรับตัดฉลองพระองค์ที่จะใช้ในวันอภิเษกซึ่งออกแบบโดยนอร์มัน ฮาร์ตเนลล์[48] นอกจากนี้สายสัมพันธ์กับชาวเยอรมันของเจ้าชายฟิลิปไม่เป็นที่ยอมรับของสาธารณชนชาวอังกฤษ ผู้ที่เพิ่งจะผ่านพ้นความทุกข์ยากของสงครามมา จึงทำให้พระเชษฐภคินีทั้งสามพระองค์ของเจ้าชายไม่ได้รับเชิญให้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีอภิเษกสมรส[49] ในขณะที่ดยุกและดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ก็ไม่ได้รับเชิญให้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีเช่นกัน[50]

พระองค์มีประสูติการเจ้าชายชาลส์พระโอรสองค์แรกเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1948 เป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 จะทรงมีจดหมายพระราชทานพระราชานุญาตให้โอรสและธิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธทุกพระองค์สามารถใช้บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงได้ ซึ่งหากมิเช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถใช้บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าชาย-เจ้าหญิงอังกฤษ เพราะในขณะนั้นเจ้าชายฟิลิปได้สละบรรดาศักดิ์ที่มีมาแต่กำเนิดไปหมดแล้วและมีบรรดาศักดิ์เป็นเพียงดยุกเท่านั้น[51] ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 พระธิดาองค์แรกก็มีพระประสูติกาลโดยมีพระนามว่า เจ้าหญิงแอนน์[52]

ภายหลังการอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์ทรงเช่าพระตำหนักวินเดิลแชมมัวร์เป็นที่ประทับซึ่งใกล้กับพระราชวังวินด์เซอร์ไปจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1951[47] จากนั้นทรงใช้พระตำหนักแคลเรนซ์เป็นที่ประทับหลายครั้งระหว่างช่วงปี 1951 - 1953 ในขณะนั้นดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี ทรงประจำการอยู่ในราชนาวีอังกฤษมอลตาซึ่งเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ และประทับอยู่ด้วยกันเป็นช่วง ๆ หลายเดือน ณ วิลลาในหมู่บ้านกวาร์ดามังเจียของมอลตา ซึ่งเป็นบ้านพักของลอร์ดเมาท์แบตเตน พระมาตุลาในดยุกแห่งเอดินบะระ ส่วนพระโอรส-ธิดายังคงประทับอยู่ในสหราชอาณาจักร[53]

พระราชโอรส-ธิดา/พระราชนัดดา[แก้]

มีพระราชโอรส-ธิดากับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระรวมทั้งสิ้น 4 พระองค์ ดังนี้:

พระบรมฉายาลักษณ์/พระฉายาลักษณ์/พระรูป พระนาม ประสูติ อภิเษกสมรส พระโอรส-ธิดา พระนัดดา
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1948 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1981
หย่า 28 สิงหาคม ค.ศ. 1996
เลดีไดอานา สเปนเซอร์ เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์
เจ้าหญิงชาร์ลอตต์แห่งเวลส์
เจ้าชายหลุยส์แห่งเวลส์
เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ เจ้าชายอาร์ชีแห่งซัสเซกซ์
เจ้าหญิงลิลีเบ็ตแห่งซัสเซกซ์
9 เมษายน ค.ศ. 2005 คามิลลา แชนด์ ไม่มีพระโอรส-ธิดา
เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี 15 สิงหาคม ค.ศ. 1950 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1973
หย่า 28 เมษายน ค.ศ. 1992
มาร์ก ฟิลลิปส์ ปีเตอร์ ฟิลลิปส์ ซาวันนาห์ ฟิลลิปส์
อิสลาห์ ฟิลลิปส์
ซารา ทินดัลล์ มีอา ทินดัลล์
เลนา ทินดัลล์
ลูคัส ทินดัลล์
12 ธันวาคม ค.ศ. 1992 ทิโมที ลอเรนซ์ ไม่มีพระโอรส-ธิดา
เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1960 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1986
หย่า 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1996
ซาราห์ เฟอร์กูสัน เจ้าหญิงเบียทริซ นางมาเปลลี มอซซี ซีเอนา มาเปลลี มอซซี
เจ้าหญิงยูเชนี นางบรุกส์แบงก์ ออกัสต์ บรุกส์แบงก์
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเอดินบะระ 10 มีนาคม ค.ศ. 1964 19 มิถุนายน ค.ศ. 1999 โซฟี ไรส์-โจนส์ เลดีลูอีส เมานต์แบ็ตเทน-วินด์เซอร์ ไม่มีพระโอรส-ธิดา
เจมส์ เมานต์แบ็ตเทน-วินด์เซอร์ เอิร์ลแห่งเวสเซกซ์ ไม่มีพระโอรส-ธิดา

พิธีราชาภิเษก[แก้]

พิธีราชาภิเษก[แก้]

พระราชพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
พระบรมฉายาลักษณ์วันราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ฉายคู่กับดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1953

ช่วงปี ค.ศ. 1951 พระพลานามัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสื่อมถอยลงและบ่อยครั้งที่เจ้าหญิงต้องเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในครั้งที่เสด็จเยือนแคนาดาและสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ขณะนั้นทรงพบปะกับประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ราชเลขาธิการส่วนพระองค์ มาร์ติน ชาร์เตริส ก็ได้จัดทำร่างพระราชดำรัสในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเผื่อกรณีที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคตขณะเจ้าหญิงทรงอยู่ต่างประเทศ[54] ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1952 เตรียมเสด็จเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์โดยเสด็จเยือนเคนยาก่อน ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1952 เมื่อเพิ่งเสด็จถึงบ้านพักที่ประทับซากานาลอดจ์ในเคนยา หลังจากที่คืนก่อนหน้าเสด็จไปประทับที่โรงแรมทรีท็อปส์ ข่าวการสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ก็มาถึงและดยุกแห่งเอดินบะระก็ได้ทรงแจ้งข่าวนี้แก่พระราชินีพระองค์ใหม่[55] มาร์ติน ชาร์เตริส ได้ทูลถามถึงพระปรมาภิไธยที่จะทรงใช้ พระองค์ทรงเลือก "เอลิซาเบธ" เช่นเดิมแน่นอน[56] พระองค์ทรงประกาศตนเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพพระองค์ใหม่หลังจากที่ทรงเร่งรีบเสด็จกลับสหราชอาณาจักร[57] จากนั้นจึงเสด็จย้ายเข้าไปประทับ ณ พระราชวังบักกิงแฮมพร้อมกับดยุกแห่งเอดินบะระ[58] ทั้งที่สมเด็จพระราชินีแมรี พระราชินีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 เสด็จสวรรคตในวันที่ 24 มีนาคม แต่แผนการจัดพระราชพิธีราชาภิเษกก็ยังคงดำเนินต่อไปตามที่ทรงร้องขอไว้ก่อนเสด็จสวรรคต โดยจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953 [59] ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ โดยยกเว้นการถ่ายทอดพิธีเจิมและพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์[60][note 3]ในศาสนาคริสต์ นิกายคริสตจักรแห่งอังกฤษ ฉลองพระองค์ในพระราชพิธีได้รับการออกแบบและตัดเย็บโดยนอร์มัน ฮาร์ตเนลล์ ซึ่งประดับด้วยลายพรรณพืชของประเทศในเครือจักรภพตามคำแนะนำของพระราชินีนาถ อันประกอบไปด้วย[61] กุหลาบทิวดอร์แห่งอังกฤษ ดอกทริสเติลแห่งสกอตแลนด์ กระเทียมต้นแห่งเวลส์ ดอกแฌมร็อกแห่งไอร์แลนด์ ดอกแวทเทิลแห่งออสเตรเลีย ใบเมเปิลแห่งแคนาดา ใบเฟิร์นสีเงินแห่งนิวซีแลนด์ ดอกโพรทีแห่งแอฟริกาใต้ ดอกบัวหลวงแห่งอินเดียและศรีลังกา รวมไปถึงข้าวสาลี ฝ้าย และปอกระเจาแห่งปากีสถาน[62] ในพระราชพิธีราชาภิเษก พระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่พสกนิกรชาวสหราชอาณาจักรว่า

"ในพิธีบรมราชาภิเษกวันนี้ ข้าพเจ้าขอประกาศว่า ข้าพเจ้าพร้อมอุทิศชีวิตเพื่อประชาชนของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอยากขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม ให้ช่วยสวดภาวนาให้ข้าพเจ้า ในวันที่ข้าพเจ้าต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์แห่งอังกฤษ สวดภาวนาให้พระเจ้าประทานพระปัญญาญาณและความเข้มแข็งให้ข้าพเจ้าสามารถปฏิบัติราชกิจลุล่วงตามที่ข้าพเจ้าได้ให้สัตย์ปฏิญาณไว้ และข้าพเจ้าพร้อมรับใช้พระเจ้าและประชาชนของข้าพเจ้า ทุกคนตลอดที่ข้าพเจ้ายังมีลมหายใจ"

เหตุการณ์ตลอดรัชสมัย[แก้]

ภายหลังการขึ้นครองราชย์[แก้]

ด้วยการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการเปลี่ยนชื่อราชวงศ์ไปเป็น ราชวงศ์เมาท์แบตเตน ตามนามสกุลของดยุกแห่งเอดินบะระ และให้เจ้าหญิงทรงเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของพระราชสวามี อย่างไรก็ตามสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัยยิกา และนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ เห็นชอบที่จะให้มีการใช้ชื่อราชวงศ์เดิมต่อไป ดังนั้นราชวงศ์วินด์เซอร์จึงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดยุกแห่งเอดินบะระทรงบ่นว่า "เป็นบุรุษเพียงคนเดียวในประเทศที่ไม่สามารถให้นามสกุลแก่โอรส-ธิดาของพระองค์ได้"[63] ในปี 1957 หลังจากที่พระราชินีแมรีสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1953 และวินสตัน เชอร์ชิลล์ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1957 นามสกุล เมาท์แบตเตน-วินด์เซอร์ จึงใช้แก่ดยุกฟิลิปและกับรัชทายาทบุรุษฝ่ายพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ไม่ได้ถือบรรดาศักดิ์ใด ๆ [64]

ท่ามกลางการตระเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เจ้าหญิงมาร์กาเรตกราบทูลพระเชษฐภคินีของพระองค์ว่าประสงค์ที่จะเสกสมรสกับปีเตอร์ ทาวเซินด์ พ่อหม้ายลูกติดสองคนซึ่งมีอายุมากกว่าพระองค์ 16 ปี พระราชินีนาถจึงทูลขอให้ทรงรอเป็นเวลาสองปี ตามคำกล่าวของมาร์ติน คาร์เตริสที่กล่าวว่า "พระราชินีนาถทรงมีความเห็นใจต่อเจ้าหญิงมาร์กาเรต แต่ข้าพเจ้าคิดว่าพระองค์ทรงหวังไว้ว่าเวลาจะช่วยทำให้เรื่องนี้เงียบหายไปในที่สุด"[65] ด้านนักการเมืองอาวุโสต่างต่อต้านแนวคิดการเสกสมรสครั้งนี้และคริสตจักรแห่งอังกฤษก็ไม่อนุญาตให้มีการสมรสหลังจากที่หย่าร้างไปแล้ว ซึ่งหากเจ้าหญิงมาร์กาเรตทรงเข้าพิธีสมรสแบบทางราชการ (การสมรสโดยปราศจากพิธีกรรมทางศาสนา) ก็เป็นที่คาดหมายให้สละสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติของพระองค์ [66] จนในท้ายที่สุดก็ทรงล้มเลิกแผนการเสกสมรสกับปีเตอร์ ทาวเซินด์[67] ในปี ค.ศ. 1960 เจ้าหญิงมาร์กาเรตเสกสมรสกับแอนโทนี อาร์มสตรอง-โจนส์ ผู้ซึ่งในปีถัดมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลแห่งสโนว์ดอน ทั้งสองหย่าร้างกันในปี ค.ศ. 1978 และเจ้าหญิงมาร์กาเรตก็มิเสกสมรสกับบุคคลใดอีกเลย[68]

พระราชินีนาถกับเครือจักรภพ[แก้]

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทอดพระเนตรเห็นการเปลี่ยนแปลงของจักรวรรดิอังกฤษไปสู่เครือจักรภพแห่งประชาชาติตลอดช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์[69] ตั้งแต่การเสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1952 ตำแหน่งพระประมุขของรัฐอธิปไตยหลากหลายรัฐก็สถาปนาขึ้นไว้แล้ว[70] ซึ่งตลอดช่วงปี 1953 - 1954 พระองค์และพระราชสวามีได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ รอบโลกเป็นเวลาหกเดือน และยังเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์แห่งออสเตรเลียและพระมหากษัตริย์แห่งนิวซีแลนด์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศของพระองค์ขณะทรงครองราชย์อยู่[71] ประมาณกันว่าสามในสี่ของประชาชนชาวออสเตรเลียได้พบเห็นสมเด็จพระราชินีนาถของตนระหว่างช่วงการเสด็จพระราชดำเนินเยือน[72] เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทั้งที่ใช่และไม่ใช่ประเทศเครือจักรภพมากมายตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์ และเป็นพระประมุขแห่งรัฐที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศมากที่สุดในประวัติศาสตร์[73]

ในปี ค.ศ. 1956 นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส กี มอแล และนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เซอร์ แอนโทนี อีเดน ร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ที่ฝรั่งเศสจะเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกเครือจักรภพ แนวคิดดังกล่าวได้รับการปฏิเสธและในปีถัดมาฝรั่งเศสก็ร่วมลงนามในสนธิสัญญาโรมจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งจะนำไปสู่การก่อตั้งสหภาพยุโรปในภายหลัง[74] ในเดือนพฤศจิกายน 1956 สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสเข้ารุกรานอียิปต์ในความพยายามทางการทหารที่ล้มเหลวในการยึดคลองสุเอซ ลอร์ดเมาท์แบตเตนกล่าวว่าพระราชินีนาถทรงต่อต้านการรุกรานครั้งนั้น ซึ่งเซอร์ แอนโทนีปฏิเสธคำพูดดังกล่าวและลาออกในอีกสองเดือนถัดมา[75]

กลไกในการเลือกผู้นำคนใหม่ของพรรคอนุรักษนิยมที่หยุดชะงักลง หมายความว่าหลังการลาออกของเซอร์ แอนโทนี เป็นพระราชภาระของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่จะต้องทรงเลือกว่าใครควรที่จะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เซอร์ แอนโทนีได้ถวายคำแนะนำแด่พระองค์ให้ทรงปรึกษากับลอร์ดซอลส์บรี ประธานสภาองคมนตรี ลอร์ดซอลส์บรีและลอร์ดคิลเมียร์ (ขณะนั้นดำรงรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม) ก็ได้ไปปรึกษากับคณะรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลล์ และคณะกรรมธิการ 1922 (1922 Committee) จนในที่สุดก็ได้จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เฮโรลด์ แมคมิลแลน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการถวายคำแนะนำมา[76]

วิกฤตการณ์คลองสุเอซและการเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งของเซอร์ แอนโทนีนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในตัวพระราชินีนาถครั้งใหญ่ครั้งแรก ลอร์ดอัลตรินแชมกล่าวหาว่าพระองค์ทรง "กู่ไม่กลับ"[77] ในนิตยสารที่เขาเป็นเจ้าของและเป็นบรรณาธิการเอง[78] ต่อมาเขาจึงถูกประณามโดยบุคคลที่มีชื่อเสียงและถูกทำร้ายร่างกายโดยสาธารณชนผู้ตกตะลึงกับคำกล่าวของเขา[79] หกปีถัดมาในปี ค.ศ. 1963 เฮโรลด์ แมคมิลแลน ลาออกและถวายการแนะนำให้ทรงเลือกเซอร์ อเลค ดักลาส-ฮูม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ซึ่งพระองค์ก็ทรงทำตามคำแนะนำ[80] ทำให้พระองค์ถูกวิจารณ์อีกครั้งว่าทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของรัฐมนตรีเพียงไม่กี่คนหรือเพียงคนเดียวเท่านั้น[80] ในปี ค.ศ. 1965 พรรคอนุรักษนิยมจึงกลับมาใช้กลไกลเลือกตั้งผู้นำพรรคอย่างเป็นทางการ จึงช่วยลดพระราชภาระอันข้องเกี่ยวกับทางการเมืองของพระราชินีนาถลง[81]

A formal group of Elizabeth in tiara and evening dress with eleven prime ministers in evening dress or national costume.
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีและคณะแห่งประเทศเครือจักรภพ ณ การประชุมนายกรัฐมนตรีประเทศเครือจักรภพที่พระราชวังวินด์เซอร์ ค.ศ. 1960
สมเด็จพระราชินีนาถพร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีเอ็ดวาร์ด ฮีธ (ซ้าย), ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันแห่งสหรัฐอเมริกา และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แพต นิกสัน ค.ศ. 1970

ในปี ค.ศ. 1957 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ที่ซึ่งทรงกล่าวสุนทรพจน์ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในนามของเครือจักรภพแห่งชาติ ในครั้งนั้นยังได้เสด็จฯ ไปเปิดการประชุมรัฐสภาแคนาดาสมัยที่ 23 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์แห่งแคนาดาเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดการประชุมของรัฐสภา[82] สองปีถัดมา เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและแคนาดาผู้เดียวในฐานะสมเด็จพระราชินีนาถแห่งแคนาดาอีกครั้ง[82][83] ที่ซึ่งทรงทราบจากการลงจอดของเครื่องบินที่ประทับ ณ สนามบินเซนต์จอห์นนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ว่าทรงพระครรภ์รัชทายาทองค์ที่สามอยู่[84] ในปี ค.ศ. 1961 เสด็จพระราชดำเนินเยือนไซปรัส, อินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล และอิหร่าน[85] ในช่วงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนกานาในปีเดียวกัน ทรงเพิกเฉยต่อความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของพระองค์ หลังจากที่ผู้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ก็คือประธานาธิบดีกวาเม อึนกรูมา ตกเป็นเป้าลอบสังหาร ซึ่งเขาเป็นผู้ที่เปลี่ยนประมุขแห่งรัฐของกานาจากพระราชินีนาถมาเป็นตัวเขาเอง[86] เฮโรลด์ แมคมิลแลน เขียนไว้ว่า "สมเด็จพระราชินีนาถทรงพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ... ทรงอดทนต่อทัศนคติที่มีต่อพระองค์ ที่ปฏิบัติต่อพระองค์ราวกับว่าเป็น ... ดาราภาพยนตร์ ... ซึ่งแท้ที่จริงแล้วพระองค์ประดุจเป็นดังชายชาติบุรุษ ... ทรงรักในพระราชกรณียกิจของพระองค์และทรงเจตนาที่จะเป็นพระราชินีนาถอย่างแน่วแน่"[86] ต่อมาก่อนการเสด็จฯ เยือนเกแบ็กในปี ค.ศ. 1964 สื่อรายงานข่าวว่าขบวนการแบ่งแยกเกแบ็กหัวรุนแรงวางแผนลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระราชินีนาถ[87][88][89] อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏเหตุการณ์ดังกล่าวตามที่มีรายงานออกมา มีเพียงการก่อจลาจลระหว่างเสด็จฯ เยือนมอนทรีออล; ครั้งนั้น "ความสุขุมและความกล้าเผชิญหน้ากับความรุนแรง" ของพระองค์ยังคงเป็นที่จดจำ[90]

ในช่วงที่ทรงพระครรภ์เจ้าชายแอนดรูว์และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดในปี ค.ศ. 1959 และ ค.ศ. 1963 เป็นช่วงที่ยังมิได้เสด็จฯ ไปเปิดประชุมรัฐสภาสหราชอาณาจักรด้วยพระองค์เป็นครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์[91] นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มระเบียบประเพณีใหม่ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินพบปะกับประชาชนที่มาเฝ้ารอเสด็จฯ อย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรกในช่วงของการเสด็จฯ เยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ค.ศ. 1970[92]

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 เป็นช่วงที่สหราชอาณาจักรมอบเอกราชให้แก่ประเทศแถบทวีปแอฟริกาและแถบทะเลแคริบเบียน มากกว่า 20 ประเทศได้รับเอกราชอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองตนเอง อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1965 นายกรัฐมนตรีแห่งโรดีเซีย เอียน สมิธ ต่อต้านการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักรฝ่ายเดียวในขณะที่ยังคงแสดง "ความจงรักภักดีและความอุทิศตน" ต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แม้ว่าพระองค์จะทรงเพิกเฉยต่อคำประกาศนี้ในทางสาธารณะก็ตาม ซึ่งปฏิกิริยาจากประชาคมระดับนานาชาติก็คือการคว่ำบาตรต่อโรดีเซีย แม้กระนั้นการบริหารประเทศของเอียน สมิธ ก็ยังสามารถอยู่รอดมาได้เกือบทศวรรษ[93]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เอ็ดวาร์ด ฮีธ ทูลเกล้าให้ทรงยุบสภาและจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในออสเตรเลีย ทำให้ทรงต้องเสด็จฯ กลับสหราชอาณาจักร[94] ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าไม่มีพรรคใดได้เสียงมากพอจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ พรรคอนุรักษนิยมของฮีธไม่ได้รับเลือกให้มีเสียงมากที่สุดในสภา แต่ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคเสรีประชาธิปไตยได้ ซึ่งฮีธเลือกที่จะลาออกหลังจากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ สมเด็จพระราชินีนาถจึงทรงมีกระแสรับสั่งให้พรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา พรรคแรงงานของนายเฮโรลด์ วิลสัน จัดตั้งรัฐบาล[95]

ในปีถัดมาในช่วงตึงเครียดที่สุดของวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 กอฟ วิทแลม นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ถูกผู้สำเร็จราชการ เซอร์ จอห์น เคอร์ ปลดออกจากตำแหน่ง หลังจากที่วุฒิสภาออสเตรเลียซึ่งฝ่ายค้านมีเสียงส่วนใหญ่ไม่ผ่านร่างงบประมาณที่เสนอโดยวิทแลม[96] และเนื่องจากวิทแลมมีเสียงส่วนมากในสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลีย โฆษกประจำสภาผู้แทนราษฎร กอร์ดอน สโคลส์ จึงทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้ทรงเพิกถอนคำสั่งปลดของเซอร์ จอห์น เคอร์ แต่สมเด็จพระราชินีนาถทรงปฏิเสธฎีกาดังกล่าว โดยตรัสว่าจะมิทรงเข้าแทรกแซงอำนาจการตัดสินใจของผู้สำเร็จราชการแห่งออสเตรเลียซึ่งรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งออสเตรเลีย[97] วิกฤตการณ์ในครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นการเติมเชื้อไฟให้แก่แนวคิดสาธารณรัฐนิยมในออสเตรเลีย[96]

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขณะทรงเต้นรำกับประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำเนื่องในวโรกาสเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา ณ ทำเนียบขาว 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1976

ราชาภิเษก[แก้]

ในปี ค.ศ. 1977 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปีในพระราชพิธีรัชดาภิเษก การเฉลิมฉลองและงานรื่นเริงต่าง ๆ จัดขึ้นทั่วทุกหนแห่งในประเทศเครือจักรภพ และหลายแห่งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมงาน การเฉลิมฉลองเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความนิยมในตัวพระองค์ของเหล่าพสกนิกร แม้ว่าจะมีการนำเสนอข่าวด้านลบเกี่ยวกับชีวิตคู่ที่ล้มเหลวของเจ้าหญิงมาร์กาเรตกับพระสวามีออกมาประจวบเหมาะกับช่วงเวลาดังกล่าว[98] ในปี ค.ศ. 1978 ทรงต้องฝืนพระองค์ให้การต้อนรับการเดินทางมาเยือนสหราชอาณาจักรของผู้นำเผด็จการคอมมิวนิสต์แห่งโรมาเนีย นีกอลาเอ ชาวูเชสกู พร้อมด้วยภริยา เอเลนา ชาวูเชสกู[99] ซึ่งในพระทัยก็ทรงมองว่าทั้งสองเป็นพวก "มือเปื้อนเลือด"[100] ในปีถัดมามีเหตุการณ์สองเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์: เหตุการณ์แรกคือการเปิดโปง แอนโทนี บลันท์ อดีตผู้กลั่นกรองพระบรมฉายาลักษณ์ส่วนพระองค์ ว่าเป็นสายลับคอมมิวนิสต์ อีกเหตุการณ์ก็คือการลอบสังหารหลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน เอิร์ลเมานต์แบ็ตเทนที่ 1 แห่งพม่า โดยกองกำลังติดอาวุธไออาร์เอ (Provisional Irish Republican Army; IRA)[101]

ตามคำกล่าวอ้างของพอล มาร์ติน ซีเนียร์. ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 พระราชินีนาถทรงกังวลว่าสถาบันกษัตริย์ "มีความหมายเพียงน้อยนิด" สำหรับนายกรัฐมนตรีแคนาดา ปีแยร์ ตรูโด[102] โทนี เบนน์ กล่าวว่าในสายพระเนตรของพระองค์ ปีแยร์ ตรูโด "ค่อนข้างน่าผิดหวัง"[102] ซึ่งแนวคิดสาธารณรัฐนิยมของปีแยร์เป็นที่แน่ชัดขึ้นจากท่าทีแสดงการล้อเลียนของเขา เช่น การลื่นไถลตัวเขาเองไปตามราวบันใดในพระราชวังบักกิงแฮม และการเต้นบัลเลต์ท่าหมุนรอบตัวเองอยู่ด้านหลังของพระราชินีนาถในปี ค.ศ. 1977 รวมไปถึงการที่เขาถอดถอนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แคนาดาหลายประการตลอดช่วงที่ดำรงตำแหน่ง[102] ในปี ค.ศ. 1980 นักการเมืองแคนาดาหลายคนได้รับการส่งไปกรุงลอนดอนในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งแคนาดา พวกเขาพบว่าพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรง "มีความรู้ความเข้าใจ ... มากกว่านักการเมืองหรือข้าราชการชาวอังกฤษเป็นไหน ๆ "[102] ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยกับการแก้ไขครั้งนี้โดยเฉพาะหลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติซี-60 (Bill C-60) ไม่ผ่านรัฐสภา ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอาจมีผลต่อพระราชสถานะประมุขแห่งรัฐของพระองค์[102] การแก้ไขดังกล่าวเพิกถอนบทบาทของรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรที่มีต่อรัฐธรรมนูญแห่งแคนาดาแต่ยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ปีแยร์กล่าวว่าในความทรงจำของเขาพระราชินีนาถทรงเห็นชอบกับความพยายามของเขาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเขาประทับใจใน "พระจริยวัตรอันสง่างามที่ทรงแสดงต่อสาธารณชน" และ "พระอัจฉริยะภาพอันปราดเปรื่องที่ทรงแสดงเป็นการส่วนพระองค์"[103]

คริสต์ทศวรรษ 1980[แก้]

Elizabeth in red uniform on a black horse
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขณะทรงม้าชื่อ เบอร์มีส ในพิธีสวนสนามเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ในช่วงของพิธีสวนสนามเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ค.ศ. 1981 ซึ่งเป็นเวลาเพียงหกสัปดาห์ก่อนพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายแห่งเวลส์กับเลดีไดอานา สเปนเซอร์ มีเสียงปืนดังขึ้นหกนัด โดยปืนเล็งไปที่สมเด็จพระราชินีนาถในระยะประชิดขณะทรงม้าไปตามถนนเดอะมอลล์บนม้าทรงชื่อเบอร์มีส ภายหลังตำรวจสืบทราบว่าปืนกระบอกดังกล่าวบรรจุกระสุนเปล่า ผู้ก่อเกตุเป็นเด็กชายอายุ 17 ปีนามว่า มาร์คัส ซาร์เจนต์ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกห้าปีและได้รับการปล่อยตัวหลังเวลาผ่านไปสามปี[104] นอกจากนี้ความสงบและทักษะด้านการควบคุมม้าทรงของพระองค์ในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่กล่าวสรรเสริญไปทั่ว[105] ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกันยายน พ.ศ. 2525 ทรงกระวนกระวายพระราชหฤทัย[106] แต่ก็ทรงภูมิใจ[107] ที่พระราชโอรส เจ้าชายแอนดรูว์ทรงรับใช้ชาติในกองทัพอังกฤษในช่วงสงครามฟอล์กแลนด์ ในวันที่ 9 กรกฎาคม ทรงตื่นจากพระบรรทมในพระราชวังบักกิงแฮมและพบว่าไมเคิล เฟแกน บุกรุกเข้ามาในห้องพระบรรทม ทรงมีท่าทีสงบและทรงโทรเรียกตำรวจพระราชวังผ่านทางแผงไฟถึงสองครั้ง ทรงพูดคุยกับไมเคิลผู้ซึ่งนั่งอยู่ปลายแท่นพระบรรทมอยู่นานเจ็ดนาทีก่อนที่ความช่วยเหลือจะมาถึง[108] แม้ว่าจะทรงให้การต้อนรับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ณ พระราชวังวินด์เซอร์ในปี ค.ศ. 1982 และเคยเสด็จฯ ไปเยือนบ้านพักส่วนตัวของประธานาธิบดีในแคลิฟอร์เนียในปี ค.ศ. 1983 แต่ก็ทรงกริ้วอย่างมากเมื่อคณะทำงานของประธานาธิบดีเรแกนมีคำสั่งบุกกรีเนดาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพโดยไม่ได้มีการแจ้งให้พระองค์ทราบ[109]

ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เกิดความสนใจอย่างแรงกล้าของสื่อมวลชนในพระราชอัธยาศัยและพระราชกิจวัตรประจำวันของพระบรมวงศานุวงศ์ นำไปสู่การเผยแพร่เรื่องราวเหลือเชื่อมากมาย ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ถูกต้องอย่างครบถ้วนสมบูรณ์[110] เช่นที่เคลวิน แมคเคนซี บรรณาธิการประจำหนังสือพิมพ์ เดอะซัน กล่าวกับลูกน้องของเขาว่า "เอาข่าวสาดโคลนเกี่ยวกับราชวงศ์สำหรับตีพิมพ์วันจันทร์มาให้ฉันทีสิ ไม่ต้องห่วงถ้าข่าวนั้นจะไม่เป็นความจริง ตราบใดที่ช่วงหลังมานี้ยังคงไม่มีข่าวซุบซิบราชวงศ์ออกมา"[111] ด้านบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โดนัลด์ เทรลฟอร์ดเขียนในหนังสือพิมพ์ ดิออบเซิร์ฟเวอร์ ฉบับวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1986 ว่า "ละครน้ำเน่าเกี่ยวกับพระราชวงศ์บัดนี้ได้มาถึงจุดที่เส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริงกับนิยายถูกเลือนหาย ... ไม่ใช่เพียงแค่บางหนังสือพิมพ์ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือรับฟังข้อโต้แย้ง แต่พวกเขายังไม่สนใจว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นความจริงหรือไม่อีกด้วย" ในหนังสือพิมพ์ เดอะซันเดย์ไทมส์ ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1986 มีรายงานข่าวอันโด่งดังว่าพระราชินีนาถกังวลพระราชหฤทัยในนโยบายด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมตรีหญิง มาร์กาเรต แทตเชอร์ ว่าจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้หลายอย่างเช่น อัตราการว่างงานที่สูง การก่อจลาจลหลายระลอก ความรุนแรงจากกลุ่มคนงานเหมืองที่ประท้วงนัดหยุดงาน รวมไปถึงการที่มาร์กาเรตปฏิเสธการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลถือผิวในประเทศแอฟริกาใต้ โดยข่าวลือนี้มีที่มาจากเสนาธิการประจำราชสำนัก ไมเคิล ชีอา และผู้สำเร็จราชการประจำเครือจักรภพ ไชร์ดาท แรมพัล แต่ไมเคิลอ้างว่าคำกล่าวของเขาผิดเพี้ยนไปจากบริบทและถูกเสริมแต่งจากการคาดการณ์ส่วนตัว[112] ต่อมาคำกล่าวของมาร์กาเรตก็เป็นที่โจทก์ขานกันไปทั่วเมื่อเธอกล่าวว่า "สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่งของเธอ[113] นักชีวประวัติของมาร์กาเรต แทตเชอร์ จอห์น แคมป์เบล อ้างว่า "รายงานชิ้นดังกล่าวเป็นเพียงการสร้างความเสื่อมเสียจากการสื่อสารมวลชน"[114] ซึ่งเกิดจากการที่สื่อรายงานผิดเพี้ยนจากความจริงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในภายหลังมาร์กาเรต แทตเชอร์จึงแสดงความชื่นชมของเธอที่มีต่อพระราชินีนาถออกมา[115] และหลังจากที่มาร์กาเรต แทตเชอร์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยมีจอห์น เมเจอร์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมริตและเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์แด่มาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็นของขวัญพระราชทาน[116] นอกจากนี้อดีตนายกรัฐมนตรีแคนาดา ไบรอัน มัลรอนีย์ กล่าวว่าพระองค์เป็น "พลังขับเคลื่อนเบื่องหลัง" ในการยุติการถือผิวในประเทศแอฟริกาใต้[117][118]

ในปี ค.ศ. 1987 ในแคนาดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัสว่าทรงสนับสนุนข้อตกลงมีชเลค (Meech Lake Accord) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สร้างความแตกแยกทางการเมือง เป็นข้อตกลงที่โน้มน้าวให้รัฐเกแบ็กยอมรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1982 และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของแคนาดาต่อไป ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีปีแยร์ ตรูโด[117] ในปีเดียวกันนั้นเองที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของฟีจีถูกรัฐประหารโดยกองทัพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ฟีจี ให้การสนับสนุนผู้สำเร็จราชการแห่งฟีจี เพเนเอีย กานิเลา ในการพยายามเจรจาประนีประนอมและยันยันถึงสิทธิ์อันชอบธรรมของรัฐบาล แต่ผู้นำการปฏิวัติ ซิติเวนี ราบูกา กลับเนรเทศผู้สำเร็จราชการและประกาศให้ฟีจีเป็นสาธารณรัฐ[119] ต่อมาในช่วงต้นของปี ค.ศ. 1991 แนวคิดสาธารณรัฐนิยมในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจากรายงานตัวเลขคาดการณ์พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถซึ่งถูกโต้แย้งโดยสำนักพระราชวัง รวมไปถึงข่าวชีวิตคู่ที่ล้มเหลวของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์[120] นอกจากนี้ความเกี่ยวข้องกับเกมโชว์การกุศล อิตส์รอยัลน็อคเอาต์ ของราชนิกุลรุ่นเยาว์ได้รับการเย้ยหยัน[121] และสมเด็จพระราชินีนาถก็ทรงตกเป็นเป้าของการเสียดสีล้อเลียน[122]

คริสต์ศตวรรษ 1990[แก้]

ในปี ค.ศ. 1991 ช่วงที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะในสงครามอ่าวเปอร์เซีย สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอีกครั้งและเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์แรกที่ได้มีพระราชดำรัสแก่ที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา[123]

Elizabeth, in formal dress, holds a pair of spectacles to her mouth in a thoughtful pose
เจ้าชายฟิลิปและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1992

ในพระราชดำรัสวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1992 เนื่องในวโรกาสครองราชสมบัติครบ 40 ปี ทรงกล่าวว่าปี ค.ศ. 1992 เป็น แอนนัสฮอริบิลิส (ละติน: annus horribilis; ปีแห่งความเลวร้าย) ของพระองค์เนื่องจากมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นมากมาย ดังนี้:[124] ในเดือนมีนาคม พระราชโอรสองค์ที่สอง เจ้าชายแอนดรูว์ทรงหย่าร้างกับซาราห์ ดัชเชสแห่งยอร์ก ต่อมาในเดือนเมษายน เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี ก็ทรงหย่าร้างกับพระสวามี มาร์ก ฟิลลิปส์;[125] ในช่วงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเยอรมนีในเดือนตุลาคม กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงผู้โกรธแค้นในเดรสเดินปาไข่ไก่ใส่พระองค์ สาเหตุมาจากปมการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในเดรสเดินช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปราว 25,000 คน;[126] ในเดือนพฤศจิกายน พระราชวังวินด์เซอร์ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุอัคคีภัย ด้านสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้รับเสียงวิพากษวิจารณ์และการจับจ้องจากสาธารณชนมากขึ้น[127] ในพระราชดำรัสส่วนพระองค์ซึ่งค่อนข้างจากผิดแปลกไปจากปกติ ทรงกล่าวว่าทุก ๆ สถาบันล้วนแล้วแต่ต้องได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เว้นแม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ควรกระทำขึ้นบนพื้นฐานของ "อารมณ์ขัน, ความนุ่มนวล และความเข้าอกเข้าใจ"[128] สองวันถัดมา นายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ ประกาศแผนปฏิรูปการเงินของพระราชวงศ์ซึ่งตระเตรียมไว้ตั้งแต่ปีก่อนหน้า ในแผนดังกล่าวประกอบด้วยการปฏิรูปต่าง ๆ เช่น การที่สมเด็จพระราชินีนาถจะต้องทรงชำระภาษีเงินได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 เป็นต้นไป และการตัดลดงบประมาณรายจ่ายสำหรับพระมหากษัตริย์ (Civil list)[129] ในเดือนธันวาคม เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงแยกกันอย่างเป็นทางการ[130] ในช่วงวันท้าย ๆ ของปี 1992 สมเด็จพระราชินีนาถทรงฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ เดอะซัน ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตีพิมพ์ร่างกระแสพระราชดำรัสเนื่องในวันคริสต์มาสสองวันก่อนการออกอากาศทางโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ ศาลตัดสินให้หนังสือพิมพ์จ่ายเงินชดเชยแก่พระองค์ตามกฎหมายและบริจาคเงินให้การกุศลกว่า 200,000 ปอนด์[131]

ในปีถัดมาการเปิดเผยเรื่องราวของเจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาต่อสาธารณชนยังคงดำเนินต่อไป[132] ด้านการเมืองแม้ว่ากระแสสาธารณรัฐนิยมจะมีมากกว่าช่วงใด ๆ ในความทรงจำของพระองค์ แต่ประชาชนที่มีแนวคิดเช่นนี้ก็ยังคงเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยของสังคม อีกทั้งการยอมรับสมเด็จพระราชินีนาถของสังคมก็ยังคงมีอยู่สูง[133] การวิพากษ์วิจารณ์เปลี่ยนจากการจับจ้องแต่เพียงพระราชจริยวัตรและพระราชอัธยาศัยของพระราชินีนาถมาเป็นการจับจ้องสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในภาพรวม[134] ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1995 หลังจากทรงปรึกษากับนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์, อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี จอร์จ เครีย์, ราชเลขาธิการส่วนพระองค์ โรเบิร์ต เฟลโลว์ส และเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามี จึงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าชายชาลส์และเจ้าหญิงไดอานาว่าโปรดจะให้มีการหย่าร้างอย่างเป็นทางการ[135] หนึ่งปีหลังจากการหย่าร้างซึ่งมีขึ้นในปี ค.ศ. 1996 ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในกรุงปารีส 31 สิงหาคม ค.ศ. 1997 ซึ่งพระราชินีนาถทรงอยู่ระหว่างการพักร้อนที่ปราสาทบาลมอรัลกับพระราชโอรสและพระราชนัดดา ในขณะนั้นพระโอรสทั้งสองของเจ้าหญิงไดอานาโปรดที่จะเสด็จไปยังโบสถ์ ดังนั้นพระราชินีนาถและเจ้าชายฟิลิปจึงนำเสด็จฯ ไปยังโบสถ์ในตอนเช้า[136] หลังจากการปรากฏพระองค์ในครั้งนั้น ห้าวันต่อมาพระราชินีนาถและเจ้าชายฟิลิปก็ทรงปิดกั้นพระนัดดาทั้งสองจากสื่อที่ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์นี้อย่างล้นหลาม โดยประทับ ณ ปราสาทบาลมอรัลที่ซึ่งจะได้ใช้เวลาแห่งความโศกเศร้าเป็นการส่วนพระองค์[137] แต่การปิดกั้นตัวเองจากสาธารณชนของพระบรมวงศานุวงศ์และการที่พระราชวังบักกิงแฮมไม่ได้ลดธงลงครึ่งเสาสร้างความไม่พอใจแก่สาธารณชนเป็นอย่างมาก[118][138] ต่อมาหลังจากที่ทรงรับทราบกระแสความไม่พอใจ พระราชินีนาถจึงเสด็จฯ กลับลอนดอนและมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนซึ่งแพร่ภาพสดไปทั่วโลกในวันที่ 5 กันยายน หนึ่งวันก่อนพระราชพิธีพระศพของเจ้าหญิงไดอานาจะมีขึ้น[139] ในกระแสพระราชดำรัสทรงกล่าวชื่นชมเจ้าหญิงไดอานาและความรู้สึกในฐานะ "พระอัยยิกา" ของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี[140] เป็นผลให้กระแสความไม่พอใจของสาธารณชนที่มีต่อพระบรมวงศานุวงศ์คลี่คลายลง[140]

กาญจนาภิเษก[แก้]

In evening wear, Elizabeth and President Bush hold wine glasses of water and smile
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบขาว 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2007
Street scene of Elizabeth and spectators
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฉลองพระองค์สีชมพูขณะทรงพระดำเนินทักทายประชาชน ณ ควีนส์ปาร์ค โทรอนโต 6 กรกฎาคม ค.ศ. 2010

ปี ค.ศ. 2002 ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เจ้าหญิงมาร์กาเรต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน พระขนิษฐา สิ้นพระชนม์ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามมาด้วยการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ในเดือนมีนาคม ทำให้สื่อตั้งคำถามว่าพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในปีนี้จะประสบกับความสำเร็จหรือความล้มเหลว[141] และเป็นอีกครั้งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเครือจักรภพ โดยเริ่มต้นขึ้นที่จาเมกาในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ซึ่งตรัสเรียกการเสด็จฯ ครั้งนั้นว่า "เป็นที่จดจำ" หลังจากที่เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องจนมืดสนิทไปทั่วบริเวณงานเลี้ยงส่งเสด็จฯ ณ พระตำหนักคิงส์เฮาส์ ซึ่งเป็นที่พำนักอย่างเป็นทางการของผู้สำเร็จราชการแห่งจาเมกา[142] ในงานเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติครบ 50 ปีในครั้งนี้ มีการเฉลิมฉลองและงานเลี้ยงสังสรรค์บนท้องถนนมากมายเช่นเดียวกับครั้งที่เฉลิมฉลองพระราชพิธีรัชดาภิเษกในปี ค.ศ. 1977 มีอนุสาวรีย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกการเฉลิมฉลองในครั้งนี้มากมาย และประชาชนกว่าล้านคนออกมาเฉลิมฉลองในงานเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการสามวันของกรุงลอนดอน[143] ซึ่งความสนใจของประชาชนต่อพระราชินีนาถและพระราชพิธีนี้มีมากกว่าที่สื่อส่วนมากคาดการณ์ไว้[144]

แม้ว่าจะมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงมาตลอดช่วงพระชนม์ชีพ แต่ในปี ค.ศ. 2003 ทรงเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้องบริเวณพระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้าง ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 ก็มิได้เสด็จฯ ไปในงานเปิดสนามเอมิเรตส์สเตเดียมด้วยเพราะทรงมีอาการกล้ามพระปฤษฎางค์ (กล้ามเนื้อหลัง) รัดแน่น ซึ่งทรงมีอาการดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน[145] สองเดือนต่อมา เสด็จฯ ออกปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนโดยมีแถบปิดแผลที่บริเวณพระหัตถ์ขวา ทำให้สื่อคาดการณ์กันถึงพระพลานามัยที่เสื่อมลง[146] ต่อมาก็ทรงถูกกัดโดยหนึ่งในสุนัขพันธุ์คอร์กีที่ทรงเลี้ยงไว้เพราะทรงพยายามแยกสุนัขทรงเลี้ยงทั้งสองขณะกำลังกัดกันออกจากกัน[147]

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2007 หนังสือพิมพ์ เดอะเดลีย์เทเลกราฟ รายงานอ้างจากแหล่งข่าวผู้ประสงค์จะไม่ออกนามว่าพระราชินีนาถทรง "ขุ่นเคืองและผิดหวัง" จากนโยบายของนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ และกังวลพระทัยจากการที่กองทัพสหราชอาณาจักรเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งในอิรักและอัฟกานิสถานมากเกินไป อีกทั้งยังกังวลพระทัยจากประเด็นปัญหาในแถบชนบทและทุรกันดารกับโทนี แบลร์ ซ้ำไปซ้ำมา[148] อย่างไรก็ตาม ทรงชื่นชมโทนี แบลร์ ในความพยายามแสวงหาสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือของเขา[149] ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2008 ณ มหาวิหารเซนต์แทริค อาร์มาจ์ ของคริสจักรแห่งไอร์แลนด์ ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ (Royal Maundy) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นนอกอังกฤษและเวลส์[150] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 เสด็จพระราชดำเนินเยือนไอร์แลนด์ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีแมรี แมคอาลีส์ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์เป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร[151]

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระราชดำรัส ณ ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติเป็นครั้งที่สองในปี ค.ศ. 2010 ในฐานะที่เป็นพระประมุขแห่งประเทศเครือจักรภพ[152] เลขาธิการสหประชาชาติ พัน กีมุน กล่าวสดุดีพระองค์ว่าเป็น "เสาหลักสำหรับยุคของเรา"[153] ในระหว่างการเสด็จฯ เยือนนครนิวยอร์กซึ่งตามมาด้วยการเสด็จฯ เยือนแคนาดา เสด็จฯ ไปทรงเปิดสวนอนุสรณ์ระลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตชาวอังกฤษจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน[153] ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรเลียในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นครั้งที่ 16 นับตั้งแต่ ค.ศ. 1954 และได้รับการขนานนามจากสื่อว่าเป็น "การเสด็จฯ เยือนอำลา" เนื่องจากพระองค์มีพระพรรษามากแล้ว[154]

พัชราภิเษก[แก้]

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯไปยัง พระราชวังบักกิงแฮม เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทัวร์พระราชพิธีพัชราภิเษกของพระองค์

ในปี ค.ศ. 2012 เป็นปีที่ทรงเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (พระราชพิธีพัชราภิเษกแบบอังกฤษ) ซึ่งจัดขึ้นในทุกประเทศเครือจักรภพ ในกระแสพระราชดำรัสที่เผยแพร่ในวันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงกล่าวว่า: "ในปีแห่งความพิเศษนี้ ขณะที่ข้าพเจ้าอุทิศตัวเองรับใช้พวกท่านทั้งหลายอีกครั้ง ข้าพเจ้าหวังว่าพวกเราทุกคนจะยังคงระลึกถึงพลานุภาพของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และการรวบรวมพละกำลังของครอบครัว, มิตรภาพ และความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ... ข้าพเจ้าหวังว่าในปีพัชราภิเษกนี้จะเป็นปีสำหรับการมอบคำขอบคุณสำหรับความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1952 และมองไปยังอนาคตด้วยหัวสมองอันปลอดโปร่งและหัวใจอันอบอุ่น"[155] พระองค์และพระราชสวามิได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนไปทั่วสหราชอาณาจักร ในขณะที่พระราชโอรส-ธิดาและพระราชนัดดาหลายพระองค์ เสด็จเยือนประเทศในเครือจักรภพอื่น ๆ ในพระนามของสมเด็จพระราชินีนาถ[156][157][158] ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน ดวงประทีปแห่งการเฉลิมฉลองก็จุดขึ้นทั่วโลก[159]

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จฯไปยังกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี ค.ศ. 2015

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ในวันที่ 27 กรกฎาคม และพาราลิมปิกฤดูร้อน 2012 ในวันที่ 29 สิงหาคม ที่จัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังทรงร่วมแสดงคู่กับแดเนียล เคร็ก ผู้รับบทเป็นสายลับเจมส์ บอนด์ ในภาพยนตร์สั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2012[160] ด้านพระราชบิดา สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงเคยเปิดการแข่งกันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1948 ส่วนพระปัยกา (ปู่ทวด) สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ก็ทรงเคยเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1908 ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเคยเสด็จฯ ไปทรงเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1976 ที่นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดามาแล้วครั้งหนึ่ง ด้านพระราชสวามี เจ้าชายฟิลิป ก็เคยเสด็จฯ ไปทรงเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1956 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียด้วยเช่นกัน[161] ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นพระประมุขแห่งรัฐพระองค์แรกที่ได้ทรงเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2 ครั้งใน 2 ประเทศ[162]

ในวันที่ 18 ธันวาคม เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมการประชุมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรพระองค์แรกที่เสด็จฯ ไปร่วมการประชุมของคณะรัฐมนตรีในสภาวะไร้สงครามนับตั้งแต่การเสด็จฯ ของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ในปี ค.ศ. 1781 ต่อมาไม่นานรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร วิลเลียม เฮก ก็ประกาศให้ดินแดนตอนใต้ของดินแดนแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักรที่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อเป็น เอลิซาเบธแลนด์ เพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระราชินีนาถ[163]

ในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2013 เสด็จฯ ไปประทับในโรงพยาบาลเพื่อการเฝ้าประเมินอย่างใกล้ชิด หลังจากการกำเริบของพระอาการประชวรด้วยโรคกระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบ ก่อนที่จะเสด็จฯ กลับไปประทับ ณ พระราชวังบักกิงแฮมในวันถัดมา[164] หนึ่งสัปดาห์ต่อมาทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎบัตรใหม่ของเครือจักรภพ[165] เนื่องจากพระชนมพรรษาที่มากขึ้นทำให้ต้องจำกัดการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในปีนั้นเอง พระองค์ตัดสินพระทัยที่จะไม่เสด็จฯร่วมการประชุมรัฐบาลของเครือจักรภพเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี โดยทรงโปรดเกล้าฯให้ เจ้าชายชาลส์ เสด็จฯแทนพระองค์ในการประชุมที่ศรีลังกา[166]

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ยาวนานแซงหน้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผู้เป็นพระมารดาของพระปัยกา (ทวด) ของพระองค์ เป็นพระราชวงศ์อังกฤษที่มีพระชนมายุมากที่สุด เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 เป็นพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2015[167] พระองค์ได้รับการเฉลิมฉลองที่แคนาดาในฐานะ "ประมุขที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในยุคสมัยใหม่ของแคนาดา" [168] (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เป็นพระประมุขของแคนาดายาวนานกว่าสมัยที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส)[169] พระองค์ยังเป็นพระราชินีนาถที่ทรงราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์[170] และพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงราชย์ยาวนานที่สุดในโลก หลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016)[171][172] วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร พระองค์แรกที่มีการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 65 ปี[173]

พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติ[174] แม้ว่าสัดส่วนของพระราชกรณียกิจสาธารณะของเจ้าชายชาลส์ ผู้ทรงฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 91 พรรษาและปฏิบัติพระราชกรณียกิจสาธารณะแทนพระองค์เพิ่มขึ้น[175] ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถลดพระราชกรณียกิจสาธารณะของพระองค์ลง[176] แผนสำหรับวันสวรรคตและงานพระศพของพระองค์ได้รับการเตรียมพร้อมอย่างแพร่หลายจากรัฐบาลอังกฤษและองค์กรสื่อ[177]

สวรรคต[แก้]

ในวันที่ 8 กันยายน 2022 สำนักพระราชวังประกาศว่าสมเด็จพระราชินีนาถประชวรและอยู่ภายใต้การเข้าเฝ้ารักษาพระวรกายอย่างใกล้ชิดที่บาลมอรัล โดยในประกาศระบุว่า "คณะแพทย์มีความกังวลต่อพระพลานามัยของพระองค์เป็นอย่างมาก และได้แนะนำให้สมเด็จพระราชินีนาถอยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามพระองค์ยังทรงพระเกษมสำราญ และประทับที่ปราสาทแบลมอรัล"[178][179] โดยมีพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสี่ของพระองค์ พร้อมด้วยพระสุณิสา เสด็จไปพร้อมกับพระองค์[180][181] ในช่วงเย็นวันเดียวกัน สำนักพระราชวังได้ประกาศว่าพระองค์เสด็จสวรรคต[2] ปฏิบัติการสะพานลอนดอน เริ่มทันทีหลังพระองค์สวรรคต

การไว้อาลัยที่ สถานีรถไฟใต้ดินอ็อกฟอร์ดเซอร์คัส

การสวรรคตของพระองค์นั้นถูกระบุในใบมรณบัตรด้วยสาเหตุ "ชราภาพ" ซึ่งเป็นพระโรคเดียวกับเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีของพระองค์[182][183]

มุมมองจากสาธารณชน[แก้]

เนื่องจากพระองค์พระราชทานสัมภาษณ์น้อยครั้งทำให้สาธารณชนทราบถึงพระราชอัธยาสัยส่วนพระองค์ได้น้อยมาก และในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถแสดงทัศนะทางการเมืองส่วนพระองค์ในที่สาธารณะได้ ทรงมีพันธกิจด้านศาสนาและสังคมที่หยั่งรากลึกในพระราชหฤทัย อีกทั้งยังทรงกล่าวพระราชดำรัสสาบานพระองค์ในวันขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติอย่างจริงจัง[184] นอกเหนือจากการที่เป็นประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษอย่างเป็นทางการแล้ว พระองค์ยังทรงเลื่อมใสในคริสตจักรแห่งอังกฤษและคริสตจักรแห่งสกอตแลนด์เป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย[185] และยังทรงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ทรงมีต่อศาสนาอื่น ๆ ด้วยการพบปะกับผู้นำนิกายและศาสนาต่าง ๆ เช่น การที่ทรงพบปะกับพระสันตะปาปาผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิกถึงสี่พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23, สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2, สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ความศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาของพระองค์ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในพระราชดำรัสผ่านทางโทรทัศน์เนื่องในวันคริสต์มาสต์ซึ่งถ่ายทอดไปยังประเทศเครือจักรภพเป็นประจำทุกปี เช่นในปี 2000 ที่มีพระราชดำรัสถึงความสำคัญของคริสต์สหัสวรรษที่ 2 อันเป็นปีที่การประสูติของพระเยซูครบรอบ 2000 ปี ดังนี้

สำหรับพวกเราหลายคน ความเชื่อเป็นหนึ่งในความสำคัญขั้นพื้นฐาน สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การสั่งสอนของพระเยซูคริสต์และความรับผิดชอบส่วนตัวของข้าพเจ้าที่มีต่อพระเจ้า ได้นำมาซึ่งแนวทางที่ข้าพเจ้าพยายามจะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ข้าพเจ้า เฉกเช่นเดียวกับพวกท่านทั้งหลาย ได้รับความสุขสบายในช่วงเวลาที่ยากลำบากจากคำสั่งสอนและตัวอย่างของพระเยซูคริสต์[186]

Elizabeth and Ronald Reagan on black horses. He bare-headed; she in a headscarf; both in tweeds, jodhpurs and riding boots.
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขณะทรงม้าพร้อมกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ณ วินด์เซอร์ ค.ศ. 1982

พระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์องค์กรและมูลนิธิต่าง ๆ มากกว่า 600 แห่ง[187] ส่วนการพักผ่อนที่ทรงสนพระราชหฤทัยโดยหลัก ๆ ได้แก่ การขี่ม้าและสุนัขทรงเลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์เพ็มโบรคเวลช์คอร์กี[188] ความสนพระราชหฤทัยในสุนัขพันธุ์คอร์กีนี้เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1933 กับสุนัขทรงเลี้ยงที่ชื่อ "ดูกี" ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์คอร์กีตัวแรกที่พระราชวงศ์ของพระองค์ทรงเลี้ยงไว้[189][190] นอกจากนี้ ภาพพระราชอิริยาบถส่วนพระองค์ยามพักผ่อนและชีวิตประจำวันส่วนพระองค์ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นครั้งคราว เช่น การที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ ทรงตระเตรียมพระกระยาหารด้วยกันและทรงล้างจานด้วยกันหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จสิ้น[191]

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการกล่าวขานราวกับเป็น "ราชินีในเทพนิยาย"[192] ภายหลังความชอกช้ำจากสงครามโลก อังกฤษก็เข้าสู่ยุคแห่งความหวัง เป็นช่วงสมัยของการพัฒนาและความสำเร็จที่ได้รับการขนานนามว่า "สมัยเอลิซาเบธใหม่"[193] ลอร์ดอัลตรินแชมกล่าวหาพระราชดำรัสของพระองค์ในปี ค.ศ. 1957 ว่าฟังเหมือนกับเสียงของ "เด็กนักเรียนหญิงผู้โอ้อวด" ซึ่งเป็นคำวิจารณ์ที่พบได้น้อยครั้งมาก[194] ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960 มีความพยายามมากขึ้นในการสร้างภาพราชวงศ์ยุคใหม่ในสารคดีโทรทัศน์เรื่อง "รอยัลแฟมิลี" ซึ่งอำพรางเจ้าชายชาลส์ด้วยพระนาม "เจ้าชายแห่งเวลส์"[195] พระราชินีนาถเอลิซาเบธทรงฉลองพระองค์ในที่สาธารณะด้วยฉลองพระองค์ที่ส่วนใหญ่เป็นสีเดียวพร้อมด้วยพระมาลา (หมวก) ประดับลูกไม้ ทำให้ประชาชนสามารถสังเกตเห็นพระองค์ได้โดยง่าย[196]

ในพระราชพิธีรัชดาภิเษก ค.ศ. 1977 ฝูงชนและการเฉลิมฉลองนับว่ามีชีวิตชีวาอย่างแท้จริง[197] แต่ถัดมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เสียงวิพากษ์วิจารณ์พระราชวงศ์เพิ่มมากขึ้นจากการที่ชีวิตส่วนพระองค์และชีวิตการทรงงานของบรรดาพระราชโอรส-พระราชธิดาอยู่ภายใต้การพินิจพิเคราะห์ของสื่อ[198] ความนิยมของประชาชนต่อสมเด็จพระราชินีนาถตกต่ำถึงขีดสุดในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 และด้วยแรงกดดันจากความคิดเห็นของสาธารณชน พระองค์จึงทรงเริ่มชำระภาษีเงินได้เป็นครั้งแรก อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่พระราชวังบักกิงแฮมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชม[199] ความไม่พอใจต่อระบอบกษัตริย์ดำเนินมาถึงจุดสูงสุดเมื่อไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์สิ้นพระชนม์ แม้กระนั้นก็ตาม ความนิยมในสมเด็จพระราชินีนาถและแรงสนับสนุนในระบอบกษัตริย์ก็ฟื้นคืนกลับมาหลังพระองค์มีพระราชดำรัสถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วโลกหลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ 5 วัน[200]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1999 มีการลงประชามติในออสเตรเลียว่าด้วยอนาคตของสถาบันพระมหากษัตริย์ออสเตรเลีย ผลที่ออกมาได้บ่งบอกถึงความต้องการที่จะรักษาไว้ซึ่งประมุขของประเทศที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง[201] จากการสำรวจความคิดเห็นในสหราชอาณาจักรในปี 2006 และ 2007 พบว่ายังคงมีแรงสนับสนุนในสมเด็จพระราชินีนาถอยู่มาก[202] ส่วนผลการลงประชามติในตูวาลู ค.ศ. 2008 และการลงประชามติในเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ค.ศ. 2009 ยืนยันถึงความต้องการของทั้งสองประเทศที่ปฏิเสธการเปลี่ยนระบอบการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐ[203]

การเงิน[แก้]

พระตำหนักซานดริงแฮม ที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในซานดริงแฮม, นอร์ฟอร์ก

การติดตามพระราชทรัพย์ส่วพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ดำเนินมาหลายปี นิตยสารฟอบส์ประเมินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในปี ค.ศ. 2010 ว่ามีมูลค่าสุทธิราว 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[204] แต่แถลงการณ์สำนักพระราชวังบักกิงแฮมในปี 1993 กล่าวว่าการประเมินพระราชทรัพย์ไว้ที่ 100 ล้านปอนด์นั้นเป็น "การกล่าวเกินจริงอย่างมากมาย"[205] จ็อค โคลวิลล์ อดีตราชเลขาธิการส่วนพระองค์และอดีตผู้อำนวยการธนาคารส่วนพระองค์ คุตส์ (Coutts) ประเมินทรัพย์สินส่วนพระองค๋ในปี 1971 ไว้ที่ 2 ล้านปอนด์ (เทียบเท่าประมาณ 21 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน)[206][207] องค์สมเด็จพระราชินีนาถไม่ได้ทรงครอบครองงานสะสมศิลปะหลวง (ซึ่งรวมถึงงานศิลปะและเครื่องราชกกุธภัณฑ์) แต่มีการถือครองตามกฎหมายทรัสต์[208] ด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ประทับอย่างพระราชวังบักกิงแฮม, พระราชวังวินด์เซอร์[209] และดัชชีแลงแคสเตอร์ มีมูลค่าในปี 2011 ที่ 383 ล้านปอนด์[210] ส่วนพระตำหนักซานดริงแฮมและปราสาทแบลมอรัลองค์สมเด็จพระราชินีนาถทรงถือครองเป็นการส่วนพระองค์[209] พระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร (The British Crown Estate) ซึ่งมีมูลค่าในปี 2011 รวมกันทั้งสิ้น 7.3 พันล้านปอนด์[211] ได้รับการถือครองไว้ในกฎหมายทรัสต์ไว้เป็นสมบัติของชาติ สมเด็จพระราชินีนาถทรงไม่สามารถจำหน่ายพระราชทรัพย์เหล่านี้ได้เป็นการส่วนพระองค์[212]

พระบรมราชอิสริยยศและตราอาร์ม[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
ตราประจำพระอิสริยยศ
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
ธงประจำพระองค์
การทูลHer Majesty (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท)
การขานรับYour Majesty (พระเจ้าข้า/เพคะ)

พระบรมราชอิสริยยศ[แก้]

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงดำรงพระราชอิสริยยศและตำแหน่งทางการทหารในประเทศเครือจักรภพมากมาย เป็นผู้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในประเทศของพระองค์ ทรงได้รับการถวายพระเกียรติและรางวัลมากมายจากทั่วโลก และมีพระราชอิสริยยศเป็นการเฉพาะในแต่ละประเทศ เช่น สมเด็จพระราชินีนาถแห่งจาเมกา, สมเด็จพระราชินีนาถแห่งออสเตรเลีย ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงดำรงตำแหน่งอื่น ๆ เช่น อัครศาสนูปถัมภก เมื่อพระราชินีนาถมีพระราชปฏิสันธานกับเรา ควรเริ่มเอ่ยถึงพระองค์ด้วยคำว่า Your Majesty (ฝ่าพระบาท) หลังจากนั้นจึงค่อยใช้คำว่า Ma'am (ท่าน) ในการกล่าวถึงพระองค์[213] ลำดับบรรณดาศักดิ์ที่ทรงได้รับตลอดช่วงพระชนม์ชีพมีดังต่อไปนี้ :

  • 21 เมษายน 1926 – 11 ธันวาคม 1936: เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งยอร์ก (Her Royal Highness Princess Elizabeth of York)
  • 11 ธันวาคม 1936 – 20 พฤศจิกายน 1947: เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (Her Royal Highness The Princess Elizabeth)
  • 20 พฤศจิกายน 1947 – 6 กุมภาพันธ์ 1952: เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งเอดินบะระ (Her Royal Highness The Princess Elizabeth, Duchess of Edinburgh)
  • 6 กุมภาพันธ์ 1952 – 8 กันยายน 2022: เฮอร์มาเจสตี สมเด็จพระราชินีนาถ (Her Majesty The Queen)

ตราอาร์ม[แก้]

ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1945 จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชย์ ตราอาร์มประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรประกอบด้วย ตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักรในรูปทรงข้าวหลามตัดพร้อมด้วยบังเหียนสีเงินสามพู่ พู่กลางเป็นตรากุหลาบทิวดอร์ ส่วนอีกสองพู่เป็นตรากางเขนแห่งเซนต์จอร์จ[214] หลังจากการเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสืบทอดตราอาร์มที่พระราชบิดาทรงถือครองในฐานะพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังทรงครอบครองธงพระอิสริยยศและธงประจำพระองค์เพื่อใช้ในสหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, จาเมกา, บาร์เบโดส และประเทศเครือจักรภพอื่น ๆ [215]

ตราอาร์มประจำพระองค์เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ค.ศ. 1944-1947)
ตราอาร์มประจำพระองค์เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งเอดินบะระ (ค.ศ. 1947-1952)

ตราอาร์มประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในสหราอาณาจักร (ยกเว้นในสกอตแลนด์)
ตราอาร์มประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในสกอตแลนด์

ตราอาร์มประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในแคนาดา (หนึ่งในสามแบบที่ใช้ในรัชกาลของพระองค์) [a]

พงศาวลี[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Her full name can be seen on her marriage certificate, which is signed by both her and her father.
  2. 2.0 2.1 "Queen Elizabeth II has died". BBC News. 8 September 2022. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
  3. Bradford, p. 22; Brandreth, p. 103; Marr, p. 76; Pimlott, pp. 2–3; Lacey, pp. 75–76; Roberts, p. 74
  4. Hoey, p. 40
  5. Brandreth, p. 103
  6. Lacey, p. 56; Nicolson, p. 433; Pimlott, pp. 14–16
  7. Crawford, p. 26; Pimlott, p. 20; Shawcross, p. 21
  8. Brandreth, p. 124; Lacey, pp. 62–63; Pimlott, pp. 24, 69
  9. Brandreth, pp. 108–110; Lacey, pp. 159–161; Pimlott, pp. 20, 163
  10. Brandreth, pp. 108–110
  11. Brandreth, p. 105; Lacey, p. 81; Shawcross, pp. 21–22
  12. Brandreth, pp. 105–106
  13. Pimlott, p. 12
  14. Bond, p. 8; Lacey, p. 76; Pimlott, p. 3
  15. Lacey, pp. 97–98
  16. e.g. Assheton, Ralph (18 December 1936). "Succession to the Throne". The Times: 10.
  17. Marr, pp. 78, 85; Pimlott, pp. 71–73
  18. Brandreth, p. 124; Crawford, p. 85; Lacey, p. 112; Marr, p. 88; Pimlott, p. 51; Shawcross, p. 25
  19. 19.0 19.1 "Her Majesty The Queen: Education". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 31 May 2010.
  20. Marr, p. 84; Pimlott, p. 47
  21. 21.0 21.1 Pimlott, p. 54
  22. 22.0 22.1 Pimlott, p. 55
  23. "Biography of HM Queen Elizabeth the Queen Mother: Activities as Queen". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 28 July 2009.
  24. Crawford, pp. 104–114; Pimlott, pp. 56–57
  25. Crawford, pp. 114–119; Pimlott, p. 57
  26. Crawford, pp. 137–141
  27. 27.0 27.1 "Children's Hour: Princess Elizabeth". BBC. 13 October 1940. สืบค้นเมื่อ 22 July 2009.
  28. "Early public life". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 20 April 2010.
  29. Pimlott, p. 71
  30. "No. 36973". The London Gazette (invalid |supp= (help)). 6 March 1945.
  31. Bradford, p. 45; Lacey, p. 148; Marr, p. 100; Pimlott, p. 75
  32. "No. 37205". The London Gazette (invalid |supp= (help)). 31 July 1945.
  33. Bond, p. 10; Pimlott, p. 79
  34. 34.0 34.1 34.2 "Royal plans to beat nationalism". BBC. 8 March 2005. สืบค้นเมื่อ 15 June 2010.
  35. Pimlott, pp. 71–73
  36. "Gorsedd of the Bards". National Museum of Wales. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-10. สืบค้นเมื่อ 17 December 2009.
  37. "21st birthday speech". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 28 July 2009.
  38. Brandreth, pp. 132–139; Lacey, pp. 124–125; Pimlott, p. 86
  39. Bond, p. 10; Brandreth, pp. 132–136, 166–169; Lacey, pp. 119, 126, 135
  40. Heald, p. 77
  41. Edwards, Phil (31 October 2000). "The Real Prince Philip". Channel 4. สืบค้นเมื่อ 23 September 2009.
  42. Crawford, p. 180
  43. Davies, Caroline (20 April 2006). "Philip, the one constant through her life". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 23 September 2009.
  44. Heald, p. xviii
  45. Hoey, pp. 55–56; Pimlott, pp. 101, 137
  46. "No. 38128". The London Gazette. 21 November 1947.
  47. 47.0 47.1 "60 Diamond Wedding anniversary facts". Royal Household. 18 November 2007. สืบค้นเมื่อ 20 June 2010.
  48. Hoey, p. 58; Pimlott, pp. 133–134
  49. Hoey, p. 59; Petropoulos, p. 363
  50. Bradford, p. 61
  51. Letters Patent, 22 October 1948; Hoey, pp. 69–70; Pimlott, pp. 155–156
  52. Pimlott, p. 163
  53. Brandreth, pp. 226–238; Pimlott, pp. 145, 159–163, 167
  54. Brandreth, pp. 240–241; Lacey, p. 166; Pimlott, pp. 169–172
  55. Brandreth, pp. 245–247; Lacey, p. 166; Pimlott, pp. 173–176; Shawcross, p.16
  56. Bousfield and Toffoli, p. 72; Charteris quoted in Pimlott, p. 179 and Shawcross, p. 17
  57. Pimlott, pp. 178–179
  58. Pimlott, pp. 186–187
  59. Bradford, p. 82
  60. "50 facts about The Queen's Coronation". Royal Household. 25 May 2003. สืบค้นเมื่อ 14 April 2011.
  61. Lacey, p. 190; Pimlott, pp. 247–248
  62. Cotton, Belinda; Ramsey, Ron. "By appointment: Norman Hartnell's sample for the Coronation dress of Queen Elizabeth II". National Gallery of Australia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-30. สืบค้นเมื่อ 4 December 2009.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  63. Bradford, p. 80; Brandreth, pp. 253–254; Lacey, pp. 172–173; Pimlott, pp. 183–185
  64. "No. 41948". The London Gazette (invalid |supp= (help)). 5 February 1960.
  65. Brandreth, pp. 269–271
  66. Brandreth, pp. 269–271; Lacey, pp. 193–194; Pimlott, pp. 201, 236–238
  67. Bond, p. 22; Brandreth, p. 271; Lacey, p. 194; Pimlott, p. 238; Shawcross, p. 146
  68. "Princess Margaret: Marriage and family". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 8 September 2011.
  69. Marr, p. 272
  70. Pimlott, p. 182
  71. "Queen and Australia: Royal visits". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 8 December 2009.
    "Queen and New Zealand: Royal visits". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 8 December 2009.
    Marr, p. 126
  72. Brandreth, p. 278; Marr, p. 126; Pimlott, p. 224; Shawcross, p. 59
  73. Challands, Sarah (25 April 2006). "Queen Elizabeth II celebrates her 80th birthday". CTV News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-30. สืบค้นเมื่อ 13 June 2007.
  74. Thomson, Mike (15 January 2007). "When Britain and France nearly married". BBC. สืบค้นเมื่อ 14 December 2009.
  75. Pimlott, p. 255; Roberts, p. 84
  76. Marr, pp. 175–176; Pimlott, pp. 256–260; Roberts, p. 84
  77. Lord Altrincham in National Review quoted by Brandreth, p. 374 and Roberts, p. 83
  78. Lacey, p. 199; Shawcross, p. 75
  79. Brandreth, p. 374; Pimlott, pp. 280–281; Shawcross, p. 76
  80. 80.0 80.1 Hardman, p. 22; Pimlott, pp. 324–335; Roberts, p. 84
  81. Roberts, p. 84
  82. 82.0 82.1 "Queen and Canada: Royal visits". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 12 February 2012.
  83. Bradford, p. 114
  84. Bousfield, Arthur (2002), Fifty Years the Queen, Toronto: Dundurn Press, p. 107, ISBN 1-55002-360-8 {{citation}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  85. Pimlott, p. 303; Shawcross, p. 83
  86. 86.0 86.1 Macmillan, pp. 466–472
  87. Speaight, Robert (1970), Vanier, Soldier, Diplomat, Governor General: A Biography, London: William Collins, Sons and Co. Ltd., ISBN 978-0-00-262252-3
  88. "Courage of the Queen". Canadian Royal Heritage Trust. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-09. สืบค้นเมื่อ 22 February 2010.
  89. Dubois, Paul (12 October 1964), "Demonstrations Mar Quebec Events Saturday", Montreal Gazette, p. 1, สืบค้นเมื่อ 6 March 2010
  90. Bousfield, p. 139
  91. Dymond, Glenn (5 March 2010). "Ceremonial in the House of Lords" (PDF). House of Lords Library. p. 12. สืบค้นเมื่อ 5 June 2010.
  92. "Public life 1962–1971". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 1 September 2011.
  93. Bond, p. 66; Pimlott, pp. 345–354
  94. Bradford, p. 181; Pimlott, p. 418
  95. Bradford, p. 181; Marr, p. 256; Pimlott, p. 419; Shawcross, pp. 109–110
  96. 96.0 96.1 Bond, p. 96; Marr, p. 257; Pimlott, p. 427; Shawcross, p. 110
  97. Pimlott, pp. 428–429
  98. Pimlott, p. 449
  99. Hardman, p. 137; Roberts, pp. 88–89; Shawcross, p. 178
  100. Elizabeth to her staff, quoted in Shawcross, p. 178
  101. Pimlott, pp. 336–337, 470–471; Roberts, pp. 88–89
  102. 102.0 102.1 102.2 102.3 102.4 Heinricks, Geoff (29 September 2000). "Trudeau: A drawer monarchist". National Post: B12.
  103. Trudeau, p. 313
  104. "Queen's 'fantasy assassin' jailed". BBC. 14 September 1981. สืบค้นเมื่อ 21 June 2010.
  105. Lacey, p. 281; Pimlott, pp. 476–477; Shawcross, p. 192
  106. Bond, p. 115; Pimlott, p. 487
  107. Shawcross, p. 127
  108. Lacey, pp. 297–298; Pimlott, p. 491
  109. Bond, p. 188; Pimlott, p. 497
  110. Pimlott, pp. 488–490
  111. Pimlott, p. 521
  112. Pimlott, pp. 503–515; see also Neil, pp. 195–207 and Shawcross, pp. 129–132
  113. Thatcher to Brian Walden quoted in Neil, p. 207; Andrew Neil quoted in Woodrow Wyatt's diary of 26 October 1990
  114. Campbell, p. 467
  115. Thatcher, p. 309
  116. Roberts, p. 101; Shawcross, p. 139
  117. 117.0 117.1 Geddes, John (2012). "The day she descended into the fray". Maclean's (Special Commemorative Edition: The Diamond Jubilee: Celebrating 60 Remarkable years ed.). Rogers Communications: 72.
  118. 118.0 118.1 MacQueen, Ken; Treble, Patricia (2012). "The Jewel in the Crown". Maclean's (Special Commemorative Edition: The Diamond Jubilee: Celebrating 60 Remarkable years ed.). Rogers Communications: 43–44.
  119. Pimlott, pp. 515–516
  120. Pimlott, pp. 519–534
  121. Hardman, p. 81; Lacey, p. 307; Pimlott, pp. 522–526
  122. Lacey, pp. 293–294; Pimlott, p. 541
  123. Pimlott, p. 538
  124. "Annus horribilis speech, 24 November 1992". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 6 August 2009.
  125. Lacey, p. 319; Marr, p. 315; Pimlott, pp. 550–551
  126. Stanglin, Doug (18 March 2010). "German study concludes 25,000 died in Allied bombing of Dresden". USA Today. สืบค้นเมื่อ 19 March 2010.
  127. Brandreth, p. 377; Pimlott, pp. 558–559; Roberts, p. 94; Shawcross, p. 204
  128. Brandreth, p. 377
  129. Bradford, p. 229; Lacey, pp. 325–326; Pimlott, pp. 559–561
  130. Bradford, p. 226; Hardman, p. 96; Lacey, p. 328; Pimlott, p. 561
  131. Pimlott, p. 562
  132. Brandreth, p. 356; Pimlott, pp. 572–577; Roberts, p. 94; Shawcross, p. 168
  133. MORI poll for The Independent newspaper, March 1996, quoted in Pimlott, p. 578 and O'Sullivan, Jack (5 March 1996). "Watch out, the Roundheads are back". The Independent. สืบค้นเมื่อ 17 September 2011.
  134. Pimlott, p. 578
  135. Brandreth, p. 357; Pimlott, p. 577
  136. Brandreth, p. 358; Hardman, p. 101; Pimlott, p. 610
  137. Bond, p. 134; Brandreth, p. 358; Marr, p. 338; Pimlott, p. 615
  138. Bond, p. 134; Brandreth, p. 358; Lacey, pp. 6–7; Pimlott, p. 616; Roberts, p. 98; Shawcross, p. 8
  139. Brandreth, pp. 358–359; Lacey, pp. 8–9; Pimlott, pp. 621–622
  140. 140.0 140.1 Bond, p. 134; Brandreth, p. 359; Lacey, pp. 13–15; Pimlott, pp. 623–624
  141. Bond, p. 156; Bradford, pp. 248–249; Marr, pp. 349–350
  142. Brandreth, p. 31
  143. Bond, pp. 166–167
  144. Bond, p. 157
  145. "Queen cancels visit due to injury". BBC. 26 October 2006. สืบค้นเมื่อ 8 December 2009.
  146. Greenhill, Sam; Hope, Jenny (6 December 2006). "Plaster on Queen's hand: minor cut or IV drip?". Daily Mail. สืบค้นเมื่อ 8 December 2009.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  147. Whittaker, Thomas (14 December 2006). "Corgi put the queen in plaster". The Sun. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.
  148. Alderson, Andrew (28 May 2007). "Revealed: Queen's dismay at Blair legacy". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 31 May 2010.
  149. Alderson, Andrew (27 May 2007). "Tony and Her Majesty: an uneasy relationship". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 31 May 2010.
  150. "Historic first for Maundy service". BBC. 20 March 2008. สืบค้นเมื่อ 12 October 2008.
  151. Bradford, p. 253
  152. "Address to the United Nations General Assembly". Royal Household. 6 July 2010. สืบค้นเมื่อ 6 July 2010.
  153. 153.0 153.1 "Queen addresses UN General Assembly in New York". BBC. 7 July 2010. สืบค้นเมื่อ 7 July 2010.
  154. "Royal tour of Australia: The Queen ends visit with traditional 'Aussie barbie'". The Telegraph. 29 October 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-29. สืบค้นเมื่อ 30 October 2011.
  155. "The Queen's Diamond Jubilee message". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 31 May 2012.
  156. Gower, Eleanor (25 February 2012), "A royal match! Glamorous Prince Edward and Sophie wear co-ordinated outfits as they attend Barbados state dinner", Daily Mail, สืบค้นเมื่อ 31 May 2012
  157. "Prince Harry pays tribute to the Queen in Jamaica". BBC. 7 March 2012. สืบค้นเมื่อ 31 May 2012.
  158. "Their Royal Highnesses The Prince of Wales and The Duchess of Cornwall to Undertake a Royal Tour of Canada in 2012". Office of the Governor General of Canada. 14 December 2011. สืบค้นเมื่อ 31 May 2012.
  159. Anon. "The Queen's Diamond Jubilee in London". Visit London. London and Partners. สืบค้นเมื่อ 25 May 2012.
  160. How James Bond whisked the Queen to the Olympics at BBC
  161. "Opening of the Olympic and Paralympic Games". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 1 March 2012.
  162. "Canada's Olympic Broadcast Media Consortium Announces Broadcast Details for London 2012 Opening Ceremony, Friday". Bellmediapr.ca. 24 July 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-01. สืบค้นเมื่อ 30 July 2012.
  163. "UK to name part of Antarctica Queen Elizabeth Land". BBC. 18 December 2012.
  164. "Queen leaves hospital after stomach bug". BBC. สืบค้นเมื่อ 4 March 2013.
  165. "Recovering Queen signs Commonwealth charter". BBC News. 11 March 2013. สืบค้นเมื่อ 23 October 2016.
  166. "Queen to miss Commonwealth meeting". BBC News. 7 May 2013. สืบค้นเมื่อ 7 May 2013.
  167. "Elizabeth Set To Beat Victoria's Record As Longest Reigning Monarch In British History". The Huffington Post. 6 September 2014. สืบค้นเมื่อ 28 September 2014.
  168. "Governor General to Host Special Event in Honour of Her Majesty's Historic Reign". Office of the Secretary to the Governor General. 9 September 2015. สืบค้นเมื่อ 9 September 2015.
  169. Office of the Prime Minister of Canada (18 May 2015). "Statement by the Prime Minister of Canada on the occasion of Victoria Day". Government of Canada. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-10. สืบค้นเมื่อ 21 May 2015.
  170. Williams, Kate (6 September 2015). "The Queen's record-long reign has seen Britain's greatest time of change". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 8 September 2015.
  171. "Thailand's King Bhumibol Adulyadej dies at 88". BBC News. 13 October 2016. สืบค้นเมื่อ 13 October 2016.
  172. PA (13 October 2016). "Queen takes over longest reign mantle after Thailand's King Bhumibol dies". AOL (UK). สืบค้นเมื่อ 13 October 2016.
  173. Rayner, Gordon (29 January 2017). "The Blue Sapphire Jubilee: Queen will not celebrate 65th anniversary but instead sit in 'quiet contemplation' remembering father's death". The Telegraph. สืบค้นเมื่อ 3 February 2017.
  174. Brandreth, pp. 370–371; Marr, p. 395
  175. Mansey, Kate; Leake, Jonathan; Hellen, Nicholas (19 January 2014). "Queen and Charles start to 'job-share'". The Sunday Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-01. สืบค้นเมื่อ 20 January 2014.
    Marr, p. 395
  176. Owen, Glen; Smith, Martin (18 November 2006). "Key aides move to Windsor ahead of Queen's retirement". The Mail on Sunday. สืบค้นเมื่อ 29 March 2012.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  177. Knight, Sam (16 March 2017). "Operation London Bridge: the secret plan for the days after the Queen's death". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 17 March 2017.
  178. "Queen's doctors concerned for her health - palace". BBC News. 8 September 2022. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
  179. Davies, Caroline (8 September 2022). "Queen under medical supervision at Balmoral after doctors' concerns". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
  180. "Queen under medical supervision as doctors are concerned for her health. Prince Charles, Camilla and Prince William are currently travelling to Balmoral, Clarence House and Kensington Palace said". Sky News. 8 September 2022. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
  181. Shaw, Neil (8 September 2022). "Duke of York, Princess Anne and Prince Edward all called to Queen's side". Plymouth Live. สืบค้นเมื่อ 8 September 2022.
  182. https://edition.cnn.com/2022/09/29/uk/queen-elizabeth-cause-of-death-intl-scli-gbr
  183. https://www.theguardian.com/uk-news/2022/sep/29/queen-elizabeth-died-of-old-age-death-certificate-says
  184. "Queen 'will do her job for life'". BBC. 19 April 2006. สืบค้นเมื่อ 4 February 2007.
    Shawcross, pp. 194–195
  185. "How we are organised". Church of Scotland. สืบค้นเมื่อ 4 August 2011.
  186. Elizabeth II (2000). "Historic speeches: Christmas Broadcast 2000". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 28 July 2009.
    Shawcross, pp. 236–237
  187. "Queen and Charities". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 29 June 2010.
  188. "80 facts about The Queen". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 20 June 2010.
  189. Bush, Karen (26 October 2007). Everything Dogs Expect You To Know. London: New Holland Publishers. p. 115. ISBN 978-1-84537-954-4. สืบค้นเมื่อ 18 September 2012.[ลิงก์เสีย]
  190. "Hug for Queen Elizabeth's first corgi". The Telegraph. 1 October 2007. สืบค้นเมื่อ 21 September 2012.
  191. Delacourt, Susan (25 May 2012), "When the Queen is your boss", Toronto Star, สืบค้นเมื่อ 27 May 2012
  192. Bond, p. 22
  193. Bond, p. 35; Pimlott, p. 180; Roberts, p. 82; Shawcross, p. 50
  194. Bond, p. 35; Pimlott, p. 280; Shawcross, p. 76
  195. Bond, pp. 66–67, 84, 87–89; Bradford, pp. 160–163; Hardman, pp. 22, 210–213; Lacey, pp. 222–226; Marr, p. 237; Pimlott, pp. 378–392; Roberts, pp. 84–86
  196. Cartner-Morley, Jess (10 May 2007). "Elizabeth II, belated follower of fashion". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 5 September 2011.
  197. Bond, p. 97; Bradford, p. 189; Pimlott, pp. 449–450; Roberts, p. 87; Shawcross, pp. 114–117
  198. Bond, p. 117; Roberts, p. 91
  199. Bond, p. 134; Pimlott, pp. 556–561, 570
  200. Bond, p. 134; Pimlott, pp. 624–625
  201. Hardman, p. 310; Lacey, p. 387; Roberts, p. 101; Shawcross, p. 218
  202. "Monarchy poll". Ipsos MORI. April 2006. สืบค้นเมื่อ 24 July 2009.
    "Monarchy Survey" (PDF). Populus Ltd. 14–16 December 2007. p. 9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 17 August 2010.
    "Poll respondents back UK monarchy". BBC. 28 December 2007. สืบค้นเมื่อ 17 August 2010.
  203. "Vincies vote "No"". BBC. 26 November 2009. สืบค้นเมื่อ 26 November 2009.
  204. Serafin, Tatiana (7 July 2010). "The World's Richest Royals". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28. สืบค้นเมื่อ 13 January 2011.
  205. Lord Chamberlain Lord Airlie quoted in Hoey, p. 225 and Pimlott, p. 561
  206. "£2m estimate of the Queen's wealth 'more likely to be accurate'". The Times: 1. 11 June 1971.
  207. Pimlott, p. 401
  208. "FAQs". Royal Collection. สืบค้นเมื่อ 29 March 2012.
    "Royal Collection". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 9 December 2009.
  209. 209.0 209.1 "The Royal Residences: Overview". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 9 December 2009.
  210. "Accounts, Annual Reports and Investments". Duchy of Lancaster. 18 July 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-12. สืบค้นเมื่อ 18 August 2011.
  211. "Financial Information". The Crown Estate. 6 July 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-12. สืบค้นเมื่อ 1 September 2011.
  212. "FAQs". Crown Estate. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-06. สืบค้นเมื่อ 1 September 2011.
  213. "Greeting a member of The Royal Family". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 21 August 2009.
  214. "Heraldry Traditions". Lieutenant Governor of British Columbia. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-15. สืบค้นเมื่อ 21 June 2010.
  215. "Personal flags". Royal Household. สืบค้นเมื่อ 21 June 2010.
  216. "Coat of Arms of Canada". Royal Heraldry Society of Canada. 5 February 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-19. สืบค้นเมื่อ 13 March 2011.
  1. Canada has used three different versions of the arms during her reign. This version was used between 1957 and 1994.[216]

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bond, Jennie (2006). Elizabeth: Eighty Glorious Years. London: Carlton Publishing Group. ISBN 1-84442-260-7
  • Bousfield, Arthur; Toffoli, Gary (2002). Fifty Years the Queen. Toronto: Dundurn Press. ISBN 1-55002-360-8
  • Bradford, Sarah (2012). Queen Elizabeth II: Her Life in Our Times. London: Penguin. ISBN 978-0-670-91911-6
  • Brandreth, Gyles (2004). Philip and Elizabeth: Portrait of a Marriage. London: Century. ISBN 0-7126-6103-4
  • Briggs, Asa (1995). The History of Broadcasting in the United Kingdom: Volume 4. Oxford: Oxford University Press. ISBN 0-19-212967-8
  • Campbell, John (2003). Margaret Thatcher: The Iron Lady. London: Jonathan Cape. ISBN 0-224-06156-9
  • Crawford, Marion (1950). The Little Princesses. London: Cassell & Co.
  • Hardman, Robert (2011). Our Queen. London: Hutchinson. ISBN 978-0-09-193689-1
  • Heald, Tim (2007). Princess Margaret: A Life Unravelled. London: Weidenfeld & Nicolson. ISBN 978-0-297-84820-2
  • Hoey, Brian (2002). Her Majesty: Fifty Regal Years. London: HarperCollins. ISBN 0-00-653136-9
  • Lacey, Robert (2002). Royal: Her Majesty Queen Elizabeth II. London: Little, Brown. ISBN 0-316-85940-0
  • Macmillan, Harold (1972). Pointing The Way 1959–1961 London: Macmillan. ISBN 0-333-12411-1
  • Marr, Andrew (2011). The Diamond Queen: Elizabeth II and Her People. London: Macmillan. ISBN 978-0-230-74852-1
  • Neil, Andrew (1996). Full Disclosure. London: Macmillan. ISBN 0-333-64682-7
  • Nicolson, Sir Harold (1952). King George the Fifth: His Life and Reign. London: Constable & Co.
  • Petropoulos, Jonatha (2006). Royals and the Reich: the princes von Hessen in Nazi Germany. New York: Oxford University Press. ISBN 0-19-516133-5
  • Pimlott, Ben (2001). The Queen: Elizabeth II and the Monarchy. London: HarperCollins. ISBN 0-00-255494-1
  • Roberts, Andrew; Edited by Antonia Fraser (2000). The House of Windsor. London: Cassell & Co. ISBN 0-304-35406-6
  • Shawcross, William (2002). Queen and Country. Toronto: McClelland & Stewart. ISBN 0-7710-8056-5
  • Thatcher, Margaret (1993). The Downing Street Years. London: HarperCollins. ISBN 0-00-255049-0
  • Trudeau, Pierre Elliott (1993). Memoirs. Toronto: McLelland & Stewart. ISBN 0-7710-8588-5
  • Wyatt, Woodrow; Edited by Sarah Curtis (1999). The Journals of Woodrow Wyatt: Volume II. London: Macmillan. ISBN 0-333-77405-1

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

หนังสือและบทความ[แก้]

ออนไลน์[แก้]


ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6
พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร
และราชอาณาจักรเครือจักรภพ

(6 กุมภาพันธ์ 1952 – 8 กันยายน 2022)
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3
โมฮัมหมัด มอสซาเดค บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
(ค.ศ. 1952)
คอนราด อเดเนาร์