สุลัยมานผู้เกรียงไกร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สุลต่านสุลัยมานที่ 1
سلطان سليمان اول
สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน
เคาะลีฟะฮ์แห่งอิสลาม
จักรพรรดิเปอร์เซีย
สุลต่านออตโตมันองค์ที่ 10
ครองราชย์30 กันยายน ค.ศ. 1520 – 6 กันยายน ค.ศ. 1566
พิธีรับดาบ30 กันยายน ค.ศ. 1520
ก่อนหน้าสุลต่านเซลิมที่ 1
ถัดไปสุลต่านเซลิมที่ 2
ประสูติ6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1494(1494-11-06)[1]
ตราบโซน, จักรวรรดิออตโตมัน
สวรรคต6 กันยายน ค.ศ. 1566(1566-09-06) (71 ปี)[2]
ซิกตวา, ราชอาณาจักรฮังการี
ฝังพระศพสุเหร่าสุลัยมาน, อิสตันบูล
ชายา
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
สุลัยมาน บิน เซลิม
ราชวงศ์ออตโตมัน
พระราชบิดาสุลต่านเซลิมที่ 1
พระราชมารดาฮาฟซา ฮาทุน
ศาสนาอิสลามซุนนี
ลายพระอภิไธย

สุลต่านสุลัยมานที่ 1 (ตุรกีออตโตมัน: سليمان اول, อักษรโรมัน: Süleyman-ı Evvel; ตุรกี: I. Süleyman; 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1494 – 6 กันยายน ค.ศ. 1566) พระองค์เป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกว่า สุลัยมานผู้เกรียงไกร[3] และเป็นที่รู้จักในโลกตะวันออกว่า สุลัยมานผู้ตรากฎหมาย (ตุรกีออตโตมัน: قانونى سلطان سليمان, อักษรโรมัน: Ḳānūnī Sulṭān Süleymān) ทรงเป็นประมุขของจักรวรรดิออตโตมันสมัยราชวงศ์ออสมันระหว่างปี ค.ศ. 1520 จนเสด็จสวรรคตเมื่อต้นเดือนกันยายนปี ค.ศ. 1566 เป็นสุลต่านพระองค์ที่ 10 และเป็นสุลต่านที่ทรงราชย์นานที่สุดของจักรวรรดิออตโตมัน เป็นเวลานานถึง 46 ปี

สุลต่านสุลัยมานเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1494 ที่ทราบซอนในประเทศตุรกี เป็นพระราชโอรสในสุลต่านเซลิมที่ 1 และฮาฟซา ฮาทุน (Hafsa Hatun) ทรงเสกสมรสตามกฎหมายกับร็อกเซลานา หรือเฮอร์เรมสุลต่าน พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อราววันที่ 5/6 กันยายน ค.ศ. 1566 ที่ Szigetvár ในประเทศฮังการีปัจจุบัน หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต พระราชโอรสของพระองค์กับเฮอร์เรมสุลต่านก็ขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านเซลิมที่ 2

สุลต่านสุลัยมานเป็นพระมหากษัตริย์องค์สำคัญของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผู้มีบทบาทสำคัญไม่เพียงแต่ในจักรวรรดิออตโตมันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทวีปยุโรปด้วย พระองค์มีพระบรมราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ทางการทหารและทางเศรษฐกิจ ทรงเป็นผู้นำทัพด้วยพระองค์เองในการสงครามหลายครั้งและทรงได้รับชัยชนะในสงครามหลายครั้งที่รวมทั้งต่อเบลเกรด โรดส์ และ ฮังการีเกือบทั้งหมด แต่มาทรงพ่ายแพ้ในการล้อมกรุงเวียนนาในปี ค.ศ. 1529 สุลัยมานทรงทำการขยายดินแดนของจักรวรรดิโดยการผนวกดินแดนตะวันออกกลาง (เมื่อทรงมีข้อขัดแย้งกับเปอร์เชีย) และดินแดนส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของแอฟริกาไปจนถึงแอลจีเรีย ภายใต้การปกครองของพระองค์อำนาจทางทะเลครอบคลุมตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลแดง อ่าวเปอร์เซีย ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย[4]

พระราชกรณียกิจหลักในการปกครองคือการที่ทรงเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายที่เกี่ยวกับสังคม การศึกษา ภาษี และกฎหมายอาญา กฎหมายที่พระองค์ทำการปฏิรูป (Kanuns) เป็นกฎหมายที่ใช้ต่อมาในจักรวรรดิเป็นเวลาอีกหลายร้อยปีหลังจากที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว นอกจากความสามารถในด้านการปกครองและการทหารแล้ว สุลต่านสุลัยมานยังทรงเป็นกวีฝีปากเอกและช่างทองฝีมือดี และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์วัฒนธรรม สมัยของพระองค์ถือกันว่าเป็น “ยุคทอง” ของจักรวรรดิออตโตมันในทางวรรณคดี ศิลปะ และสถาปัตยกรรมอีกด้วย[5]

ทรงพระเยาว์[แก้]

สุลต่านสุลัยมานเสด็จพระราชสมภพที่ทราบซอนริมฝั่งทะเลดำในประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1494[6] เมื่อพระชนมายุได้ 7 พรรษาพระองค์ก็ทรงถูกส่งตัวไปศึกษาวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี เทววิทยา และยุทธวิธีทางทหารที่โรงเรียนในพระราชวังโทพคาปิในกรุงอิสตันบูล เมื่อยังหนุ่มทรงทำความรู้จักกับปาร์กาลิ อิบราฮิม ปาชา ทาสผู้ต่อมากลายมาเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญที่ทรงไว้วางใจที่สุด[7] ตั้งแต่พระชนมายุได้ 17 พรรษา สุลัยมานทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองคาฟฟา (ทีโอโดเซีย) ต่อมาเมืองซารุคาน (มานิซา, ตุรกี) และ เมืองเอเดิร์น (เอเดรียโนโพล) อยู่ระยะหนึ่ง[8] เมื่อสุลต่านเซลิมที่ 1 พระราชบิดาเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1520 สุลัยมานก็เสด็จกลับมาอิสตันบุลและขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็นสุลต่านองค์ที่ 10 บาร์โทโลมิโอ คอนทารินิราชทูตจากสาธารณรัฐเวนิสบรรยายสุลต่านสุลัยมานสองสามอาทิตย์หลังจากขึ้นครองราชย์ว่าทรงเป็นผู้ “มีพระชนมายุ 25 พรรษา พระสรีระสูงแต่ก้องแก้ง และพระฉวีบาง พระศอยาวไปเล็กน้อย พระพักตร์แหลม พระนาสิกแคบยาว มีพระมัสสุบาง ๆ และมีพระเคราเล็กน้อย แต่กระนั้นก็มีพระลักษณะที่น่าดูแม้ว่าพระฉวีจะออกซีดขาว ทรงมีชื่อว่าเป็นผู้มีความปรีชาสามารถ โปรดการศึกษาเล่าเรียน และทุกคนต่างก็ตั้งความหวังกันว่าจะทรงเป็นประมุขผู้มีคุณธรรมในการปกครอง”[9] นักประวัติศาสตร์บางท่านอ้างว่าเมื่อสุลต่านสุลัยมานยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงชื่นชอบในความเป็นวีรบุรุษของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช[10][11] และทรงได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับความคิดในการขยายจักรวรรดิทั้งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้พระองค์เสด็จนำทัพไปยังดินแดนต่าง ๆ ในการขยายจักรวรรดิออตโตมันออกไปทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา และทวีปยุโรป

การสงครามและการขยายดินแดน[แก้]

ยุทธการในยุโรป[แก้]

สุลต่านสุลัยมานเมื่อยังหนุ่ม
พระเจ้าหลุยส์ที่ 2 แห่งฮังการี

หลังจากสุลต่านสุลัยมานขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาแล้วพระองค์ก็ทรงเริ่มดำเนินการแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันโดยการทำการทัพต่าง ๆ ที่รวมทั้งการที่ทรงสามารถปราบการแข็งข้อที่นำโดยข้าหลวงแห่งดามัสกัสผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งไปจากจักรวรรดิออตโตมันเองใน ค.ศ. 1521 ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงเตรียมการยึดเมืองเบลเกรดจากราชอาณาจักรฮังการีซึ่งพระอัยกาสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ได้ทรงพยายามในปี ค.ศ. 1456 แต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จ เจ็ดสิบปีต่อมาสุลต่านสุลัยมานก็ทรงนำกองทัพเข้าล้อมเบลเกรดและทรงโจมตีโดยการยิงลูกระเบิดจากเกาะกลางแม่น้ำดานูบเข้าไปยังตัวเมือง เมื่อมีกองทหารป้องกันอยู่เพียง 700 คนและปราศจากความช่วยเหลือจากราชอาณาจักรฮังการี เบลเกรดก็เสียเมืองในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1521[12] หลังจากที่ทรงยึดเมืองได้แล้วพระองค์ก็มีพระบรมราชโองการให้เผาเมือง และเนรเทศประชากรที่เป็นคริสเตียนทั้งหมดที่รวมทั้งชาวฮังการี กรีก และอาร์เมเนียออกจากเมืองไปยังอิสตันบูล การยึดเบลเกรดได้เป็นสิ่งสำคัญในการกำจัดฮังการี ผู้ที่หลังจากได้รับชัยชนะต่อเซอร์เบีย บัลแกเรีย และไบแซนไทน์แล้วก็กลายเป็นมหาอำนาจที่แข็งแกร่งพอที่จะหยุดยั้งการขยายตัวของจักรวรรดิออตโตมันเข้าไปในยุโรปได้

ข่าวการเสียเมืองเบลเกรดอันที่เป็นที่มั่นสำคัญที่มั่นหนึ่งของคริสตจักรทำให้ยุโรปเสียขวัญ และกระจายความหวั่นกลัวในอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันกันไปทั่วยุโรป ราชทูตของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในอิสตันบูลบันทึกว่า “การยึดเมืองเบลเกรดเป็นต้นกำเนิดของเหตุการณ์อันสำคัญต่าง ๆ ที่ท่วมท้นราชอาณาจักรฮังการี และเป็นเหตุการณ์ที่ในที่สุดก็นำมาซึ่งการสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 2, การยึดเมืองบูดา การยึดครองทรานซิลเวเนีย, การทำลายราชอาณาจักรที่รุ่งเรือง และความหวาดกลัวของประเทศเพื่อนบ้านที่ต่างก็มีความหวาดกลัวว่าจะประสบความหายนะเช่นเดียวกัน[กับที่เบลเกรดประสบ]”[13]

เมื่อทรงยึดเบลเกรดได้แล้วก็ดูเหมือนว่าหนทางที่จะเอาชนะราชอาณาจักรฮังการีและออสเตรียก็เปิดโล่ง แต่สุลต่านสุลัยมานกลับทรงหันไปสนพระทัยกับเกาะโรดส์ทางตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งขณะนั้นเป็นที่ตั้งมั่นของอัศวินแห่งโรดส์มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 โรดส์เป็นจุดยุทธศาสตร์อันสำคัญที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอานาโตเลีย และบริเวณลว้าน ที่อัศวินแห่งโรดส์หรือฝ่ายคริสเตียนใช้เป็นฐานในการสร้างความคลอนแคลนให้แก่จักรวรรดิออตโตมันในบริเวณนั้นมาโดยตลอด ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1522 สุลต่านสุลัยมานก็ทรงส่งกองทัพเรือจำนวน 400 ลำไปล้อมโรดส์ ส่วนพระองค์เองก็เสด็จนำทัพจำนวนอีก 100,000 คนเดินทางทางบกไปสมทบ ข้ามอานาโตเลียไปยังฝั่งตรงข้ามกับเกาะโรดส์[14] หลังจากการล้อมเมืองโรดส์อยู่เป็นเวลาห้าเดือนโดยการปิดอ่าว ระเบิดทำลายกำแพงเมือง และเข้าโจมตีต่อเนื่องกันอย่างรุนแรงหลายครั้ง ในปลายปี ค.ศ. 1522 ทั้งสองฝ่ายต่างก็หมดแรงและตกลงทำการเจรจาหาทางสงบศึก สุลต่านสุลัยมานทรงเสนอว่าจะทรงยุติการโจมตี จะไม่ทรงทำลายชีวิตประชากร และจะทรงประทานอาหารถ้าชาวโรดส์ยอมแพ้ แต่เมื่อฝ่ายโรดส์เรียกร้องให้พระองค์ทรงยืนยันคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นกว่าที่ประทานพระองค์ก็พิโรธและมีพระราชโองการให้เริ่มการโจมตีเมืองขึ้นอีกครั้ง กำแพงเมืองโรดส์เกือบทั้งหมดถูกทำลาย เมื่อเห็นท่าว่าจะแพ้แกรนด์มาสเตอร์ของอัศวินแห่งโรดส์ก็ยื่นข้อเสนอขอเจรจาสงบศึกอีกครั้ง และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1522 ประชากรชาวโรดส์ก็ยอมรับข้อแม้ของสุลต่านสุลัยมาน พระองค์พระราชทานเวลาสิบวันแก่อัศวินในการอพยพออกจากโรดส์ แต่พระราชทานเวลาสามปีให้แก่ประชากรผู้ประสงค์ที่จะย้ายออกจากเกาะ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1523 อัศวินแห่งโรดส์ก็เดินทางออกจากเกาะพร้อมกับเรือ 50 ลำไปยังครีต

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 2 แห่งฮังการีเสกสมรสกับแมรีแห่งออสเตรียในปี ค.ศ. 1522 ความสัมพันธ์ของฮังการีกับออสเตรียทำให้ฝ่ายออตโตมันเห็นว่าเป็นการสร้างความไม่มั่นคงต่ออำนาจในคาบสมุทรบอลข่าน ที่ในที่สุดก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สุลต่านสุลัยมานทรงกลับเข้ามาเริ่มการรณรงค์ทางทหารในยุโรปตะวันออกใหม่ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1526 พระองค์ก็ทรงได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 2 แห่งฮังการีในยุทธการที่โมฮาก พระเจ้าหลุยส์เองเสด็จสวรรคตในสนามรบ เมื่อทรงพบร่างที่ปราศจากชีวิตของพระเจ้าหลุยส์ ก็เชื่อกันว่าสุลต่านสุลัยมานทรงมีความโทมนัสและทรงรำพึงถึงการเสียชีวิตว่าเป็นการเสียชีวิตอันไม่สมควรแก่เวลาของพระเจ้าหลุยส์ผู้มีพระชนมายุเพียง 20 พรรษา[15][16] หลังจากชัยชนะในยุทธการที่โมฮากแล้วการต่อต้านของฮังการีก็สิ้นสุดลง จักรวรรดิออตโตมันจึงกลายเป็นมหาอำนาจอันสำคัญของยุโรปตะวันออกแทนที่[17]

แต่ในปี ค.ศ. 1529 จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และแฟร์ดีนันด์ อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย พระอนุชาก็ยึดบูดาและราชอาณาจักรฮังการีคืนได้ ซึ่งเป็นผลให้สุลต่านสุลัยมานต้องทรงนำทัพกลับเข้ามาในยุโรปอีกครั้งในปี ค.ศ. 1529 โดยทรงเดินทัพทางหุบเขาแม่น้ำดานูบและทรงยึดบูดาคืนในฤดูใบไม้ร่วง หลังจากนั้นก็ทรงเดินทัพต่อไปล้อมเมืองเวียนนาซึ่งเป็นความทะเยอทะยานอันสูงสุดของจักรวรรดิออตโตมันในการขยายอำนาจเข้ามาทางยุโรปตะวันตก โดยมีจำนวนกองหนุนด้วยกันทั้งสิ้น 16,000 คน[18] แต่ออสเตรียก็สามารถเอาชนะสุลต่านสุลัยมานได้ ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกของพระองค์ ที่เป็นผลให้ทั้งสองจักรวรรดิมีความความขัดแย้งกันต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20[19]

การพยายามเข้ายึดเวียนนาครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1532 ก็ประสบความล้มเหลวอีกเช่นกัน เมื่อสุลต่านสุลัยมานทรงถอยทัพก่อนที่จะเข้าถึงตัวเมือง ในการล้อมเมืองทั้งสองครั้งกองทัพของจักรวรรดิออตโตมันเสียเปรียบตรงที่ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่ไม่อำนวย ที่ทำให้จำต้องทิ้งอาวุธและเครื่องไม้เครื่องมือในการล้อมเมืองไว้ข้างหลังก่อนที่จะถอยทัพ นอกจากนั้นกองเสบียงก็ไม่สามารถส่งเสบียงได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะระยะทางที่ไกล[20]

ภายในคริสต์ทศวรรษ 1540 ความขัดแย้งกันภายในราชอาณาจักรฮังการีก็เป็นการเปิดโอกาสให้สุลต่านสุลัยมานได้แก้ตัวจากการที่ทรงได้รับความพ่ายแพ้ที่เวียนนาก่อนหน้านั้น ขุนนางฮังการีบางกลุ่มเสนอให้แฟร์ดีนันด์ อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย ผู้สัมพันธ์กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 2 แห่งฮังการีโดยทางการเสกสมรสเป็นพระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรฮังการีต่อจากพระองค์ โดยอ้างข้อตกลงก่อนหน้านั้นที่ว่าราชวงศ์ฮับส์บูร์กมิสิทธิที่จะขึ้นครองราชบัลลังก์ฮังการีในกรณีที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 2 เสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท[21] แต่ขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งสนับสนุนขุนพลทรานซิลเวเนียจอห์น ซาโพลยา (John Zápolya) ผู้ที่สุลต่านสุลัยมานทรงหนุนหลังแต่ไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยกลุ่มผู้นับถือคริสต์ศาสนาผู้มีอำนาจในยุโรป ในปี ค.ศ. 1541 ราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็เข้าสู่ความขัดแย้งกับจักรวรรดิออตโตมันอีกครั้งโดยการเข้าล้อมเมืองบูดา แต่ไม่ประสบความสำเร็จและนอกจากนั้นก็ยังเสียป้อมปราการไปอีกหลายแห่ง[22] แฟร์ดีนันด์และจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 พระเชษฐาจำต้องทรงยอมจำนนต่อสุลต่านสุลัยมานในการลงพระนามในสนธิสัญญาห้าปีโดยเฟอร์ดินานด์ทรงประกาศสละสิทธิในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฮังการี และทรงต้องจ่ายเงินประจำปีสำหรับดินแดนฮังการีที่ยังทรงปกครองอยู่ให้แก่สุลต่านสุลัยมาน นอกจากนั้นสนธิสัญญาก็ยังไม่ยอมรับฐานะของคาร์ลว่าเป็น “จักรพรรดิ” โดยกล่าวถึงพระองค์เพียงว่าเป็น “พระมหากษัตริย์สเปน” ซึ่งเป็นการทำให้สุลต่านสุลัยมานเปรียบเทียบพระองค์เองว่าเป็น “จักรพรรดิ” ที่แท้จริงแต่เพียงพระองค์เดียว[23]

การปราบปรามศัตรูทางยุโรปได้ทำให้เป็นการสร้างเสริมความมั่นคงทางอำนาจทางการเมืองของจักรวรรดิออตโตมันในยุโรป

ยุทธการที่เปอร์เชีย[แก้]

จุลจิตรกรรมแสดงภาพสุลต่านสุลัยมานมหาราชเสด็จนำทัพใน Nakhchivan ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1554

เมื่อสุลต่านสุลัยมานทรงจัดการเรื่องอำนาจเกี่ยวกับเขตแดนการปกครองในยุโรปได้แล้ว พระองค์ก็ทรงหันไปสนพระทัยต่อความไม่สงบที่เกิดจากราชวงศ์ชีอะฮ์ซาฟาวิยะห์ของจักรวรรดิเปอร์เซีย ซึ่งมีเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่สำคัญต่อการก่อให้เกิดความตึงเครียด เหตุการณ์แรกก็ได้แก่เมื่อชาห์ทาห์มาสพ์ที่ 1 ทรงสั่งให้สังหารข้าหลวงเมืองแบกแดดที่จงรักภักดีต่อสุลต่านสุลัยมานและแต่งตั้นคนของตนเองขึ้นแทนที่ และเหตุการณ์ที่สองข้าหลวงของบิทลิสหันไปสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายซาฟาวิยะห์[24] ซึ่งเป็นผลให้สุลต่านสุลัยมานมีพระราชโองการให้มหาเสนาบดีปาร์กาลิ อิบราฮิม ปาชานำกองทัพไปยังทวีปเอเชียในปี ค.ศ. 1533 อิบราฮิม ปาชาสามารถยึดบิทลิสคืนมาได้ และเข้ายึดครองทาบริซ โดยปราศจากการต่อต้าน ในปี ค.ศ. 1534 กองทัพของสุลต่านสุลัยมานก็เดินทางมาสมทบกับกองทัพของอิบราฮิม ปาชาและเดินทางต่อไปยังจักรวรรดิเปอร์เชีย แต่แทนที่จะประสบกับการสงครามแบบประจันหน้าแบบต่อสู้กันตัวต่อตัว ฝ่ายเปอร์เซียหันไปใช้วิธีรังควานกองทัพของจักรวรรดิออตโตมันระหว่างการเดินทัพระหว่างที่ออตโตมันต้องเผชิญกับภูมิประเทศที่ลำบากต่อการเดินทาง[25] เมื่อสุลต่านสุลัยมานและอิบรอฮิมเข้าเมืองแบกแดดในปีต่อมา แม่ทัพของแบกแดดก็ยอมแพ้ซึ่งเป็นการทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นผู้นำในบรรดาประเทศกลุ่มอิสลามและเป็นผู้สืบการปกครองต่อจากจักรวรรดิอับบาซียะห์[26]

ระหว่างปี ค.ศ. 1548 ถึงปี ค.ศ. 1549 สุลต่านสุลัยมานก็ทรงเริ่มการรณรงค์เป็นครั้งที่สองในการพยายามที่จะทรงปราบปรามชาห์แห่งเปอร์เชียได้อย่างเด็ดขาด แต่ก็เช่นเดียวกับครั้งแรกทาห์มาสพ์เลี่ยงการต่อสู้แบบเผชิญหน้ากับกองทัพของจักรวรรดิออตโตมัน และทำทีถอยทัพ ระหว่างทางก็เผาบริเวณอาเซอร์ไบจานที่เป็นผลให้กองทัพของจักรวรรดิออตโตมันต้องเผชิญกับความทารุณของฤดูหนาวในบริเวณคอเคซัส[25] สุลต่านสุลัยมานจึงทรงจำต้องละทิ้งการรณรงค์เป็นการชั่วคราวหลังจากที่ได้ทาบริซและบริเวณอาเซอร์ไบจาน แคว้นวาน และป้อมปราการบางแห่งในจอร์เจียแล้ว[27]

ในปี ค.ศ. 1553 สุลต่านสุลัยมานทรงเริ่มการรณรงค์ในเอเชียเป็นครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายในการพยายามปราบปรามชาห์ทาห์มาสพ์ เมื่อเริ่มการรณรงค์พระองค์ก็เสียดินแดนในเอร์ซูรุมแก่พระโอรสของชาห์ แต่ก็ทรงตอบโต้โดยการยึดเอร์ซูรุมคืนได้ และเสด็จข้ามด้านเหนือของแม่น้ำยูเฟรทีสไปทำลายดินแดนบางส่วนของจักรวรรดิเปอร์เซีย กองทัพของชาห์ก็ยังคงใช้ยุทธการเดิมในการเลี่ยงการประจันหน้าที่เป็นผลทำให้ไม่มีฝ่ายที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ในปี ค.ศ. 1554 ทั้งสองฝ่ายก็ลงนามตกลงยุติความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการทำให้การรณรงค์ในทวีปเอเชียของสุลต่านสุลัยมานมายุติลง ในการยุติความขัดแย้งสุลต่านสุลัยมานทรงคืนทาบริซให้กับชาห์ทาห์มาสพ์ แต่ทรงได้แบกแดด, ด้านใต้ของเมโสโปเตเมีย ปากแม่น้ำยูเฟรทีสและแม่น้ำไทกริส และบางส่วนของอ่าวเปอร์เซียมาเป็นการตอบแทน[28] นอกจากนั้นชาห์ทาห์มาสพ์ก็ทรงสัญญายุติการก่อกวนเข้าไปในอาณาบริเวณที่อยู่ในการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน[29]

ยุทธการที่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแอฟริกาเหนือ[แก้]

บาร์บารอสซา เฮย์เรดดิน ปาชาได้รับชัยชนะต่อสันนิบาตคริสเตียนภายใต้การนำของผู้บังคับบัญชาการกองเรืออันเดรีย ดอเรียชาวเจนัวในยุทธการพรีเวซา ในปี ค.ศ. 1538
การล้อมเมืองมอลตาใน ค.ศ. 1565 เมื่อกองเรือตุรกีมาถึงมอลตา

หลังจากได้รับชัยชนะในการต่อสู้บนแผ่นดินใหญ่ยุโรปแล้วสุลต่านสุลัยมานก็ทรงได้รับข่าวว่าป้อมที่โคโรนิบนแหลมโมเรีย (คาบสมุทรเพโลพอนนีสในกรีซปัจจุบัน) เสียให้แก่นายพลเรืออันเดรีย ดอเรียทหารรับจ้างชาวเจนัวในจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 การขยายอำนาจของสเปนมาทางด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสร้างความวิตกให้แก่สุลต่านสุลัยมาน ผู้ทรงมีความเห็นว่าเป็นแนวโน้มที่แสดงการขยายอำนาจของจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 มาทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียนในบริเวณที่จักรวรรดิออตโตมันยังมีอำนาจเหนืออยู่ พระองค์จึงทรงเห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มความมั่นคงทางทะเลในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อมีพระราชดำริเช่นนั้นแล้วพระองค์ก็ทรงแต่งตั้งให้คาเอียร์ อัด ดินผู้เป็นที่รู้จักกันในยุโรปในนามว่า “บาร์บารอสซา เฮย์เรดดิน” หรือ “เฮย์เรดดินหนวดแดง” ให้เป็นผู้บัญชาการราชนาวีแห่งจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชากองเรือสูงสุดแล้วคาเอียร์ อัด ดินก็ได้รับมอบหมายให้เสริมสร้างกองทัพเรือของจักรวรรดิออตโตมันใหม่ การขยายตัวของราชนาวีเป็นผลให้กองทัพเรือของจักรวรรดิออตโตมันมีขนาดใหญ่เท่ากองทัพเรือของประเทศต่าง ๆ ในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมดรวมกัน[30] ในปี ค.ศ. 1535 เมื่อจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญต่อจักรวรรดิออตโตมันที่เมืองทูนิสและในการสงครามต่อต้านสาธารณรัฐเวนิสในปีต่อมา เป็นผลทำให้สุลต่านสุลัยมานทรงหันไปยอมรับข้อเสนอของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศสในการเป็นพันธมิตรร่วมกันในการต่อต้านการขยายอำนาจของจักรพรรดิคาร์ลที่ 5[24] ในปี ค.ศ. 1538 กองทัพเรือสเปนก็พ่ายแพ้ต่อบาร์บารอสซา เฮย์เรดดินในยุทธการที่พรีเวซา ซึ่งทำให้ตุรกีมีที่มั่นทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลา 33 ปีจนกระทั่งมาเสียไปในยุทธการที่เลปันโตในปี ค.ศ. 1571

จากนั้นจักรวรรดิออตโตมันก็ผนวกทางตะวันออกของโมรอกโกและอาณาบริเวณส่วนใหญ่ของแอฟริกาเหนือ ดินแดนในกลุ่มรัฐบาร์บารีที่ประกอบด้วยทริโพลิทาเนีย ตูนิเซีย และแอลจีเรียก็กลายเป็นจังหวัดภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ ซึ่งกลายเป็นข้อขัดแย้งหลักระหว่างสุลต่านสุลัยมานและจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ผู้พยายามขับตุรกีออกจากบริเวณฝั่งทะเลบาร์บารีในปี ค.ศ. 1541 แต่ไม่สำเร็จ[31] จากนั้นโจรสลัดบาร์บารีก็เที่ยวรังควานอยู่ในบริเวณแอฟริกาเหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านสเปน การขยายอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีความมั่นคงอยู่ชั่วระยะหนึ่ง นอกจากจะมีอำนาจในบริเวณนั้นแล้วออตโตมันก็ยังมีอำนาจในบริเวณทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซียอยู่จนกระทั่ง ค.ศ. 1554 เมื่อมาพ่ายแพ้ต่อกองทัพเรือของจักรวรรดิโปรตุเกส โปรตุเกสยึดออร์มุซ (ในช่องแคบฮอร์มุซ) ในปี ค.ศ. 1515 และยังคงแข่งขันกันกับจักรวรรดิออตโตมันในการมีอำนาจในการครอบครองเอเดนในเยเมนปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 1542 เมื่อต่างก็ต้องเผชิญกับอันตรายจากการขยายอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บวร์กพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศสก็ทรงรื้อฟื้นข้อตกลงพันธมิตรฝรั่งเศส-ออตโตมัน ซึ่งเป็นผลทำให้สุลต่านสุลัยมานทรงส่งกองเรือ 100 ลำ[32] ภายใต้การนำของบาร์บารอสซา เฮย์เรดดิน ปาชาไปช่วยฝรั่งเศสทางด้านตะวันตกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บาร์บารอสซาปล้นสดมฝั่งทะเลเนเปิลส์และซิซิลีก่อนที่จะไปถึงฝรั่งเศส พระเจ้าฟรองซัวส์ทรงตั้งตูลองให้เป็นกองบัญชาการของกองทัพเรือของจักรวรรดิออตโตมัน การรณงค์ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวกับที่บาร์บารอสซาโจมตีและยึดนีซ ในปี ค.ศ. 1543 ภายในปี ค.ศ. 1544 ก็ได้มีการสงบศึกระหว่างพระเจ้าฟร็องซัวกับจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ซึ่งก็เท่ากับเป็นการยุติการเป็นพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสและจักรวรรดิออตโตมัน

ทางด้านอื่นของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเมื่ออัศวินแห่งโรดส์ไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่มอลตาเป็นอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ในปี ค.ศ. 1530 การเป็นศัตรูต่อกองเรือมุสลิมของอัศวินในบริเวณนั้นสร้างความไม่พึงพอใจให้แก่จักรวรรดิออตโตมันผู้รวบรวมกองกำลังใหญ่เพื่อจะไปกำหราบอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ให้เสร็จสิ้น จักรวรรดิออตโตมันยกทัพไปรุกรานมอลตาในปี ค.ศ. 1565 และเริ่มเข้าล้อมเมืองเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม และไม่ได้สิ้นสุดลงจนกระทั่งถึงวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1565 เมื่อเริ่มแรกสถานะการณ์ก็คล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นที่โรดส์ เมื่อเมืองต่าง ๆ ถูกทำลายไปเป็นส่วนมากและครึ่งหนึ่งของอัศวินถูกสังหาร แต่มอลตาได้รับความช่วยเหลือจากสเปนซึ่งเป็นผลให้ฝ่ายออตโตมันต้องสูญเสียกองกำลังไปถึง 30,000 คนก่อนที่จะพ่ายแพ้[33] การล้อมมอลตาเป็นยุทธการที่ยุโรปถือว่าเป็นยุทธการที่สำคัญที่สุดยุทธการหนึ่งของยุโรปที่วอลแตร์ถึงกับกล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นที่รู้จักกันมากเท่ากับการล้อมมอลตา” และเป็นยุทธการครั้งแรกที่ทำให้ยุโรปยุติความเชื่อในความคงกระพันของจักรวรรดิออตโตมัน และเป็นการเริ่มต้นของความมีอิทธิพลของสเปนในบริเวณเมดิเตอเรเนียน[34]

การปฏิรูปทางด้านกฎหมายและด้านการศึกษา[แก้]

รูปนูนต่ำของสุลต่านสุลัยมานภายในที่ทำการของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรูปผู้มีความสำคัญในด้านการกฎหมายยี่สิบสามรูป

ในขณะที่สุลต่านสุลัยมานทรงเป็นที่รู้จักกันในตะวันตกในพระนามว่า "the Magnificent" พระองค์ก็ทรงเป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า "Kanuni Suleiman" หรือ "ผู้พระราชทานกฎหมาย" โดยไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของจักรวรรดิออตโตมันของพระองค์เอง นักประวัติศาสตร์ชาวสกอตลอร์ดคินรอสส์ตั้งข้อสังเกตว่าพระองค์มีพระปรีชาสามารถทางด้านการทหารเช่นเดียวกับพระราชบิดาและพระอัยกา แต่ทรงมีความแตกต่างกันจากทั้งสองพระองค์ตรงที่ไม่แต่จะทรงดาบเท่านั้นแต่ยังทรงปากกาด้วย นอกจากนั้นพระองค์ก็ยังทรงเป็นนักกฎหมายผู้มีความสามารถเป็นอันมาก[35]

กฎหมายสูงสุดของจักรวรรดิออตโตมันคือชะรีอะฮ์ (Shari'ah) หรือ “กฎหมายศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นกฎหมายของศาสนาอิสลามที่อยู่นอกพระราชอำนาจในการเปลี่ยนแปลง แต่ในด้านกฎหมายที่รู้จักกันว่า “กฎหมายคานุน” (Kanun) เป็นกฎบัตรที่ไม่อยู่ในข่ายของกฎหมายชะรีอะฮ์ แต่ขึ้นอยู่กับพระราชประสงค์ของสุลต่านสุลัยมานเท่านั้น คานุนครอบคลุมทั้งกฎหมายอาญา, กฎหมายที่ดิน และกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร[36] พระองค์ทรงเริ่มการปฏิรูป “กฎหมายคานุน” โดยการรวบรวมคำพิพากษาจากสุลต่านออตโตมันเก้าพระองค์ก่อนหน้านั้นเข้าด้วยกัน หลังจากที่ทรงเริ่มด้วยการกำจัดบทบัญญัติที่ซ้ำซ้อน และสะสางบทบัญญัติที่ขัดแย้งกันแล้ว พระองค์ก็ทรงออกเป็นประมวลกฎหมายฉบับเดียว โดยไม่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของกฎบัตรของศาสนาอิสลามแต่อย่างใด[37] ประมวญกฎหมายคานุนที่ออกมาเป็นทางการเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Kanun‐i Osmani” หรือ “กฎหมายออสมัน” ประมวลกฎหมายฉบับที่ทรงบัญญัติได้รับการใช้ปฏิบัติต่อมาอีกกว่าสามร้อยปีหลังจากนั้น[38]

สุลต่านสุลัยมานทรงมีความสนพระทัยในการต่อสู้ของชนชั้นรายาห์หรือผู้นับถือคริสต์ศาสนาที่ทำงานอยู่ในดินแดนที่เป็นของทหารม้าซิพาฮิ (Sipahi) กฎหมายรายาห์หรือ “บทบัญญัติรายาห์” ปฏิรูปกฎหมายในการเรียกเก็บภาษีจากกลุ่มชนรายาห์และยกฐานะของรายาห์เหนือกว่าการเป็นเพียงทาสที่ดิน (serfdom) ซึ่งเป็นผลทำให้คริสต์ศาสนิกชนผู้เป็นทาสที่ดินย้ายมาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่เป็นของจักรวรรดิออตโตมันเพื่อจะได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายปฏิรูปของพระองค์[39]

สุลต่านสุลัยมานทรงมีบทบาทสำคัญในการปกป้องข้าแผ่นดินที่เป็นชาวยิวในจักรวรรดิเป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา ในปลายปี ค.ศ. 1553 หรือปี ค.ศ. 1554 จากการถวายการแนะนำโดยโมเสส ฮามอน (Moses Hamon) ผู้เป็นนายแพทย์ชาวยิวประจำพระองค์สุลต่านสุลัยมานก็ทรงออก “พระราชกฤษฎีกาเฟอร์มัน” ที่ประณามการหมิ่นประมาทเรื่องเลือดซึ่งเป็นกล่าวหาเท็จอย่างเป็นทางการ[40]

นอกจากนั้นสุลต่านสุลัยมานก็ยังทรงออกกฎหมายอาญาและกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจใหม่ที่ระบุการปรับสำหรับข้อหาต่าง ๆ ที่ระบุ รวมทั้งลดจำนวนข้อหาที่มีบทลงโทษโดยการประหารชีวิต หรือการตัดชิ้นส่วนของร่างกายของผู้ทำความผิด ในด้านภาษีอากรพระองค์ก็ทรงระบุการเก็บภาษีอากรของสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งสัตว์, เหมือง, กำไรจากการค้าขาย และภาษีขาเข้า-ขาออก และถ้านายภาษีทำไม่ถูกไม่ควร ที่ดินและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ก็จะถูกยึดเป็นของหลวง

ในด้านการศึกษาก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่เป็นที่สนพระทัยของสุลต่าน จักรวรรดิออตโตมันมีระบบการศึกษาที่ประกอบด้วยสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมัสยิดและบริหารโดยสถาบันศาสนา สถานศึกษาเหล่านี้เป็นแหล่งให้การศึกษาโดยไม่เสียเงินแก่เด็กชาวมุสลิม ซึ่งที่เป็นสิ่งที่ก้าวหน้ากว่าระบบการศึกษาของเด็กผู้นับถือคริสต์ศาสนาในประเทศอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน[41] ในเมืองหลวงสุลต่านสุลัยมานก็ทรงเพิ่มจำนวน “mektebs” หรือโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นเป็นสิบสี่โรงเรียนที่สอนให้เด็กหัดอ่าน เขียน และเรียนรู้เกี่ยวกับหลักเบื้องต้นของศาสนาอิสลาม ผู้ที่ประสงค์จะศึกษาต่อก็สามารถเข้า “มาดราซาห์” (Madrasah) หรือวิทยาลัยหนึ่งในแปดวิทยาลัยที่ให้การศึกษาทางด้านไวยากรณ์ อภิปรัชญา ปรัชญา ดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์[41] วิทยาลัยชั้นสูงให้การศึกษาเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัย ผู้จบการศึกษาก็กลายเป็น “อิหม่าม” หรือครู ศูนย์กลางการศึกษาก็มักจะเป็นสิ่งก่อสร้างรอบ ๆ ลานมัสยิดซึ่งประกอบด้วยห้องสมุด, ห้องอาหาร, น้ำพุ, โรงซุป และสถานพยาบาลสำหรับสาธารณชน

ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม[แก้]

ตราพระปรมาภิไธยทูกราของสุลต่านสุลัยมานผู้เกีรยงไกร
มัสยิดสุลัยมานที่ออกแบบโดยซินาน

ภายใต้การปกครองของสุลต่านสุลัยมานจักรวรรดิออตโตมันก็เข้าสู่ยุคทองทางวัฒนธรรม สมาคมช่างศิลป์หลวงหลายแขนงที่เรียกว่า "Ehl-i Hiref" หรือ "สมาคมผู้มีพรสวรรค์" ก็ได้มีการก่อตั้งขึ้นมาเป็นจำนวนร้อย สมาคมช่างศิลป์เหล่านี้ที่บริหารจากราชสำนักในพระราชวังโทพคาปิ หลังจากการฝึกงานแล้วศิลปินและช่างก็สามารถเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปในแขนงที่ต้องการและได้รับรายได้สี่ครั้งต่อปี รายการการจ่ายเงินประจำปีก็ยังมีเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความมีบทบาทในการอุปถัมภ์ศิลปะของพระองค์ หลักฐานแรกของสมาคมช่างศิลป์มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1526 ที่เป็นรายชื่อของสมาคม 40 สมาคมพร้อมด้วยสมาชิกกว่า 600 คน “สมาคมผู้มีพรสวรรค์” เป็นสิ่งที่ดึงดูดศิลปินผู้มีฝีมือมายังราชสำนักของสุลต่านสุลัยมานทั้งจากในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน และจากดินแดนที่ทรงพิชิตได้ในยุโรปซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการผสมผสานทางศิลปะระหว่างวัฒนธรรมอิสลาม ตุรกี และยุโรป[42] ศิลปินที่เป็นข้าราชสำนักก็มีด้วยกันหลายสาขาที่รวมทั้ง จิตรกร ผู้ประกอบหนังสือ ช่างงานขนสัตว์ ช่างอัญมณี และช่างทองเป็นต้น ขณะที่ศิลปะในสมัยการปกครองก่อนหน้านั้นเป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเปอร์เชีย แต่ศิลปะในรัชสมัยของพระองค์เป็นศิลปะที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของตนเองโดยเฉพาะ[43]

นอกจากการสนับสนุนในด้านศิลปะแล้วสุลต่านสุลัยมานเองก็ยังทรงเป็นกวีผู้มีความสามารถและทรงพระราชนิพนธ์ได้ทั้งในภาษาเปอร์เซียและภาษาตุรกีโดยทรงใช้นามปากกาว่า “Muhibbi” (คนรัก) ข้อเขียนของพระองค์บางข้อกลายมาเป็นสุภาษิตที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น “ทุกคนมีความประสงค์ที่จะหมายความอย่างเดียวกัน แต่ต่างคนต่างก็มีเรื่องราวที่ต่างกัน” เมื่อพระราชโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1543 สุลต่านสุลัยมานก็ทรงประพันธ์เลขอักษร (chronogram) ที่สะเทือนอารมณ์เพื่อเป็นเกียรติแก่ปีนั้น: “ยุพราชผู้ไม่มีผู้ใดเท่าเทียม สุลต่านเมห์เหม็ดของข้า” พระนิพนธ์ที่ทรงเป็นภาษาตุรกีที่เทียบเท่ากับปี ฮ.ศ. 950 ที่เทียบเท่ากับปี ค.ศ. 1543 อันเป็นปีสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรส[44][45] นอกจากงานประพันธ์ของพระองค์แล้วก็ยังมีงานประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของนักประพันธ์อื่น ๆ เช่นฟูซูลิ และ บาคี นักประวัติศาสตร์วรรณกรรม อี. เจ. ดับเบิลยู. กิบบ์ตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่มีสมัยใด แม้แต่ในตุรกีเอง ที่มีการส่งเสริมสนับสนุนการกวีเท่ากับในรัชสมัยของสุลต่านพระองค์นี้”[44] บทเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของพระองค์คือ:


มนุษย์เรามีความคิดว่าความมั่งคั่งและอำนาจคือสิ่งที่เป็นที่เลิศที่สุดที่เกิดขึ้นได้,

แต่ในโลกนี้ความมีสุขภาพดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด
ที่เรียกกันว่ารัฏฐาธิปัตย์นั้นก็คือความขัดแย้งทางโลกและสงครามที่ต่อเนื่องกัน;

ความศรัทธาในพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่สูงที่สุด สิ่งที่นำมาซึ่งความสุขอันเป็นที่สุดเหนือสิ่งใด[46]

ในทางสถาปัตยกรรมสุลต่านสุลัยมานก็ทรงเป็นผู้มีชื่อเสียงในการเป็นผู้อุปถัมภ์สิ่งก่อสร้างใหญ่โตหลายแห่งภายในจักรวรรดิ พระองค์ทรงทำให้อิสตันบุลกลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมอิสลามโดยการทรงอุปถัมภ์โครงการต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างสะพาน มัสยิด พระราชวัง และสิ่งก่อสร้างอื่น สิ่งก่อสร้างชิ้นเอกหลายชิ้นสร้างโดยมิมาร์ ซินานสถาปนิกประจำราชสำนักผู้มีอิทธิพลที่ทำให้สถาปัตยกรรมของจักรวรรดิออตโตมันเจริญถึงจุดสุดยอด ซินานรับผิดชอบในการสร้างสิ่งก่อสร้างกว่าสามร้อยแห่งทั่วจักรวรรดิรวมทั้งงานชิ้นเอกสองชิ้น มัสยิดสุลัยมาน และมัสยิดเซลิม—มัสยิดสร้างในเอเดร์เนในรัชสมัยของสุลต่านเซลิมที่ 2 พระราชโอรสของพระองค์ นอกจากนั้นสุลต่านสุลัยมานก็ยังทรงบูรณปฏิสังขรณ์โดมทองแห่งเยรูซาเลมในกรุงเยรูซาเลม, กำแพงเมืองเยรูซาเลมซึ่งเป็นกำแพงเมืองเก่าเยรูซาเลมในปัจจุบัน กะอ์บะฮ์ในมักกะฮ์ และทรงสร้างสิ่งก่อสร้างชุดในดามัสกัส[47]

ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]

เฮอร์เรมสุลต่าน[แก้]

เฮอร์เรมสุลต่าน (ร็อกเซลานา)

สุลต่านสุลัยมานทรงเสกสมรสอย่างเป็นทางการกับร็อกเซลานา ทรงหลงรักเฮอร์เรมสุลต่านอย่างถอนพระองค์ไม่ขึ้น เฮอร์เร็มสุลต่านเดิมเป็นสตรีในฮาเร็มชาวรูเธเนียน นักการทูตชาวต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่าข่าวซุบซิบกันในราชสำนักเรียกพระองค์ว่า “รัสเซลลาซี” หรือ “ร็อกเซลานา” ซึ่งเป็นการพาดพิงไปถึงที่มาของพระองค์[48] ร็อกเซลานาเป็นลูกสาวของบาทหลวงอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ชาวยูเครน[28] ผู้ถูกจับมาเป็นทาสและในที่สุดก็ถูกขายให้แก่ฮาเร็มของสุลต่านสุลัยมาน ในที่สุดก็ได้เลื่อนฐานะขึ้นมาจนกระทั่งกลายมาเป็นพระอัครมเหสีคนที่ทรงโปรดปรานมากที่สุด และในที่สุดพระองค์ก็ทรงยกฐานะให้เป็นพระชายาตามกฎหมายซึ่งเป็นการขัดต่อประเพณีที่เคยทำกันมาก่อนหน้านั้น[28] และเป็นที่สร้างความประหลาดใจแก่ทั้งในบรรดาผู้สังเกตการณ์และประชาชน[49] นอกจากนั้นแล้วก็ยังพระราชทานพระราชานุญาตให้ร็อกเซลานามาประทับในพระราชวังร่วมกับพระองค์จนตลอดชีวิต ตามประเพณีตามปกติแล้วเมื่อรัชทายาทบรรลุนิติภาวะทั้งพระรัชทายาทและพระมารดาหรือพระชายาของสุลต่านก็จะถูกส่งไปปกครองอาณาบริเวณที่ไกล ๆ ออกไปภายในราชอาณาจักรและจะไม่ถูกเรียกตัวกลับมายังอิสตันบุลนอกจากในกรณีที่ว่าพระราชโอรสได้ขึ้นครองราชสมบัติ[50]

สุลต่านสุลัยมานพระราชนิพนธ์โดยใช้นามปากกาแก่ร็อกเซลานา:

“Throne of my lonely mihrab, my wealth, my love, my moonlight

My most sincere friend, my confidant, my very existence, my Sultan, my one and only love
The most beautiful among the beautiful…
My springtime, my merry faced love, my daytime, my sweetheart, laughing leaf…
My plants, my sweet, my rose, the one only who does not distress me in this world…
My Istanbul, my Karaman, the earth of my Anatolia
My Badakhshan, my Badhdad and Greater Khorasan
My woman of the beautiful hair, my love of the slanted brow, my love of eyes full of mischief…
I'll sing your praises always

I, lover of the tormented heart, Muhibbi of the eyes full of tears, I am happy.”[51]

อิบรอฮิม ปาชา[แก้]

งานภาพพิมพ์โดยอากอสติโน เวเนซิอาโนของสุลต่านสุลัยมานมหาราช[52] ดูมงกุฏสี่ชั้นที่ทรงสั่งทำจากเวนิสซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจและเหนือมงกุฎพระสันตะปาปาสามชั้น[53] มงกุฏลักษณะนี้ใช้สำหรับสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันแต่คงมิได้ใช้สวมแต่วางไว้ข้างพระที่นั่งขณะที่ทรงรับผู้เข้าเฝ้าโดยเฉพาะราชทูต[54]
ภาพเหมือนของสุลต่านสุลัยมานโดยไนการิในปลายรัชสมัยราวปี ค.ศ. 1560

ปาร์กาลิ อิบราฮิม ปาชาเป็นพระสหายของสุลต่านสุลัยมานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ อิบราฮิมเดิมนับถือคริสต์ศาสนา และเมื่อยังเด็กได้รับการศึกษาในโรงเรียนในพระราชวังภายใต้ระบบ “Devşirme” ที่เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กคริสเตียนผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามให้เป็นนายทหาร เมื่ออิบราฮิมเข้ารับราชการสุลต่านสุลัยมานทรงแต่งตั้งให้เป็นนายเหยี่ยวหลวง (Falconer) และต่อมาก็ทรงเลื่อนตำแหน่งขึ้นให้เป็นเจ้ากรมห้องพระบรรทม[55] ในที่สุดอิบราฮิม ปาชาได้รับเลื่อนให้เป็นมหาเสนาบดีในปี ค.ศ. 1523 และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทุกกองทัพในที่สุด และยังพระราชทาน “Beylerbey of Rumelia” ให้แก่ปาชาด้วยซึ่งเท่ากับเป็นการมอบอำนาจให้เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในดินแดนตุรกีต่าง ๆ ในยุโรปและในการเป็นแม่ทัพในยามสงครามที่จะเกิดขึ้น ตามคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อิบราฮิมทูลห้ามไม่ให้สุลต่านสุลัยมานเลื่อนฐานะของตนให้สูงส่งนักเพราะกลัวอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ตนเอง แต่สุลต่านสุลัยมานก็ประทานสัญญาว่าภายในรัชสมัยของพระองค์แล้วอิบราฮิมก็จะไม่ถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตไม่ว่าจะด้วยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น[56]

แต่จะอย่างไรก็ตามในที่สุดอิบราฮิมก็หลุดจากความเป็นคนโปรดของสุลต่านสุลัยมาน การที่ได้ตำแหน่งสูงมาอย่างรวดเร็วและความมั่งคั่งที่เกิดจากการมีอำนาจในระหว่างสิบสามปีที่เป็นมหาเสนาบดี ทำให้อิบราฮิมมีศัตรูมากมายในราชสำนัก ในที่สุดก็มีข่าวลือจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการรณรงค์ในอาณาจักรซาฟาวิยะห์ของจักรวรรดิเปอร์เซีย เมื่ออิบรอฮิมใช้ตำแหน่ง “Serasker sultan” ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่เท่ากับเป็นการหมิ่นพระบรมราชานุภาพ[57]

สุลต่านสุลัยมานมีความสงสัยในตัวอิบราฮิมมากยิ่งขึ้นเมื่ออิบราฮิมมีปากมีเสียงกับองคมนตรีคลังอิสเค็นเดอร์ เชเลบี ที่จบลงด้วยการที่อิบราฮิมถวายคำแนะนำให้สุลต่านสุลัยมานประหารชีวิตอิสเค็นเดอร์ เชเลบี แต่ก่อนที่เชเลบีจะเสียชีวิตก็ได้กล่าวหาว่าอิบราฮิมมีแผนการร้ายต่อสุลต่าน[57] คำพูดสุดท้ายของเชเลบีทำให้พระองค์ยิ่งทรงเพิ่มความระแวงในความจงรักภักดีของอิบราฮิมมากยิ่งขึ้น[57] และเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1536 ก็มีผู้พบร่างอันปราศจากชีวิตของอิบราฮิมในพระราชวังโทพคาปิ

การสืบราชบัลลังก์[แก้]

พระชายาสองพระองค์ของสุลต่านสุลัยมานมีพระราชโอรสด้วยกันแปดพระองค์ และสี่พระองค์รอดมาจนถึงคริสต์ทศวรรษ 1550: เซห์ซาด มุสตาฟา เซลิม เบยซิด, และจิฮานเกร์ ในบรรดาสี่พระองค์มุสตาฟาเป็นคนเดียวเท่านั้นที่มิได้เป็นโอรสของร็อกเซลานาแต่เป็นโอรสของสุลต่านกึลบาฮาร์ ("กุหลาบแห่งฤดูใบไม้ผลิ") และเป็นผู้มีสิทธิเหนือกว่าพระราชโอรสของร็อกเซลานาในการสืบสันตติวงศ์ ร็อกเซลานาทราบว่าถ้ามุสตาฟาได้เป็นสุลต่านพระโอรสของพระองค์ก็จะถูกสังหาร ตามธรรมเนียมในการขึ้นครองราชย์ของสุลต่านออตโตมันที่ผู้ขึ้นครองเป็นสุลต่านจะสังหารพี่น้องที่เป็นชายทุกคนโดยไม่มีการยกเว้น

มุสตาฟาทรงเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถกว่าบรรดาพี่น้องคนอื่น ๆ และได้รับการสนับสนุนโดยปาร์กาลิ อิบราฮิม ปาชาผู้ขณะนั้นยังเป็นคนสนิทของสุลต่าน ราชทูตออสเตรียกล่าวถึงมุสตาฟาว่าในบรรดาพระราชโอรสของสุลต่านสุลัยมานแล้วมุสตาฟาก็เป็นผู้ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีและมีพระชนมายุที่เหมาะสมที่จะขึ้นครองราชย์ซึ่งขณะนั้นก็ราว 24 หรือ 25 พรรษา ราชทูตก็เปรยต่อไปว่าขออย่าให้ผู้มีความเก่งกล้าเช่นมุสตาฟามีโอกาสเข้ามาใกล้ยุโรป และกล่าวต่อไปถึง "ความสามารถอันเป็นธรรมชาติ" ของพระองค์[58]

เป็นที่เชื่อกันร็อกเซลานามีส่วนเกี่ยวข้องกันการเสนอชื่อผู้ที่จะมาสืบราชบัลลังก์ต่อจากสุลต่านสุลัยมาน แม้ว่าในฐานะที่เป็นพระชายาของสุลต่านแล้วร็อกเซลานาก็ไม่น่าจะมีอำนาจอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกับสตรีในยุคเดียวกัน แต่ทั้งนี้ก็มิได้เป็นการหยุดยั้งร็อกเซลานาในการพยายามใช้อิทธิพลทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อจักรวรรดิไม่มีกฎเกณฑ์อย่างเป็นทางการในการแต่งตั้งรัชทายาท การหาตัวผู้สืบราชบัลลังก์จึงมักจะเป็นกระบวนการที่มักทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างผู้คิดว่าตนมีสิทธิในราชบัลลังก์ ซึ่งเป็นผลทำให้มีการเสียชีวิตกันบ้าง และเพื่อที่จะเป็นการป้องกันการเสียชีวิตของพระโอรสร็อกเซลานาก็พยายามใช้อิทธิพลในการกำจัดผู้ที่สนับสนุนมุสตาฟาในการขึ้นครองราชบัลลังก์[46]

ในการแก่งแย่งอำนาจที่เริ่มโดยร็อกเซลานา[55] โดยการยุยง สุลต่านจึงทรงมีคำสั่งให้สังหารของปาร์กาลิ อิบราฮิม ปาชาและแต่งตั้งรัสเต็ม ปาชาผู้เป็นพระโอรสเขยขึ้นแทนที่ผู้ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนพระองค์ ภายในปี ค.ศ. 1552 เมื่อมีการเริ่มรณรงค์ต่อต้านจักรวรรดิเปอร์เชียโดยมีรัสเต็ม ปาชาก็ได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด แผนการกำจัดมุสตาฟาก็เริ่มขึ้น รัสเต็มส่งผู้ที่สุลต่านสุลัยมานทรงไว้วางพระทัยไปทูลว่าในเมื่อพระองค์มิได้เป็นผู้นำทัพ บรรดาทหารต่างก็คิดว่าสมควรแก่เวลาแล้วที่จะให้มุสตาฟาขึ้นครองราชบัลลังก์ และสร้างข่าวลือว่ามุสตาฟาเห็นด้วยกับความคิดที่ว่านี้ สุลต่านสุลัยมานผู้ทรงเชื่อข่าวลือและมีความพิโรธก็ทรงสั่งให้เรียกตัวมุสตาฟากลับมาพิสูจน์พระองค์เอง[59]

มุสตาฟามีทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งคือเข้าเฝ้าพระราชบิดาซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อการถูกสังหาร หรือไม่ยอมเข้าเฝ้าซึ่งก็จะถูกกล่าวหาว่าทรยศ ในที่สุดพระองค์ก็ตัดสินพระทัยเข้าเฝ้าและเชื่อว่าจะทรงได้รับการสนับสนุนจากทหารผู้ซึ่งจะช่วยพิทักษ์พระองค์ บัสเบสค์อ้างว่าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ในวาระสุดท้ายของมุสตาฟาบรรยายว่า เมื่อมุสตาฟาเข้ามาในเต้นท์ของพระราชบิดาอีนุคก็เข้าจู่โจม พระองค์ทรงต่อสู้ด้วยความกล้าหาญ สุลต่านสุลัยมานทรงอยู่ห่างจากเหตุการณ์แต่เพียงม่านบังและทรงส่งสัญญาณให้อีนุคผู้ในที่สุดก็ล้มมุสตาฟาและเอาสายธนูรัดคอจนสิ้นพระชนม์[60]

เชื่อกันจิฮานเกร์พระมารดาของมุสตาฟาสิ้นพระชนม์เพียงสองสามเดือนให้หลัง จากความโทมนัสหลังจากที่ได้ข่าวว่าลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่งของมุสตาฟาก็ถูกฆาตกรรมตามไปด้วยเช่นกัน[61] พี่น้องอีกสองคนที่ยังรอดชีวิตอยู่ เบยซิดและเซลิมถูกส่งตัวไปยังส่วนอื่น ๆ ของจักรวรรดิ แต่ภายในสองสามปีหลังจากนั้นก็เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างพี่ ๆ น้อง ๆ ด้วยกัน แต่ละคนต่างก็มีกองสนับสนุนของตนเอง[62] เซลิมได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพของสุลต่านสุลัยมานและทรงได้รับชัยชนะต่อเบยซิดที่คอนยาในปี ค.ศ. 1559 เบยซิดต้องหนีไปพึ่งจักรวรรดิเปอร์เชียพร้อมกับลูกชายอีกสี่คน หลังจากการเจรจาทางการทูตแล้วสุลต่านก็เรียกร้องให้ชาห์ทาห์มาสพ์ แห่งจักรวรรดิเปอร์เชียให้สังหารเบยซิดหรือส่งตัวกลับ ชาห์ทาห์มาสพ์จึงทรงสังหารเบยซิดและพระโอรสทั้งสี่พระองค์ในปี ค.ศ. 1561 เป็นการแลกเปลี่ยนกับทองที่ได้รับจากสุลต่าน[61] การสังหารพระอนุชาและพระนัดดาก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เซลิมเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์เต็มตัว และทรงขึ้นครองเจ็ดปีต่อมา เมื่อวันที่ 5/6 กันยายน ค.ศ. 1566[63] สุลต่านสุลัยมานเสด็จจากอิสตันบุลเพื่อนำทัพไปรณรงค์ในราชอาณาจักรฮังการี แต่เสด็จสวรรคตก่อนที่จักรวรรดิออตโตมันจะได้รับชัยชนะต่อฮังการีในยุทธการ Szigetvár ในราชอาณาจักรฮังการี[64]

อนุสรณ์[แก้]

ดินแดนที่เป็นของจักรวรรดิออตโตมันสมัยที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด ในปี ค.ศ. 1683

เมื่อสุลต่านสุลัยมานเสด็จสวรรคตจักรวรรดิออตโตมันเป็นจักรวรรดิที่มีอำนาจทางการทหารอย่างที่ไม่มีประเทศใดเทียบได้ การเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง และแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาล[65] ดินแดนที่ทรงได้รับจากชัยชนะที่เข้ามาอยู่ในการปกครองของพระองค์คือเมืองสำคัญ ๆ ของศาสนาอิสลาม รวมทั้ง เมกกะ เมดินา เยรูซาเลม ดามัสกัส และ แบกแดด) ; เมืองในบริเวณคาบสมุทรบอลข่าน ไปจนถึงออสเตรียปัจจุบัน; และทางตอนเหนือของแอฟริกาเหนือ การขยายดินแดนของพระองค์ในยุโรปทำให้จักรวรรดิออตโตมันเข้ามามีอำนาจในยุโรปซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลของประเทศมหาอำนาจในบริเวณนั้น อำนาจทางทหารของพระองค์มีความแข็งแกร่งพอที่จะทำให้ประเทศในยุโรปหวาดกลัวต่อการรุกรานของพระองค์

แต่ชื่อเสียงของสุลต่านสุลัยมานมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงด้านการทหารเท่านั้น ฌอง เดอ เทเวโนท์ (Jean de Thévenot) นักเดินทางชาวฝรั่งเศสที่เดินทางไปยังตุรกีร้อยปีหลังจากที่เสด็จสวรรคตไปแล้วยังพบว่าระบบการเกษตรกรรมในตุรกียังเป็นวิธีที่สุลต่านสุลัยมานทรงริเริ่มไว้ซึ่งเป็นผลทำให้ตุรกีมีผลผลิตทางเกษตรกรรมสูง และการจัดระบบการปกครองของรัฐบาล[66] การปฏิรูปทางการบริหารและทางกฎหมายเป็นพระระบบที่ทรงก่อตั้งเพื่อให้เป็นระบบที่ทำให้จักรวรรดิอยู่รอดต่อมาอีกเป็นเวลานานหลังจากรัชสมัยของพระองค์ ความสำเร็จนี้ "ใช้เวลาหลายชั่วคนของผู้สืบเชื้อสายของพระองค์ในการทำลาย"[67]

การทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในด้านต่าง ๆ ทำให้จักรวรรดิออตโตมันในรัชสมัยของพระองค์ถือกันว่าเป็นยุคทองทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม วรรณกรรม ศิลปะ ศาสนวิทยา และปรัชญา[68][69] ในปัจจุบันภูมิทัศน์ของ ช่องแคบบอสฟอรัส และเมืองต่าง ๆ อีกหลายเมืองในตุรกียังคงเห็นร่องรอยของสถาปัตยกรรมของ มิมาร์ ซินาน ในบรรดาสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่สำคัญที่สุดคือ มัสยิดสุลัยมาน (Süleymaniye Mosque) ซึ่งเป็นที่ตั้งพระบรมศพของพระองค์และ เฮอร์เรมสุลต่าน พระศพของสองพระองค์ตั้งแยกกันภายใต้มอโซเลียม โดมติดกับมัสยิด

อ้างอิง[แก้]

  1. Ágoston, Gábor (2009). "Süleyman I". ใน Ágoston, Gábor; Bruce Masters (บ.ก.). Encyclopedia of the Ottoman Empire. p. 541.
  2. Ágoston, Gábor (2009). "Süleyman I". ใน Ágoston, Gábor; Bruce Masters (บ.ก.). Encyclopedia of the Ottoman Empire. p. 545.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 638
  4. Mansel, 61
  5. Atıl, 24.
  6. Clot, 25.
  7. Hope, Suleiman The Magnificent เก็บถาวร 2006-04-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. Clot, 28.
  9. Kinross, 175.
  10. Lamb, 14.
  11. Barber, 23.
  12. Imber, 49
  13. Clot, 39
  14. Kinross, 176
  15. Severy, 580
  16. Embree, Suleiman The Magnificent เก็บถาวร 2006-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  17. Kinross, 187
  18. Turnbull, Stephen (2003). The Ottoman Empire 1326 – 1699. New York: Osprey Publishing. p. 50.
  19. Imber, 50
  20. Labib, 444
  21. Imber, 52
  22. Imber, 53
  23. Imber, 54
  24. 24.0 24.1 Imber, 51
  25. 25.0 25.1 Sicker, 206
  26. Clot, 93
  27. 1548–49
  28. 28.0 28.1 28.2 Kinross, 236
  29. "ค.ศ. 1553–55". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-30. สืบค้นเมื่อ 2009-04-20.
  30. Clot, 87
  31. Kinross, 227
  32. Kinross, 53
  33. The History of Malta
  34. Fernand Braudel, The Mediterranean and the Mediterranean World in the Age of Philip II, vol. II ( University of California Press: Berkeley, 1995).
  35. Kinross, 205
  36. Imber, 244
  37. Greenblatt, 20.
  38. Greenblatt, 21.
  39. Kinross, 210
  40. Mansel, 124
  41. 41.0 41.1 Kinross, 211
  42. Atıl, The Golden Age of Ottoman Art เก็บถาวร 2011-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 24–33.
  43. Mansel, 70
  44. 44.0 44.1 Halman, Suleyman the Magnificent Poet
  45. Muhibbî (Kanunî Sultan Süleyman) (ตุรกี) In Turkish the chronogram reads شهزاده‌لر گزيده‌سی سلطان محمدم (Şehzadeler güzidesi Sultan Muhammed’üm), in which the Arabic Abjad numerals total 950, the equivalent in the Islamic calendar of 1543 AD.
  46. 46.0 46.1 Mansel, 84.
  47. Atıl, 26
  48. Ahmed, 43
  49. Mansel, 86
  50. Imber, 90
  51. A 400 Year Old Love Poem
  52. Agostino never saw the Sultan, but probably did see และsketch the helmet in Venice
  53. The Metropolitan Museum of Art. 1968. "Turquerie" The Metropolitan Museum of Art Bulletin, New Series 26 (5) : 229
  54. Levey, 65
  55. 55.0 55.1 Mansel, 87
  56. Clot, 49
  57. 57.0 57.1 57.2 Kinross, 230
  58. Clot, 155
  59. Clot, 157
  60. Kinross, 239
  61. 61.0 61.1 Mansel, 89
  62. Kinross, 240
  63. Yapp, สุลต่านสุลัยมาน I เก็บถาวร 2008-10-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  64. Imber, 60
  65. Clot, 298.
  66. Ahmed, 147.
  67. Lamb, 325.
  68. Atıl, 24.
  69. Russell, The Age of Sultan Suleyman

บรรณานุกรม[แก้]

สิ่งพิมพ์
  • Ahmed, Syed Z (2001). The Zenith of an Empire : The Glory of the Suleiman the Magnificent and the Law Giver. A.E.R. Publications. ISBN 978-0971587304.
  • Atıl, Esin (1987). The Age of Sultan Süleyman the Magnificent. Washington, D.C.: National Gallery of Art. ISBN 978-0894680984.
  • Atıl, Esin (July 1987/August). "The Golden Age of Ottoman Art". Saudi Aramco World. Houston, Texas: Aramco Services Co. 38 (4): 24–33. ISSN 1530-5821. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-09. สืบค้นเมื่อ 2007-04-18. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  • Barber, Noel (1976). Lords of the Golden Horn : From Suleiman the Magnificent to Kamal Ataturk. London: Pan Books. ISBN 978-0330247351.
  • Clot, André (1992). Suleiman the Magnificent : The Man, His Life, His Epoch. London: Saqi Books. ISBN 978-0863561269.
  • Greenblatt, Miriam (2003). Süleyman the Magnificent and the Ottoman Empire. New York: Benchmark Books. ISBN 978-0761414896.
  • Imber, Colin (2002). The Ottoman Empire, 1300–1650 : The Structure of Power. New York: Palgrave Macmillan. ISBN 978-0333613863.
  • Kinross, Patrick (1979). The Ottoman centuries : The Rise and Fall of the Turkish Empire. New York: Morrow. ISBN 978-0688080938.
  • Labib, Subhi (November 1979). "The Era of Suleyman the Magnificent: Crisis of Orientation". International journal of Middle East studies. London: Cambridge University Press. 10 (4): 435–451. ISSN 0020-7438.
  • Lamb, Harold (1951). Suleiman, the Magnificent, Sultan of the East. Garden City, N.Y.: Doubleday. OCLC 397000.
  • Levey, Michael (1975). The World of Ottoman Art. Thames & Hudson. ISBN 0500270651.
  • Lewis, Bernard (2002). What Went Wrong? : Western Impact and Middle Eastern Response. London: Phoenix. ISBN 978-0753816752.
  • Mansel, Phillip (1998). Constantinople : City of the World's Desire, 1453–1924. New York: St. Martin's Griffin. ISBN 978-0312187088.
  • Merriman, Roger Bigelow (1944). Suleiman the Magnificent, 1520–1566. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press. OCLC 784228.
  • Severy, Merle (November 1987). "The World of Süleyman the Magnificent". National geographic. Washington, D.C.: National Geographic Society. 172 (5): 552–601. ISSN 0027-9358.
  • Sicker, Martin (2000). The Islamic World In Ascendancy : From the Arab Conquests to the Siege of Vienna. Westport, Connecticut: Praeger. ISBN 978-0275968922.
  • "Suleiman The Lawgiver". Saudi Aramco World. Houston, Texas: Aramco Services Co. 15 (2): 8–10. March 1964/April. ISSN 1530-5821. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-13. สืบค้นเมื่อ 2007-04-18. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
แหล่งข้อมูลออนไลน์

ดูเพิ่ม[แก้]

  • Bridge, Anthony (1983). Suleiman the Magnificent, Scourge of Heaven. New York: F. Watts. OCLC 9853956.
  • Downey, Fairfax Davis. The Grand Turke, Suleyman the Magnificent, sultan of the Ottomans. New York: Minton, Balch & Company. OCLC 25776191.
  • Hooker, Richard. "The Ottomans: Suleyman". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1999-01-17. สืบค้นเมื่อ 2007-09-02.
  • Lybyer, Albert Howe (1913). The government of the Ottoman empire in the time of Suleiman the Magnificent. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press. OCLC 1562148.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ก่อนหน้า สุลัยมานผู้เกรียงไกร ถัดไป
สุลต่านเซลิมที่ 1 สุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน
(ค.ศ. 1520 - ค.ศ. 1566)
สุลต่านเซลิมที่ 2