ฟาโรห์พซัมติกที่ 4

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ซัมเมติคัสที่ 4 หรือ พซัมติกที่ 4 เป็นผู้ปกครองชาวอียิปต์โบราณที่มีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคการปกครองของเปอร์เซียครั้งที่หนึ่ง (ราชวงศ์ที่ยี่สิบเจ็ดแห่งอียิปต์)

หลักฐานยืนยัน[แก้]

มีโบราณวัตถุหลายชิ้นรวมถึงแหล่งข้อมูลของกรีกที่สนับสนุนการมีอยู่ของผู้ปกครองอียิปต์ที่พระนามดังกล่าวในช่วงการปกครองของเปอร์เซีย การค้นพบทางโบราณคดีที่ปรากฏพระนามดังกล่าวประกอบด้วยด้ามจับซิสทรัม ซึ่งปรากฏพระนามครองราชย์ว่า อมาซิส (อาโมส), ตราประทับสคารับที่ปรากฏพระนามครองราชย์ว่า Nb-k3-n-Rˁ, ชวาบติและบันทึกอักษรเดโมติกจากดิออสโพลิส ปาร์วา (บันทึกปาปิรุสสตราสเบิร์ก หมายเลข 2) ซึ่งย้อนไปถึงปีที่ 2 แห่งการครองงราชย์ ในขณะที่นักประพันธ์ชาวกรีก็กล่าวถึงพระนามผู้ปกครองพระองค์นี้หลายครั้ง[2] อย่างไรก็ตาม ความเห็นต่างของทั้งการระบุช่วงและพระนามที่ปรากฏบนเอกสารยืนยันเหล่านี้ ทำให้การอ้างเหตุผลต่อผู้ปกครองแต่ละพระองค์แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

การระบุตัวตน[แก้]

ในปี ค.ศ. 1980 ยูจีน ครูซ-อูริบ นักไอยคุปต์วิทยาชาวอเมริกันได้เสนอความเห็นเป็นครั้งแรก[3] ว่าบันทึกปาปิรุสสตราสเบิร์ก หมายเลข 2 จากดิออสโพลิส ปาร์วา ซึ่งตามบันทึกดังกล่าวว่าบันทึกขึ้นในช่วงรัชสมัยฟาโรห์ซัมเมติคัสที่ 3 แต่ที่แท้จริงแล้วกลับมีอายุใหม่กว่า และหมายถึงผู้ปกครองที่มีพระนามเดียวกันกับที่พระองค์เรียกว่า “ซัมเมติคัสที่ 4” จากข้อมูลของครูซ-อูริบ ผู้ปกครองพระองค์นี้ทรงปกครองพื้นที่ส่วนหนึ่งของอียิปต์ในประมาณช่วง 480 ก่อนคริสตกาล ซึ่งภายในทศวรรษดังกล่าวเฮโรโดตุสได้บันทึกว่าเกิดการก่อกบฏในอียิปต์ในช่วงปีสุดท้ายแห่งการครองราชย์ของกษัตริย์ดาริอัสที่ 1 และการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์เซอร์ซีสที่ 1 ผู้ทรงปราบการก่อกบฏทันที[4]

อันโธนี สปาลิงเกอร์ เชื่อว่า การระบุแหล่งข้อมูลของครูซ-อูริบนั้น "คลุมเครือเกินไป" และเห็นด้วยว่า ซัมเมติคัสที่ 4 จะเป็นบุคคลเดียวกับบิดาของอินารอสที่ 2 ซึ่งเฮโรโดตุสได้กล่าวถึงว่า เป็นชาวลิเบีย ตามแหล่งข้อมูลของกรีก อินารอสเป็น "กษัตริย์ของชาวลิเบีย" ซึ่งเป็นผู้นำการก่อกบฏต่อต้านชาวเปอร์เซียในช่วง 460 ก่อนคริสตกาล หากสมมติว่าการระบุนี้ถูกต้อง จึงดูเหมือนว่า ซัมเมติคัสนี้จะไม่มีอำนาจมากพอที่จะอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ของอียิปต์[2] ด้วยเหตุนี้ สปาลิงเกอร์จึงเชื่อว่าการค้นพบทางโบราณคดีดังกล่าวอาจจะเป็นของผู้ปกครองพระองค์ต่อมาที่มีพระนามเดียวกัน คือ นักประวัติศาสตร์ชาวเอเธนส์ ฟิโลคอรัส ได้บันทึกว่า ซัมเมติคัส (ที่ 5) ซึ่งน่าจะเป็นพระราชปนัดดาของซัมเมติคัสที่ 4 เพราะน่าจะเป็นพระโอรสของธันนิรอส ซึ่งเป็นพระราชโอรสของอินารอสที่ 2 ซึ่งเคยส่งธัญพืชไปยังเอเธนส์ในช่วง 445/4 ปีก่อนคริสตกาล[2] และดิโอโดรุส ซิคุลุสได้กล่าวถึงซัมเมติคัส (ที่ 6) ในฐานะกษัตริย์แห่งอียิปต์ในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล โดยกล่าวว่าพระองค์เป็น "เชื้อพระวงศ์ของซัมเมติคัสอันโด่งดัง" อย่างไรก็ตาม พระนามของซัมเมติคัสที่ 6 อาจจะถือว่าเป็นการเขียนพระนามผิดของฟาโรห์อไมร์เตอุสจากราชวงศ์ที่ยี่สิบแปด ซึ่งทรงปกครองตั้งแต่ 404 ถึง 399 ก่อนคริสตกาล[2]

ดูเพิ่ม[แก้]

  • เปทูบาสทิสที่ 3 – ผู้ปกครองกบฏชาวอียิปต์อีกพระองค์หนึ่งในช่วงการปกครองของเปอร์เซียครั้งที่หนึ่ง

อ้างอิง[แก้]

  1. จัดให้อยู่ในราชวงศ์นี้ด้วยเหตุผลตามลำดับเวลาเท่านั้น เนื่องจากพระองค์ไม่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์อะคีเมนิด
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Anthony Spalinger, Psammetichus IV; Psammetichus V; Psammetichus VI in Lexikon der Ägyptologie 4 (1982), pp. 1173–75.
  3. Eugène Cruz-Uribe, "On the Existence of Psammetichus IV". Serapis. American Journal of Egyptology 5 (1980), pp. 35–39.
  4. Leo Depuydt, Saite and Persian Egypt, 664 BC - 332 BC, in Erik Hornung, Rolf Krauss and David A. Warburton (eds.), Ancient Egyptian Chronology (= Handbook of Oriental studies. Section One. The Near and Middle East, Vol. 83). Brill, Leiden/Boston, 2006, ISBN 978 90 04 11385 5, p. 282