ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พระบาทมหาบรมสุคตะ
ส่วนพระเศียรของประติมากรรมเทวรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ณ พิพิธภัณฑ์ กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
พระเจ้าศรียโศธรปุระ
ครองราชย์ค.ศ. 1181–1218 (พ.ศ. 1724 – 1761)
ราชาภิเษกค.ศ. 1182[1]
ก่อนหน้าพระเจ้ายโศวรมันที่ 2
ถัดไปพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2
ประสูติค.ศ. 1122
เมืองพระนคร, จักรวรรดิเขมร
สวรรคตค.ศ. 1218 (อายุ 95–96)
ยโศธรปุระ, จักรวรรดิเขมร
มเหสีพระนางชยราชเทวี
พระนางอินทรเทวี
พระนางราเชนทรเทวี
พระราชบุตรศรีสูรยกุมาร
ศรีวีรกุมาร
ศรีนทรกุมาร
นฤปตีนทรกุมาร
พระนางสิงขรเทวี[ต้องการอ้างอิง]
พระนามเต็ม
ชัยวรธร
ราชวงศ์ราชวงศ์มหิธรปุระ
พระราชบิดาพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2
พระราชมารดาพระนางศรีชัยราชจุฑามณี
ศาสนามหายานแบบเขมร
แต่ก่อน ฮินดูไศวะนิกาย
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้จักรวรรดิเขมร
ผ่านศึก

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (เขมร: ជ័យវរ្ម័នទី៧) เป็นกษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 และพระนางศรีชัยราชจุฑามณี[2] พระองค์เป็นกษัตริย์องค์แรกที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงโปรดให้สร้างบายนถวายเป็นพุทธบูชา นักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปถือว่าพระองค์เป็นกษัตริย์เขมรที่มีพระราชอำนาจมากที่สุด[3] พระองค์มีโครงการมากมาย ทั้งโรงพยาบาล ทางหลวง ที่พัก และวัด พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้รับการยกย่องในการสร้างรัฐสวัสดิการที่ตอบสนองความต้องการของชาวเขมรโดยมีพระพุทธศาสนาเป็นแรงผลักดัน[4]

พระราชประวัติ

[แก้]
พระบรมรูปสีผึ้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรพระนคร ขณะทรงประกอบพระราชกรณียกิจ พิพิธภัณฑ์เมืองเสียมราฐ

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 ประสูติเมื่อประมาณ พ.ศ. 1663 หรือ พ.ศ. 1668 พระนามเดิมคือเจ้าชายวรมัน ทรงเสกสมรสตั้งแต่ทรงพระเยาว์กับเจ้าหญิงชัยราชเทวี สตรีที่มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญที่สุดเหนือพระองค์ รวมทั้งโน้มนำให้พระองค์หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน

ราว พ.ศ. 1720 – 1721 พระเจ้าชัยอินทรวรมันแห่งอาณาจักรจามปา ทรงนำทัพจามบุกเข้าโจมตียโศธรปุระ กองทัพเรือจามบุกเข้าถึงโตนเลสาบ เผาเมือง และปล้นสะดมสมบัติกลับไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจับพระเจ้าตรีภูวนาทิตวรมันประหารชีวิต เชื่อกันว่า การรุกรานเมืองยโศธรปุระครั้งนั้น เจ้าชายวรมันได้วางเฉยยอมให้เมืองแตก จากนั้นพระองค์จึงกู้แผ่นดินขึ้นมาใหม่ โดยนำทัพสู้กับพวกจามนานถึง 4 ปี จนสามารถพิชิตกองเรือจามผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือได้อย่างราบคาบ ในยุทธการทางเรือที่โตนเลสาบ

พ.ศ. 1724 ยโศธปุระกลับสู่ความสงบ พระองค์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พร้อมกับบูรณปฏิสังขรณ์ราชธานีขึ้นมาใหม่ รู้จักกันในชื่อ “เมืองพระนคร” หรือ “นครธม” หรือ “นครใหญ่” และย้ายศูนย์กลางของราชธานีจากปราสาทปาปวนในลัทธิไศวนิกาย มายังปราสาทบายนที่สร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นศาสนสถานในลัทธิมหายานแทน จากนั้นมา ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรเขมรโบราณก็คือ ปราสาทบายน หรือนครธม

พระองค์ทรงสถาปนาคติ “พระพุทธเจ้าที่ยังมีชีวิต” หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขึ้นมา ซึ่งหมายถึงตัวพระองค์เอง คือพระโพธิสัตว์ที่เกิดมาเพื่อปัดเป่าทุกข์ภัยให้แก่ราษฎร ภาพสลักรูปใบหน้าที่ปรากฏตามปรางค์ในหลายปราสาทที่ทรงสร้างขึ้น เชื่อว่าคือใบหน้าของพระองค์ในภาคพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั่นเอง

หลังจากสถาปนาศูนย์กลางอาณาจักรแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงทรงแก้แค้นศัตรูเก่าคืออาณาจักรจามปา ใน พ.ศ. 1733 กองทัพของพระองค์ก็สามารถยึดเมืองวิชัยยะ เมืองหลวงของจามปาได้ นอกเหนือจากการสงครามแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างพุทธสถานไว้มากมาย เช่น ปราสาทบันทายคดี ปราสาทตาพรม ที่สร้างถวายพระมารดา ปราสาทพระขรรค์ สร้างถวายพระบิดา ปราสาทตาโสม ปราสาทนาคพัน ปราสาทบันทายฉมาร์ ในเขตประเทศไทยปัจจุบัน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นผู้บูรณะปราสาทหินพิมายซึ่งสันนิษฐานเป็นเมืองเกิดของพระมารดา และปราสาทเขาพนมรุ้ง ให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และยังมีอาณาจักรละโว้ เมืองศรีเทพ อีกด้วย

นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้สร้าง “บ้านมีไฟ” หรือที่พักคนเดินทาง ซึ่งก่อด้วยศิลา และจุดไฟไว้ตลอด ศาสตราจารย์ หลุยส์ ฟิโนต์ ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ เรียกอาคารแบบนี้ว่า “ธรรมศาลา”

จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ กล่าวถึงที่พักคนเดินทางว่ามีจำนวน 121 แห่ง อยู่ตามทางเดินทั่วราชอาณาจักร และตามทางเดินไปเมืองต่าง ๆ ในจำนวนนั้น มี 17 แห่งอยู่ระหว่างการเดินจากเมืองพระนครไปยังเมืองพิมาย ซึ่งศาสตรจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล พบว่าที่พักคนเดินทางเท่าที่ค้นพบแล้วมี 7 แห่ง แต่ละแห่งห่างกันประมาณ 12 – 15 กิโลเมตร จารึกปราสาทพระขรรค์ระบุอีกว่า มีการสร้างโรงพยาบาล หรือที่จารึกเรียกว่า “อโรคยาศาลา” จำนวน 102 แห่ง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสร้างพระชัยพุทธมหานาถ ส่งไปประดิษฐานที่วิหารใน 23 ตำบลคือ ศรีชยราชธานี ศรีชยันตครี ศรีชยสิงหวดี ศรีชยวีรวดี ศรีชยสตัมภบุรี ศรีชยราชคีรี ศรีชยวีรบุรี ศรีชยวัชรตี ศรีชยกีรติบุรี ศรีชยเกษมบุรี ศรีวิชยาทิบุรี ศรีชยสิงหคราม มัธยมครามกะ สมเรนทรครามะ ศรีชยบุรี วีหาโรตตรกะและปูราวาส กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีส่วนหนึ่งอยู่ในเขตประเทศไทยคือ ละโว้ทยปุระ (ลพบุรี) สุวรรณปุระ (สุพรรณบุรี) ศัมพูกปัฏฏนะ (โกสินารายณ์) ชยราชบุรี (ราชบุรี) ศรีชยสิงหบุรี (กาญจนบุรี) และศรีชยวัชรบุรี (เพชรบุรี)[5]

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสด็จสวรรคตประมาณปี พ.ศ. 1758 หรือ พ.ศ. 1762 เชื่อกันว่ามีพระชนมพรรษายืนยาวถึง 94 ปี ด้วยฉลองพระนามหลังสวรรคตว่า “มหาบรมสุคตะ” หมายความว่า พระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่

นครธม

[แก้]
ประติมากรรมพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ประตูด้านใต้ของประตูเมืองนครธม

นครธม (เขมร: អង្គរធំ) เป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขะแมร์ สถาปนาขึ้นในปลายคริสต์ศวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของ นครวัด ภายในเมืองมีสิ่งก่อสร้างมากมายนับแต่สมัยแรก ๆ และที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และรัชทายาท ใจกลางพระนครเป็นปราสาทหลักของพระเจ้าชัยวรมัน เรียกว่า ปราสาทบายน และมีพื้นที่สำคัญอื่น ๆ รายล้อมพื้นที่ชัยภูมิถัดไปทางเหนือ

จุดเด่นที่สุดคือทางเข้าด้านใต้ ที่มีลักษณะเป็นหน้า 4 หน้า ก่อนจะเข้าสู่บริเวณนี้ จะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่สองข้างสะพาน เมื่อเข้าสู่ใจกลางนครธมจะพบสิ่งก่อสร้างต่างๆ บริเวณประตูด้านใต้นี้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูไว้ได้ดีกว่าบริเวณอื่น ๆ อีก 3 ด้าน

อ้างอิง

[แก้]
  • Jean Boiselier: Refléxions sur l'art du Jayavarman VII., BSEI (Paris), 27 (1952) 3: 261-273.
  • Georges Coedès: Un grand roi de Cambodge - Jayavarman VII., Phnom Penh 1935.
  • Georges Coedès: Les hôpitaux de Jayavarman VII., BEFEO (Paris), 40 (1940): 344-347.
  • Louis Finot: Lokésvara en Indochine, Paris: EFEO, 1925.
  • Paul Mus: Angkor at the Time of Jayavarman VII., Bulletin de Société des Études Indochinoises (Paris), 27 (1952) 3: 261-273.
  • Jan Myrdal/Gun Kessle: Angkor - An Essay on Art and Imperialism, New York 1970.
  • Philippe Stern: Les monuments du style de Bayon et Jayavarman VII., Paris 1965.

หมายเหตุ

[แก้]
  1. Chandler, David (2008). A History of Cambodia. Avalon. ISBN 978078673-3156.
  2. Coedès, George (1968). Vella, Walter F. (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. แปลโดย Brown Cowing, Susan. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  3. "ការគ្រងរាជ្យរបស់ព្រះបាទជ័យវរ្ម័នទី៧ (ភាគ១៦)" (ภาษาเขมร). Radio Free Asia. 4 June 2014. สืบค้นเมื่อ 4 June 2014.
  4. Reynolds, F. E. (n.d.). Jayavarman VII. Britannica. Retrieved March 24, 2022, from Encyclopædia Britannica
  5. Woodward, H. W., & Douglas, J. G. (1994). The Jayabuddhamahānātha Images of Cambodia. The Journal of the Walters Art Gallery, 52/53, 105–111. http://www.jstor.org/stable/20169099

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ก่อนหน้า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถัดไป
พระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน พระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร
(พ.ศ. 1724 - พ.ศ. 1762)
พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2