จักรพรรดิเฉียนหลง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฉียนหลง
จักรพรรดิราชวงศ์ชิง
ครองราชย์18 ตุลาคม ค.ศ. 1735 - 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1796
(60 ปี 124 วัน)
ก่อนหน้าจักรพรรดิยงเจิ้ง
ถัดไปจักรพรรดิเจียชิ่ง
พระราชสมภพ25 กันยายน ค.ศ. 1711(1711-09-25)
พระราชวังต้องห้าม
หงลี่
สวรรคต7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1799(1799-02-07) (87 ปี)
พระราชวังต้องห้าม
อัครมเหสีจักรพรรดินีเซี่ยวเสียนฉุน
จักรพรรดินีจี้
จักรพรรดินีเซี่ยวอี๋ฉุน
พระนามเต็ม
จักรพรรดิชิงเกาจง
รัชศก
เฉียนหลง (Qianlong , 1736 - 1796)
พระสมัญญานาม
Fǎ tiān lóngyùn zhìchéng xiānjué tǐ yuán lì jí fū wén fèn wǔ qīnmíng xiàocí shénshèng chún huángdì
法天隆運至誠先覺體元立極敷文奮武欽明孝慈神聖純皇帝
พระอารามนาม
ชิงเกาจง (清高宗)
ราชวงศ์ชิง
พระราชบิดาจักรพรรดิยงเจิ้ง
พระราชมารดาจักรพรรดินีเซี่ยวเชิ่งเซี่ยน
ช่วงเวลา
เหตุการณ์สำคัญจัดทำสารานุกรม คู่เฉวียนซู่

จักรพรรดิเฉียนหลง (จีน: 乾隆; พินอิน: Qiánlóng) ฮกเกี้ยนว่า เขียนหลง[1] (หมิ่นหนาน: Kiân-liông) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 5 ของราชวงศ์ชิง ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2254 (ค.ศ. 1711) เดิมมีพระนามว่าหงลี่ (弘曆) เป็นพระราชโอรสในจักรพรรดิยงเจิ้ง และเป็นพระราชนัดดาองค์โปรดของจักรพรรดิคังซี เพราะมีความเฉลียวฉลาดมาแต่ยังเด็ก จักรพรรดิเฉียนหลงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2278 (ค.ศ. 1735) ขณะมีพระชนมายุได้ 24 พรรษา และใช้ชื่อศักราชว่า เฉียนหลง

จักรพรรดิเฉียนหลงได้สร้างความเจริญมากมายให้กับประเทศจีน โดยเฉพาะการจัดทำสารานุกรม ซื่อคู่เฉวียนซู ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2316 (ค.ศ. 1773) - พ.ศ. 2325 (ค.ศ. 1782) ถือเป็นมรดกโลกที่สำคัญชิ้นหนึ่ง

รัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงมีเรื่องราวที่เป็นสีสัน เล่าขาน เป็นตำนานต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องที่ลือกันว่าแท้ที่จริงแล้วมิได้เป็นพระโอรสของจักรพรรดิหย่งเจิ้น หรือเรื่องราวที่ชอบแปลงตนเองเป็นสามัญชนท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ จนได้ฉายาว่า "จักรพรรดิเจ้าสำราญ" ส่วนเรื่องคำกล่าวที่ว่าจักรพรรดินีเซี่ยวเชิ่งเซี่ยนซึ่งเป็นพระราชมารดาของจักรพรรดิเฉียนหลงไม่โปรดเซียงเฟย์ ถึงขั้นสั่งประหาร ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสู่สวรรคาลัยไปก่อนเซียงเฟย์ถึง 11 ปี ฉะนั้น สมเด็จพระพันปีหลวงจึงมาสั่งประหารไม่ได้แน่นอน

จักรพรรดิเฉียนหลงมีคนสนิทที่ทรงใกล้ชิดอยู่คนหนึ่งชื่อเหอเชิน ที่มักคอยเอาอกเอาใจอยู่ตลอด และมักชวนจักรพรรดิเฉียนหลงเสเพลอยู่เสมอ ๆ จักรพรรดิเฉียนหลงโปรดเหอเชินมากถึงขนาดยกพระธิดาองค์หนึ่งคือ เจ้าหญิงกู้หลุนเหอเซี่ยว ให้เป็นคู่หมั้นของลูกชายเหอเชินตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เหอเชินเหิมเกริม กระทำการทุจริตต่าง ๆ นานา ยิ่งโดยเฉพาะในปลายรัชสมัยมีการจับจ่ายใช้เงินทองจำนวนมากเพื่อความสำราญของคนในพระราชวัง กล่าวว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของความอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ของราชวงศ์ชิงด้วย หลังจากรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลงแล้ว

จักรพรรดิเฉียนหลงมีพระโอรสที่ปรีชาสามารถมากคือเจ้าชายหย่งฉี พระราชโอรสองค์ที่ 5 ซึ่งประสูติแต่ยฺหวีกุ้ยเฟย์ (愉貴妃) เจ้าชายหย่งฉีเป็นผู้ที่ปรีชาสามารถทั้งบุ๋นและบู๊ เป็นความหวังว่าจะได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ แต่กลับสิ้นพระชนม์เสียก่อนตั้งแต่ยังหนุ่ม

ในปี พ.ศ. 2338 (ค.ศ. 1795) ปีที่ 60 ที่ทรงครองราชย์จักรพรรดิเฉียนหลงได้สละราชสมบัติให้พระโอรสที่ชื่อ หย่งเยี๋ยน พระราชโอรสลำดับที่ 15 ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเจี่ยชิ่ง ด้วยไม่ปรารถนาจะครองราชย์ยาวนานเกินกว่าจักรพรรดิคังซีผู้เป็นพระอัยกา (ปู่) อย่างไรก็ตามแม้จะสละราชบัลลังก์แล้วแต่อำนาจที่แท้จริงยังคงอยู่กับพระองค์ โดยทรงขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นพระเจ้าหลวง (太上皇帝)

ในปี พ.ศ. 2342 (ค.ศ. 1799) จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จสวรรคตจักรพรรดิเจี่ยชิ่งจึงได้ครองราชย์อย่างแท้จริงและพระองค์ก็เริ่มกำจัดเหอเชินทันทีและบังคับให้เขาฆ่าตัวตายหลังสิ้นสุดยุคของจักรพรรดิเฉียนหลงแล้วจักรพรรดิองค์ต่อ ๆ มาของราชวงศ์ชิงต่างไม่มีองค์ไหนมีความสามารถโดดเด่น ทำให้ราชวงศ์ชิงอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และประเทศจีนเริ่มถูกต่างชาติเข้าแทรกแซงยึดครอง

ตลอดยุคสมัยที่ยาวนานกว่า 60 ปี ของจักรพรรดิเฉียนหลงเต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีสีสันจนเลื่องลือมาถึงปัจจุบันมีวรรณกรรมมากมายที่บอกเล่าถึงยุคสมัยของพระองค์ รวมทั้งภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ ที่จัดสร้างหลายครั้งหลายหนกล่าวถึงเนื้อหาต่าง ๆ เช่น เรื่องที่เล่าลือกันว่า พระองค์แท้ที่จริงมิใช่พระโอรสของจักรพรรดิยงเจิ้ง แต่เป็นบุตรชายของอำมาตย์คนหนึ่ง เมื่อพระมเหสีของจักรพรรดิยงเจิ้งให้ประสูติกาลบุตรออกมาเป็นบุตรสาว จึงสลับลูกกันกับอำมาตย์ผู้นี้ ดังที่ปรากฏในเรื่อง จอมใจจอมยุทธ์ แต่เรื่องนี้คงเป็นได้แค่เรื่องแต่งเพราะจักรพรรดิเฉียนหลงเองก็ทรงมีหน้าตาที่คล้ายคลึงกับจักรพรรดิยงเจิ้งมาก จึงไม่ควรยึดเป็นความจริงและ เรื่องราวในรัชสมัยพระองค์ยังถูกนำมาแสดงเป็นภาพยนตร์เรื่อง องค์หญิงกำมะลอ ซึ่งเป็นเรื่องขององค์หญิงหวนจู ซึ่งดัดแปลงมาจากพระธิดาบุญธรรมขององค์จักรพรรดิมาเป็นองค์หญิงหวนจู

พระบรมวงศานุวงศ์[แก้]

  • เฟย (妃)
    • ซูเฟย (舒妃) จากสกุลเย่เฮ่อน่าลา (葉赫那拉)
    • อวี้เฟย (豫妃) จากสกุลปั๋วเอ่อร์จี้จี๋เท่อ (博爾濟吉特)
    • หรงเฟย์ (香妃) หรือเซียงเฟย์ (容妃) (พระมเหสีเสาวคนธ์) จากสกุลเหอจัว (和卓)
    • จิ้นเฟย (晉妃) จากสกุลฟู่ฉา (富察)
    • ตุนเฟย (惇妃) จากสกุลหวาง (汪)
    • ฟางเฟย (芳妃) จากสกุลเฉิน (陳)
  • พระราชโอรส
    • องค์ชายใหญ่หย่งหวง (永璜,1728-1750) ติ้งอันชินอ๋อง (定安親王) สถาปนาหลังสิ้นพระชนม์ ; พระโอรสของเจ๋อหมิ่นหวงกุ้ยเฟย สกุลฟู่ฉา
    • องค์ชายรองหย่งเหลียน (永璉,1730–1738) รัชทายาทตวนฮุ้ย (端慧皇太子) พระโอรสของจักรพรรดินีเซี่ยวเซี่ยนชุน สกุลฟู่ฉา
    • องค์ชายสามหย่งจาง (永璋,1735-1760) สุนจุ้นอ๋อง(循郡王) สถาปนาหลังสิ้นพระชนม์ ; พระโอรสของฉุนฮุ่ยหวงกุ้ยเฟย สกุลซู
    • องคชายสี่หย่งเฉิง (永珹,1739–1777) หลิ่วตวนชินอ๋อง (履端親王,1763-1777) พระโอรสของซูเจียหวงกุ้ยเฟย สกุลจินเจีย
    • องค์ชายห้าหย่งฉี (永琪,1741–1766) หรงฉุนชินอ๋อง (榮純親王,1765-1766) พระโอรสของอวี๋กุ้ยเฟย สกุลเคอหลี่เย่เท่อ
    • องค์ชายหกหย่งหรง (永瑢,1744–1790) จื้อจวงชินอ๋อง (質莊親王,1759-1790) พระโอรสของฉุนฮุ่ยหวงกุ้ยเฟย สกุลซู
    • องค์ชายเจ็ดหย่งสง (永琮,1746–1747) เจ๋อชินอ๋อง (哲親王) สถาปนาหลังสิ้นพระชนม์ ; พระโอรสของจักรพรรดินีเซี่ยวเซี่ยนฉุน สกุลฟู่ฉ่า
    • องค์ชายแปดหย่งเสวียน (永璇,1746–1832) อี๋เซิ่นชินอ๋อง (儀慎親王,1779-1832) พระโอรสของซูเจียหวงกุ้ยเฟย สกุลจินเจีย
    • องค์ชายเก้าหย่งหยู (1748–1749) พระโอรสของซูเจียหวงกุ้ยเฟย สกุลจินเจีย
    • องค์ชายสิบ (ไม่ปรากฏพระนาม) (1751–1753) พระโอรสของซูเฟย สกุลเย่เฮ่อน่าลา
    • องค์ชายสิบเอ็ดหย่งซิง (永瑆,1752–1823) เฉิงเจ๋อชินอ๋อง (成哲親王,1789-1823) พระโอรสของซูเจียหวงกุ้ยเฟย สกุลจินเจีย
    • องค์ชายสิบสองหย่งจี (永璂,1752-1776) เป้ยเล่อ (貝勒) พระโอรสของจักรพรรดินีอูลาน่าลาหรือจี้ฮองเฮา สกุลอูลาน่าลา
    • องค์ชายสิบสามหย่งจิ่ง (永璟,1755–1757) พระโอรสของจักรพรรดินีอูลาน่าลาหรือจี้ฮองเฮา สกุลอูลาน่าลา
    • องค์ชายสิบสี่หย่งลู่ (永璐,1757–1760) พระโอรสของจักรพรรดินีเซี่ยวอี๋ฉุน สกุลเว่ยเจีย
    • องคชายสิบห้าหย่งเหยี๋ยน (永琰,1760–1820) เจียชินอ๋อง (嘉親王) ภายหลังเป็นจักรพรรดิเจียชิ่ง  ; พระโอรสของจักรพรรดินีเซี่ยวอี๋ฉุน สกุลเว่ยเจีย
    • องค์ชายสิบหก (ไม่ปรากฏพระนาม) (1763–1765) พระโอรสของจักรพรรดินีเซี่ยวอี๋ฉุน สกุลเว่ยเจีย
    • องค์ชายสิบเจ็ดหย่งหลิน (永璘,1766–1820) ชิ่งซีชินอ๋อง (慶僖親王,1789-1820) พระโอรสของจักรพรรดินีเซี่ยวอี๋ฉุน สกุลเว่ยเจีย
  • พระราชธิดา
    • องค์หญิงใหญ่ (ไม่ปรากฏพระนาม) (1728–1729) พระธิดาของจักรพรรดินีเซี่ยวเซี่ยนฉุน สกุลฟู่ฉา
    • องค์หญิงรอง (ไม่ปรากฏพระนาม) (1731) พระธิดาของเจ๋อหมิ่นหวงกุ้ยเฟย สกุลฟู่ฉา
    • องค์หญิงสามกู้หลุนเหอจิ้ง (固倫和敬公主,1731–1792) พระธิดาของจักรพรรดินีเซี่ยวเซี่ยนฉุน สกุลฟู่ฉา
    • องค์หญิงสี่เหอโซ่วเหอเจีย (和碩和嘉公主,1745–1767) พระธิดาของฉุนฮุ่ยหวงกุ้ยเฟย สกุลซู
    • องค์หญิงห้ากู้หลุนเหออี้ (1753-1755) พระธิดาของจักรพรรดินีอูลาน่าลา สกุลอูลาน่าลา
    • องค์หญิงหก (ไม่ปรากฏพระนาม) (1755-1758) พระธิดาของซินกุ้ยเฟย สกุลไต้เจีย
    • องค์หญิงเจ็ดกู้หลุนเหอชิ่ง (固倫和靜公主,1756–1775) พระธิดาของจักรพรรดินีเซี่ยวอี๋ฉุน สกุลเว่ยเจีย
    • องค์หญิงแปด (ไม่ปรากฏพระนาม) (1758–1767) พระธิดาของซินกุ้ยเฟย สกุลไต้เจีย
    • องค์หญิงเก้าเหอโซ่วเหอเค่อ (和碩和恪公主,1758–1780) พระธิดาของจักรพรรดินีเซี่ยวอี๋ฉุน สกุลเว่ยเจีย
    • องค์หญิงสิบกู้หลุนเหอเซี่ยว (固倫和孝公主,1775–1823) พระธิดาของตุนเฟย สกุลหวัง
  • พระราชธิดาบุญธรรม

พงศาวลี[แก้]

พระสาทิสลักษณ์ที่ยังคงเหลืออยู่[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 68
บรรณานุกรม
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
ก่อนหน้า จักรพรรดิเฉียนหลง ถัดไป
จักรพรรดิยงเจิ้ง
จักรพรรดิจีน
(พ.ศ. 2278 - 2339)
จักรพรรดิเจียชิ่ง