ฟาโรห์อินโยเตฟที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วาอังค์ อินเตฟที่ 2 (หรือ อินโยเตฟที่ 2 และอันเตฟที่ 2) เป็นผู้ปกครองพระองค์ที่สามจากราชวงศ์ที่สิบเอ็ดแห่งอียิปต์ในช่วงระหว่างกลางที่ที่หนึ่ง พระองค์ทรงครองราชย์เป็นเวลาเกือบห้าสิบปี ตั้งแต่ 2112 ปีก่อนคริสตกาล ถึง 2063 ปีก่อนคริสตกาล[3] เมืองหลวงของพระองค์ตั้งอยู่ที่ธีบส์ ในรัชสมัยของพระองค์ดินแดนอียิปต์ถูกแบ่งออกเป็นราชวงศ์ท้องถิ่นย่อยหลายแห่ง พระองค์ถูกฝังอยู่ในหลุมฝังพระศพที่เอล-ทารีฟ

พระราชวงศ์[แก้]

พระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์ คือ ฟาโรห์เมนทูโฮเทปที่ 1 และพระนางเนเฟรูที่ 1 ผู้ปกครองก่อนหน้าพระองค์ อาจจะเป็นพระเชษฐาพระนามว่าฟาโรห์อินเตฟที่ 1 และฟาโรห์อินเตฟที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชโอรสได้ขึ้นมาปกครองต่อจากพระองค์

รัชสมัย[แก้]

หลังจากการมรณกรรมของผู้ปกครองท้องถิ่นนามว่า อังค์ติฟิ ฟาโรห์อินเตฟก็สามารถรวบรวมเขตปกครองทางใต้ทั้งหมดลงไปถึงแก่งน้ำตกแรกของแม่น้ำไนล์ หลังจากนั้นพระองค์ได้ทำสงครามกับผู้ปกครองจากเฮราคลีโอโพลิส แมกนา เพื่อยึดปกครองอไบดอส ซึ่งเป็นเมืองที่ผ่านหลายขั้วอำนาจมาหลายครั้ง แต่ในที่สุดฟาโรห์อินโยเตฟที่ 2 ก็ได้รับชัยชนะ โดยขยายเขตการปกครองของพระองค์ไปทางเหนือจนถึงเขตปกครองที่สิบสามหรือเฮลิโอโพลิส

หลังจากทำสงครามหลายครั้ง ได้มีการสร้างความสัมพันธ์อันดีมากขึ้นและระยะเวลาที่เหลือของรัชสมัยของพระองค์ก็เข้าสู่ความสงบสุข การค้นพบรูปสลักฟาโรห์อินเตฟที่ 2 ที่ห่อด้วยเสื้อคลุมสำหรับเทศกาลเซดในวิหารศักดิ์สิทธิ์ของเฮกาอิบบนเกาะแอลเลเฟนไทน์ แสดงให้เห็นว่าอำนาจของฟาโรห์พระองค์นี้ได้แผ่ขยายไปถึงภูมิภาคแก่งน้ำตกแรกของแม่น้ำไนล์ และบางทีอาจจะครอบคลุมบางส่วนของนิวเบียล่างในปีที่ 30 แห่งการครองราชย์ของพระองค์[4] ซึ่งจะได้รับการยืนยันโดยมีคณะเดินทางที่นำโดย ดเจมิ จากเมืองเกเบลีนไปยังดินแดนวาวัต (หรือ นิวเบีย) ขึ้นในรัชสมัยของพระองค์[4] ดังนั้น เมื่อฟาโรห์อินเตฟที่ 2 เสด็จสวรรคต พระองค์จึงได้ทิ้งรัฐบาลที่เข้มแข็งไว้ในเมืองธีบส์ ซึ่งสามารถควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของอียิปต์ตอนบนและคงไว้ซึ่งพรมแดนทางใต้ของอัสยุต[4]

หลักฐานที่ระบุเวลาที่เก่าสุดของเทพอามุนในคาร์นักเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระองค์ ในส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ของบันทึกพระนามกษัตริย์แห่งตูรินในช่วงสมัยราขอาณาจักรกลางได้บันทึกไว้ว่า พระองค์ครองราชย์เป็นระยะเวลา 49 ปี[5][6]

พระนาม[แก้]

เห็นได้ชัดว่า ฟาโรห์อินเตฟที่ 3 ไม่เคยมีพระนามห้าพระนามของฟาโรห์ตามแบบสมัยราชอาณาจักรเก่า อย่างไรก็ตาม พระองค์ได้อ้างสิทธิ์ในความเป็นกษัตริย์ทั้งสองดินแดน nswt bity และตำแหน่ง s3-Re (พระโอรสแห่งรา) ซึ่งเน้นถึงลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นกษัตริย์[3] ในที่สุดจากการขึ้นครองบัลลังก์แห่งธีบส์ ฟาโรห์อินเตฟที่ 3 ได้ทรงมีพระนามอฮรัสว่า วาอังค์ ซึ่งมีความหมาย ความยืนยงแห่งชีวิต ให้กับพระนามประสูติของพระองค์

ข้าราชการในรัชสมัย[แก้]

ปัจจุบันได้ทราบชื่อและการทำงานของข้าราชการบางคนที่ทำหน้าที่ภายใต้รัชสมัยของฟาโรห์อินเตฟที่ 2  :

  • ทเจทจิ เป็นหัวหน้าฝ่ายพระคลังพระมหาสมบัติและมหาดเล็กในฟาโรห์อินเตฟที่ 2 และฟาโรห์อินเตฟที่ 3[7] จารึกในหลุมฝังศพที่แกะสลักอย่างประณีตของเขา ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บริติช[8] แสดงให้เห็นว่า ฟาโรห์อินเตฟที่ 2 อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อียิปต์ทั้งบนและล่าง แต่ยังตระหนักถึงขอบเขตที่จำกัดของพระราชอำนาจของพระองค์: "พระนามฮอรัส วาอังค์ ผู้ปกครองแห่งอียิปต์บนและล่าง, พระโอรสแห่งเร, ผู้ประสูติจากพระนางเนฟรู, พระองค์ผู้ซึ่งดำรงพระชนม์ชีพอยู่ชั่วนิรันดร์ดั่งเทพเร [... ] ดินแดนนี้อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์จากทางใต้จรดถึงเยบู และไปถึงเหนือสุดจรดที่อไบดอส"[9] จากนั้น ทเจทจียังอธิบายการทำงานของเขาในลักษณะที่ยกย่องตนเอง ซึ่งทำกันโดยทั่วไปของชนชั้นสูงชาวอียิปต์ สิ่งสำคัญที่สุดคือข้อความแสดงให้เห็นถึง อำนาจที่ไม่สิ้นสุดของฟาโรห์แห่งธีบส์จากราชวงศ์ที่สิบเอ็ดแห่งอียิปต์โบราณ "ข้าเป็นที่โปรดปรานและน่าเชื่อถือของเจ้านายของข้า ผู้ยิ่งใหญ่อย่างเป็นทางการและเงียบสงบในวังของเจ้านาย [... ] ข้าเป็นคนหนึ่งที่รักในความดีและเกลียดชังในความชั่ว ผู้เป็นที่รักในวังของพระองค์ เป็นผู้ปฏิบัติทุกประการโดยเชื่อฟังพระประสงค์ของเจ้านายของตัวข้าเอง อันที่จริง ทุกงานที่พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้ข้าทำ [. .. ] ข้าได้กระทำไปโดยถูกต้องและเที่ยงธรรม ข้าไม่เคยขัดพระราชโองการที่พระองค์พระราชทานแก่ข้าไม่เคย ข้าพเจ้ามิได้เปลี่ยนสิ่งหนึ่งเป็นอย่างอื่น [... ] ยิ่งกว่านั้นทุกความรับผิดชอบของราชสำนัก ซึ่งพระองค์มีพระราชโองการให้แก่ข้า และด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงให้ข้าทำงานบางอย่าง ข้าได้ทำเพื่อพระองค์ตามทุกสิ่งที่ดวงวิญญาณของพระองค์ทรงปรารถนา"[9]
  • ดจาริ เป็นข้าราชการทหารที่ต่อสู้กับกองกำลังเฮราคลีโอโพลิสในเขตปกครองอไบดอส ระหว่างการเดินทัพไปทางเหนือของกองทัพฟาโรห์อินเตฟที่ 2 จารึกของเขาได้เล่าถึงการต่อสู้เพื่อยึดบริเวณอียิปต์ตอนกลางว่า "พระองค์ (อินเตฟที่ 2) สู้รบกับราชวงศ์แห่งเคติ ทางเหนือของไทนิส"[10]
  • เฮเตปิ เป็นข้าราชการจากเอล กับ ผู้ดูแลเขตปกครองทั้งสามที่อยู่ทางใต้สุดของฟาโรห์อินเตฟที่ 2 ซึ่งหมายความว่า ไม่มีผู้ปกครองท้องถิ่นในเขตที่ควบคุมโดยผู้ปกครองจากธีบส์ เช่นเดียวกับในกรณีของทเจทจิ การอ้างถึงฟาโรห์อย่างต่อเนื่องในจารึกของเฮเตปิ แสดงให้เห็นถึง การจัดระเบียบที่รวมศูนย์ของรัฐบาลของธีบส์ และอำนาจของฟาโรห์ที่ทุกอย่างถูกต้องสมควร: "ข้าเป็นหนึ่งในที่รักของเจ้านายของข้าและได้รับการยกย่องจากรพะองค์ และพระองค์ทำให้ข้าผู้รับใช้นี้มีความสุขอย่างแท้จริง พระองค์ตรัสว่า: 'ไม่มีใครที่ [. . .] ของพระราชโองการอันดีของข้า แต่เฮเตปิ!' และข้ารับใช้คนนี้กระทำได้ดียิ่ง และเยินยอเจ้าข้าผู้รับใช้ผู้นี้ด้วยเหตุฉะนี้แล”[7] แต่ในที่สุดจารึกของเฮเตปิยังได้กล่าวถึงทุพภิกขภัยที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์อินเตฟที่ 2
  • อิดูดจู-อิเคอร์ เป็นผู้นำที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในนิวเบียล่าง เขาอยู่ในความดูแลของนิวเบียล่างและช่วยฟาโรห์พิชิตเขตปกครองอไบดอส[11]

อนุสรณ์วัตถุ[แก้]

สุนัขของฟาโรห์อินเตฟที่ 2 บนจารึกพิธีพระศพ, พิพิธภัณฑ์อียิปต์, กรุงไคโร

ในจารึกพิธีพระศพของพระองค์ได้เน้นย้ำถึงพระราชกรณียกิจในการสร้างอนุสรณ์วัตถุของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ชิ้นส่วนก่อสร้างของราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในคาร์นัก นั้นคือเสาแปดเหลี่ยมที่มีพระนามของฟาโรห์อินเตฟที่ 2 และพระองค์ยังเป็นผู้ปกครองพระองค์แรกที่สร้างวิหารถวายแด่เทพีซาเทตและเทพคนุมบนเกาะแอลเลเฟนไทน์[12] และอันที่จริงแล้ว ฟาโรห์อินเตฟที่ 2 ยังได้ได้เริ่มพระราชประเพณีในการสร้างวิหารประจำท้องถิ่นบริเวณอียิปต์บน ซึ่งกระทำอยู่ตลอดช่วงสมัยราชอาณาจักรกลาง

หลุมฝังพระศพ[แก้]

หลุมฝังพระศพของฟาโรห์อินเตฟที่ 2 ในเอล-ทารีฟที่ธีบส์ เป็นหลุมฝังพระศพแบบแถว (saff แปลว่า "แถว" ในภาษาอาหรับ) และยังหมายถึง แถวสองแถวของเสาและทางเข้าด้านหน้าลานสี่เหลี่ยมคางหมูใหญ่ขนาด 250 x 70 เมตร (820 ฟุต x 230 ฟุต) ที่ปลายด้านตะวันออกซึ่งเป็นวิหารสำหรับฝังพระศพ[13] วิหารแห่งนี้อาจมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในจุดประสงค์เดียวกับโถงวิหาร (Valley temple)[14]

หลุมฝังพระศพของฟาโรห์อินเตฟที่ 2 ถูกตรวจสอบโดยพระราชโองการในรัชสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 9 ในช่วงปลายราชวงศ์ที่ยี่สิบแห่งอียิปต์ เนื่องจากสุสานของราชวงศ์หลายแห่งถูกปล้นไปในช่วงเวลานั้น[15] ตามรายงานในบันทึกปาปิรุสแห่งแอบบอต (Abbott Papyrus) ซึ่งระบุว่า: "สุสานพีระมิดของฟาโรห์ Si-Rêˁ In-ˁo (หรือ ฟาโรห์อินเตฟที่ 2) ซึ่งอยู่ทางเหนือของวังแห่งอเมนโฮทเปและลานหน้า ซึ่งมีพีระมิดทับอยู่ [ . . .]. ตรวจสอบวันนี้ ยังไม่บุบสลาย"[16] ยังไม่พบซากของพีระมิดนี้"[14]

ตามประเพณีตามผู้ปกครองก่อนหน้า ฟาโรห์อินเตฟที่ 2 ได้สร้างจารึกบันทึกพระราชประวัติไว้ที่ทางเข้าหลุมฝังพระศพของพระองค์ ซึ่งบันทึกเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในรัชสมัยของพระองค์และระบุว่าพระองค์ครองเป็นเวลา 50 ปี[3][17] ในจารึกที่ตั้งอยู่หน้าหลุมฝังพระศพมีการกล่าวถึงสุนัขของฟาโรห์ และพบจารึกอีกชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงสุนัขชื่อว่า เบฮา แต่มันถูกพบอยู่ใกล้วิหารถวายเครื่องบูชา[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Clayton, Peter A. Chronicle of the Pharaohs: The Reign-by-Reign Record of the Rulers and Dynasties of Ancient Egypt. Thames & Hudson. p72. 2006. ISBN 0-500-28628-0
  2. Ian Shaw, The Oxford history of ancient Egypt p.125
  3. 3.0 3.1 3.2 Ian Shaw, The Oxford history of ancient Egypt p.125
  4. 4.0 4.1 4.2 Nicholas Grimal, A History of Ancient Egypt (Oxford: Blackwell Books, 1992), p. 145
  5. Column 5 row 14
  6. The Ancient Egypt Web Site, Antef II เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, (accessed September 7, 2007)
  7. 7.0 7.1 Ian Shaw The Oxford History of Ancient Egypt p.126
  8. Stele of Tjetjy
  9. 9.0 9.1 William Kelly Simpson, The literature of Ancient Egypt
  10. The stele of Djary เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  11. Josef Wegnerː The Stela of Idudju-ikerː Formost-one of the Chiefs of Wawat, inː Revue d'égyptologie, 68 (2017-2108), 153-209, plates VII-XII
  12. Ian Shaw The Oxford History of Ancient Egypt, p.127
  13. 13.0 13.1 Lehner, Mark. The Complete Pyramids. Thames & Hudson. 2008 (reprint). ISBN 978-0-500-28547-3, pp 165
  14. 14.0 14.1 Dodson, Aidan. The Tomb in Ancient Egypt. Thames and Hudson. 2008. ISBN 9780500051399, pp 186-187
  15. Darrell D. Baker: The Encyclopedia of the Pharaohs: Volume I - Predynastic to the Twentieth Dynasty 3300–1069 BC, Stacey International, ISBN 978-1-905299-37-9, 2008, pp. 145-146
  16. Alan Gardiner, Egypt of the Pharaohs: an introduction, Oxford University Press, 1961, pp. 118–119
  17. Stele of Intef II