พระเจ้านันทบุเรง
นันทบุเรง | |
---|---|
ครองราชย์ | 10 ตุลาคม ค.ศ. 1581 – 19 ธันวาคม ค.ศ. 1599 |
ราชาภิเษก | 15 ตุลาคม ค.ศ. 1581 |
ก่อนหน้า | พระเจ้าบุเรงนอง |
ถัดไป | พระเจ้าญองยาน |
อัครมหาเสนาบดี | พญาแก่นท้าว |
ราชาธิราชแห่งล้านนา | |
ครองราชย์ | 10 ตุลาคม ค.ศ. 1581 – ราวกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1597 |
ก่อนหน้า | พระเจ้าบุเรงนอง |
ถัดไป | สมเด็จพระนเรศวรมหาราช |
พระเจ้าประเทศราช | นรธาเมงสอ |
ราชาธิราชแห่งสยาม | |
ครองราชย์ | 10 ตุลาคม ค.ศ. 1581 – 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1584 |
ก่อนหน้า | พระเจ้าบุเรงนอง |
ถัดไป | ยุบฐานะ |
พระเจ้าประเทศราช | สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช |
ราชาธิราชแห่งล้านช้าง | |
ครองราชย์ | 10 ตุลาคม ค.ศ. 1581 – 19 ธันวาคม ค.ศ. 1599[note 1] |
ก่อนหน้า | พระเจ้าบุเรงนอง |
ถัดไป | ยุบฐานะ |
พระเจ้าประเทศราช | สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช (ค.ศ. 1581–88) พระยาแสนสุรินทร์ (ค.ศ. 1588–91) พระหน่อแก้วกุมาร (ค.ศ. 1591–95) พระวรปิตา (ค.ศ. 1596–99) |
พระราชสมภพ | 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1535 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน Tazaungmon จ.ศ. 897 ตองอู |
สวรรคต | 30 พฤศจิกายน [ตามปฎิทินเก่า: 20 พฤศจิกายน] 1600 (65 ชันษา) ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือน Tazaungmon จ.ศ. 962[1] ตองอู |
ฝังพระศพ | 1 ธันวาคม [ตามปฎิทินเก่า: 21 พฤศจิกายน] 1600 พระราชวังตองอู |
คู่อภิเษก | หงสาวดีมิบะยา มีนพยู มีนทเว สิริราชเทวี เมงตะยาแม่ท้าว |
พระราชบุตร ฯลฯ | พระราชโอรส 20 พระองค์ พระราชธิดา 18 องค์ เช่น: มังกยอชวา มังรายกะยอฉะวาที่ 2 แห่งอังวะ คีนมะน่อง ตะโดธรรมราชาที่ 3 ศรีธรรมาโศก เมงเยสีหะ |
ราชวงศ์ | ตองอู |
พระราชบิดา | พระเจ้าบุเรงนอง |
พระราชมารดา | อตุลสิริมหาราชเทวี |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
พระเจ้านันทบุเรง (พม่า: နန္ဒဘုရင်, ออกเสียง: [nàɰ̃.da̰ bə.jɪ̀ɰ̃]; อักษรโรมัน: Nanda Bayin; 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1535 – 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1600) หรือ พระเจ้าหงษางาจีสะยาง[2] เป็นพระเจ้าหงสาวดีจากราชวงศ์ตองอู เสวยราชสมบัติตั้งแต่ ค.ศ. 1581 ถึง ค.ศ. 1599 รัชสมัยพระองค์เป็นช่วงแห่งการล่มสลายของจักรวรรดิตองอู อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าบุเรงนอง และทรงร่วมนำศึกหลาย ๆ ครั้งในการขยายจักรวรรดิของพระราชบิดา เมื่อเถลิงราชย์แล้ว พระองค์ทรงเผชิญกับภาระอันเหลือบ่ากว่าแรงในการธำรงมหาอาณาจักรที่พระบิดาเพียรสร้างเอาไว้[3] พระองค์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าประเทศราช เมื่อครองราชย์ได้เพียงสามปี ทั้งพม่าตอนบนและอาณาจักรอยุธยาก็แข็งเมือง พระองค์ไม่สามารถประชุมพลได้มากกว่าหนึ่งในสามของกองทัพสมัยพระบิดาเพื่อยกไปปราบ ทั้งไม่สามารถปรองดองกับเมืองเล็กเมืองน้อย[4] ครั้นช่วง ค.ศ. 1584 ถึง ค.ศ. 1593 พระองค์ทรงเปิดศึกกับอยุธยาถึงห้าครั้ง ซึ่งพ่ายแพ้ทุกครั้ง ทำให้พระราชอำนาจเสื่อมถอยลง และนับแต่ ค.ศ. 1593 เป็นต้นมา พระองค์กลับทรงเป็นฝ่ายที่ต้องตั้งรับการรุกรานจากอยุธยา โดยในระหว่าง ค.ศ. 1594 ถึง ค.ศ. 1595 อยุธยาสามารถยึดชายฝั่งตะนาวศรีได้ทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศราชอื่น ๆ พากันแปรพักตร์จากพระองค์ใน ค.ศ. 1597 ต่อมาใน ค.ศ. 1599 ทัพผสมจากตองอูและยะไข่บุกหงสาวดีเมืองหลวงของพระองค์ พระองค์ทรงถูกจับไปกักขังไว้ที่เมืองตองอู ส่วนเมืองหงสาวดีก็ถูกยะไข่ปล้นทรัพย์และเผาทำลายจนสิ้น หนึ่งปีให้หลัง นัดจินหน่อง โอรสพระเจ้าเมงเยสีหตูแห่งตองอู ลอบวางยาพิษพระองค์สวรรคต[5][6]
พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่แข็งขันจนอาจนับได้ว่ายิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พม่าทั่ว ๆ ไป[4] แต่ข้อผิดพลาดประการหนึ่งของพระองค์ คือ การพยายามควบคุมจักรวรรดิที่ใหญ่กว้างขวางภายใต้ความสัมพันธ์ในระบอบอุปถัมภ์เอาไว้[7] จึงเป็นบทเรียนแก่ผู้สืบสันตติวงศ์ของพระองค์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มิให้ขยายดินแดนจนเกินควร และให้เน้นการปกครองแบบรวมศูนย์ บทเรียนดังกล่าวยังเป็นเหตุให้ปฏิรูปการปกครองในช่วงรื้อฟื้นราชวงศ์ตองอู และปรับปรุงเพิ่มในช่วงราชวงศ์คองบอง ระบอบปกครองที่ปฏิรูปนี้ดำเนินต่อมาจนสิ้นสุดกษัตริย์พม่าใน ค.ศ. 1885[7]
ต้นพระชนม์
[แก้]พระราชกำเนิด
[แก้]นันทบุเรงประสูติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1535[note 2] ณ พระราชวังตองอู พระราชบิดาคือขุนพลบุเรงนอง ซึ่งภายหลังขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดี พระราชมารดาคือเจ้าหญิงตะเกงจี (Thakin Gyi) ซึ่งต่อมาคือพระนางอตุลสิริมหาราชเทวี พระอัครมเหสีกรุงหงสาวดี พระมาตุลาคือพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แห่งหงสาวดี และพระเจ้าตาคือพระเจ้าเมงจีโยแห่งตองอู และพระเชษฐภคินีเป็นอัครมเหสีกรุงอังวะ ด้วยความสัมพันธ์ทางเครือญาติเหล่านี้ นันทบุเรงจึงทรงมีเชื้อสายราชวงศ์แห่งอาณาจักรพุกามและอาณาจักรปีนยะ[8] นอกจากนี้ พระองค์ยังน่าจะทรงมีเชื้อไทใหญ่ด้วย[note 3]
การศึกษา
[แก้]นันทบุเรงประทับ ณ พระราชวังตองอู จนพระชนม์ได้สามพรรษา จึงแปรพระราชฐานมาพระราชวังพะโคที่เมืองหงสาวดี (พะโค) ซึ่งตั้งเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของจักรวรรดิตองอูเมื่อ ค.ศ. 1539 ตลอดพระชนมชีพวัยเยาว์ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระเจ้าลุง นำพาพระบิดาไปทำศึกบ่อยครั้ง เมื่อพระเจ้าลุงทรงตั้งพระบิดาเป็นอุปราชใน ค.ศ. 1542 นันทบุเรงจึงทรงอยู่ในลำดับที่สองของการสืบราชบัลลังก์ตองอูไปโดยปริยาย ในพระสถานะดังกล่าว นันทบุเรงทรงได้รับการฝึกฝนทางทหารเสมือนพระมาตุลาและพระบิดา[9]
เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา นันทบุเรงทรงได้รับบรรดาศักดิ์ "ชัยสิงห์" (Zeya Thiha) และโดยตามเสด็จพระมาตุลากับพระบิดาไปทำศึกกับอาณาจักรอยุธยาในสงครามคราวเสียพระสุริโยทัย ความกล้าหาญของนันทบุเรงทำให้พระมาตุลาพระราชทานบรรดาศักดิ์ "เมงเยกะยอชวา" (Minye Kyawswa) แก่นันทบุเรง[10]
อุปราช
[แก้]การเข้าสู่ตำแหน่ง
[แก้]พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พระมาตุลาของพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1550 แม้พระบิดาจะเป็นพระมหาอุปราช แต่มังฆ้องที่ 2 พระอนุชาร่วมพระบิดาเดียวกับบุเรงนอง ไม่ยอมรับสิทธิสืบบัลลังก์ดังกล่าว และประกาศตนเป็นเอกราช ณ เมืองตองอู นันทบุเรงจึงพาพระมารดาและพระพี่นางลี้ภัยไปหาพระบิดาซึ่งเวลานั้นไปราชการศึกที่เมืองทะละ (ในเมืองย่างกุ้งปัจจุบัน)[11]
ณ ที่นั้น นันทบุเรงทรงร่วมกับพระบิดาวางแผนกอบกู้ราชบัลลังก์ กองกำลังของบุเรงนองเข้าตีเมืองตองอูเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน ค.ศ. 1550 และยึดเมืองได้ในวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1551 บุเรงนองไว้ชีวิตมังฆ้องที่ 2 แล้วราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดีสืบต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ สถาปนานันทบุเรงพระราชโอรสซึ่งขณะนั้นพระชนมายุได้ 15 พรรษา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช พระราชพิธีราชาภิเษกมีขึ้น ณ วันที่ 12 มกราคม นั้นเอง[note 4]
งานศึก
[แก้]ตลอด 15 ปีต่อมา บุเรงนองทรงมุ่งมั่นขยายจักรวรรดิตองอู ทำให้คนใกล้ชิดต้องทุ่มเทกายใจแก่การศึกไปด้วย แต่ในช่วงแรก นันบุเรงยังทรงพระเยาว์นัก จึงมีบทบาทจำกัด จน ค.ศ. 1557 เป็นต้นมา นันทบุเรงทรงได้รับภารกิจสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พระองค์ พร้อมด้วยพระเจ้าอาคือมังฆ้องที่ 2, ตะโดธรรมราชาที่ 2, และตะโดเมงสอ กลายเป็นสี่ยอดขุนพลของบุเรงนอง และหลายทศวรรษให้หลัง นันทบุเรงทรงก้าวหน้าด้วยความดีความชอบในฐานะผู้นำทัพ จนเมื่อปลายรัชสมัยของพระบิดา นันทบุเรงก็ทรงได้เป็นผู้นำศึกทั้งหมดด้วยพระองค์เอง
การศึกของอุปราชนันทบุเรง (ค.ศ. 1551–80) | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
งานเมือง
[แก้]นันทบุเรงทรงเป็นสมาชิกที่แข็งขันในราชสำนักหงสาวดีซึ่งส่วนใหญ่มีเสนาบดีเป็นชาวมอญพื้นเมือง พระราชบิดาทรงรับฟังความเห็นที่นันทบุเรงถวายเสมอ แม้ไม่ทรงปฏิบัติตามทุกครั้งก็ตาม[33] นันทบุเรงทรงมีบทบาททางปกครองมากขึ้นในช่วงสองปีสุดท้ายของรัชกาลพระราชบิดา เมื่อพระพลานามัยของพระราชบิดาเสื่อมถอยลงตามลำดับ[note 6]
ต้นรัชกาล
[แก้]การขึ้นครองราชย์
[แก้]พระเจ้าบุเรงนองประชวรมายาวนานจนเสด็จสวรรคต ณ วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1581 นันทบุเรงสืบราชสมบัติต่อโดยปราศจากการต่อต้าน พระองค์ถวายพระเพลิงพระราชบิดาอย่างสมพระเกียรติพระเจ้าจักรพรรดิตามคติพุทธ พระราชพิธีมีขึ้นหน้าพระราชวังกัมโพชธานี จากนั้น จึงราชาภิเษกในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1581[note 7] แล้วทรงตั้งมังกะยอชวาที่ 1 พระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราช[34]
สภาพการณ์ของจักรวรรดิ
[แก้]สิ่งที่ตกทอดจากพระราชบิดามาสู่พระเจ้านันทบุเรงคือ "จักรวรรดิซึ่งน่าจะใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์"[35] ที่ชาวโปรตุเกสพรรณนาว่า เป็น "รัฐราชาธิปไตยอันทรงอำนาจที่สุดในเอเชีย ถัดจากจีน"[36] อย่างไรก็ดี จักรวรรดิที่ใหญ่โตเกินควรนี้ เดิมผูกกันไว้ด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวพระเจ้าบุเรงนองกับผู้นำท้องถิ่นซึ่งนิยมรักใคร่ในตัวบุเรงนอง มิใช่ต่อจักรวรรดิของบุเรงนอง[7] และในการปกครองประเทศราชต่าง ๆ พระเจ้าบุเรงนองทรงใช้รูปแบบเมืองมณฑล โดยพระองค์อยู่แกนกลาง แล้วรายล้อมด้วยเจ้าประเทศราชที่มีสถานะกึ่งอิสระ อุปราชที่ปกครองโดยอิสระ และผู้ปกครองภายใต้การกำกับดูแลของข้าหลวงจากส่วนกลาง[37] ด้วยระบบเช่นนี้ เมื่อมีกษัตริย์พระองค์ใหม่เข้ามาอยู่ในแกนกลาง กษัตริย์พระองค์นั้นก็จำต้องทรงสร้างความสัมพันธ์ทั้งหมดเสียใหม่ ซึ่งมิใช่งานง่าย เพราะเมืองขึ้นทั้งหลาย แม้จะอยู่ในสภาพภูมิประเทศเดียวกับเมืองแกนกลาง แต่ก็อยู่ห่างไกล ทำให้ยากที่จะยกทัพไปปราบปรามได้เบ็ดเสร็จ[7] จี.อี. ฮาร์วีย์ (G.E. Harvey) นักประวัติศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า มรดกที่นันทบุเรงทรงได้รับนั้น คือ ภาระในการรักษาจักรวรรดิให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวให้ได้ และพระองค์หมายพระทัยจะรักษาเอกภาพนั้นไว้ด้วยการยกไปเทครัวอยุธยาไปกระจายไว้ทุกทิศานุทิศ[38]
ช่วงแรก ๆ หลังการขึ้นครองราชย์ นันทบุเรงทรงเรียกเจ้าประเทศราชต่าง ๆ มาถวายสัตย์ เจ้าประเทศราชเหล่านี้เคยเป็นรัฐอธิปไตยมาก่อน พร้อมจะแยกตัวจากจักรวรรดิตองอูทุกเมื่อที่สบโอกาส แต่ยังไม่มีใครพร้อมเคลื่อนไหวต่อต้านนันทบุเรงผู้ทรงพร้อมด้วยประสบการณ์ทางการศึก[38] ทุกฝ่ายจึงมีที่ท่า "เฝ้ารอสังเกตการณ์" ไปก่อน[39] เจ้าประเทศราชหลัก ๆ โดยเฉพาะอยุธยาซึ่งเป็นเมืองขึ้นที่ทรงอำนาจที่สุด ถวายบรรณาการแก่หงสาวดีต่อไปตามเดิมจนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1582[40]
สงครามที่ไร้ผล
[แก้]ภายในปีที่ขึ้นครองราชย์นั้นเอง พระเจ้านันทบุเรงต้องทรงเผชิญกับการแข็งเมืองของรัฐไทใหญ่ทางเหนือหลายรัฐ (ในมณฑลยูนนานปัจจุบัน) กบฏเหล่านี้สามารถปราบปรามลงได้ แต่ก็ตามมาด้วยกบฏจากอังวะและอยุธยาใน ค.ศ. 1584 พระองค์ทรงกำราบอังวะได้ แต่ไม่ทรงสามารถพิชิตอยุธยาได้เหมือนพระราชบิดา โดยในช่วง ค.ศ. 1584–1593 นันทบุเรงทรงเปิดศึกกับอยุธยาถึงห้าครั้ง และทุกครั้งล้มเหลว ทำให้ประเทศราชอื่น ๆ เอาใจออกหาก พระองค์ไม่ทรงสามารถนำเมืองขึ้นกลับคืนมาได้มากกว่าหนึ่งในสามของดินแดนเดิม และเมื่อสิ้นสงครามกับอยุธยา ปรากฏว่า ฐานอำนาจของพระองค์ในพม่าตอนล่างมีประชากรลดลงอย่างยิ่ง นำไปสู่การแข็งเมืองของประเทศราชอื่น ๆ ที่พระองค์มิอาจทรงยุติได้[4]
กบฏในช่วงแรก
[แก้]กลุ่มรัฐจีนไทใหญ่ (ค.ศ. 1582–83)
[แก้]เมืองจ๋านตา และ เมืองสองสบ รัฐจีนไทใหญ่ (ปัจจุบันคือเต๋อหงและเป่าซานในมณฑลยูนนาน) เป็นกลุ่มแรกที่ไม่ส่งบรรณาการแก่กษัตริย์พระองค์ใหม่ ฉะนั้น ในเดือนกันยายน/ตุลาคม ค.ศ. 1582[note 8] นันทบุเรงจึงส่งทหารสองกอง คน 16,000 ม้า 1,400 และช้าง 100 ให้ตะโดธรรมราชาที่ 2 พระเจ้าแปรผู้เป็นพระเจ้าอา และพระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอผู้เป็นพระอนุชา เป็นแม่กองยกไปปราบปรามลงโทษ ทัพทั้งสองใช้เวลาห้าเดือนก็สำเร็จ และยกกลับหงสาวดีในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1583[41]
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
[แก้]มีนักแสดงผู้รับบท พระเจ้านันทบุเรง ได้แก่
- อนุวัฒน์ นิวาตวงศ์ จากละครเรื่อง กษัตริยา (2546)
- จักรกฤษณ์ อำมรัตน์ จากภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (2550 – 2558), ละครเรื่อง ขุนศึก (2555)
- กษาปณ์ จำปาดิบ จากละครเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ (2560 – 2562)
พงศาวลี
[แก้]พงศาวลีของพระเจ้านันทบุเรง | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ล้านช้างไม่ได้เลิกความสัมพันธ์แบบเมืองขึ้นกับพม่าอย่างเป็นทางการจนกระทั่ง ค.ศ. 1603 ตามความเห็นของ Stuart-Fox (2008: 38) แต่ก็ได้ประกาศอิสรภาพมาตั้งแต่ ค.ศ. 1597 แล้ว
- ↑ มหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว (Hmannan Vol. 3 2003: 61, 106) ระบุว่านันทบุเรงเสด็จขึ้นเสวยราชย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน Tazaungmon จ.ศ. 943 ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1581 ขณะนั้นพระชนมายุ 46 พรรษา แต่ฉบับหอแก้ว (Hmannan Vol. 3 2003: 240, 248) ระบุด้วยว่าเป็นวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน Tazaungmon จ.ศ. 910 ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1548 พระองค์มีพระชนมายุ 12 พรรษา ข้อมูลเหล่านี้หมายความว่าพระองค์ประสูติระหว่างวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน Tazaungmon จ.ศ. 897 กับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน Tazaungmon จ.ศ. 897 อันตรงกับวันจันทร์ที่ 8 หรือวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1535 และฉบับหอแก้ว (Hmannan Vol. 3 2003: 106) ระบุอีกว่าพระองค์ประสูติในวันอังคาร เพราะฉะนั้น จึงชี้ชัดได้ว่าวันประสูติของนันทบุเรงคือวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1535 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน Tazaungmon จ.ศ. 897
- ↑ เอกสารไม่ได้ระบุเชื้อสายราชวงศ์โดยตรง แต่ข้อมูลเรื่องเชื้อสายนี้มีร่องรอยอยู่ในตำแหน่งฐานันดรของบรรพบุรุษของพระองค์ กล่าวคือพระนางรัตนาเทวี สมเด็จยายของพระองค์ทรงเป็นเจ้าหญิงเมืองปาย (Mongpai) ในแคว้นไทใหญ่ ทั้งบรรพบุรุษองค์อื่น ๆ ของพระองค์ก็มีเชื้อสายไทใหญ่ เช่น พระเจ้าสีหตูทรงเป็นลูกครึ่งไทใหญ่ และพระนางชินมิเนาก์ (Shin Mi-Nauk) ทรงเป็นชาวไทใหญ่เต็มร้อย แต่ก็มีนักวิชาการบางคน เช่น Aung-Thwin (Aung-Thwin 1996; Aung-Thwin 2012: 107–109) แย้งว่าฐานันดรศักดิ์อาจไม่สัมพันธ์กับชาติพันธุ์ก็ได้ และการเชื่อมโยงพระองค์ว่า มีเชื้อสายไทใหญ่ดังกล่าว ก็ปราศจากหลักฐานรองรับ
- ↑ ตามมหาราชวงศ์ ฉบับอูกะลา (Maha Yazawin Vol. 2 2006: 201) ในราชาภิเษกวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1551 บุเรงนองพระราชทานยศถาให้แก่พระประยูรญาติ แต่ไม่ปรากฏโดยตรงว่าทรงตั้งนันทบุเรงเป็นมหาอุปราชในพระราชพิธีดังกล่าว แต่หลังจากนี้เอกสารดังกล่าวก็เริ่มเรียกนันทบุเรงว่ามหาอุปราช จึงน่าเชื่อว่านันทบุเรงทรงได้รับตำแหน่งในพิธีนั้นเอง (Maha Yazawin Vol. 2 2006: 202)
- ↑ มหาราชวงศ์ (Maha Yazawin Vol. 3 2006: 68–69) ระบุว่า เสด็จกลับ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน Tagu จ.ศ. 942 แต่ข้อความนี้น่าจะเป็นการคัดลอกผิดของอาลักษณ์ วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน Tagu จ.ศ. 942 ตรงกับวันพุธที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1580 แต่วันอาทิตย์ ต้องเป็น วันขึ้น 5 ค่ำ เดือน Tagu จ.ศ. 942 ซึ่งตรงกับ 20 มีนาคม ค.ศ. 1580 ในภาษาพม่า เลข 5 (၅) และเลข 8 (၈) มักเขียนสลับกัน
- ↑ ฉบับหอแก้ว (Hmannan Vol. 3 2003: 49, 53) ระบุว่าบุเรงนองเริ่มประชวรกระเสาะกระแสะตั้งแต่ต้น ค.ศ. 1579 เป็นอย่างน้อย จึงทรงมอบหมายภารกิจสำคัญให้แก่นันทบุเรงมากขึ้นเรื่อย ๆ กรณีสำคัญคือเมื่อทรงตั้งนรธาเมงสอเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ บุเรงนองรับสั่งให้นรธาเมงสอเชื่อฟังนันทบุเรง เพื่อความสงบเรียบร้อยของจักรวรรดิโดยรวม ต่อมาบุเรงนองยังโปรดให้นันทบุเรงยกทัพไปปราบล้านช้างในปีเดียวกัน
- ↑ มหาราชวงศ์ ฉบับอูกะลา และมหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว ระบุตรงกันว่านันทบุเรงราชาภิเษกในวันอาทิตย์ แต่ระบุวันที่ต่างกัน มหาราชวงศ์ (Maha Yazawin Vol. 3 206: 77) ว่า เป็นวันอาทิตย์ แรม 4 ค่ำ เดือน Tazaungmon จ.ศ. 943 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1581 ส่วนฉบับหอแก้ว (Hmannan Vol. 3 2003: 73) ว่า เป็นวันอาทิตย์ แรม 5 ค่ำ เดือน Tazaungmon จ.ศ. 943 อันตรงกับวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1581
- ↑ มหาราชวงศ์ (Maha Yazawin Vol. 2 2006: 78) ว่า อยู่ในเดือน Thadingyut จ.ศ. 944 ซึ่งกินเวลาตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนย ค.ศ. 1582 จนถึง 25 ตุลาคม ปีเดียวกัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Hmannan Vol. 3 2003: 106
- ↑ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 417
- ↑ Lieberman 2003: 161
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Harvey 1925: 181–182
- ↑ Harvey 1925: 182–183
- ↑ Lieberman 2003: 154–156
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 Lieberman 2003: 154–155
- ↑ Hmannan Vol. 2 2003: 172–173.
- ↑ Sein Lwin Lay 2006: 109
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 189
- ↑ Hmannan Vol. 2 2003: 258–259
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 202
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 206
- ↑ Hmannan Vol. 2 2003: 280–281
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 216
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 230, 233–235
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 240–242
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 245
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 249
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 261–262
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 267–272
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 277–279
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 285–287
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 289–292
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 309
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 327
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 332–335
- ↑ Phayre 1967: 114–115
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 336–338
- ↑ Maha Yazawin Vol. 3 2006: 39–42
- ↑ Maha Yazawin Vol. 3 2006: 45–46
- ↑ Maha Yazawin Vol. 3 2006: 48–49
- ↑ Maha Yazawin Vol. 2 2006: 251
- ↑ Hmannan Vol. 3 2003: 73
- ↑ Lieberman 2003: 152
- ↑ Tarling 1999: 72–73
- ↑ Lieberman 2003: 35
- ↑ 38.0 38.1 Harvey 1925: 181
- ↑ Aung-Thwin & Aung-Thwin 2012: 137
- ↑ Maha Yazawin Vol. 3 2006: 77–78
- ↑ Maha Yazawin Vol. 3 2006: 78
บรรณานุกรม
[แก้]- Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
- Lieberman, Victor B. (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800–1830, volume 1, Integration on the Mainland. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80496-7.
- Stuart-Fox, Martin (2008). Historical Dictionary of Laos. Scarecrow Press. ISBN 9780810864115.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
ก่อนหน้า | พระเจ้านันทบุเรง | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าบุเรงนอง | พระมหากษัตริย์พม่า (อาณาจักรพม่ายุคที่ 2) (พ.ศ. 2124 - พ.ศ. 2142) |
พระเจ้าญองยาน |