พระเจ้าจักรพรรดิ
ในความเชื่อของศาสนาพุทธ จักรพรรดิ (สันสกฤต: चक्रवर्तिन् จกฺรวรฺตินฺ; บาลี: จกฺกวตฺติ) คือผู้ปกครองทวีปทั้ง 4 เป็นผู้รักษาศีล เป็นธรรมราชา ปกครองบ้านเมืองด้วยธรรม ไม่ใช้อาชญา ไม่ใช้ศัสตราครอบครองแผ่นดิน มีพระโอรสนับพัน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ปรารถนาสงคราม ไม่ประสงค์เครื่องบรรณาการ พระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงเป็นที่รักใคร่ พอใจ ของพราหมณ์และคฤหบดีเหมือนบิดาเป็นที่รักใคร่พอใจของบุตร พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก พระเจ้าจักรพรรดิมีลักษณะของมหาบุรุษ ซึ่งผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวมีเพียงพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ เท่านั้น
ยามใดที่มีพระพุทธศาสนา พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงบำรุงอุปัฎฐากพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ช่วยเผยแพร่พระธรรม แต่ยามใดที่ไม่มีพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ทรงรวบรวมผืนแผ่นดิน ผู้คนให้เป็นปึกแผ่น ทรงปกครองโดยธรรม สั่งสอนประชาชนทั้งมวล พระเจ้าจักรพรรดิทรงขยันในการสร้างบารมีมาก ถึงแม้จะเป็นพระมหาจักรพรรดิก็ยังทรงสร้างพระบารมีไม่หยุดหย่อน
การปกครอง
[แก้]พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา ทรงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม เชิดชูธรรม ยกย่องธรรม มีธรรมเป็นใหญ่ ทรงจัดการรักษา ป้องกัน และคุ้มครองพวกกษัตริย์ ผู้ตามเสด็จ กำลังพล พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท สมณพราหมณ์และในเหล่าสัตว์โดยธรรม สิ่งใดที่เป็นอธรรมพระองค์ก็ไม่ได้ให้มีในแว่นแคว้นของพระองค์
ความพิเศษ 4 ประการ
[แก้]- พระเจ้าจักรพรรดิมีพระวรกายงดงามยิ่งกว่ามนุษย์ใด ๆ
- พระเจ้าจักรพรรดิมีอายุยืนกว่ามนุษย์ใด ๆ
- พระเจ้าจักรพรรดิมีอาพาธน้อย และเจ็บป่วยได้ยากกว่าคนทั่วไป
- พระเจ้าจักรพรรดิเป็นที่รักของพราหมณ์และเหล่าคฤหบดีเหมือนพ่อเป็นที่รักใคร่พอใจของลูก พราหมณ์และคฤหบดีก็เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระเจ้าจักรพรรดิเหมือนลูกเป็นที่รักใคร่พอใจของพ่อ
คุณธรรมของพระราชาก่อนจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
[แก้]พระราชาก่อนที่จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ท่านจะประพฤติจักกวัตติวัตรอันประเสริฐมาก่อน จักกวัตติวัตรอันประเสริฐได้แก่
- อาศัยธรรมะ สักการะธรรมะ เคารพธรรมะ นับถือธรรมะ บูชาธรรมะ ยำเกรงธรรมะ มีธรรมะเป็นธงชัย มีธรรมะเป็นใหญ่
- รักษาคุ้มครอง ป้องกันอย่างเป็นธรรมะในชนภายใน ในกองพล ในชาวเมือง ชาวชนบท สมณะ พราหมณ์ และในเหล่าสัตว์
- ไม่ให้มีสิ่งที่เป็นอธรรมในแว่นแคว้น ไม่ให้มีสิ่งผิดศีลธรรมเกิดขึ้น
- ให้ทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทรัพย์
- เข้าไปหาสมณะพราหมณ์ผู้งดเว้นจากความประมาท มีความอดทน มีความสงบ ฝึกตนอยู่ผู้เดียว ดับกิเลสอยู่ผู้เดียว แล้วถามว่า "ท่านขอรับ กุศลคืออะไร อกุศลคืออะไร กรรมใดไม่มีโทษ กรรมใดมีโทษ กรรมใดควรเสพ กรรมใดไม่ควรเสพ กรรมใดทำแล้วเป็นประโยชน์ กรรมใดทำแล้วไม่เป็นประโยชน์" ครั้นเมื่อฟังคำของสมณะพราหมณ์นั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศลก็เว้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศลก็ถือมั่นประพฤติปฏิบัติ
แก้ว 7 ประการ
[แก้]พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ครอบครองแก้ว 7 ประการ อันได้แก่
- จักรแก้ว (จกฺกรตฺตนํ)
เมื่อพระราชาผู้ที่ประพฤติจักกวัตติวัตรอันประเสริฐจะได้สำเร็จเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ในวันอุโบสถขณะที่พระองค์ทรงรักษาศีลอุโบสถอยู่ ณ พระมหาปราสาทชั้นบนนั้น จะปรากฏจักรแก้วขึ้น ทำจากโลหะมีค่า ส่องแสงสว่างไสว แล้วพาพระเจ้าจักรพรรดิพร้อมเหล่าเสนาบดีลอยไปยังประเทศต่าง ๆ ในทวีปทั้ง 4 ประเทศต่าง ๆ ก็ยอมสวามิภักดิ์ ไม่มีการสู้รบกัน เมื่อจะถวายเครื่องบรรณาการพระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงไม่รับแต่พระราชทานโอวาทศีล 5 ให้
- ช้างแก้ว (หตฺถีรตฺตนํ)
ช้างแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพญาช้าง มีชื่อว่า อุโบสถ สีขาวเผือก สง่างาม มีฤทธิ์เดชสามารถเหาะได้ คล่องแคล่วว่องไว ฝึกหัดได้เอง สามารถพาพระเจ้าจักรพรรดิไปรอบชมพูทวีป จรดขอบมหาสมุทร ได้ตั้งแต่เช้ารุ่ง และกลับมาทันเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า
- ม้าแก้ว (อสฺสรตฺตนํ)
ม้าแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพญาม้า มีชื่อว่า วลาหกะ เป็นอัศวราชผู้สง่างาม ขนงาม มีหางเป็นพวง ตรงปลายคล้ายดอกบัวตูม มีฤทธิ์เดชเหาะเหินเดินบนอากาศได้ คล่องแคล่วว่องไว ฝึกหัดได้เอง สามารถพาพระเจ้าจักรพรรดิไปรอบชมพูทวีป จรดขอบมหาสมุทร ได้ตั้งแต่เช้ารุ่ง และกลับมาทันเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า
- มณีแก้ว (มณิรตฺตนํ)
มณีแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นแก้วมณีเปล่งแสงสุกสกาว ใสแวววาวยิ่งกว่าเพชร เปล่งรังสีแสงสว่างไสวโดยรอบถึง 1 โยชน์ คอยบันดาลความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่างให้เกิดขึ้น ดึงดูดสมบัติทั้งหลายมาให้ สามารถเลี้ยงคนได้ทั้งชมพูทวีปโดยไม่ต้องทำมาหากิน เมื่อพระมหาจักรพรรดิทรงทดลองแก้วมณีกับกองทัพ โดยติดแก้วมณีไว้บนยอดธงนำทัพ แก้วมณีก็เปล่งแสงสว่างไสว ทำให้กองทัพเดินทางได้สะดวกสบาย เหมือนเดินทัพในเวลากลางวัน
- นางแก้ว (อิตถรตฺตนํ)
นางแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นหญิงที่มีบุญญาธิการ รูปร่างน่าดูชม ผิวพรรณเปล่งปลั่งผ่องใส สวยงามกว่ามนุษย์ทั่วไป พูดจาสุภาพ ไม่โกหก มีกลิ่นดอกบัวหอมฟุ้งออกจากปาก มีกลิ่นจันทน์หอมฟุ้งรอบกาย นางแก้วเป็นผู้คอยปรนนิบัติพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไม่ขาดสาย ตื่นก่อนนอนทีหลังพระเจ้าจักรพรรดิ คอยรับฟังคำสั่งของพระเจ้าจักรพรรดิ ประพฤติชอบต่อพระเจ้าจักรพรรดิเสมอ
- ขุนคลังแก้ว (คหปติรตฺตนํ)
คฤหบดีแก้ว หรือขุนคลังแก้ว สามารถนำทรัพย์สินมาให้แด่พระเจ้าจักรพรรดิได้ ขุมทรัพย์อยู่ที่ไหนก็เห็นไปหมด
- ขุนพลแก้ว (ปริณายกรตฺตนํ)
ปริณายกแก้ว หรือขุนพลแก้ว คือพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นขุนศึกคู่ใจ เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ มีความฉลาดเฉลียว รู้สิ่งใดควรไม่ควร คอยให้คำแนะนำปรึกษาแด่พระเจ้าจักรพรรดิอยู่เสมอ
อานิสงส์ผลบุญที่ทำให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
[แก้]- ทำบุญทำทานด้วยจิตใจงดงาม
- เป็นเจ้าในงานทอดกฐิน หรือเป็นเจ้าภาพในการสร้างวัด พระอุโบสถ พระวิหาร พระพุทธรูป ฯลฯ
- เป็นประธานในการเทศนาธรรม การสังคายนาพระไตรปิฏก ฯลฯ
- บูชาเจดีย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- เจริญเมตตาจิตตลอด 7 ปี
อ้างอิง
[แก้]- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=20&siri=58
- http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=11&A=1189&Z=1702
- http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=14&item=498&items=3
- http://www.dhamma.net/authers/tripitaka/05.htm เก็บถาวร 2004-12-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- http://watkhaohinturn.net/scoop_feb47.htm
- ธรรมธร ไกรก่อกิจ, "วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าสู่การเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ", สืบค้นวันที่ 10 มิถุนายน 2559