พระมหาอุปราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระมหาอุปราช[1] เป็นตำแหน่งรัชทายาท พบในประเทศพม่า กัมพูชา ล้านนา ลาว และสยาม

พม่า[แก้]

ในประเทศพม่า เรียกตำแหน่งรัชทายาทว่ามหาอุปราชาอโนก์ระปะอิมแซะมิน (မဟာဥပရာဇာအနောက်ရပအိမ်ရှေ့မင်း) เรียกโดยย่อว่า อิมแซะมิน (အိမ်ရှေ့မင်း, สัทอักษรสากล: [èiɴʃḛ mɪ́ɴ]) อินแปลว่าวัง แซะแปลว่าหน้า มินแปลว่าเจ้า รวมความแปลว่าเจ้าวังหน้า[2] เป็นพระอิสริยยศสูงสุดรองจากพระมหากษัตริย์ และจะได้สืบราชสมบัติต่อไป

กัมพูชา[แก้]

ตำแหน่ง อุปราช (เขมร: ឧបរាជ) หรือเรียกอย่างทางการว่า สมเด็จพระอุปราช (សម្តេចព្រះឧបរាជ) หรือ สมเด็จพระมหาอุปราช (សម្តេចព្រះមហាឧបរាជ្យ) เป็นตำแหน่งที่อยู่รองลงมาจากพระมหากษัตริย์แห่งกรุงกัมพูชา โดยทรงมีหน้าที่ควบคุมและจัดการข้าราชการน้อยใหญ่ [3]

ล้านนา[แก้]

ในล้านนา มีตำแหน่ง อุปราช หรือ เจ้าหอหน้า[2] ปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า พญามังรายสถาปนาขุนครามพระราชโอรสขึ้นเป็นเจ้าชัยสงครามและพระราชทานเครื่องยศอย่างมหาอุปราชให้ไปครองเมืองเชียงราย[4] การสถาปนาอุปราชยังมีสืบมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2318 (นับแบบปัจจุบัน) เมื่อล้านนามาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงตั้งนายก้อนแก้วเป็นพระยาอุปราชนครเชียงใหม่ นายน้อยต่อมต้อเป็นอุปราชลำพูน และเจ้าธรรมลังกาเป็นอุปราชนครลำปาง[5] ถึงปี พ.ศ. 2399 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเปลี่ยนตำแหน่งเป็นพระยาอุปราชทั้งสามหัวเมืองนั้นเป็นเจ้าอุปราชมานับแต่นั้น[6]

ลาว[แก้]

สมัยอาณาจักรล้านช้าง มีพระอุปยุวราช เป็นตำแหน่งรองจากพระมหากษัตริย์ แต่สูงกว่าอุปราช[7] และภาคอีสานของไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีอุปฮาดเป็นตำแหน่งรองจากเจ้าเมือง[8]

สยาม[แก้]

กฎมนเทียรบาลซึ่งตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถระบุว่าพระราชกุมารอันเกิดแต่แม่ยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช[9] ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง ที่ออกในปี พ.ศ. 1998 รัชกาลเดียวกันระบุว่าพระมหาอุปราชทรงศักดินา 100,000 ไร่ และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงตำแหน่งพระมหาอุปราชครั้งแรกว่า ระหว่างที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครองเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าพระราชโอรสทรงลาผนวช แล้วได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชในปี จ.ศ. 847 (พ.ศ. 2028)[10]

ถึงรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา โปรดให้ตั้งสมเด็จพระสรศักดิเป็นพระมหาอุปราชที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นครั้งแรก[11] ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงอยู่ในฐานะพระมหาอุปราชรัชทายาทมานับแต่นั้น[12] จนกระทั่ง พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลิกธรรมเนียมตั้งพระมหาอุปราช แล้วสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นแทน[13]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 887
  2. 2.0 2.1 ตำนานวังน่า, หน้า 1
  3. พจนานุกรมภาษาเขมร, หน้า 1643, ตีพิมพ์ในปี 2550
  4. พงศาวดารโยนก, หน้า 292
  5. พงศาวดารโยนก, หน้า 420-421
  6. พงศาวดารโยนก, หน้า 458
  7. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 1427
  8. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 1428
  9. ประชุมพระนิพนธ์ ภาค ๒, หน้า 179
  10. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 400
  11. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 318
  12. พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า), หน้า 24
  13. "ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าราชกุมารพระองค์ใหญ่ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 3 (ตอน 44): 368. 1 มีนาคม พ.ศ. 2429. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-06-09. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
บรรณานุกรม