การรบที่เมืองรุมเมืองคัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก การรบที่เมืองคัง)
การรบที่เมืองรุมเมืองคัง

จิตรกรรมเรื่องพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนพระนเรศวรนำกองทหารเข้าตีเมืองรุมเมืองคัง, วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สถานที่
เมืองรุมเมืองคัง (ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าคือที่ใด)
ผล เมืองรุมเมืองคังแตก
คู่สงคราม

อาณาจักรตองอู
อาณาจักรประเทศราช

เมืองรุมเมืองคัง
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
มังสามเกียด
พระสังขทัต
พระนเรศวร
นรธามังช่อ
เจ้าเมืองรุมเมืองคัง

การรบที่เมืองรุมเมืองคัง เป็นผลมาจากการสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์พม่า ทำให้เมืองรุมเมืองคังกระด้างกระเดื่องต่อพม่า พม่าต้องการปราบปรามเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ประเทศราชอื่น ๆ พระเจ้านันทบุเรง ทรงจัดให้เจ้านายพม่าและพระนเรศวรเข้าตีเมืองรุมเมืองคังคนละวัน เจ้านายพม่าทั้งสามไม่สามารถเข้าตีเมืองได้ จนถึงวันที่สี่ พระนเรศวรทรงเข้าตีเมืองจนสำเร็จ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่ามีกองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่นรธามังช่อ ร่วมสงครามด้วย สงครามนี้ปรากฏเฉพาะในพงศาวดารฝ่ายไทย ไม่ปรากฏในพงศาวดารพม่า

การรบ[แก้]

พ.ศ. 2124 (พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คลาดเคลื่อนเป็น พ.ศ. 2110) เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์แทน เจ้าเมืองรุมเมืองคังได้กระด้างกระเดื่องแข็งเมืองต่อหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงจึงโปรดฯ ให้จัดทัพพระมหาอุปราชา ทัพพระสังขทัต ทัพพระเจ้าเชียงใหม่นรธามังช่อ และทัพพระนเรศวร ไปปราบเมืองรุมเมืองคัง เมื่อเสด็จไปถึงเมืองรุมเมืองคัง ทั้ง 4 พระองค์ปรึกษาว่ามีไพร่พลมากนัก จะสับสนวุ่นวายได้ พระนเรศวรจึงเสด็จไปเมืองอัตตะปือ

วันจันทร์ เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ กองทัพพระมหาอุปราชาทำการเข้าตีในตอนกลางคืน ก็ถูกฝ่ายข้าศึกผลักก้อนศิลาลงมาทับผู้คนล้มตายเป็นอันมาก มิอาจจะเข้าตีต่อไปได้ ในที่สุดต้องถอยทัพกลับลงมายังค่าย

วันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 6 ค่ำ กองทัพพระสังขทัตทำการเข้าตี เกิดการรบพุ่งกันเป็นสามารถ แต่ฝ่ายข้าศึกอยู่บนที่สูง ชัยภูมิมั่นได้ผลักก้อนศิลาลงมาถูกรี้พลพระสังขทัตล้มตายเป็นอันมาก จะขึ้นหักเอามิได้ ก็ต้องถอยทัพกลับลงมาเช่นกัน

วันพุธ เดือน 5 ขึ้น 7 ค่ำ กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่นรธามังช่อ ทำการเข้าตีวันที่สาม ไม่สามารถเข้าตีได้ ต้องถอยทัพกลับมา

วันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 8 ค่ำ กองทัพพระนเรศวรกลับมาจากเมืองอัตตะปือ ได้ให้ระดมยิงปืนนกสับต้องข้าศึกที่ผลักก้อนศิลาล้มตายจำนวนมาก ผลักศิลาลงมาไม่ได้ พลทหารปีนขึ้นไปรบฆ่าข้าศึกตายจำนวนมาก สามารถจับตัวเจ้าเมืองรุมเมืองคังมาถวายพระเจ้าหงสาวดีได้[1]

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน และพระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเลกล่าวต่างไปว่า พระนเรศวรให้พลปืนปีนขึ้นเขาแซงทั้ง 2 ข้าง แล้วให้ทหารอยู่บริเวณตีนเขาห่างๆ ทำการโห่ร้อง ชาวเมืองรุมเมืองคังผลักกลิ้งก้อนศิลาลงมาไม่โดน พลปืนที่ปีนขึ้นมาก็ระดมยิงใส่ชาวเมืองรุมเมืองคังตายเป็นจำนวนมาก ได้เมืองรุมเมืองคังเวลาเช้า​สามโมงจับตัวเจ้าเมืองรุมเมืองคังมาถวายพระเจ้าหงสาวดีได้ พระเจ้านันทบุเรงพระราชทานพานทองคำใส่ภูษา 1 องค์ หนักห้าชั่งจำหลักเปนรูปเทวดาแก่พระนเรศวร และไม่ได้กล่าวถึงเรื่องพระนเรศวรเสด็จไปเมืองอัตตะปือกับเรื่องกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่มารบเมืองรุมเมืองคัง[2][3]

เรื่องพระสังขทัต[แก้]

ในพงศาวดารไทยในตอนศึกเมืองรุมเมืองคัง ได้กล่าวถึงกองทัพของพระสังขทัตที่ยกมาตีเมืองรุมเมืองคัง ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงว่าเป็นใครมาจากไหน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าคือโอรสพระเจ้านันทบุเรงที่ได้เป็นพระเจ้าแปร ต่อมาทรงเปลี่ยนสันนิษฐานเป็นนะฉิ่นเหน่าง์ในพระนิพนธ์หนังสือไทยรบพม่า และในหนังสือพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้เชื่อกันว่าพระสังขทัตคือนะฉิ่นเหน่าง์ แต่จากพงศาวดารเกตุมดีตองอูราชวงศ์ (Ketumadi Toungoo Yazawin ကေတုမတီ တောင်ငူ ရာဇဝင်) ระบุว่านะฉิ่นเหน่าง์มีอายุได้ 13 ปีในสงครามยุทธหัตถี[4] เมื่อเทียบกับช่วงเวลาในศึกเมืองรุมเมืองคัง นะฉิ่นเหน่าง์จะมีอายุประมาณ 2-3 ปี ทำให้พระสังขทัตไม่น่าจะเป็นคนเดียวกันกับนะฉิ่นเหน่าง์

ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่าพระสังขทัตควรเป็นพระเจ้าเมาะตะมะสิริสุธรรมราชา พระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองกับพระนางราชเทวี ซึ่งมีพระนามเดิมว่าสังฆทัตถ (သင်္ဃဒတ္ထ) หรือ สังฆาทัตถ (သင်္ဃာ ဒတ္ထ)[5] อันมีความใกล้เคียงกับชื่อพระสังขทัตในพงศาวดารไทยมาก

ในหลักฐานพม่าและจีน[แก้]

ศึกเมืองรุมเมืองคังปรากฏเฉพาะในพงศาวดารฝ่ายไทย ไม่ปรากฏในพงศาวดารพม่า ในพงศาวดารพม่ามีเหตุการณ์ที่คล้ายกันคือ ในพ.ศ. 2125 เจ้าฟ้าไทใหญ่เมืองจันตา (ปัจจุบันอยูในเขตใต้คงและเป่าซาน มณฑลยูนนาน) และเมืองสองสบ (ปัจจุบันอยู่ใกล้กับเมืองก๋อง รัฐกะชีน) ไม่ยอมส่งบรรณาการให้พม่า หนีไปตั้งหลักที่เมืองจันตา (盏达) ในเขตใต้คง มณฑลยูนนาน พระเจ้านันทบุเรงจึงให้พระเจ้าแปรสะโตธรรมราชาและพระเจ้าเชียงใหม่นรธามังช่อยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม ล้อมเมืองจันตา 5 เดือนจึงยึดเมืองได้ จับเจ้าฟ้าทั้งสองกลับหงสาวดีใน พ.ศ. 2126[6] ในหมิงสื่อลู่และหมิงสือได้ระบุว่ามีชาวจีนในยูนนานชื่อเยว่เฟิง (嶽鳳) และคนเมืองกึ๋งม้าชื่อห่านเฉียน (罕虔) ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือกองทัพพม่า และกล่าวว่าพม่าได้โจมตีหัวเมืองไทใหญ่ในเขตยูนนานจำนวนมาก แต่ถูกราชวงศ์หมิงโต้กลับ โดยส่งหลิวทิง (劉綎) และเติ้งจื่อหลง (鄧子龍) สองแม่ทัพเข้ามาทำศึกกับพม่า สงครามครั้งนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของหงสาวดี ในปี พ.ศ. 2127[7][8]

เมืองรุมเมืองคัง[แก้]

ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าเมืองรุมเมืองคังอยู่ที่ไหน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงสันนิษฐานว่าเมืองรุมเมืองคังอาจเป็นเมืองเดียวกับเมืองก๋อง (မိုးကောင်း) ในรัฐกะชีน ซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐาน เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ตามหลักฐานพม่าและจีนแล้ว เมืองรุมเมืองคังอาจจะเป็นเมืองในกลุ่มหัวเมืองไทใหญ่ในยูนนานก็เป็นได้

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรทรง "เสด็จไปเถิงเมืองล้านช้างแล้วเสด็จไปเถิงอัตปือแดนเมืองจาม"[9] ปล่อยให้กองทัพที่เหลือตีเมืองรุมเมืองคัง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาจึงยกทัพไปเมืองรุมเมืองคัง จึงสันนิษฐานว่าเมืองรุมเมืองคังอาจจะเป็นเมืองในลาวก็เป็นได้

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  2. ศานติ ภักดีคำ. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. หน้า (35)-(50). ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]
  3. พระราชพงษาวดารกรุงเก่า-ฉบับหมอบรัดเล
  4. Sein Lwin Lay, Kahtika U (2006). Mintaya Shwe Hti and Bayinnaung: Ketumadi Taungoo Yazawin (in Burmese) (2nd printing ed.). Yangon: Yan Aung Sarpay.
  5. Royal Historical Commission of Burma (1829–1832). Hmannan Yazawin (in Burmese). 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
  6. Royal Historical Commission of Burma (1829–1832). Hmannan Yazawin (in Burmese). 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
  7. 明史/卷247
  8. 明实录神宗实录
  9. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9