ข้ามไปเนื้อหา

ชีปอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชีปอน
กษัตริย์แห่งเมาะตะมะ
ครองราชย์ป. เมษายน ค.ศ. 1330 (7 วัน)
ก่อนหน้าพระเจ้ารามมะไตย
ต่อไปพระยาอายกำกอง
ประสูติ26 พฤษภาคม ค.ศ. 1295
วันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือนนะโยน 657 ME
Atawgana
อาณาจักรเมาะตะมะ
สวรรคตป. เมษายน ค.ศ. 1330 (34 พรรษา)
ป. เดือนกะโซน 692 ME
เมาะตะมะ
อาณาจักรเมาะตะมะ
ศาสนาพุทธเถรวาท

ชีปอน (พม่า: ဇိတ်ပွန်, ออกเสียง: [zeɪ̯ʔ pʊ̀ɰ̃] เซะปูน; 1295 – 1330) เป็นพระเจ้าเมาะตะมะรัชกาลที่ 5 ครองสิริราชสมบัติได้เพียง 7 วันใน ค.ศ. 1330 พระองค์มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจโดยเริ่มจากการเป็นข้าหลวงและได้เป็นผู้บัญชาการทหารที่มีอำนาจและอิทธิพลในรัชสมัยพระเจ้ารามมะไตย (စောဇိတ် ซอเซะ) กษัตริย์รัชกาลที่ 4

กระทั่งได้ก่อการยึดอำนาจและลวงพระเจ้ารามมะไตยมาปลงพระชนม์ที่เรือนของตนเอง พร้อมกับตั้งตนเป็นกษัตริย์ แต่เป็นอยู่ได้เพียง 7 วันก็ถูกเจตสงครามยึดอำนาจและจับประหารชีวิต[1] เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1330 โดยเหล่าทหารภายใต้การนำของพระนางจันทะมังคะละ (စန္ဒာမင်းလှ ซานดามี่นละ) พระราชธิดาของพระเจ้ารามประเดิด กษัตริย์รัชกาลที่ 2 และเป็นพระมเหสีของพระเจ้ารามมะไตย โดยมีพระยาอายกำกอง (စောအဲကံ ซอแอกาน) พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าแสนเมือง (စောအို ซอโอ) กษัตริย์รัชกาลที่ 3 ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อมา

พระประวัติ

[แก้]

ชีปอนเกิดในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1295 จากบิดามารดาสามัญชน[note 1] ตอนวัยหนุ่ม ชีปอนเดินทางออกจากหมู่บ้าน Atawgana (အတောဂန) อันเป็นบ้านเกิด และเข้ามาทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านของผู้ว่าราชการสมิงมังละกับเจ้าหญิงนางอุ่นเรือน[2] เขาเป็นผู้ดูแลส่วนหนึ่งที่ดูแลเจ้าชายสอเซนตั้งแต่ทรงพระเยาว์[2]

การงานของชีปอนรุ่งเรืองเมื่อสอเซนขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1323 กษัตริย์องค์ใหม่ผู้เผชิญกับการกบฏหลายครั้งตั้งแต่แรกเริ่ม ต้องพึ่งพากลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่ไว้วางใจได้ ในปีต่อ ๆ มา กษัตริย์ได้ปราบปรามการกบฏในภูมิภาคที่พูดภาษามอญในพม่าตอนล่าง แม้ว่าพระองค์ไม่สามารถยึดชายฝั่งตะนาวศรีคืนได้[2] ชีปอนพิสูจน์ตัวเอง กษัตริย์ทรงมอบหมายให้เขาเป็นผู้บัญชาการกองทหารพิเศษที่ประกอบด้วยนักรบชาวไทใหญ่จำนวน 500 นาย[2]

ใน ค.ศ. 1330 ชีปอนกลายเป็บบุคคลที่มีอำนาจ โดยสร้างที่ประทับขนาดใหญ่ของตนเอง ซึ่งล้อมรอบด้วยสวนและมีคูน้ำล้อมรอบ และมีกองพันชาวไทใหญ่ป้องกันไว้[3] ชีปอนเริ่มจับจ้องไปที่บัลลังก์สำหรับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพระเจ้ารามมะไตยพ่ายแพ้ในสนามรบเมื่อไม่นานนี้ที่แปรทางเหนือ และทวายทางใต้ ในเดือนเมษายน/พฤษภาคม ค.ศ. 1330 พระองค์เชิญพระมหากษัตริย์มาที่ประทับของตนที่อยู่นอกเมืองหลวง เพื่อร่วมพิธีขึ้นบ้านใหม่ เมื่อพระราชาผู้ไม่ทันระวังตัวเข้าไปในที่ประทับ เหล่าบริวารของชีปอนก็ซุ่มโจมตีและปลงพระชนม์พระองค์[3]

จากนั้นชีปอนประกาศตนเองเป็นกษัตริย์ภายใต้บรรดาศักดิ์ Deibban Min[4] ราชวงศ์เมาะตะมะตกใจในตอนแรกแต่ภายหลังโต้กลับ นางจันทะมังคะละ อัครมเหสี สามารถหนีจากการรัฐประการได้ และจัดการรัฐประหารย้อนกลับใน 7 วันต่อมา ในวันนั้น นางจันทะมังคะละและข้าราชบริพารที่นำโดยขุนพล Sit Thingyan ไปที่พระราชวัง แสร้งทำเป็นว่ายอมจำนนต่อกษัตริย์องค์ใหม่ ภายในพระราชวัง เหล่าบริวารของ Sit Thingyan สามารถเอาชนะกองทัพของชีปอนได้ ชีปอนถูกประหารชีวิตทันทีตอนพระชนมายุ 34 พรรษา[3]

นางจันทะมังคะละจึงแต่งตั้งพระยาอายกำกอง พระราชนัดดา ขึ้นครองราชย์ และให้ตัวพระนางเป็นอัครมเหสีของพระราชนัดดา[5]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. (Pan Hla 2005: 41) : วันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือนนะโยน 657 ME = วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1295 เนื่องจากเขาเกิดในวันพฤหัสบดี เขาน่าจะเกิดในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1295

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประชุมพงศาวดารเล่ม 2, หน้า 25
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Pan Hla 2005: 39
  3. 3.0 3.1 3.2 Pan Hla 2005: 41
  4. Phayre 1967: 66
  5. Pan Hla 2005: 42

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Pan Hla, Nai (2005) [1968]. Razadarit Ayedawbon (ภาษาพม่า) (8th printing ed.). Yangon: Armanthit Sarpay.
  • Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1967) [1883]. History of Burma. London: Susil Gupta.
  • เจ้าพระยาพระคลัง (หน). วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ หมวดบันเทิงคดี เรื่อง ราชาธิราช. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2546. 500 หน้า. หน้า 17-47.
  • ประชุมพงศาวดารเล่ม 2 (ประชุมพงศาวดารภาค 1 ตอนปลาย และภาค 2). กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2506. 336 หน้า. หน้า 25.